การเรียกในคณะเผยแผ่
บทที่ 1: บรรลุจุดประสงค์ผู้สอนศาสนาของท่าน


“บทที่ 1: บรรลุจุดประสงค์ผู้สอนศาสนาของท่าน” สั่งสอนกิตติคุณของเรา: คู่มือแนะแนวการแบ่งปันพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ (2023)

“บทที่ 1” สั่งสอนกิตติคุณของเรา

แดน โจนส์กำลังสั่งสอน

แดน โจนส์หนึ่งในผู้สอนศาสนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในสมัยการประทานนี้สั่งสอนพระกิตติคุณในเวลส์

© 1993 คลาร์ก เคลลีย์ ไพรซ์ ไม่อนุญาตให้ทำสำเนา

บทที่ 1

บรรลุจุดประสงค์ผู้สอนศาสนาของท่าน

จุดประสงค์ของท่าน: เชื้อเชิญผู้อื่นมาหาพระคริสต์โดยช่วยให้พวกเขารับพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูผ่านศรัทธาในพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์ การกลับใจ บัพติศมา การรับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ และการอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่

พิจารณาสิ่งนี้

  • จุดประสงค์การเป็นผู้สอนศาสนาของฉันคืออะไร?

  • พลังอำนาจและสิทธิอำนาจใดมากับการเรียกของฉัน?

  • ฉันพึ่งพา รับรู้ และสอนโดยพระวิญญาณอย่างไร?

  • พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์คืออะไร?

  • ข่าวสารเรื่องการฟื้นฟูคืออะไร? ทำไมข่าวสารนี้จึงสำคัญ?

  • หน้าที่รับผิดชอบของฉันในการสถาปนาและเสริมสร้างศาสนจักรของพระเยซูคริสต์คืออะไร?

  • ฉันจะรู้ได้อย่างไรว่าฉันเป็นผู้สอนศาสนาที่ประสบความสำเร็จหรือไม่?

งานมอบหมายให้ท่านสอนพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์

ท่านมีคนอยู่รายรอบ ท่านเดินผ่านพวกเขาตามท้องถนนและเดินทางอยู่ท่ามกลางพวกเขา ท่านไปเยี่ยมพวกเขาในบ้านและเชื่อมต่อกับพวกเขาทางออนไลน์ พวกเขาทุกคนเป็นลูกพระผู้เป็นเจ้า—เป็นพี่น้องกับท่าน พระผู้เป็นเจ้าทรงรักพวกเขาเช่นเดียวกับที่ทรงรักท่าน

คนมากมายเหล่านี้กำลังค้นหาจุดประสงค์ในชีวิต พวกเขาเป็นห่วงอนาคตและครอบครัวของตน พวกเขาต้องมีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งที่มาจากการรู้ว่าตนเป็นลูกพระผู้เป็นเจ้าและเป็นสมาชิกในครอบครัวนิรันดร์ของพระองค์ พวกเขาต้องการรู้สึกมั่นคงปลอดภัยในโลกที่ค่านิยมเปลี่ยนแปลง และปรารถนา “สันติสุขในโลกนี้ และชีวิตนิรันดร์ในโลกที่จะมาถึง” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 59:23)

หลายคน “ถูกกันไว้จากความจริงเพราะพวกเขาหารู้ไม่ว่าจะพบได้จากที่ใด” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 123:12) พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ตามที่ฟื้นฟูผ่านศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธจะให้ความจริงนิรันดร์ ความจริงนี้ตรงกับความต้องการทางวิญญาณของผู้คนและช่วยให้พวกเขาบรรลุผลสมปรารถนาในส่วนลึกที่สุดของตน

ในฐานะตัวแทนที่ได้รับมอบอำนาจจากพระเยซูคริสต์ ท่านสอนว่า “การไถ่เกิดขึ้นโดยและผ่านพระเมสสิยาห์ผู้บริสุทธิ์” (2 นีไฟ 2:6) ท่านเชื้อเชิญให้ผู้คนมาหาพระคริสต์เพื่อเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระองค์และพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูของพระองค์ เมื่อพวกเขายอมรับคำเชื้อเชิญของท่าน พวกเขาจะมีความสุข ความหวัง สันติสุข และจุดประสงค์มากขึ้น

เพื่อมาหาพระผู้ช่วยให้รอดผู้คนต้องมีศรัทธาในพระองค์ ท่านจะช่วยพวกเขาพัฒนาศรัทธานี้ได้เมื่อท่าน:

  • สอนพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์ให้กับพวกเขาและเป็นพยานถึงความจริงของพระกิตติคุณ

  • เชื้อเชิญพวกเขาให้คำมั่นสัญญาว่าจะดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระกิตติคุณ

  • ติดตามผลและช่วยพวกเขาทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้

  • ช่วยให้พวกเขามีประสบการณ์ซึ่งพวกเขารู้สึกถึงอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ (ดู 1 นีไฟ 10:17–19)

ศรัทธาในพระเยซูคริสต์จะนำผู้คนให้กลับใจ พระเยซูทรงทำให้การกลับใจเกิดขึ้นได้โดยทรงชดใช้บาปของเรา เมื่อผู้คนกลับใจ พวกเขาจะสะอาดจากบาปและใกล้ชิดพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์มากขึ้น พวกเขาจะประสบปีติและสันติของการได้รับการอภัย

การกลับใจเตรียมผู้คนให้พร้อมรับพันธสัญญาบัพติศมาและของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ “มาหาเรา” พระผู้ช่วยให้รอดตรัส “และรับบัพติศมาในนามของเรา, และเจ้าจะได้รับการชำระให้บริสุทธิ์โดยการรับพระวิญญาณบริสุทธิ์, เพื่อเจ้าจะยืนอยู่โดยไม่มีมลทินต่อหน้าเราในวันสุดท้าย” (3 นีไฟ 27:20)

เมื่อความเข้าใจและประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและการชดใช้ของพระองค์เติบโต ความปรารถนาจะแบ่งปันพระกิตติคุณจะเพิ่มตาม ท่านจะรู้สึกเหมือนลีไฮถึง “ความสำคัญ … ใหญ่หลวง … ที่จะทำให้สิ่งเหล่านี้เป็นที่รู้แก่ผู้อยู่อาศัยของแผ่นดินโลก” (2 นีไฟ 2:8)

นิมิตเรื่องต้นไม้แห่งชีวิต

ต้นไม้แห่งชีวิต โดย ดามัวร์ ครีเวนโค

การศึกษาส่วนตัวหรือกับคู่

สำรวจภาพที่ให้มาขณะศึกษานิมิตเรื่องต้นไม้แห่งชีวิตใน 1 นีไฟ 8 และ 11

  • ต้นไม้แห่งชีวิตเป็นสัญลักษณ์แทนอะไรในนิมิตนี้? (ดู 1 นีไฟ 11:21–23)

  • ลีไฮปรารถนาอะไรหลังจากกินผลไม้? (ดู 1 นีไฟ 8:10–18)

  • ในนิมิต ผู้คนต้องทำอะไรเพื่อรับส่วนผลนั้น? เราต้องทำอะไรเพื่อรับพรทั้งหมดของการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด? คำมั่นสัญญาและพันธสัญญาช่วยให้เราได้รับพรเหล่านี้ในทางใดบ้าง?

