ลูกา 7:36–50
“เพราะนางรักมาก”
พระเยซูเสวยพระกระยาหารค่ำในบ้านของคนฟาริสีชื่อซีโมน สตรีที่ซีโมนเห็นว่าเป็น “คนบาป” เข้ามา “[ล้างพระบาท พระผู้ช่วยให้รอดด้วย] น้ำตา” ใช้ผมเช็ดและ “จูบพระบาทของพระองค์แล้วเอาน้ำมันชโลม” (ลูกา 7:37–39) เพื่อตอบความคิดของซีโมน พระผู้ช่วยให้รอดทรงแบ่งปันอุปมาเกี่ยวกับการให้อภัยและความรัก บทเรียนนี้มีเจตนาจะช่วยให้ท่านใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์และกลับใจจากบาป
กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทำได้
ทิศทางที่เรากำลังไป
-
ท่านสังเกตเห็นอะไรเกี่ยวกับคนในแผนภาพนี้?
-
ระยะห่างจากพระผู้ช่วยให้รอดและทิศทางที่พวกเขาหันไปบอกอะไรได้บ้างเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของพวกเขากับพระองค์?
คิดสักครู่ว่าท่านจะวางตัวท่านเองไว้ตรงไหนบนแผนภาพนี้และจะหันหน้าไปทางไหนเอ็ลเดอร์แลร์รีย์ อาร์. ลอว์เร็นซ์ อธิบายไว้เมื่อครั้งเป็นสมาชิกแห่งสาวกเจ็ดสิบดังนี้:
พระบิดาบนสวรรค์ทรงทราบศักยภาพแห่งสวรรค์ของเรา พระองค์ทรงชื่นชมยินดีทุกครั้งที่เราก้าวไปข้างหน้า สำหรับพระองค์ ทิศทางของเราสำคัญกว่าความเร็วของเราเสมอ
(แลร์รีย์ อาร์. ลอว์เร็นซ์, “ข้าพเจ้ายังขาดอะไรอีกบ้าง?,” เลียโฮนา, พ.ย. 2015, 35)
-
ท่านคิดว่าเหตุใดทิศทางทางวิญญาณที่เราหันไปจึงสำคัญกว่าความเร็วของเรา?
พระเจ้าทรงรู้สึกปีติอย่างยิ่งเมื่อเราพยายามกลับใจ (ดู ลูกา 15:7 ; หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:13) ด้านหนึ่งที่จะพูดถึงการกลับใจคือการหันหลังให้บาปและหันหน้าเข้าหาพระผู้เป็นเจ้า (ดูคู่มือพระคัมภีร์, “ กลับใจ (การ),” scriptures.ChurchofJesusChrist.org) ขณะศึกษา ให้เอาใจใส่การกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณที่จะช่วยให้ท่านหันหลังให้บาปและหันหน้าเข้าหาพระผู้ช่วยให้รอดได้
พระเยซูเสวยพระกระยาหารในบ้านของซีโมนคนฟาริสี
ลูกา 7 ประกอบด้วยเรื่องราวของพระเยซูเสวยพระกระยาหารในบ้านของคนฟาริสีชื่อซีโมน ขณะพระเยซูประทับอยู่กับซีโมน หญิงคนหนึ่งมาหาพระองค์ หญิงคนนี้เป็นคนบาป (ดู ลูกา 7:37, 39)
อ่าน ลูกา 7:36–39 โดยมองหาสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อหญิงคนนี้เข้าไปหาพระเยซูระหว่างเสวย
-
ท่านสังเกตเห็นอะไรเกี่ยวกับซีโมน? เกี่ยวกับหญิงคนนี้?
พระเยซูทรงทราบความคิดของซีโมนและทรงเล่าอุปมา อ่าน ลูกา 7:40–43 โดยมองหาสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนซีโมนผ่านอุปมานี้ อาจเป็นประโยชน์ถ้ารู้ว่าหนึ่งเดนาริอันเป็นจำนวนเงินที่จ้างคนงานให้ทำงานหนึ่งวัน (ดู ข้อ 41, เชิงอรรถ ก)
-
อุปมานี้อาจจะช่วยให้ซีโมนเข้าใจอะไรในเรื่องที่ว่าตัวเขาต้องให้อภัย?
