ลูกา 5:1–11
ติดตามพระเจ้าและบรรลุจุดประสงค์อันศักดิ์สิทธิ์ของเรา
เมื่อซีโมนเปโตร อันดรูว์ ยากอบ และยอห์นจับ “ปลาได้จำนวนมาก” อย่างน่าอัศจรรย์หลังจากพระผู้ช่วยให้รอดทรงเชื้อเชิญให้พวกเขา “หย่อนอวน [ของพวกเขา] ลงจับปลา” (ลูกา 5:4, 6) พวกเขาเห็นภาพสิ่งที่พวกเขาอาจทำสำเร็จได้ด้วยความช่วยเหลือของพระผู้ช่วยให้รอด จากนั้นชาวประมงเหล่านี้จึงเลือกทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อติดตามพระเยซูคริสต์ บทเรียนนี้มีเจตนาจะช่วยให้ท่านรู้สึกปรารถนาจะติดตามพระเยซูคริสต์เพื่อพระองค์จะทรงช่วยให้ท่านประสบความสำเร็จได้มากกว่าที่ท่านอาจทำได้โดยไม่มีพระองค์
กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทำได้
การบรรลุเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่า
ใช้เวลาสักครู่นึกถึงผู้คนที่ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่สำเร็จเพราะพระผู้เป็นเจ้าทรงช่วยให้พวกเขาเข้าใจจุดประสงค์ของตน
-
เหตุใดอาจเป็นสิ่งสำคัญที่คนบางคนจะเข้าใจจุดประสงค์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของตน?
-
ท่านสังเกตความแตกต่างอะไรบ้างในชีวิตของผู้คนที่เข้าใจจุดประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าสำหรับพวกเขาและผู้คนที่ไม่เข้าใจ?
บทเรียนนี้จะมุ่งเน้นว่าพระเยซูคริสต์ทรงช่วยให้ซีโมนเปโตร (ซึ่งรู้จักกันในชื่อเปโตรด้วย) ค้นพบว่าพระองค์ทรงมีจุดประสงค์ที่ยิ่งใหญ่กว่าสำหรับเขาอย่างไร ขณะท่านศึกษา ให้มองหาหลักฐานที่บ่งบอกถึงหลักธรรมที่ว่า เมื่อเราเลือกติดตามพระเยซูคริสต์ พระองค์ทรงสามารถช่วยให้เราเข้าใจและบรรลุจุดประสงค์ที่ยิ่งใหญ่กว่าสำหรับชีวิตเรา
พระเยซูคริสต์ทรงเรียกซีโมนเปโตรให้ติดตามพระองค์
หลังจากพระผู้ช่วยให้รอดทรงทำปาฏิหาริย์หลายอย่างในยูดาห์ รวมถึงการรักษาแม่ยายของซีโมนเปโตร (ดู ลูกา 4:38–39) พระองค์เสด็จไปชายฝั่งทะเลสาบเยนเนซาเรท (อีกชื่อหนึ่งของทะเลแห่งกาลิลี) พระองค์ทรงลงเรือตกปลาของซีโมนเปโตรและประทับอยู่ในเรือเพื่อสอนคนกลุ่มใหญ่บนฝั่ง (ดู ลูกา 5:1–3) เมื่อพระเยซูทรงสอนเสร็จแล้ว พระองค์มีพระดำรัสเชิญซีโมนเปโตร
อ่าน ลูกา 5:4–11 ขณะท่านอ่าน ลองจินตนาการว่าท่านเป็นซีโมนเปโตร ชาวประมงที่มีประสบการณ์
-
รายละเอียดใดบ้างจากเรื่องราวนี้ที่ท่านรู้สึกว่าสำคัญ? เพราะเหตุใด?
-
ท่านคิดว่าเปโตรอาจคิดหรือรู้สึกอย่างไร?
ใช้เวลาสักครู่เพื่อมองหาหลักฐานในเรื่องราวนี้ที่พระเยซูคริสต์ทรงช่วยให้เปโตรเข้าใจว่าพระเจ้าทรงมีจุดประสงค์ที่ยิ่งใหญ่กว่าสำหรับเขา
-
เปโตรคงเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับตนเองจากประสบการณ์นี้กับพระผู้ช่วยให้รอด?
-
ทำไมท่านจึงคิดว่าพระเจ้าทรงต้องการขยายวิสัยทัศน์ของเราเกี่ยวกับตัวตนของเราและสิ่งที่เราสามารถทำได้?