  • ท่านจะช่วยให้ผู้อื่นรับส่วนผลของพระกิตติคุณได้อย่างไร?

สิทธิอำนาจและพลังอำนาจของการเรียกของท่าน

ท่านได้รับการเรียกและการวางมือมอบหน้าที่ให้ “ประกาศข่าวอันน่ายินดีแห่งความปรีดียิ่ง, แม้พระกิตติคุณอันเป็นนิจ” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 79:1 ท่านสามารถสอนด้วยสิทธิอำนาจและพลังอำนาจของพระผู้เป็นเจ้าเหมือนพวกบุตรของโมไซยาห์ (ดู แอลมา 17:2–3)

สิทธิอำนาจในการสั่งสอนพระกิตติคุณได้รับการฟื้นฟูผ่านศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธภายใต้การกำกับดูแลของพระคริสต์ เมื่อท่านได้รับการวางมือมอบหน้าที่เป็นผู้สอนศาสนา ท่านได้รับสิทธิอำนาจนี้ สิทธิ์ สิทธิพิเศษ และหน้าที่รับผิดชอบในการเป็นตัวแทนของพระเจ้าและสอนพระกิตติคุณของพระองค์มาพร้อมสิทธิอำนาจดังกล่าว

สิทธิอำนาจนี้รวมถึงหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินชีวิตให้คู่ควรกับการเรียกของท่านด้วย จงรับการวางมือมอบหน้าที่จริงๆ อยู่ห่างจากบาปและจากสิ่งใดก็ตามที่หยาบคายหรือต่ำช้า อยู่ห่างจากวิถีและความคิดของโลก ทำตามมาตรฐานใน มาตรฐานผู้สอนศาสนาสำหรับสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ ในฐานะตัวแทนของพระเจ้าจงเป็น “แบบอย่าง [ของผู้] เชื่อทั้งปวง” (1 ทิโมธี 4:12) ถวายเกียรติพระนามของพระเยซูคริสต์โดยการกระทำและคำพูดของท่าน

นอกจากสิทธิอำนาจแล้ว ท่านต้องมีพลังอำนาจทางวิญญาณเพื่อทำการเรียกให้บรรลุผลด้วย พระผู้เป็นเจ้าประทานพลังอำนาจทางวิญญาณขณะท่านทำงานอย่างสม่ำเสมอเพื่อเสริมสร้างประจักษ์พยานของท่านในพระองค์พระเยซูคริสต์และความจริงพระกิตติคุณที่ท่านสอน พระองค์ทรงมอบพลังอำนาจทางวิญญาณขณะท่านสวดอ้อนวอน ศึกษาพระคัมภีร์ และหมายมั่นทำให้บรรลุจุดประสงค์ผู้สอนศาสนาของท่าน พระองค์ประทานพลังอำนาจทางวิญญาณขณะท่านมุ่งมั่นรักษาพระบัญญัติและพันธสัญญาที่ทำไว้เมื่อท่านได้รับศาสนพิธีแห่งความรอด (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 35:24)

พลังอำนาจทางวิญญาณจะประจักษ์ชัดขณะท่าน:

การศึกษาพระคัมภีร์

ท่านได้รับและเสริมสร้างประจักษ์พยานอย่างไร?

ท่านได้รับพลังอำนาจทางวิญญาณอย่างไร?

การศึกษาส่วนตัว

ทบทวนและไตร่ตรองพันธสัญญาต่อไปนี้ที่ท่านทำไว้กับพระผู้เป็นเจ้า ศึกษาพรที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสัญญากับคนที่รักษาพันธสัญญาเหล่านี้ ใคร่ครวญพรที่ท่านเคยได้รับเพราะรักษาพันธสัญญา บันทึกความประทับใจลงในสมุดบันทึกการศึกษาของท่าน

บัพติศมาและการยืนยัน

การแต่งตั้งฐานะปุโรหิต (สำหรับเอ็ลเดอร์)

เอ็นดาวเม้นท์พระวิหาร

  • ดำเนินชีวิตตามกฎแห่งการเชื่อฟัง

  • เชื่อฟังกฎแห่งการเสียสละ

  • เชื่อฟังกฎแห่งพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์

  • รักษากฎแห่งความบริสุทธิ์ทางเพศ

  • รักษากฎแห่งการอุทิศถวาย

  • (ดู คู่มือทั่วไป, 27.2)

การศึกษาส่วนตัวหรือกับคู่

อ่าน ยอห์น 15:1–16 พระเยซูคริสต์ทรงเป็นเถาองุ่นในด้านใด? ท่านเป็นแขนงของเถาองุ่นนั้นอย่างไร? การวางมือมอบหน้าที่ให้ท่านเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์นี้อย่างไร?

อ่านใบรับรองการปฏิบัติศาสนกิจของท่าน บันทึกความรู้สึกและความคิดของท่านเกี่ยวกับสิ่งที่อ่าน แต่ละครั้งที่ท่านศึกษาบทนี้ให้ทำกระบวนการนี้ซ้ำ บันทึกว่าความรู้สึกของท่านค่อยๆ เปลี่ยนไปอย่างไร

การศึกษาส่วนตัว

ศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 109:13–15, 21–30, 38–39, 55–57 ข้อเหล่านี้เป็นข้อที่คัดมาจากคำสวดอ้อนวอนอุทิศพระวิหารเคิร์ทแลนด์ของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ

เขียนรายชื่อพรต่างๆ ที่โจเซฟ สมิธทูลขอให้คนซื่อสัตย์ผู้ได้รับเอ็นดาวเม้นท์ในพระนิเวศน์ศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าแล้ว ท่านมีความรู้สึกอย่างไรบ้างต่อพรเหล่านี้?

พยายามให้มีพระวิญญาณบริสุทธิ์อยู่กับท่าน

ท่านได้รับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์เมื่อท่านได้รับการยืนยันเป็นสมาชิกของศาสนจักร ในฐานะผู้สอนศาสนา—และตลอดชีวิต—สิ่งหนึ่งที่ท่านจำเป็นต้องมีมากที่สุดคือมีพระวิญญาณบริสุทธิ์อยู่กับท่าน (ดู 1 นีไฟ 10:17; 3 นีไฟ 19:9) พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นสมาชิกองค์ที่สามในพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์

พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงนำทาง ทรงสอน และทรงปลอบโยนท่าน ทรงชำระท่านให้สะอาดและบริสุทธิ์ พระองค์ทรงเป็นพยานถึงความจริงและทรงกล่าวคำพยานถึงพระบิดาและพระบุตร พระองค์ทรงทำให้ท่านและคนที่ท่านสอนเปลี่ยนใจเลื่อมใส (ดู 3 นีไฟ 27:20; 28:11; อีเธอร์ 12:41; โมโรไน 8:26; 10:5; ยอห์น 15:26)

