การเรียกในคณะเผยแผ่
บทที่ 10: สอนให้สร้างศรัทธาในพระเยซูคริสต์


“บทที่ 10: สอนให้สร้างศรัทธาในพระเยซูคริสต์” สั่งสอนกิตติคุณของเรา: คู่มือแนะแนวการแบ่งปันพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ (2023)

“บทที่ 10” สั่งสอนกิตติคุณของเรา

ภาพ
คำเทศนาบนภูเขา โดย แฮร์รีย์ แอนเดอร์สัน

บทที่ 10

สอนให้สร้างศรัทธาในพระเยซูคริสต์

พิจารณาสิ่งนี้

  • ฉันจะสอนโดยพระวิญญาณได้อย่างไร?

  • ฉันจะสอนจากพระคัมภีร์ได้อย่างไร?

  • ฉันควรแบ่งปันประจักษ์พยานอย่างไรเมื่อสอน?

  • ฉันจะวางแผนและปรับการสอนให้ตรงกับความต้องการของผู้คนได้อย่างไร?

  • ฉันจะถามคำถามให้ดีขึ้นและเป็นผู้ฟังที่ดีขึ้นได้อย่างไร?

  • ฉันจะช่วยผู้คนหาคำตอบของคำถาม รับการนำทางและความเข้มแข็งได้อย่างไร?

ท่านได้รับเรียกให้สอนพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์ให้กับคนมากเท่าที่จะรับท่าน การสอนเป็นหัวใจของทุกสิ่งที่ท่านทำ เมื่อท่านพึ่งพาความช่วยเหลือจากพระเจ้า พระองค์ทรงสัญญาว่า:

“และผู้ใดที่รับเจ้า, ที่นั่นเราจะอยู่ด้วย, เพราะเราจะไปเบื้องหน้าเจ้า. เราจะอยู่ทางขวามือเจ้าและทางซ้ายเจ้า, และพระวิญญาณของเราจะอยู่ในใจเจ้า, และเหล่าเทพของเราห้อมล้อมเจ้า, เพื่อประคองเจ้าไว้” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:88)

สวดอ้อนวอน ศึกษา และฝึกฝนเพื่อปรับปรุงความสามารถด้านการสอนของท่าน ประยุกต์ใช้หลักธรรมในบทนี้และในบทอื่นของหนังสือนี้ แสวงหาของประทานแห่งการสอนอย่างจริงใจเพื่อท่านจะสามารถเป็นพรแก่ผู้อื่นและสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าจะทรงช่วยให้ท่านสอนด้วยพลังอำนาจและสิทธิอำนาจเมื่อท่านแสวงหาพระองค์อย่างขยันหมั่นเพียรและเรียนรู้พระวจนะของพระองค์

พยายามสอนดังพระผู้ช่วยให้รอดทรงสอน

ในระหว่างการปฏิบัติศาสนกิจบนแผ่นดินโลก พระเยซู “เสด็จไป … ทรงสั่งสอน … ทรงประกาศ … และทรงรักษา” (มัทธิว 4:23) พระองค์ทรงสอนในสภาวะแวดล้อมต่างๆ—ในธรรมศาลา ในบ้าน และตามถนน ทรงสอนท่ามกลางคนกลุ่มใหญ่และในการสนทนาส่วนตัว ปฏิสัมพันธ์อันทรงพลังที่สุดของพระองค์บางครั้งสั้นมากหรืออยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ผิดธรรมดา พระองค์ทรงสอนผ่านการกระทำและคำพูด

พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนแต่ละคนตามความต้องการเฉพาะตน ตัวอย่างเช่น เมื่อรับใช้คนง่อย พระองค์ทรงให้อภัยบาปของเขาและทรงรักษาเขา (ดู มาระโก 2:1–12) เมื่อทรงปฏิบัติศาสนกิจต่อหญิงที่ล่วงประเวณี พระองค์ทรงปกป้องเธอและทรงเชื้อเชิญเธอไม่ให้ทำบาปอีก (ดู ยอห์น 8:2–11) เมื่อตรัสกับคนร่ำรวยผู้ปรารถนาชีวิตนิรันดร์ พระองค์ “ทรง [รัก] เขา” ทั้งที่เขาไม่ยอมรับพระดำรัสเชื้อเชิญให้ติดตามพระองค์ (มาระโก 10:21; ดู ข้อ 17–21)

ท่านสามารถปรับปรุงการสอนของท่านได้โดยเรียนรู้วิธีที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอน ตัวอย่างเช่น พระองค์ทรงรักพระบิดาและคนที่พระองค์ทรงสอน พระองค์ทรงสวดอ้อนวอนตลอดเวลา ทรงสอนจากพระคัมภีร์ ทรงเตรียมทางวิญญาณ ทรงถามคำถามที่ได้รับการดลใจ ทรงเชื้อเชิญให้ผู้คนปฏิบัติด้วยศรัทธา และทรงเปรียบหลักธรรมพระกิตติคุณกับชีวิตประจำวัน

การแสวงหาเพื่อสอนดังพระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนเป็นความพยายามชั่วชีวิต ท่านจะสอนดังพระองค์ได้มากขึ้นเป็นบรรทัดมาเติมบรรทัดเมื่อท่านทำตามพระองค์ (ดู 2 นีไฟ 28:30; อีเธอร์ 12:41)

“หมายมั่นให้ได้คำของเรา”

เพื่อสอนพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ ท่านต้องรู้หลักคำสอนและหลักธรรมเบื้องต้นของพระกิตติคุณ ท่านต้องมีความรู้ทางวิญญาณและการยืนยันความจริงพระกิตติคุณด้วย พระเจ้าตรัสว่า “อย่าหมายมั่นจะประกาศคำของเรา, แต่ก่อนอื่น จงหมายมั่นให้ได้คำของเรา”

“ให้ได้” พระวจนะของพระเจ้าหมายถึงศึกษาและให้พระวจนะนั้นฝังลึกในใจท่าน เมื่อท่านพยายามทำเช่นนี้ พระองค์ทรงสัญญาว่า “จากนั้นเราจะปลดปล่อยลิ้นของเจ้า; จากนั้น, หากเจ้าปรารถนา, เจ้าจะมีพระวิญญาณของเราและคำของเรา, แท้จริงแล้ว, อำนาจของพระผู้เป็นเจ้าในการสร้างความเชื่อมั่นแก่มนุษย์” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 11:21)

ภาพ
คนทำเครื่องหมายพระคัมภีร์

พระเจ้าตรัสเช่นกันให้ “สั่งสมถ้อยคำแห่งชีวิตไว้ในความคิดเจ้าเสมอไป” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:85) การสั่งสมพระวจนะของพระเจ้าจะเพิ่มพูนความรู้และเสริมสร้างประจักษ์พยานของท่าน ความปรารถนาและความสามารถของท่านในการสอนพระกิตติคุณจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน (ดู เจคอบ 4:6–7; แอลมา 32:27–42; 36:26; 37:8–9)

จงให้ได้และสั่งสอนพระวจนะของพระเจ้าร่วมกับการสวดอ้อนวอนโดยศึกษาพระคัมภีร์ ถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตอยู่ และบทเรียนใน บทที่ 3

สอนโดยพระวิญญาณ

พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เป็น “ฤทธานุภาพของพระเจ้าเพื่อให้ทุกคนที่เชื่อได้รับความรอด” (โรม 1:16) เพราะเหตุนี้จึงต้องสอนข่าวสารเรื่องการฟื้นฟูพระกิตติคุณโดยฤทธานุภาพของพระเจ้า—อำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์

สิ่งสำคัญคือท่านต้องพัฒนาทักษะการสอน สิ่งสำคัญอีกอย่างคือท่านต้องเรียนรู้หลักคำสอนและหลักธรรมที่ท่านสอนด้วย อย่างไรก็ดี เมื่อสอนความจริงทางวิญญาณ ท่านจะไม่พึ่งความสามารถและความรู้ของท่านเป็นหลัก

ความจริงทางวิญญาณสอนโดยอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ พระเจ้าตรัสว่า “และจะประทานพระวิญญาณแก่เจ้าโดยคำสวดอ้อนวอนจากศรัทธา; และหากเจ้าไม่ได้รับพระวิญญาณ เจ้าจะไม่สอน” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:14; และ หลักคำสอนและพันธสัญญา 50:13–14, 17–22)

ความหมายของการสอนโดยพระวิญญาณ

เมื่อท่านสอนโดยพระวิญญาณ ท่านสวดอ้อนวอนขอให้มีอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ในการสอนของท่าน ท่านสวดอ้อนวอนขอให้ผู้คนรับความจริงโดยพระวิญญาณด้วย ผู้คนอาจถูกโน้มน้าวใจให้เชื่อความจริงบางอย่าง แต่เพื่อเปลี่ยนใจเลื่อมใส พวกเขาต้องมีประสบการณ์กับพระวิญญาณ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 8:2–3)

เตรียมตัวท่านให้พร้อมเป็นเครื่องมือที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงสามารถสอนผ่านท่านได้ ให้คิดว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นคู่สอนของท่าน

พึ่งพาพระวิญญาณให้ทรงช่วยท่านรู้ว่าจะพูดอะไร พระองค์จะทรงทำให้ท่านรำลึกถึงหลักคำสอนที่ท่านศึกษามาแล้ว พระองค์จะทรงช่วยท่านวางแผนและปรับสิ่งที่ท่านสอนตามความต้องการของคนนั้น

เมื่อท่านสอนโดยพระวิญญาณ พระองค์จะทรงนำข่าวสารของท่านไปสู่ใจผู้คน พระองค์จะทรงยืนยันข่าวสารของท่านเมื่อท่านแสดงประจักษ์พยาน ท่านและคนเหล่านั้นผู้รับสิ่งที่ท่านสอนโดยพระวิญญาณจะได้รับการจรรโลงใจ เข้าใจกัน และชื่นชมยินดีด้วยกัน (ดู 2 นีไฟ 33:1; หลักคำสอนและพันธสัญญา 50:13–22)

ภาพ
ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน

“พระวิญญาณเป็นองค์ประกอบเดียวที่สำคัญที่สุดในงานนี้ เนื่องด้วยพระวิญญาณทรงขยายการเรียกของท่าน ท่านจึงสามารถทำปาฏิหาริย์แทนพระเจ้าในสนามเผยแผ่ได้ หากปราศจากพระวิญญาณ ท่านจะไม่มีวันประสบความสำเร็จ ถึงแม้ ท่านจะมีพรสวรรค์และความสามารถเพียงใดก็ตาม” (เอสรา แทฟท์ เบ็นสัน, การสัมมนาประธานคณะเผยแผ่คนใหม่ 25 มิ.ย. 1986)

คำสัญญาของการเรียกของท่าน

ท่านได้รับการเรียกและการวางมือมอบหน้าที่ให้ “สั่งสอนกิตติคุณของเราโดยพระวิญญาณ, แม้พระผู้ปลอบโยนซึ่งเราส่งออกไปสอนความจริง” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 50:14) บางครั้งท่านอาจรู้สึกประหม่าหรือไม่ดีพอ บางทีท่านอาจกังวลว่าท่านรู้ไม่มากพอ หรือว่าท่านมีประสบการณ์ไม่มากพอ

พระบิดาบนสวรรค์ของท่านผู้ทรงรู้จักท่านอย่างสมบูรณ์ทรงเรียกท่านเพราะสิ่งที่ท่านสามารถให้ได้ในฐานะผู้ติดตามที่มุ่งมั่นของพระเยซูคริสต์ พระองค์จะไม่ทรงทอดทิ้งท่าน จงวางใจว่าพระวิญญาณจะทรงขยายความสามารถของท่านและจะทรงสอนความจริงแก่คนที่เปิดรับ

