“บทที่ 10: สอนให้สร้างศรัทธาในพระเยซูคริสต์” สั่งสอนกิตติคุณของเรา: คู่มือแนะแนวการแบ่งปันพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ (2023)
“บทที่ 10” สั่งสอนกิตติคุณของเรา
บทที่ 10
สอนให้สร้างศรัทธาในพระเยซูคริสต์
ท่านได้รับเรียกให้สอนพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์ให้กับคนมากเท่าที่จะรับท่าน การสอนเป็นหัวใจของทุกสิ่งที่ท่านทำ เมื่อท่านพึ่งพาความช่วยเหลือจากพระเจ้า พระองค์ทรงสัญญาว่า:
“และผู้ใดที่รับเจ้า, ที่นั่นเราจะอยู่ด้วย, เพราะเราจะไปเบื้องหน้าเจ้า. เราจะอยู่ทางขวามือเจ้าและทางซ้ายเจ้า, และพระวิญญาณของเราจะอยู่ในใจเจ้า, และเหล่าเทพของเราห้อมล้อมเจ้า, เพื่อประคองเจ้าไว้” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:88)
สวดอ้อนวอน ศึกษา และฝึกฝนเพื่อปรับปรุงความสามารถด้านการสอนของท่าน ประยุกต์ใช้หลักธรรมในบทนี้และในบทอื่นของหนังสือนี้ แสวงหาของประทานแห่งการสอนอย่างจริงใจเพื่อท่านจะสามารถเป็นพรแก่ผู้อื่นและสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าจะทรงช่วยให้ท่านสอนด้วยพลังอำนาจและสิทธิอำนาจเมื่อท่านแสวงหาพระองค์อย่างขยันหมั่นเพียรและเรียนรู้พระวจนะของพระองค์
พยายามสอนดังพระผู้ช่วยให้รอดทรงสอน
ในระหว่างการปฏิบัติศาสนกิจบนแผ่นดินโลก พระเยซู “เสด็จไป … ทรงสั่งสอน … ทรงประกาศ … และทรงรักษา” (มัทธิว 4:23) พระองค์ทรงสอนในสภาวะแวดล้อมต่างๆ—ในธรรมศาลา ในบ้าน และตามถนน ทรงสอนท่ามกลางคนกลุ่มใหญ่และในการสนทนาส่วนตัว ปฏิสัมพันธ์อันทรงพลังที่สุดของพระองค์บางครั้งสั้นมากหรืออยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ผิดธรรมดา พระองค์ทรงสอนผ่านการกระทำและคำพูด
พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนแต่ละคนตามความต้องการเฉพาะตน ตัวอย่างเช่น เมื่อรับใช้คนง่อย พระองค์ทรงให้อภัยบาปของเขาและทรงรักษาเขา (ดู มาระโก 2:1–12) เมื่อทรงปฏิบัติศาสนกิจต่อหญิงที่ล่วงประเวณี พระองค์ทรงปกป้องเธอและทรงเชื้อเชิญเธอไม่ให้ทำบาปอีก (ดู ยอห์น 8:2–11) เมื่อตรัสกับคนร่ำรวยผู้ปรารถนาชีวิตนิรันดร์ พระองค์ “ทรง [รัก] เขา” ทั้งที่เขาไม่ยอมรับพระดำรัสเชื้อเชิญให้ติดตามพระองค์ (มาระโก 10:21; ดู ข้อ 17–21)
ท่านสามารถปรับปรุงการสอนของท่านได้โดยเรียนรู้วิธีที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอน ตัวอย่างเช่น พระองค์ทรงรักพระบิดาและคนที่พระองค์ทรงสอน พระองค์ทรงสวดอ้อนวอนตลอดเวลา ทรงสอนจากพระคัมภีร์ ทรงเตรียมทางวิญญาณ ทรงถามคำถามที่ได้รับการดลใจ ทรงเชื้อเชิญให้ผู้คนปฏิบัติด้วยศรัทธา และทรงเปรียบหลักธรรมพระกิตติคุณกับชีวิตประจำวัน
การแสวงหาเพื่อสอนดังพระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนเป็นความพยายามชั่วชีวิต ท่านจะสอนดังพระองค์ได้มากขึ้นเป็นบรรทัดมาเติมบรรทัดเมื่อท่านทำตามพระองค์ (ดู 2 นีไฟ 28:30; อีเธอร์ 12:41)
“หมายมั่นให้ได้คำของเรา”
เพื่อสอนพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ ท่านต้องรู้หลักคำสอนและหลักธรรมเบื้องต้นของพระกิตติคุณ ท่านต้องมีความรู้ทางวิญญาณและการยืนยันความจริงพระกิตติคุณด้วย พระเจ้าตรัสว่า “อย่าหมายมั่นจะประกาศคำของเรา, แต่ก่อนอื่น จงหมายมั่นให้ได้คำของเรา”
“ให้ได้” พระวจนะของพระเจ้าหมายถึงศึกษาและให้พระวจนะนั้นฝังลึกในใจท่าน เมื่อท่านพยายามทำเช่นนี้ พระองค์ทรงสัญญาว่า “จากนั้นเราจะปลดปล่อยลิ้นของเจ้า; จากนั้น, หากเจ้าปรารถนา, เจ้าจะมีพระวิญญาณของเราและคำของเรา, แท้จริงแล้ว, อำนาจของพระผู้เป็นเจ้าในการสร้างความเชื่อมั่นแก่มนุษย์” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 11:21)
พระเจ้าตรัสเช่นกันให้ “สั่งสมถ้อยคำแห่งชีวิตไว้ในความคิดเจ้าเสมอไป” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:85) การสั่งสมพระวจนะของพระเจ้าจะเพิ่มพูนความรู้และเสริมสร้างประจักษ์พยานของท่าน ความปรารถนาและความสามารถของท่านในการสอนพระกิตติคุณจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน (ดู เจคอบ 4:6–7; แอลมา 32:27–42; 36:26; 37:8–9)
จงให้ได้และสั่งสอนพระวจนะของพระเจ้าร่วมกับการสวดอ้อนวอนโดยศึกษาพระคัมภีร์ ถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตอยู่ และบทเรียนใน บทที่ 3
สอนโดยพระวิญญาณ
พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เป็น “ฤทธานุภาพของพระเจ้าเพื่อให้ทุกคนที่เชื่อได้รับความรอด” (โรม 1:16) เพราะเหตุนี้จึงต้องสอนข่าวสารเรื่องการฟื้นฟูพระกิตติคุณโดยฤทธานุภาพของพระเจ้า—อำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์
สิ่งสำคัญคือท่านต้องพัฒนาทักษะการสอน สิ่งสำคัญอีกอย่างคือท่านต้องเรียนรู้หลักคำสอนและหลักธรรมที่ท่านสอนด้วย อย่างไรก็ดี เมื่อสอนความจริงทางวิญญาณ ท่านจะไม่พึ่งความสามารถและความรู้ของท่านเป็นหลัก
ความจริงทางวิญญาณสอนโดยอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ พระเจ้าตรัสว่า “และจะประทานพระวิญญาณแก่เจ้าโดยคำสวดอ้อนวอนจากศรัทธา; และหากเจ้าไม่ได้รับพระวิญญาณ เจ้าจะไม่สอน” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:14; และ หลักคำสอนและพันธสัญญา 50:13–14, 17–22)
ความหมายของการสอนโดยพระวิญญาณ
เมื่อท่านสอนโดยพระวิญญาณ ท่านสวดอ้อนวอนขอให้มีอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ในการสอนของท่าน ท่านสวดอ้อนวอนขอให้ผู้คนรับความจริงโดยพระวิญญาณด้วย ผู้คนอาจถูกโน้มน้าวใจให้เชื่อความจริงบางอย่าง แต่เพื่อเปลี่ยนใจเลื่อมใส พวกเขาต้องมีประสบการณ์กับพระวิญญาณ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 8:2–3)
เตรียมตัวท่านให้พร้อมเป็นเครื่องมือที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงสามารถสอนผ่านท่านได้ ให้คิดว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นคู่สอนของท่าน
พึ่งพาพระวิญญาณให้ทรงช่วยท่านรู้ว่าจะพูดอะไร พระองค์จะทรงทำให้ท่านรำลึกถึงหลักคำสอนที่ท่านศึกษามาแล้ว พระองค์จะทรงช่วยท่านวางแผนและปรับสิ่งที่ท่านสอนตามความต้องการของคนนั้น
เมื่อท่านสอนโดยพระวิญญาณ พระองค์จะทรงนำข่าวสารของท่านไปสู่ใจผู้คน พระองค์จะทรงยืนยันข่าวสารของท่านเมื่อท่านแสดงประจักษ์พยาน ท่านและคนเหล่านั้นผู้รับสิ่งที่ท่านสอนโดยพระวิญญาณจะได้รับการจรรโลงใจ เข้าใจกัน และชื่นชมยินดีด้วยกัน (ดู 2 นีไฟ 33:1; หลักคำสอนและพันธสัญญา 50:13–22)
“พระวิญญาณเป็นองค์ประกอบเดียวที่สำคัญที่สุดในงานนี้ เนื่องด้วยพระวิญญาณทรงขยายการเรียกของท่าน ท่านจึงสามารถทำปาฏิหาริย์แทนพระเจ้าในสนามเผยแผ่ได้ หากปราศจากพระวิญญาณ ท่านจะไม่มีวันประสบความสำเร็จ ถึงแม้ ท่านจะมีพรสวรรค์และความสามารถเพียงใดก็ตาม” (เอสรา แทฟท์ เบ็นสัน, การสัมมนาประธานคณะเผยแผ่คนใหม่ 25 มิ.ย. 1986)
คำสัญญาของการเรียกของท่าน
ท่านได้รับการเรียกและการวางมือมอบหน้าที่ให้ “สั่งสอนกิตติคุณของเราโดยพระวิญญาณ, แม้พระผู้ปลอบโยนซึ่งเราส่งออกไปสอนความจริง” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 50:14) บางครั้งท่านอาจรู้สึกประหม่าหรือไม่ดีพอ บางทีท่านอาจกังวลว่าท่านรู้ไม่มากพอ หรือว่าท่านมีประสบการณ์ไม่มากพอ
