การเรียกในคณะเผยแผ่
บทที่ 8: ทำงานให้สำเร็จผ่านเป้าหมายและแผน


“บทที่ 8: ทำงานให้สำเร็จผ่านเป้าหมายและแผน” สั่งสอนกิตติคุณของเรา: คู่มือแนะแนวการแบ่งปันพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ (2023)

“บทที่ 8” สั่งสอนกิตติคุณของเรา

ภาพ
ท่านทั้งหลายจงออกไป (ท่านทั้งหลายจงออกไปสอนชนทุกชาติ) โดย แฮร์รีย์ แอนเดอร์สัน

บทที่ 8

ทำงานให้สำเร็จผ่านเป้าหมายและแผน

พิจารณาสิ่งนี้

  • ทำไมฉันต้องตั้งเป้าหมาย?

  • ตัวบ่งชี้หลักสำหรับการเปลี่ยนใจเลื่อมใสจะช่วยให้ฉันจดจ่อกับความก้าวหน้าทางวิญญาณของแต่ละบุคคลได้อย่างไร?

  • ฉันตั้งเป้าหมาย วางแผนทำให้บรรลุ และดำเนินการตามแผนของฉันอย่างไร?

  • ฉันดำเนินช่วงวางแผนประจำวันและประจำสัปดาห์อย่างไร?

  • ฉันจะใช้แอปสั่งสอนกิตติคุณของเราช่วยฉันทำงานให้สำเร็จได้อย่างไร?

  • หลักธรรมของภาระรับผิดชอบคืออะไร? จะเป็นพรแก่ความพยายามของฉันอย่างไร?

ท่านได้รับมอบหมายให้ช่วยงานเฉพาะด้านของพระเจ้า พระองค์ทรงต้องการให้ท่านอวยพรแต่ละบุคคลด้วยความรักและความจริงของพระองค์ พระองค์ทรงต้องการให้ท่านเชื้อเชิญและช่วยให้พวกเขามาหาพระองค์

พระเจ้าทรงปรารถนาให้ท่าน “ทำงานอย่างทุ่มเทในอุดมการณ์ดี [นี้]” พระองค์ทรงขอให้ท่าน “ทำสิ่งสารพันด้วยเจตจำนงอิสระ [ของท่าน], และทำให้เกิดความชอบธรรมยิ่ง” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:27; ดู ข้อ 26–29) ทำสุดความสามารถเพื่อให้วอร์ดหรือสาขาที่ท่านรับใช้เข้มแข็งตอนท่านจากไปมากกว่าตอนท่านมาถึง

บทนี้จะช่วยให้ท่านเรียนรู้วิธีตั้งเป้าหมาย วางแผนทำให้สำเร็จ และดำเนินการตามแผนของท่านอย่างขยันหมั่นเพียร และจะพูดถึงตัวบ่งชี้หลักสำหรับการเปลี่ยนใจเลื่อมใส ซึ่งชี้นำความพยายามของท่านในการช่วยให้ลูกๆ ของพระผู้เป็นเจ้าก้าวหน้าทางวิญญาณ ต่อจากนั้นจะนำเสนอกระบวนการตั้งเป้าหมายง่ายๆ ที่ท่านสามารถใช้ในงานสอนศาสนาทุกด้าน รวมถึงเป้าหมายส่วนตัวและเป้าหมายกับคู่ นอกจากนี้ยังสรุปวิธีดำเนินช่วงวางแผนประจำวันและประจำสัปดาห์กับคู่ด้วย

การฝึกตั้งเป้าหมายและวางแผนจะเป็นพรแก่ท่านตลอดชีวิต จะช่วยท่านทำและรักษาพันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้า รับใช้อย่างซื่อสัตย์ในศาสนจักร ศึกษาหาความรู้ เติบโตในงานอาชีพ และสร้างครอบครัวที่เข้มแข็ง

การศึกษาพระคัมภีร์

ท่านสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างจากพระคัมภีร์ข้อต่อไปนี้เกี่ยวกับการวางแผนเพื่อช่วยทำงานของพระผู้เป็นเจ้าให้สำเร็จ?

ภาพ
พระองค์ทรงรักษาคนเป็นโรคต่างๆ โดย เจ. เคิร์ค ริชาร์ดส์

ช่วยให้ผู้อื่นเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระผู้ช่วยให้รอด

จดจ่อกับจุดประสงค์ผู้สอนศาสนาของท่าน

ท่านอาจจะสงสัยว่าในบรรดาหน้าที่มากมายของผู้สอนศาสนาหน้าที่ใดสำคัญที่สุด นี่เป็นคำถามที่พึงพิจารณาขณะตั้งเป้าหมายและวางแผนแต่ละสัปดาห์และแต่ละวัน เพื่อช่วยตอบคำถามนี้ ให้นึกถึงจุดประสงค์การเป็นผู้สอนศาสนาของท่าน:

“เชื้อเชิญให้ผู้อื่นมาหาพระคริสต์โดยช่วยให้พวกเขารับพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูผ่านศรัทธาในพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์ การกลับใจ บัพติศมา การรับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ และการอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่”

ให้จุดประสงค์ผู้สอนศาสนาชี้นำเป้าหมายและแผนของท่าน จดจ่อกับวิธีที่ท่านจะช่วยให้แต่ละบุคคลใช้สิทธิ์เสรีของตนเพื่อเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระผู้ช่วยให้รอดและรับพระกิตติคุณของพระองค์

แสวงหาการนำทางจากพระวิญญาณและหารือกับคู่ขณะตั้งเป้าหมายและวางแผน แล้วทำตามแผนของท่านและใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพ

ภาพ
ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“เราไม่สั่งสอนและสอนเพื่อ ‘นำผู้คนเข้ามาในศาสนจักร’ หรือเพื่อเพิ่มสมาชิกภาพของศาสนจักร เราไม่สั่งสอนและสอนเพียงเพื่อชักชวนผู้คนให้มีชีวิตที่ดีขึ้น … เราเชื้อเชิญให้คนทั้งปวงมาหาพระคริสต์โดยการกลับใจ บัพติศมา และการยืนยันเพื่อจะได้เปิดประตูอาณาจักรซีเลสเชียลให้บุตรและธิดาของพระผู้เป็นเจ้า ไม่มีใครทำเช่นนี้ได้” (ดัลลิน เอช. โอ๊คส์ “จุดประสงค์ของงานสอนศาสนา” การถ่ายทอดผ่านดาวเทียมของผู้สอนศาสนา, เม.ย. 1995)

การศึกษาพระคัมภีร์

ผู้สอนศาสนาเหล่านี้และศาสดาพยากรณ์ทำให้แผนของตนสำเร็จด้วยความช่วยเหลือของพระเจ้าอย่างไร?

