การเรียกในคณะเผยแผ่
บทที่ 11: ช่วยผู้คนทำและรักษาคำมั่นสัญญา


“บทที่ 11: ช่วยผู้คนทำและรักษาคำมั่นสัญญา” สั่งสอนกิตติคุณของเรา: คู่มือแนะแนวการแบ่งปันพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ (2023)

“บทที่ 11” สั่งสอนกิตติคุณของเรา

I Shall Not Want (ข้าพ‌เจ้า​จะ​ไม่​ขัด‍สน) โดย ยองซุง คิม

บทที่ 11

ช่วยผู้คนทำและรักษาคำมั่นสัญญา

พิจารณาสิ่งนี้

  • การรักษาคำมั่นสัญญาเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนใจเลื่อมใสอย่างไร?

  • การรักษาคำมั่นสัญญาเกี่ยวข้องกับการรักษาพันธสัญญาอย่างไร?

  • ฉันจะให้คำเชื้อเชิญเพื่อช่วยให้ผู้คนเติบโตทางวิญญาณและเพิ่มพลังศรัทธาในพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร?

  • เหตุใดการแสดงประจักษ์พยานที่จริงใจจึงสำคัญ?

  • ฉันจะสัญญาพรอะไรได้บ้าง?

  • ฉันจะช่วยผู้คนรักษาคำมั่นสัญญาได้อย่างไร?

การกลับใจ การให้คำมั่นสัญญา และการเปลี่ยนใจเลื่อมใส

ในฐานะผู้สอนศาสนาและสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ ท่านปรารถนาความรอดของจิตวิญญาณ (ดู โมไซยาห์ 28:3) พระผู้ช่วยให้รอดทรง “มีอานุภาพที่จะช่วยให้ [คนที่รักษาพันธสัญญา] รอด” ผ่านการรับศาสนพิธีฐานะปุโรหิตที่จำเป็น เริ่มตั้งแต่บัพติศมา (ดู 2 นีไฟ 31:19) การให้คำเชื้อเชิญและการช่วยผู้คนรักษาคำมั่นสัญญาจะเตรียมพวกเขาให้พร้อมรับบัพติศมา

ผู้คนได้รับความรอดภายใต้เงื่อนไขของการกลับใจ (ดู ฮีลามัน 5:11) การกลับใจคือการหันมาหาพระเยซูคริสต์อย่างเต็มตัวและจริงใจ การให้คำมั่นสัญญาเป็นส่วนที่ขาดไม่ได้ของการกลับใจ เมื่อท่านเชื้อเชิญให้ผู้คนทำคำมั่นสัญญาอันเป็นส่วนหนึ่งของการสอน ท่านกำลังเชื้อเชิญให้พวกเขากลับใจ

การให้คำมั่นสัญญาหมายถึงการเลือกแนวทางปฏิบัติและทำตามการเลือกนั้น การปฏิบัติตามความจริงของพระกิตติคุณอย่างสม่ำเสมอนำไปสู่การเปลี่ยนใจเลื่อมใส

การเปลี่ยนใจเลื่อมใสคือการเปลี่ยนแปลงความเชื่อ ใจ และชีวิตของคนนั้นมายอมรับและทำตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า คือการตัดสินใจอย่างมีสติที่จะเป็นสานุศิษย์ของพระคริสต์ การเปลี่ยนใจเลื่อมใสเกิดขึ้นเมื่อผู้คนใช้ศรัทธาในพระคริสต์ กลับใจจากบาป รับบัพติศมา รับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ และอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่ พระเจ้าและศาสดาพยากรณ์ของพระองค์เรียกการเปลี่ยนแปลงนี้ว่าการเกิดใหม่ทางวิญญาณ (ดู ยอห์น 3:3–5; โมไซยาห์ 27:25–26)

การชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดทำให้การเปลี่ยนใจเลื่อมใสเกิดขึ้นได้ และพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งนี้ในใจ (ดู โมไซยาห์ 5:2; แอลมา 5:12–14)

การเปลี่ยนใจเลื่อมใสเป็นกระบวนการ ไม่ใช่เหตุการณ์ การช่วยให้ผู้คนเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระเยซูคริสต์อยู่ตรงกลางจุดประสงค์ผู้สอนศาสนาของท่าน เมื่อพระวิญญาณทรงนำ ท่านจะเชื้อเชิญให้ผู้คนทำคำมั่นสัญญาที่จะช่วยให้พวกเขาเติบโตทางวิญญาณและรู้สึกถึงอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ในชีวิต จากนั้นท่านจะสนับสนุนผู้คนในการรักษาคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ ท่านช่วยให้พวกเขาปฏิบัติด้วยศรัทธาจนถึงการเปลี่ยนแปลงอันยั่งยืน (ดู โมไซยาห์ 6:3)