พระบิดาบนสวรรค์ของท่านผู้ทรงรู้จักท่านอย่างสมบูรณ์ทรงเรียกท่านเพราะสิ่งที่ท่านสามารถให้ได้ในฐานะผู้ติดตามที่มุ่งมั่นของพระเยซูคริสต์ พระองค์จะไม่ทรงทอดทิ้งท่าน จงวางใจว่าพระวิญญาณจะทรงขยายความสามารถของท่านและจะทรงสอนความจริงแก่คนที่เปิดรับ
เอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็นกล่าวว่า “ขณะตรึกตรองความท้าทายของงานเผยแผ่ ข้าพเจ้ารู้สึกไม่ดีพอและไม่พร้อมเลย จำได้ว่าข้าพเจ้าสวดอ้อนวอนดังนี้ ‘พระบิดาบนสวรรค์ ข้าพระองค์จะสามารถรับใช้งานเผยแผ่ได้อย่างไรเมื่อข้าพระองค์รู้เพียงเล็กน้อย?’ ข้าพเจ้าเชื่อในศาสนจักร แต่รู้สึกว่าตนมีความรู้ทางวิญญาณจำกัดมาก ขณะสวดอ้อนวอน ความรู้สึกเกิดขึ้นว่า ‘เจ้าไม่รู้ทุกอย่าง แต่เจ้ารู้มากพอ!’ ความมั่นใจนั้นทำให้ข้าพเจ้ากล้าก้าวต่อไปในสนามเผยแผ่” (ดู “ท่านรู้มากพอ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 13)
อัญเชิญพระวิญญาณขณะที่ท่านเริ่มสอน
ช่วงไม่กี่นาทีแรกกับผู้คนสำคัญมาก จงจริงใจและเคารพ แสดงความสนใจและความรักที่จริงใจ พยายามให้ได้ความไว้วางใจจากพวกเขา วิธีหนึ่งที่จะได้ความไว้วางใจคือเมื่อผู้คนรู้สึกว่าพระวิญญาณอยู่กับท่าน
ถามคำถามง่ายๆ สองสามข้อเพื่อช่วยให้ท่านเข้าใจภูมิหลังและความคาดหวังของพวกเขาเกี่ยวกับการเยี่ยมของท่าน ตั้งใจฟัง
ก่อนเริ่ม ให้เชิญทุกคนที่อยู่ตรงนั้นร่วมเรียนด้วย กระตุ้นให้พวกเขาเอาสิ่งรบกวนออกไปเพื่อจะรู้สึกถึงพระวิญญาณของพระเจ้าได้
อธิบายว่าท่านต้องการเริ่มและจบบทเรียนแต่ละบทด้วยการสวดอ้อนวอน เสนอตัวเป็นผู้สวดอ้อนวอนเปิด สวดอ้อนวอนให้เข้าใจง่ายและจริงใจขอให้พระผู้เป็นเจ้าทรงอวยพรคนที่ท่านสอนในชีวิตทุกๆ ด้าน สวดอ้อนวอนขอให้พวกเขารู้สึกถึงความจริงที่ท่านจะสอน จำไว้ว่า “คำวิงวอนของผู้ชอบธรรมนั้นมีพลังมากและเกิดผล” (ยากอบ 5:16)
มีศรัทธาในอำนาจการทำให้เปลี่ยนใจเลื่อมใสของพระวิญญาณบริสุทธิ์ เมื่อพระวิญญาณทรงนำ ท่านอาจแสดงความคิดดังต่อไปนี้ขณะเริ่มสอน:
-
พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นพระบิดาบนสวรรค์ผู้ทรงรักเรา เราทุกคนเป็นพี่น้องกัน พระองค์ทรงต้องการให้เราประสบปีติ
-
เราทุกคนมีความท้าทายและอุปสรรค ไม่ว่าคุณจะประสบอะไรอยู่ก็ตาม พระเยซูคริสต์และคำสอนของพระองค์ช่วยคุณได้ พระองค์ทรงสามารถช่วยให้คุณพบสันติสุข ความหวัง การเยียวยา และความสุข พระเยซูทรงสามารถช่วยให้คุณมีพลังมากขึ้นเมื่อเจอความท้าทายของชีวิต
-
เราทุกคนทำผิดพลาด ซึ่งสามารถทำให้เกิดความรู้สึกผิด ความอับอาย และความเสียใจ ความรู้สึกเหล่านี้จะหายไปเมื่อเรากลับใจและแสวงหาการให้อภัยของพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น เราจะหายขาดจากบาปของเราได้โดยผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์เท่านั้น
-
เราจะเป็นผู้ชี้ทางให้คุณได้เรียนรู้ความจริงจากข่าวสารของเราด้วยตัวคุณเอง เราขอเชื้อเชิญให้คุณทำบางอย่าง เช่น อ่านพระคัมภีร์ สวดอ้อนวอน และมาโบสถ์ บทบาทของเราคือช่วยให้คุณทำตามคำเชื้อเชิญเหล่านี้และอธิบายพรที่คุณจะได้รับ เชิญถามคำถาม
-
เราได้รับเรียกจากศาสดาพยากรณ์ของพระผู้เป็นเจ้าให้แบ่งปันสิ่งที่เรารู้ เรารู้ว่าข่าวสารของเราเป็นความจริง
-
เราจะสอนคุณให้รู้วิธีทำพันธสัญญาหรือคำสัญญาพิเศษกับพระผู้เป็นเจ้า พันธสัญญาเหล่านี้จะเชื่อมโยงคุณกับพระผู้เป็นเจ้าและทำให้คุณได้รับปีติ ความเข้มแข็ง และคำสัญญาพิเศษจากพระองค์
-
คุณจะเรียนรู้วิธีทำการเปลี่ยนแปลงในชีวิต ทำตามพระเยซูคริสต์และคำสอนของพระองค์ คำสอนที่จำเป็นเรื่องหนึ่งของพระเยซูคริสต์ และพันธสัญญาแรกที่เราทำ คือทำตามแบบอย่างของพระองค์และรับบัพติศมาโดยสิทธิอำนาจที่ถูกต้อง (ดู ยอห์น 3:5; หลักคำสอนและพันธสัญญา 22)
ก่อนสอนบทเรียน ท่านจะให้ภาพรวมง่ายๆ ของสิ่งที่จะสอน ช่วยให้ผู้คนเห็นว่าสิ่งนั้นเกี่ยวข้องกับพวกเขาอย่างไร ตัวอย่างเช่น ท่านอาจจะพูดว่า “เราอยู่ที่นี่เพื่อแบ่งปันข่าวสารว่าพระเยซูคริสต์ได้ทรงสถาปนาศาสนจักรของพระองค์บนโลกทุกวันนี้และทรงเรียกศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตอยู่ให้นำทางเรา” หรือท่านอาจจะพูดว่า “เราอยู่ที่นี่เพื่อช่วยให้คุณรู้ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงรักคุณและมีแผนสำหรับความสุขของคุณ”
ทุกคนจะได้ประโยชน์เมื่อพวกเขายอมรับและดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ พระบิดาบนสวรรค์อาจทรงอวยพรคนที่ท่านพบด้วยการเตรียมทางวิญญาณอันมีค่า (ดู แอลมา 16:16–17)
การอัญเชิญพระวิญญาณและการแบ่งปันความจริงในการพบกันครั้งแรกจะช่วยให้ผู้คนรับรู้ว่าท่านเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า
ใช้พระคัมภีร์
งานมาตรฐานของศาสนจักรเป็นแหล่งพื้นฐานสำหรับการสอนพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์ มีหลายเหตุผลว่าทำไมการใช้พระคัมภีร์เป็นพื้นฐานการสอนของท่านจึงสำคัญอย่างยิ่ง ตัวอย่างเช่น:
-
พระคัมภีร์อัญเชิญพระวิญญาณบริสุทธิ์เข้ามาในการสอนของท่าน (ดู ลูกา 24:13–32)
-
พระคัมภีร์มีผลอันทรงพลังยิ่งต่อจิตใจผู้คนยิ่งกว่าสิ่งใด (ดู แอลมา 31:5)
-
พระคัมภีร์ตอบคำถามสำคัญๆ เรื่องจิตวิญญาณ (ดู บทที่ 5; ดู 2 นีไฟ 2:3; เจคอบ 2:8 ด้วย)
-
พระคัมภีร์ให้สิทธิอำนาจและความสมเหตุสมผลแก่การสอนของท่าน
-
พระเจ้าและศาสดาพยากรณ์ของพระองค์ตรัสให้ทำเช่นนั้น (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:12; 56–58; 71:1)
การใช้พระคัมภีร์ในการสอนของท่านจะช่วยให้ผู้อื่นเริ่มศึกษาพระคัมภีร์ด้วยตนเอง เมื่อประจักษ์ชัดว่าท่านรักพระคัมภีร์ นั่นจะกระตุ้นพวกเขาให้ศึกษา จงแสดงให้เห็นว่าการศึกษาพระคัมภีร์จะช่วยให้พวกเขาเรียนรู้พระกิตติคุณและรู้สึกถึงความรักของพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร ยกตัวอย่างวิธีที่พระคัมภีร์จะช่วยให้พวกเขาพบคำตอบของคำถาม ได้รับการนำทางและความเข้มแข็ง
จงอุทิศตนให้แก่การศึกษาพระคัมภีร์เพื่อท่านจะสอนจากพระคัมภีร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ดู บทที่ 2) ท่านจะสามารถสอนจากพระคัมภีร์ได้ดีขึ้นเมื่อท่านศึกษาพระคัมภีร์ทุกวัน ทั้งด้วยตนเองและกับคู่
ช่วยผู้คนพัฒนาศรัทธาในพระเยซูคริสต์ผ่านการศึกษาพระคัมภีร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระคัมภีร์มอรมอน ข้อเสนอแนะต่อไปนี้อาจช่วยได้
แนะนำพระคัมภีร์
อธิบายภูมิหลังของข้อนั้นสั้นๆ ตัวอย่างต่อไปนี้แสดงให้เห็นวิธีแนะนำพระคัมภีร์บางวิธี:
-
“ในประวัติของโจเซฟ สมิธ โจเซฟบอกเราด้วยคำพูดของท่านเองว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อท่านเข้าไปสวดอ้อนวอนในป่า ท่านกล่าวว่า ‘ข้าพเจ้าเห็นลำแสง …’”
-
“ในข้อนี้ ศาสดาพยากรณ์แอลมากำลังสอนคนยากจนให้ใช้ศรัทธาในพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า เขาเปรียบเทียบพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้ากับเมล็ดพืชที่ปลูกในใจเรา คุณจะเริ่มอ่านข้อ … ได้ไหม?”
