การเรียกในคณะเผยแผ่
บทที่ 2: ค้นคว้าพระคัมภีร์และสวมยุทธภัณฑ์ของพระผู้เป็นเจ้า


“บทที่ 2: ค้นคว้าพระคัมภีร์และสวมยุทธภัณฑ์ของพระผู้เป็นเจ้า” สั่งสอนกิตติคุณของเรา: คู่มือแนะแนวการแบ่งปันพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ (2023)

“ค้นคว้าพระคัมภีร์และสวมยุทธภัณฑ์ของพระผู้เป็นเจ้า” สั่งสอนกิตติคุณของเรา

โจเซฟ สมิธแสวงหาปัญญาในพระคัมภีร์ไบเบิล โดย เดล คิลบอร์น

บทที่ 2

ค้นคว้าพระคัมภีร์และสวมยุทธภัณฑ์ของพระผู้เป็นเจ้า

พิจารณาสิ่งนี้

  • เหตุใดการศึกษาพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าในพระคัมภีร์อย่างสม่ำเสมอจึงสำคัญ?

  • ฉันจะทำให้การศึกษาพระคัมภีร์ของฉันมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้อย่างไร?

  • ฉันจะใช้เทคโนโลยีอย่างชอบธรรมช่วยให้ฉันบรรลุจุดประสงค์ของฉันได้อย่างไร?

  • สวมยุทธภัณฑ์ของพระผู้เป็นเจ้าหมายความว่าอย่างไร?

ค้นคว้าพระคัมภีร์

พระเยซูคริสต์ทรง “เป็นชีวิตและแสงสว่างของโลก. ดูเถิด, พระองค์ทรงเป็นพระวาทะแห่งความจริงและความชอบธรรม” (แอลมา 38:9; ดู ยอห์น 1 ด้วย) การศึกษาพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าในพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์จะนำความบริบูรณ์มาสู่ชีวิตท่าน (ดู ยอห์น 10:10) พระวจนะของพระองค์จะทำให้ท่าน—และคนที่ท่านสอน—เต็มไปด้วยแสงสว่างและความจริง จะช่วยให้ท่าน—และคนที่ท่านสอน—ดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรม ได้รับความคุ้มครองและความเข้มแข็งจากสวรรค์ จะช่วยให้ท่านได้รู้จักพระองค์และชิมรสความรักของพระองค์ ซึ่งหวานเหนือทุกสิ่งที่หวาน พระวจนะของพระองค์จะทำให้จิตวิญญาณท่านเปี่ยมปีติ (1 นีไฟ 8:11–12; ดู ข้อ 1–34)

พระคัมภีร์เป็นของขวัญจากสวรรค์ พรสำคัญอย่างหนึ่งของงานเผยแผ่ของท่านคือการมีเวลาที่กำหนดไว้ให้ศึกษาพระคัมภีร์ทุกวัน

การศึกษาพระกิตติคุณเป็นงานทางวิญญาณที่ให้ผลคุ้มค่าที่สุดอย่างหนึ่งที่ท่านสามารถทำได้ จะเติมพลังทั้งทางจิตใจและทางวิญญาณ ตามที่แอลมาสอน เมื่อท่าน “ปลูก” พระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าในใจท่าน มันจะ “ให้ความสว่างแก่ความเข้าใจ [ของท่าน]” และมีรสเลิศสำหรับท่าน (แอลมา 32:28; ดู อีนัส 1:3–4 ด้วย) เมื่อท่านศึกษาและประยุกต์ใช้พระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าต่อไป มันจะ “แตกราก; และ … เป็นต้นไม้ที่งอกงามไปสู่ชีวิตอันเป็นนิจ” (แอลมา 32:41; ดู ข้อ 42–43 ด้วย) ความรู้และประจักษ์พยานของท่านในพระกิตติคุณจะเพิ่มพูน ความปรารถนาและความสามารถของท่านในการแบ่งปันพระกิตติคุณจะเพิ่มพูนเช่นกัน

การเรียนรู้จากครูที่ดีเป็นเรื่องสำคัญ แต่สำคัญเช่นกันที่ท่านต้องมีประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีความหมายจากการศึกษาพระคัมภีร์ด้วยตนเอง คนที่ท่านสอนก็เช่นกัน