ภาพ
เอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็น

เอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็นกล่าวว่า “ขณะตรึกตรองความท้าทายของงานเผยแผ่ ข้าพเจ้ารู้สึกไม่ดีพอและไม่พร้อมเลย จำได้ว่าข้าพเจ้าสวดอ้อนวอนดังนี้ ‘พระบิดาบนสวรรค์ ข้าพระองค์จะสามารถรับใช้งานเผยแผ่ได้อย่างไรเมื่อข้าพระองค์รู้เพียงเล็กน้อย?’ ข้าพเจ้าเชื่อในศาสนจักร แต่รู้สึกว่าตนมีความรู้ทางวิญญาณจำกัดมาก ขณะสวดอ้อนวอน ความรู้สึกเกิดขึ้นว่า ‘เจ้าไม่รู้ทุกอย่าง แต่เจ้ารู้มากพอ!’ ความมั่นใจนั้นทำให้ข้าพเจ้ากล้าก้าวต่อไปในสนามเผยแผ่” (ดู “ท่านรู้มากพอ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 13)

อัญเชิญพระวิญญาณขณะที่ท่านเริ่มสอน

ช่วงไม่กี่นาทีแรกกับผู้คนสำคัญมาก จงจริงใจและเคารพ แสดงความสนใจและความรักที่จริงใจ พยายามให้ได้ความไว้วางใจจากพวกเขา วิธีหนึ่งที่จะได้ความไว้วางใจคือเมื่อผู้คนรู้สึกว่าพระวิญญาณอยู่กับท่าน

ถามคำถามง่ายๆ สองสามข้อเพื่อช่วยให้ท่านเข้าใจภูมิหลังและความคาดหวังของพวกเขาเกี่ยวกับการเยี่ยมของท่าน ตั้งใจฟัง

ก่อนเริ่ม ให้เชิญทุกคนที่อยู่ตรงนั้นร่วมเรียนด้วย กระตุ้นให้พวกเขาเอาสิ่งรบกวนออกไปเพื่อจะรู้สึกถึงพระวิญญาณของพระเจ้าได้

อธิบายว่าท่านต้องการเริ่มและจบบทเรียนแต่ละบทด้วยการสวดอ้อนวอน เสนอตัวเป็นผู้สวดอ้อนวอนเปิด สวดอ้อนวอนให้เข้าใจง่ายและจริงใจขอให้พระผู้เป็นเจ้าทรงอวยพรคนที่ท่านสอนในชีวิตทุกๆ ด้าน สวดอ้อนวอนขอให้พวกเขารู้สึกถึงความจริงที่ท่านจะสอน จำไว้ว่า “คำวิงวอนของผู้ชอบธรรมนั้นมีพลังมากและเกิดผล” (ยากอบ 5:16)

มีศรัทธาในอำนาจการทำให้เปลี่ยนใจเลื่อมใสของพระวิญญาณบริสุทธิ์ เมื่อพระวิญญาณทรงนำ ท่านอาจแสดงความคิดดังต่อไปนี้ขณะเริ่มสอน:

  • พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นพระบิดาบนสวรรค์ผู้ทรงรักเรา เราทุกคนเป็นพี่น้องกัน พระองค์ทรงต้องการให้เราประสบปีติ

  • เราทุกคนมีความท้าทายและอุปสรรค ไม่ว่าคุณจะประสบอะไรอยู่ก็ตาม พระเยซูคริสต์และคำสอนของพระองค์ช่วยคุณได้ พระองค์ทรงสามารถช่วยให้คุณพบสันติสุข ความหวัง การเยียวยา และความสุข พระเยซูทรงสามารถช่วยให้คุณมีพลังมากขึ้นเมื่อเจอความท้าทายของชีวิต

  • เราทุกคนทำผิดพลาด ซึ่งสามารถทำให้เกิดความรู้สึกผิด ความอับอาย และความเสียใจ ความรู้สึกเหล่านี้จะหายไปเมื่อเรากลับใจและแสวงหาการให้อภัยของพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น เราจะหายขาดจากบาปของเราได้โดยผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์เท่านั้น

  • เราจะเป็นผู้ชี้ทางให้คุณได้เรียนรู้ความจริงจากข่าวสารของเราด้วยตัวคุณเอง เราขอเชื้อเชิญให้คุณทำบางอย่าง เช่น อ่านพระคัมภีร์ สวดอ้อนวอน และมาโบสถ์ บทบาทของเราคือช่วยให้คุณทำตามคำเชื้อเชิญเหล่านี้และอธิบายพรที่คุณจะได้รับ เชิญถามคำถาม

  • เราได้รับเรียกจากศาสดาพยากรณ์ของพระผู้เป็นเจ้าให้แบ่งปันสิ่งที่เรารู้ เรารู้ว่าข่าวสารของเราเป็นความจริง

  • เราจะสอนคุณให้รู้วิธีทำพันธสัญญาหรือคำสัญญาพิเศษกับพระผู้เป็นเจ้า พันธสัญญาเหล่านี้จะเชื่อมโยงคุณกับพระผู้เป็นเจ้าและทำให้คุณได้รับปีติ ความเข้มแข็ง และคำสัญญาพิเศษจากพระองค์

  • คุณจะเรียนรู้วิธีทำการเปลี่ยนแปลงในชีวิต ทำตามพระเยซูคริสต์และคำสอนของพระองค์ คำสอนที่จำเป็นเรื่องหนึ่งของพระเยซูคริสต์ และพันธสัญญาแรกที่เราทำ คือทำตามแบบอย่างของพระองค์และรับบัพติศมาโดยสิทธิอำนาจที่ถูกต้อง (ดู ยอห์น 3:5; หลักคำสอนและพันธสัญญา 22)

ภาพ
ผู้สอนศาสนาสวดอ้อนวอน

ก่อนสอนบทเรียน ท่านจะให้ภาพรวมง่ายๆ ของสิ่งที่จะสอน ช่วยให้ผู้คนเห็นว่าสิ่งนั้นเกี่ยวข้องกับพวกเขาอย่างไร ตัวอย่างเช่น ท่านอาจจะพูดว่า “เราอยู่ที่นี่เพื่อแบ่งปันข่าวสารว่าพระเยซูคริสต์ได้ทรงสถาปนาศาสนจักรของพระองค์บนโลกทุกวันนี้และทรงเรียกศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตอยู่ให้นำทางเรา” หรือท่านอาจจะพูดว่า “เราอยู่ที่นี่เพื่อช่วยให้คุณรู้ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงรักคุณและมีแผนสำหรับความสุขของคุณ”

ทุกคนจะได้ประโยชน์เมื่อพวกเขายอมรับและดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ พระบิดาบนสวรรค์อาจทรงอวยพรคนที่ท่านพบด้วยการเตรียมทางวิญญาณอันมีค่า (ดู แอลมา 16:16–17)

การอัญเชิญพระวิญญาณและการแบ่งปันความจริงในการพบกันครั้งแรกจะช่วยให้ผู้คนรับรู้ว่าท่านเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า

การศึกษาส่วนตัวหรือกับคู่

ใช้ข้อเสนอแนะในหมวดนี้ฝึกเริ่มบทเรียนหลายๆ วิธี

ใช้พระคัมภีร์

งานมาตรฐานของศาสนจักรเป็นแหล่งพื้นฐานสำหรับการสอนพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์ มีหลายเหตุผลว่าทำไมการใช้พระคัมภีร์เป็นพื้นฐานการสอนของท่านจึงสำคัญอย่างยิ่ง ตัวอย่างเช่น:

  • พระคัมภีร์อัญเชิญพระวิญญาณบริสุทธิ์เข้ามาในการสอนของท่าน (ดู ลูกา 24:13–32)

  • พระคัมภีร์มีผลอันทรงพลังยิ่งต่อจิตใจผู้คนยิ่งกว่าสิ่งใด (ดู แอลมา 31:5)

  • พระคัมภีร์ตอบคำถามสำคัญๆ เรื่องจิตวิญญาณ (ดู บทที่ 5; ดู 2 นีไฟ 2:3; เจคอบ 2:8 ด้วย)

  • พระคัมภีร์ให้สิทธิอำนาจและความสมเหตุสมผลแก่การสอนของท่าน

  • พระเจ้าและศาสดาพยากรณ์ของพระองค์ตรัสให้ทำเช่นนั้น (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:12; 56–58; 71:1)

การใช้พระคัมภีร์ในการสอนของท่านจะช่วยให้ผู้อื่นเริ่มศึกษาพระคัมภีร์ด้วยตนเอง เมื่อประจักษ์ชัดว่าท่านรักพระคัมภีร์ นั่นจะกระตุ้นพวกเขาให้ศึกษา จงแสดงให้เห็นว่าการศึกษาพระคัมภีร์จะช่วยให้พวกเขาเรียนรู้พระกิตติคุณและรู้สึกถึงความรักของพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร ยกตัวอย่างวิธีที่พระคัมภีร์จะช่วยให้พวกเขาพบคำตอบของคำถาม ได้รับการนำทางและความเข้มแข็ง

จงอุทิศตนให้แก่การศึกษาพระคัมภีร์เพื่อท่านจะสอนจากพระคัมภีร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ดู บทที่ 2) ท่านจะสามารถสอนจากพระคัมภีร์ได้ดีขึ้นเมื่อท่านศึกษาพระคัมภีร์ทุกวัน ทั้งด้วยตนเองและกับคู่

ช่วยผู้คนพัฒนาศรัทธาในพระเยซูคริสต์ผ่านการศึกษาพระคัมภีร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระคัมภีร์มอรมอน ข้อเสนอแนะต่อไปนี้อาจช่วยได้

ภาพ
คนกลุ่มหนึ่งศึกษาพระคัมภีร์

แนะนำพระคัมภีร์

อธิบายภูมิหลังของข้อนั้นสั้นๆ ตัวอย่างต่อไปนี้แสดงให้เห็นวิธีแนะนำพระคัมภีร์บางวิธี:

  • “ในประวัติของโจเซฟ สมิธ โจเซฟบอกเราด้วยคำพูดของท่านเองว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อท่านเข้าไปสวดอ้อนวอนในป่า ท่านกล่าวว่า ‘ข้าพเจ้าเห็นลำแสง …’”

  • “ในข้อนี้ ศาสดาพยากรณ์แอลมากำลังสอนคนยากจนให้ใช้ศรัทธาในพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า เขาเปรียบเทียบพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้ากับเมล็ดพืชที่ปลูกในใจเรา คุณจะเริ่มอ่านข้อ … ได้ไหม?”

