การได้มาซึ่งความรู้ทางวิญญาณ ภาค 2
การพินิจแนวคิดและคำถามด้วยมุมมองนิรันดร์
หนึ่งในจุดประสงค์ของผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอนคือเพื่อช่วยให้ท่านเรียนรู้และประยุกต์ใช้หลักธรรมให้ได้มาซึ่งความรู้ทางวิญญาณเพื่อเป็นเหมือนพระเยซูคริสต์มากขึ้น บทเรียนนี้สามารถช่วยให้ท่านเรียนรู้ที่จะตรวจสอบประเด็นด้วยมุมมองนิรันดร์เพื่อจะได้เห็นประเด็นเหล่านั้นชัดเจนยิ่งขึ้น
กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทำได้
คำถามและความท้าทาย
บางครั้งเราประสบกับความท้าทายหรือการทดลองที่อาจทดสอบศรัทธาของเรา ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันแบ่งปันการทดลองเช่นนี้ที่หลานสะใภ้ของท่านเผชิญ
ดู “ให้พระผู้เป็นเจ้าทรงมีชัย” ตั้งแต่ช่วงเวลา 5:50 ถึง 6:39 หรืออ่านข้อความต่อไปนี้
ไม่นานมานี้ ภรรยาหลานชายคนหนึ่งของเรากำลังต่อสู้ทางวิญญาณ ข้าพเจ้าจะเรียกเธอว่า “จิลล์” แม้จะอดอาหาร สวดอ้อนวอน และให้พรฐานะปุโรหิตอย่างไร แต่คุณพ่อของจิลล์กำลังจะตาย เธอกลัวมากว่าจะสูญเสียทั้งคุณพ่อและประจักษ์พยานของเธอ
ค่ำวันหนึ่ง ภรรยาข้าพเจ้า ซิสเตอร์เวนดี้ เนลสัน เล่าสถานการณ์ของจิลล์ให้ฟัง เช้าวันรุ่งขึ้นเวนดี้รู้สึกจะต้องบอกจิลล์ว่าคำตอบของข้าพเจ้าสำหรับการต่อสู้ทางวิญญาณของเธอมีคำเดียว! คำนั้นคือ วิสัยทัศน์สั้น
(รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “ให้พระผู้เป็นเจ้าทรงมีชัย,” เลียโฮนา, พ.ย. 2020, 93)
คำว่า วิสัยทัศน์สั้น หมายถึงสายตาสั้นหรือไม่มองการณ์ไกล
-
อะไรคือความจริงบางอย่างเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าและแผนของพระองค์ที่อาจช่วยให้จิลล์ไม่กลัวสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต?
ขอให้นึกถึงความท้าทายหนึ่งอย่างหรือคำถามที่ท่านกำลังเผชิญในปัจจุบัน ซึ่งอาจเป็นความท้าทายหรือคำถามเดียวกันกับที่ท่านระบุในบทเรียน “การได้มาซึ่งความรู้ทางวิญญาณ ภาค 1”
-
เหตุใดท่านจึงต้องการและจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือในคำถามหรือความท้าทายนี้?
จำไว้ว่าไม่เป็นไรที่จะรู้สึกโศกเศร้าและเจ็บปวด แม้แต่พระเยซูยังทรงโศกเศร้าเพื่อผู้ที่พระองค์ทรงรัก (ดู ยอห์น 11:32–36) เมื่อเรามองสภาวการณ์ของเราด้วยมุมมองนิรันดร์ พระเจ้าจะทรงช่วยเราจัดการกับความรู้สึกเหล่านี้ได้ มองหาความจริงในบทเรียนนี้ที่จะช่วยให้ท่านทำสิ่งนี้ได้กับคำถามและความท้าทายของท่านเอง
หลักธรรมของการได้มาซึ่งความรู้ทางวิญญาณ
เมื่อเราเผชิญกับความท้าทายในชีวิตหรือประสบกับคำถามที่หาคำตอบไม่ได้ หลักธรรมต่อไปนี้ในการได้มาซึ่งความรู้ทางวิญญาณสามารถช่วยให้เรา:
1. กระทำด้วยศรัทธา2. พินิจแนวคิดและคำถามด้วยมุมมองนิรันดร์3. แสวงหาความเข้าใจเพิ่มเติมผ่านแหล่งช่วยที่กำหนดไว้จากสวรรค์
ในบทเรียนนี้เราจะมุ่งเน้นไปที่ความจริงที่ เมื่อเราตรวจสอบประเด็นต่างๆ ด้วยมุมมองนิรันดร์ พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงสามารถช่วยให้เรามองเห็นประเด็นเหล่านั้นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ศึกษาย่อหน้าที่ 8 ในหมวด “การได้มาซึ่งความรู้ทางวิญญาณ” ของ เอกสารหลักผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอน และข้อความพระคัมภีร์ต่อไปนี้อย่างน้อยหนึ่งข้อความ ทำเครื่องหมายถ้อยคำหรือวลีที่อาจช่วยให้จิลล์มองการทดลองของเธอด้วยมุมมองนิรันดร์
-
จากสิ่งที่ท่านอ่าน ท่านต้องการให้จิลล์รู้อะไรเกี่ยวกับการมีมุมมองนิรันดร์?
