ลูกา 23:33–46; ยอห์น 19:26–30
ความสงสารของพระผู้ช่วยให้รอดบนกางเขน
สิ่งที่พระเยซูตรัสขณะพระองค์อยู่บนกางเขนบ่งบอกถึงพระอุปนิสัยและพระคุณลักษณะของพระผู้เป็นเจ้า ขณะท่านศึกษา พยายามเพิ่มความปรารถนาของท่านที่จะเป็นเหมือนพระเยซูคริสต์ให้มากขึ้นขณะท่านเรียนรู้จากแบบอย่างของพระองค์เมื่อพระองค์ทรงถูกตรึงกางเขน
กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทำได้
ห่วงใยผู้อื่น
ไตร่ตรองคำถามต่อไปนี้ท่านมักจะแสดงความสงสารผู้อื่นหรือไม่? เพราะเหตุใดจึงแสดงหรือไม่แสดง?
ในสมุดบันทึกการศึกษาของท่าน จดรายการสถานการณ์ที่อาจเป็นเรื่องยากสำหรับท่านในการใส่ใจเกี่ยวกับความกังวลและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้อื่น อธิบายว่าเพราะเหตุใดสถานการณ์เหล่านั้นจึงยากสำหรับท่านที่จะทำเช่นนั้น
ท่านอาจตอบคำถามต่อไปนี้ลงในสมุดบันทึกการศึกษาของท่าน:
-
ชีวิตท่านจะดีขึ้นอย่างไรหากท่านแสดงความสงสารผู้อื่นแม้ท่านเองอยู่ในสภาวการณ์ที่ยากลำบาก?
ในบทเรียนนี้ท่านจะมีโอกาสศึกษาแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดในการเอื้อมออกไปหาผู้อื่นแม้ในช่วงที่พระองค์ประสบความเจ็บปวดบนกางเขน ขณะท่านศึกษาแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอด ให้แสวงหาการนำทางจากพระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อช่วยให้ท่านปรารถนาที่จะเป็นเหมือนพระองค์มากขึ้น
ประสบการณ์ก่อนและระหว่างการตรึงกางเขน
ระลึกถึงประสบการณ์ของพระผู้ช่วยให้รอดก่อนและระหว่างการตรึงกางเขนของพระองค์:
-
พระองค์ทรงทนทุกข์ทรมานเพื่อบาปของโลกในเกทเสมนี (ดู ลูกา 22:39–44)
-
พระองค์ทรงถูกยูดาสทรยศและถูกอัครสาวกของพระองค์ทอดทิ้ง (ดู มาระโก 14:43–50)
-
พระองค์ทรงถูกสอบสวน โบยตี และถูกผู้นำชาวยิวถ่มน้ำลายรด (ดู มัทธิว 26:57–68)
-
พระองค์ทรงถูกทั้งปีลาตและเฮโรดไต่สวนและถูกเฮโรดกับทหารของเขาล้อเลียน ( ลูกา 23:1–24)
-
พระองค์ทรงถูกทหารโรมันทุบตีและโบยอย่างป่าเถื่อน (ดู มัทธิว 27:26–31)
-
พระองค์ทรงแบกกางเขนของพระองค์อย่างน้อยระยะหนึ่งของทางไปกลโกธา (ดู ยอห์น 19:16–17)
-
พระหัตถ์และพระบาทของพระองค์ทรงถูกตอกด้วยตะปูและทรงถูกตรึงกางเขนระหว่างโจรสองคน (ดู ลูกา 23:33 ; ดู ยอห์น 20:25 ด้วย)
-
พระองค์ทรงถูกตรึงไว้บนกางเขน (ดู มัทธิว 27:45–50 ; มาระโก 15:25)
นึกถึงเหตุการณ์เหล่านี้ว่าส่งผลต่อความรู้สึกที่ท่านมีต่อพระผู้ช่วยให้รอดอย่างไรและพระองค์ทรงอดทนสิ่งใดเพื่อท่านอ่านข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้ซึ่งมีข้อความที่พระผู้ช่วยให้รอดตรัสไว้ขณะพระองค์ทรงอยู่บนกางเขน ระบุความจริงเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์จากพระดำรัสของพระองค์ และจดไว้ในสมุดบันทึกการศึกษาของท่าน
ลูกา 23:33–34 พระผู้ช่วยให้รอดตรัสถ้อยคำเหล่านี้เกี่ยวกับทหารที่ตรึงพระองค์บนกางเขน (ดู งานแปลของโจเซฟ สมิธเกี่ยวกับข้อนี้ใน ลูกา 23:34 , งานแปลของโจเซฟ สมิธ ภาคผนวก)
ลูกา 23:39–43 ข้อเหล่านี้บันทึกว่าโจรที่ถูกตรึงกางเขนกับพระผู้ช่วยให้รอดกล่าวอะไรและพระผู้ช่วยให้รอดตรัสตอบอย่างไร (สังเกตว่าท่านศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธสอนว่า เมื่อพระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่าโจรคนนี้จะอยู่กับพระองค์ในเมืองบรมสุขเกษม พระองค์ทรงสอนเขาว่า “เราจะอยู่กับเจ้าในโลกแห่งวิญญาณและจะสอนเจ้าหรือตอบคำถามของเจ้า” [“Discourse, 11 June 1843–A, ตามที่รายงานโดยวิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์,” 44, josephsmithpapers.org])
ยอห์น 19:26–27 . ข้อเหล่านี้บันทึกสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดตรัสกับมารีย์ มารดาของพระองค์ และกับอัครสาวกยอห์น
-
ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ที่มีความหมายมากที่สุดสำหรับท่าน? เพราะเหตุใด?