ทำให้สอดคล้องกับตัวบ่งชี้หลักสำหรับการเปลี่ยนใจเลื่อมใส

ผู้นำศาสนจักรได้ระบุหกตัวบ่งชี้หลักทั้งหกสำหรับการเปลี่ยนใจเลื่อมใส ตัวบ่งชี้หลักช่วยให้ท่านจดจ่อกับความก้าวหน้าทางวิญญาณของลูกๆ ของพระผู้เป็นเจ้า และมุ่งหมายจะช่วยท่านทำให้ความพยายามในแต่ละวันสอดคล้องกับจุดประสงค์ผู้สอนศาสนาของท่าน

ตัวบ่งชี้หลักสำหรับการเปลี่ยนใจเลื่อมใสแสดงไว้ด้านล่าง

ภาพ
ผู้สอนศาสนาจับมือทักทายชายคนหนึ่ง

สอนคนใหม่ แต่ละคน (ไม่ได้รับบัพติศมา) ที่เคยเรียนบทเรียนในสัปดาห์ที่กำหนด (แต่ไม่ได้เรียนในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา) และยอมรับนัดกลับมาเรียน ปกติแล้วบทเรียนจะมีการสวดอ้อนวอน (เมื่อเหมาะสม) การสอนหลักธรรมพระกิตติคุณอย่างน้อยหนึ่งข้อ และการให้คำเชื้อเชิญ

ภาพ
ผู้สอนศาสนากำลังสอน

บทเรียนที่มีสมาชิกคนหนึ่งเข้าร่วม จำนวนบทเรียนในสัปดาห์ที่กำหนดซึ่งผู้ (ไม่ได้รับบัพติศมา) เข้าเรียนและสมาชิกเข้าร่วม

ภาพ
ครอบครัวที่โบสถ์

คนเรียนที่ร่วมการประชุมศีลระลึก แต่ละคน (ไม่ได้รับบัพติศมา) ที่ท่านสอนผู้เข้าร่วมการประชุมศีลระลึกในสัปดาห์ที่กำหนด

ภาพ
ครอบครัวสวดอ้อนวอน

คนที่มีวันรับบัพติศมา แต่ละคนที่ตกลงจะรับบัพติศมาและการยืนยันในวันที่กำหนด

ภาพ
บัพติศมา

คนที่รับบัพติศมาและการยืนยัน สมาชิกใหม่แต่ละคนที่ได้รับศาสนพิธีบัพติศมาและการยืนยัน และส่งแบบฟอร์มของพวกเขาไปทางอิเล็กทรอนิกส์ในสัปดาห์ที่กำหนด (ดู บทที่ 12 สำหรับนิยามของบัพติศมาผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสและข้อมูลเรื่องการสร้างบันทึก)

ภาพ
ผู้หญิงที่โบสถ์

สมาชิกใหม่ที่เข้าร่วมการประชุมศีลระลึก สมาชิกใหม่แต่ละคนที่แบบฟอร์มบัพติศมาและการยืนยันของพวกเขาถูกส่งไปภายใน 12 เดือนที่ผ่านมาผู้เข้าร่วมการประชุมศีลระลึกในสัปดาห์ที่กำหนด

สรุปคือจงให้ความสำคัญกับการช่วยให้ผู้คนเลือกมีส่วนร่วมในประสบการณ์เหล่านี้ พยายามเน้นกิจกรรมต่อไปนี้:

  • กิจกรรมที่ช่วยท่านหาคนใหม่ให้สอน

  • กิจกรรมที่ช่วยให้ผู้คนก้าวหน้าสู่การทำและรักษาพันธสัญญา

  • กิจกรรมที่ช่วยผู้ได้รับบัพติศมาและการยืนยันในปีที่ผ่านมา

ถ้าท่านมองไม่เห็นว่าความพยายามของตนจะช่วยให้คนๆ หนึ่งก้าวหน้าไปในทางที่สะท้อนอยู่ในตัวบ่งชี้หลักของท่านได้อย่างไร ให้ประเมินว่ากิจกรรมนั้นใช้เวลาของท่านดีหรือไม่

สำหรับคนที่ท่านใช้เวลาด้วยไม่มาก ให้หล่อเลี้ยงความสนใจของพวกเขาในพระกิตติคุณต่อไป ท่านจะเชิญสมาชิกให้ติดต่อพวกเขา ท่านจะใช้เทคโนโลยีให้กำลังใจพวกเขาและปฏิบัติศาสนกิจต่อพวกเขาต่อไป ดูแนวคิดเพิ่มเติมจาก “ใช้เทคโนโลยี” ในบทที่ 9

ภาพ
เอ็ลเดอร์เควนทิน แอล. คุก

“วัตถุประสงค์สูงสุดของการวางแผนและการตั้งเป้าหมายคือสร้างสานุศิษย์—คือมีผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสที่อุทิศถวายผู้ทำและรักษาพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์ เริ่มตั้งแต่พันธสัญญาบัพติศมาไปจนถึงพันธสัญญาพระวิหาร” (เควนทิน แอล. คุก, “จุดประสงค์และการวางแผน” การสัมมนาผู้นำคณะเผยแผ่ 25 มิ.ย. 2019)

ตั้งเป้าหมายตัวบ่งชี้หลักและวางแผน

ในช่วงวางแผนประจำสัปดาห์ ท่านกับคู่จะตั้งเป้าหมายสำหรับตัวบ่งชี้หลักทั้งหมด เป้าหมายตัวบ่งชี้หลักของท่านควรสะท้อนว่าท่านปรารถนาจะช่วยให้คนมากขึ้นประสบพรของการเปลี่ยนใจเลื่อมใส

ตั้งเป้าหมายและวางแผนทำสิ่งต่างๆ ในการควบคุมของท่านซึ่งสามารถมีผลต่อผลลัพธ์ของตัวบ่งชี้หลัก ตัวอย่างเช่น:

  • ท่านอาจจะตั้งเป้าหมายตัวบ่งชี้หลักเพื่อเริ่มสอนคนใหม่จำนวนหนึ่งในระหว่างสัปดาห์ ท่านบรรลุเป้าหมายหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับสิทธิ์เสรีของผู้อื่น แต่จงทำสิ่งที่อยู่ในการควบคุมของท่านให้สำเร็จ วิธีหนึ่งคือตั้งเป้าหมายพูดคุยกับคนใหม่จำนวนหนึ่งทุกวัน แล้ววางแผนว่าท่านจะทำอย่างไร ดูแนวคิดใน ภาคผนวก 2 ของบทนี้และใน บทที่ 9

  • ท่านอาจจะตั้งเป้าหมายตัวบ่งชี้หลักให้สมาชิกใหม่จำนวนหนึ่งและคนที่ท่านสอนมาเข้าร่วมการประชุมศีลระลึก พวกเขามาหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับสิทธิ์เสรีของพวกเขา แต่จงทำสิ่งที่อยู่ในการควบคุมของท่านเพื่อมีผลต่อผลลัพธ์ของตัวบ่งชี้หลักเหล่านี้ วางแผนว่าจะเชิญพวกเขาเมื่อใดและจะติดตามผลอย่างไร

  • ท่านอาจจะตั้งเป้าหมายตัวบ่งชี้หลักเพื่อให้สมาชิกร่วมสอนบทเรียนตามจำนวนที่กำหนดในระหว่างสัปดาห์ ท่านบรรลุเป้าหมายนั้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับสมาชิกและคนที่ท่านสอน แต่จงทำสิ่งที่ท่านทำได้เพื่อมีผลต่อผลลัพธ์ของตัวบ่งชี้หลักนี้ ตั้งเป้าหมายทำงานกับผู้นำวอร์ดเพื่อให้สมาชิกร่วมสอน แล้ววางแผนว่าท่านจะประสานงานการเข้าร่วมของพวกเขาอย่างไร