การเข้าใจพระคัมภีร์อาจท้าทายในตอนแรก แต่เมื่อท่านตั้งอกตั้งใจศึกษาพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าอย่างอดทน ความเข้าใจของท่านจะเพิ่มขึ้น ท่านจะหวงแหนเวลาที่อยู่กับพระคัมภีร์ ท่านจะตั้งตารอสิ่งที่ท่านจะเรียนรู้และประสบอย่างใจจดใจจ่อ

การได้รู้จักและรักพระคัมภีร์จะเป็นพรยิ่งใหญ่ชั่วชีวิตของการรับใช้เป็นผู้สอนศาสนาของท่าน เมื่อท่านประสบพรของการศึกษาพระคัมภีร์ระหว่างงานเผยแผ่ ท่านจะอยากประสบต่อไปตลอดชีวิตที่เหลือ

เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน

“จุดประสงค์หลักของพระคัมภีร์ทุกเล่มคือเติมจิตวิญญาณเราด้วยศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาและในพระบุตรของพระองค์พระเยซูคริสต์—ศรัทธาว่าพระองค์ทรงดำรงอยู่ ศรัทธาในแผนของพระบิดาสำหรับความเป็นอมตะและชีวิตนิรันดร์ของเรา ศรัทธาในการชดใช้และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ซึ่งทำให้แผนแห่งความสุขนี้ดำเนินไปได้ ศรัทธาที่จะทำให้พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เป็นวิถีชีวิตของเรา และศรัทธาที่จะมารู้จัก ‘พระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว และรู้จักพระเยซูคริสต์ที่ [พระองค์ทรง] ใช้มา’ (ยอห์น 17:3)” (ดู “พรจากพระคัมภีร์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2010, 42)

การศึกษาส่วนตัว

ดูรูปโจเซฟ สมิธที่อยู่ต้นบทนี้ อ่าน โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:11–13 ตอบคำถามต่อไปนี้ลงในสมุดบันทึกการศึกษาของท่าน

  • การอ่านและการไตร่ตรอง ยากอบ 1:5 ของโจเซฟนำท่านให้ได้รับการเปิดเผยอย่างไร?

  • การศึกษาของโจเซฟมีอิทธิพลอะไรต่อคนรุ่นต่อๆ มา?

  • การตัดสินใจศึกษาและแสวงหาของโจเซฟมีผลอะไรในชีวิตท่าน?

  • การศึกษาพระกิตติคุณของท่านมีอิทธิลต่อชีวิตท่านและชีวิตผู้อื่นอย่างไร?

การศึกษาพระคัมภีร์

ท่านจะเรียนรู้อะไรได้บ้างจากพระคัมภีร์ต่อไปนี้เกี่ยวกับวิธีศึกษาพระคัมภีร์?

แสวงหาพระวิญญาณ

การเรียนรู้พระกิตติคุณเป็นยิ่งกว่าการได้ข้อมูล เป็นกระบวนการทางวิญญาณของการประยุกต์ใช้ความจริงนิรันดร์ภายใต้การนำทางของพระวิญญาณบริสุทธิ์เช่นกัน (ดู เจคอบ 4:8; หลักคำสอนและพันธสัญญา 50:19–25) แสวงหาและวางใจให้พระวิญญาณทรงสอนท่านขณะท่านศึกษาพระคัมภีร์ นี่จะเกิดขึ้นถึงระดับที่ท่านเปรียบพระคัมภีร์กับตนเองด้วยเจตนาแท้จริงว่าจะปฏิบัติตามสิ่งที่ท่านเรียนรู้ (ดู 1 นีไฟ 19:23; โมโรไน 10:4; โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:18)

การศึกษาพระคัมภีร์ร่วมกับการสวดอ้อนวอนจะเปิดหน้าต่างแห่งการเปิดเผยให้พระวิญญาณตรัสกับความคิดและใจท่าน พระองค์จะประทานพรท่านด้วยการนำทาง การดลใจ และคำตอบให้กับคำถามของท่าน โดยผ่านการศึกษาพระคัมภีร์ของท่านพระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงทำให้ท่านเข้มแข็งและปลอบโยนท่าน จะประทานความรู้และความเชื่อมั่นแก่ท่านอันจะเป็นพรแก่ชีวิตท่านและทำให้ท่านสามารถเป็นพรแก่ผู้อื่นชั่วนิรันดร์

การศึกษาพระคัมภีร์

อะไรคือบทบาทของพระวิญญาณบริสุทธิ์ในการช่วยให้คนๆ หนึ่งเรียนรู้พระกิตติคุณ?