-
ท่าน (หรือคนอื่น) มีประสบการณ์กับการมีมุมมองนิรันดร์อย่างไรบ้างที่อาจแบ่งปันกับจิลล์?
วิธีตรวจสอบคำถามหรือข้อกังวลด้วยมุมมองนิรันดร์
เมื่อเรามีคำถามหรือข้อกังวล กระบวนการหนึ่งที่เราสามารถนำมาปฏิบัติเพื่อช่วยให้เรามองเห็นสิ่งต่างๆ จากมุมมองนิรันดร์คือ
1. ระบุสมมุติฐานใดๆ ที่เรากำลังมีซึ่งอาจนำไปสู่ความเข้าใจผิดต่อพระบิดาบนสวรรค์หรือแผนของพระองค์2. ระบุความจริงเกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์หรือแผนของพระองค์ที่แก้ไขสมมุติฐานเหล่านี้3. ตีกรอบคำถามในมุมมองใหม่โดยพิจารณาคำถามด้วยมุมมองนิรันดร์หรือตรวจแก้คำถามเพื่อสะท้อนความจริงของพระกิตติคุณ
ดู “Examining Questions with an Eternal Perspective” (2:56) ที่ ChurchofJesusChrist.org เพื่อดูว่าหญิงสาวชื่อลอเรนใช้กระบวนการนี้เพื่อช่วยเพื่อนของเธออย่างไร
-
วีดิทัศน์นี้ช่วยให้ท่านเข้าใจเกี่ยวกับการพินิจแนวคิดและคำถามด้วยมุมมองนิรันดร์ได้อย่างไร?
-
ลอเรนใช้สามขั้นตอนที่เราเพิ่งระบุไปอย่างไร?
ลองคิดดูว่ากระบวนการเดียวกันนี้อาจช่วยจิลล์ หลานสาวจากเรื่องราวที่ประธานเนลสันแบ่งปันได้อย่างไร
-
ข้อสันนิษฐานใดที่จิลล์อาจมีที่อาจนำไปสู่ข้อสงสัยหรือความกลัว?
บ่อยครั้งที่การตั้งสมมติฐานที่คล้ายกันสามารถทำให้เรารู้สึกโศกเศร้าหรือเจ็บปวดเพิ่มขึ้นมากเกินกว่าที่เรากำลังประสบอยู่แล้ว การระบุความจริงเกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์และแผนของพระองค์สามารถช่วยได้
-
ท่านรู้ความจริงอะไรบ้างเกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์และแผนของพระองค์ที่อาจช่วยได้?
-
มีวิธีใดบ้างที่ท่านอาจตีกรอบมุมมองใหม่จากมุมมองนิรันดร์ความกังวลที่เป็นไปได้ของคนที่อยู่ในสถานการณ์ของจิลล์? (ตัวอย่างเช่น ท่านอาจถามคำถามที่สะท้อนถึงมุมมองนิรันดร์เช่น “ฉันจะรู้สึกถึงความรักของพระผู้เป็นเจ้าได้อย่างไรขณะที่ฉันประสบกับความสูญเสียที่เจ็บปวดนี้แม้ฉันจะรู้จากมุมมองนิรันดร์ว่าเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น?” หรือ “ฉันจะพึ่งพาศรัทธาของฉันในพระผู้ช่วยให้รอดเพื่อวางใจว่าฉันจะเห็นคนที่ฉันรักอีกครั้งได้อย่างไร?”)