คนที่รักษาคำมั่นสัญญาก่อนบัพติศมามีแนวโน้มจะทำและรักษาพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์หลังจากนั้น เมื่อท่านสอนผู้คนให้รักษาคำมั่นสัญญา ท่านกำลังสอนพวกเขาให้รักษาพันธสัญญา การทำและรักษาพันธสัญญาเป็นส่วนจำเป็นของพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์และแผนของพระผู้เป็นเจ้าสำหรับลูกๆ ของพระองค์

บทนี้มีแนวทางสำหรับการให้คำเชื้อเชิญ การสัญญาพร การแบ่งปันประจักษ์พยานของท่าน และการช่วยผู้คนรักษาคำมั่นสัญญาเพื่อพวกเขาจะมาหาพระผู้ช่วยให้รอดและได้รับความรอด

ผู้สอนศาสนาสอนผู้หญิง

ให้คำเชื้อเชิญ

ในฐานะตัวแทนของพระเยซูคริสต์ ท่านเชื้อเชิญผู้คนให้ติดตามพระองค์และรับปีติจากพระกิตติคุณของพระองค์ ท่านให้คำเชื้อเชิญที่เฉพาะเจาะจงให้พวกเขาทำสิ่งที่จะสร้างศรัทธาในพระเยซูคริสต์ จากนั้นท่านสนับสนุนพวกเขาในการรักษาคำมั่นสัญญา

คำเชื้อเชิญและคำมั่นสัญญาสำคัญยิ่งด้วยเหตุผลต่อไปนี้:

  • คำเชื้อเชิญและคำมั่นสัญญาช่วยให้ผู้คนดำเนินชีวิตตามหลักธรรมที่เรียนรู้เพื่อพวกเขาจะรู้สึกถึงพยานยืนยันของพระวิญญาณ

  • การรักษาคำมั่นสัญญาเป็นหนึ่งวิธีที่ผู้คนแสดงการกลับใจ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:37)

  • การกลับใจช่วยให้ผู้คนประสบสันติและปีติจากการให้อภัยของพระผู้เป็นเจ้า พวกเขาจะได้ความช่วยเหลือจากพระผู้เป็นเจ้าเพิ่มขึ้นด้วยเมื่อเกิดความท้าทาย

  • การรักษาคำมั่นสัญญาเตรียมผู้คนให้พร้อมทำและรักษาพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์

  • ท่านสามารถแสดงความรักต่อผู้คนและแสดงศรัทธาในคำสัญญาของพระผู้เป็นเจ้าโดยช่วยผู้คนรักษาคำมั่นสัญญาของพวกเขา

เชื้อเชิญตามที่พระวิญญาณทรงนำ

แสวงหาการนำทางจากพระวิญญาณว่าจะให้คำเชื้อเชิญอะไรบ้างและจะให้เมื่อใด พิจารณาว่าคำสอนหรือหลักคำสอนใดจะช่วยให้คนนั้นยอมรับคำเชื้อเชิญของท่านถ้าเขาเข้าใจอย่างถูกต้อง คำเชื้อเชิญที่ถูกต้องถูกเวลาจะกระตุ้นเตือนผู้คนให้ทำสิ่งที่จะสร้างศรัทธาของพวกเขา การกระทำเหล่านี้สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในใจ (ดู โมไซยาห์ 5:2; แอลมา 5:12–14)

คำเชื้อเชิญที่ท่านให้อาจเล็กน้อย เช่น เชิญอ่านพระคัมภีร์หนึ่งบทหรือเชิญมาการประชุมศีลระลึก หรืออาจสำคัญเหมือนอย่างเช่น เชิญรับบัพติศมา คำเชื้อเชิญควรเหมาะกับจุดที่บุคคลอยู่ระหว่างการเดินทางทางวิญญาณของเขา

คำเชื้อเชิญที่พระวิญญาณทรงนำจะอาศัยกันช่วยให้คนนั้นก้าวหน้าทางวิญญาณ (ดู 2 นีไฟ 28:30; หลักคำสอนและพันธสัญญา 93:12–13) ถามตัวท่านเองว่า “คนนั้นกำลังรักษาคำมั่นสัญญาอะไรบ้าง? เขาต้องทำอะไรต่อไปเพื่อก้าวหน้า?”