ท่านตั้งเป้าหมายตัวบ่งชี้หลักเป็นคู่สำหรับเขตของท่านเอง โดยยึดตาม (1) ความก้าวหน้าของคนที่ท่านสอน และ (2) ความจำเป็นของการหาคนใหม่ให้สอน การหาคนใหม่ให้สอนเป็นสิ่งที่ต้องทำต่อเนื่อง

เป้าหมายตัวบ่งชี้หลักทั่วคณะเผยแผ่ยึดตามเป้าหมายที่แต่ละคู่ตั้งไว้

แอปสั่งสอนกิตติคุณของเราจะช่วยให้ท่านจดจ่อกับคนขณะตั้งเป้าหมายตัวบ่งชี้หลัก แอปนี้จะช่วยให้ท่านเรียนรู้จากเป้าหมายที่ผ่านๆ มาและแสดงความก้าวหน้าของท่านจนถึงเป้าหมายปัจจุบันด้วย

เป้าหมายตัวบ่งชี้หลักและผลลัพธ์จะรายงานถึงผู้นำคณะเผยแผ่ของท่านและหัวหน้าผู้สอนศาสนาของท่านโดยอัตโนมัตผ่านแอปสั่งสอนกิตติคุณของเรา

จงระวังอย่าเน้นเป้าหมายตัวบ่งชี้หลักตัวหนึ่งมากกว่าตัวอื่น การจดจ่อกับตัวบ่งชี้หลักทั้งหมดอย่างต่อเนื่องจะช่วยท่านเชื้อเชิญผู้อื่นอย่างสม่ำเสมอให้มาหาพระคริสต์และทำพันธสัญญา

ภาพ
ประธานโธมัส เอส. มอนสัน

“เมื่อประเมินผลงาน ผลงานจะดีขึ้น เมื่อประเมินและรายงานผลงาน อัตราความก้าวหน้าจะเร็วขึ้น” (อ้างโดยโธมัส เอส. มอนสัน “Thou Art a Teacher Come from God,” Improvement Era, Dec. 1970, 101)

ทำงานอย่างขยันหมั่นเพียร

พระเจ้าทรงปรารถนาให้ท่าน “กระทำ … ด้วยความขยันหมั่นเพียรจนสุดความสามารถ” ในการรับใช้เป็นผู้สอนศาสนาของท่าน (หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:99) ความขยันหมั่นเพียรคือความพยายามอย่างองอาจกล้าหาญและสม่ำเสมอ

ทำตามเป้าหมายตัวบ่งชี้หลักของท่านอย่างขยันหมั่นเพียร เชื้อเชิญให้ผู้คนทำคำมั่นสัญญาที่นำไปสู่การเปลี่ยนใจเลื่อมใส ความพยายามอย่างขยันหมั่นเพียรของท่านจะสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขาลงมือทำสิ่งที่จะช่วยให้พวกเขามาหาพระคริสต์ (ดู 2 นีไฟ 2:14–16)

สอนพระกิตติคุณในวิธีที่ตอบสนองความต้องการของผู้คน เมื่อเข้าใจหลักคำสอนโดยพระวิญญาณ หลักคำสอนมีแนวโน้มจะสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขากระทำได้มากกว่าสิ่งใด

ขณะเดียวกันจงรับรู้ว่าเป้าหมายตัวบ่งชี้หลักขึ้นอยู่กับสิทธิ์เสรีของผู้อื่น จงเคารพสิทธิ์เสรีของผู้คนเสมอ

จำไว้ว่าตัวบ่งชี้หลักไม่ใช่เป้าหมายสุดท้าย แต่แสดงให้เห็นความก้าวหน้าทางวิญญาณของคนนั้นที่อาจเกิดขึ้นได้จนถึงบัพติศมา การยืนยัน และการเปลี่ยนใจเลื่อมใสอันยั่งยืน ความก้าวหน้าจริงๆ ของผู้คนจะขึ้นอยู่กับการเลือกของพวกเขา ท่านสนับสนุนความก้าวหน้าของพวกเขาโดยใช้ศรัทธาในพระคริสต์ในนามของพวกเขาขณะท่านตั้งเป้าหมาย วางแผน กระทำอย่างขยันหมั่นเพียร และปฏิบัติต่อพวกเขาในวิธีที่ทรงดลใจ

วิธีตั้งเป้าหมายและวางแผนให้บรรลุเป้าหมาย

การตั้งเป้าหมายและการวางแผนคือการกระทำด้วยศรัทธา เป้าหมายสะท้อนความปรารถนาของใจท่านและวิสัยทัศน์ของท่านในการช่วยให้ตนเองและผู้อื่นมาหาพระผู้ช่วยให้รอด

เป้าหมายและแผนที่พิจารณาอย่างถี่ถ้วนจะให้ทิศทางที่ชัดเจนแก่ท่าน จะช่วยให้ท่านพบคนให้สอนมากขึ้น จะนำทางท่านในการช่วยคนที่ท่านสอนเพิ่มพลังศรัทธาและก้าวหน้าจนถึงการเปลี่ยนใจเลื่อมใส

ทำให้การตั้งเป้าหมายและการวางแผนของท่านเป็นประสบการณ์ที่ได้รับการดลใจ จงสวดอ้อนวอนอย่างจริงจัง ใช้ศรัทธา หารือกับคู่ และทำตามการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณ เมื่อท่านวางแผนแบบนี้ ท่านจะรู้สึกว่าพระเจ้าทรงทำงานผ่านท่านเพื่อเป็นพรแก่ผู้อื่น

ภาพ
ประธานเอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด

“เป้าหมายคือจุดมุ่งหมายหรือ จุดหมาย ส่วนแผนคือเส้นทางที่พาท่านไปถึงเป้าหมาย … การตั้งเป้าหมายคือการเริ่มต้นโดยมีจุดหมายอยู่ในใจ และการวางแผนคือการคิดค้นวิธีไปให้ถึงจุดหมายนั้น” (ดู เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด, “หวนคืนและได้รับ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2017, 62–63)

หลักการตั้งเป้าหมายและการทำให้บรรลุ

กระบวนการต่อไปนี้จะช่วยท่านตั้งเป้าหมายและทำให้บรรลุ

ภาพ
แผนภูมิการตั้งเป้าหมาย
  1. ตั้งเป้าหมายและวางแผนร่วมกับการสวดอ้อนวอน ตั้งเป้าหมายที่ทำได้จริงแต่ท่านต้องพยายามเต็มที่และต้องมีศรัทธา หลีกเลี่ยงการตั้งเป้าหมายที่สูงเกินไปหรือต่ำเกินไป วางแผนว่าท่านจะบรรลุเป้าหมายอย่างไร