มองหาคำตอบให้กับคำถาม

ในฐานะผู้สอนศาสนา ท่านจะได้ฟังคำถามมากมาย ท่านจะมีคำถามของท่านเองเช่นกัน การค้นคว้าพระคัมภีร์และแหล่งข้อมูลอื่นที่อนุมัติแล้วเพื่อหาคำตอบให้กับคำถามเหล่านี้เป็นวิธีศึกษาที่ได้ผลมาก บันทึกคำถามและสิ่งที่ท่านเรียนรู้และรู้สึกลงในสมุดบันทึกการศึกษา

ใช้แหล่งที่ถูกต้องเชื่อถือได้ในการศึกษา—หลักๆ คือพระคัมภีร์ ถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตอยู่ และ สั่งสอนกิตติคุณของเรา ใช้แหล่งข้อมูลใน คลังค้นคว้าพระกิตติคุณ เช่น คู่มือพระคัมภีร์, Bible Dictionary, หัวข้อเรียงตามลำดับตัวอักษรของพระคัมภีร์สามเล่มรวม Gospel Topics และ ความเรียงตามหัวข้อพระกิตติคุณ เรียนรู้ว่ามีแหล่งข้อมูลใดในภาษาของคนที่ท่านสอน

ประธานเอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด

“สิ่งหนึ่งที่ข้าพเจ้าได้เรียนรู้ในชีวิตคือพระเจ้าทรงตอบคำถามของเราและประทานคำแนะนำผ่านพระคัมภีร์บ่อยมาก … ฉะนั้นขอให้เราเข้าเฝ้าพระเจ้าในการสวดอ้อนวอน วิงวอนขอความช่วยเหลือหรือคำตอบ และคำตอบเหล่านั้นจะมาเมื่อเราเปิดพระคัมภีร์และเริ่มศึกษา บางครั้งจะเหมือนกับข้อความอายุหลายร้อยหรือหลายพันปีถูกกำหนดไว้ให้ตอบคำถามของเราโดยเฉพาะ” (เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด, “Be Strong in the Lord, and in the Power of His Might” [Brigham Young University fireside, Mar. 3, 2002], 5, speeches.byu.edu)

ดำเนินชีวิตตามที่ท่านเรียนรู้

เมื่อท่านรู้สึกปีติที่มาจากการเข้าใจพระกิตติคุณเพิ่มขึ้น ท่านย่อมต้องการประยุกต์ใช้สิ่งที่ท่านเรียนรู้ จงมุ่งมั่นดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับสิ่งที่ท่านเรียนรู้ การทำเช่นนั้นจะเพิ่มพลังศรัทธา ความรู้ และประจักษ์พยานของท่าน การปฏิบัติตามสิ่งที่ท่านเรียนรู้จะทำให้เกิดความเข้าใจเพิ่มขึ้นและยั่งยืน (ดู ยอห์น 7:17)

ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์

“หลักคำสอนที่แท้จริงเปลี่ยนเจตคติและพฤติกรรม ถ้าเข้าใจ การศึกษา [หลักคำสอน] ของพระกิตติคุณจะปรับปรุงพฤติกรรมเร็วกว่าการศึกษาพฤติกรรมจะปรับปรุงพฤติกรรม” (บอยด์ เค. แพคเกอร์, “Little Children,” Ensign, Nov. 1986, 17)

การศึกษาส่วนตัว

พระคัมภีร์ข้อต่อไปนี้สอนอะไรเกี่ยวกับการเรียนรู้พระกิตติคุณ?