พระวิญญาณบริสุทธิ์ “จะทรงแสดงแก่ท่านถึงสิ่งทั้งปวงที่ท่านควรทำ” (2 นีไฟ 32:5) พระองค์จะทรงขยายความสามารถและการรับใช้ของท่านไปไกลกว่าท่านจะทำได้ด้วยตนเอง

การพยายามให้มีพระวิญญาณบริสุทธิ์อยู่กับท่านควรเป็นหนึ่งในความปรารถนาที่จริงจังที่สุดของท่าน ท่านจะรู้สึกถึงความเป็นเพื่อนของพระองค์ขณะท่าน:

ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน

“ข้าพเจ้าขอร้องให้ท่านเพิ่มสมรรถภาพทางวิญญาณเพื่อรับการเปิดเผย … จงเลือกทำงานทางวิญญาณที่ต้องทำเพื่อได้รับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์และได้ยินสุรเสียงของพระวิญญาณบ่อยขึ้นและชัดขึ้น” (“การเปิดเผยสำหรับศาสนจักร การเปิดเผยสำหรับชีวิตเรา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2018, 96)

ฝึกรับรู้พระวิญญาณ

ท่านจะบรรลุจุดประสงค์ผู้สอนศาสนาได้ดีขึ้นเมื่อท่านฝึกรับรู้และทำตามการนำทางจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ โดยปกติพระวิญญาณทรงสื่อสารเงียบๆ ผ่านความคิดและความรู้สึกของท่าน อุทิศตนให้แก่การแสวงหา รับรู้ และทำตามการกระตุ้นเตือนที่ละเอียดอ่อนเหล่านี้ ซึ่งมาหลายรูปแบบ (ดู บทที่ 4; ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 8:2–3; 11:12–14; กาลาเทีย 5:22–23 ด้วย)

สอนโดยพระวิญญาณ

พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เป็น “ฤทธานุภาพของพระ [ผู้เป็น] เจ้าเพื่อให้ทุกคนที่เชื่อได้รับความรอด” (โรมัน 1:16) ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องสอนข่าวสารเรื่องการฟื้นฟูพระกิตติคุณโดยอำนาจสวรรค์—อำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์

พระเจ้าตรัสว่า “จะประทานพระวิญญาณแก่เจ้าโดยคำสวดอ้อนวอนจากศรัทธา; และหากเจ้าไม่ได้รับพระวิญญาณเจ้าจะไม่สอน” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:14; ดู 50:13–14, 17–22 ด้วย) ขณะที่ท่านสอนโดยอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ พระองค์จะทรง:

พระเจ้าจะทรงอวยพรท่านอย่างมากมายขณะท่านแสวงหา พึ่งพา และสอนโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ (ดู บทที่ 4 และ 10)

ทีละคน โดย วอลเตอร์ เรน

พระกิตติคุณของพระคริสต์และหลักคำสอนของพระคริสต์

พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์นิยามทั้งข่าวสารของท่านและจุดประสงค์ของท่าน ให้ทั้ง “อะไร” และ “ทำไม” ในการรับใช้เป็นผู้สอนศาสนาของท่าน พระกิตติคุณของพระองค์มีหลักคำสอน หลักธรรม กฎ พระบัญญัติ ศาสนพิธี และพันธสัญญาทั้งหมดที่จำเป็นต่อความรอดและความสูงส่ง

ข่าวสารพระกิตติคุณคือเราสามารถเข้าถึงเดชานุภาพการช่วยให้รอดและการไถ่ของพระเยซูคริสต์โดยใช้ศรัทธาในพระองค์ กลับใจ รับบัพติศมา รับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ และอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่ (ดู 3 นีไฟ 27:13–22)

ข่าวสารนี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าหลักคำสอนของพระคริสต์ การดำเนินชีวิตตามหลักคำสอนนี้เป็นวิธีที่เรามาหาพระคริสต์และรับการช่วยให้รอด (ดู 1 นีไฟ 15:14) ในพระคัมภีร์มอรมอนสอนหลักคำสอนนี้ได้อย่างทรงพลัง (ดู 2 นีไฟ 31; 32:1–6; 3 นีไฟ 11:31–40) จุดประสงค์ของท่านคือช่วยให้ผู้คนมาหาพระคริสต์โดยช่วยให้พวกเขาดำเนินชีวิตตามหลักคำสอนของพระองค์

ไฮรัม สมิธ

“จงสั่งสอนหลักธรรมเบื้องต้นของพระกิตติคุณ—สั่งสอนครั้งแล้วครั้งเล่า ท่านจะพบแนวคิดใหม่ๆ และความกระจ่างเพิ่มขึ้นทุกวันเกี่ยวกับหลักธรรมเหล่านั้นที่จะเปิดเผยต่อท่าน ท่านจะขยายความจนเข้าใจแจ่มแจ้ง จากนั้นท่านจะสามารถทำให้คนที่ท่านสอนเข้าใจชัดเจนขึ้น” (ไฮรัม สมิธ ใน History, 1838–1856, volume E-1 [1 July 1843–30 April 1844], 1994, josephsmithpapers.org)

การศึกษาพระคัมภีร์

พระคัมภีร์และถ้อยแถลงต่อไปนี้สอนอะไรเกี่ยวกับพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์และหลักคำสอนของพระคริสต์? จดบันทึกในสมุดบันทึกการศึกษาของท่านเพื่อช่วยให้ท่านเข้าใจและจดจำ

พลังการทำให้เปลี่ยนใจเลื่อมใสของพระคัมภีร์มอรมอน โดย เบ็น ซาวเวิร์ดส์

ศรัทธาในพระเยซูคริสต์

ศรัทธาเป็นรากฐานรองรับหลักธรรมพระกิตติคุณอื่นทั้งหมด ศรัทธาเป็นหลักธรรมของการกระทำและพลังอำนาจ

ศรัทธาของเราต้องมีศูนย์กลางอยู่ในพระเยซูคริสต์เพื่อให้ศรัทธานำเราไปสู่ความรอด พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนว่า “พระเจ้าทรงรักโลกดังนี้ คือได้ประทานพระบุตรองค์เดียวของพระองค์ เพื่อทุกคนที่วางใจในพระบุตรนั้นจะไม่พินาศ แต่มีชีวิตนิรันดร์” (ยอห์น 3:16)

ศรัทธาในพระเยซูคริสต์รวมถึงการเชื่อว่าพระองค์ทรงเป็นพระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดจากพระผู้เป็นเจ้า ศรัทธาคือการวางใจพระองค์ในฐานะพระผู้ช่วยให้รอดและพระผู้ไถ่ของเรา (ดู โมไซยาห์ 3:17; 4:6–10; แอลมา 5:7–15) คือการมีความมั่นใจเต็มเปี่ยมในพระองค์และพระวจนะ คำสอน และคำสัญญาของพระองค์ ศรัทธาของเราในพระคริสต์เติบโตเมื่อเราทำตามคำสอนและแบบอย่างของพระองค์ด้วยความตั้งใจเด็ดเดี่ยว (ดู 2 นีไฟ 31:6–13; 3 นีไฟ 27:21–22)