ประธานเนลสันเล่าว่าจิลล์ได้รับพรจากการพัฒนามุมมองนิรันดร์ผ่านการทดลองของเธอดู “ให้พระผู้เป็นเจ้าทรงมีชัย” ที่ ChurchofJesusChrist.org จากช่วงเวลา 6:58 ถึง 8:24 หรืออ่านข้อความด้านล่าง:
หลังจากคุณพ่อของจิลล์สิ้นชีวิต เธอยังคงนึกถึงคำว่า วิสัยทัศน์สั้น อยู่เรื่อยๆ เธอเปิดใจเพื่อทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งมากขึ้นว่า วิสัยทัศน์สั้น หมายถึง “มองเห็นในระยะสั้น” และความคิดเธอเริ่มเปลี่ยน จิลล์พูดต่อจากนั้นว่า “คำว่า วิสัยทัศน์สั้น ทำให้ฉันนิ่ง คิด และเยียวยา ตอนนี้คำนั้นทำให้ฉันเต็มไปด้วยสันติสุข เตือนฉันให้ขยายมุมมองและแสวงหาพรนิรันดร์ เตือนฉันว่ามีแผนศักดิ์สิทธิ์และคุณพ่อยังมีชีวิต ยังรัก และดูแลฉัน วิสัยทัศน์สั้น นำฉันไปหาพระผู้เป็นเจ้า”
ข้าพเจ้าภูมิใจมากกับหลานสะใภ้ที่รักของเรา ในช่วงเวลาที่บีบคั้นหัวใจเธอ จิลล์ที่รักกำลังเรียนรู้ที่จะน้อมรับพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าสำหรับคุณพ่อด้วยการมองชีวิตตนเองให้ไกลถึงนิรันดร เธอกำลังพบสันติสุขโดย เลือก ให้พระผู้เป็นเจ้าทรงมีชัย
(รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “ให้พระผู้เป็นเจ้าทรงมีชัย,” 93)
-
จิลล์ได้รับพรจากการรักษามุมมองนิรันดร์อย่างไร?
ใคร่ครวญความท้าทายหรือคำถามที่ท่านระบุไว้ก่อนหน้านี้ในบทเรียนนี้ ตอบคำถามหรือความท้าทายของท่านในสมุดบันทึกการศึกษาของท่านโดยใช้สามขั้นตอนที่ท่านเพิ่งเรียนรู้
บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง
การรักษามุมมองนิรันดร์ช่วยฉันได้อย่างไรเมื่อฉันประสบกับความโศกเศร้าหรือความสูญเสีย?
ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันอธิบายว่าการรักษามุมมองนิรันดร์ช่วยท่านได้อย่างไรเมื่อแดนท์เซล ภรรยาของท่านจากไปอย่างกะทันหันและเมื่อเวนดี้ ลูกสาวท่านจากไปหลังจากต่อสู้กับโรคมะเร็งเป็นเวลานาน:
ในปี 2005 หลังจากแต่งงานราว 60 ปี แดนท์เซลที่รักของข้าพเจ้าสิ้นชีวิตอย่างไม่คาดคิด ข้าพเจ้าโศกเศร้าจนไม่มีแก่จิตแก่ใจทำงานอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ข่าวสารของอีสเตอร์และคำสัญญาเรื่องการฟื้นคืนชีวิตประคองข้าพเจ้าไว้
(รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “การเปิดเผยสำหรับศาสนจักร การเปิดเผยสำหรับชีวิตเรา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2018, 94)
เราคิดถึงบุตรสาวของเรามาก แต่เพราะพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์ เราจึงไม่กังวลเรื่องเธอ เมื่อเราให้เกียรติพันธสัญญาของเรากับพระผู้เป็นเจ้าต่อไป เรามีความหวังว่าจะได้อยู่กับเธออีกครั้ง ระหว่างนี้ เรารับใช้พระเจ้าที่นี่และเธอรับใช้พระเจ้าในเมืองบรมสุขเกษม
(รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “มาติดตามเรา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2019, 88)
เหตุใดสมมุติฐานของเราจึงสำคัญ?
ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดแบ่งปันดังนี้
เพราะวิสุทธิชนยุคสุดท้ายรู้จักแผนของพระบิดาบนสวรรค์สำหรับบุตรธิดาของพระองค์ เราจึงรู้ว่าชีวิตมรรตัยไม่ใช่ละครองก์เดียวซึ่งอยู่ระหว่างอดีตที่ไม่อาจรู้ได้กับอนาคตที่ไม่แน่นอน ชีวิตนี้เป็นเหมือนองก์ที่สองในละครสามองก์ จุดประสงค์ของชีวิตนิยามตามการเปิดเผยเกี่ยวกับการดำรงอยู่ทางวิญญาณของเราในองก์ที่ 1 และจุดหมายนิรันดร์ของเราในองก์ที่ 3 เนื่องด้วยความรู้ของเราเรื่องแผนดังกล่าวและความจริงอื่นที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเปิดเผย เราจึงเริ่มด้วยสมมุติฐานต่างจากคนที่ไม่มีความรู้เหมือนเรา ด้วยเหตุนี้เราจึงได้ข้อสรุปต่างออกไปในเรื่องสำคัญมากมายที่คนอื่นตัดสินตามความเห็นของพวกเขาเกี่ยวกับชีวิตมรรตัยเท่านั้น
(ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “เพราะเขาคอยนับอยู่ในใจ” [ยามค่ำกับเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่, 8 ก.พ. 2013], 3–4)
ฉันจะตีกรอบคำถามและข้อกังวลของฉันในมุมมองใหม่เพื่อมองจากมุมมองนิรันดร์ได้อย่างไร?
บราเดอร์แชด เอช. เว็บบ์ ผู้บริหารเซมินารีและสถาบันศาสนากล่าวว่า
หากเราเริ่มต้นด้วยมุมมองนิรันดร์ เราจะได้ข้อสรุปที่สะท้อนความจริงนิรันดร์ แต่หากเราเริ่มต้นด้วยสมมุติฐานทางโลก เราก็น่าจะได้ข้อสรุปทางโลก ดังนั้นเราอาจต้องตีกรอบคำถามบางข้อในมุมมองใหม่เนื่องจากเราไม่ยอมรับขอบเขตที่ตั้งคำถามเหล่านั้น
ตัวอย่างเช่น อาจมีคนเคยถามท่านว่า “คนสองคนที่รักกันควรแต่งงานกันไม่ใช่หรือ?” จากมุมมองของคนส่วนใหญ่ในโลกคำตอบดูเหมือนจะเป็นใช่ แต่นึกถึงสิ่งที่ท่านรู้เกี่ยวกับแผนแห่งความรอดและจุดประสงค์ของพระบิดาบนสวรรค์สำหรับชีวิตแต่งงาน แผนแห่งความรอดให้มุมมองนิรันดร์และขอบเขตพระกิตติคุณที่ตีกรอบคำถามในมุมมองใหม่ คำถามบางข้อที่ท่านอาจพิจารณาคือ “เหตุใดครอบครัวจึงได้รับการแต่งตั้งจากพระผู้เป็นเจ้า?” หรือ “เหตุใดพระเจ้าจึงทรงสถาปนาการแต่งงานระหว่างชายกับหญิง?” นึกถึงสิ่งที่ท่านรู้เกี่ยวกับบุตรธิดาทางวิญญาณของพระบิดาบนสวรรค์—พวกเขามาจากไหนและพระองค์ทรงต้องการสิ่งใดสำหรับพวกเขาในเวลานี้และในนิรันดร นึกถึงเหตุผลที่พระองค์ประทานพรเราด้วยพลังอำนาจที่จะผนึกครอบครัวในพระวิหาร ความเข้าใจของท่านในหลักธรรมเหล่านี้ตีกรอบคำถามในมุมมองใหม่และช่วยให้ท่านมองเห็นประเด็นผ่านแสงสว่างของพระกิตติคุณได้อย่างไร?
(แชด เอช. เว็บบ์, “That They May Know How to Come unto Him and Be Saved” [การให้ข้อคิดทางวิญญาณของมหาวิทยาลัยบริคัมยังก์–ฮาวาย, 22 มี.ค., 2016], byuh.edu)