ในช่วงสมัยของพระผู้ช่วยให้รอด เป็นธรรมเนียมที่เจ้าบ้านจะให้เกียรติแขกผู้มีเกียรติโดยแสดงน้ำใจ เช่น ทักทายด้วยการจูบ ให้น้ำล้างเท้า และเจิมน้ำมันที่ศีรษะพวกเขา (ดูเจมส์ อี. ทัลเมจ, Jesus the Christ[1916], 261) ตามที่บันทึกไว้ใน ลูกา 7:44–46 พระผู้ช่วยให้รอดทรงชี้ให้เห็นว่าซีโมนไม่ได้แสดงความเอื้อเฟื้อเหล่านี้ต่อพระเยซู ในขณะที่หญิงดังกล่าวพยายามอย่างหนักเพื่อแสดงความรักและความสำนึกคุณต่อพระองค์
-
ท่านคิดว่าหญิงคนนี้เข้าใจอะไรเกี่ยวกับพระเยซูที่ซีโมนอาจไม่เข้าใจ?
-
ท่านเห็นหลักฐานอะไรยืนยันว่าหญิงคนนี้กลับใจแล้ว หรือหันหลังให้บาปและหันเข้าหาพระผู้ช่วยให้รอด?
อ่าน ลูกา 7:47–50 โดยดูว่าเหตุใดพระเจ้าทรงให้อภัยบาปของเธอ
-
ท่านมีความคิดอะไรหรือความรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดเมื่อศึกษาเรื่องนี้?
-
ท่านเรียนรู้ความจริงอะไรบ้างจากเรื่องนี้?
เอ็ลเดอร์เดล จี. เรนลันด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองแบ่งปันคำสอนเกี่ยวกับเรื่องที่บันทึกไว้ใน ลูกา 7 ดูวีดิทัศน์ “That I Might Draw All Men unto Me” (13:39) ตั้งแต่รหัสเวลา 4:22 ถึง 5:03 หรืออ่านข้อความต่อไปนี้
ยิ่งเราใกล้ชิดพระเยซูคริสต์ในความคิดและเจตนาของใจเรามากเท่าใด เราจะยิ่งซาบซึ้งในความทุกขเวทนาที่ไร้ความผิดของพระองค์ เราจะยิ่งสำนึกในพระคุณและการให้อภัย และเราจะยิ่งต้องการกลับใจและเป็นเหมือนพระองค์ ระยะห่างระหว่างเรากับพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์สำคัญ แต่ทิศทางที่เรามุ่งหน้าไปสำคัญยิ่งกว่า พระผู้เป็นเจ้าพอพระทัยคนบาปที่กลับใจผู้พยายามเข้าใกล้พระองค์มากกว่าคนที่อ้างว่าตนชอบธรรม และชอบจับผิดเหมือนพวกฟาริสีและพวกธรรมาจารย์ในสมัยโบราณผู้ไม่รู้ตัวว่าตนเองต้องกลับใจอย่างยิ่ง
(ดู เดล จี. เรนลันด์, “เพื่อเราจะดึงมนุษย์ทั้งปวงมาหาเรา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2016, 40)
-
คำพูดหรือวลีใดในข้อความนี้เพิ่มความเข้าใจของท่านในสิ่งที่ท่านเพิ่งศึกษาใน ลูกา 7?
-
ประสบการณ์ใดเคยช่วยให้ท่านรู้สึกรักและซาบซึ้งมากขึ้นต่อพระผู้ช่วยให้รอดและพระเมตตาที่ทรงมอบให้?