อ่านข้อพระคัมภีร์

อ่านออกเสียงข้อเหล่านี้หรือขอให้คนที่ท่านสอนอ่านออกเสียง ไวต่อความรู้สึกของคนที่มีปัญหาการอ่าน ถ้าข้อนั้นอ่านยากหรือเข้าใจยาก ให้อ่านกับพวกเขาและอธิบายเมื่อจำเป็น นิยามคำหรือวลียากๆ หรือให้พวกเขาอ่านข้อที่ง่ายกว่า เชื้อเชิญให้พวกเขามองหาประเด็นเจาะจงในข้อนั้น

ประยุกต์ใช้พระคัมภีร์

นีไฟกล่าวว่า “ข้าพเจ้าเปรียบพระคัมภีร์ทั้งหมดกับเรา, ว่ามันจะเป็นประโยชน์และเป็นการเรียนรู้ของเรา” (1 นีไฟ 19:23) “เปรียบ” หมายถึงประยุกต์ใช้พระคัมภีร์กับชีวิตท่าน

เปรียบพระคัมภีร์กับคนที่ท่านสอนโดยแสดงให้เห็นว่าเรื่องราวและหลักธรรมเกี่ยวข้องกับพวกเขาเป็นส่วนตัวอย่างไร ตัวอย่างเช่น:

  • “ผู้คนของแอลมามีภาระหนักเหมือนคุณ มากจนพวกเขาแทบทนไม่ไหว แต่เมื่อพวกเขาใช้ศรัทธาและสวดอ้อนวอน พระผู้เป็นเจ้าทรงเพิ่มพลังให้พวกเขาอดทนต่อความท้าทายเหล่านั้นได้ แล้วพระองค์ทรงปลดปล่อยพวกเขาจากความยากลำบากต่างๆ เหมือนที่พระองค์ทรงช่วยคนเหล่านี้ ฉันรู้ว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงช่วยคุณในความยากลำบากของคุณด้วยเมื่อคุณ …” (ดู โมไซยาห์ 24)

  • “การสอนของแอลมาที่ผืนน้ำแห่งมอรมอนประยุกต์ใช้กับเราสมัยนี้ได้ จอห์น คุณเต็มใจ … ไหม?” (ดู โมไซยาห์ 18)

สอนผู้คนให้รู้วิธี “เปรียบ” พระคัมภีร์ด้วยตนเอง การค้นพบวิธีประยุกต์ใช้ส่วนตัวจะช่วยพวกเขาประยุกต์ใช้และประสบพลังแห่งพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า

เชื้อเชิญและช่วยให้ผู้คนอ่านด้วยตนเอง

คนที่ท่านสอนต้องอ่านพระคัมภีร์ โดยเฉพาะพระคัมภีร์มอรมอนเพื่อจะมีประจักษ์พยานถึงความจริง การใช้พระคัมภีร์อย่างมีประสิทธิภาพในการสอนจะช่วยให้ผู้คนเริ่มศึกษาพระคัมภีร์ด้วยตนเอง

หลังจากการเยี่ยมแต่ละครั้ง ท่านจะเสนอบางบทหรือบางข้อให้พวกเขาอ่าน เสนอคำถามให้พวกเขาพิจารณาขณะอ่าน กระตุ้นพวกเขาให้ศึกษาพระคัมภีร์ทุกวันด้วยตนเองและกับครอบครัว ท่านอาจจะขอให้สมาชิกอ่านกับพวกเขาในช่วงระหว่างบทเรียนนี้กับบทเรียนต่อไป

ก่อนเริ่มบทเรียนต่อไป ให้ติดตามผลโดยสนทนาสิ่งที่ท่านได้เชื้อเชิญให้อ่าน เมื่อจำเป็น จงช่วยให้พวกเขาเข้าใจและ “เปรียบ” พระคัมภีร์เหล่านี้ กระตุ้นพวกเขาให้บันทึกความคิดและคำถามของตน

เมื่อท่านช่วยให้ผู้คนอ่าน ทำความเข้าใจ และประยุกต์ใช้พระคัมภีร์—โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระคัมภีร์มอรมอน—พวกเขาจะมีประสบการณ์ทางวิญญาณกับพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า พวกเขามีแนวโน้มจะอ่านด้วยตนเองและทำให้พระคัมภีร์เป็นส่วนสำคัญของชีวิต

ภาพ
ผู้สอนศาสนาสอนครอบครัว

ช่วยให้ผู้คนเข้าถึงพระคัมภีร์

พระคัมภีร์และถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตอยู่มีให้อ่านหลายวิธีและหลายภาษามากกว่าแต่ก่อน เรียนรู้ว่าแบบเล่มและแบบดิจิทัลมีอะไรให้คนที่ท่านสอนอ่านบ้าง ช่วยให้ผู้คนเข้าถึงพระคัมภีร์ในวิธีที่เหมาะกับความต้องการและความพอใจของพวกเขา พิจารณาดังนี้:

  • ถามผู้คนว่าพวกเขาชอบอ่านหรือฟังพระคัมภีร์ในภาษาใด

  • คนที่มีปัญหาการอ่าน หรือไม่เข้าใจสิ่งที่อ่าน อาจได้ประโยชน์จากการอ่านออกเสียงด้วยกันหรือฟังเทปบันทึกเสียง ทั้งหมดนี้มีให้ผ่านแอปและเว็บไซต์ฟรีของศาสนจักร

  • ถ้าคนนั้นมีอุปกรณ์ดิจิทัล จงช่วยให้เขาเข้าถึงพระคัมภีร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระคัมภีร์มอรมอน แอปพระคัมภีร์มอรมอนและคลังค้นคว้าพระกิตติคุณเป็นแอปฟรีที่แบ่งปันได้ง่าย

  • ถ้าใช้ข้อความ แช็ต หรืออีเมล ให้ส่งลิงก์หรือภาพพระคัมภีร์ไปให้ เมื่อสอนในวิดีโอแช็ต ท่านอาจจะแชร์หน้าจอเพื่อจะได้อ่านข้อต่างๆ ด้วยกัน

  • ช่วยให้ผู้คนเข้าถึงถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตอยู่

การศึกษาส่วนตัวหรือกับคู่

ตรวจสอบให้แน่ใจว่าท่านกับคู่มีแหล่งข้อมูลพระคัมภีร์ที่อัปเดตแล้วอยู่ในโทรศัพท์ รวมถึงแอปพระคัมภีร์มอรมอนและคลังค้นคว้าพระกิตติคุณ

เลือกพระคัมภีร์หนึ่งช่วงต่อไปนี้: ปกในของพระคัมภีร์มอรมอน; 3 นีไฟ 11; โมโรไน 10:3–8; ยอห์น 17:3; โรม 8:16–17; 1 โครินธ์ 15:29; ยากอบ 1:5; 1 เปโตร 3:19–20; อาโมส 3:7.

พิจารณาว่าท่านจะทำสิ่งต่อไปนี้อย่างไร:

  • แนะนำข้อพระคัมภีร์

  • ให้ภูมิหลังและบริบท

  • อ่านข้อพระคัมภีร์และอธิบายความหมาย

  • อธิบายคำยากๆ

  • ช่วยคนที่ท่านสอนประยุกต์ใช้ข้อนั้นในชีวิต

การศึกษาพระคัมภีร์

ทำไมการสอนจากพระคัมภีร์จึงสำคัญ?

แบ่งปันประจักษ์พยานของท่าน

ประจักษ์พยานคือพยานทางวิญญาณที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ประทานให้ การแบ่งปันประจักษ์พยานคือการประกาศความรู้หรือความเชื่อเกี่ยวกับพระกิตติคุณอย่างเรียบง่ายตรงไปตรงมา การแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านจะเพิ่มพยานส่วนตัวของท่านเข้ากับความจริงที่ท่านสอนจากพระคัมภีร์

การแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเป็นวิธีอัญเชิญพระวิญญาณที่ได้ผลและช่วยให้ผู้อื่นรู้สึกถึงอิทธิพลของพระองค์ หนึ่งในพระพันธกิจของพระวิญญาณบริสุทธิ์คือเป็นพยานถึงพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ บ่อยครั้งพระองค์ทรงเป็นพยานคู่กับท่านเมื่อท่านแสดงประจักษ์พยาน

ประจักษ์พยานอันทรงพลังไม่ขึ้นอยู่กับการพูดจาคล่องแคล่วหรือความดังของเสียง—แต่ขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นและความจริงใจของใจท่าน จงระวังอย่ารีบเร่งหรือแสดงประจักษ์พยานเกินจริง ให้ผู้คนมีโอกาสรู้สึกว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นพยานต่อพวกเขาว่าสิ่งที่ท่านสอนเป็นความจริง

ประจักษ์พยานของท่านอาจเรียบง่ายเท่าๆ กับ “พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดและพระผู้ไถ่ของเรา” หรือ “ฉันได้เรียนรู้ด้วยตนเองว่าพระคัมภีร์มอรมอนเป็นความจริง” ท่านจะเล่าประสบการณ์สั้นๆ ด้วยก็ได้ว่าท่านมีประจักษ์พยานนี้ได้อย่างไร

เมื่อท่านสอน ให้แบ่งปันประจักษ์พยานเมื่อท่านรู้สึกได้รับการกระตุ้นเตือน ไม่ใช่แค่แบ่งปันตอนสอนจบ เมื่อคู่กำลังสอน จงแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเพื่อเป็นพยานปากที่สองยืนยันสิ่งที่เขาสอน

แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านว่าหลักธรรมที่ท่านสอนจะเป็นพรแก่ชีวิตบุคคลถ้าเขาจะทำตาม บอกว่าการดำเนินชีวิตตามหลักธรรมเป็นพรแก่ชีวิตท่านอย่างไร ประจักษ์พยานที่จริงใจของท่านจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมให้ผู้คนรู้สึกว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงยืนยันความจริง

การศึกษาส่วนตัว

ข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างของการแสดงประจักษ์พยาน พิจารณาคำถามขณะท่านอ่านแต่ละข้อ บันทึกคำตอบของท่านลงในสมุดบันทึกการศึกษา

  • ในข้อเหล่านี้พระเยซู อัครสาวก และศาสดาพยากรณ์ของพระองค์เป็นพยานถึงอะไร?

  • ท่านจะบอกได้อย่างไรว่าพระองค์และท่านเหล่านั้นเชื่อมั่นในความจริงที่ตรัสหรือพูด?

  • เมื่อท่านพูดว่า “ฉันรู้ว่า เป็นความจริง” ท่านหมายความว่าอย่างไร? ท่านจะใช้คำพูดใดอีกบ้างเพื่อแสดงความเชื่อมั่นของท่าน?

การศึกษาพระคัมภีร์

พระคัมภีร์ข้อต่อไปนี้สอนอะไรเกี่ยวกับหลักธรรมและคำสัญญาของการแสดงประจักษ์พยาน?

วางแผนและปรับการสอนของท่านให้ตรงกับความต้องการ

แต่ละคนที่ท่านสอนไม่เหมือนกัน จงพยายามเข้าใจความสนใจทางวิญญาณ ความต้องการ และความกังวลของเขา ถามคำถามและตั้งใจฟัง ถึงแม้ท่านจะไม่เข้าใจความต้องการของคนนั้นอย่างถ่องแท้ แต่จำไว้ว่าพระบิดาบนสวรรค์เข้าพระทัย พระองค์จะทรงนำทางท่านผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์

ภาพ
ผู้สอนศาสนาสอนคู่สามีภรรยา

ให้พระวิญญาทรงนำลำดับบทเรียน

ให้พระวิญญาณทรงนำลำดับการสอนบทเรียนของท่าน ท่านสามารถปรับลำดับการสอนบทเรียนให้เหมาะกับความต้องการ คำถาม และสภาวการณ์ของคนที่ท่านสอนมากที่สุด

บางครั้งท่านอาจจะรวมหลักธรรมจากบทต่างๆ เพื่อให้ตรงกับความต้องการและความสนใจของบุคคล ดูสามตัวอย่างต่อไปนี้

ยูกิพบท่านทางออนไลน์และถามว่าทำไมเพื่อนๆ ของเธอในศาสนจักรไม่ดื่มเหล้าไม่สูบบุหรี่ ท่านอาจจะสอนเธอเรื่องพรของพระบัญญัติโดยใช้หมวดต่อไปนี้จากบทที่ 3:

แซมิวเอลรู้สึกเหมือนเขาไม่เข้าหมู่เข้าพวก ท่านอาจจะสอนเขาเรื่องอัตลักษณ์และที่ของเขาในครอบครัวของพระผู้เป็นเจ้าโดยใช้หมวดต่อไปนี้จากบทที่ 3:

ทัทยานาศึกษามาหลายศาสนาและอยากรู้ว่าอะไรทำให้ศาสนจักรต่างจากศาสนาอื่น ท่านอาจจะสอนเธอเรื่องการฟื้นฟูพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์โดยใช้หมวดต่อไปนี้จากบทที่ 3:

พระบิดาบนสวรรค์ทรงรู้จักลูกๆ ของพระองค์ ดังนั้นจงแสวงหาการดลใจเพื่อทำการตัดสินใจเหล่านี้ขณะที่ท่านเตรียมสอน สวดอ้อนวอนขอของประทานแห่งการเล็งเห็นขณะตัดสินใจว่าจะสอนอะไร จงเอาใจใส่ความคิดและความรู้สึกที่มาถึงท่าน

ภาพ
ครอบครัวอ่านพระคัมภีร์

ให้เวลาผู้คนได้ประยุกต์ใช้สิ่งที่พวกเขากำลังเรียนรู้

เมื่อท่านสอน จงให้เวลาผู้คนได้ประยุกต์ใช้สิ่งที่พวกเขากำลังเรียนรู้ (ดู 3 นีไฟ 17:2–3) มองหาวิธีที่เหมาะสมเพื่อสนับสนุนพวกเขาในการรักษาคำมั่นสัญญา จดจ่อกับการช่วยพวกเขาปฏิบัติสิ่งที่จะสร้างรากฐานของศรัทธา เช่น การสวดอ้อนวอน การอ่าน และการมาโบสถ์ นี่จะช่วยให้พวกเขาสามารถรักษาคำมั่นสัญญาเพิ่มเติมได้

เมื่อท่านวางแผนและสอน จงระมัดระวังเรื่องจำนวนข้อมูลใหม่ที่ท่านแบ่งปัน วัตถุประสงค์เบื้องต้นของการสอนของท่านคือช่วยบุคคลสร้างศรัทธาในพระเยซูคริสต์เพื่อนำไปสู่การกลับใจ วัตถุประสงค์ของท่านไม่ใช่เพื่อดูว่าท่านจะแจกจ่ายข้อมูลได้มากเพียงใด

จงสอนตามจำนวนที่เหมาะกับบุคคลนั้น ถามคำถามและตั้งใจฟังเพื่อท่านจะเข้าใจว่าเขากำลังเรียนรู้และประยุกต์ใช้สิ่งที่ท่านกำลังสอนดีเพียงใด

ความจริงที่ท่านสอน ควบคู่กับอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ สามารถส่งผลให้ผู้คนใช้สิทธิ์เสรีในวิธีที่สร้างศรัทธาของพวกเขาในพระคริสต์ เมื่อพวกเขาใช้ศรัทธาในพระเจ้าโดยประยุกต์ใช้สิ่งที่เรียนรู้ พวกเขาจะรู้โดยพระวิญญาณว่าพระกิตติคุณเป็นความจริง

ใช้โอกาสในการสอนให้หลากหลาย

โอกาสในการสอนมีหลายรูปแบบ เช่น ไปเยี่ยมด้วยตนเอง วิดีโอแช็ต โทรศัพท์ ส่งข้อความ และโซเชียลมีเดีย

เคารพเวลาของผู้คน

ทำให้การสอนของท่านเรียบง่ายและกระชับ ผู้คนมีแนวโน้มจะพบกับท่านเมื่อท่านเคารพเวลาและคำขอของพวกเขา ถามว่าพวกเขามีเวลาให้เยี่ยมเท่าใด เริ่มและจบการสนทนาตามเวลาที่ตกลงกันไว้ ไม่ว่าจะสอนแบบเจอตัวหรือทางออนไลน์ จงทราบว่าในบางที่ การโทรศัพท์หรือวิดีโอแช็ตเสียเงินมาก

ท่านจะต้องพบกันหลายครั้งเพื่อสอนหลักธรรมในหนึ่งบทเรียน ปกติแล้วการเยี่ยมสอนไม่ควรนานเกิน 30 นาทีและท่านจะสอน 5 นาทีก็ได้ ปรับการสอนของท่านตามเวลาของผู้คน

ใช้เทคโนโลยีอย่างฉลาด

ท่านมีโอกาสมากมายให้ใช้เทคโนโลยีสอนผู้คน บางคนชอบความสะดวกหรือความเป็นส่วนตัวของการปฏิสัมพันธ์ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์มากกว่า แม้แต่คนที่ท่านไปเยี่ยมแบบเจอตัวก็สามารถได้ประโยชน์จากการสนับสนุนเพิ่มเติมผ่านเทคโนโลยี พูดถึงแหล่งข้อมูลที่มีให้สื่อสาร แล้วติดตามผลและเชื่อมสัมพันธ์ต่อไป ให้ความชอบของแต่ละคนเป็นแนวทางการปฏิสัมพันธ์ของท่าน

เทคโนโลยี เช่น วิดีโอคอล จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการสอนคนที่มีตารางงานยุ่งหรืออยู่ไกล บางครั้งให้สมาชิกร่วมสอนบทเรียนทางเทคโนโลยีจะง่ายกว่า

ช่วยเหลือผู้เรียนที่อายุน้อย

ระหว่างการปฏิบัติศาสนกิจของพระผู้ช่วยให้รอด พระองค์รับสั่งกับเหล่าสาวกของพระองค์ว่า “จงยอมให้เด็กเล็กๆ เข้ามาหาเรา อย่าห้ามเขาเลย เพราะว่าแผ่นดินของพระเจ้าเป็นของคนอย่างพวกเขา” (มาระโก 10:14) เมื่อท่านสอนเด็ก จงปรับวิธีและข่าวสารให้เหมาะกับความต้องการของพวกเขา ช่วยพวกเขาเรียนรู้พระกิตติคุณโดยพูดถึงสิ่งที่พวกเขาคุ้นเคย ตรวจสอบให้แน่ใจว่าพวกเขาเข้าใจสิ่งที่ท่านกำลังสอน

การศึกษาพระคัมภีร์

อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:85 “ส่วนนั้นที่จะแบ่งสรรให้แก่มนุษย์ทุกคน” หมายความว่าอย่างไร? ท่านจะประยุกต์ใช้สิ่งนี้ในการสอนของท่านได้อย่างไร?

พระเจ้าทรงสัญญาอะไรกับผู้สอนศาสนาที่ซื่อสัตย์เกี่ยวกับการรู้ว่าต้องพูดอะไร?

สอนกับคู่ด้วยความเป็นหนึ่งเดียวกัน

พระเจ้าตรัสว่า “เจ้าจงออกไปในอำนาจแห่งพระวิญญาณของเรา, โดยสั่งสอนกิตติคุณของเรา, เป็นคู่ๆ” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:6) พระองค์ทรงบัญชาให้ท่านกับคู่ “เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน” ด้วย (หลักคำสอนและพันธสัญญา 38:27) การสอนของท่านจะมีพลังและน่าสนใจมากขึ้นถ้าท่านกับคู่ทำงานเป็นหนึ่งเดียวกัน สลับกันให้บทเรียนสั้นๆ

ระหว่างศึกษากับคู่ ให้สนทนาและฝึกวิธีที่ท่านจะสอนเพื่อจะเป็นหนึ่งเดียวกัน เตรียมว่าท่านจะทำงานร่วมกันอย่างไรเมื่อสอนออนไลน์ ทำตาม มาตรการป้องกันการใช้เทคโนโลยี ที่สรุปไว้ในบทที่ 2

ภาพ
ผู้สอนศาสนาสอนชายคนหนึ่ง

เมื่อคู่ของท่านสอน จงสวดอ้อนวอนให้ ฟัง และมองดูเขา สนับสนุนคู่โดยเสนอตัวเป็นพยานปากที่สองเพื่อยืนยันความจริงที่เขาสอนไปแล้ว (ดู แอลมา 12:1) ทำตามความประทับใจของท่านเมื่อพระวิญญาณทรงกระตุ้นเตือนท่านให้พูดบางอย่าง

สนใจคนที่ท่านสอนอย่างจริงใจ ฟังพวกเขา สบตาเมื่อพวกเขาหรือท่านกำลังพูด สังเกตการตอบสนองของพวกเขาให้ถี่ถ้วน และฟังการกระตุ้นเตือนทางวิญญาณ

เชิญสมาชิกให้มีส่วนร่วม

เชิญสมาชิกมาช่วยท่านสอนและสนับสนุนคนที่ท่านกำลังสอน ซึ่งอาจสอนแบบเจอตัวหรือสอนออนไลน์ก็ได้ ระหว่างการประชุมประสานงานประจำสัปดาห์ ให้ปรึกษากับผู้นำวอร์ดว่าใครจะช่วยได้

เมื่อสมาชิกมีส่วนร่วมในการสอนและการผูกมิตร พวกเขาสามารถเพิ่มข้อคิดและสานสัมพันธ์ฉันเพื่อน พวกเขาจะรู้สึกถึงปีติของงานสอนศาสนา

เชิญสมาชิกมาช่วยท่านสอน

ก่อนสอน ให้วางแผนกับสมาชิกว่าจะทำงานร่วมกันอย่างไร ท่านจะใช้วิธีส่งข้อความหรือโทรสั้นๆ เพื่อยืนยันว่าท่านจะสอนอะไร ใครจะสวดอ้อนวอน ใครจะนำการสนทนา และรายละเอียดอื่นๆ

บทบาทหลักของสมาชิกในบทเรียนคือให้ประจักษ์พยานที่จริงใจ เล่าประสบการณ์ส่วนตัวสั้นๆ และพัฒนาความสัมพันธ์กับคนเรียน ท่านอาจจะขอให้สมาชิกแบ่งปันว่าพวกเขาสามารถเรียนรู้ ยอมรับ และดำเนินชีวิตตามหลักธรรมข้อนั้นในบทเรียนได้อย่างไร ถ้าพวกเขาเป็นผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใส ให้เชิญพวกเขาแบ่งปันว่าพวกเขาตัดสินใจเข้าร่วมศาสนจักรอย่างไร

เมื่อสมาชิกแนะนำรายชื่อ จงขอให้พวกเขามีส่วนร่วมในการสอน สมาชิกอาจมีส่วนเกี่ยวข้องในสถานการณ์เหล่านี้มากขึ้น หารือกับสมาชิกว่าพวกเขาต้องการมีส่วนร่วมอย่างไร

พิจารณาว่าการใช้เทคโนโลยีสอนกับสมาชิกน่าจะเหมาะสมอย่างไร เทคโนโลยีช่วยให้สมาชิกร่วมสอนกับท่านได้โดยไม่ใช้เวลามากเท่ากับการขอให้ไปเยี่ยมแบบเจอตัว

ในการประชุมประสานงานประจำสัปดาห์ จงวางแผนกับผู้นำวอร์ดเพื่อให้สมาชิกมีส่วนร่วมในบทเรียนมากที่สุด (ดู บทที่ 13) ท่านอาจจะขอให้สมาชิกใหม่ช่วยท่านสอน

การศึกษาส่วนตัวหรือกับคู่

สมมติว่าท่านมีนัดสอนครอบครัวหนึ่งในบ้านของสมาชิก สนทนาว่าท่านจะให้สมาชิกแต่ละคนต่อไปนี้มีส่วนเกี่ยวข้องในการช่วยสอนอย่างไร:

  • ผู้สอนศาสนาวอร์ดที่เพิ่งจบงานเผยแผ่เต็มเวลา

  • ปุโรหิต

  • สมาชิกใหม่

  • ประธานโควรัมเอ็ลเดอร์หรือประธานสมาคมสงเคราะห์

เชิญสมาชิกมาให้การสนับสนุน

สมาชิกสามารถให้การสนับสนุนอันมีค่าในช่วงระหว่างการเยี่ยมสอนครั้งนี้กับครั้งหน้าได้เช่นกัน พวกเขาสามารถส่งข้อความ อ่านพระคัมภีร์ด้วยกัน ชวนมาบ้านหรือมาร่วมกิจกรรม หรือชวนมานั่งด้วยกันที่โบสถ์ พวกเขาสามารถตอบคำถามและแสดงให้เห็นว่าชีวิตสมาชิกศาสนจักรของพวกเขาเป็นอย่างไร ประสบการณ์ชีวิตและมุมมองชีวิตของพวกเขาจะช่วยพวกเขาเชื่อมโยงกับผู้คนในแบบที่บางครั้งต่างมากจากผู้สอนศาสนา

หารือกับสมาชิกเกี่ยวกับวิธีที่ท่านจะทำงานร่วมกันเพื่อสนับสนุนผู้คนนอกเวลาเยี่ยมสอน

สอนให้เข้าใจ

สอนพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ให้ผู้คนเข้าใจ ศึกษาพระคัมภีร์และบทเรียนเพื่อท่านจะสอนได้อย่างชัดเจน ยิ่งท่านสอนชัดเจนเพียงใด โอกาสที่พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงเป็นพยานถึงความจริงยิ่งมากเพียงนั้น

ถามคำถามที่จะช่วยให้ผู้คนตรึกตรองสิ่งที่ท่านสอนไปแล้ว แล้วฟังเพื่อดูว่าพวกเขาเข้าใจและยอมรับหรือไม่

ส่วนหนึ่งของการสอนให้เข้าใจคืออธิบายคำ วลี และแนวคิด ท่านจะสามารถสอนพระกิตติคุณได้ดีขึ้นโดย:

  • เข้าใจคำที่ท่านใช้

  • นิยามคำที่คนอื่นอาจไม่เข้าใจ

  • ถามคำถามเช่น “คุณจะบอกเราได้ไหมว่าคุณเข้าใจสิ่งที่เราเพิ่งอธิบายว่าอย่างไร” หรือ “คุณยินดีสรุปสิ่งที่เราคุยกันไหม?”