อ่านข้อพระคัมภีร์
อ่านออกเสียงข้อเหล่านี้หรือขอให้คนที่ท่านสอนอ่านออกเสียง ไวต่อความรู้สึกของคนที่มีปัญหาการอ่าน ถ้าข้อนั้นอ่านยากหรือเข้าใจยาก ให้อ่านกับพวกเขาและอธิบายเมื่อจำเป็น นิยามคำหรือวลียากๆ หรือให้พวกเขาอ่านข้อที่ง่ายกว่า เชื้อเชิญให้พวกเขามองหาประเด็นเจาะจงในข้อนั้น
ประยุกต์ใช้พระคัมภีร์
นีไฟกล่าวว่า “ข้าพเจ้าเปรียบพระคัมภีร์ทั้งหมดกับเรา, ว่ามันจะเป็นประโยชน์และเป็นการเรียนรู้ของเรา” (1 นีไฟ 19:23) “เปรียบ” หมายถึงประยุกต์ใช้พระคัมภีร์กับชีวิตท่าน
เปรียบพระคัมภีร์กับคนที่ท่านสอนโดยแสดงให้เห็นว่าเรื่องราวและหลักธรรมเกี่ยวข้องกับพวกเขาเป็นส่วนตัวอย่างไร ตัวอย่างเช่น:
-
“ผู้คนของแอลมามีภาระหนักเหมือนคุณ มากจนพวกเขาแทบทนไม่ไหว แต่เมื่อพวกเขาใช้ศรัทธาและสวดอ้อนวอน พระผู้เป็นเจ้าทรงเพิ่มพลังให้พวกเขาอดทนต่อความท้าทายเหล่านั้นได้ แล้วพระองค์ทรงปลดปล่อยพวกเขาจากความยากลำบากต่างๆ เหมือนที่พระองค์ทรงช่วยคนเหล่านี้ ฉันรู้ว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงช่วยคุณในความยากลำบากของคุณด้วยเมื่อคุณ …” (ดู โมไซยาห์ 24)
-
“การสอนของแอลมาที่ผืนน้ำแห่งมอรมอนประยุกต์ใช้กับเราสมัยนี้ได้ จอห์น คุณเต็มใจ … ไหม?” (ดู โมไซยาห์ 18)
สอนผู้คนให้รู้วิธี “เปรียบ” พระคัมภีร์ด้วยตนเอง การค้นพบวิธีประยุกต์ใช้ส่วนตัวจะช่วยพวกเขาประยุกต์ใช้และประสบพลังแห่งพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า
เชื้อเชิญและช่วยให้ผู้คนอ่านด้วยตนเอง
คนที่ท่านสอนต้องอ่านพระคัมภีร์ โดยเฉพาะพระคัมภีร์มอรมอนเพื่อจะมีประจักษ์พยานถึงความจริง การใช้พระคัมภีร์อย่างมีประสิทธิภาพในการสอนจะช่วยให้ผู้คนเริ่มศึกษาพระคัมภีร์ด้วยตนเอง
หลังจากการเยี่ยมแต่ละครั้ง ท่านจะเสนอบางบทหรือบางข้อให้พวกเขาอ่าน เสนอคำถามให้พวกเขาพิจารณาขณะอ่าน กระตุ้นพวกเขาให้ศึกษาพระคัมภีร์ทุกวันด้วยตนเองและกับครอบครัว ท่านอาจจะขอให้สมาชิกอ่านกับพวกเขาในช่วงระหว่างบทเรียนนี้กับบทเรียนต่อไป
ก่อนเริ่มบทเรียนต่อไป ให้ติดตามผลโดยสนทนาสิ่งที่ท่านได้เชื้อเชิญให้อ่าน เมื่อจำเป็น จงช่วยให้พวกเขาเข้าใจและ “เปรียบ” พระคัมภีร์เหล่านี้ กระตุ้นพวกเขาให้บันทึกความคิดและคำถามของตน
เมื่อท่านช่วยให้ผู้คนอ่าน ทำความเข้าใจ และประยุกต์ใช้พระคัมภีร์—โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระคัมภีร์มอรมอน—พวกเขาจะมีประสบการณ์ทางวิญญาณกับพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า พวกเขามีแนวโน้มจะอ่านด้วยตนเองและทำให้พระคัมภีร์เป็นส่วนสำคัญของชีวิต
ช่วยให้ผู้คนเข้าถึงพระคัมภีร์
พระคัมภีร์และถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตอยู่มีให้อ่านหลายวิธีและหลายภาษามากกว่าแต่ก่อน เรียนรู้ว่าแบบเล่มและแบบดิจิทัลมีอะไรให้คนที่ท่านสอนอ่านบ้าง ช่วยให้ผู้คนเข้าถึงพระคัมภีร์ในวิธีที่เหมาะกับความต้องการและความพอใจของพวกเขา พิจารณาดังนี้:
-
ถามผู้คนว่าพวกเขาชอบอ่านหรือฟังพระคัมภีร์ในภาษาใด
-
คนที่มีปัญหาการอ่าน หรือไม่เข้าใจสิ่งที่อ่าน อาจได้ประโยชน์จากการอ่านออกเสียงด้วยกันหรือฟังเทปบันทึกเสียง ทั้งหมดนี้มีให้ผ่านแอปและเว็บไซต์ฟรีของศาสนจักร
-
ถ้าคนนั้นมีอุปกรณ์ดิจิทัล จงช่วยให้เขาเข้าถึงพระคัมภีร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระคัมภีร์มอรมอน แอปพระคัมภีร์มอรมอนและคลังค้นคว้าพระกิตติคุณเป็นแอปฟรีที่แบ่งปันได้ง่าย
-
ถ้าใช้ข้อความ แช็ต หรืออีเมล ให้ส่งลิงก์หรือภาพพระคัมภีร์ไปให้ เมื่อสอนในวิดีโอแช็ต ท่านอาจจะแชร์หน้าจอเพื่อจะได้อ่านข้อต่างๆ ด้วยกัน
-
ช่วยให้ผู้คนเข้าถึงถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตอยู่
แบ่งปันประจักษ์พยานของท่าน
ประจักษ์พยานคือพยานทางวิญญาณที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ประทานให้ การแบ่งปันประจักษ์พยานคือการประกาศความรู้หรือความเชื่อเกี่ยวกับพระกิตติคุณอย่างเรียบง่ายตรงไปตรงมา การแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านจะเพิ่มพยานส่วนตัวของท่านเข้ากับความจริงที่ท่านสอนจากพระคัมภีร์
การแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเป็นวิธีอัญเชิญพระวิญญาณที่ได้ผลและช่วยให้ผู้อื่นรู้สึกถึงอิทธิพลของพระองค์ หนึ่งในพระพันธกิจของพระวิญญาณบริสุทธิ์คือเป็นพยานถึงพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ บ่อยครั้งพระองค์ทรงเป็นพยานคู่กับท่านเมื่อท่านแสดงประจักษ์พยาน
ประจักษ์พยานอันทรงพลังไม่ขึ้นอยู่กับการพูดจาคล่องแคล่วหรือความดังของเสียง—แต่ขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นและความจริงใจของใจท่าน จงระวังอย่ารีบเร่งหรือแสดงประจักษ์พยานเกินจริง ให้ผู้คนมีโอกาสรู้สึกว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นพยานต่อพวกเขาว่าสิ่งที่ท่านสอนเป็นความจริง
ประจักษ์พยานของท่านอาจเรียบง่ายเท่าๆ กับ “พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดและพระผู้ไถ่ของเรา” หรือ “ฉันได้เรียนรู้ด้วยตนเองว่าพระคัมภีร์มอรมอนเป็นความจริง” ท่านจะเล่าประสบการณ์สั้นๆ ด้วยก็ได้ว่าท่านมีประจักษ์พยานนี้ได้อย่างไร
เมื่อท่านสอน ให้แบ่งปันประจักษ์พยานเมื่อท่านรู้สึกได้รับการกระตุ้นเตือน ไม่ใช่แค่แบ่งปันตอนสอนจบ เมื่อคู่กำลังสอน จงแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเพื่อเป็นพยานปากที่สองยืนยันสิ่งที่เขาสอน
แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านว่าหลักธรรมที่ท่านสอนจะเป็นพรแก่ชีวิตบุคคลถ้าเขาจะทำตาม บอกว่าการดำเนินชีวิตตามหลักธรรมเป็นพรแก่ชีวิตท่านอย่างไร ประจักษ์พยานที่จริงใจของท่านจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมให้ผู้คนรู้สึกว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงยืนยันความจริง
วางแผนและปรับการสอนของท่านให้ตรงกับความต้องการ
แต่ละคนที่ท่านสอนไม่เหมือนกัน จงพยายามเข้าใจความสนใจทางวิญญาณ ความต้องการ และความกังวลของเขา ถามคำถามและตั้งใจฟัง ถึงแม้ท่านจะไม่เข้าใจความต้องการของคนนั้นอย่างถ่องแท้ แต่จำไว้ว่าพระบิดาบนสวรรค์เข้าพระทัย พระองค์จะทรงนำทางท่านผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์
ให้พระวิญญาทรงนำลำดับบทเรียน
ให้พระวิญญาณทรงนำลำดับการสอนบทเรียนของท่าน ท่านสามารถปรับลำดับการสอนบทเรียนให้เหมาะกับความต้องการ คำถาม และสภาวการณ์ของคนที่ท่านสอนมากที่สุด
บางครั้งท่านอาจจะรวมหลักธรรมจากบทต่างๆ เพื่อให้ตรงกับความต้องการและความสนใจของบุคคล ดูสามตัวอย่างต่อไปนี้
ยูกิพบท่านทางออนไลน์และถามว่าทำไมเพื่อนๆ ของเธอในศาสนจักรไม่ดื่มเหล้าไม่สูบบุหรี่ ท่านอาจจะสอนเธอเรื่องพรของพระบัญญัติโดยใช้หมวดต่อไปนี้จากบทที่ 3:
แซมิวเอลรู้สึกเหมือนเขาไม่เข้าหมู่เข้าพวก ท่านอาจจะสอนเขาเรื่องอัตลักษณ์และที่ของเขาในครอบครัวของพระผู้เป็นเจ้าโดยใช้หมวดต่อไปนี้จากบทที่ 3:
ทัทยานาศึกษามาหลายศาสนาและอยากรู้ว่าอะไรทำให้ศาสนจักรต่างจากศาสนาอื่น ท่านอาจจะสอนเธอเรื่องการฟื้นฟูพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์โดยใช้หมวดต่อไปนี้จากบทที่ 3:
พระบิดาบนสวรรค์ทรงรู้จักลูกๆ ของพระองค์ ดังนั้นจงแสวงหาการดลใจเพื่อทำการตัดสินใจเหล่านี้ขณะที่ท่านเตรียมสอน สวดอ้อนวอนขอของประทานแห่งการเล็งเห็นขณะตัดสินใจว่าจะสอนอะไร จงเอาใจใส่ความคิดและความรู้สึกที่มาถึงท่าน
ให้เวลาผู้คนได้ประยุกต์ใช้สิ่งที่พวกเขากำลังเรียนรู้
เมื่อท่านสอน จงให้เวลาผู้คนได้ประยุกต์ใช้สิ่งที่พวกเขากำลังเรียนรู้ (ดู 3 นีไฟ 17:2–3) มองหาวิธีที่เหมาะสมเพื่อสนับสนุนพวกเขาในการรักษาคำมั่นสัญญา จดจ่อกับการช่วยพวกเขาปฏิบัติสิ่งที่จะสร้างรากฐานของศรัทธา เช่น การสวดอ้อนวอน การอ่าน และการมาโบสถ์ นี่จะช่วยให้พวกเขาสามารถรักษาคำมั่นสัญญาเพิ่มเติมได้
เมื่อท่านวางแผนและสอน จงระมัดระวังเรื่องจำนวนข้อมูลใหม่ที่ท่านแบ่งปัน วัตถุประสงค์เบื้องต้นของการสอนของท่านคือช่วยบุคคลสร้างศรัทธาในพระเยซูคริสต์เพื่อนำไปสู่การกลับใจ วัตถุประสงค์ของท่านไม่ใช่เพื่อดูว่าท่านจะแจกจ่ายข้อมูลได้มากเพียงใด
จงสอนตามจำนวนที่เหมาะกับบุคคลนั้น ถามคำถามและตั้งใจฟังเพื่อท่านจะเข้าใจว่าเขากำลังเรียนรู้และประยุกต์ใช้สิ่งที่ท่านกำลังสอนดีเพียงใด
ความจริงที่ท่านสอน ควบคู่กับอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ สามารถส่งผลให้ผู้คนใช้สิทธิ์เสรีในวิธีที่สร้างศรัทธาของพวกเขาในพระคริสต์ เมื่อพวกเขาใช้ศรัทธาในพระเจ้าโดยประยุกต์ใช้สิ่งที่เรียนรู้ พวกเขาจะรู้โดยพระวิญญาณว่าพระกิตติคุณเป็นความจริง
ใช้โอกาสในการสอนให้หลากหลาย
โอกาสในการสอนมีหลายรูปแบบ เช่น ไปเยี่ยมด้วยตนเอง วิดีโอแช็ต โทรศัพท์ ส่งข้อความ และโซเชียลมีเดีย
เคารพเวลาของผู้คน
ทำให้การสอนของท่านเรียบง่ายและกระชับ ผู้คนมีแนวโน้มจะพบกับท่านเมื่อท่านเคารพเวลาและคำขอของพวกเขา ถามว่าพวกเขามีเวลาให้เยี่ยมเท่าใด เริ่มและจบการสนทนาตามเวลาที่ตกลงกันไว้ ไม่ว่าจะสอนแบบเจอตัวหรือทางออนไลน์ จงทราบว่าในบางที่ การโทรศัพท์หรือวิดีโอแช็ตเสียเงินมาก
ท่านจะต้องพบกันหลายครั้งเพื่อสอนหลักธรรมในหนึ่งบทเรียน ปกติแล้วการเยี่ยมสอนไม่ควรนานเกิน 30 นาทีและท่านจะสอน 5 นาทีก็ได้ ปรับการสอนของท่านตามเวลาของผู้คน
ใช้เทคโนโลยีอย่างฉลาด
ท่านมีโอกาสมากมายให้ใช้เทคโนโลยีสอนผู้คน บางคนชอบความสะดวกหรือความเป็นส่วนตัวของการปฏิสัมพันธ์ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์มากกว่า แม้แต่คนที่ท่านไปเยี่ยมแบบเจอตัวก็สามารถได้ประโยชน์จากการสนับสนุนเพิ่มเติมผ่านเทคโนโลยี พูดถึงแหล่งข้อมูลที่มีให้สื่อสาร แล้วติดตามผลและเชื่อมสัมพันธ์ต่อไป ให้ความชอบของแต่ละคนเป็นแนวทางการปฏิสัมพันธ์ของท่าน
เทคโนโลยี เช่น วิดีโอคอล จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการสอนคนที่มีตารางงานยุ่งหรืออยู่ไกล บางครั้งให้สมาชิกร่วมสอนบทเรียนทางเทคโนโลยีจะง่ายกว่า
ช่วยเหลือผู้เรียนที่อายุน้อย
ระหว่างการปฏิบัติศาสนกิจของพระผู้ช่วยให้รอด พระองค์รับสั่งกับเหล่าสาวกของพระองค์ว่า “จงยอมให้เด็กเล็กๆ เข้ามาหาเรา อย่าห้ามเขาเลย เพราะว่าแผ่นดินของพระเจ้าเป็นของคนอย่างพวกเขา” (มาระโก 10:14) เมื่อท่านสอนเด็ก จงปรับวิธีและข่าวสารให้เหมาะกับความต้องการของพวกเขา ช่วยพวกเขาเรียนรู้พระกิตติคุณโดยพูดถึงสิ่งที่พวกเขาคุ้นเคย ตรวจสอบให้แน่ใจว่าพวกเขาเข้าใจสิ่งที่ท่านกำลังสอน
สอนกับคู่ด้วยความเป็นหนึ่งเดียวกัน
พระเจ้าตรัสว่า “เจ้าจงออกไปในอำนาจแห่งพระวิญญาณของเรา, โดยสั่งสอนกิตติคุณของเรา, เป็นคู่ๆ” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:6) พระองค์ทรงบัญชาให้ท่านกับคู่ “เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน” ด้วย (หลักคำสอนและพันธสัญญา 38:27) การสอนของท่านจะมีพลังและน่าสนใจมากขึ้นถ้าท่านกับคู่ทำงานเป็นหนึ่งเดียวกัน สลับกันให้บทเรียนสั้นๆ
ระหว่างศึกษากับคู่ ให้สนทนาและฝึกวิธีที่ท่านจะสอนเพื่อจะเป็นหนึ่งเดียวกัน เตรียมว่าท่านจะทำงานร่วมกันอย่างไรเมื่อสอนออนไลน์ ทำตาม มาตรการป้องกันการใช้เทคโนโลยี ที่สรุปไว้ในบทที่ 2
เมื่อคู่ของท่านสอน จงสวดอ้อนวอนให้ ฟัง และมองดูเขา สนับสนุนคู่โดยเสนอตัวเป็นพยานปากที่สองเพื่อยืนยันความจริงที่เขาสอนไปแล้ว (ดู แอลมา 12:1) ทำตามความประทับใจของท่านเมื่อพระวิญญาณทรงกระตุ้นเตือนท่านให้พูดบางอย่าง
สนใจคนที่ท่านสอนอย่างจริงใจ ฟังพวกเขา สบตาเมื่อพวกเขาหรือท่านกำลังพูด สังเกตการตอบสนองของพวกเขาให้ถี่ถ้วน และฟังการกระตุ้นเตือนทางวิญญาณ