  2. บันทึกและกำหนดเวลา บันทึกเป้าหมายและแผนของท่านลงในตารางเวลาอย่างละเอียด

  3. ทำตามแผนของท่าน ทำงานอย่างขยันหมั่นเพียรเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ใช้ศรัทธาในพระเจ้าให้ทรงช่วยเหลือท่าน

  4. ทบทวนและติดตามผล ประเมินความก้าวหน้าและบันทึกความพยายามของท่านเป็นประจำ ตัดสินใจว่าจะทำอะไรต่างจากเดิมและจะปรับปรุงอย่างไร ปรับแผนเมื่อจำเป็น

เมื่อท่านใช้กระบวนการตั้งเป้าหมาย พระเจ้าจะทรงขยายความพยายามของท่าน ท่านจะสามารถเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระองค์ได้มากขึ้น ท่านจะนำสิ่งดีมากมายออกมาในการเป็นพรแก่ลูกๆ ของพระบิดาบนสวรรค์

ตั้งเป้าหมายและวางแผนในงานทุกด้าน

แสวงหาการนำทางของพระวิญญาณร่วมกับการสวดอ้อนวอนขณะประยุกต์ใช้กระบวนการตั้งเป้าหมายกับงานสอนศาสนาทุกด้าน บางด้านเหล่านี้ได้แก่:

  • ช่วยคนที่ท่านสอนให้ก้าวหน้า (ดู ภาคผนวก 1 ในบทนี้)

  • หาคนใหม่ให้สอน (ดู ภาคผนวก 2 ในบทนี้)

  • ทำงานกับสมาชิกและรับใช้คนในชุมชนและวอร์ด (ดู บทที่ 9 และ 13)

  • ทำงานเป็นหนึ่งเดียวกับคู่ (ดู ข้อ 6 ใน “ช่วงวางแผนประจำสัปดาห์”)

  • เพิ่มพลังศรัทธาของท่านในพระเยซูคริสต์

  • ปรับปรุงความรู้ความสามารถของท่าน รวมถึงการเรียนภาษา (ดู บทที่ 7)

ตั้งเป้าหมายที่เหมาะสม

หลีกเลี่ยงการตั้งเป้าหมายตัวบ่งชี้หลักให้กับผู้สอนศาสนาคนอื่นๆ แต่ท่านอาจแนะแนวและสนับสนุนพวกเขาให้ประยุกต์ใช้หลักการตั้งเป้าหมายขณะพวกเขาตั้งเป้าหมายของตน

จงระวังอย่าทำการเปรียบเทียบกับผู้อื่น

อย่าใช้การบรรลุเป้าหมายเป็นโควตาเพื่อให้สาธารณชนรับรู้ หรือแก้ไขหรือทำให้ผู้อื่นอับอายต่อหน้าคนจำนวนมาก

ภาพ
ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์

“เราเชื่อเรื่องการตั้งเป้าหมาย เราดำเนินชีวิตตามเป้าหมาย … เป้าหมายสำคัญ [หนึ่งอย่าง] คือนำพระกิตติคุณไปให้ทุกคน … เป้าหมายของเราคือได้รับชีวิตนิรันดร์ นั่นคือเป้าหมายใหญ่ที่สุดในโลก” (สเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์, การสัมมนาตัวแทนภูมิภาค, 3 เม.ย. 1975, 6)

ดำเนินช่วงวางแผนประจำสัปดาห์และประจำวัน

การวางแผนประจำสัปดาห์ช่วยให้ท่านเห็นภาพใหญ่และจดจ่อกับผู้คน นอกจากนี้ยังช่วยให้ท่านจดจ่อกับกิจกรรมที่สำคัญที่สุดด้วย การวางแผนประจำวันช่วยท่านปรับและเตรียมลงมือทำสิ่งที่กำหนดในแต่ละวัน ท่านต้องทำแล้วเกิดผล ไม่ใช่แค่ทำตัวยุ่ง

ในช่วงวางแผนให้ถามคำถามพื้นฐานกับตัวท่านเองว่าท่านรู้สึกว่าพระเจ้าทรงประสงค์ให้ท่านทำอะไร แสวงหาการดลใจเพื่อตอบคำถามเหล่านี้ให้เหมาะกับแต่ละสถานการณ์และแต่ละคน ต่อจากนั้นคำตอบควรเป็นรูปเป็นร่างในแผนของท่าน

ช่วงวางแผนประจำสัปดาห์

จัดช่วงวางแผนประจำสัปดาห์กับคู่ตามวันเวลาที่ประธานคณะเผยแผ่กำหนด ทำตามขั้นตอนดังนี้

  1. สวดอ้อนวอนและแสวงหาการดลใจ ทูลขอให้พระบิดาบนสวรรค์ทรงนำท่านในการวางแผนที่จะช่วยให้บรรลุจุดประสงค์ของพระองค์ ทูลขอให้พระองค์ทรงอวยพรท่านขณะพยายามช่วยให้ผู้คนก้าวหน้าและมาหาพระคริสต์

  2. ตั้งเป้าหมายและวางแผนสำหรับตัวบ่งชี้หลักทั้งหมดโดยใช้แอปสั่งสอนกิตติคุณของเรา ใช้กระบวนการตั้งเป้าหมายที่อธิบายไว้ก่อนหน้านี้ในบทนี้ เริ่มกับ:

    • คนที่รับบัพติศมาและการยืนยันภายในปีที่แล้ว

    • คนที่มีวันรับบัพติศมา

    • คนที่ท่านกำลังสอนผู้เข้าร่วมการประชุมศีลระลึก

    • คนใหม่ที่กำลังเรียน

    • สมาชิกที่กลับมา ครอบครัวที่มีบางคนเป็นสมาชิก และผู้หวังเป็นเอ็ลเดอร์

    • คนที่เคยเรียน

    ดูแนวคิดจาก ภาคผนวก 1 ในบทนี้เกี่ยวกับการใช้กระบวนการตั้งเป้าหมายในการทำงานกับคนที่ท่านกำลังสอน

  3. ใช้กระบวนการตั้งเป้าหมายเพื่อหาคนเรียน (ดูความช่วยเหลือเรื่องการหาคนจาก ภาคผนวก 2 ในบทนี้และ บทที่ 9)

  4. ใช้กระบวนการตั้งเป้าหมายเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับผู้นำวอร์ดและสมาชิก ตั้งเป้าหมายและวางแผนว่าท่านจะสนับสนุนพวกเขาอย่างไรในการพยายามแบ่งปันพระกิตติคุณ (ดูแนวคิดใน บทที่ 9 และ 13) เตรียมสำหรับการประชุมประสานงานประจำสัปดาห์ของวอร์ด (ดู บทที่ 13)

  5. ทบทวนแผนและเป้าหมายของท่านในแอปสั่งสอนกิตติคุณของเรา ยืนยันนัดหมายและการประชุมของท่าน

  6. จัดสภากับคู่ โดยปกติสภามีองค์ประกอบดังนี้:

    • หากท่านปรารถนา ให้บอกเป้าหมายส่วนตัวที่เหมาะสมและขอความช่วยเหลือจากคู่ในการบรรลุเป้าหมายเหล่านั้น

