มัทธิว 5:17–47
กฎที่สูงกว่า
ขณะพระเยซูคริสต์ยังทรงเทศนาบนภูเขา พระองค์ทรงสอนว่าพระองค์เสด็จมาเพื่อทำให้กฎของโมเสสเกิดสัมฤทธิผลอย่างไร และพระองค์ทรงแนะนำกฎที่สูงกว่าของพระกิตติคุณ บทเรียนนี้จะช่วยให้ท่านดำเนินชีวิตตามกฎที่สูงกว่าของพระคริสต์ได้เพื่อจะเป็นเหมือนพระบิดาบนสวรรค์มากขึ้น
กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทำได้
พระเยซูทรงสอนกฎที่สูงกว่าของพระกิตติคุณ
-
เมื่อใดที่ท่านอยู่ในพื้นที่สูงกว่าจะช่วยให้การมองของท่านดีขึ้น?
-
ท่านสามารถเห็นอะไรในเวลานั้นที่ท่านไม่เห็นมาก่อน?
ทัศนวิสัยจากพื้นที่สูงกว่าสามารถให้มุมมองที่กว้างขึ้นแก่เราฉันใด พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนกฎที่สูงกว่าแก่สานุศิษย์ของพระองค์เพื่อให้พวกเขามีมุมมองที่กว้างขึ้นฉันนั้น มุมมองที่กว้างขึ้นนี้สามารถช่วยให้เราเป็นเหมือนพระองค์และพระบิดาบนสวรรค์มากขึ้นใน มัทธิว 5:17–20 พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนว่าพระองค์เสด็จมาเพื่อทำให้กฎของโมเสสเกิดสัมฤทธิผล—ไม่ใช่เพื่อขจัดความจริงนิรันดร์ข้อใดในกฎนั้น พระเยซูคริสต์ทรงฟื้นฟูความสมบูรณ์แห่งพระกิตติคุณที่สูญหายไปเนื่องจากความชั่วร้ายและการละทิ้งความเชื่อ พระองค์ทรงแก้ไขคำสอนเท็จและทำให้คำพยากรณ์ของศาสดาพยากรณ์ในพันธสัญญาเดิมเกิดสัมฤทธิผล มัทธิว 5:21–47 มีคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดเกี่ยวกับกฎและประเพณีต่างๆ ที่ชาวยิวพัฒนาภายใต้กฎของโมเสส ในข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ พระเยซูคริสต์ทรงอธิบายความหมายที่แท้จริงของกฎของโมเสสและทรงสอนวิถีแห่งความชอบธรรมที่สูงกว่า
อ่าน มัทธิว 5:38–42 โดยมองหาตัวอย่างหนึ่งของพระบัญญัติจากกฎของโมเสสและกฎที่สูงกว่าที่พระเยซูทรงสอนสานุศิษย์ของพระองค์ซึ่งมาแทนที่พระบัญญัตินั้น
-
อะไรคือหนึ่งอย่างที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงระบุว่าเป็นส่วนหนึ่งของกฎของโมเสสหรือประเพณีอื่นๆ ที่ผู้คนสถาปนาไว้?
-
กฎที่สูงกว่าข้อใดที่พระผู้ช่วยให้รอดประทานให้มาแทนที่?
-
การดำเนินชีวิตตามกฎที่สูงกว่านี้จะช่วยบุคคลเป็นเหมือนพระบิดาบนสวรรค์มากกว่ากฎเดิมอย่างไร?
กิจกรรม ก: ฉันจะควบคุมความโกรธได้อย่างไร?
ใคร่ครวญถึงครั้งสุดท้ายที่ท่านโกรธ
-
ท่านคิดว่าเหตุใดการควบคุมความโกรธจึงสำคัญ?
อ่าน มัทธิว 5:21–24 โดยมองหากฎที่สูงกว่าที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนเกี่ยวกับความโกรธ
-
ท่านจะพิจารณาทำเครื่องหมายอะไรในข้อพระคัมภีร์เหล่านี้หรือไม่? หากใช่ เพราะเหตุใด?
ประธานโธมัส เอส. มอนสัน (1927–2018) ชี้แจงบทบาทในการควบคุมความโกรธของเรา
ความโกรธคือการยอมต่ออิทธิพลของซาตาน ไม่มีใครจะ ทำให้ เราโกรธได้ นี่คือการเลือกของเรา หากเราอยากมีวิญญาณที่ถูกต้องอยู่กับเราตลอดเวลา เราต้องเลือกระงับความโกรธ ข้าพเจ้าเป็นพยานว่านั่นอยู่ในวิสัยที่ทำได้
(โธมัส เอส. มอนสัน, “จงฝึกความรู้สึกท่าน โอ พี่น้องข้าพเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ย. 2009, 78)
-
พระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นแบบอย่างของการดำเนินพระชนม์ชีพตามกฎที่สูงกว่านี้ในวิธีใดบ้าง?