เชิญสมาชิกให้มีส่วนร่วม
เชิญสมาชิกมาช่วยท่านสอนและสนับสนุนคนที่ท่านกำลังสอน ซึ่งอาจสอนแบบเจอตัวหรือสอนออนไลน์ก็ได้ ระหว่างการประชุมประสานงานประจำสัปดาห์ ให้ปรึกษากับผู้นำวอร์ดว่าใครจะช่วยได้
เมื่อสมาชิกมีส่วนร่วมในการสอนและการผูกมิตร พวกเขาสามารถเพิ่มข้อคิดและสานสัมพันธ์ฉันเพื่อน พวกเขาจะรู้สึกถึงปีติของงานสอนศาสนา
เชิญสมาชิกมาช่วยท่านสอน
ก่อนสอน ให้วางแผนกับสมาชิกว่าจะทำงานร่วมกันอย่างไร ท่านจะใช้วิธีส่งข้อความหรือโทรสั้นๆ เพื่อยืนยันว่าท่านจะสอนอะไร ใครจะสวดอ้อนวอน ใครจะนำการสนทนา และรายละเอียดอื่นๆ
บทบาทหลักของสมาชิกในบทเรียนคือให้ประจักษ์พยานที่จริงใจ เล่าประสบการณ์ส่วนตัวสั้นๆ และพัฒนาความสัมพันธ์กับคนเรียน ท่านอาจจะขอให้สมาชิกแบ่งปันว่าพวกเขาสามารถเรียนรู้ ยอมรับ และดำเนินชีวิตตามหลักธรรมข้อนั้นในบทเรียนได้อย่างไร ถ้าพวกเขาเป็นผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใส ให้เชิญพวกเขาแบ่งปันว่าพวกเขาตัดสินใจเข้าร่วมศาสนจักรอย่างไร
เมื่อสมาชิกแนะนำรายชื่อ จงขอให้พวกเขามีส่วนร่วมในการสอน สมาชิกอาจมีส่วนเกี่ยวข้องในสถานการณ์เหล่านี้มากขึ้น หารือกับสมาชิกว่าพวกเขาต้องการมีส่วนร่วมอย่างไร
พิจารณาว่าการใช้เทคโนโลยีสอนกับสมาชิกน่าจะเหมาะสมอย่างไร เทคโนโลยีช่วยให้สมาชิกร่วมสอนกับท่านได้โดยไม่ใช้เวลามากเท่ากับการขอให้ไปเยี่ยมแบบเจอตัว
ในการประชุมประสานงานประจำสัปดาห์ จงวางแผนกับผู้นำวอร์ดเพื่อให้สมาชิกมีส่วนร่วมในบทเรียนมากที่สุด (ดู บทที่ 13) ท่านอาจจะขอให้สมาชิกใหม่ช่วยท่านสอน
เชิญสมาชิกมาให้การสนับสนุน
สมาชิกสามารถให้การสนับสนุนอันมีค่าในช่วงระหว่างการเยี่ยมสอนครั้งนี้กับครั้งหน้าได้เช่นกัน พวกเขาสามารถส่งข้อความ อ่านพระคัมภีร์ด้วยกัน ชวนมาบ้านหรือมาร่วมกิจกรรม หรือชวนมานั่งด้วยกันที่โบสถ์ พวกเขาสามารถตอบคำถามและแสดงให้เห็นว่าชีวิตสมาชิกศาสนจักรของพวกเขาเป็นอย่างไร ประสบการณ์ชีวิตและมุมมองชีวิตของพวกเขาจะช่วยพวกเขาเชื่อมโยงกับผู้คนในแบบที่บางครั้งต่างมากจากผู้สอนศาสนา
หารือกับสมาชิกเกี่ยวกับวิธีที่ท่านจะทำงานร่วมกันเพื่อสนับสนุนผู้คนนอกเวลาเยี่ยมสอน
สอนให้เข้าใจ
สอนพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ให้ผู้คนเข้าใจ ศึกษาพระคัมภีร์และบทเรียนเพื่อท่านจะสอนได้อย่างชัดเจน ยิ่งท่านสอนชัดเจนเพียงใด โอกาสที่พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงเป็นพยานถึงความจริงยิ่งมากเพียงนั้น
ถามคำถามที่จะช่วยให้ผู้คนตรึกตรองสิ่งที่ท่านสอนไปแล้ว แล้วฟังเพื่อดูว่าพวกเขาเข้าใจและยอมรับหรือไม่
ส่วนหนึ่งของการสอนให้เข้าใจคืออธิบายคำ วลี และแนวคิด ท่านจะสามารถสอนพระกิตติคุณได้ดีขึ้นโดย:
-
เข้าใจคำที่ท่านใช้
-
นิยามคำที่คนอื่นอาจไม่เข้าใจ
-
ถามคำถามเช่น “คุณจะบอกเราได้ไหมว่าคุณเข้าใจสิ่งที่เราเพิ่งอธิบายว่าอย่างไร” หรือ “คุณยินดีสรุปสิ่งที่เราคุยกันไหม?”
ขณะสอนหลักคำสอนใน บทที่ 3 ให้สังเกตคำ วลี และแนวคิดที่ผู้คนอาจจะไม่เข้าใจ อธิบายความหมายโดยใช้แหล่งข้อมูลในคลังค้นคว้าพระกิตติคุณ เช่น คู่มือพระคัมภีร์ Bible Dictionary และ Gospel Topics
ทำให้การสอนของท่านเรียบง่ายและกระชับเสมอ เน้นสอนพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์โดยสร้างความเข้าใจในเรื่องหลักคำสอนและหลักธรรมพื้นฐาน ช่วยผู้คนแสวงหาความเข้าใจที่มาจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ เมื่อพวกเขาได้ความเข้าใจนี้ พวกเขาจะเชื่อข่าวสารของพระกิตติคุณ
ถามคำถาม
พระผู้ช่วยให้รอดทรงถามคำถามที่เชื้อเชิญให้ผู้คนคิดและรู้สึกอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับความจริงที่พระองค์ทรงสอน คำถามของพระองค์กระตุ้นให้ค้นหาจิตวิญญาณและการให้คำมั่นสัญญา
คำถามที่ดีสำคัญในการสอนของท่านเช่นกัน จะช่วยให้ท่านเข้าใจความสนใจ ความกังวล และคำถามของผู้คน คำถามที่ดีสามารถอัญเชิญพระวิญญาณและช่วยให้ผู้คนเรียนรู้
ถามคำถามที่ได้รับการดลใจ
จงแสวงหาการนำทางจากพระวิญญาณในการถามคำถามที่ดี คำถามที่ถูกต้องถูกเวลาสามารถช่วยให้ผู้คนเรียนรู้พระกิตติคุณและรู้สึกถึงพระวิญญาณ
คำถามที่ได้รับการดลใจและการฟังอย่างจริงใจจะช่วยให้ผู้คนสบายใจมากขึ้นกับการพูดคุยอย่างเปิดใจและบอกความรู้สึกของตน นี่จะช่วยให้พวกเขาค้นพบว่าประจักษ์พยานกำลังเติบโต พวกเขาจะสบายใจมากขึ้นด้วยกับการถามคำถามเมื่อไม่เข้าใจบางอย่างหรือมีข้อกังวล
ตารางต่อไปนี้แสดงหลักธรรมบางข้อของการถามคำถามที่ได้รับการดลใจ พร้อมตัวอย่าง
หลักธรรมและตัวอย่างคำถามที่ได้รับการดลใจ
หลักธรรม |
ตัวอย่าง |
ถามคำถามที่ช่วยให้ผู้คนรู้สึกถึงพระวิญญาณ |
|
ถามคำถามที่เรียบง่ายและเข้าใจง่าย |
|
ถามคำถามที่ช่วยให้ผู้คนตรึกตรองสิ่งที่ท่านกำลังสอน |
|
ถามคำถามที่ช่วยให้ท่านรู้ว่าผู้คนเข้าใจสิ่งที่ท่านกำลังสอนดีเพียงใด |
|
ถามคำถามที่ช่วยให้ผู้คนแบ่งปันความรู้สึก |
|
ถามคำถามที่แสดงความรักและความห่วงใย |
|
ถามคำถามที่ช่วยผู้คนประยุกต์ใช้สิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ |
|
หลีกเลี่ยงคำถามที่ไม่มีประสิทธิภาพหรือมากเกินความจำเป็น
พยายามอย่าถามคำถามที่:
-
มีคำตอบตายตัว
-
อาจจะทำให้บางคนขายหน้าถ้าเขาไม่รู้คำตอบ
-
มีมากกว่าหนึ่งแนวคิด
-
เกี่ยวข้องกับหลักคำสอนที่ยังไม่ได้สอน
-
ไม่มีจุดประสงค์ชัดเจน
-
มากเกินความจำเป็น
-
ละลาบละล้วงหรืออาจทำให้คนรำคาญและขุ่นเคืองใจ
ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างคำถามที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ:
-
ใครเป็นศาสดาพยากรณ์คนแรก? (คนนั้นอาจจะไม่รู้คำตอบ)
-
การรักษาร่างกายเราให้บริสุทธิ์จะช่วยให้เรามีพระวิญญาณและแสดงให้เห็นว่าเราเต็มใจทำตามศาสดาพยากรณ์ของพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร? (มีมากกว่าหนึ่งแนวคิด)