    • พูดถึงจุดแข็งของความสัมพันธ์ของท่าน พูดถึงความท้าทายในเรื่องการเชื่อฟังหรือการทำงานเป็นหนึ่งเดียวกัน แก้ไขข้อขัดแย้งโดย (1) ยอมให้แต่ละคนแสดงทัศนะของตนอย่างเต็มที่ (2) เข้าใจและยอมรับข้อกังวลของแต่ละคน และ (3) สร้างทางออกร่วมกันเพื่อไขข้อกังวลที่สำคัญที่สุด

    • บอกคู่ว่าท่านคิดว่าจุดแข็งของเขาคืออะไร ขอคำแนะนำว่าท่านจะปรับปรุงได้อย่างไร

    • ตั้งเป้าหมายเพื่อจะปรับปรุงความสัมพันธ์ของท่าน

    สภากับคู่จะช่วยท่านพัฒนาทักษะสำคัญๆ ที่สามารถใช้ในชีวิตส่วนตัวและชีวิตครอบครัว การรับใช้ในศาสนจักร งานอาชีพ และความสัมพันธ์อื่นๆ

  7. จบด้วยการสวดอ้อนวอน

ช่วงวางแผนประจำวัน

ตั้งเป้าหมายและวางแผนกับคู่เป็นเวลา 30 นาทีทุกเช้า ทำตามขั้นตอนดังนี้

  1. สวดอ้อนวอนและแสวงหาการดลใจ

  2. ทบทวนความก้าวหน้าจนถึงเป้าหมายตัวบ่งชี้หลักประจำสัปดาห์ของท่าน

  3. ทบทวนแผนช่วยคนที่ท่านสอน จัดลำดับความพยายามของท่านเพื่อช่วยคนที่กำลังก้าวหน้ามากที่สุด ปรับเป้าหมายและแผนประจำวันเมื่อจำเป็น

  4. จดจำสิ่งที่ท่านจะทำวันนั้นเพื่อหาคนใหม่ให้สอนและช่วยคนที่ท่านสอน

  5. วางแผนวิธีที่ท่านจะทำงานกับผู้นำระดับท้องที่และสมาชิก

  6. จบด้วยการสวดอ้อนวอน

การศึกษากับคู่

ทบทวน ภาคผนวก 1 และ ภาคผนวก 2 ท้ายบทนี้เพื่อดูแนวคิดเกี่ยวกับวิธีประยุกต์ใช้กระบวนการตั้งเป้าหมายกับการสอนและการหาคน ระบุว่าท่านจะใช้แนวคิดบางอย่างเหล่านี้ได้อย่างไร

ใช้แอปสั่งสอนกิตติคุณของเรา

โมโรไนกล่าวเกี่ยวกับคนที่รับบัพติศมาในสมัยของเขาว่า “รับชื่อพวกเขาไว้, เพื่อพวกเขาจะได้รับการจดจำและบำรุงเลี้ยงด้วยพระวจนะอันประเสริฐของพระผู้เป็นเจ้า, เพื่อให้พวกเขาอยู่ในทางที่ถูกต้อง” (โมโรไน 6:4) การจดบันทึกให้ดีเป็นหนึ่งวิธีที่ท่านสามารถประยุกต์ใช้หลักธรรมนี้

บันทึกความพยายามของท่าน

การจดบันทึกเป็นส่วนหนึ่งของการหมั่นดูแลเขตของท่านด้วยความรักและความห่วงใย จดบันทึกให้ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน นี่จะช่วยให้ท่านจำได้ว่าต้องทำอะไรเพื่อช่วยเหลือผู้คน

แอปสั่งสอนกิตติคุณของเราให้ท่านได้ประสานงานและแบ่งปันข้อมูลสำคัญกับผู้นำระดับท้องที่และสมาชิกเกี่ยวกับความก้าวหน้าของผู้คนและการทำงาน

ทำตามแนวทางข้อมูลและความเป็นส่วนตัว

ทำตามแนวทางความเป็นส่วนตัวและการเก็บรักษาข้อมูลเมื่อบันทึกเป้าหมายและแผนไว้ในแอปสั่งสอนกิตติคุณของเรา ดูข้อมูลจาก มาตรฐานผู้สอนศาสนาสำหรับสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์7.5

ถามคำถามต่อไปนี้กับตัวท่านเองก่อนบันทึกหรือแบ่งปันข้อมูลลงในแอปสั่งสอนกิตติคุณของเรา อีเมล โซเชียลมีเดีย บันทึก และการสื่อสารอื่นๆ:

  • คนนี้จะรู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่ฉันกำลังบันทึก?

  • ฉันจะรู้สึกอย่างไรถ้ามีคนแบ่งปันข้อมูลแบบนี้เกี่ยวกับฉันให้กับคนอื่นๆ?

  • ฉันกำลังทำตามนโยบายศาสนจักรและกฎหมายความเป็นส่วนตัวของข้อมูลสำหรับเขตของฉันหรือไม่ถ้าฉันบันทึกหรือแบ่งปันข้อมูลนี้?

ภาพ
ผู้สอนศาสนาสวดอ้อนวอน

ภาระรับผิดชอบ

หลักธรรมเรื่องภาระรับผิดชอบเป็นรากฐานในแผนนิรันดร์ของพระผู้เป็นเจ้า (ดู แอลมา 5:15–19; หลักคำสอนและพันธสัญญา 104:13; 137:9) หลักธรรมนี้ส่งผลต่อวิธีที่ท่านคิดและรู้สึกเกี่ยวกับความรับผิดชอบอันศักดิ์สิทธิ์ที่พระเจ้าทรงมอบให้ท่าน ภาระรับผิดชอบส่งผลต่อวิธีทำงานของท่านเช่นกัน

ระหว่างทรงปฏิบัติศาสนกิจบนแผ่นดินโลก พระผู้ช่วยให้รอดทรงมอบหมายงานให้สาวกของพระองค์เพื่อช่วยให้พวกเขาเติบโต พัฒนา และทำงานของพระองค์สำเร็จ พระองค์ทรงเปิดโอกาสให้พวกเขารับผิดชอบงานที่ทรงมอบให้พวกเขาทำด้วย (ดู ลูกา 9:10; 3 นีไฟ 23:6–13) ในฐานะผู้สอนศาสนา ท่านรับผิดชอบงานที่พระเจ้าทรงมอบให้ท่านทำเช่นเดียวกัน

จงทำการตั้งเป้าหมายและการวางแผนของท่านโดยมีความคิดว่าท่านจะต้องรายงานต่อพระเจ้าผ่านการสวดอ้อนวอนทุกวัน จงรับผิดชอบต่อตัวท่านเองและต่อผู้นำคณะเผยแผ่ของท่านด้วย

การรายงานควรเป็นประสบการณ์เชิงบวกที่แสดงความรักเพื่อให้รับรู้ความพยายามของท่านและท่านระบุวิธีที่ท่านจะปรับปรุง

การศึกษาพระคัมภีร์

รับผิดชอบหมายความว่าอย่างไร?

เหตุใดสิทธิ์เสรีจึงสำคัญต่อภาระรับผิดชอบ?