-
ท่านสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อใช้พลังอำนาจของพระผู้ช่วยให้รอดมาช่วยท่านดำเนินชีวิตตามกฎที่สูงกว่านี้?
กิจกรรม ข: เหตุใดฉันจึงควรขจัดความคิดที่มีตัณหาราคะออกไป?
-
จะเกิดอะไรขึ้นหากไม่ถอนวัชพืชออกจากสวน?
-
ความคิดที่ไม่เหมาะสมในใจเราอาจเหมือนวัชพืชในสวนอย่างไร?
อ่าน มัทธิว 5:27–28 โดยมองหาบาปที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงเตือนเรา
เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสนทนาถึงความร้ายแรงของบาปอันเกิดจากตัณหาราคะดังนี้
เหตุใดตัณหาราคะจึงเป็นบาปหนัก นอกเหนือจากผลกระทบร้ายแรงต่อจิตวิญญาณเราในการขับไล่พระวิญญาณออกไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นบาปเพราะสิ่งนี้แปดเปื้อนสัมพันธภาพสูงสุดและศักดิ์สิทธิ์ที่สุดที่พระผู้เป็นเจ้าประทานให้เราในความเป็นมรรตัย นั่นคือ ความรักที่ชายและหญิงมีให้กันและความปรารถนาที่คู่สามีภรรยานั้นจะนำลูกๆ มาสู่ครอบครัวที่เจตนาให้เป็นนิรันดร์ … ความรักทำให้เราเอื้อมไปหาพระผู้เป็นเจ้าและผู้อื่นโดยสัญชาตญาณ ตัณหาไม่ได้เป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้าแต่กลับเชิดชูการหมกมุ่นกับตนเอง ความรักทำให้เราเปิดใจและอ้าแขนรับผู้คน แต่ตัณหาราคะทำให้เรามีแต่ความหิวกระหาย
(เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “ไม่มีที่แก่ศัตรูของจิตวิญญาณข้าพเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ค. 2010, 55)
เราสามารถกำจัดวัชพืชออกจากสวนฉันใด เราก็สามารถขจัดความคิดที่ไม่บริสุทธิ์ออกจากจิตใจเราได้ฉันนั้น อ่าน มัทธิว 5:29–30 งานแปลของโจเซฟ สมิธ สำหรับ มัทธิว 5:33–34 อธิบายว่าพระเยซูประทานพระคัมภีร์ข้อนี้ในคำอุปมาเกี่ยวกับบาปของเราและว่าเราควรขับบาปของเราออกไปจากตัวเรา เพื่อเราจะได้ไม่ถูกโค่นและโยนเข้าไปในไฟ ท่านอาจทำเครื่องหมายสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอน
-
ท่านอ่านอะไรที่โดดเด่นสำหรับท่าน? ท่านมีคำถามอะไรเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์เหล่านี้?
-
การขจัดบาปออกจากชีวิตเราอาจเหมือนการควักดวงตาหรือการตัดมืออย่างไร?
-
เราอาจพบปัญหาใดบ้างหากไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของพระผู้ช่วยให้รอดในการขจัดบาปออกจากชีวิตเรา?
-
ท่านสามารถทำอะไรได้บ้างในการดึงพลังอำนาจของพระผู้ช่วยให้รอดเพื่อช่วยท่านขจัดความคิดที่มีตัณหาราคะหรือไม่เหมาะสม?
กิจกรรม ค: ฉันควรปฏิบัติต่อคนที่เราเข้ากันไม่ได้อย่างไร?
นึกถึงบุคคลที่ท่านเข้ากันไม่ค่อยได้
-
ท่านคิดว่าการมีความรู้สึกที่ไร้เมตตากับบุคคลนี้มีอิทธิพลต่อความสัมพันธ์ของท่านกับพระบิดาบนสวรรค์อย่างไร?
อ่าน มัทธิว 5:43–47 โดยมองหากฎที่สูงกว่าซึ่งพระเยซูทรงสอนที่อาจช่วยท่านได้
-
ถ้อยคำหรือวลีใดสะดุดใจท่าน? ท่านคิดว่าเหตุใดถ้อยคำหรือวลีเหล่านี้จึงสำคัญ?
ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟอธิบายว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นแบบอย่างที่สมบูรณ์ที่สุดของเรื่องนี้ ท่านอาจต้องการดูวีดิทัศน์ “ผู้มีใจกรุณาย่อมได้รับพระกรุณา” จากช่วงเวลา 10:46 ถึง 11:57 มีอยู่ที่ ChurchofJesusChrist.org หรืออ่านข้อความด้านล่าง
ดังที่เป็นมาเสมอ พระคริสต์ทรงเป็นแบบอย่างให้เรา ในคำสอนและพระชนม์ชีพของพระองค์ พระองค์ทรงแสดงทางนั้นให้เราเห็น พระองค์ทรงให้อภัยคนชั่วร้าย คนหยาบคาย คนที่หมายมั่นจะทำร้ายและทำอันตรายพระองค์
พระเยซูตรัสว่าเป็นการง่ายที่จะรักคนที่รักเรา แม้คนชั่วก็ยังทำ ได้ แต่พระเยซูคริสต์ทรงสอนกฎที่สูงกว่า พระวจนะของพระองค์ก้องกังวานตลอดมาหลายศตวรรษและยังมีความสำคัญสำหรับเราจนทุกวันนี้ พระวจนะของพระองค์มีความสำคัญต่อทุกคนที่ปรารถนาจะเป็นสานุศิษย์ของพระองค์ พระวจนะของพระองค์มีความสำคัญสำหรับท่านและข้าพเจ้า “จงรักศัตรูของท่าน และจงอธิษฐานเพื่อผู้ที่ข่มเหงท่าน” [ มัทธิว 5:44 ; ดู ข้อ 45–47 ด้วย]
เมื่อใจของเราเปี่ยมด้วยความรักของพระผู้เป็นเจ้า เรามี “เมตตาต่อกัน มีใจเอ็นดูต่อกัน และอภัยโทษให้กัน เหมือนดังที่พระเจ้าได้ทรงโปรด [อภัยโทษให้เรา] ในพระคริสต์” [ เอเฟซัส 4:32 ]
(ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “ผู้มีใจกรุณาย่อมได้รับพระกรุณา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2012, 76)
-
พระผู้ช่วยให้รอดทรงรู้สึกอย่างไรกับผู้ที่ปฏิบัติต่อพระองค์อย่างไร้เมตตา?
-
ท่านมีประสบการณ์อะไรบ้างในการพยายามรักศัตรูของท่านหรือสวดอ้อนวอนให้แก่ผู้ที่ไร้เมตตาต่อท่าน?
-
ท่านคิดว่าท่านสามารถทำอะไรได้บ้างในการดึงพลังอำนาจของพระผู้ช่วยให้รอดเพื่อช่วยให้ท่านรักศัตรูของท่าน
ดำเนินชีวิตตามกฎที่สูงกว่า
ไตร่ตรองว่าองค์ประกอบอะไรของกฎที่สูงกว่าที่ท่านรู้สึกว่าต้องมุ่งเน้นในการดำเนินชีวิต ท่านอาจทูลขอการให้อภัยและความช่วยเหลือจากพระบิดาบนสวรรค์ขณะท่านพยายามกลับใจและดำเนินชีวิตตามกฎนี้ ขอการนำทางจากพระวิญญาณเพื่อรู้ว่าต้องทำอะไร ท่านอาจต้องการพูดคุยกับพ่อแม่ของท่าน อธิการ หรือผู้นำศาสนจักรคนอื่นเพื่อพวกเขาจะช่วยเหลือท่านดำเนินชีวิตตามกฎนี้ได้
บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง
มัทธิว 5:18 . อักษรและขีดคืออะไร?
อักษรคือพยัญชนะที่เล็กที่สุดในอักษรฮีบรู ขีดคือเครื่องหมายเล็กๆ ที่แสดงถึงการออกเสียงที่แตกต่างกันของคำในภาษาเขียน พระผู้ช่วยให้รอดทรงอ้างถึงองค์ประกอบการเขียนเหล่านี้เพื่อแสดงว่าพระองค์จะทรงทำให้กฎของโมเสสทุกส่วนจนถึงรายละเอียดที่เล็กที่สุดเกิดสัมฤทธิผล
มัทธิว 5:22 .
มัทธิว 5:27–28 . การล่วงประเวณีคืออะไร?
การล่วงประเวณีคือเมื่อคนสองคนมีความสัมพันธ์ทางเพศขณะที่คนหนึ่งหรือทั้งสองคนแต่งงานกับคนอื่น (ดู คู่มือพระคัมภีร์, “ ล่วงประเวณี (การ), ” scriptures.ChurchofJesusChrist.org.)
มัทธิว 5:43 . คำกล่าวที่ว่า “จงรักเพื่อนบ้านของท่านและเกลียดชังศัตรูของท่าน” มาจากไหน?
พระบัญญัติให้ “รักเพื่อนบ้านของท่าน” มีอยู่ใน เลวีนิติ 19:18 แต่ไม่มีพระคัมภีร์ในพันธสัญญาเดิมที่บัญชาให้เราเกลียดศัตรูของเรา ดูเหมือนว่าพระผู้ช่วยให้รอดรับสั่งถึงคำกล่าวโดยทั่วไปในยุคสมัยของพระองค์
กิจกรรมการเรียนรู้เพิ่มเติม
กิจกรรมลงสมุดบันทึกของคำเทศนาบนภูเขา
ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนเพิ่มสิ่งต่อไปนี้ในรายการสมุดบันทึกของพวกเขา: “ มัทธิว 5–7 : ฉันสามารถเป็นเหมือนพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์โดย …”