ฟังคนที่ท่านพูดคุยด้วยหรือสอน จากที่ท่านได้ยินและรู้สึก จงแสวงหาการนำทางจากพระวิญญาณเพื่อรู้ว่าคำเชื้อเชิญใดจะช่วยให้แต่ละคนก้าวหน้าสู่การทำพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์

หลักธรรมสำหรับการให้คำเชื้อเชิญ

การให้คำเชื้อเชิญเรียกร้องศรัทธาในพระคริสต์ จงมีศรัทธาว่าพระองค์จะทรงอวยพรผู้คนเมื่อพวกเขายอมรับและทำตามคำเชื้อเชิญของท่าน

ผู้คนมีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงเมื่อท่านเชื้อเชิญให้พวกเขาปฏิบัติตามความจริงของพระกิตติคุณและช่วยให้พวกเขาเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงจะเป็นพรแก่พวกเขาอย่างไร พวกเขาจะเปลี่ยนแปลงถึงระดับที่พวกเขารู้สึกถึงพระวิญญาณและประสบปีติของการดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์

เมื่อใดก็ตามที่ท่านนัดหมายกับผู้คนทั้งแบบเจอตัวหรือทางออนไลน์ พึงพิจารณาว่าคำเชื้อเชิญใดจะช่วยพวกเขาเพิ่มพลังศรัทธาในพระคริสต์และรู้สึกถึงพระวิญญาณ บางครั้งคำเชื้อเชิญอาจเรียบง่าย เหมือนอย่างเช่น เชิญพบกับท่านอีกครั้งหรือเชิญมาร่วมกิจกรรมของศาสนจักร

ขณะที่ท่านเตรียมสอนบทเรียน พึงพิจารณาความต้องการและความก้าวหน้าของแต่ละคน พึงแน่ใจว่าแผนบทเรียนมีคำเชื้อเชิญหนึ่งอย่างหรือมากกว่านั้นที่จะช่วยให้บุคคลก้าวหน้า

จงระวังอย่าให้คำเชื้อเชิญมากเกินไปในคราวเดียว คนนั้นต้องมีเวลาปฏิบัติ เติบโต และเรียนรู้จากคำเชื้อเชิญแต่ละอย่าง

จงกล้าเชิญแต่อย่าเจ้ากี้เจ้าการขณะเชื้อเชิญให้ผู้คนทำคำมั่นสัญญา (ดู แอลมา 38:12) เคารพสิทธิ์เสรีของผู้คน

การศึกษาพระคัมภีร์

เหตุใดคำมั่นสัญญาจึงสำคัญ?

เชื้อเชิญด้วยคำพูดที่อ่อนโยนและชัดเจน

บ่อยครั้งการเชื้อเชิญใช้รูปแบบของคำถามว่า “คุณจะ” ซึ่งต้องตอบรับหรือปฏิเสธ จงทำให้คำเชื้อเชิญของท่านอ่อนโยน เจาะจง และชัดเจน ควรเชื้อเชิญหรือนำผู้คนให้ทำคำมั่นสัญญาว่าจะปฏิบัติด้วยศรัทธาในพระเยซูคริสต์

ถึงแม้ท่านจะให้คำเชื้อเชิญแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่พึงพิจารณาตัวอย่างต่อไปนี้:

  • การมาโบสถ์ให้คุณมีเวลาและสถานที่นมัสการพระผู้เป็นเจ้าและรู้สึกถึงพระวิญญาณ นอกจากนี้ยังช่วยให้คุณได้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่เกื้อกูลกันเมื่อคุณทำการเปลี่ยนแปลงเพื่อมาใกล้พระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น คุณจะมาการประชุมศีลระลึกกับเราวันอาทิตย์นี้ไหม?

  • เราได้พูดถึงความสำคัญของการศึกษาพระคัมภีร์ไปแล้ว คุณจะอ่าน [ข้อที่กำหนด] ไหม? คุณจะจดความประทับใจหรือคำถามที่มีไหม? เราจะพูดคุยเกี่ยวกับความคิดของคุณเมื่อเจอกันคราวหน้า

  • เราพูดถึงพระชนม์ชีพของพระผู้ช่วยให้รอดและพระบัญญัติของพระองค์มาตลอด คุณจะทำตามแบบอย่างของพระองค์โดยรับบัพติศมาเข้ามาในศาสนจักรและทำสัญญากับพระองค์ไหม? (ดู “การเชื้อเชิญให้รับบัพติศมาและการยืนยัน” ในบทที่ 3)

  • คุณแสดงความสนใจในการเชื่อมสัมพันธ์กับพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้นในชีวิตคุณ คุณจะสวดอ้อนวอนด้วยศรัทธาในช่วงสองสามวันนี้เพื่อคุณจะประสบพรของการสวดอ้อนวอนไหม?

