มัทธิว 27:24–66; มาระโก 15:15–38
ขณะพระผู้ช่วยให้รอดทรงประสบกับความเจ็บปวดอันโหดร้ายของการถูกตรึงกางเขน ศัตรูยั่วยุพระองค์และบอกให้พระองค์ทรงปลดปล่อยพระองค์เองจากความทรมาน แต่พระองค์ทรงอดทนอย่างชอบธรรมและทรงทนทุกข์ทรมานเพื่อเราต่อไป บทเรียนนี้จะช่วยให้ท่านเข้าใจและเห็นคุณค่าของความทุกข์ทรมานและการสิ้นพระชนม์ของพระผู้ช่วยให้รอดบนกางเขนโดยเป็นส่วนสำคัญของการชดใช้ของพระองค์
กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทำได้
พระเยซูคริสต์พลีพระชนม์ชีพของพระองค์เพื่อเรา
ในบทเรียนนี้ท่านจะศึกษาเกี่ยวกับการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ ใช้เวลาสักครู่ไตร่ตรองสิ่งที่ท่านทราบเกี่ยวกับการสิ้นพระชนม์ของพระผู้ช่วยให้รอดและท่านมีความรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ ท่านเชื่อหรือไม่ว่าพระองค์สิ้นพระชนม์เพื่อช่วยท่านให้รอด? ถ้าเป็นเช่นนั้น ท่านจะแสดงว่าท่านเห็นคุณค่าต่อการเสียสละของพระองค์ได้อย่างไร? ระหว่างที่ท่านศึกษา ให้แสวงหาการนำทางจากพระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อช่วยให้ท่านตอบคำถามเหล่านี้
การตรึงกางเขนของพระเยซูคริสต์
หลังจากพระผู้ช่วยให้รอดทรงถูกชาวยิวสอบสวนและตามด้วยเฮโรดและปีลาตแล้ว พระองค์ถูกโบยอย่างโหดเหี้ยมและนำไปยังกลโกธา (หรือที่รู้จักกันในชื่อคัลวารี) เพื่อตรึงกางเขน
ท่านอาจทำเครื่องหมายที่วลี “เมื่อตรึงพระองค์ที่กางเขนแล้ว” ใน มัทธิว 27:35 อ่าน คู่มือพระคัมภีร์ ใต้หัวข้อ “ตรึงกางเขน (การ)” เพื่อดูว่าวิธีปฏิบัติในเรื่องนี้เป็นอย่างไร
อ่านข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้เกี่ยวกับการตรึงกางเขนของพระผู้ช่วยให้รอด ทำเครื่องหมายรายละเอียดที่ท่านรู้สึกว่าสำคัญ
-
มัทธิว 27:27–31 . ทหารโรมันล้อเลียนพระผู้ช่วยให้รอด
-
มัทธิว 27:35–44 . พระผู้ช่วยให้รอดทรงถูกล้อเลียนบนกางเขน
-
มัทธิว 27:45–46, 50 . พระผู้ช่วยให้รอดทรงทนทุกข์และสิ้นพระชนม์บางกางเขน หมายเหตุ: พระเยซูทรงถูกตรึงกางเขนใน “เวลาสามโมงเช้า” (9:00 น.; ดู มาระโก 15:25) “เวลาเที่ยง” หมายถึง 12:00 เที่ยงวัน; “บ่ายสามโมง” หมายถึง 15:00 น.
เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่าเหตุใดพระผู้ช่วยให้รอดทรงถามว่า “พระเจ้าของข้าพระองค์ พระเจ้าของข้าพระองค์ ทำไมพระองค์ทรงทอดทิ้งข้าพระองค์เสีย?” (มัทธิว 27:46)
ชม “ไม่มีใครอยู่กับพระองค์” มีอยู่ที่ ChurchofJesusChrist.org, ตั้งแต่ช่วงเวลา 9:00 ถึง 12:46 หรืออ่านข้อความต่อไปนี้
ด้วยความเชื่อมั่นสุดจิตวิญญาณ ข้าพเจ้าเป็นพยานว่า … พระบิดาผู้ทรงดีพร้อม ไม่ ได้ทรงทอดทิ้งพระบุตรของพระองค์ในโมงนั้น ตามจริงแล้ว ด้วยความเชื่อส่วนตัว ข้าพเจ้าเชื่อว่าในการปฏิบัติศาสนกิจของพระคริสต์ขณะประทับอยู่บนแผ่นดินโลก พระบิดาไม่เคยทรงอยู่ใกล้พระบุตรของพระองค์มากกว่าช่วงเวลาสุดท้ายแห่งความทุกข์ทรมานอันขมขื่นนี้ อย่างไรก็ดี … พระบิดาทรงถอนการปลอบประโลมของพระวิญญาณออกไปชั่วครู่จากพระเยซู ซึ่งเป็นความช่วยเหลือจากการประทับอยู่ของพระองค์ แต่นี่เป็นข้อกำหนด โดยแท้แล้วนี่เป็นส่วนสำคัญของการชดใช้ว่าพระบุตรผู้ทรงดีพร้อมพระองค์นี้ ผู้ไม่เคยรับสั่งวาจาหยาบหรือทรงทำสิ่งผิด หรือทรงสัมผัสสิ่งไม่สะอาด ต้องทรงรู้ว่ามนุษยชาติ—เราทุกคน—รู้สึกอย่างไรเมื่อเราทำบาปเช่นนั้น เพื่อให้การชดใช้ของพระองค์ไม่มีขอบเขตและเป็นนิรันดร์ พระองค์ต้องทรงรู้สึกว่าจะเป็นเช่นไรที่ต้องสิ้นพระชนม์ไม่เพียงทางพระวรกายเท่านั้นแต่ทางวิญญาณด้วย เพื่อจะทรงสัมผัสได้ว่าจะเป็นเช่นไรเมื่อพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์จากไป ทิ้งให้รู้สึกอ้างว้างเดียวดาย น่าสลดใจ สิ้นหวังเพียงลำพัง
(เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “ไม่มีใครอยู่กับพระองค์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2009, 107)
-
เอ็ลเดอร์ฮอลแลนด์ช่วยให้ท่านเข้าใจอะไรได้ดีขึ้นเกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์?
-
ท่านประทับใจอะไรมากที่สุดเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์จากเหตุการณ์เหล่านี้? เพราะเหตุใด?
ข้ออ้างโยง
พระผู้ช่วยให้รอดทรงมีเดชานุภาพที่จะปลดปล่อยพระองค์เองออกจากประสบการณ์ที่ได้รับความอับอายและเจ็บปวดแสนสาหัสบนกางเขน (ดู มัทธิว 26:52–54) แต่พระองค์ไม่ทรงทำเช่นนั้น
อ่านพระคัมภีร์ต่อไปนี้อย่างน้อยสามข้อเพื่อค้นหาสาเหตุ ท่านอาจสร้างแผนภูมิดังต่อไปนี้เพื่อจัดระเบียบความคิดและความรู้สึกของท่าน ท่านอาจเชื่อมโยงหรืออ้างโยงข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ไปยัง มัทธิว 27:26 หรือสร้างแท็กที่มีข้ออ้างอิงเหล่านี้พร้อมด้วยชื่อเรื่องที่ท่านเลือก
เหตุใดพระผู้ช่วยให้รอดทรงยอมถูกตรึงกางเขน |
พรมีให้เราเพราะพระองค์ทรงทำเช่นนั้น |
หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:40–42
-
ข้อพระคัมภีร์ข้อใดมีความหมายต่อท่านมากที่สุด? เพราะเหตุใด?
-
ท่านเรียนรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับเหตุผลที่พระผู้ช่วยให้รอดเต็มพระทัยที่จะถูกตรึงกางเขนเพื่อเรา?
-
พรใดในข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ที่ท่านสำนึกคุณมากที่สุด? เพราะเหตุใด?