วางแผน
จำไว้ว่าการกลับใจไม่ใช่เหตุการณ์หรือมีไว้สำหรับบาปร้ายแรงเท่านั้น การกลับใจเป็นกระบวนการและเราจะกลับใจทุกครั้งที่พยายามเข้าใกล้พระเจ้ามากขึ้นและหันหลังให้ความชั่วร้าย
ดูภาพพระผู้ช่วยให้รอดและแผนภาพรูปคนอีกครั้ง นึกถึงความสัมพันธ์ของท่านกับพระเยซูคริสต์และทิศทางที่ท่านกำลังไป วางแผนทำให้ความรักที่มีต่อพระผู้ช่วยให้รอดลึกซึ้งยิ่งขึ้นโดยกลับใจทุกวัน ทำแบบฝึกหัดต่อไปนี้ลงในแผ่นกระดาษเพื่อท่านจะเก็บไว้กับตัวท่านเองได้ ท่านอาจมีโอกาสติดตามประสบการณ์นี้ในบทเรียนครั้งต่อไป
-
สิ่งหนึ่งที่ท่านต้องหยุดทำเพื่อมาใกล้พระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้นคืออะไร? ท่านจะหยุดอย่างไร?
-
สิ่งหนึ่งที่ท่านต้องเริ่มทำเพื่อมาใกล้พระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้นคืออะไร? ท่านจะเริ่มอย่างไร?
บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง
ในเรื่องนี้ฉันคล้ายใครมากที่สุด: ซีโมนหรือหญิงคนนั้น?
ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ กล่าวเมื่อครั้งอยู่ในฝ่ายประธานสูงสุดว่า:
ในสองคนนี้เราเหมือนคนไหนมากที่สุด?
เราเหมือนซีโมนไหม? เรามั่นใจและสบายใจในการทำดีโดยวางใจในความชอบธรรมของเราเองหรือไม่? เราหงุดหงิดนิดหน่อยหรือไม่กับคนที่ไม่ดำเนินชีวิตตามมาตรฐานของเรา? เราเข้าร่วมการประชุมด้วยความเคยชิน โดยไม่ตั้งใจ หาวตลอดชั้นเรียนหลักคำสอนพระกิตติคุณ และบางทีก็ดูโทรศัพท์มือถือระหว่างพิธีศีลระลึกหรือไม่?
หรือเราเหมือนหญิงคนนี้ที่คิดว่าเธอสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างและสิ้นหวังเพราะบาป?
เรา รักมาก หรือไม่?
เราเข้าใจไหมว่าเราเป็นหนี้พระบิดาบนสวรรค์และทูลวิงวอนขอพระคุณของพระผู้เป็นเจ้าสุดจิตวิญญาณของเรา?
เมื่อคุกเข่าสวดอ้อนวอน เราทูลอวดความชอบธรรมของเราซ้ำไปมา หรือสารภาพความผิดของเรา วิงวอนขอพระเมตตาจากพระผู้เป็นเจ้า และหลั่งน้ำตาแห่งความสำนึกคุณต่อแผนอัศจรรย์แห่งการไถ่?
ความรอดไม่สามารถซื้อได้ด้วยเงินตราของการเชื่อฟัง แต่ซื้อด้วยพระโลหิตของพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า [ดู กิจการ 20:28 ]
(ดู ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “ของประทานแห่งพระคุณ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2015, 109)
เหตุใดการกลับใจทุกวันจึงสำคัญ?
ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันอธิบายว่า:
ไม่มีสิ่งใดเป็นอิสระ มีเกียรติ หรือสำคัญต่อความก้าวหน้าของเรามากไปกว่าการมุ่งเน้นที่การกลับใจทุกวันอย่างสม่ำเสมอ การกลับใจไม่ใช่เหตุการณ์ แต่เป็นกระบวนการ เป็นกุญแจสู่ความสุขและจิตใจที่สงบ เมื่อร่วมกับศรัทธา การกลับใจจะเปิดประตูสู่พลังแห่งการชดใช้ของพระเยซูคริสต์
(รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “เราสามารถทำให้ดีขึ้นและเป็นคนดีขึ้นได้” เลียโฮนา, พ.ค. 2019, 67)