ขณะสอนหลักคำสอนใน บทที่ 3 ให้สังเกตคำ วลี และแนวคิดที่ผู้คนอาจจะไม่เข้าใจ อธิบายความหมายโดยใช้แหล่งข้อมูลในคลังค้นคว้าพระกิตติคุณ เช่น คู่มือพระคัมภีร์ Bible Dictionary และ Gospel Topics

ทำให้การสอนของท่านเรียบง่ายและกระชับเสมอ เน้นสอนพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์โดยสร้างความเข้าใจในเรื่องหลักคำสอนและหลักธรรมพื้นฐาน ช่วยผู้คนแสวงหาความเข้าใจที่มาจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ เมื่อพวกเขาได้ความเข้าใจนี้ พวกเขาจะเชื่อข่าวสารของพระกิตติคุณ

การศึกษาพระคัมภีร์

ทำไมเราจึงควรอธิบายหลักคำสอนอย่างระมัดระวัง?

เราเรียนรู้อย่างไร? เหตุใดการสอนข้อมูลทีละนิดจึงสำคัญ?

เหตุใดความชัดเจนจึงสำคัญ?

ท่านจะเรียนรู้อะไรได้บ้างจากข้อต่อไปนี้เกี่ยวกับวิธีที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสื่อสารกับลูกๆ ของพระองค์?

ถามคำถาม

พระผู้ช่วยให้รอดทรงถามคำถามที่เชื้อเชิญให้ผู้คนคิดและรู้สึกอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับความจริงที่พระองค์ทรงสอน คำถามของพระองค์กระตุ้นให้ค้นหาจิตวิญญาณและการให้คำมั่นสัญญา

คำถามที่ดีสำคัญในการสอนของท่านเช่นกัน จะช่วยให้ท่านเข้าใจความสนใจ ความกังวล และคำถามของผู้คน คำถามที่ดีสามารถอัญเชิญพระวิญญาณและช่วยให้ผู้คนเรียนรู้

ถามคำถามที่ได้รับการดลใจ

จงแสวงหาการนำทางจากพระวิญญาณในการถามคำถามที่ดี คำถามที่ถูกต้องถูกเวลาสามารถช่วยให้ผู้คนเรียนรู้พระกิตติคุณและรู้สึกถึงพระวิญญาณ

คำถามที่ได้รับการดลใจและการฟังอย่างจริงใจจะช่วยให้ผู้คนสบายใจมากขึ้นกับการพูดคุยอย่างเปิดใจและบอกความรู้สึกของตน นี่จะช่วยให้พวกเขาค้นพบว่าประจักษ์พยานกำลังเติบโต พวกเขาจะสบายใจมากขึ้นด้วยกับการถามคำถามเมื่อไม่เข้าใจบางอย่างหรือมีข้อกังวล

ตารางต่อไปนี้แสดงหลักธรรมบางข้อของการถามคำถามที่ได้รับการดลใจ พร้อมตัวอย่าง

หลักธรรมและตัวอย่างคำถามที่ได้รับการดลใจ

หลักธรรม

ตัวอย่าง

ถามคำถามที่ช่วยให้ผู้คนรู้สึกถึงพระวิญญาณ

  • คุณจะเล่าประสบการณ์ตอนที่คุณรู้สึกถึงอิทธิพลของพระผู้เป็นเจ้าในชีวิตคุณได้ไหม?

  • คุณเคยรู้สึกถึงความรักที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมีต่อคุณอย่างไร?

ถามคำถามที่เรียบง่ายและเข้าใจง่าย

  • คุณได้เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์จากพระคัมภีร์ข้อนี้?

ถามคำถามที่ช่วยให้ผู้คนตรึกตรองสิ่งที่ท่านกำลังสอน

  • นี่คล้ายกับที่คุณเชื่ออยู่แล้วอย่างไร? ต่างกันอย่างไร?

ถามคำถามที่ช่วยให้ท่านรู้ว่าผู้คนเข้าใจสิ่งที่ท่านกำลังสอนดีเพียงใด

  • คุณมีคำถามอะไรบ้างเกี่ยวกับสิ่งที่เราสอนไปแล้ววันนี้?

  • คุณจะสรุปการสนทนาของเราวันนี้ว่าอย่างไร?

ถามคำถามที่ช่วยให้ผู้คนแบ่งปันความรู้สึก

  • พระเยซูคริสต์ได้ทรงช่วยคุณในชีวิตคุณอย่างไร?

  • อะไรสำคัญกับคุณมากที่สุดจากสิ่งที่เราพูดคุยกันวันนี้?

ถามคำถามที่แสดงความรักและความห่วงใย

  • เราจะช่วยคุณได้อย่างไร?

ถามคำถามที่ช่วยผู้คนประยุกต์ใช้สิ่งที่พวกเขาเรียนรู้

  • เราจะเรียนรู้อะไรได้บ้างจากพระคัมภีร์ข้อนี้?

  • พระคัมภีร์ข้อนี้จะช่วยคุณในชีวิตได้อย่างไร?

  • ตอนที่เราพูดคุยกัน คุณรู้สึกว่าต้องทำอะไรจากสิ่งที่เราได้เรียนรู้?

การศึกษากับคู่

ทบทวนแผนบทเรียนจากบทเรียนล่าสุดที่ท่านสอน เขียนหนึ่งคำถามสำหรับหลักธรรมสำคัญแต่ละข้อที่สรุปไว้ในแผนของท่าน

ทบทวนคำถามของท่านเพื่อดูว่าสอดคล้องกับหลักธรรมในหมวดนี้หรือไม่

ต่อจากนั้น ให้ถามคำถามแต่ละข้อเสมือนท่านเป็นคนเรียน

แบ่งปันคำถามของท่านกับคู่ ประเมินและปรับปรุงคำถามด้วยกัน

การศึกษาส่วนตัวหรือกับคู่

คนที่ท่านกำลังสอนอาจจะเจอประสบการณ์ต่อไปนี้:

  • พวกเขามีประสบการณ์ทางวิญญาณขณะอ่านพระคัมภีร์มอรมอน

  • ผู้ร่วมงานล้อเลียนเรื่องทางวิญญาณเป็นประจำ

  • สมาชิกครอบครัวเป็นสมาชิกที่เข้มแข็งของศาสนาอื่น

  • เพื่อนๆ เชื่อว่า “ชาวมอรมอน” ไม่ใช่ชาวคริสต์

คิดคำถามที่ท่านจะถามเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์แต่ละอย่างเหล่านี้ เขียนคำถามเหล่านี้ลงในสมุดบันทึกการศึกษาของท่าน สนทนากับคู่ว่าท่านจะปรับปรุงคำถามที่เขียนได้อย่างไร

หลีกเลี่ยงคำถามที่ไม่มีประสิทธิภาพหรือมากเกินความจำเป็น

พยายามอย่าถามคำถามที่:

  • มีคำตอบตายตัว

  • อาจจะทำให้บางคนขายหน้าถ้าเขาไม่รู้คำตอบ

  • มีมากกว่าหนึ่งแนวคิด

  • เกี่ยวข้องกับหลักคำสอนที่ยังไม่ได้สอน

  • ไม่มีจุดประสงค์ชัดเจน

  • มากเกินความจำเป็น

  • ละลาบละล้วงหรืออาจทำให้คนรำคาญและขุ่นเคืองใจ

ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างคำถามที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ:

  • ใครเป็นศาสดาพยากรณ์คนแรก? (คนนั้นอาจจะไม่รู้คำตอบ)

  • การรักษาร่างกายเราให้บริสุทธิ์จะช่วยให้เรามีพระวิญญาณและแสดงให้เห็นว่าเราเต็มใจทำตามศาสดาพยากรณ์ของพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร? (มีมากกว่าหนึ่งแนวคิด)

  • การรู้เกี่ยวกับพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าสำคัญไหม? (นี่เป็นคำถามถูกผิด และคำตอบตายตัว)

  • เราจะทำอะไรได้ทุกวันที่จะช่วยให้เรารู้สึกใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้า? (นี่เป็นคำถามกำกวม ขณะมองหาคำตอบที่เฉพาะเจาะจง: สวดอ้อนวอน)

  • ใครเป็นศาสดาพยากรณ์ถัดจากโนอาห์? (คนนั้นอาจจะไม่รู้คำตอบ และคำถามไม่สำคัญสำหรับข่าวสารของท่าน)

  • คุณเข้าใจที่ฉันพูดไหม? (คนนั้นอาจจะรู้สึกเหมือนคุณดูถูกเขา)

การศึกษาส่วนตัวหรือกับคู่

พิจารณาความต้องการของคนที่ท่านสอน สนทนาว่าเขาอาจจะตอบคำถามของท่านอย่างไร วางแผนถามคำถามบางข้อตามแนวทางในหมวดนี้ สนทนาว่าคำถามเหล่านี้จะอัญเชิญพระวิญญาณ และช่วยให้คนนั้นเรียนรู้พระกิตติคุณอย่างไร

ฟัง

เมื่อท่านตั้งใจฟังผู้อื่น ท่านย่อมเข้าใจพวกเขาดีขึ้น เมื่อพวกเขารู้ว่าความคิดและความรู้สึกของพวกเขาสำคัญต่อท่าน พวกเขามีแนวโน้มจะเปิดใจรับคำสอนของท่าน แบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัว และให้คำมั่นสัญญา

เมื่อท่านฟัง ท่านจะได้ข้อคิดเกี่ยวกับวิธีปรับการสอนของท่านตามความต้องการและความสนใจของพวกเขา ท่านจะเข้าใจดีขึ้นว่าความจริงพระกิตติคุณข้อใดจะเป็นประโยชน์ต่อพวกเขามากที่สุด

ฟังสุรเสียงกระซิบของพระวิญญาณเป็นพิเศษ เมื่อผู้อื่นแบ่งปันความรู้สึก พระวิญญาณบริสุทธิ์อาจทรงกระตุ้นเตือนท่านด้วยความคิดหรือแนวคิด พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านเข้าใจสิ่งที่ผู้อื่นพยายามพูดออกมา

ภาพ
ผู้สอนศาสนาคุยกับครอบครัว

ฟังด้วยความใส่ใจจริงๆ

การฟังต้องใช้ความพยายามและความใส่ใจจริงๆ ขณะที่คนอื่นพูด ท่านต้องจดจ่อกับสิ่งที่พวกเขาพูด ต้องไม่คิดวางแผนว่าจะพูดอะไร