เป็นสิ่งสำคัญที่จะเข้าใจว่า โดยเป็นส่วนหนึ่งของการชดใช้ พระเยซูคริสต์ทรงถูกตรึงกางเขนเพื่อบาปของโลก ความทุกข์ทรมานที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงเริ่มต้นที่สวนเกทเสมนีเสร็จสมบูรณ์บนกางเขนที่กลโกธา หากพระผู้ช่วยให้รอดมิได้สิ้นพระชนม์เพื่อบาปของเรา เราจะไม่สามารถกลับไปหาพระบิดาในสวรรค์ของเราได้
-
ท่านจะอธิบายให้ผู้อื่นฟังว่าการตรึงกางเขนของพระผู้ช่วยให้รอดเป็นส่วนหนึ่งของการชดใช้ของพระองค์อย่างไร? ท่านจะอธิบายเหตุผลที่สิ่งนี้มีความหมายต่อท่านอย่างไร?
อธิการเจราลด์ คอสเซ อธิบายว่าการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดเป็นเรื่องส่วนตัวสำหรับเราแต่ละคนอย่างไร
แม้ว่าการชดใช้ของพระเจ้าจะไม่มีที่สิ้นสุดและครอบคลุมทุกคน แต่ก็เป็นของประทานที่เป็นส่วนตัวและมีความใกล้ชิดเป็นพิเศษ เหมาะสมกับเราแต่ละคนเป็นรายบุคคล เฉกเช่นพระเยซูทรงเชื้อเชิญสานุศิษย์ชาวนีไฟแต่ละคนให้สัมผัสรอยแผลของพระองค์ พระองค์สิ้นพระชนม์เพื่อเราแต่ละคนเป็นการส่วนตัว ราวกับว่าท่านหรือข้าพเจ้าเป็นเพียงบุคคลเดียวบนแผ่นดินโลก พระองค์ทรงเชื้อเชิญเราเป็นการส่วนตัวให้มาหาพระองค์และดึงพรอันน่าอัศจรรย์จากการชดใช้ของพระองค์มาใช้
(เจราลด์ คอสเซ, “พยานที่มีชีวิตอยู่ของพระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2020, 40)
-
เหตุใดท่านรู้สึกว่าการรับรู้ถึงลักษณะเป็นส่วนตัวของการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดจึงเป็นสิ่งสำคัญ?
เพื่อช่วยให้ท่านรู้สึกและจดจำลักษณะที่เป็นส่วนตัวของการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดเพื่อท่าน ให้เขียนในสมุดบันทึก ท่านอาจเขียนเกี่ยวกับสิ่งต่อไปนี้
-
พรที่ท่านสามารถได้รับเนื่องจากความทุกข์ทรมานและการสิ้นพระชนม์ของพระผู้ช่วยให้รอดบนกางเขนเพื่อท่าน
-
การที่พระองค์สิ้นพระชนม์เพื่อท่านโดยส่วนตัวมีความหมายต่อท่านอย่างไร
-
ความคิดและความประทับใจที่ท่านได้รับจากพระวิญญาณบริสุทธิ์
บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง
สถานที่และเวลาในการตรึงกางเขนของพระผู้ช่วยให้รอดสำคัญอย่างไร?
ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันอธิบายว่า
ระยะที่สองของการชดใช้ของพระองค์เกิดสัมฤทธิผลบนกางเขน …
ปีลาตส่งพระเมษโปดกของพระผู้เป็นเจ้าให้ถูกตรึงกางเขนในเวลาเดียวกันกับที่ลูกแกะแห่งปัสกาถูกนำมาเตรียมเป็นเครื่องพลีบูชา (ดู ยอห์น 19:13–14)
การตรึงกางเขนเกิดขึ้นที่เนินเขาเรียกว่ากลโกธา (ภาษากรีก) หรือคัลวารี (ภาษาละติน) หมายถึง “กะโหลก” กะโหลกเป็นสัญลักษณ์ของความตาย ณ สถานที่เช่นนั้น การพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้เสร็จสมบูรณ์ บนกางเขน พระผู้ช่วยให้รอดของโลกทรงถูกยกขึ้นเหนือความตายในความยิ่งใหญ่ที่สุดของนัยสำคัญที่เป็นไปได้ทั้งหมด—ความเข้าใจและความเป็นจริงแห่งเดชานุภาพของพระเจ้าเหนือความตาย
(รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “Why This Holy Land?,” Ensign, Dec. 1989, 18–19)
เหตุใดพระเยซูคริสต์ไม่ทรงช่วยพระองค์เองให้รอด?