ผู้สอนศาสนาและผู้นำคณะเผยแผ่ควรทำงานร่วมกันอย่างไร?

พระเจ้าทรงสัญญาอะไรกับคนที่ซื่อสัตย์ในหน้าที่รับผิดชอบของตน?


แนวคิดสำหรับการศึกษาและการประยุกต์ใช้

การศึกษาส่วนตัว

  • พิจารณาประโยคต่อไปนี้จากจดหมายเรียกของท่าน: “เมื่อท่านทุ่มเทเวลาและความตั้งใจให้กับการรับใช้พระเจ้า โดยทิ้งเรื่องส่วนตัวอื่นๆ ไว้เบื้องหลังจนหมดสิ้น พระเจ้าจะทรงอวยพรท่านให้มีความรู้และประจักษ์พยานเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู” ถามคำถามต่อไปนี้กับตัวท่านเอง และบันทึกความประทับใจของท่าน

    • ฉันกำลังทำอย่างไรกับการทุ่มเทเวลาและความตั้งใจให้กับการรับใช้พระเจ้า?

    • ฉันเคยประสบพรอะไรบ้าง?

    • ประจักษ์พยานของฉันเข้มแข็งขึ้นอย่างไร?

    • ฉันจะปรับปรุงได้อย่างไร?

  • ใช้เวลาสักครู่คิดถึงวันสุดท้ายของท่านในสนามเผยแผ่ เมื่อวันนั้นมาถึง:

    • ท่านต้องการให้ความสัมพันธ์ของท่านกับพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์เป็นอย่างไร?

    • ท่านอยากเป็นอะไร?

    ในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของท่านให้เขียนคำตอบของคำถามแต่ละข้อเหล่านี้ ใช้กระบวนการตั้งเป้าหมายเพื่อวางแผนว่าท่านจะทำอะไรได้บ้างตอนนี้เพื่อทำงานให้บรรลุเป้าหมายเหล่านี้ บันทึกแผนของท่าน

การศึกษากับคู่และการสลับคู่

  • ใช้แอปสั่งสอนกิตติคุณของเราตอบคำถามดังนี้:

    • บันทึกทั้งหมดถูกต้องและเป็นปัจจุบันหรือไม่?

    • ผู้สอนศาสนาคนใหม่ในเขตจะได้ประโยชน์จากบันทึกความพยายามของท่านเพื่อหาคนใหม่ให้สอนหรือไม่?

    • ถ้าท่านต้องทบทวนแอปตอนนี้ แอปจะช่วยให้ท่านรู้หรือไม่ว่าพวกเขาอยู่จุดไหน? จะช่วยให้ท่านรู้ความก้าวหน้าของพวกเขาหรือไม่?

สภาดิสตริกท์ การประชุมโซน และสภาผู้นำคณะเผยแผ่

  • เชิญผู้สอนศาสนาแบ่งปันประสบการณ์เรื่องเป้าหมายที่พวกเขาตั้งไว้และแผนที่ทำไว้เพื่อช่วยให้ผู้คนก้าวหน้า ตัวอย่างอาจจะได้แก่ เป้าหมายและแผนที่จะช่วยให้ผู้คน:

    • มีศรัทธาในพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น

    • กลับใจและทำการเปลี่ยนแปลงเพื่อมาใกล้พระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น

    • รับบัพติศมาและการยืนยัน

    • กลับมาโบสถ์และต่อพันธสัญญาบัพติศมาของพวกเขา

  • อ่านสถานการณ์ต่อไปนี้ให้ผู้สอนศาสนาฟังหนึ่งสถานการณ์ ให้ผู้สอนศาสนาแบ่งเป็นกลุ่มเล็กๆ ให้แต่ละกลุ่มใช้ ขั้นตอน 1 และ 2 ในกระบวนการตั้งเป้าหมายเพื่อช่วยให้คนในตัวอย่างเหล่านี้ก้าวหน้าจนถึงบัพติศมาและการยืนยัน ให้แต่ละกลุ่มแบ่งปันแนวคิดของตน

    • คนที่ท่านสอนได้ยอมรับคำเชื้อเชิญให้มาโบสถ์สัปดาห์นี้

    • คนนั้นยอมรับคำเชื้อเชิญให้รับบัพติศมาและได้ตั้งเป้าหมายกับท่านว่าจะรับบัพติศมา

    • คนนั้นได้ยอมรับคำเชื้อเชิญให้อ่านพระคัมภีร์มอรมอนและให้คำมั่นสัญญาว่าจะอ่าน 1 นีไฟ 1

  • เชื้อเชิญให้ผู้สอนศาสนาใช้แอปสั่งสอนกิตติคุณของเราช่วยพวกเขาตั้งเป้าหมายที่ทำได้จริงแต่ยืดหยุ่นได้โดย:

    • ทบทวนประวัติตัวบ่งชี้หลักและความก้าวหน้าที่ผ่านมา

    • ตั้งเป้าหมายประจำวัน ประจำสัปดาห์ และประจำเดือน

    • เพิ่มชื่อคนลงในเป้าหมายตัวบ่งชี้หลัก

    สนทนาว่าขั้นตอนเหล่านี้จะช่วยให้ผู้สอนศาสนาวางแผนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้อย่างไรขณะพวกเขาช่วยให้ผู้คนก้าวหน้า ขอให้ผู้สอนศาสนาพิจารณาดังนี้:

    • ท่านจะใช้แอปสั่งสอนกิตติคุณของเราในอนาคตอย่างไรขณะวางแผน?

    • ท่านได้ค้นพบวิธีใดอีกบ้างในการใช้แอปให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น?

ผู้นำคณะเผยแผ่และที่ปรึกษาคณะเผยแผ่

  • ทบทวนแอปสั่งสอนกิตติคุณของเราบ่อยๆ เชื้อเชิญให้แบ่งปันว่าพวกเขาใช้แอปติดตามเป้าหมายและแผนของตนและช่วยให้ผู้คนก้าวหน้าอย่างไร

  • สังเกตช่วงวางแผนประจำสัปดาห์หรือประจำวันของผู้สอนศาสนาเป็นครั้งคราว

ภาคผนวก 1

ประยุกต์ใช้กระบวนการตั้งเป้าหมายในการทำงานกับคนที่ท่านสอน

หมวดนี้จะให้ตัวอย่างวิธีที่ท่านจะประยุกต์ใช้กระบวนการตั้งเป้าหมายเพื่อช่วยคนที่ท่านสอน

1. ตั้งเป้าหมายและวางแผน

พิจารณาความต้องการทางวิญญาณของคนที่ท่านสอนร่วมกับการสวดอ้อนวอน ตั้งเป้าหมายและวางแผนเพื่อช่วยให้พวกเขาบรรลุความต้องการเหล่านี้ ใช้แอปสั่งสอนกิตติคุณของเราทบทวนความก้าวหน้าของแต่ละคน ใช้ตัวบ่งชี้หลักสำหรับการเปลี่ยนใจเลื่อมใสเพื่อระบุการกระทำที่จะช่วยให้แต่ละคนเดินก้าวต่อไปในการมาหาพระคริสต์

ขณะตั้งเป้าหมายและวางแผน ให้ถามคำถามทำนองนี้กับตัวท่านเอง:

  • คนนี้กำลังเลือกทำอะไรบ้างที่แสดงให้เห็นว่ามีศรัทธาเพิ่มขึ้นในพระเยซูคริสต์?