ใช้คลังค้นคว้าพระกิตติคุณ

คลังค้นคว้าพระกิตติคุณเป็นแหล่งข้อมูลออนไลน์ที่เสริมการศึกษาและการสอนของท่านได้มาก จงทำความคุ้นเคยกับฟีเจอร์ต่างๆ ของคลังค้นคว้าพระกิตติคุณ ประโยชน์บางอย่างของการใช้คลังค้นคว้าพระกิตติคุณให้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาและการสอนของท่านมีดังนี้

  • จะให้ท่านเข้าถึงพระคัมภีร์ ถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตอยู่ และเนื้อหาอื่นของศาสนจักรได้หลายภาษาในรูปแบบข้อความ เสียง และวิดีโอ

  • ถ้าท่านบันทึกสิ่งที่เรียนรู้และความประทับใจที่ได้รับลงในคลังค้นคว้าพระกิตติคุณ ท่านจะเข้าไปอ่านได้ตลอดและข้อมูลนั้นจะเพิ่มพลังให้ท่านหลังจบงานเผยแผ่

  • จะให้ท่านแบ่งปันพระคัมภีร์ คำพูดอ้างอิงจากศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตอยู่ และวีดิทัศน์ต่างๆ ให้กับคนที่ท่านกำลังสอนได้โดยง่าย

  • คนส่วนใหญ่ที่ท่านสอนและให้บัพติศมาจะใช้คลังค้นคว้าเข้าถึงแหล่งข้อมูลศาสนจักร จงทำความคุ้นเคยกับฟีเจอร์คลังค้นคว้าพระกิตติคุณเพื่อท่านจะสามารถช่วยให้พวกเขาฝึกใช้ได้

การศึกษาส่วนตัว

ทบทวน “วิธีใช้คลังค้นคว้าพระกิตติคุณ เลือกหนึ่งฟีเจอร์ในคลังค้นคว้าพระกิตติคุณเพื่อลองใช้ในการศึกษาส่วนตัวและกับคู่ครั้งต่อไป ฟีเจอร์นี้ช่วยในการศึกษาของท่านอย่างไร? ครั้งต่อไปท่านจะลองใช้ฟีเจอร์อะไร? สอนสิ่งที่ท่านเรียนรู้ให้กับผู้สอนศาสนาคนอื่นๆ

ใช้เทคโนโลยีอย่างชอบธรรม

พระเจ้าและศาสดาพยากรณ์ของพระองค์ได้มอบเทคโนโลยีให้ท่านใช้ช่วยทำงานของพระองค์ให้สำเร็จ เทคโนโลยีจะยกระดับการศึกษาพระคัมภีร์และ สั่งสอนกิตติคุณของเรา แหล่งข้อมูลดิจิทัลจะช่วยท่านวางแผนได้เช่นกัน จะช่วยท่านในการสอนและในการพยายามหาคนเรียน

การใช้เทคโนโลยีอย่างฉลาดและอย่างชอบธรรมจะช่วยให้ท่านบรรลุจุดประสงค์ผู้สอนศาสนาของท่านและใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังช่วยท่านหลีกเลี่ยงเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมด้วย

จงทำตามพระวิญญาณในเรื่องที่ว่าจะใช้เทคโนโลยีเมื่อใดและอย่างไรในวิธีที่จะช่วยเพิ่มพลังศรัทธาของท่านในพระเยซูคริสต์และศรัทธาของคนที่ท่านรับใช้และสอน

ทำตามมาตรการป้องกันการใช้เทคโนโลยี

มาตรการป้องกันสี่อย่างที่สรุปไว้ต่อจากนี้จะช่วยให้ท่านใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม การทำตามมาตรการป้องกันเหล่านี้เป็นวิธีสำคัญที่ท่านจะ “สวม ยุทธ‌ภัณฑ์ทั้งชุดของพระ [ผู้เป็น]‍ เจ้าเพื่อจะสามารถต่อ‍สู้กับอุบายของมารได้” (เอเฟซัส 6:11)

จงรับการกระตุ้นเตือนทางวิญญาณ

นีไฟสัญญาว่า “หากท่านจะเข้าไปโดยทางนั้น, และรับพระวิญญาณบริสุทธิ์, พระองค์จะทรงแสดงแก่ท่านถึงสิ่งทั้งปวงที่ท่านควรทำ” (2 นีไฟ 32:5) พระบิดาบนสวรรค์ทรงมอบของประทานอันทรงพลังสองอย่างที่จะช่วยท่านได้ นั่นคือ สิทธิ์เสรีทางศีลธรรมและของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ ท่านมีพลังอำนาจในการเลือกทำตามการนำทางของพระวิญญาณบริสุทธิ์ การนำทางของพระองค์สำคัญมากในการช่วยท่านทำคุณประโยชน์ขณะใช้เทคโนโลยี นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันท่านจากความชั่วร้ายด้วย