  • เรามีวีดิทัศน์ที่คิดว่าคุณจะได้ประโยชน์ เราจะเปิดให้คุณดูหรือส่งลิงก์ให้คุณได้ไหม? คุณจะดูไหม? เราขอตรวจสอบกับคุณพรุ่งนี้ได้ไหมเพื่อดูว่าคุณคิดอย่างไร?

จงแสวงหาการกระตุ้นเตือนจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ขณะคิดหาวิธีที่เป็นธรรมชาติในการให้คำเชื้อเชิญที่อ่อนโยน เจาะจง และชัดเจน

การศึกษาส่วนตัวหรือกับคู่

ในสมุดบันทึกการศึกษาของท่าน ให้เขียนคำเชื้อเชิญที่เรียบง่าย ตรงไปตรงมา และชัดเจนสำหรับคำมั่นสัญญาแต่ละอย่างในบทเรียน ถ้าท่านเคยทำกิจกรรมนี้แล้ว ให้ทำซ้ำและเปรียบเทียบคำเชื้อเชิญใหม่กับคำเชื้อเชิญเก่า

ทบทวนคำเชื้อเชิญที่ท่านเคยเขียนกับคู่ จากนั้นให้สนทนาคำถามต่อไปนี้:

  • เราจะช่วยให้ผู้คนเข้าใจพรที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้เกี่ยวกับคำเชื้อเชิญนี้ได้อย่างไร?

  • เหตุใดคำเชื้อเชิญนี้จึงสำคัญต่อตัวฉัน?

  • ฉันจะช่วยให้ผู้คนรู้สึกถึงความรักที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมีต่อพวกเขาได้อย่างไรขณะที่ฉันให้คำเชื้อเชิญ?

  • ฉันจะปรับปรุงการช่วยให้ผู้อื่นปฏิบัติตามคำเชื้อเชิญที่ฉันให้ได้อย่างไร?

นึกถึงคนที่ท่านกำลังสอน ฝึกให้คำเชื้อเชิญเหล่านี้ประหนึ่งท่านกำลังพูดกับคนนั้น ปรับแก้คำเชื้อเชิญตามต้องการ

สัญญาพรกับผู้คน

พระผู้เป็นเจ้าทรงสัญญาจะอวยพรเราเมื่อเรารักษาพระบัญญัติ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 130:20–21) คนที่รักษาพระบัญญัติและยังคงซื่อสัตย์ “ได้รับพรในทุกสิ่ง” และจะ “พำนักอยู่กับพระผู้เป็นเจ้าในสภาพแห่งความสุขอันไม่รู้จบ” (โมไซยาห์ 2:41)

เมื่อท่านเชื้อเชิญให้ผู้คนทำคำมั่นสัญญา จงสัญญาว่าพวกเขาจะได้รับพรเพราะรักษาคำมั่นสัญญา ท่านสามารถบอกชื่อพรมากมายเหล่านี้ได้โดยศึกษาพระคัมภีร์ คำสอนของศาสดาพยากรณ์ยุคสุดท้าย และบทเรียนใน บทที่ 3 นึกถึงพรในชีวิตท่านเองด้วย ตัดสินใจร่วมกับการสวดอ้อนวอนว่าจะสัญญาพรใดกับแต่ละคนขณะให้คำเชื้อเชิญ

เมื่อเชื้อเชิญให้คนๆ หนึ่งดำเนินชีวิตตามพระบัญญัติ พึงสอนดังนี้:

  • การเชื่อฟังพระบัญญัติแสดงให้เห็นว่าเรารักพระบิดาบนสวรรค์และพระบุตรของพระองค์พระเยซูคริสต์ (ดู ยอห์น 14:15)

  • การเชื่อฟังพระบัญญัติแสดงให้พระผู้เป็นเจ้าเห็นว่าเราวางใจพระองค์ (ดู สุภาษิต 3:5–6)

  • พรของพระผู้เป็นเจ้าเป็นทั้งฝ่ายวิญญาณและฝ่ายโลก (ดู โมไซยาห์ 2:41)

  • พรยิ่งใหญ่ที่สุดของพระผู้เป็นเจ้าคือชีวิตนิรันดร์ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 14:7)

  • เมื่อเราสวดอ้อนวอนอย่างจริงใจและปฏิบัติด้วยศรัทธา พระผู้เป็นเจ้าจะทรงช่วยให้เราทำสำเร็จในสิ่งที่พระองค์ทรงบัญชาเราให้ทำ (ดู 1 นีไฟ 3:7)

  • พระผู้เป็นเจ้าทรงทำตามสัญญาว่าจะทรงอวยพรเราตามวิธีและจังหวะเวลาของพระองค์ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:68)