-
ท่านต้องการเป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดในทางใดบ้าง? เพราะเหตุใด?
พระผู้ช่วยให้รอดไม่เพียงแต่นึกถึงทหารโรมัน โจร และมารดาของพระองค์เท่านั้นขณะทรงอยู่บนกางเขน ประธาน รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสอนวิธีเพิ่มเติมที่พระผู้ช่วยให้รอดใส่พระทัยผู้อื่นแม้ในยามที่พระองค์ทรงเจ็บปวดแสนสาหัส
ดังเช่นในทุกสิ่ง พระเยซูคริสต์ทรงเป็นแบบอย่างสูงสุดของเรา ‘พระองค์ทรงสู้ทนต่อกางเขน เพื่อความยินดีที่อยู่ต่อหน้าพระองค์’ [ ฮีบรู 12:2 ] จงนึกดู! เพื่อที่พระองค์จะทรงทนต่อประสบการณ์ที่เจ็บปวดที่สุดที่เคยทนบนแผ่นดินโลก พระผู้ช่วยให้รอดของเราจับตามองไปที่ ปีติ!
ปีติอะไรหรือที่อยู่ต่อหน้าพระองค์? แน่นอนว่ารวมถึงปีติของการชำระให้บริสุทธิ์ การรักษา และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เรา ปีติของการจ่ายค่าบาปของคนทั้งปวงที่จะกลับใจ ปีติของการทำให้เป็นไปได้ที่ท่านและข้าพเจ้าจะกลับบ้าน—สะอาดและมีค่าควร—ในการอยู่กับพระบิดามารดาและครอบครัวบนสวรรค์ของเรา
(รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “ปีติและการอยู่รอดทางวิญญาณ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 82–83)
-
พระผู้ช่วยให้รอดทรงจับตามองอะไรขณะพระองค์ทรงทนทุกข์ทรมานเพื่อเรา?
-
ประธานเนลสันสอนอะไรท่านเกี่ยวกับความปรารถนาที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงมีสำหรับท่าน?
ไตร่ตรองสักครู่ถึงความจริงที่ว่าขณะที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงอยู่บนกางเขน พระองค์ทรงจับตามองไปที่ท่านและปีติในการช่วยท่านกลับไปหาพระบิดาบนสวรรค์
-
การเข้าใจความจริงนี้สามารถทำให้เกิดความแตกต่างอย่างไรในชีวิตท่าน? เหตุใดความรู้นี้จึงสร้างความแตกต่างให้แก่ท่านถึงเพียงนี้?
-
เมื่อใดที่ท่านเคยช่วยใครบางคนขณะท่านกำลังประสบกับความท้าทายหรือเมื่อใดที่ใครบางคนทำสิ่งนี้ให้ท่าน?