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์สอนว่า: “สำคัญกว่าการพูดคือการฟัง คนเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งไม่มีชีวิตที่พรางตัวเป็นสถิติบัพติศมา … ถามเพื่อนเหล่านี้ว่าอะไรสำคัญต่อ พวกเขา มากที่สุด พวกเขา หวงแหนอะไร พวกเขา รักและชื่นชอบอะไร? แล้วฟัง ถ้าสภาวะแวดล้อมเหมาะสมท่านอาจจะถามว่าพวกเขากลัวอะไร พวกเขาอยากได้อะไร หรือพวกเขารู้สึกว่าอะไรขาดหายไปในชีวิต ข้าพเจ้าสัญญาว่า บางสิ่ง ที่พวกเขาพูดจะทำให้ความจริงของพระกิตติคุณเด่นชัด เสมอ เกี่ยวกับสิ่งที่ท่านสามารถแสดงประจักษ์พยานและเกี่ยวกับสิ่งที่ท่านสามารถให้ได้มากขึ้น … หากเราฟังด้วยความรัก เราจะไม่สงสัยว่าต้องพูดอะไร เราจะรู้—โดยพระวิญญาณและโดยเพื่อนของเรา” (“Witnesses unto Me,” Ensign, May 2001, 15)

สังเกตข่าวสารที่ไม่ได้พูดออกมา

ผู้คนสื่อสารผ่านภาษากายด้วย สังเกตท่านั่ง สีหน้าของพวกเขา พวกเขาทำอะไรกับมือ น้ำเสียง และพวกเขามองไปทางไหน การสังเกตข่าวสารที่ไม่ได้พูดออกมาเหล่านี้จะช่วยให้ท่านเข้าใจความรู้สึกของคนที่ท่านสอน

ระวังภาษากายของท่านเองด้วย ส่งสารของความสนใจและความกระตือรือร้นโดยฟังอย่างจริงใจ

ให้เวลาผู้คนคิดและตอบ

พระผู้ช่วยให้รอดมักจะทรงถามคำถามที่ต้องมีเวลาให้ตอบ เมื่อท่านถามคำถาม จงหยุดครู่หนึ่งเพื่อให้โอกาสคิดและตอบ อย่ากลัวความเงียบ บ่อยครั้งผู้คนต้องมีเวลาตรึกตรองและตอบคำถามหรือแสดงความรู้สึก

ท่านอาจจะหยุดครู่หนึ่งหลังจากถามคำถาม หลังจากเล่าประสบการณ์ทางวิญญาณ หรือเมื่อคนแสดงความคิดหรือความรู้สึกออกมาได้ยาก จงให้เวลาพวกเขาคิดให้จบก่อนตอบ อย่าขัดจังหวะขณะพวกเขาพูด

ตอบสนองด้วยความเข้าอกเข้าใจ

เมื่อคนนั้นตอบคำถาม ให้เริ่มตอบสนองโดยแสดงความเข้าอกเข้าใจหากเหมาะสม ความเข้าอกเข้าใจแสดงให้เห็นว่าท่านใส่ใจจริงๆ ไม่ด่วนสรุป ไม่เสนอทางออกทันที หรือทำทีเหมือนมีคำตอบทั้งหมด

ยืนยันว่าท่านเข้าใจสิ่งที่ผู้คนพูด

เมื่อพยายามเข้าใจสิ่งที่คนหนึ่งพูด ให้ถามเพื่อแน่ใจว่าท่านเข้าใจ ตัวอย่างเช่น ท่านอาจจะถามว่า “คุณพูดว่า ใช่ไหม?” หรือ “ถ้าฉันเข้าใจถูกต้อง คุณรู้สึกว่า “ เมื่อท่านไม่แน่ใจว่าตนเข้าใจหรือไม่ จงขอให้คนนั้นชี้แจง

หาทางจัดการกับปฏิสัมพันธ์ที่ท้าทาย

ท่านจะช่วยผู้คนได้มากที่สุดโดยสอนพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ให้กับพวกเขา บางคนอาจต้องการพูดเป็นส่วนใหญ่ บางครั้งแค่ต้องการให้ใครสักคนฟังความลำบากและความรู้สึกของพวกเขาอย่างเห็นอกเห็นใจ คนอื่นอาจพยายามครอบงำหรือโต้เถียง

ฝึกจัดการสถานการณ์ดังกล่าวอย่างมีไหวพริบและด้วยความรัก ท่านอาจจะปรับการสอนให้ตรงกับสิ่งที่คนนั้นแบ่งปัน หรืออาจจะต้องพูดอย่างสุภาพว่าไว้ค่อยหารือเรื่องนี้ภายหลัง พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านรู้วิธีตอบสนองในสถานการณ์ท้าทาย

ช่วยให้ผู้คนรู้สึกสบายใจกับการบอกความรู้สึกจริงๆ

เพื่อหลีกเลี่ยงความขายหน้าบางคนจึงตอบคำถามแบบที่คิดว่าท่านต้องการให้ตอบแทนที่จะบอกความรู้สึกจริงๆ ของพวกเขา จงพยายามพัฒนาความสัมพันธ์ที่ทำให้พวกเขาสบายใจกับการบอกความรู้สึกจริงๆ ของตน

การเข้าใจและการเชื่อมสัมพันธ์กับผู้คนจะทำให้ท่านได้ช่วยเหลือพวกเขา ตอบสนองความต้องการและความสนใจของพวกเขา และแสดงความรักของพระผู้ช่วยให้รอดต่อพวกเขา สร้างความสัมพันธ์ของความไว้วางใจโดยซื่อสัตย์กับพวกเขา รักษาความสัมพันธ์ที่เหมาะกับผู้สอนศาสนา และแสดงความเคารพ

การศึกษาส่วนตัวหรือกับคู่

ใคร่ครวญว่าท่านฟังผู้อื่นดีเพียงใด เขียนคำตอบของคำถามด้านล่างลงในสมุดบันทึกการศึกษา หรือสนทนากับคู่ของท่าน

ก = ไม่จริงเลย ข = จริงบางครั้ง ค = มักจะจริง ง = จริงเสมอ

  • เวลาคนอื่นพูดกับฉัน ฉันจะนึกถึงประสบการณ์คล้ายๆ กันที่ฉันสามารถแบ่งปันได้แทนที่จะตั้งใจฟัง

  • เวลาคนอื่นบอกความรู้สึกของพวกเขา ฉันพยายามเอาใจเขามาใส่ใจฉันเพื่อดูว่าฉันจะรู้สึกอย่างไร

  • เวลาฉันสอนคนอื่น ฉันคิดว่าจะพูดหรือสอนอะไรต่อ

  • ฉันหงุดหงิดเมื่อคนนั้นพูดมาก

  • ฉันไม่อยากทำตามหรือไม่เข้าใจสิ่งที่คนอื่นพยายามบอกฉัน

  • ฉันมักจะใจลอยขณะคู่สอน

  • ฉันอารมณ์เสียถ้ามีคนพูดกับฉันและคนอื่นตัดบทหรือทำให้ฉันว่อกแว่ก

  • ฉันได้รับการกระตุ้นเตือนทางวิญญาณให้พูดหรือทำบางอย่าง แต่ฉันไม่สนใจ

ช่วยผู้คนหาคำตอบให้กับคำถามและข้อกังวลของพวกเขา

พยายามตั้งใจตอบคำถามและช่วยพวกเขาไขข้อกังวลของตน แต่ท่านไม่มีหน้าที่ตอบคำถามทุกข้อ สุดท้ายแล้วพวกเขาต้องไขคำตอบและข้อกังวลด้วยตนเอง

ตระหนักว่าท่านไม่สามารถตอบคำถามและข้อกังวลได้ทั้งหมด บางคำตอบจะชัดเจนขึ้นตามกาลเวลา หลายคำตอบยังไม่เปิดเผย จดจ่อกับการสร้างรากฐานอันมั่นคงของความจริงพื้นฐานที่จำเป็นของพระกิตติคุณ รากฐานนี้จะช่วยให้ท่านและคนที่ท่านสอนมุ่งหน้าด้วยความอดทนและศรัทธาเมื่อมีคำถามที่ตอบยากหรือไม่ได้ตอบ

หลักธรรมบางข้อสำหรับการตอบคำถามสรุปไว้ในหมวดนี้

ภาพ
พระเยซูกับหญิงชาวสะมาเรียที่บ่อน้ำ

เข้าใจข้อกังวล

บางอย่างที่ท่านสอนอาจเข้าใจยากหรือพวกเขาไม่คุ้นชิน ถ้าผู้คนมีคำถามหรือข้อกังวล จงพยายามเข้าใจพวกเขาให้ชัดเจนก่อน บางครั้งข้อกังวลของพวกเขาเหมือนภูเขาน้ำแข็ง คือมองเห็นส่วนที่โผล่พ้นน้ำนิดเดียวเท่านั้น ข้อกังวลเหล่านี้อาจซับซ้อน จงสวดอ้อนวอนขอของประทานแห่งการเล็งเห็น และทำตามพระวิญญาณในการตอบสนอง พระบิดาบนสวรรค์ทรงรู้จักใจและประสบการณ์ของทุกคน (ภูเขาน้ำแข็งทั้งลูก) พระองค์จะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าอะไรดีที่สุดสำหรับแต่ละคน

บ่อยครั้งเป็นข้อกังวลทางสังคมมากกว่าหลักคำสอน ตัวอย่างเช่น บางคนอาจจะกลัวการต่อต้านจากสมาชิกครอบครัวถ้าพวกเขาเข้าร่วมศาสนจักร หรือพวกเขาอาจจะกลัวเพื่อนที่ทำงานไม่ยอมรับ

จงพยายามเข้าใจเหตุของความกังวลโดยถามคำถามและฟัง เกิดความกังวลเพราะคนนั้นไม่มีการยืนยันทางวิญญาณถึงความจริงของการฟื้นฟูหรือไม่? เกิดความกังวลเพราะคนนั้นไม่ต้องการให้คำมั่นว่าจะดำเนินชีวิตตามหลักธรรมพระกิตติคุณหรือไม่? การรู้ต้นตอของความกังวลจะช่วยให้ท่านรู้ว่าจะจดจ่อกับประจักษ์พยานหรือคำมั่นสัญญา

ใช้พระคัมภีร์ช่วยตอบคำถาม โดยเฉพาะพระคัมภีร์มอรมอน

แสดงให้ผู้คนเห็นว่าความจริงในพระคัมภีร์จะช่วยตอบคำถามและแก้ไขข้อกังวลของพวกเขาได้อย่างไร (ดู “พระคัมภีร์มอรมอนตอบคำถามเรื่องจิตวิญญาณ” ในบทที่ 5) เมื่อผู้คนแสวงหาการดลใจโดยศึกษาและประยุกต์ใช้พระคัมภีร์ พวกเขาจะสามารถได้ยินและทำตามพระเจ้าได้มากขึ้น ศรัทธาในพระองค์จะเพิ่มพูน ประจักษ์พยาน การกลับใจ และศาสนพิธีบัพติศมาจะมาพร้อมศรัทธาที่เพิ่มขึ้น

ภาพ
ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์

“บางครั้งข้าพเจ้าอ่านพระคัมภีร์เพื่อหาหลักคำสอน บางครั้งข้าพเจ้าอ่านพระคัมภีร์เพื่อหาคำแนะนำ ข้าพเจ้าอ่านพร้อมคำถาม และคำถามส่วนใหญ่คือ ‘พระผู้เป็นเจ้าทรงประสงค์ให้ข้าพเจ้าทำอะไร?’ หรือ ‘พระองค์ทรงประสงค์ให้ข้าพเจ้ารู้สึกอย่างไร?’ ข้าพเจ้าพบแนวคิดใหม่ๆ อยู่เสมอ เป็นความคิดที่ไม่เคยมีมาก่อน ข้าพเจ้าได้รับการดลใจ คำแนะนำ และคำตอบให้กับคำถามของข้าพเจ้า” (เฮนรีย์ บี. อายริงก์ใน “การอภิปรายเกี่ยวกับการศึกษาพระคัมภีร์,” เลียโฮนา, ก.ค. 2005, 8)