ผู้คนมักเจอการต่อต้านในการรักษาพระบัญญัติ สนับสนุนคนที่ท่านสอน และรับรองกับพวกเขาว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงอวยพรเมื่อพวกเขามุ่งมั่นทำตามพระประสงค์ของพระองค์ ช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่าการต่อต้านเป็นโอกาสให้เติบโตโดยเลือกทำตามพระคริสต์แม้เมื่อทำได้ยาก (ดู 2 นีไฟ 2:11, 13–16)

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์สอนว่า: “พรบางอย่างมาเร็ว บางอย่างมาช้า และบางอย่างไม่มาจนวาระสุดท้ายของชีวิต แต่สำหรับผู้ที่ยอมรับพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ พรจะมา” (“มหาปุโรหิตแห่งสิ่งประเสริฐซึ่งจะมาถึง,” เลียโฮนา, ม.ค. 2000, 45)

การศึกษาพระคัมภีร์

พระคัมภีร์ข้อต่อไปนี้สอนอะไรเกี่ยวกับความปรารถนาของพระเจ้าที่จะอวยพรเรา?

การศึกษาส่วนตัว

อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 82:10 และ 130:20–21 แล้วศึกษาพระคัมภีร์ต่อไปนี้ แบ่งสองคอลัมน์ในสมุดบันทึกการศึกษาของท่าน ในคอลัมน์หนึ่งให้เขียนพระบัญญัติที่ท่านพบในแต่ละข้อ อีกคอลัมน์หนึ่งให้เขียนคำสัญญาสำหรับการรักษาพระบัญญัติข้อนั้น

แบ่งปันประจักษ์พยานของท่าน

แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านทุกครั้งที่ให้คำเชื้อเชิญและสัญญาพร บอกว่าท่านได้รับพรอย่างไรเมื่อท่านดำเนินชีวิตตามหลักธรรมที่กำลังสอน แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านว่าหลักธรรมจะเป็นพรแก่ชีวิตบุคคลเมื่อเขาดำเนินชีวิตตามนั้น

ประจักษ์พยานที่จริงใจของท่านจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมให้ผู้คนรู้สึกว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงยืนยันความจริง นี่จะกระตุ้นพวกเขาให้ยอมรับคำเชื้อเชิญที่ท่านจะให้

ดูข้อมูลเพิ่มเติมใน “แบ่งปันประจักษ์พยานของท่าน” ในบทที่ 10

กลุ่มคนสวดอ้อนวอน

ช่วยผู้คนรักษาคำมั่นสัญญา

เมื่อผู้คนยอมรับคำเชื้อเชิญให้ทำบางอย่าง จงติดตามผลเพื่อช่วยพวกเขารักษาคำมั่นสัญญา ท่านกำลังช่วยผู้คนพัฒนาศรัทธาในพระคริสต์ บทบาทของท่านคือช่วยพวกเขาเพิ่มพลังศรัทธาและความเด็ดเดี่ยวเพื่อก้าวหน้าสู่การเปลี่ยนใจเลื่อมใสโดยสมบูรณ์ อย่าเพียงเชื้อเชิญให้ผู้คนเปลี่ยนแปลง แต่จงสนับสนุนพวกเขาในการทำเช่นนั้น

ผู้คนจะได้รับพยานจากพระวิญญาณเมื่อพวกเขาใช้ศรัทธาจนถึงการกลับใจโดยรักษาคำมั่นสัญญา บ่อยครั้งพยานนั้นไม่มา “จนหลังการทดลองศรัทธา [ของพวกเขา]” (อีเธอร์ 12:6) อย่าประหลาดใจเมื่อเกิดการต่อต้าน วางแผนว่าท่านจะช่วยให้พวกเขาผ่านการทดลองได้อย่างไรเพื่อพวกเขาจะได้รับพยานจากพระวิญญาณ สมาชิกท่านอื่นของศาสนจักรสามารถให้การสนับสนุนได้เช่นกัน

ผู้คนมักรู้สึกถึงอิทธิพลของพระวิญญาณเมื่อท่านอยู่กับพวกเขา เน้นความสำคัญของการสวดอ้อนวอน การอ่านพระคัมภีร์ และการทำตามคำเชื้อเชิญของท่านเพื่อพวกเขาจะมีความรู้สึกเหล่านี้เมื่ออยู่ตามลำพัง

การรักษาคำมั่นสัญญาเตรียมผู้คนให้พร้อมรับศาสนพิธีและพันธสัญญาตามเส้นทางของการเปลี่ยนใจเลื่อมใสชั่วชีวิต ความพยายามของท่านจะช่วยให้พวกเขาแสดงความปรารถนาจะติดตามพระเยซูคริสต์ให้ “ประจักษ์ด้วยงานของพวกเขา” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:37)