จงจดจ่อกับจุดประสงค์ผู้สอนศาสนาของท่าน

พระเจ้าตรัสว่า “หากดวงตาของเจ้าเห็นแก่รัศมีภาพของเราอย่างเดียว, ทั่วร่างของเจ้าจะเต็มไปด้วยแสงสว่าง, และจะไม่มีความมืดในเจ้า; และร่างนั้นซึ่งเต็มไปด้วยแสงสว่างเข้าใจสิ่งทั้งปวง” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:67) การให้ดวงตาของท่านเห็นแก่รัศมีภาพของพระผู้เป็นเจ้าอย่างเดียวหมายถึงการจดจ่อกับจุดประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าอย่างสมบูรณ์ ซึ่งคือจุดประสงค์การเป็นผู้สอนศาสนาของท่านเช่นกัน

การใช้เทคโนโลยีของท่านควรเน้นที่จุดประสงค์ของท่าน เปิดอุปกรณ์หลังจากที่ท่านทราบจุดประสงค์ของงานสอนศาสนาที่จะใช้เท่านั้น และปิดเมื่อบรรลุจุดประสงค์แล้ว

ท่านมีแนวโน้มจะเห็นเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมทางอินเทอร์เน็ตมากขึ้นเมื่อท่องเว็บไปเรื่อยๆ โดยไม่มีจุดประสงค์ที่แน่ชัดในใจ

ผู้สอนศาสนาดูโทรศัพท์

จงมีวินัย

มอรมอนเขียนว่า “ข้าพเจ้าเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์, พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า. ข้าพเจ้าได้รับการเรียกจากพระองค์ให้ประกาศพระวจนะในบรรดาผู้คนของพระองค์, เพื่อพวกเขาจะมีชีวิตอันเป็นนิจ” (3 นีไฟ 5:13) ท่านเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์เหมือนมอรมอน การรับใช้เป็นผู้สอนศาสนาเต็มเวลาเป็นโอกาสพิเศษที่จะทำให้การเป็นสานุศิษย์ของท่านลึกซึ้งขึ้น

คำว่า disciple (สานุศิษย์) กับ discipline (วินัย) มาจากรากศัพท์คำเดียวกันหมายถึง “ผู้เรียน” หรือ “ลูกศิษย์” การเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์หมายความว่าท่านพยายามทำตามพระองค์และรักษาพระบัญญัติของพระองค์ หมายความว่าท่านเรียนรู้และสอนเรื่องพระคริสต์อยู่เสมอ

จงมีวินัยและเลือกอย่างชอบธรรมในการใช้เทคโนโลยีของท่าน เลือกทำตามมาตรการป้องกัน เมื่อท่านพูดคุยกับคนต่อหน้า อย่าเช็คข้อความหรือรับโทรศัพท์ จงควบคุมการใช้อุปกรณ์เหล่านี้ อย่าให้อุปกรณ์ควบคุมท่าน

พระเจ้าทรงประกาศว่า “คนที่รับกฎของเราและปฏิบัติตาม, คนคนนั้นคือสานุศิษย์ของเรา; และคนที่กล่าวว่าเขารับและหาปฏิบัติตามไม่, คนคนนั้นมิใช่สานุศิษย์ของเรา” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 41:5) แม้ไม่มีใครดีพร้อม แต่พระเจ้าทรงคาดหวังให้เพียรพยายามทำตามพระองค์อยู่เสมอ

ความสวยงามของพระกิตติคุณคือเราจะได้รับการอภัยเมื่อเรากลับใจ—และพระเจ้าทรงต้องการให้เรากลับใจโดยไม่ชักช้า (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 109:21) ถ้าท่านทำผิดรวมถึงการใช้เทคโนโลยีอย่างไม่เหมาะสม จงกลับใจทันทีและพยายามดำเนินชีวิตตามกฎของพระองค์ต่อไป นี่คือส่วนหนึ่งของการเป็นสานุศิษย์ของพระคริสต์

จงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

พระองค์ตรัสว่า “จงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน; และหากเจ้าไม่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเจ้าก็มิใช่ของเรา” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 38:27) ช่วยคณะเผยแผ่ของท่านพัฒนาวัฒนธรรมของความเป็นหนึ่งเดียวกัน ความไว้วางใจ ความรับผิดชอบ และความเห็นอกเห็นใจทั้งนี้เพื่อท่านจะสามารถเพิ่มพลังให้กันและสนับสนุนกัน

ผู้สอนศาสนาทุกคนควรรู้สึกสบายใจกับการขอความช่วยเหลือเมื่อต้องการ ผู้สอนศาสนาที่เข้มแข็งในพระวิญญาณจะช่วยคนที่รู้สึกอ่อนแอได้ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:106) ถ้าท่านรู้สึกถูกล่อลวง จงขอความช่วยเหลือจากคู่หรือผู้นำคณะเผยแผ่ของท่าน

ความท้าทายเกือบทุกอย่างเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตหรือสื่อลามกเกิดขึ้นเมื่อท่านอยู่ตามลำพัง ใช้อุปกรณ์เหล่านี้เฉพาะเมื่อท่านเห็นหน้าจอของกันและกัน มีความกล้าและรับผิดชอบดูแลกัน

พระเจ้าทรงไว้เนื้อเชื่อใจผู้สอนศาสนาแต่ละคนที่ทรงเรียก รวมทั้งตัวท่าน พระองค์ทรงจัดเตรียมคู่และผู้นำให้ช่วยปกป้องและสนับสนุนท่าน เฉกเช่นแอลมาสนับสนุนอมิวเล็คคู่ของเขา จงพยายามเพิ่มพลังให้กัน (ดู แอลมา 15:18)

ท่านควรทำอย่างไรถ้าท่านรู้สึกอ่อนไหวหรือหวั่นไหว?

การฝึกทำตามมาตรการป้องกันทั้งสี่นี้ต้องใช้ความพยายาม วินัย และการฝึกฝน แม้หลังจากมาตรการป้องกันกลายเป็นธรรมชาติส่วนหนึ่งของวิธีคิดและทำแล้ว แต่จะมีหลายครั้งที่ท่านอาจรู้สึกอ่อนไหวหรือหวั่นไหว บางทีท่านอาจมีนิสัยไม่ดีบางอย่างในการใช้เทคโนโลยีก่อนมาทำงานเผยแผ่ซึ่งเอาชนะได้ยาก ผู้สอนศาสนาบางคนมีปัญหากับสื่อลามกก่อนการเรียกและอาจถูกล่อลวงให้กลับไปทำพฤติกรรมแบบเดิม

หลักธรรมต่อไปนี้จะช่วยท่านดำเนินชีวิตตามมาตรการป้องกันและเตรียมป้องกันตนจากการล่อลวง:

  • ระวังความนึกคิด ความรู้สึก และความประพฤติของท่าน เข้าใจว่าความรู้สึกนึกคิดและความประพฤติเหล่านี้จะทำให้ท่านอ่อนไหวง่ายขึ้นต่อการใช้เทคโนโลยีในทางที่ผิดได้อย่างไร

  • เลือกลงมือทำ ตอบสนองในวิธีที่ชอบธรรมและเกิดผลต่อสิ่งที่ท่านกำลังรู้สึก

  • เรียนรู้ กลับใจ และปรับปรุง ใช้ประสบการณ์ของท่านเพื่อเรียนรู้และปรับปรุงต่อไป

ท่านไม่จำเป็นต้องเอาชนะความท้าทายตามลำพัง จึงพึ่งพาความเข้มแข็งที่ผ่านมาทางการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดและพันธสัญญาที่ท่านทำไว้กับพระองค์ พระเจ้าทรงทราบความท้าทายที่ท่านเพบเจอ และจะทรงช่วยเหลือท่านในงานยิ่งใหญ่นี้