ในฐานะผู้สอนศาสนาจงช่วยให้ผู้คนทำและรักษาคำมั่นสัญญาที่สร้างศรัทธาของพวกเขาในพระเยซูคริสต์ คำมั่นสัญญาเหล่านี้เตรียมพวกเขาให้พร้อมรับศาสนพิธี ทำและรักษาพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์กับพระผู้เป็นเจ้า

การกลับใจ

ศรัทธาในพระเยซูคริสต์นำเราให้กลับใจ (ดู ฮีลามัน 14:13) การกลับใจเป็นกระบวนการของการหันมาหาพระผู้เป็นเจ้าและหันหลังให้บาป เมื่อเรากลับใจ การกระทำ ความปรารถนา และความคิดของเราเปลี่ยนมาสอดคล้องกับพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น

พระผู้ช่วยให้รอดทรงชดใช้บาปของเราผ่านการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ขององค์ (ดู โมไซยาห์ 15:9; แอลมา 34:15–17) เมื่อเรากลับใจเราจะได้รับการให้อภัยเนื่องด้วยพระเยซูคริสต์และการพลีพระชนม์ชีพของพระองค์ เพราะพระองค์ทรงเรียกร้องสิทธิ์แห่งพระเมตตาของพระองค์ให้กับคนที่สำนึกผิด (ดู โมโรไน 7:27–28) ในถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ลีไฮ “การไถ่เกิดขึ้น … ผ่านความดีงาม, และพระเมตตา, และพระคุณของพระเมสสิยาห์ผู้บริสุทธิ์” (2 นีไฟ 2:6, 8)

การกลับใจเป็นยิ่งกว่าการใช้พลังใจเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมหรือเอาชนะความอ่อนแอ การกลับใจคือการหันอย่างจริงใจมาหาพระคริสต์ผู้ประทานพลังอำนาจให้เราประสบ “การเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้ง” ในใจเรา (ดู แอลมา 5:12–14) รวมถึงการยินยอมตามพระวิญญาณและยอมทำตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าอย่างถ่อมตน เมื่อเรากลับใจเราเพิ่มคำมั่นสัญญาว่าจะรับใช้พระผู้เป็นเจ้าและเชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์ เราเกิดใหม่ทางวิญญาณในพระคริสต์

การกลับใจเป็นหลักธรรมเชิงบวกอันนำมาซึ่งปีติและสันติ นำเรามา “สู่เดชานุภาพของพระผู้ไถ่, สู่ความรอดของจิตวิญญาณพวกเขา” (ฮีลามัน 5:11)

จงกล้าและรักในการช่วยให้ผู้คนเข้าใจว่าทำไมพวกเขาควรกลับใจ การเชื้อเชิญให้คนที่ท่านสอนทำคำมั่นสัญญาเท่ากับท่านเชื้อเชิญให้พวกเขากลับใจและมอบความหวังให้กับพวกเขา

การศึกษาพระคัมภีร์

ท่านจะเรียนรู้อะไรได้บ้างจากการทำตามพระคัมภีร์เกี่ยวกับการประกาศการกลับใจ?

บัพติศมา

ศรัทธาในพระเยซูคริสต์และการกลับใจเตรียมเราให้พร้อมรับศาสนพิธีบัพติศมา “ผลแรกของการกลับใจคือบัพติศมา” (โมโรไน 8:25) เราเข้าประตูสู่ชีวิตนิรันดร์เมื่อเรารับบัพติศมาโดยการลงไปในน้ำทั้งตัวโดยผู้มีสิทธิอำนาจจากพระผู้เป็นเจ้า

เมื่อเรารับบัพติศมาเราทำพันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้า ขณะที่เรารักษาพันธสัญญานี้ พระผู้เป็นเจ้าทรงสัญญาจะประทานความเป็นเพื่อนของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ให้อภัยบาปของเรา และให้เราเป็นสมาชิกในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:77, 79; โมโรไน 6:4) เรารวมตัวกันมาหาพระเจ้าและเกิดใหม่ทางวิญญาณผ่านศาสนพิธีอันน่ายินดีและเปี่ยมด้วยความหวังนี้

การให้บัพติศมาและการยืนยันคนที่ท่านสอนอยู่ใจกลางจุดประสงค์ของท่าน จงช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่าเพื่อมีคุณสมบัติรับบัพติศมา พวกเขาต้องบรรลุเงื่อนไขใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:37

การศึกษากับคู่

ค้นคว้าพระคัมภีร์ต่อไปนี้:

จากการศึกษาพระคัมภีร์ข้างต้น ให้เขียนสองรายการ:

  1. คุณสมบัติสำหรับบัพติศมา

  2. พันธสัญญาที่ทำเมื่อบัพติศมา

สนทนากับคู่ว่าจะสอนเรื่องนี้ให้กับผู้อื่นอย่างไร

การยืนยันและของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์

บัพติศมามีสองส่วน: บัพติศมาด้วยน้ำและบัพติศมาด้วยพระวิญญาณ หลังจากรับบัพติศมาด้วยน้ำ บัพติศมาสมบูรณ์เมื่อเราได้รับการยืนยันโดยการวางมือโดยผู้มีสิทธิอำนาจจากพระผู้เป็นเจ้า โดยผ่านการยืนยันเราจะได้รับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์และการปลดบาปของเรา

ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธสอนว่า “บัพติศมาด้วยน้ำเป็นบัพติศมาเพียงครึ่งเดียว และไม่เกิดประโยชน์อันใดหากปราศจากอีกครึ่งที่เหลือ ซึ่งก็คือการบัพติศมาของพระวิญญาณบริสุทธิ์” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ [2007], 102)

แอลมาสอนว่า “มนุษย์ทั้งปวง … ต้องเกิดใหม่; แท้จริงแล้ว, เกิดจากพระผู้เป็นเจ้า, เปลี่ยนจากสภาพทางเนื้อหนังและสภาพที่ตกของพวกเขา, มาสู่สภาพแห่งความชอบธรรม, โดยได้รับการไถ่จากพระผู้เป็นเจ้า, กลายเป็นบุตรและธิดาของพระองค์; และดังนั้นพวกเขาจึงกลายเป็นคนใหม่” (โมไซยาห์ 27:25–26)

สำหรับคนที่สำนึกผิด บัพติศมาด้วยน้ำและด้วยพระวิญญาณคือการเกิดใหม่ทางวิญญาณ

การศึกษาพระคัมภีร์

การมีของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์มีพรอะไรบ้าง?

เหตุใดเราจึงควรปรารถนาของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์?

การอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่

การติดตามพระเยซูคริสต์เป็นคำมั่นสัญญาชั่วชีวิต เราอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่เมื่อเราใช้ศรัทธาในพระคริสต์ กลับใจทุกวัน รับศาสนพิธีและพันธสัญญาทั้งหมดของพระกิตติคุณ รักษาพันธสัญญาเหล่านั้น และมีความเป็นเพื่อนของพระวิญญาณบริสุทธิ์ต่อไปตลอดชีวิตเรา นี่รวมถึงการต่อพันธสัญญาที่เราทำไว้โดยการรับส่วนศีลระลึกด้วย

พระเจ้าทรงเป็นพระเมษบาลของเรา โดย ยองซุง คิม

พระเจ้าทรงเป็นพระเมษบาลของเรา โดย ยองซุง คิม Havenlight เอื้อเฟื้อภาพ

พระกิตติคุณ—เส้นทางของพระบิดาบนสวรรค์เพื่อกลับไปหาพระองค์

พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์สามารถเปลี่ยนวิธีที่เราดำเนินชีวิตและคนที่เราเป็น หลักธรรมพระกิตติคุณไม่ได้เป็นเพียงขั้นตอนที่เราประสบครั้งเดียวในชีวิต เมื่อเราทำซ้ำตลอดชีวิต หลักธรรมเหล่านั้นจะนำเราเข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้ามากขึ้นและกลายเป็นแบบแผนการดำเนินชีวิตที่ให้ผลคุ้มค่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก่อให้เกิดสันติ การเยียวยา และการให้อภัย ทั้งยังกำหนดเส้นทางที่พระบิดาบนสวรรค์ประทานเพื่อให้เรามีชีวิตนิรันดร์กับพระองค์ด้วย

พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ชี้นำการทำงานเป็นผู้สอนศาสนาของท่าน ทั้งยังปรับความพยายามของท่านให้ชัดเจนด้วย ช่วยให้ผู้คนมีศรัทธาในพระเยซูคริสต์จนถึงการกลับใจ (ดู แอลมา 34:15–17) สอนและเป็นพยานว่าความสมบูรณ์ของพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์และสิทธิอำนาจของฐานะปุโรหิตได้รับการฟื้นฟูแล้ว เชื้อเชิญให้ผู้คนรับบัพติศมาและดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอด

พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เป็นพรแก่ลูกทุกคนของพระผู้เป็นเจ้า

พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์มีไว้สำหรับลูกทุกคนของพระผู้เป็นเจ้า พระคัมภีร์สอนว่า “ทุกคนเหมือนกันหมด” สำหรับพระผู้เป็นเจ้า พระองค์ทรงเชื้อเชิญ “ทั้งหมดให้มาหาพระองค์และรับส่วนพระคุณความดีของพระองค์; และพระองค์ไม่ทรงปฏิเสธผู้ใดที่มาหาพระองค์เลย” (2 นีไฟ 26:33)

พระกิตติคุณเป็นพรแก่เราตลอดชีวิตมรรตัยของเราและตลอดนิรันดร เรา—แต่ละคนและครอบครัวเรา—จะมีความสุขมากที่สุดเมื่อเราดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระเยซูคริสต์ (ดู โมไซยาห์ 2:41; “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก,” ChurchofJesusChrist.org) การดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณทำให้ปีติของเราลึกซึ้งขึ้น ดลบันดาลการกระทำของเรา และทำให้ความสัมพันธ์ของเราดีขึ้น

หนึ่งในข่าวสารสำคัญของพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูคือเราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวพระผู้เป็นเจ้า เราเป็นบุตรธิดาที่รักของพระองค์ ไม่ว่าสถานการณ์ครอบครัวเราบนโลกเป็นเช่นไร เราแต่ละคนก็ยังเป็นสมาชิกในครอบครัวของพระผู้เป็นเจ้า

ข่าวสารอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือครอบครัวสามารถเป็นหนึ่งเดียวกันชั่วนิรันดร์ ครอบครัวได้รับแต่งตั้งจากพระผู้เป็นเจ้า ศาสดาพยากรณ์ยุคสุดท้ายสอนว่า:

“แผนแห่งความสุข [ของพระบิดาบนสวรรค์] ทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวดำเนินต่อไปหลังความตาย ศาสนพิธีและพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์ที่มีอยู่ในพระวิหารอันศักดิ์สิทธิ์ทำให้เกิดความเป็นไปได้สำหรับแต่ละบุคคลที่จะกลับไปยังที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้าและเพื่อที่ครอบครัวจะเป็นหนึ่งเดียวชั่วนิรันดร์” (“ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก”)

คนมากมายมีโอกาสจำกัดในการแต่งงานหรือในความสัมพันธ์ฉันครอบครัวที่รักกัน หลายคนเคยประสบการหย่าร้างและสภาวการณ์ยากๆ อีกหลายอย่างในครอบครัว แต่พระกิตติคุณเป็นพรแก่เรารายบุคคลไม่ว่าสภาวการณ์ครอบครัวของเราเป็นเช่นไร เมื่อเราซื่อสัตย์ พระผู้เป็นเจ้าจะทรงจัดหาวิธีให้เราได้รับพรของครอบครัวที่รักกันไม่ว่าในชีวิตนี้หรือในชีวิตหน้า (ดู โมไซยาห์ 2:41)

ข่าวสารเรื่องการฟื้นฟู: รากฐานของศรัทธา

ไม่ว่าท่านรับใช้ที่ใดหรือสอนใคร จงทำให้พระเยซูคริสต์และการฟื้นฟูพระกิตติคุณของพระองค์เป็นศูนย์กลางการสอนของท่าน ขณะศึกษาหลักคำสอนในบทเรียนผู้สอนศาสนา ท่านจะเห็นว่าเรามีข่าวสารเดียว นั่นคือ พระเยซูคือพระคริสต์ พระผู้ช่วยให้รอดและพระผู้ไถ่ของเรา พระบิดาบนสวรรค์ทรงฟื้นฟูความรู้ผ่านศาสดาพยากรณ์ยุคปัจจุบันท่านหนึ่งเกี่ยวกับแผนของพระองค์เพื่อความรอดของเรา แผนนี้มีพระเยซูคริสต์เป็นศูนย์กลาง พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำให้เราทุกคนรอดจากบาปและความตายและกลับไปหาพระบิดาบนสวรรค์ได้โดยผ่านการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระองค์

จงช่วยให้คนที่ท่านสอนเข้าใจดังนี้:

  • พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นพระบิดาในสวรรค์ของเราจริงๆ พระองค์ทรงรักเราอย่างสมบูรณ์ ทุกคนบนโลกเป็นลูกพระผู้เป็นเจ้าและเป็นสมาชิกในครอบครัวของพระองค์

  • พระบิดาบนสวรรค์ทรงจัดเตรียมแผนให้เราได้รับความเป็นอมตะและชีวิตนิรันดร์ ซึ่งเป็นพรยิ่งใหญ่ที่สุดของพระองค์ (ดู โมเสส 1:39) เรามาโลกนี้เพื่อเรียนรู้ เติบโต และเตรียมรับพรอันสมบูรณ์ของพระองค์

  • แผนส่วนหนึ่งคือพระบิดาบนสวรรค์ได้ประทานพระบัญญัติไว้นำทางเราในช่วงชีวิตนี้และช่วยให้เรากลับไปหาพระองค์ (ดูตัวอย่างใน อพยพ 20:3–17)

  • ในชีวิตนี้เราทุกคนทำบาป และเราทุกคนตาย เพราะความรักที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงมีต่อเรา พระองค์จึงทรงส่งพระบุตรของพระองค์พระเยซูคริสต์มาไถ่เราจากบาปและความตาย

  • เพราะการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระเยซู เราจึงสามารถสะอาดจากบาปเมื่อเรากลับใจ รับบัพติศมาและการยืนยัน นี่ทำให้เรามีสันติ สามารถกลับไปที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า และได้รับความสมบูรณ์แห่งปีติ

  • เพราะการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซู เราทุกคนจะฟื้นคืนชีวิตหลังจากเราตาย นี่หมายความว่าวิญญาณและร่างกายของแต่ละคนจะกลับมารวมกันและมีชีวิตตลอดไป

  • ตลอดประวัติศาสตร์สมัยพระคัมภีร์ไบเบิล พระเจ้าทรงเปิดเผยพระกิตติคุณและทรงจัดตั้งศาสนจักรของพระองค์ผ่านศาสดาพยากรณ์ คนส่วนใหญ่ปฏิเสธพระกิตติคุณซ้ำแล้วซ้ำเล่า รูปแบบของการละทิ้งพระกิตติคุณและความจำเป็นของการฟื้นฟูพระกิตติคุณเริ่มต้นในสมัยพันธสัญญาเดิม

  • หลังจากพระผู้ช่วยให้รอดสิ้นพระชนม์และฟื้นคืนพระชนม์ อัครสาวกของพระองค์นำศาสนจักรอยู่ช่วงหนึ่ง จนพวกท่านสิ้นชีวิต สูญเสียสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิต และมีการละทิ้งคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดอีกครั้ง ผู้คนเปลี่ยนหลักคำสอนและศาสนพิธี

  • พระบิดาบนสวรรค์จึงทรงฟื้นฟูพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ผ่านศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ พระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ทรงปรากฏต่อโจเซฟในฤดูใบไม้ผลิปี 1820 ต่อมาโจเซฟ สมิธได้รับสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิต และได้รับบัญชาให้จัดตั้งศาสนจักรของพระเยซูคริสต์อีกครั้งบนแผ่นดินโลก

จงสอนว่าศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ไม่ได้เป็นเพียงอีกศาสนาหนึ่งเท่านั้น ทั้งไม่ใช่ศาสนาของคนอเมริกัน แต่เป็นการฟื้นฟู “ความสมบูรณ์แห่ง [พระกิตติคุณ]” ของพระเยซูคริสต์ (พระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:23) และจะไม่มีวันถูกนำไปจากแผ่นดินโลกอีกเลย

พระคัมภีร์มอรมอน: พยานหลักฐานอีกเล่มหนึ่งของพระเยซูคริสต์กล่าวคำพยานถึงพระเยซูคริสต์และพระพันธกิจของพระองค์ในฐานะพระผู้ช่วยให้รอดของโลก นอกจากนี้ยังเป็นพยานอันทรงพลังด้วยว่าพระเยซูคริสต์ทรงฟื้นฟูพระกิตติคุณและศาสนจักรของพระองค์ผ่านศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ จงเชื้อเชิญและช่วยผู้คนให้อ่านพระคัมภีร์มอรมอนและสวดอ้อนวอนเกี่ยวกับข่าวสารในนั้น

วางใจคำสัญญาอันน่าทึ่งใน โมโรไน 10:3–5 กระตุ้นผู้คนให้ทูลถามพระผู้เป็นเจ้าอย่างจริงใจและด้วยเจตนาแท้จริงว่าพระคัมภีร์มอรมอนเป็นพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าหรือไม่ การสวดอ้อนวอนด้วยเจตนาแท้จริงหมายถึงการเต็มใจทำตามคำตอบที่มาจากพยานของพระวิญญาณบริสุทธิ์ พยานนั้นกลายเป็นรากฐานศรัทธาของบุคคลว่าพระคริสต์ทรงฟื้นฟูศาสนจักรของพระองค์แล้ว จงช่วยคนที่ท่านสอนแสวงหาการยืนยันทางวิญญาณดังกล่าว

การศึกษาพระคัมภีร์

ท่านควรใช้พระคัมภีร์มอรมอนในงานสอนศาสนาอย่างไร?

การศึกษาส่วนตัว

สมมติว่าท่านจะเขียนหนึ่งย่อหน้าเกี่ยวกับข่าวสารเรื่องการฟื้นฟูบนโซเชียลมีเดียหรือให้กับสำนักข่าวท้องถิ่น ให้เขียนหัวข้อที่บอกข่าวสารหลักลงในสมุดบันทึกการศึกษาของท่าน แล้วบันทึกความคิดและความรู้สึกของท่านเกี่ยวกับข่าวสารนี้ เขียนด้วยว่าการเข้าใจข่าวสารดังกล่าวดีขึ้นได้เปลี่ยนวิธีดำเนินชีวิตและวิธีมองโลกรอบตัวท่านอย่างไร

สถาปนาและเสริมสร้างศาสนจักร

เมื่อพระเยซูคริสต์ทรงฟื้นฟูศาสนจักร พระองค์ทรงแนะนำศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธและคนอื่นๆ ให้ “สถาปนา” และ “เสริมสร้าง” ศาสนจักร (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 31:7; 39:13) ศาสนจักรได้รับการสถาปนาและเสริมสร้างเมื่อคนที่มีประจักษ์พยานได้รับบัพติศมาและการยืนยัน รักษาพันธสัญญา เตรียมไปพระวิหาร และช่วยทำให้วอร์ดหรือสาขาของพวกเขาเข้มแข็ง

ผู้ชายสวดอ้อนวอน

ในฐานะผู้สอนศาสนาท่านช่วยสถาปนาและเสริมสร้างศาสนจักรของพระผู้ช่วยให้รอด มีหลายวิธีที่ท่านทำได้ ท่านสามารถสนับสนุนสมาชิกเมื่อพวกเขาแบ่งปันพระกิตติคุณผ่านหลักธรรมของการรัก แบ่งปัน และเชื้อเชิญ (ดู คู่มือทั่วไป, 23.1) ท่านสามารถช่วยให้ผู้คนรับบัพติศมาและเติบโตในศรัทธา ท่านสามารถช่วยสมาชิกใหม่ปรับตัวเข้ากับชีวิตใหม่และเติบโตทางวิญญาณต่อไป ท่านสามารถช่วยสมาชิกที่กลับมาให้เสริมสร้างศรัทธาของตนในพระเยซูคริสต์ด้วย

สมาชิกใหม่และสมาชิกที่กลับมาจะเติบโตในประจักษ์พยานและศรัทธาเมื่อพวกเขาประสบพบเห็นพระกิตติคุณเกิดผลในชีวิต เพื่อช่วยให้เติบโตเช่นนี้ สิ่งสำคัญคือพวกเขาต้อง:

  • มีเพื่อนที่เป็นสมาชิกศาสนจักร

  • ได้รับความรับผิดชอบในศาสนจักร

  • ได้รับการบำรุงเลี้ยงด้วยพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า

(ดู กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “ผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสและคนหนุ่ม,” เลียโฮนา, กรกฎาคม 1997, 58)

ผู้สอนศาสนา ผู้นำระดับท้องที่ และสมาชิกคนอื่นๆ ของศาสนจักรควรยินดีรับโอกาสในการบำรุงเลี้ยงและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สมาชิกใหม่และสมาชิกที่กลับมา การรับใช้นี้จะช่วย “ให้พวกเขาอยู่ในทางที่ถูกต้อง” (โมโรไน 6:4)