ผู้หญิงสวมกอดกัน

วางแผนติดต่อสั้นๆ ทุกวัน

การช่วยผู้คนรักษาคำมั่นสัญญาเริ่มขึ้นเมื่อท่านไปเยี่ยมและสอนพวกเขาครั้งแรก ขอให้พวกเขาบันทึกคำมั่นสัญญาของตนทางโทรศัพท์ ปฏิทิน หรือสิ่งที่ท่านฝากไว้กับพวกเขา

ถามว่าท่านหรือสมาชิกที่ร่วมสอนจะสามารถติดต่อกับพวกเขาสั้นๆ ทุกวันระหว่างนี้ก่อนจะถึงการเยี่ยมสอนคราวหน้าได้หรือไม่ อธิบายว่าจุดประสงค์ของการติดต่อเหล่านี้คือเพื่อสนับสนุนพวกเขา และอธิบายวิธีที่ท่านจะติดต่อ การติดต่อเหล่านี้เป็นหนึ่งวิธีในการประยุกต์ใช้หลักธรรมใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:106

กำหนดวิธีติดต่อที่จะเกิดประสิทธิผลสูงสุด เช่น ไปเยี่ยมสั้นๆ โทรศัพท์ ส่งข้อความ หรือข้อความโซเชียลมีเดีย เทคโนโลยีเสนอตัวเลือกมากมายไว้ให้แจ้งเตือนและสนับสนุนเพิ่มเติม

กระตุ้นและช่วยเหลือผู้คนในการติดต่อประจำวันของท่าน

ให้บันทึกวิธีติดตามผลวันถัดไปลงในแอปสั่งสอนกิตติคุณของเราสำหรับทุกคำเชื้อเชิญที่ท่านให้ ขณะวางแผนวันถัดไป จงแสวงหาการนำทางจากพระวิญญาณขณะสนทนาวิธีช่วยผู้คนรักษาคำมั่นสัญญา

ติดต่อกับผู้คนทุกวันอย่างสร้างสรรค์และให้กำลังใจ สวดอ้อนวอนให้พวกเขา แสดงความรักและความเข้าใจขณะช่วยพวกเขารักษาคำมั่นสัญญา ตอบคำถามและช่วยพวกเขาเอาชนะความท้าทาย ถ้ามีเวลาให้อ่านพระคัมภีร์มอรมอนด้วยกัน แบ่งปันสื่อศาสนจักรที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเพลงที่ศาสนจักรจัดทำซึ่งอาจจะหนุนใจพวกเขา เคารพเวลาและความประสงค์ของพวกเขา

แนะนำพวกเขาให้รู้จักสมาชิกศาสนจักรท่านอื่น เมื่อเหมาะสม ให้ขอสมาชิกช่วยผู้คนรักษาคำมั่นสัญญา (ดู บทที่ 10)

ชมเชยคนที่พยายามรักษาคำมั่นสัญญา ช่วยให้พวกเขาเห็นว่าพระเจ้าพอพระทัยความพยายามของพวกเขา คนเหล่านี้กำลังเปลี่ยนชีวิต ซึ่งต้องใช้ความพยายามและความอดทนมาก ช่วยให้พวกเขารับรู้พรที่ตนกำลังได้รับ แสดงความมั่นใจว่าพวกเขาประสบความสำเร็จได้แน่นอน

แสดงความรักด้วยถ้าพวกเขาไม่รักษาคำมั่นสัญญา ให้การสนับสนุนพวกเขาระหว่างติดต่อประจำวัน ตัวอย่างเช่น ถ้ามีคนยอมรับคำเชื้อเชิญให้อ่านบทหนึ่งในพระคัมภีร์มอรมอน แต่ยังไม่ได้อ่าน ท่านจะเสนอให้อ่านด้วยกัน ช่วยให้บุคคลค้นพบโดยประสบการณ์ว่าการรักษาคำมั่นสัญญาจะเป็นพรแก่ชีวิตเขาได้อย่างไร

อาจจะให้ผู้คนลองรักษาคำมั่นสัญญาหลายๆ ครั้ง และท่านอาจต้องไปเยี่ยมหลายครั้งเพื่อช่วยเหลือ สนทนาว่าพวกเขาจะเอาชนะความท้าทายในการรักษาคำมั่นสัญญาได้อย่างไร จงอดทนและสนับสนุน ไม่ใช่ตำหนิหรือตัดสิน

มีอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ในการติดต่อประจำวัน

เมื่อท่านติดตามผล จงขอให้พวกเขาแบ่งปันประสบการณ์ที่มีกับการรักษาคำมั่นสัญญา ถามว่าพวกเขาได้เรียนรู้อะไรและรู้สึกอย่างไร นี่จะช่วยให้พวกเขารับรู้อิทธิพลของพระวิญญาณในชีวิตและช่วยพวกเขาบอกขั้นต่อไป