  • คนนี้กำลังมีประสบการณ์อะไรบ้างกับพระวิญญาณ?

  • เขาอาจจะกำลังเจอความท้าทายอะไรบ้าง?

  • เราสามารถเรียนรู้อะไรได้อีกบ้างจากคนนี้เพื่อช่วยเขา?

  • ต้องเกิดอะไรขึ้นเพื่อช่วยคนนี้พัฒนาศรัทธาในพระเยซูคริสต์ รู้สึกและรับรู้พระวิญญาณ กลับใจ และรับบัพติศมา?

  • เราจะเตรียมเข้าร่วมการประชุมประสานงานประจำสัปดาห์ของวอร์ดได้อย่างไรเพื่อให้ผู้นำวอร์ดและสมาชิกมีส่วนช่วยคนนี้? (ดู บทที่ 13)

  • เราจะตั้งเป้าหมายตัวบ่งชี้หลักอะไรบ้างที่สะท้อนศรัทธาของเราในพระเจ้า?

2. บันทึกและกำหนดแผนของท่าน

ใช้แอปสั่งสอนกิตติคุณของเราบันทึกและกำหนดเป้าหมายกับแผนของท่านอย่างละเอียด นี่จะช่วยท่านจัดระบบการทำงานและระบุสิ่งที่จะทำในแต่ละวัน ทำตามกฎหมายความเป็นส่วนตัวของข้อมูลสำหรับเขตของท่าน

เมื่อท่านบันทึกและกำหนดแผนของท่าน ให้ถามคำถามทำนองนี้กับตัวท่านเอง:

  • เราจะทำสิ่งจำเพาะเจาะจงอะไรได้บ้างวันนี้และสัปดาห์นี้เพื่อสนับสนุนความก้าวหน้าของคนนี้?

  • หลักคำสอน (หรือบทเรียน) ใดจะช่วยคนนี้พัฒนาศรัทธาให้แรงกล้ามากขึ้นในพระเยซูคริสต์และดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ? เราจะสอนหลักคำสอนนี้ให้เขาเข้าใจและได้รับการจรรโลงใจจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้อย่างไร?

  • เราจะยืนยันนัดหมายอย่างไรและเมื่อใด?

  • เราควรให้หรือติดตามผลคำเชื้อเชิญอะไรบ้าง? เราจะติดตามผลอย่างไรและเมื่อใด?

  • เราจะช่วยให้คนนั้นมาโบสถ์ อ่านพระคัมภีร์ สวดอ้อนวอน และรักษาคำมั่นสัญญาที่นำไปสู่การทำพันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้าอย่างไรและเมื่อใด?

  • สมาชิกจะมีส่วนร่วมได้อย่างไร?

  • เราจะแบ่งปันแหล่งข้อมูลออนไลน์อะไรให้กับคนนั้นได้บ้าง?

  • เราจะทำแผนสำรองอะไรได้บ้างถ้าบางอย่างไม่เป็นไปตามแผน?

3. ทำตามแผนของท่าน

ให้สวดอ้อนวอนในใจตลอดวันขณะท่านทำตามแผน พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าต้องไปที่ไหน ทำอะไร พูดอะไร และทำการปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง

ระหว่างวันให้ถามคำถามทำนองนี้กับตัวท่านเอง:

  • เราจะทำงานด้วยศรัทธาโดยวางใจว่าพระเจ้าจะทรงช่วยเหลือเราและขยายความพยายามของเราในการรับใช้ลูกๆ ของพระองค์ได้อย่างไร?

  • เราจะสร้างสรรค์และกล้าหาญเมื่อกำลังทำตามแผนของเราได้อย่างไร?

  • เราจะปรับแผนของเราตามความต้องการและสภาวการณ์ของผู้คนได้อย่างไร?

แผนจะไม่เป็นไปตามที่เราหวังเสมอไป จงยืดหยุ่นและใช้แผนสำรองเมื่อจำเป็น

4. ทบทวนความก้าวหน้าและติดตามผล

ทบทวนความก้าวหน้าสู่เป้าหมายที่ท่านกับคู่ตั้งไว้เพื่อสอนผู้คนและช่วยให้พวกเขาก้าวหน้า วางแผนวิธีติดตามผล ปรับแผนเมื่อจำเป็นขณะท่านมุ่งมั่นทำให้บรรลุเป้าหมาย

ถามคำถามทำนองนี้กับตัวท่านเอง:

  • คนที่เราสอนกำลังมุ่งสู่การทำพันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้าหรือไม่?

  • พวกเขาเจอความท้าทายอะไรบ้าง? พวกเขามีข้อกังวลอะไรบ้าง?

  • วันนี้เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยพวกเขาและกระตุ้นพวกเขาให้ทำ—เมื่อเจอตัวหรือผ่านเทคโนโลยี?

  • พวกเขากำลังมีประสบการณ์กับการรู้สึกถึงพระวิญญาณหรือไม่?

  • พวกเขาเชื่อมสัมพันธ์กับผู้นำและสมาชิกศาสนจักรและสร้างมิตรภาพหรือไม่? ใครจะร่วมสอนกับเราครั้งต่อไป?

  • เราเรียนรู้อะไรบ้างจากความล้มเหลว?

  • เราทำได้ดีแค่ไหนในการบรรลุเป้าหมายของเรา? มีอะไรที่เราควรปรับหรือทำต่างจากเดิมหรือไม่?

  • ถึงเวลาต้องติดต่อน้อยลงหรือไม่?

ดูหลักธรรมและแนวคิดเพิ่มเติมจาก บทที่ 11 เกี่ยวกับวิธีติดตามผลและช่วยให้ผู้คนก้าวหน้า

ภาคผนวก 2

ประยุกต์ใช้กระบวนการตั้งเป้าหมายในการหาคนเรียน

หมวดนี้จะให้ตัวอย่างวิธีที่ท่านจะประยุกต์ใช้กระบวนการตั้งเป้าหมายกับการหาคนใหม่ให้สอน ใช้กระบวนการนี้ในการวางแผนประจำสัปดาห์และประจำวันของท่าน

1. ตั้งเป้าหมายและวางแผน

พิจารณากับคู่ร่วมกับการสวดอ้อนวอนว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงประสงค์ให้ท่านกับคู่ทำอะไรเพื่อหาคนเรียนเพิ่ม ทำเช่นนี้ทุกสัปดาห์และทุกวัน มีศรัทธาว่าพระองค์ทรงกำลังเตรียมคนให้ท่าน (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 100:3–8)

ตั้งเป้าหมายหาคนทุกวัน วางแผนทำสิ่งที่อยู่ในการควบคุมของท่านซึ่งมีผลต่อผลลัพธ์ของตัวบ่งชี้หลัก ตัวอย่างได้แก่:

  • ท่านจะพูดคุยกับคนใหม่เกี่ยวกับพระกิตติคุณวันละกี่คน

  • ท่านจะถามสมาชิก คนที่ท่านสอน และคนที่ท่านติดต่อกี่ครั้งว่าพวกเขารู้จักคนที่น่าจะสนใจข่าวสารของท่านไหม

  • ท่านจะตอบรับรายชื่อแนะนำหรือความเห็นบนโพสต์โซเชียลมีเดียเร็วแค่ไหน

ทบทวนแอปสั่งสอนกิตติคุณของเราและถามคำถามทำนองนี้กับตัวท่านเอง:

  • พระบิดาบนสวรรค์ทรงประสงค์ให้เราทำอะไรวันนี้และสัปดาห์นี้เพื่อหาคนเรียน?