ไปทำคุณประโยชน์

ระหว่างการปฏิบัติศาสนกิจขณะทรงเป็นมรรตัย พระผู้ช่วยให้รอดทรงรับใช้ผู้อื่น พระองค์เสด็จไป “ทำคุณประโยชน์” และ “ประกาศข่าวประเสริฐ” (กิจการ 10:38; มัทธิว 4:23) เมื่อท่านทำตามแบบอย่างของพระองค์ ท่านจะพบคนที่ท่านสามารถรับใช้และจะรับท่าน

โดยผ่านการรับใช้ท่านทำให้พระบัญญัติข้อสำคัญสองข้อให้รักพระผู้เป็นเจ้าและรักเพื่อนบ้านของท่าน (ดู มัทธิว 22:36–40; 25:40; โมไซยาห์ 2:17) โดยผ่านการรับใช้ท่านและคนอื่นๆ ได้มารวมพลังกันและสร้างแรงบันดาลใจให้กัน

ในฐานะผู้สอนศาสนาท่านให้การรับใช้ ตามแผนที่วางไว้ ในแต่ละสัปดาห์ (ดูข้อมูลและแนวทางใน มาตรฐานผู้สอนศาสนา, 2.7 และ 7.2) ภายใต้การกำกับดูแลของประธานคณะเผยแผ่ ท่านจะหาโอกาสรับใช้ในชุมชนผ่าน JustServe (หากอนุมัติ) งานมนุษยธรรม และงานบรรเทาสาธารณภัยของศาสนจักร

จงสวดอ้อนวอนและมองหาโอกาสที่ ไม่ได้วางแผนไว้ ทำคุณประโยชน์ในแต่ละวัน ฟังพระวิญญาณเพื่อรับรู้โอกาสในการแสดงน้ำใจเล็กๆ น้อยๆ ที่ท่านจะให้ได้

ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์

“ท่านอยากมีความสุขหรือไม่? จงลืมตนเองและสละตนเองให้อุดมการณ์อันยิ่งใหญ่นี้ จงพยายามช่วยผู้คน … ยืนให้สูงขึ้น พยุงคนที่เข่าอ่อนล้า ยกแขนคนที่อ่อนแรง ดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ (กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, คำสอนของประธานศาสนจักร: กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ [2016], 209)

การศึกษาพระคัมภีร์

อะไรคือบทบาทของการรับใช้ในพระชนม์ชีพของพระผู้ช่วยให้รอด?

อะไรคือบทบาทของการรับใช้ในงานเผยแผ่ของแอมันกับแอรัน?

พระเจ้าทรงขอให้ท่านทำอะไร?

ผู้สอนศาสนาที่ประสบผลสำเร็จ

ผลสำเร็จในการเป็นผู้สอนศาสนาของท่านหลักๆ แล้ววัดจากความปรารถนาและความมุ่งมั่นตั้งใจของท่านในการหา สอน ให้บัพติศมา และยืนยันผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใส และช่วยให้พวกเขาเป็นสานุศิษย์ที่ซื่อสัตย์ของพระคริสต์และสมาชิกศาสนจักรของพระองค์ (ดู แอลมา 41:3)

ผลสำเร็จของท่านไม่ได้วัดจากจำนวนคนที่ท่านสอนหรือช่วยนำมาสู่บัพติศมา ทั้งไม่ได้วัดจากการดำรงตำแหน่งผู้นำ

ผลสำเร็จของท่านไม่ได้ขึ้นอยู่กับวิธีที่คนอื่นเลือกตอบสนองท่าน คำเชื้อเชิญของท่าน หรือการแสดงน้ำใจด้วยน้ำใสใจจริงของท่าน คนเรามีสิทธิ์เสรีในการเลือกว่าจะยอมรับข่าวสารพระกิตติคุณหรือไม่ หน้าที่รับผิดชอบของท่านคือสอนให้ชัดเจนและมีพลังเพื่อพวกเขาจะทำการเลือกอย่างชาญฉลาดอันจะเป็นพรแก่พวกเขา

ลองนึกถึงอุปมาของพระผู้ช่วยให้รอดเรื่องเงินตะลันต์ใน มัทธิว 25:14–28 นายซึ่งหมายถึงพระเจ้าได้ชมเชยบ่าวที่ซื่อสัตย์ทั้งสองแม้ของถวายของพวกเขาจะมีขนาดต่างกัน (ดู มัทธิว 25:21, 23) นายให้รางวัลบ่าวทั้งสองเหมือนกัน คือเชิญพวกเขามา “ร่วมยินดีกับนายของเจ้า” เพราะพวกเขาเพิ่มพูนสิ่งที่ได้มา

พระผู้เป็นเจ้าได้ประทานพรสวรรค์และของประทานให้ท่านใช้ในการรับใช้พระองค์ พรสวรรค์และของประทานของท่านต่างจากคนอื่น จงรับรู้ว่าทั้งหมดนี้สำคัญ รวมทั้งที่มองไม่เห็นด้วย เมื่อท่านอุทิศถวายพรสวรรค์และของประทานแด่พระองค์ พระองค์จะทรงเพิ่มพูนและทำปาฏิหาริย์กับสิ่งที่ท่านถวาย

จงอย่าเปรียบเทียบตัวท่านกับผู้สอนศาสนาคนอื่นๆ และอย่าวัดผลงานภายนอกของท่านกับคนอื่นๆ การเปรียบเทียบมักส่งผลเสีย เช่น ความท้อใจและความจองหอง การเปรียบเทียบมักทำให้หลงผิดเช่นกัน สิ่งที่พระเจ้าทรงประสงค์คือการพยายามสุดความสามารถของท่าน—ในการ “รับใช้พระองค์ด้วยสุดใจ, พลัง, ความนึกคิด และพละกำลัง ของท่าน” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 4:2; เน้นตัวเอน)

ท่านอาจเสียใจถ้าคนไม่ยอมรับพระกิตติคุณ บางครั้งท่านอาจรู้สึกท้อแท้ แม้แต่ผู้สอนศาสนาที่ยอดเยี่ยมและศาสดาพยากรณ์ในพระคัมภีร์ก็ยังรู้สึกท้อแท้บางครั้ง (ดู 2 นีไฟ 4:17–19; แอลมา 26:27) ในเวลาเช่นนั้น จงทำตามแบบอย่างของนีไฟโดยหันมาหาพระเจ้า วางใจในพระองค์ สวดอ้อนวอนขอความเข้มแข็ง และระลึกถึงสิ่งดีๆ ที่พระองค์ทรงทำให้ท่าน (ดู 2 นีไฟ 4:16–35)

ผู้สอนศาสนาสองคนสวดอ้อนวอน

เมื่อท่านหันมาหาพระเจ้าในยามยาก พระองค์ทรงสัญญาไว้ว่า “ เราจะเสริมกำลังเจ้า เราจะช่วยเจ้า เราจะชูเจ้า” (อิสยาห์ 41:10) โดยผ่านการใช้ศรัทธาในพระคริสต์ ท่านจะพบสันติสุขและความมั่นใจเกี่ยวกับความพยายามของท่าน ศรัทธาจะช่วยท่านรุดหน้าและดำเนินต่อไปในความปรารถนาอันชอบธรรม