การระลึกถึงพระผู้ช่วยให้รอดตลอดเวลาจะช่วยให้ท่านใช้เทคโนโยลีได้อย่างชอบธรรม จงซื่อตรงต่อความไว้วางใจที่ทรงมอบให้ท่าน ตั้งใจแน่วแน่ว่าจะ “ดำเนินชีวิตอย่างซื่อตรงต่อพระพักตร์พระองค์” (แอลมา 53:21; ดู ข้อ 20 ด้วย) การรู้สึกสำนึกคุณต่อทั้งหมดที่พระองค์และพระบิดาทรงทำเพื่อท่านจะช่วยให้ท่านเลือกวิธีใช้แหล่งข้อมูลดิจิทัลได้ดี

งานเผยแผ่ของท่านเป็นโอกาสอันดียิ่งที่จะได้ฝึกใช้เทคโนโลยีอย่างฉลาด ความมุ่งมั่นและนิสัยดีๆ ที่ท่านพัฒนาระหว่างงานเผยแผ่จะเป็นประโยชน์ต่อท่านตลอดชีวิตที่เหลือ

สวมยุทธภัณฑ์ของพระผู้เป็นเจ้า

ท่านจะสามารถต่อต้านการล่อลวงได้มากขึ้นเมื่อท่านศึกษาและประยุกต์ใช้พระคัมภีร์ ถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตอยู่ สั่งสอนกิตติคุณของเรา มาตรฐานผู้สอนศาสนาสำหรับสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ และมาตรการป้องกันที่สรุปไว้ในบทนี้

ผู้สอนศาสนาทักทายชายคนหนึ่ง

ท่านจะสามารถแยกแยะความจริงจากความเท็จได้โดยสวม “ยุทธภัณฑ์ทั้งชุดของพระผู้เป็นเจ้า” ท่านจะมี “พระกิตติคุณแห่งสันติสุข” สวมเท้า การสวม “เกราะอกแห่งความชอบธรรม” จะปกป้องท่าน ท่านจะสามารถดับลูกศรเพลิงทั้งหมดของปฏิปักษ์ได้ด้วย “โล่แห่งศรัทธา” ท่านจะใช้ “ดาบแห่งพระวิญญาณ [ของพระองค์]” สอนความจริงด้วยพลังอำนาจและสิทธิอำนาจ ท่านจะได้รับการป้องกันจากอิทธิพลทางโลกอันจะทำให้ท่านเคว้งคว้าง โดดเดี่ยว และแม้เหินห่างจากพระองค์ (ดู เอเฟซัส 6:10–18; ดู 1 นีไฟ 8:20, 30; 15:24–25; ฮีลามัน 3:29–30; หลักคำสอนและพันธสัญญา 27:15–18; โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1:37; 2 ทิโมธี 3:15–17 ด้วย)

การศึกษาส่วนตัว

ระบุมาตรการป้องกันหนึ่งอย่างร่วมกับการสวดอ้อนวอนที่ท่านจะเน้นในสัปดาห์นี้ แสวงหาความช่วยเหลือจากพระเจ้า บันทึกความรู้สึกของท่านและสิ่งที่ท่านกำลังเรียนรู้


แนวคิดสำหรับการศึกษาและการประยุกต์ใช้

การศึกษาส่วนตัว

  • ลองข้อเสนอแนะบางข้อต่อไปนี้เพื่อยกระดับการศึกษาของท่าน:

    • อ่านพระคัมภีร์พร้อมกับนึกคำถามและข้อกังวลในใจ

    • แบ่งปันสิ่งที่ท่านเรียนรู้ให้กับผู้สอนศาสนาคนอื่นๆ และกับคนที่ท่านสอน การอธิบายหลักคำสอนหรือหลักธรรมจะช่วยให้ท่านจำได้และเข้าใจชัดเจน

    • ศึกษาตามหัวข้อ เน้นหัวข้อที่จะช่วยท่านและคนที่ท่านสอน

    • ถามตัวท่านเองว่า “ผู้เขียนกำลังพูดอะไร? อะไรคือข่าวสารหลัก? ข่าวสารนี้ประยุกต์ใช้กับฉันอย่างไร? จะช่วยคนที่เรากำลังสอนได้อย่างไร?”