-
การรู้เกี่ยวกับพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าสำคัญไหม? (นี่เป็นคำถามถูกผิด และคำตอบตายตัว)
-
เราจะทำอะไรได้ทุกวันที่จะช่วยให้เรารู้สึกใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้า? (นี่เป็นคำถามกำกวม ขณะมองหาคำตอบที่เฉพาะเจาะจง: สวดอ้อนวอน)
-
ใครเป็นศาสดาพยากรณ์ถัดจากโนอาห์? (คนนั้นอาจจะไม่รู้คำตอบ และคำถามไม่สำคัญสำหรับข่าวสารของท่าน)
-
คุณเข้าใจที่ฉันพูดไหม? (คนนั้นอาจจะรู้สึกเหมือนคุณดูถูกเขา)
ฟัง
เมื่อท่านตั้งใจฟังผู้อื่น ท่านย่อมเข้าใจพวกเขาดีขึ้น เมื่อพวกเขารู้ว่าความคิดและความรู้สึกของพวกเขาสำคัญต่อท่าน พวกเขามีแนวโน้มจะเปิดใจรับคำสอนของท่าน แบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัว และให้คำมั่นสัญญา
เมื่อท่านฟัง ท่านจะได้ข้อคิดเกี่ยวกับวิธีปรับการสอนของท่านตามความต้องการและความสนใจของพวกเขา ท่านจะเข้าใจดีขึ้นว่าความจริงพระกิตติคุณข้อใดจะเป็นประโยชน์ต่อพวกเขามากที่สุด
ฟังสุรเสียงกระซิบของพระวิญญาณเป็นพิเศษ เมื่อผู้อื่นแบ่งปันความรู้สึก พระวิญญาณบริสุทธิ์อาจทรงกระตุ้นเตือนท่านด้วยความคิดหรือแนวคิด พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านเข้าใจสิ่งที่ผู้อื่นพยายามพูดออกมา
ฟังด้วยความใส่ใจจริงๆ
การฟังต้องใช้ความพยายามและความใส่ใจจริงๆ ขณะที่คนอื่นพูด ท่านต้องจดจ่อกับสิ่งที่พวกเขาพูด ต้องไม่คิดวางแผนว่าจะพูดอะไร
เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์สอนว่า: “สำคัญกว่าการพูดคือการฟัง คนเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งไม่มีชีวิตที่พรางตัวเป็นสถิติบัพติศมา … ถามเพื่อนเหล่านี้ว่าอะไรสำคัญต่อ พวกเขา มากที่สุด พวกเขา หวงแหนอะไร พวกเขา รักและชื่นชอบอะไร? แล้วฟัง ถ้าสภาวะแวดล้อมเหมาะสมท่านอาจจะถามว่าพวกเขากลัวอะไร พวกเขาอยากได้อะไร หรือพวกเขารู้สึกว่าอะไรขาดหายไปในชีวิต ข้าพเจ้าสัญญาว่า บางสิ่ง ที่พวกเขาพูดจะทำให้ความจริงของพระกิตติคุณเด่นชัด เสมอ เกี่ยวกับสิ่งที่ท่านสามารถแสดงประจักษ์พยานและเกี่ยวกับสิ่งที่ท่านสามารถให้ได้มากขึ้น … หากเราฟังด้วยความรัก เราจะไม่สงสัยว่าต้องพูดอะไร เราจะรู้—โดยพระวิญญาณและโดยเพื่อนของเรา” (“Witnesses unto Me,” Ensign, May 2001, 15)
สังเกตข่าวสารที่ไม่ได้พูดออกมา
ผู้คนสื่อสารผ่านภาษากายด้วย สังเกตท่านั่ง สีหน้าของพวกเขา พวกเขาทำอะไรกับมือ น้ำเสียง และพวกเขามองไปทางไหน การสังเกตข่าวสารที่ไม่ได้พูดออกมาเหล่านี้จะช่วยให้ท่านเข้าใจความรู้สึกของคนที่ท่านสอน
ระวังภาษากายของท่านเองด้วย ส่งสารของความสนใจและความกระตือรือร้นโดยฟังอย่างจริงใจ
ให้เวลาผู้คนคิดและตอบ
พระผู้ช่วยให้รอดมักจะทรงถามคำถามที่ต้องมีเวลาให้ตอบ เมื่อท่านถามคำถาม จงหยุดครู่หนึ่งเพื่อให้โอกาสคิดและตอบ อย่ากลัวความเงียบ บ่อยครั้งผู้คนต้องมีเวลาตรึกตรองและตอบคำถามหรือแสดงความรู้สึก
ท่านอาจจะหยุดครู่หนึ่งหลังจากถามคำถาม หลังจากเล่าประสบการณ์ทางวิญญาณ หรือเมื่อคนแสดงความคิดหรือความรู้สึกออกมาได้ยาก จงให้เวลาพวกเขาคิดให้จบก่อนตอบ อย่าขัดจังหวะขณะพวกเขาพูด
ตอบสนองด้วยความเข้าอกเข้าใจ
เมื่อคนนั้นตอบคำถาม ให้เริ่มตอบสนองโดยแสดงความเข้าอกเข้าใจหากเหมาะสม ความเข้าอกเข้าใจแสดงให้เห็นว่าท่านใส่ใจจริงๆ ไม่ด่วนสรุป ไม่เสนอทางออกทันที หรือทำทีเหมือนมีคำตอบทั้งหมด
ยืนยันว่าท่านเข้าใจสิ่งที่ผู้คนพูด
เมื่อพยายามเข้าใจสิ่งที่คนหนึ่งพูด ให้ถามเพื่อแน่ใจว่าท่านเข้าใจ ตัวอย่างเช่น ท่านอาจจะถามว่า “คุณพูดว่า ใช่ไหม?” หรือ “ถ้าฉันเข้าใจถูกต้อง คุณรู้สึกว่า “ เมื่อท่านไม่แน่ใจว่าตนเข้าใจหรือไม่ จงขอให้คนนั้นชี้แจง
หาทางจัดการกับปฏิสัมพันธ์ที่ท้าทาย
ท่านจะช่วยผู้คนได้มากที่สุดโดยสอนพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ให้กับพวกเขา บางคนอาจต้องการพูดเป็นส่วนใหญ่ บางครั้งแค่ต้องการให้ใครสักคนฟังความลำบากและความรู้สึกของพวกเขาอย่างเห็นอกเห็นใจ คนอื่นอาจพยายามครอบงำหรือโต้เถียง
ฝึกจัดการสถานการณ์ดังกล่าวอย่างมีไหวพริบและด้วยความรัก ท่านอาจจะปรับการสอนให้ตรงกับสิ่งที่คนนั้นแบ่งปัน หรืออาจจะต้องพูดอย่างสุภาพว่าไว้ค่อยหารือเรื่องนี้ภายหลัง พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านรู้วิธีตอบสนองในสถานการณ์ท้าทาย
ช่วยให้ผู้คนรู้สึกสบายใจกับการบอกความรู้สึกจริงๆ
เพื่อหลีกเลี่ยงความขายหน้าบางคนจึงตอบคำถามแบบที่คิดว่าท่านต้องการให้ตอบแทนที่จะบอกความรู้สึกจริงๆ ของพวกเขา จงพยายามพัฒนาความสัมพันธ์ที่ทำให้พวกเขาสบายใจกับการบอกความรู้สึกจริงๆ ของตน
การเข้าใจและการเชื่อมสัมพันธ์กับผู้คนจะทำให้ท่านได้ช่วยเหลือพวกเขา ตอบสนองความต้องการและความสนใจของพวกเขา และแสดงความรักของพระผู้ช่วยให้รอดต่อพวกเขา สร้างความสัมพันธ์ของความไว้วางใจโดยซื่อสัตย์กับพวกเขา รักษาความสัมพันธ์ที่เหมาะกับผู้สอนศาสนา และแสดงความเคารพ
ช่วยผู้คนหาคำตอบให้กับคำถามและข้อกังวลของพวกเขา
พยายามตั้งใจตอบคำถามและช่วยพวกเขาไขข้อกังวลของตน แต่ท่านไม่มีหน้าที่ตอบคำถามทุกข้อ สุดท้ายแล้วพวกเขาต้องไขคำตอบและข้อกังวลด้วยตนเอง
ตระหนักว่าท่านไม่สามารถตอบคำถามและข้อกังวลได้ทั้งหมด บางคำตอบจะชัดเจนขึ้นตามกาลเวลา หลายคำตอบยังไม่เปิดเผย จดจ่อกับการสร้างรากฐานอันมั่นคงของความจริงพื้นฐานที่จำเป็นของพระกิตติคุณ รากฐานนี้จะช่วยให้ท่านและคนที่ท่านสอนมุ่งหน้าด้วยความอดทนและศรัทธาเมื่อมีคำถามที่ตอบยากหรือไม่ได้ตอบ
หลักธรรมบางข้อสำหรับการตอบคำถามสรุปไว้ในหมวดนี้
เข้าใจข้อกังวล