จดจ่ออยู่กับคำมั่นสัญญาต่อพระคริสต์และจุดประสงค์ผู้สอนศาสนาของท่าน—ไม่ใช่ผลลัพธ์ภายนอก ผลลัพธ์เหล่านี้มักไม่เห็นทันตา ขณะเดียวกันจงคาดหวังสูงเข้าไว้ไม่ว่าจะพบเจอความท้าทายอะไรก็ตาม ความคาดหวังสูงจะเพิ่มประสิทธิผล ความปรารถนา และความสามารถในการทำตามพระวิญญาณ

บางวิธีที่ท่านสามารถประเมินคำมั่นสัญญาต่อพระเจ้าและความพยายามเป็นผู้สอนศาสนาที่ประสบผลสำเร็จสรุปไว้ดังนี้

เมื่อทำดีที่สุดแล้ว ท่านอาจจะยังมีความผิดหวัง แต่ท่านจะไม่ผิดหวังในตัวเอง ท่านจะรู้สึกมั่นใจว่าพระเจ้าพอพระทัยเมื่อท่านรู้สึกว่าพระวิญญาณทรงทำงานผ่านท่าน

การศึกษาพระคัมภีร์

ผู้รับใช้ของพระเจ้ารู้สึกอย่างไรกับการทำงาน? ผู้รับใช้ของพระเจ้ามีอิทธิพลอย่างไรต่อคนที่พวกเขารับใช้? ท่านรู้สึกอย่างไรกับการทำงาน?

การศึกษาส่วนตัว

  • อ่าน ฮีลามัน 10:1–5 และ 3 นีไฟ 7:17–18 พระเจ้าทรงรู้สึกอย่างไรกับผู้สอนศาสนาเหล่านี้และการรับใช้ของพวกเขา?

  • นึกถึงการพยายามสอนศาสนาของอบินาไดกับแอมัน (ดู โมไซยาห์ 11–18; แอลมา 17–20; 23–24) เหตุใดพระเจ้าทรงยอมรับผู้สอนศาสนาทั้งสองคนนี้ทั้งที่ผลความพยายามของพวกเขาต่างกัน?

  • บันทึกสิ่งที่ท่านเรียนรู้ลงในสมุดบันทึกการศึกษา


แนวคิดสำหรับการศึกษาและการประยุกต์ใช้

การศึกษาส่วนตัว

  • พิจารณาว่าเปล่งเสียงเตือนหมายถึงอะไร (ดู เจคอบ 3:12; หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:4; 38:41; 63:57–58; 88:81; 112:5; เอเสเคียล 3:17–21; 33:1–12) เขียนด้วยคำพูดของท่านเองว่าหมายถึงอะไรและท่านจะทำได้อย่างไร

  • พิจารณาเหตุการณ์ในชีวิตท่านที่ได้เสริมสร้างประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับโจเซฟ สมิธและการฟื้นฟู บันทึกความประทับใจของท่าน

การศึกษากับคู่และการสลับคู่

  • เลือกผู้สอนศาสนาที่ยอดเยี่ยมต่อไปนี้หนึ่งคน และอ่านพระคัมภีร์ที่ระบุ ขณะอ่านให้สนทนาว่าผู้สอนศาสนาคนนี้ (1) เข้าใจและมุ่งมั่นตั้งใจทำการเรียกของตน (2) แสดงเจตคติและความปรารถนาจะทำงาน และ (3) ช่วยให้ผู้อื่นยอมรับพระกิตติคุณอย่างไร

  • เลือกเพลงสวดสองเพลงเกี่ยวกับการฟื้นฟูพระกิตติคุณ อ่านหรือร้องเพลงสวด สนทนาความหมายของคำ

สภาดิสตริกท์ การประชุมโซน และสภาผู้นำคณะเผยแผ่

  • เชิญผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสใหม่สองหรือสามคนแบ่งปันประสบการณ์การเปลี่ยนใจเลื่อมใสของพวกเขา พวกเขารู้สึกอย่างไรกับผู้สอนศาสนา? พวกเขารู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่ผู้สอนศาสนาสอน? อะไรช่วยพวกเขารักษาคำมั่นสัญญา? อะไรมีอิทธิพลแรงกล้าที่สุดต่อการเปลี่ยนใจเลื่อมใสของพวกเขา?

  • หลายวันก่อนการประชุมให้มอบหมายผู้สอนศาสนาหลายๆ คนไตร่ตรองคำถามที่เลือกไว้จาก “พิจารณาสิ่งนี้” ตอนต้นบท ขอให้ผู้สอนศาสนาแต่ละคนเตรียมคำพูดสองสามนาทีเกี่ยวกับคำถามที่มอบหมาย ระหว่างสภาดิสตริกท์หรือการประชุมโซน ให้เชิญผู้สอนศาสนาพูดตามที่เตรียมมา หลังจากพูดเสร็จแล้ว ให้สนทนาว่าเรียนรู้อะไรและจะใช้ในงานสอนศาสนาได้อย่างไร

  • แบ่งผู้สอนศาสนาออกเป็นสี่กลุ่ม ขอให้แต่ละกลุ่มเขียนความจริง พันธสัญญา และศาสนพิธีมากเท่าที่จะมากได้ที่ฟื้นฟูและเปิดเผยผ่านศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ ให้แต่ละกลุ่มแบ่งปันสิ่งที่เขียน เชิญผู้สอนศาสนาแบ่งปันว่าความจริงที่เปิดเผยผ่านการฟื้นฟูมีอิทธิพลต่อชีวิตพวกเขาอย่างไร

  • สนทนาความหมายของการเป็นผู้สอนศาสนาที่ประสบผลสำเร็จ เชิญผู้สอนศาสนายกตัวอย่างที่เฉพาะเจาะจง

ผู้นำคณะเผยแผ่และที่ปรึกษาคณะเผยแผ่

  • ระหว่างการสัมภาษณ์หรือในการสนทนากับผู้สอนศาสนา ให้ขอพวกเขาแบ่งปันสิ่งต่อไปนี้กับท่านเป็นช่วงๆ:

    • ประจักษ์พยานของพวกเขาเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์

    • ประจักษ์พยานของพวกเขาเกี่ยวกับพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูและพันธกิจของโจเซฟ สมิธ

    • ประจักษ์พยานของพวกเขาเกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอน

    • ความคิดของพวกเขาเกี่ยวกับจุดประสงค์การเป็นผู้สอนศาสนาของพวกเขา

  • เชิญผู้สอนศาสนาบันทึกลงในสมุดบันทึกการศึกษาว่าพวกเขารู้สึกว่าจุดประสงค์ของงานเผยแผ่มีอะไรบ้าง ระหว่างการสัมภาษณ์หรือในการสนทนา ขอให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่เขียนไว้

  • ส่งจดหมายแสดงความยินดีกับสมาชิกใหม่