  • เราจะตั้งเป้าหมายตัวบ่งชี้หลักประจำวันและประจำสัปดาห์อะไรบ้างเพื่อหาคนเรียน?

  • กิจกรรมหาคนกิจกรรมใดดีที่สุดสำหรับวันเวลานี้และสถานที่นี้?

  • เราจะสร้างแรงบันดาลใจและสนับสนุนสมาชิกวอร์ดในการพยายามแบ่งปันพระกิตติคุณผ่านหลักธรรมของการรัก แบ่งปัน และเชื้อเชิญได้อย่างไร?

  • เราจะติดต่อสมาชิกใหม่คนใดให้ช่วยพวกเขาเข้าร่วมการประชุมศีลระลึก? พวกเขามีเพื่อนที่พวกเขาจะชวนมาหรือไม่?

  • เราจะทำงานกับสภาวอร์ดหรือผู้เข้าร่วมการประชุมประสานงานประจำสัปดาห์ของวอร์ดได้อย่างไรเพื่อทราบชื่อและติดต่อครอบครัวที่มีบางคนเป็นสมาชิก สมาชิกที่กลับมา และผู้หวังเป็นเอ็ลเดอร์?

  • เราจะติดต่อคนใดที่เรียนอยู่ เคยเรียน และมีคนแนะนำมา? เราจะติดต่อพวกเขาอย่างไร? (เจอตัว ผ่านเทคโนโลยี ทางโทรศัพท์ หรือวิธีอื่น)

  • มีวิธีใหม่ๆ ใดบ้างที่เราจะหาคนได้?

  • เราจะใช้พรสวรรค์ส่วนตัวและจุดแข็งอะไรบ้าง?

  • เราจะปรับปรุงความสามารถในการหาคนเรียนได้อย่างไร?

  • เราจะช่วยให้คนที่เราติดต่อรู้สึกถึงอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้อย่างไร?

ดูตัวอย่างกิจกรรมหาคนใน บทที่ 9, 10 และ 13

ใช้แอปสั่งสอนกิตติคุณของเราช่วยท่านระบุกิจกรรมหาคนที่ได้ผลในอดีต ตัวอย่างเช่น ท่านจะเห็นวิธีหาผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสใหม่

แสวงหาการดลใจและเปิดรับการกระตุ้นเตือนและแนวคิดใหม่ๆ อย่ามัวแต่ทำกิจวัตรประจำวัน ผู้สอนศาสนาที่เจอคนใหม่ให้สอนตลอดมักใช้หลายวิธีในแต่ละสัปดาห์ พวกเขาหาตลอด

2. บันทึกและกำหนดแผนของท่าน

ใช้แอปสั่งสอนกิตติคุณของเราบันทึกและกำหนดเป้าหมายและแผนของท่านกับคู่อย่างละเอียด การบันทึกและกำหนดแผนของท่านจะช่วยให้ท่านทราบว่าจะทำอะไรและทำเมื่อใด

ถามคำถามทำนองนี้กับตัวท่านเอง:

  • เราจะติดต่อผู้คนเมื่อใดและอย่างไร? วิธีใดดีที่สุด? สถานที่ใดดีที่สุด? เวลาใดของวันดีที่สุดสำหรับการหาคนในแต่ละวิธี?

  • เราจะมีการสนทนาที่มีความหมายกับคนที่เราพบได้อย่างไร?

  • เราจะหาออนไลน์อย่างไรและเมื่อใดโดยใช้โซเชียลมีเดียและเทคโนโลยีอื่น?

  • เราจะติดต่อรายชื่อแนะนำเมื่อใด?

  • เราจะวางแผนสำรองอะไรบ้างเมื่อแผนอื่นล้มเหลว?

3. ทำตามแผนของท่าน

มุ่งมั่นทำให้บรรลุเป้าหมายของท่านอย่างขยันหมั่นเพียรเพื่อหาคนเรียน สวดอ้อนวอนในใจตลอดวัน เปิดใจทักทายและพูดคุยกับคนที่ท่านพบ พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าต้องไปที่ไหน ทำอะไร พูดอะไร และทำการปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง

ระหว่างวันให้ถามคำถามทำนองนี้กับตัวท่านเอง:

  • เราจะทำงานด้วยศรัทธาโดยวางใจว่าพระเจ้าจะทรงช่วยเหลือเราและขยายความพยายามของเราในการรับใช้ลูกๆ ของพระองค์ได้อย่างไร?

  • เราจะสร้างสรรค์และกล้าหาญเมื่อกำลังทำตามแผนของเราได้อย่างไร?

  • เราจะปรับแผนของเราตามความต้องการและสภาวการณ์ของผู้คนได้อย่างไร?

  • เราจะช่วยให้ผู้คนรู้สึกถึงอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้อย่างไร?

แผนจะไม่เป็นไปตามที่เราหวังเสมอไป จงยืดหยุ่นและใช้แผนสำรองเมื่อจำเป็น

4. ทบทวนความก้าวหน้าและติดตามผล

ตลอดวันและตลอดสัปดาห์จงทบทวนความก้าวหน้าร่วมกับการสวดอ้อนวอนในการบรรลุเป้าหมายของท่านเพื่อหาคนเรียน ถามคำถามทำนองนี้กับตัวท่านเอง:

  • เราทำได้ดีแค่ไหนในการบรรลุเป้าหมายและทำตามแผนของเรา?

  • เราควรปรับเปลี่ยนอะไรบ้างเพื่อบรรลุเป้าหมายในการหาคนของเรา?

  • เราจะหลีกเลี่ยงการทำกิจวัตรที่ไม่มีประสิทธิผลในการหาคนเรียนได้อย่างไร?

  • เราจะลองทำสิ่งใหม่ๆ อะไรได้บ้างในช่วงเวลานี้ของวัน?

  • เราจะสนทนาแนวคิดอะไรได้บ้างในการประชุมประสานงานประจำสัปดาห์ของวอร์ดเพื่อช่วยเราหาคนเรียน? (ดู บทที่ 13)

ใช้แผนภูมิ “การพยายามหาคน” ในบทที่ 9 กับคู่เพื่อประเมินความพยายามในการหาคนประจำสัปดาห์และประจำวันของท่าน รับรู้สิ่งเหล่านั้นที่ท่านทำได้ดีและคิดหาวิธีปรับปรุง

หยุดพักช่วงสั้นๆ ตลอดวันเพื่อรับรู้พระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าในงานของท่าน

พิมพ์