ขณะติดต่อพวกเขาในแต่ละวัน ส่วนสำคัญของจุดประสงค์ของท่านคือเชื้อเชิญอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์เข้ามาในชีวิตพวกเขา ช่วยให้พวกเขารับรู้ว่าจะรู้สึกถึงพระวิญญาณบริสุทธิ์อย่างไรเมื่อท่านไม่อยู่ การติดต่อประจำวันควรเสริมสร้างความรู้สึกทางวิญญาณที่พวกเขารู้สึกตอนท่านสอนพวกเขา พวกเขาจะเปลี่ยนใจเลื่อมใสเมื่อรู้สึกถึงอำนาจและอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์

แสดงความรัก

กระบวนการเปลี่ยนใจเลื่อมใสมีความรักเหมือนพระคริสต์เป็นศูนย์กลาง (ดู 4 นีไฟ 1:15) แสวงหาของประทานแห่งจิตกุศล การแสดงความรักที่จริงใจจะช่วยให้ผู้คนรู้สึกถึงพระวิญญาณในชีวิต การแสดงความรักของท่านจะช่วยให้พวกเขายอมรับคำเชื้อเชิญและรักษาคำมั่นสัญญาที่นำไปสู่การเปลี่ยนใจเลื่อมใสเช่นกัน

เมื่อท่านรักและสอนผู้อื่น การเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระผู้ช่วยให้รอดของท่านเองจะลึกซึ้งขึ้น

การช่วยให้บุคคลอื่นเปลี่ยนใจเลื่อมใสเป็นงานศักดิ์สิทธิ์ ท่านจะพบปีติอันยั่งยืนเมื่อท่านทุ่มเททำงานนี้และรับใช้ผู้อื่น (ดู มัทธิว 10:39; โมไซยาห์ 2:17; แอลมา 27:17–18; หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:10–16)

การศึกษาส่วนตัวหรือกับคู่

บันทึกแผนการติดต่อประจำวันของท่านกับแต่ละคนที่ท่านสอนลงในแอปสั่งสอนกิตติคุณของเรา วางแผนล่วงหน้าหลายๆ วันว่าท่านจะทำอะไรเพื่อติดตามผลกับแต่ละคน

เลือกหนึ่งคำเชื้อเชิญที่ท่านจะให้เมื่อสอนแต่ละคน แล้วระบุข้อกังวลต่างๆ ที่อาจจะทำให้บางคนไม่ยอมรับหรือไม่รักษาคำมั่นสัญญานั้น สนทนาและฝึกวิธีที่ท่านจะช่วยผู้คนได้ดีที่สุดเมื่อพวกเขาพยายามไขข้อกังวลของตน

พระเจ้าทรงปรารถนาให้ผู้คนมาและอยู่

งานสอนศาสนามีผลดีที่สุดเมื่อผู้คนทำและรักษาคำมั่นสัญญาว่าจะดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณและอยู่แข็งขันในศาสนจักรตลอดชีวิต ลำพังพวกเขาเข้ามาในศาสนจักรเท่านั้นไม่พอ พระเจ้าทรงปรารถนาให้พวกเขามาและอยู่ (ดู ยอห์น 15:16) นำการสอนและคำเชื้อเชิญทั้งหมดของท่านไปให้ถึงจุดหมายนั้น เพื่อรับพรทั้งหมดที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงมีให้ สมาชิกต้องดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณต่อไปโดยรักษาพระบัญญัติและพันธสัญญาที่ได้ทำไว้ขณะอยู่แข็งขันในศาสนจักร

นีไฟสอนว่า “หลังจากท่านเข้าไปในทางคับแคบและแคบนี้แล้ว, ข้าพเจ้าอยากถามว่าทำทุกอย่างแล้วหรือ? ดูเถิด, ข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่าน, ไม่เลย; … ท่านต้องมุ่งหน้าด้วยความแน่วแน่ในพระคริสต์, … และ [หากท่าน] อดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่แล้ว, ดูเถิด, พระบิดาตรัสดังนี้: เจ้าจะมีชีวิตนิรันดร์” (2 นีไฟ 31:19–20)

จงพยายามสุดความสามารถเพื่อช่วยให้ผู้คนมีคุณสมบัติคู่ควรรับ“ชีวิตนิรันดร์, ซึ่งของประทานนี้สำคัญที่สุดในบรรดาของประทานทั้งปวงของพระผู้เป็นเจ้า” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 14:7)