    • นึกภาพหรือวาดภาพสิ่งที่ท่านกำลังศึกษา ตัวอย่างเช่น ลองนึกภาพดูว่าเป็นอย่างไรเมื่อแอมันยืนอยู่ต่อหน้ากษัตริย์ชาวเลมัน

    • เขียนแนวคิดหลักของข้อนั้นในหนึ่งประโยคหรือย่อหน้าสั้นๆ

    • ท่องจำข้อพระคัมภีร์ที่อธิบายและสนับสนุนหลักธรรมที่ท่านสอน

  • ประเมินตนเองดังนี้ (1=ไม่เคย 3=บางครั้ง และ 5=เกือบตลอดเวลา)

    • ฉันเพิ่มพูนในศรัทธาและรู้จักพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ดีขึ้น

    • ฉันคิดถึงคนที่ฉันสอนเมื่อฉันศึกษา

    • ฉันคิดตลอดวันเกี่ยวกับสิ่งที่ฉันได้ศึกษาตอนเช้า

    • ขณะศึกษา ความคิดหลายอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเข้ามาในหัวฉัน

    • ฉันบันทึกความประทับใจทางวิญญาณและความคิดต่างๆ ไว้ในที่ที่เหมาะสม

    • ฉันตื่นตลอดขณะศึกษา

    • ฉันตั้งตารอเวลาศึกษาส่วนตัว

    • ฉันตั้งตารอเวลาศึกษากับคู่

    ทบทวนคำตอบของท่าน ท่านทำอะไรได้ดี? ท่านจะปรับปรุงได้อย่างไร? ตั้งเป้าหมายหนึ่งหรือสองข้อเพื่อปรับปรุงคุณภาพการศึกษาของท่าน

การศึกษากับคู่และการสลับคู่

สภาดิสตริกท์ การประชุมโซน และสภาผู้นำคณะเผยแผ่

  • ขอให้ผู้สอนศาสนาเขียนคำถามหนึ่งหรือสองข้อเกี่ยวกับพระกิตติคุณจากบทเรียนใน บทที่ 3 คำถามเหล่านี้จะเป็นเรื่องใกล้ตัวหรือจากคนที่พวกเขาสอนก็ได้ เชิญผู้สอนศาสนาแบ่งปันคำถามของตนกับกลุ่ม สำหรับคำถามแต่ละข้อ ให้สนทนาดังนี้:

    • การตอบคำถามนี้จะเป็นพรแก่ชีวิตผู้สอนศาสนาอย่างไร?

    • จะเป็นพรแก่ชีวิตคนที่เขากำลังสอนอย่างไร?

    • ผู้สอนศาสนาจะหาคำตอบอย่างไร?

  • แบ่งผู้สอนศาสนาออกเป็นกลุ่มๆ และมอบหมายให้ศึกษามาตรการป้องกันกลุ่มละหนึ่งมาตรการและข้อพระคัมภีร์ที่ให้มา เชิญผู้สอนศาสนาแบ่งปันว่าได้เรียนรู้อะไรและมาตรการป้องกันได้ช่วยพวกเขาอย่างไร

ผู้นำคณะเผยแผ่และที่ปรึกษาคณะเผยแผ่

  • เข้าร่วมกับผู้สอนศาสนาเป็นครั้งคราวในการศึกษากับคู่

  • ระหว่างการสัมภาษณ์หรือการสนทนา ให้ถามคำถามบางข้อต่อไปนี้:

    • ท่านมีความประทับใจอะไรบ้างในการศึกษาพระคัมภีร์เมื่อเร็วๆ นี้?

    • บทใดหรือหมวดใดของ สั่งสอนกิตติคุณของเรา ได้ช่วยท่านมากที่สุดในสองสัปดาห์ที่ผ่านมา? และช่วยอย่างไร?

    • ท่านกำลังทำอะไรในการศึกษาส่วนตัวที่ช่วยให้ท่านเรียนรู้?

  • ในการสัมภาษณ์ท่านอาจจะทบทวนมาตรการป้องกันการใช้เทคโนโลยีและถามผู้สอนศาสนาว่าพวกเขากำลังเรียนรู้อะไรขณะใช้มาตรการเหล่านั้น

  • แบ่งปันข้อคิดจากการศึกษาส่วนตัวของท่าน แบ่งปันข้อมูลจากสมุดบันทึกการศึกษาและประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับความสำคัญของการศึกษาพระกิตติคุณ