บางอย่างที่ท่านสอนอาจเข้าใจยากหรือพวกเขาไม่คุ้นชิน ถ้าผู้คนมีคำถามหรือข้อกังวล จงพยายามเข้าใจพวกเขาให้ชัดเจนก่อน บางครั้งข้อกังวลของพวกเขาเหมือนภูเขาน้ำแข็ง คือมองเห็นส่วนที่โผล่พ้นน้ำนิดเดียวเท่านั้น ข้อกังวลเหล่านี้อาจซับซ้อน จงสวดอ้อนวอนขอของประทานแห่งการเล็งเห็น และทำตามพระวิญญาณในการตอบสนอง พระบิดาบนสวรรค์ทรงรู้จักใจและประสบการณ์ของทุกคน (ภูเขาน้ำแข็งทั้งลูก) พระองค์จะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าอะไรดีที่สุดสำหรับแต่ละคน
บ่อยครั้งเป็นข้อกังวลทางสังคมมากกว่าหลักคำสอน ตัวอย่างเช่น บางคนอาจจะกลัวการต่อต้านจากสมาชิกครอบครัวถ้าพวกเขาเข้าร่วมศาสนจักร หรือพวกเขาอาจจะกลัวเพื่อนที่ทำงานไม่ยอมรับ
จงพยายามเข้าใจเหตุของความกังวลโดยถามคำถามและฟัง เกิดความกังวลเพราะคนนั้นไม่มีการยืนยันทางวิญญาณถึงความจริงของการฟื้นฟูหรือไม่? เกิดความกังวลเพราะคนนั้นไม่ต้องการให้คำมั่นว่าจะดำเนินชีวิตตามหลักธรรมพระกิตติคุณหรือไม่? การรู้ต้นตอของความกังวลจะช่วยให้ท่านรู้ว่าจะจดจ่อกับประจักษ์พยานหรือคำมั่นสัญญา
ใช้พระคัมภีร์ช่วยตอบคำถาม โดยเฉพาะพระคัมภีร์มอรมอน
แสดงให้ผู้คนเห็นว่าความจริงในพระคัมภีร์จะช่วยตอบคำถามและแก้ไขข้อกังวลของพวกเขาได้อย่างไร (ดู “พระคัมภีร์มอรมอนตอบคำถามเรื่องจิตวิญญาณ” ในบทที่ 5) เมื่อผู้คนแสวงหาการดลใจโดยศึกษาและประยุกต์ใช้พระคัมภีร์ พวกเขาจะสามารถได้ยินและทำตามพระเจ้าได้มากขึ้น ศรัทธาในพระองค์จะเพิ่มพูน ประจักษ์พยาน การกลับใจ และศาสนพิธีบัพติศมาจะมาพร้อมศรัทธาที่เพิ่มขึ้น
“บางครั้งข้าพเจ้าอ่านพระคัมภีร์เพื่อหาหลักคำสอน บางครั้งข้าพเจ้าอ่านพระคัมภีร์เพื่อหาคำแนะนำ ข้าพเจ้าอ่านพร้อมคำถาม และคำถามส่วนใหญ่คือ ‘พระผู้เป็นเจ้าทรงประสงค์ให้ข้าพเจ้าทำอะไร?’ หรือ ‘พระองค์ทรงประสงค์ให้ข้าพเจ้ารู้สึกอย่างไร?’ ข้าพเจ้าพบแนวคิดใหม่ๆ อยู่เสมอ เป็นความคิดที่ไม่เคยมีมาก่อน ข้าพเจ้าได้รับการดลใจ คำแนะนำ และคำตอบให้กับคำถามของข้าพเจ้า” (เฮนรีย์ บี. อายริงก์ใน “การอภิปรายเกี่ยวกับการศึกษาพระคัมภีร์,” เลียโฮนา, ก.ค. 2005, 8)
อาจช่วยได้ถ้าอธิบายว่าความเข้าใจส่วนใหญ่ของเราในเรื่องพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์มาจากสิ่งที่เคยเปิดเผยต่อศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธและคนที่สืบทอดต่อจากท่าน การมีประจักษ์พยานว่าโจเซฟ สมิธเป็นศาสดาพยากรณ์ของพระผู้เป็นเจ้าจะไขข้อสงสัยเกี่ยวกับความจริงของพระคัมภีร์มอรมอน การอ่านและการสวดอ้อนวอนเกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอนเป็นวิธีที่สำคัญยิ่งในการได้ประจักษ์พยานนี้
ช่วยให้ผู้คนจดจ่อกับการเพิ่มพลังศรัทธาของพวกเขาในพระเยซูคริสต์ การอ่านและการสวดอ้อนวอนเกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอนเป็นวิธีที่สำคัญในการเพิ่มพลังศรัทธาของพวกเขา
เชื้อเชิญให้พวกเขาปฏิบัติด้วยศรัทธา
เมื่อผู้คนพัฒนาและเสริมสร้างประจักษ์พยานของตนในพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู พวกเขาจะสามารถตอบคำถามและแก้ไขข้อกังวลของตนจากรากฐานของศรัทธานั้น เมื่อพวกเขาปฏิบัติตามความจริงที่ตนเชื่อด้วยศรัทธา พวกเขาจะสามารถมีประจักษ์พยานถึงความจริงพระกิตติคุณเรื่องอื่น
วิธีปฏิบัติด้วยศรัทธา ได้แก่:
-
สวดอ้อนวอนบ่อยๆ และด้วยเจตนาแท้จริงเพื่อขอการดลใจและการนำทาง
-
ศึกษาพระคัมภีร์ โดยเฉพาะพระคัมภีร์มอรมอน
-
ไปโบสถ์
ฝากบางอย่างให้ศึกษาและสวดอ้อนวอน
เมื่อจบการเยี่ยมสอนแต่ละครั้ง ท่านจะให้ผู้คนศึกษา ไตร่ตรอง และสวดอ้อนวอนเกี่ยวกับบางอย่างก่อนพบกันครั้งหน้า การอ่าน สวดอ้อนวอน และไตร่ตรองในช่วงระหว่างการเยี่ยมสอนครั้งนี้กับครั้งหน้าจะอัญเชิญอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์เข้ามาในชีวิตพวกเขา
ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้พวกเขาอ่านบางบทในพระคัมภีร์มอรมอน หรือท่านอาจจะกระตุ้นพวกเขาให้ใช้แหล่งข้อมูลศาสนจักร เช่น คลังค้นคว้าพระกิตติคุณ หาคำตอบให้กับคำถามต่างๆ เรียนรู้หัวข้อหนึ่ง หรือดูวีดิทัศน์ นี่สามารถเป็นหัวข้อเปิดการสนทนาครั้งต่อไปเมื่อท่านพบกัน
ไม่ให้ผู้คนทำมากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าท่านมีปฏิสัมพันธ์การสอนสั้นๆ บ่อยๆ กับพวกเขา
การช่วยคนที่เสพติด
ท่านจะช่วยคนที่มีปัญหากับการเอาชนะการเสพติดได้โดยสนทนาปัญหาของพวกเขาด้วยความรัก สนับสนุนพวกเขา และเชื่อมต่อพวกเขากับแหล่งช่วย ท่านอาจกระตุ้นพวกเขาให้เข้ากลุ่มช่วยบำบัดการเสพติดของศาสนจักร กลุ่มเหล่านี้อาจพบกันแบบเจอตัวหรือทางออนไลน์ (ดู AddictionRecovery.ChurchofJesusChrist.org) กระตุ้นพวกเขาให้ใช้แหล่งช่วยในหมวด “Addiction” ของความช่วยเหลือในชีวิตในคลังค้นคว้าพระกิตติคุณ
ผู้นำศาสนจักรระดับท้องที่และสมาชิกสามารถให้การสนับสนุนช่วยเหลือได้เช่นกัน คนเสพติดบางคนอาจต้องได้รับการบำบัดสุขภาพจิตจากแพทย์เฉพาะทาง
ต่อไปนี้เป็นข้อเสนอแนะบางประการสำหรับการช่วยเหลือคนที่พยายามเอาชนะการเสพติด:
-
เสริมความพยายามมาหาพระคริสต์ของพวกเขา ช่วยให้พวกเขาเห็นว่าพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ทรงรับรู้และเห็นค่าการพยายามบำบัดรักษาของพวกเขา สอนพวกเขาว่าพระผู้ช่วยให้รอดและการชดใช้ของพระองค์สามารถเพิ่มพลังให้พวกเขาได้ พระองค์ทรงทราบดีว่าพวกเขาตั้งใจจะทำดี
-
สวดอ้อนวอนให้พวกเขาในการสวดอ้อนวอนส่วนตัวของท่าน และสวดอ้อนวอนกับพวกเขา เมื่อเหมาะสมท่านจะกระตุ้นพวกเขาให้ขอพรฐานะปุโรหิตจากผู้นำฐานะปุโรหิตระดับท้องที่
-
สอนพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ให้กับพวกเขาต่อไป สอนพวกเขาว่าพระบิดาบนสวรรค์ พระผู้ช่วยให้รอด และพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงรักพวกเขาและทรงต้องการให้พวกเขาประสบความสำเร็จ
-
กระตุ้นพวกเขาให้มาโบสถ์เป็นประจำและพัฒนามิตรภาพกับสมาชิก