แนวคิดสำหรับการศึกษาและการประยุกต์ใช้

การศึกษาส่วนตัว

  • ระบุพระบัญญัติข้อหนึ่งจาก บทที่ 4 หาและบันทึกพระคัมภีร์อ้างอิงและคำพูดอ้างอิงจากศาสดาพยากรณ์ยุคสุดท้ายที่พูดถึงพรที่สัญญาไว้เกี่ยวกับพระบัญญัติข้อนี้ นึกถึงพรที่ท่านได้รับเพราะเชื่อฟังพระบัญญัตินี้ และเขียนในสมุดบันทึกของท่าน

  • เมื่อท่านสื่อสารกับครอบครัวท่านหรือผู้อื่น ให้ถามว่าพวกเขาได้รับพรเพราะเชื่อฟังพระบัญญัติข้อนั้นๆ อย่างไร (ตัวอย่างเช่น การรักษาวันสะบาโตให้ศักดิ์สิทธิ์ เชื่อฟังกฎส่วนสิบ หรือรักษาพระบัญญัติที่ยากสำหรับบางคนที่ท่านสอน)

  • ตอบคำถามต่อไปนี้เพื่อช่วยท่านระบุด้านที่ท่านสามารถปรับปรุงได้เมื่อให้คำเชื้อเชิญ วางแผนปรับปรุง

    • ผู้คนรู้หรือไม่ว่าฉันรักพวกเขา?

    • ฉันมั่นใจหรือไม่ว่าพวกเขาจะได้รับพรจากการทำตามคำเชื้อเชิญของเรา?

    • ฉันให้เวลาและความสนใจตามสมควรในการติดต่อประจำวันกับผู้คนเพื่อช่วยพวกเขารักษาคำมั่นสัญญาหรือไม่?

    • แผนบทเรียนของเรามีคำเชื้อเชิญที่เจาะจงให้ปฏิบัติหรือไม่?

การศึกษากับคู่และการสลับคู่

  • ทบทวนคำเชื้อเชิญในบทเรียนผู้สอนศาสนาหนึ่งบท ตอบคำถามต่อไปนี้สำหรับคำเชื้อเชิญแต่ละอย่าง:

    • พระเจ้าทรงสัญญาพรอะไรบ้างกับคนที่รักษาคำมั่นสัญญานี้?

    • การเชื่อฟังหลักธรรมนี้จะช่วยผู้คนเพิ่มพูนศรัทธาและประจักษ์พยานของพวกเขาอย่างไร?

    • คำมั่นสัญญานี้จะช่วยให้ผู้คนกลับใจและไวต่อพระวิญญาณมากขึ้นอย่างไร?

  • จากเครื่องมือวางแผนของท่านให้สร้างรายชื่อคนที่ท่านเคยติดต่อในช่วงสองวันที่ผ่านมา รวมคนที่ท่านกำลังสอนและสมาชิกไว้ด้วย

    • เขียนคำเชื้อเชิญที่ท่านให้แต่ละคนและคำมั่นสัญญาที่พวกเขาทำ

    • พิจารณาว่าท่านได้ให้คำเชื้อเชิญอะไรอีกบ้าง

    • สนทนาว่าเหตุใดท่านจึงได้คำมั่นสัญญาจากบางคนแต่ไม่ได้จากอีกหลายคน

    • ท่านจะทำอะไรเพื่อติดตามผลคำเชื้อเชิญเหล่านี้?

สภาดิสตริกท์ การประชุมโซน และสภาผู้นำคณะเผยแผ่

  • สนทนาแนวคิดที่ได้ผลและสร้างสรรค์สำหรับการติดต่อประจำวันกับคนที่ท่านกำลังสอน ผู้สอนศาสนาเคยทำงานกับสมาชิกแล้วได้ผลอย่างไร? สื่อสิ่งพิมพ์หรือสื่อดิจิทัลอะไรเป็นประโยชน์บ้าง? ท่านจะทำอะไรได้บ้างเมื่อผู้คนไม่อยู่บ้านหรือมีงานยุ่งเกินกว่าจะเจอท่าน?

  • สนทนาวิธีที่ผู้สอนศาสนาสอนเรื่องพระบัญญัติใน บทที่ 4 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้นำคณะเผยแผ่และที่ปรึกษาคณะเผยแผ่

  • เมื่อทำได้ ให้ไปกับผู้สอนศาสนาเมื่อพวกเขาสอน ช่วยให้พวกเขาจดจ่อกับการช่วยผู้คนทำและรักษาคำมั่นสัญญา

  • กระตุ้นผู้นำฐานะปุโรหิตระดับวอร์ด ผู้นำองค์การ และสมาชิกให้ติดต่อกับคนที่ผู้สอนศาสนากำลังสอนทุกวัน—ถ้าพวกเขายอมให้ติดต่อ