เปรียบประสบการณ์ของซีโมนเปโตรกับประสบการณ์ของเรา
เราสามารถเรียนรู้อย่างลึกซึ้งจากเรื่องราวนี้ได้โดยเปรียบเทียบประสบการณ์ของซีโมนเปโตรกับประสบการณ์ที่เราอาจได้รับ ทักษะการศึกษาพระคัมภีร์นี้คือสิ่งที่นีไฟอ้างถึงในพระคัมภีร์มอรมอนเมื่อท่านกล่าวว่าท่าน “เปรียบพระคัมภีร์ทั้งหมดกับ [ตนเอง]” ( 1 นีไฟ 19:23) การเปรียบพระคัมภีร์กับสถานการณ์ส่วนตัวสามารถช่วยให้เรา “[ได้รับการ] ชักชวน … จนเต็มสติกำลังให้เชื่อพระเจ้าพระผู้ไถ่ [ของเรา]” และสามารถ “เป็นประโยชน์และเป็นการเรียนรู้ของเรา” ( 1 นีไฟ 19:23)ใช้เวลาสักครู่เพื่อเปรียบเทียบประสบการณ์ของท่านกับประสบการณ์ของเปโตรโดยทำดังนี้แบ่งหน้าในสมุดบันทึกการศึกษาของท่านออกเป็นสองส่วนเพื่อด้านหนึ่งท่านสามารถเขียนรายละเอียดเกี่ยวกับประสบการณ์ของเปโตรและอีกด้านหนึ่งท่านสามารถมองดูสถานการณ์ของตนเอง หากจำเป็นให้เปิดพระคัมภีร์และเครื่องมือพระคัมภีร์ที่มี (ตัวอย่างเช่น ดู คู่มือพระคัมภีร์, “ เปโตร ,” scriptures.ChurchofJesusChrist.org) เพื่อช่วยท่านตอบคำถามต่อไปนี้
เปรียบประสบการณ์ของเปโตรกับชีวิตของเราเอง | |
เปโตรอาจบรรยายถึงตนเองอย่างไรก่อนพบพระเยซู? |
ฉันจะบรรยายถึงตนเองอย่างไร? |
เปโตรเต็มใจติดตามพระเยซูคริสต์และละทิ้งชีวิตชาวประมงของเขา (ดู ลูกา 5:11) ท่านจินตนาการว่าชีวิตของเปโตรจะต่างไปอย่างไรหากเขาไม่ได้เลือกติดตามพระผู้ช่วยให้รอด? |
ฉันอาจถูกขอให้ละทิ้งสิ่งใดเพื่อติดตามพระเยซูคริสต์? ชีวิตฉันอาจได้รับผลกระทบอย่างไรถ้าฉันไม่เลือกติดตามพระเยซูคริสต์? |
เปโตรบรรลุเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าที่พระเจ้าทรงมีให้เขาในชีวิตอย่างไร? |
นึกถึงพระคัมภีร์ แผนแห่งความรอด พรฐานะปุโรหิต และปิตุพรถ้ามี ฉันรู้อะไรเกี่ยวกับจุดประสงค์ที่ยิ่งใหญ่กว่าของพระเจ้าสำหรับฉัน? ฉันมีคำถามอะไรบ้างเกี่ยวกับจุดประสงค์ของฉัน? |
-
การเปรียบพระคัมภีร์กับตัวท่านช่วยให้ท่านเรียนรู้หรือเชื่อในพระเยซูคริสต์มากขึ้นอย่างไร?
-
ท่านพบหลักฐานใดว่าเราสามารถบรรลุจุดประสงค์ที่ยิ่งใหญ่กว่าสำหรับชีวิตเราเมื่อเราเลือกติดตามพระเยซูคริสต์?
-
เมื่อใดที่ท่านเคยสังเกตเห็นใครบางคนได้รับอิทธิพลเชิงบวกจากการเข้าใจจุดประสงค์ของพวกเขา?
-
ท่านจะทำอะไรเพราะสิ่งที่ท่านรู้สึกหรือเรียนรู้วันนี้?
บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง
ลูกา 5:8 . เหตุใดเปโตรจึงเรียกตนเองว่า “คนบาป”?
เมื่อเปโตรพบพระผู้ช่วยให้รอดครั้งแรกและเป็นพยานถึงเดชานุภาพอันน่าอัศจรรย์ของพระองค์ เปโตรตระหนักว่าเขาเป็น “คนบาป” ที่ต้องการอำนาจการไถ่ของพระผู้ช่วยให้รอดอย่างมาก ( ลูกา 5:8) ถ้อยคำของเปโตรแสดงให้เห็นว่าขณะเราเข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้า เราตระหนักถึงบาปและความไม่คู่ควรของเราและปรารถนาความช่วยเหลือจากพระองค์ในการเป็นเหมือนพระองค์มากขึ้น
(New Testament Student Manual [2018], ChurchofJesusChrist.org)
พระเจ้าจะทรงทำอะไรให้เราได้บ้างเมื่อเราติดตามพระองค์?
ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน (1899–1994) สอนว่า
[คนเหล่านั้น] ที่ถวายชีวิตแด่พระผู้เป็นเจ้าจะค้นพบว่าพระองค์ทรงสามารถรังสรรค์จากชีวิตพวกเขาได้มากกว่าที่พวกเขาจะทำได้ พระองค์จะทรงทำให้ปีติของพวกเขาลึกซึ้ง ขยายวิสัยทัศน์ของพวกเขา ทำให้ความคิดของพวกเขาฉับไว เสริมกำลังกล้ามเนื้อของพวกเขา ยกระดับวิญญาณของพวกเขา ทวีพรของพวกเขา เพิ่มโอกาสของพวกเขา ปลอบโยนจิตวิญญาณของพวกเขา เพิ่มมิตรสหาย และหลั่งเทสันติสุข บุคคลใดยอมสละชีวิตของเขาในการรับใช้พระผู้เป็นเจ้าจะพบชีวิตนิรันดร์
(เอสรา แทฟท์ เบ็นสัน, “Jesus Christ—Gifts and Expectations,” Ensign, Dec. 1988, 4)