อาจช่วยได้ถ้าอธิบายว่าความเข้าใจส่วนใหญ่ของเราในเรื่องพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์มาจากสิ่งที่เคยเปิดเผยต่อศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธและคนที่สืบทอดต่อจากท่าน การมีประจักษ์พยานว่าโจเซฟ สมิธเป็นศาสดาพยากรณ์ของพระผู้เป็นเจ้าจะไขข้อสงสัยเกี่ยวกับความจริงของพระคัมภีร์มอรมอน การอ่านและการสวดอ้อนวอนเกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอนเป็นวิธีที่สำคัญยิ่งในการได้ประจักษ์พยานนี้

ช่วยให้ผู้คนจดจ่อกับการเพิ่มพลังศรัทธาของพวกเขาในพระเยซูคริสต์ การอ่านและการสวดอ้อนวอนเกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอนเป็นวิธีที่สำคัญในการเพิ่มพลังศรัทธาของพวกเขา

เชื้อเชิญให้พวกเขาปฏิบัติด้วยศรัทธา

เมื่อผู้คนพัฒนาและเสริมสร้างประจักษ์พยานของตนในพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู พวกเขาจะสามารถตอบคำถามและแก้ไขข้อกังวลของตนจากรากฐานของศรัทธานั้น เมื่อพวกเขาปฏิบัติตามความจริงที่ตนเชื่อด้วยศรัทธา พวกเขาจะสามารถมีประจักษ์พยานถึงความจริงพระกิตติคุณเรื่องอื่น

วิธีปฏิบัติด้วยศรัทธา ได้แก่:

  • สวดอ้อนวอนบ่อยๆ และด้วยเจตนาแท้จริงเพื่อขอการดลใจและการนำทาง

  • ศึกษาพระคัมภีร์ โดยเฉพาะพระคัมภีร์มอรมอน

  • ไปโบสถ์

การศึกษากับคู่

เลือกหนึ่งคำเชื้อเชิญเมื่อท่านสอนบทเรียน จากนั้นให้ระบุข้อกังวลที่อาจจะทำให้บางคนไม่ยอมรับคำเชื้อเชิญหรือไม่รักษาคำมั่นสัญญา สนทนาและฝึกวิธีที่ท่านจะช่วยให้ผู้คนหาทางไขข้อกังวลของตน

การศึกษาส่วนตัวหรือกับคู่

ในสมุดบันทึกการศึกษาของท่านให้เขียนว่าท่านจะพูดถึงโจเซฟ สมิธและพระคัมภีร์มอรมอนอย่างไรเพื่อตอบข้อกังวลต่อไปนี้:

  • “ฉันไม่เชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าตรัสกับผู้คนอีก”

  • “ฉันเชื่อว่าฉันสามารถนมัสการพระผู้เป็นเจ้าได้ในวิธีของฉันเองไม่ต้องผ่านศาสนาที่จัดตั้งขึ้น”

  • “ทำไมฉันต้องเลิกดื่มไวน์พร้อมอาหารถ้าฉันเข้าร่วมศาสนจักรของคุณ?”

  • “ทำไมฉันต้องมีศาสนา?”

ฝากบางอย่างให้ศึกษาและสวดอ้อนวอน

เมื่อจบการเยี่ยมสอนแต่ละครั้ง ท่านจะให้ผู้คนศึกษา ไตร่ตรอง และสวดอ้อนวอนเกี่ยวกับบางอย่างก่อนพบกันครั้งหน้า การอ่าน สวดอ้อนวอน และไตร่ตรองในช่วงระหว่างการเยี่ยมสอนครั้งนี้กับครั้งหน้าจะอัญเชิญอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์เข้ามาในชีวิตพวกเขา

ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้พวกเขาอ่านบางบทในพระคัมภีร์มอรมอน หรือท่านอาจจะกระตุ้นพวกเขาให้ใช้แหล่งข้อมูลศาสนจักร เช่น คลังค้นคว้าพระกิตติคุณ หาคำตอบให้กับคำถามต่างๆ เรียนรู้หัวข้อหนึ่ง หรือดูวีดิทัศน์ นี่สามารถเป็นหัวข้อเปิดการสนทนาครั้งต่อไปเมื่อท่านพบกัน

ภาพ
คนศึกษาพระคัมภีร์

ไม่ให้ผู้คนทำมากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าท่านมีปฏิสัมพันธ์การสอนสั้นๆ บ่อยๆ กับพวกเขา

การศึกษาส่วนตัวหรือกับคู่

พิจารณาแต่ละคนที่ท่านนัดสอนสัปดาห์นี้ บทใดในพระคัมภีร์มอรมอนจะเป็นประโยชน์ต่อพวกเขามากที่สุด? แหล่งข้อมูลใดจะเป็นประโยชน์ต่อพวกเขาอีกบ้าง? บันทึกสิ่งที่ท่านตั้งใจจะให้แต่ละคน บันทึกสิ่งที่ท่านจะทำเพื่อติดตามผลระหว่างการเยี่ยมครั้งหน้าด้วย

การช่วยคนที่เสพติด

ท่านจะช่วยคนที่มีปัญหากับการเอาชนะการเสพติดได้โดยสนทนาปัญหาของพวกเขาด้วยความรัก สนับสนุนพวกเขา และเชื่อมต่อพวกเขากับแหล่งช่วย ท่านอาจกระตุ้นพวกเขาให้เข้ากลุ่มช่วยบำบัดการเสพติดของศาสนจักร กลุ่มเหล่านี้อาจพบกันแบบเจอตัวหรือทางออนไลน์ (ดู AddictionRecovery.ChurchofJesusChrist.org) กระตุ้นพวกเขาให้ใช้แหล่งช่วยในหมวด “Addiction” ของความช่วยเหลือในชีวิตในคลังค้นคว้าพระกิตติคุณ

ผู้นำศาสนจักรระดับท้องที่และสมาชิกสามารถให้การสนับสนุนช่วยเหลือได้เช่นกัน คนเสพติดบางคนอาจต้องได้รับการบำบัดสุขภาพจิตจากแพทย์เฉพาะทาง

ต่อไปนี้เป็นข้อเสนอแนะบางประการสำหรับการช่วยเหลือคนที่พยายามเอาชนะการเสพติด:

  • เสริมความพยายามมาหาพระคริสต์ของพวกเขา ช่วยให้พวกเขาเห็นว่าพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ทรงรับรู้และเห็นค่าการพยายามบำบัดรักษาของพวกเขา สอนพวกเขาว่าพระผู้ช่วยให้รอดและการชดใช้ของพระองค์สามารถเพิ่มพลังให้พวกเขาได้ พระองค์ทรงทราบดีว่าพวกเขาตั้งใจจะทำดี

  • สวดอ้อนวอนให้พวกเขาในการสวดอ้อนวอนส่วนตัวของท่าน และสวดอ้อนวอนกับพวกเขา เมื่อเหมาะสมท่านจะกระตุ้นพวกเขาให้ขอพรฐานะปุโรหิตจากผู้นำฐานะปุโรหิตระดับท้องที่

  • สอนพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ให้กับพวกเขาต่อไป สอนพวกเขาว่าพระบิดาบนสวรรค์ พระผู้ช่วยให้รอด และพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงรักพวกเขาและทรงต้องการให้พวกเขาประสบความสำเร็จ

  • กระตุ้นพวกเขาให้มาโบสถ์เป็นประจำและพัฒนามิตรภาพกับสมาชิก

  • คิดบวกและให้กำลังใจ โดยเฉพาะหากพวกเขากลับมาเสพเหมือนเดิม

ภาพ
พระเยซูทรงยื่นพระหัตถ์ให้หญิงคนหนึ่ง

การเสพติดเอาชนะได้ยาก และการกลับมาเสพอีกสามารถเกิดขึ้นได้ ผู้นำศาสนจักรและสมาชิกไม่ควรตกใจกับเรื่องนี้ พวกเขาควรแสดงความรัก ไม่ใช่ตัดสิน

สมาชิกใหม่ที่เลิกมาโบสถ์อาจกลับไปเสพเหมือนเดิม และอาจรู้สึกไร้ค่าและท้อแท้ การไปเยี่ยมทันทีเพื่อให้กำลังใจและช่วยเหลือจะช่วยได้ สมาชิกควรแสดงให้เห็นด้วยคำพูดและการกระทำว่าศาสนจักรเป็นที่ที่ทุกคนจะพบความรักของพระคริสต์ (ดู 3 นีไฟ 18:32)

การศึกษาส่วนตัวหรือกับคู่

นึกถึงคนที่ท่านสอนหรือสมาชิกใหม่หรือสมาชิกที่กลับมาผู้กำลังพยายามเอาชนะการเสพติด ทบทวน “ศรัทธาในพระเยซูคริสต์” และ “การกลับใจ” จากบทเรียน “พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์” ในบทที่ 3

  • ท่านจะสอนอะไรคนนี้จากบทเรียนนั้นและจากบทนี้ที่จะช่วยเขา?

  • สร้างแผนบทเรียนเพื่อช่วยคนนี้

การสอนคนที่ไม่มีพื้นเพทางศาสนาคริสต์

บางคนที่ท่านสอนอาจไม่มีพื้นเพทางศาสนาคริสต์หรืออาจไม่เชื่อในพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ แต่หลายคนมีความเชื่อ แนวทางปฏิบัติ และสถานที่ที่พวกเขาถือว่าศักดิ์สิทธิ์ ท่านจำเป็นต้องเคารพความเชื่อและประเพณีทางศาสนาของพวกเขา

ช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นใคร

ท่านอาจสงสัยว่าควรปรับการสอนให้เหมาะกับคนที่ไม่มีพื้นเพทางศาสนาคริสต์อย่างไร หลักธรรมที่ช่วยคนๆ หนึ่งสร้างศรัทธาจะเหมือนกันในทุกวัฒนธรรม จงช่วยให้พวกเขามีความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องพระผู้เป็นเจ้าและพระพันธกิจของพระเยซูคริสต์ วิธีดีที่สุดที่จะให้พวกเขาเรียนรู้ความจริงเหล่านี้คือให้มีประสบการณ์ส่วนตัวทางวิญญาณ บางวิธีที่ท่านจะช่วยให้พวกเขามีประสบการณ์เหล่านี้สรุปได้ดังนี้:

  • สอนว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นพระบิดาบนสวรรค์ของเรา และทรงรักเรา เราเป็นลูกๆ ของพระองค์ เชื้อเชิญให้พวกเขาแสวงหาพยานนั้นด้วยตนเอง

  • สอนเรื่องแผนแห่งความรอด

  • สอนว่าพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาและพระเยซูคริสต์ทรงปรากฏต่อศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ

  • แสดงประจักษ์พยานที่จริงใจถึงพระกิตติคุณ และบอกด้วยว่าท่านรู้สึกถึงความรักของพระบิดาบนสวรรค์อย่างไร และเหตุใดจึงเลือกติดตามพระเยซูคริสต์

  • เชื้อเชิญให้พวกเขากล่าวคำสวดอ้อนวอนที่เรียบง่ายจากใจ—กับท่านและตามลำพัง

  • เชื้อเชิญให้พวกเขาอ่านพระคัมภีร์มอรมอนทุกวัน—กับท่านและตามลำพัง

  • เชื้อเชิญให้พวกเขามาโบสถ์

  • แนะนำพวกเขาให้รู้จักกับสมาชิกของศาสนจักรผู้สามารถอธิบายได้ว่าตนเชื่อในพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร

  • เชื้อเชิญให้พวกเขารักษาพระบัญญัติ

คนส่วนใหญ่ปรารถนาจะมีความสัมพันธ์กับพระผู้เป็นเจ้าดีขึ้น พบจุดประสงค์และความหมายในชีวิต ช่วยให้พวกเขาเห็นว่าพวกเขาเป็นลูกของพระบิดาที่รักในสวรรค์อย่างไรและพระองค์ทรงมีแผนสำหรับพวกเขาอย่างไร ตัวอย่างเช่น ท่านอาจจะเริ่มโดยพูดทำนองนี้:

พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นพระบิดาของเราในสวรรค์และทรงรักเรา เราเป็นลูกๆ ของพระองค์ เราอยู่กับพระผู้เป็นเจ้าก่อนเราเกิด เพราะเราทุกคนเป็นลูกของพระผู้เป็นเจ้า เราทุกคนจึงเป็นพี่น้องกัน พระองค์ทรงปรารถนาให้เรากลับไปหาพระองค์ เพราะทรงรักเรา พระองค์จึงทรงเตรียมทางให้เราแต่ละคนกลับไปหาพระองค์ผ่านพระบุตรของพระองค์พระเยซูคริสต์

ปรับการสอนของท่านเมื่อจำเป็น

ผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสหลายคนที่ไม่มีพื้นเพทางศาสนาคริสต์พูดว่าพวกเขาไม่ค่อยเข้าใจสิ่งที่ผู้สอนศาสนาสอน แต่พวกเขารู้สึกถึงพระวิญญาณและต้องการทำสิ่งที่ผู้สอนศาสนาขอ จงทำสุดความสามารถเพื่อช่วยให้ผู้คนเข้าใจหลักคำสอนของพระกิตติคุณ จงอดทนและให้การสนับสนุน ผู้คนอาจต้องใช้เวลาเรียนรู้เพื่อพิสูจน์และแสดงความรู้สึกของตน ท่านอาจต้องปรับจำนวนและความลึกซึ้งของการสอนเพื่อช่วยเหลือพวกเขา

ข้อเสนอแนะต่อไปนี้อาจช่วยได้เมื่อท่านเตรียมสอนคนที่ไม่มีพื้นเพทางศาสนาคริสต์:

  • เข้าใจว่าความต้องการทางวิญญาณหรือความสนใจอะไรกระตุ้นพวกเขาให้อยากพบกับท่าน

  • ให้ภาพรวมง่ายๆ และทบทวนบทเรียนแต่ละบท

  • ขอให้พวกเขาบอกท่านว่าพวกเขาเข้าใจอะไรและประสบอะไรมาบ้าง

  • นิยามคำหรือหลักธรรมสำคัญๆ ผู้คนอาจไม่คุ้นชินกับคำหลายคำที่ท่านใช้สอน

  • กลับไปบทเรียนที่เคยสอนเพื่อสอนหลักธรรมให้ชัดเจนขึ้น อาจจำเป็นต้องทำแบบนี้ในระหว่างสอน

  • ระบุคำเชื้อเชิญที่ท่านจะให้เพื่อช่วยให้ผู้คนประสบพรของพระกิตติคุณ

ต่อไปนี้เป็นแหล่งข้อมูลบางอย่างในคลังค้นคว้าพระกิตติคุณที่ท่านอาจจะใช้ช่วยคนที่ไม่มีพื้นเพทางศาสนาคริสต์:

  • พระผู้เป็นเจ้าเป็นใคร?

  • พระเยซูคริสต์เป็นใคร?

  • พระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า

  • จะคาดหวังอะไรเมื่อพูดคุยกับผู้สอนศาสนาของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย

  • มุสลิมกับวิสุทธิชนยุคสุดท้าย: ความเชื่อ ค่านิยม และวิถีชีวิต

การศึกษาส่วนตัวหรือกับคู่

ถ้าทำได้ให้ระบุชื่อผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสคนหนึ่งที่ไม่มีพื้นเพทางศาสนาคริสต์ก่อนพบกับผู้สอนศาสนา นัดพบและถามเรื่องประสบการณ์การเปลี่ยนใจเลื่อมใสของเขา ตัวอย่างเช่น ท่านอาจจะถามคนนั้นว่า:

  • อะไรนำเขาให้เชื่อในพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์

  • ประสบการณ์ของการสวดอ้อนวอนครั้งแรกเป็นอย่างไร

  • เป็นอย่างไรเมื่อเขารู้สึกครั้งแรกว่านั่นคือคำตอบการสวดอ้อนวอน

  • บทบาทของพระคัมภีร์ในการเปลี่ยนใจเลื่อมใสของเขา

  • การมาโบสถ์เป็นอย่างไร

เขียนสิ่งที่ท่านเรียนรู้ลงในสมุดบันทึกการศึกษา

ท่านอาจจะเชิญคนนั้นให้ช่วยท่านสอนคนที่ไม่มีพื้นเพทางศาสนาคริสต์


แนวคิดสำหรับการศึกษาและการประยุกต์ใช้

การศึกษาส่วนตัว

  • สมมติว่าท่านอยู่ในสถานการณ์ต่อไปนี้ ท่านจะใช้หลักธรรมและทักษะในบทนี้ช่วยให้คนเหล่านี้ก้าวหน้าได้อย่างไร? วางแผนว่าท่านจะประยุกต์ใช้ในแต่ละสถานการณ์

    • คนที่เตรียมรับบัพติศมามาตลอดบอกท่านว่าเขาไม่อยากพบกับท่านอีก

    • ท่านจะพบเป็นครั้งที่เจ็ดกับคนที่เคยเรียนกับผู้สอนศาสนาหลายคนตลอดช่วงเวลาสองปี มีสัญญาณความก้าวหน้าน้อยมาก

  • เลือกบทเรียนผู้สอนศาสนาหนึ่งบท ระบุพระคัมภีร์หนึ่งหรือสองข้อจากหลักธรรมหลักๆ แต่ละข้อ ฝึกสอนจากข้อเหล่านั้นตามที่สรุปไว้ในหมวด “ใช้พระคัมภีร์” ของบทนี้

การศึกษากับคู่และการสลับคู่

  • อ่านเรื่องราวของแอมันกับกษัตริย์ลาโมไนใน แอลมา18–19 และเรื่องราวของแอรันใน แอลมา 22:4–18) ขณะอ่าน ให้ระบุและอธิบายว่าแอมันกับแอรันทำสิ่งต่อไปนี้อย่างไร:

    • ทำตามพระวิญญาณและสอนด้วยความรัก

    • เริ่มสอน

    • ปรับการสอนให้ตรงกับความต้องการ

    • แสดงประจักษ์พยาน

    • ใช้พระคัมภีร์

    • ถามคำถาม ฟัง และช่วยคนที่พวกเขาสอนไขข้อกังวลของตน

    • กระตุ้นคนที่พวกเขาสอนให้ทำคำมั่นสัญญา

    สนทนาว่าการรับใช้และการสอนของพวกเขาส่งผลกระทบต่อกษัตริย์ลาโมไน บิดาของกษัตริย์ และเอบิชอย่างไร

สภาดิสตริกท์ การประชุมโซน และสภาผู้นำคณะเผยแผ่

  • เชิญสมาชิกหรือคนที่ท่านสอนอยู่ปัจจุบันมาการประชุมของท่าน อธิบายให้คนกลุ่มนั้นฟังว่าท่านต้องการให้ผู้สอนศาสนาปรับปรุงความสามารถในการแบ่งปันข่าวสารสำคัญของพวกเขา เลือกหนึ่งบทเรียนและหนึ่งทักษะ ให้ผู้สอนศาสนาสอนบทเรียนที่ท่านเลือกไว้ให้กับคนนั้นหรือคนกลุ่มนั้นเป็นเวลา 20 นาทีโดยเน้นทักษะที่ท่านระบุไว้ 20 หลังจากนั้นให้พวกเขาสลับกันสอน หลังจากผู้สอนศาสนาสอนจบแล้ว ให้กลุ่มมารวมกัน ให้คนนั้นหรือคนกลุ่มนั้นบอกผู้สอนศาสนาว่าอะไรมีประสิทธิภาพมากที่สุดและบอกหนึ่งวิธีที่พวกเขาจะปรับปรุงได้

  • ฉายวีดิทัศน์ตัวอย่างการสอนหรือการติดต่อคนของผู้สอนศาสนา เลือกหนึ่งทักษะและสนทนาว่าผู้สอนศาสนาได้ประยุกต์ใช้หลักธรรมสำหรับทักษะนั้นดีเพียงใด

  • เลือกหนึ่งทักษะ และระบุหลักคำสอนหรือข้อพระคัมภีร์ที่สนับสนุนทักษะนั้น สอนพื้นฐานหลักคำสอนของทักษะนั้นให้กับผู้สอนศาสนา

ผู้นำคณะเผยแผ่และที่ปรึกษาคณะเผยแผ่

  • ไปกับผู้สอนศาสนาเป็นครั้งคราวเมื่อพวกเขาสอน วางแผนว่าท่านจะมีส่วนร่วมในการสอนได้อย่างไร

  • กระตุ้นผู้นำระดับท้องที่ให้มีส่วนร่วมกับผู้สอนศาสนาในการไปเยี่ยมสอน

  • สาธิตและช่วยผู้สอนศาสนาฝึกทักษะการสอนที่อธิบายไว้ในบทนี้หนึ่งทักษะ เช่น การถามคำถามที่ดีและการฟัง

  • สาธิตการใช้พระคัมภีร์อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อสอนผู้สอนศาสนาในการประชุมโซน สภาผู้นำคณะเผยแผ่ และการสัมภาษณ์ ทำแบบเดียวกันเมื่อท่านสอนกับพวกเขา

  • ช่วยให้ผู้สอนศาสนาเข้าใจพระคัมภีร์และรักพระคัมภีร์มากขึ้น เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แนะนำผู้นำคณะเผยแผ่ว่า:

    “จงทำให้ความรักต่อพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าเป็นหัวใจของวัฒนธรรมคณะเผยแผ่ของท่าน … จงทำความคุ้นเคยกับการเปิดเผยและการใช้งานมาตรฐานเป็นประจำเป็นลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของผู้สอนศาสนาของท่านตลอดชีวิตที่เหลือ

    “เมื่อท่านสอนผู้สอนศาสนาของท่าน—และนั่นคือสอนตลอดเวลา—จงสอนพวกเขาจากพระคัมภีร์ ให้พวกเขาเห็นว่าท่านได้ความเข้มแข็งและการดลใจจากที่ใด สอนพวกเขาให้รักและพึ่งพาการเปิดเผยที่สั่งสมไว้เหล่านั้น

    “ประธานคณะเผยแผ่ [ของข้าพเจ้า] สอนจากพระคัมภีร์มอรมอนและพระคัมภีร์ [เล่มอื่น] ทุกครั้งที่เราอยู่ต่อหน้าเขา หรือเหมือนอยู่ต่อหน้าเขา การสัมภาษณ์ส่วนตัวเต็มไปด้วยพระคัมภีร์ โครงร่าง … การประชุมถูกดึงมาจากงานมาตรฐาน …

    “ตอนนั้นเราไม่รู้ว่าประธานของเรากำลังติดอาวุธบนมือขวาและบนมือซ้ายให้เรา โดยแนะนำเราด้วยสุดพลังของจิตวิญญาณและสุดความสามารถที่เขาครอบครองให้เรายึดราวเหล็กไว้ให้มั่นเพื่อเราจะไม่พินาศ [ดู 1 นีไฟ 15:23–25]” (“พลังของพระคัมภีร์” การสัมมนาสำหรับผู้นำคณะเผยแผ่คนใหม่ 25 มิ.ย. 2022)

พิมพ์