เอ็ลเดอร์โรนัลด์ เอ. ราสแบนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่า
“จงลงมาจากกางเขนเถิด” กลุ่มคนไม่เชื่อเย้ยหยันพระองค์บนคัลวารี [มัทธิว 27:40] พระองค์จะทรงทำปาฏิหาริย์เช่นนั้นก็ได้ แต่ทรงทราบจุดจบตั้งแต่จุดเริ่มต้น และทรงมุ่งหมายว่าจะซื่อสัตย์ต่อแผนของพระบิดา แบบอย่างนั้นไม่ควรขาดหายไปจากเรา
(โรนัลด์ เอ. ราสแบนด์, “ดูเถิด! เราคือพระผู้เป็นเจ้าแห่งปาฏิหาริย์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2021, 111)
ผู้คนกี่คนได้รับผลจากความทุกข์ทรมานและการตรึงกางเขนของพระผู้ช่วยให้รอด?
เอ็ลเดอร์เควนทิน แอล. คุก แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่า
พระผู้ช่วยให้รอด … ทรงทนทุกข์ทรมานต่อความเจ็บปวดจนสุดพรรณนาในเกทเสมนีและบนกางเขนเพื่อทำให้การชดใช้ของพระองค์สมบูรณ์ … พระองค์ทรงทำสิ่งนี้เพื่อชายหญิงทุกคนที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างหรือจะทรงสร้างขึ้น
(เควนทิน แอล. คุก, “นิรันดรทุกวัน,” เลียโฮนา, พ.ย. 2017, 52)
พระผู้ช่วยให้รอดอาจประสบอะไรบ้างบนกางเขน?
เอ็ลเดอร์เจมส์ อี. ทัลเมจ (1862–1933) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายดังนี้
ดูเหมือนว่านอกจากเหตุการณ์ความทุกข์ทรมานอันน่าสะพรึงกลัวต่อการตรึงกางเขนแล้ว ความปวดร้าวของเกทเสมนีเกิดขึ้นซ้ำและรุนแรงเกินกว่าพลังมนุษย์จะทนได้ ในโมงอันแสนขมขื่นนั้นพระคริสต์ผู้ใกล้สิ้นพระชนม์ทรงอยู่เพียงลำพัง ลำพังในความเป็นจริงที่เลวร้ายที่สุด การเสียสละอันสูงสุดนั้นของพระบุตรอาจเกิดขึ้นในความสมบูรณ์เต็มที่ ดูเหมือนพระบิดาทรงถอนความช่วยเหลือจากการประทับอยู่ที่นั่นของพระองค์ ทรงปล่อยให้รัศมีภาพของชัยชนะที่สมบูรณ์เหนือพลังของบาปและความตายตกอยู่ที่พระผู้ช่วยให้รอดของมนุษย์
(Jesus the Christ [1916], 661)
เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกี (1915–1985) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนคล้ายกันว่า
จากนั้นฟ้าเริ่มเปลี่ยนเป็นสีดำ ความมืดเข้าปกคลุมแผ่นดินตลอดสามชั่วโมงนั้น เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในบรรดาชาวนีไฟ มีพายุโหมกระหน่ำราวกับว่าพระผู้เป็นเจ้าแห่งธรรมชาติพระองค์นั้นกำลังรับทุกข์ทรมานแสนสาหัส
แน่นอนว่าพระองค์ทรงทุกข์ทรมานแสนสาหัส เพราะขณะถูกตรึงกางเขนอีกสามชั่วโมงตั้งแต่เที่ยงถึงบ่ายสามโมงความทุกข์ทรมานแสนสาหัสและความเจ็บปวดอันไร้ความปรานีในเกทเสมนีได้กลับคืนมาอีกครั้ง
(บรูซ อาร์. แมคคองกี, “อำนาจการชำระให้บริสุทธิ์แห่งเกทเสมนี,” เลียโฮนา, เม.ย. 2011, 18)