มัทธิว 27:50–66; ลูกา 23:55–56; ยอห์น 19:39–40
การยกย่องและแสดงความรักต่อพระผู้ช่วยให้รอด
เมื่อพระเยซูสิ้นพระชนม์ “แผ่นดินก็ไหว ศิลาก็แตกออกจากกัน” (มัทธิว 27:51) แต่บางสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้นเกิดขึ้นในพระวิหาร: ม่านที่เปิดเข้าสู่อภิสุทธิสถานเหนือวิสุทธิสถานทั้งหลายฉีกขาดออกเป็นสองท่อน หลังการสิ้นพระชนม์ของพระผู้ช่วยให้รอด สานุศิษย์ของพระองค์พยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้ได้พระวรกายของพระองค์มาและเตรียมการฝังพระศพอย่างระมัดระวัง บทเรียนนี้ตั้งใจจะช่วยให้ท่านเข้าใจและใคร่ครวญสิ่งที่พระเยซูคริสต์ทรงทำเพื่อท่านและสิ่งที่ท่านสามารถทำได้เพื่อแสดงถึงการยกย่องและเห็นคุณค่าของพระองค์
กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทำได้
การยกย่องผู้ล่วงลับ
ผู้คนในวัฒนธรรมที่แตกต่างกันมีวิธีแตกต่างกันในการจดจำและยกย่องผู้ที่สิ้นชีวิต นึกถึงคนที่ท่านรักซึ่งจากไปแล้วหรือไตร่ตรองว่าจะเป็นอย่างไรหากคนใกล้ชิดกับท่านจากไป
-
ท่าน (หรือท่านจะ) ต้องการจดจำอะไรไว้เสมอเกี่ยวกับคนที่ท่านรัก?
-
ท่านทำอย่างไรเพื่อยกย่องหรือแสดงความรักต่อผู้ที่จากไป?
ข้อความพระคัมภีร์ในบทเรียนนี้อธิบายถึงการสิ้นพระชนม์ของพระผู้ช่วยให้รอดบนกางเขนและเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทันทีหลังจากนั้น ใช้เวลาสักครู่ไตร่ตรองคำถามต่อไปนี้
-
ท่านจะรู้สึกอย่างไรหากท่านเห็นการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูด้วยตนเอง?
-
ท่านรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ในเวลานี้?
-
ท่านอาจต้องการจดจำและยกย่องพระองค์อย่างไร?
ขณะท่านศึกษาในวันนี้ แสวงหาการนำทางจากพระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อช่วยให้ท่านทราบว่าท่านจะจดจำ ยกย่อง และแสดงความรักต่อพระผู้ช่วยให้รอดได้อย่างไร
สัญลักษณ์ของม่านพระวิหาร
ในช่วงเวลาที่พระเยซูสิ้นพระชนม์ มีแผ่นดินไหวและปรากฏการณ์ทางกายภาพอื่นๆ รวมทั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นกับพระวิหาร อ่าน มัทธิว 27:50–51 และท่านอาจทำเครื่องหมายรายละเอียดเกี่ยวกับพระวิหารที่มัทธิวบันทึกไว้
พระวิหารโบราณมีสองห้องที่คั่นด้วยม่านหรือผ้ากั้นห้อง ปีละครั้ง ในวันแห่งการชดใช้ มหาปุโรหิตจะเดินจากวิสุทธิสถานผ่านม่านพระวิหารและเข้าไปยังอภิสุทธิสถานเหนือวิสุทธิสถานทั้งหลาย ห้องนี้แสดงถึงที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า ในห้องนี้ มหาปุโรหิตจะโรยเลือดของเครื่องพลีบูชาลบล้างบาปบนแท่นบูชาเพื่อชดใช้บาปของอิสราเอล (ดู เลวีนิติ 16)
-
การฉีกขาดของม่านที่เข้าไปในอภิสุทธิสถานเหนือวิสุทธิสถานทั้งหลายเป็นสัญลักษณ์ถึงสิ่งใด?
เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกี (1915–1985) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายถึงความสำคัญทางสัญลักษณ์ของเหตุการณ์นี้ว่า
บัดนี้อภิสุทธิสถานเหนือวิสุทธิสถานทั้งหลายเปิดให้ทุกคน และผ่านทางพระโลหิตที่ชดใช้ของพระเมษโปดกทุกคนจะสามารถเข้าสู่วิสุทธิสถานที่สูงสุดในบรรดาสถานที่ทั้งปวง อาณาจักรนั้นคือสถานที่ซึ่งจะพบชีวิตนิรันดร์ … [ทุกคน] มีสิทธิ์จะผ่านม่านเข้าสู่ที่ประทับของพระเจ้าเพื่อสืบทอดความสูงส่งอย่างสมบูรณ์
(Bruce R. McConkie, Doctrinal New Testament Commentary, 3 vols. [1965–73], 1:830)
ความจริงข้อหนึ่งที่เราเรียนรู้ได้จากสิ่งที่เกิดขึ้นใน มัทธิว 27:51 คือ พระเยซูคริสต์ทรงทำให้เป็นไปได้สำหรับเราทุกคนที่จะกลับไปยังที่ประทับของพระบิดาบนสวรรค์และเป็นเหมือนพระองค์ อัครสาวกเปาโลสอนอีกด้วยว่าการฉีกขาดของม่านแสดงถึงความจริงนี้ (ดู ฮีบรู 10:19–20)
ไตร่ตรองราคาที่พระผู้ช่วยให้รอดของท่านจ่ายไปเพื่อแหวกม่านและทำให้ท่านสามารถกลับไปยังอาณาจักรของพระบิดาของพระองค์ได้
เขียนวิธีสองสามวิธีที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงช่วยให้ท่านเติบโตและพัฒนาตนเองโดยส่วนตัวและเป็นเหมือนพระบิดาบนสวรรค์ของท่านมากขึ้นเพื่อให้ท่านสามารถกลับไปยังที่ประทับของพระองค์ในที่สุด
สานุศิษย์ของพระเยซูยกย่องพระองค์
เมื่อพระเยซูสิ้นพระชนม์ สานุศิษย์ของพระองค์พยายามที่จะจดจำและยกย่องพระองค์ อ่านว่าสานุศิษย์บางคนแสดงความรักต่อพระเยซูอย่างไร
-
มัทธิว 27:57–60: โยเซฟแห่งอาริมาเธีย สานุศิษย์ที่ร่ำรวยและเป็นสมาชิกสภายิว สภาปกครองสูงสุดของชาวยิว
-
ยอห์น 19:39–40: นิโคเดมัส ฟาริสีคนหนึ่งและสมาชิกสภายิว
-
ลูกา 23:55–56: มารีย์ ชาวมักดาลาและหญิงคนอื่นๆ
ข้อมูลต่อไปนี้อาจช่วยให้ท่านเข้าใจการกระทำของสานุศิษย์เหล่านี้ดีขึ้น
โยเซฟแห่งอาริมาเธีย แม้ว่าจะไม่ใช่ผู้ติดตามพระคริสต์อย่างเปิดเผย แต่แสดงความสงสารและความกล้าหาญด้วยการขอพระศพของพระเยซู อุโมงค์ฝังศพหรือสุสานฝังศพที่โยเซฟจัดหาสำหรับพระวรกายของพระผู้ช่วยให้รอด ขุดจากหิน ซึ่งน่าจะมีราคาแพง
มดยอบเป็นยางไม้แห้งกลิ่นหอมที่ใช้ในการเตรียมร่างกายของผู้วายชนม์ ปริมาณมดยอบและว่านหางจระเข้ที่นิโคเดมัสนำมาชโลมพระวรกายของพระผู้ช่วยให้รอดคล้ายกับสิ่งที่ใช้ในการฝังศพของราชวงศ์
ผู้หญิงเตรียมเครื่องหอมและน้ำมันหอมเพื่อเตรียมพระวรกายของพระเยซูขั้นสุดท้ายเพราะการฝังพระศพของพระองค์ทำอย่างเร่งรีบ
-
การกระทำของผู้คนเหล่านี้แสดงถึงความรู้สึกที่พวกเขามีต่อพระผู้ช่วยให้รอดอย่างไร?
การแสดงความรักของท่านต่อพระผู้ช่วยให้รอดของท่าน
แม้ว่าพระผู้ช่วยให้รอดไม่ทรงอยู่กับเราทางร่างกาย แต่เราก็ยังสามารถหาวิธีแสดงความรักที่เรามีต่อพระองค์
เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันวิธีแสดงความรักต่อพระผู้ช่วยให้รอด (พวกเขาอาจนึกถึงแนวคิดบางอย่างระหว่างกิจกรรมการเตรียมของนักเรียน) นักเรียนอาจเขียนแนวคิดของพวกเขาบนกระดาน
ท่านอาจแบ่งปันข้อความของซิสเตอร์เครเวนในหมวด “บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง” หรือวีดิทัศน์ในหมวด “กิจกรรมการเรียนรู้เพิ่มเติม”
เขียนหรือวาดอย่างน้อยหนึ่งอย่างที่ท่านรู้สึกว่าควรทำเพื่อยกย่องและแสดงความรักต่อพระผู้ช่วยให้รอด ดังที่เกิดขึ้นกับโยเซฟแห่งอาริมาเธีย นิโคเดมัส และมารีย์ ชาวมักดาลาตลอดจนหญิงคนอื่นๆ สิ่งนี้อาจต้องมีการเสียสละ
บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง
พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำอะไรเพื่อฉันบ้าง?
ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดสรุปบางสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำเพื่อเราแต่ละคน:
ภายใต้แผนของพระบิดาบนสวรรค์ พระองค์ “ทรงสร้างฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก” ( หลักคำสอนและพันธสัญญา 14:9) เพื่อให้เราแต่ละคนได้มีประสบการณ์มรรตัยอันจำเป็นต่อการแสวงหาจุดหมายอันสูงส่งของเรา แผนส่วนหนึ่งของพระบิดาคือให้การฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์เอาชนะความตายเพื่อให้เราแต่ละคนมีความเป็นอมตะ การพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระเยซูคริสต์เปิดโอกาสให้เราแต่ละคนกลับใจจากบาปและกลับไปบ้านบนสวรรค์อย่างสะอาด พระบัญญัติและพันธสัญญาของพระองค์แสดงเส้นทางนั้น และฐานะปุโรหิตของพระองค์มอบสิทธิอำนาจให้ประกอบศาสนพิธีที่จำเป็นต่อการไปถึงจุดหมายนั้น พระผู้ช่วยให้รอดเต็มพระทัยประสบความเจ็บปวดและความทุพพลภาพทุกอย่างของมนุษย์เพื่อพระองค์จะทรงรู้วิธีเสริมกำลังให้เราในความทุกข์ของเรา
(ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำอะไรเพื่อเราบ้าง?,” เลียโฮนา, พ.ค. 2021, 77)
ฉันสามารถแสดงความรักที่มีต่อพระผู้ช่วยให้รอดในทางใดบ้าง?
ซิสเตอร์เบคกี้ เครเวนแห่งฝ่ายประธานเยาวชนหญิงสามัญกล่าวว่า
ถ้าเรารักพระองค์อย่างที่เราอ้าง เราแสดงความรักนั้นได้โดยรอบคอบมากขึ้นในการดำเนินชีวิตตามพระบัญญัติมิได้หรือ?
ความรอบคอบในการดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณไม่จำเป็นต้องหมายถึงเคร่งเครียดหรือคร่ำครึ แต่หมายถึงความเหมาะสมในความคิดและความประพฤติในฐานะสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ เมื่อเราไตร่ตรองความแตกต่างระหว่างรอบคอบกับหละหลวมในการดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ พึงพิจารณาความคิดต่อไปนี้
เรารอบคอบในการนมัสการวันสะบาโตและในการเตรียมรับส่วนศีลระลึกแต่ละสัปดาห์หรือไม่?
เราจะรอบคอบมากขึ้นในการสวดอ้อนวอนและศึกษาพระคัมภีร์ หรือมีส่วนแข็งขันมากขึ้นใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว ได้หรือไม่?
เรารอบคอบเมื่อเรานมัสการในพระวิหารและเราดำเนินชีวิตตามพันธสัญญาที่เราทำเมื่อครั้งบัพติศมาและในพระวิหารอย่างสุขุมรอบคอบหรือไม่? เรารอบคอบในรูปลักษณ์ภายนอกและแต่งกายสุภาพหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานที่และสภาวการณ์ศักดิ์สิทธิ์? เรารอบคอบในการสวมการ์เม้นท์พระวิหารหรือไม่? หรือแฟชั่นของโลกทำให้เราหละหลวมมากขึ้นหรือไม่?
เรารอบคอบหรือไม่ในการปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้อื่นและทำการเรียกในศาสนจักรให้เกิดสัมฤทธิผล หรือเราเฉยเมยหรือหละหลวมในการเรียกให้รับใช้?
เรารอบคอบหรือหละหลวมในสิ่งที่เราอ่านและสิ่งที่เราดูทางทีวีและอุปกรณ์มือถือหรือไม่? เรารอบคอบในภาษาของเราหรือไม่? หรือเราน้อมรับความต่ำช้าหยาบคายอย่างหละหลวม?
จุลสาร เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน ระบุมาตรฐานที่จะบังเกิดพรมากมายและช่วยให้เราอยู่บนเส้นทางพันธสัญญาเมื่อเราทำตามอย่างรอบคอบ
(เบคกี้ เครเวน, “รอบคอบตรงข้ามกับหละหลวม,” เลียโฮนา, พ.ค. 2019, 10)