ถ้าเป็นประโยชน์ที่จะดูตัวอย่าง ให้ดู “จงรักกันและกันดังพระองค์ทรงรักเรา” มีอยู่ที่ ChurchofJesusChrist.org ตั้งแต่ช่วงเวลา 3:22 ถึง 7:54จงรักกันและกันดังพระองค์ทรงรักเรา
แสวงหาการดลใจจากพระวิญญาณบริสุทธิ์โดยไตร่ตรองแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดและสิ่งที่ท่านรู้สึกในวันนี้ ระบุวิธีที่ท่านจะเป็นเหมือนพระเยซูคริสต์ได้มากขึ้นในการแสดงความรักและความสงสารผู้อื่นแม้ในระหว่างที่ท่านมีความท้าทายของท่านเอง จากนั้นบันทึกวิธีเหล่านี้ลงในสมุดบันทึกการศึกษาของท่าน ทบทวนรายการที่ท่านทำและเลือกร่วมกับการสวดอ้อนวอนหนึ่งวิธีที่ท่านจะเป็นเหมือนพระเยซูคริสต์ได้มากขึ้น ระบุสิ่งนี้ในรายการในสมุดบันทึกของท่าน สวดอ้อนวอนและมองหาโอกาสที่จะทำกิจกรรมนี้ให้ลุล่วง
“สำเร็จแล้ว”
หลังจากได้รับความทุกข์ทรมานบนกางเขนหลายชั่วโมง พระผู้ช่วยให้รอดทรงมีพระดำรัสสุดท้ายของพระองค์
อ่าน ยอห์น 19:28–30 และ ลูกา 23:46 ทำเครื่องหมายพระดำรัสสุดท้ายของพระผู้ช่วยให้รอดในความเป็นมรรตัย
-
ข้อความเหล่านี้สามารถช่วยให้เราเข้าใจเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและพระพันธกิจของพระองค์อย่างไร?
เช่นเดียวกับพระผู้ช่วยให้รอด เราสามารถทำสิ่งที่พระบิดาทรงต้องการให้เราทำในชีวิตของเรา จำสิ่งนี้ไว้ขณะท่านพยายามทำสิ่งที่ท่านตัดสินใจจะประยุกต์ใช้ในวันนี้ให้ลุล่วง
บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง
ยอห์น 19:27 เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากพระดำรัสของพระผู้ช่วยให้รอด “นี่คือมารดาของท่าน”?
เราสามารถทำตามแบบอย่างของพระเยซูคริสต์ขณะที่เรามุ่งมั่นที่จะรับรู้ รัก และดูแลมารดาของเรา เอ็ลเดอเจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสรรเสริญมารดาที่ชอบธรรมและเปรียบเทียบความรักของพวกเขากับความรักของพระผู้ช่วยให้รอด
ชม “นี่คือมารดาของท่าน” มีอยู่ที่ ChurchofJesusChrist.org, ตั้งแต่ช่วงเวลา 0:20 ถึง 2:53
การช่วยเหลือผู้อื่นเมื่อเราเองประสบปัญหาจะหล่อหลอมคนที่เราจะเป็นได้อย่างไร?
เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนดังนี้
อุปนิสัยจะเผยออกมา … ในอำนาจที่จะเล็งเห็นความทุกข์ของคนอื่นเมื่อเราเองก็กำลังทนทุกข์ ในความสามารถที่จะรับรู้ความหิวของผู้อื่นเมื่อเราหิว ในอำนาจที่จะเอื้อมออกไปและเผื่อแผ่ความสงสารให้กับความทุกข์ทรมานทางวิญญาณของผู้อื่นเมื่อเราอยู่ท่ามกลางความเศร้าโศกทางวิญญาณของเราเอง ด้วยเหตุนี้อุปนิสัยแสดงออกโดยการมองและเอื้อมออกนอกตัวทั้งที่การตอบสนองตามธรรมชาติและตามสัญชาตญาณคือหมกมุ่นกับตนเองและหันเข้าหาตัว หากความสามารถเช่นนั้นเป็นเกณฑ์สูงสุดของอุปนิสัยทางศีลธรรม พระผู้ช่วยให้รอดของโลกย่อมเป็นแบบอย่างที่ดีพร้อมของอุปนิสัยที่เสมอต้นเสมอปลายและมีจิตกุศล
(เดวิด เอ. เบดนาร์, “The Character of Christ” [การให้ข้อคิดทางวิญญาณของมหาวิทยาลัยบริคัมยังก์–ไอดาโฮ, 25 ม.ค., 2003], byui.edu)
พรใดบ้างที่จะเกิดขึ้นได้ขณะเรารับใช้ผู้อื่นเมื่อสิ่งต่างๆ ยากสำหรับเรา?
ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดสอนดังนี้
เราต้องสังเกตความยากลำบากของผู้อื่นด้วยและพยายามช่วยเหลือ นั่นจะยากเป็นพิเศษเมื่อตัวเราเองกำลังเจอบททดสอบแสนสาหัส แต่เราจะค้นพบว่าเมื่อเรายกภาระของกันและกันแม้เพียงเล็กน้อย หลังของเราจะแข็งแรงขึ้นและเราจะสัมผัสถึงแสงสว่างในความมืด
(เฮนรีย์ บี. อายริงก์, “รับการทดสอบ พิสูจน์ และขัดเกลา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2020, 98)