-
คิดบวกและให้กำลังใจ โดยเฉพาะหากพวกเขากลับมาเสพเหมือนเดิม
การเสพติดเอาชนะได้ยาก และการกลับมาเสพอีกสามารถเกิดขึ้นได้ ผู้นำศาสนจักรและสมาชิกไม่ควรตกใจกับเรื่องนี้ พวกเขาควรแสดงความรัก ไม่ใช่ตัดสิน
สมาชิกใหม่ที่เลิกมาโบสถ์อาจกลับไปเสพเหมือนเดิม และอาจรู้สึกไร้ค่าและท้อแท้ การไปเยี่ยมทันทีเพื่อให้กำลังใจและช่วยเหลือจะช่วยได้ สมาชิกควรแสดงให้เห็นด้วยคำพูดและการกระทำว่าศาสนจักรเป็นที่ที่ทุกคนจะพบความรักของพระคริสต์ (ดู 3 นีไฟ 18:32)
การสอนคนที่ไม่มีพื้นเพทางศาสนาคริสต์
บางคนที่ท่านสอนอาจไม่มีพื้นเพทางศาสนาคริสต์หรืออาจไม่เชื่อในพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ แต่หลายคนมีความเชื่อ แนวทางปฏิบัติ และสถานที่ที่พวกเขาถือว่าศักดิ์สิทธิ์ ท่านจำเป็นต้องเคารพความเชื่อและประเพณีทางศาสนาของพวกเขา
ช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นใคร
ท่านอาจสงสัยว่าควรปรับการสอนให้เหมาะกับคนที่ไม่มีพื้นเพทางศาสนาคริสต์อย่างไร หลักธรรมที่ช่วยคนๆ หนึ่งสร้างศรัทธาจะเหมือนกันในทุกวัฒนธรรม จงช่วยให้พวกเขามีความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องพระผู้เป็นเจ้าและพระพันธกิจของพระเยซูคริสต์ วิธีดีที่สุดที่จะให้พวกเขาเรียนรู้ความจริงเหล่านี้คือให้มีประสบการณ์ส่วนตัวทางวิญญาณ บางวิธีที่ท่านจะช่วยให้พวกเขามีประสบการณ์เหล่านี้สรุปได้ดังนี้:
-
สอนว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นพระบิดาบนสวรรค์ของเรา และทรงรักเรา เราเป็นลูกๆ ของพระองค์ เชื้อเชิญให้พวกเขาแสวงหาพยานนั้นด้วยตนเอง
-
สอนเรื่องแผนแห่งความรอด
-
สอนว่าพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาและพระเยซูคริสต์ทรงปรากฏต่อศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ
-
แสดงประจักษ์พยานที่จริงใจถึงพระกิตติคุณ และบอกด้วยว่าท่านรู้สึกถึงความรักของพระบิดาบนสวรรค์อย่างไร และเหตุใดจึงเลือกติดตามพระเยซูคริสต์
-
เชื้อเชิญให้พวกเขากล่าวคำสวดอ้อนวอนที่เรียบง่ายจากใจ—กับท่านและตามลำพัง
-
เชื้อเชิญให้พวกเขาอ่านพระคัมภีร์มอรมอนทุกวัน—กับท่านและตามลำพัง
-
เชื้อเชิญให้พวกเขามาโบสถ์
-
แนะนำพวกเขาให้รู้จักกับสมาชิกของศาสนจักรผู้สามารถอธิบายได้ว่าตนเชื่อในพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร
-
เชื้อเชิญให้พวกเขารักษาพระบัญญัติ
คนส่วนใหญ่ปรารถนาจะมีความสัมพันธ์กับพระผู้เป็นเจ้าดีขึ้น พบจุดประสงค์และความหมายในชีวิต ช่วยให้พวกเขาเห็นว่าพวกเขาเป็นลูกของพระบิดาที่รักในสวรรค์อย่างไรและพระองค์ทรงมีแผนสำหรับพวกเขาอย่างไร ตัวอย่างเช่น ท่านอาจจะเริ่มโดยพูดทำนองนี้:
พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นพระบิดาของเราในสวรรค์และทรงรักเรา เราเป็นลูกๆ ของพระองค์ เราอยู่กับพระผู้เป็นเจ้าก่อนเราเกิด เพราะเราทุกคนเป็นลูกของพระผู้เป็นเจ้า เราทุกคนจึงเป็นพี่น้องกัน พระองค์ทรงปรารถนาให้เรากลับไปหาพระองค์ เพราะทรงรักเรา พระองค์จึงทรงเตรียมทางให้เราแต่ละคนกลับไปหาพระองค์ผ่านพระบุตรของพระองค์พระเยซูคริสต์
ปรับการสอนของท่านเมื่อจำเป็น
ผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสหลายคนที่ไม่มีพื้นเพทางศาสนาคริสต์พูดว่าพวกเขาไม่ค่อยเข้าใจสิ่งที่ผู้สอนศาสนาสอน แต่พวกเขารู้สึกถึงพระวิญญาณและต้องการทำสิ่งที่ผู้สอนศาสนาขอ จงทำสุดความสามารถเพื่อช่วยให้ผู้คนเข้าใจหลักคำสอนของพระกิตติคุณ จงอดทนและให้การสนับสนุน ผู้คนอาจต้องใช้เวลาเรียนรู้เพื่อพิสูจน์และแสดงความรู้สึกของตน ท่านอาจต้องปรับจำนวนและความลึกซึ้งของการสอนเพื่อช่วยเหลือพวกเขา
ข้อเสนอแนะต่อไปนี้อาจช่วยได้เมื่อท่านเตรียมสอนคนที่ไม่มีพื้นเพทางศาสนาคริสต์:
-
เข้าใจว่าความต้องการทางวิญญาณหรือความสนใจอะไรกระตุ้นพวกเขาให้อยากพบกับท่าน
-
ให้ภาพรวมง่ายๆ และทบทวนบทเรียนแต่ละบท
-
ขอให้พวกเขาบอกท่านว่าพวกเขาเข้าใจอะไรและประสบอะไรมาบ้าง
-
นิยามคำหรือหลักธรรมสำคัญๆ ผู้คนอาจไม่คุ้นชินกับคำหลายคำที่ท่านใช้สอน
-
กลับไปบทเรียนที่เคยสอนเพื่อสอนหลักธรรมให้ชัดเจนขึ้น อาจจำเป็นต้องทำแบบนี้ในระหว่างสอน
-
ระบุคำเชื้อเชิญที่ท่านจะให้เพื่อช่วยให้ผู้คนประสบพรของพระกิตติคุณ
ต่อไปนี้เป็นแหล่งข้อมูลบางอย่างในคลังค้นคว้าพระกิตติคุณที่ท่านอาจจะใช้ช่วยคนที่ไม่มีพื้นเพทางศาสนาคริสต์:
-
“พระผู้เป็นเจ้าเป็นใคร?”
-
“พระเยซูคริสต์เป็นใคร?”
-
“จะคาดหวังอะไรเมื่อพูดคุยกับผู้สอนศาสนาของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย”
-
“มุสลิมกับวิสุทธิชนยุคสุดท้าย: ความเชื่อ ค่านิยม และวิถีชีวิต”
แนวคิดสำหรับการศึกษาและการประยุกต์ใช้
การศึกษาส่วนตัว
-
สมมติว่าท่านอยู่ในสถานการณ์ต่อไปนี้ ท่านจะใช้หลักธรรมและทักษะในบทนี้ช่วยให้คนเหล่านี้ก้าวหน้าได้อย่างไร? วางแผนว่าท่านจะประยุกต์ใช้ในแต่ละสถานการณ์
-
คนที่เตรียมรับบัพติศมามาตลอดบอกท่านว่าเขาไม่อยากพบกับท่านอีก
-
ท่านจะพบเป็นครั้งที่เจ็ดกับคนที่เคยเรียนกับผู้สอนศาสนาหลายคนตลอดช่วงเวลาสองปี มีสัญญาณความก้าวหน้าน้อยมาก
-
-
เลือกบทเรียนผู้สอนศาสนาหนึ่งบท ระบุพระคัมภีร์หนึ่งหรือสองข้อจากหลักธรรมหลักๆ แต่ละข้อ ฝึกสอนจากข้อเหล่านั้นตามที่สรุปไว้ในหมวด “ใช้พระคัมภีร์” ของบทนี้
การศึกษากับคู่และการสลับคู่
-
อ่านเรื่องราวของแอมันกับกษัตริย์ลาโมไนใน แอลมา18–19 และเรื่องราวของแอรันใน แอลมา 22:4–18) ขณะอ่าน ให้ระบุและอธิบายว่าแอมันกับแอรันทำสิ่งต่อไปนี้อย่างไร:
-
ทำตามพระวิญญาณและสอนด้วยความรัก
-
เริ่มสอน
-
ปรับการสอนให้ตรงกับความต้องการ
-
แสดงประจักษ์พยาน
-
ใช้พระคัมภีร์
-
ถามคำถาม ฟัง และช่วยคนที่พวกเขาสอนไขข้อกังวลของตน
-
กระตุ้นคนที่พวกเขาสอนให้ทำคำมั่นสัญญา
สนทนาว่าการรับใช้และการสอนของพวกเขาส่งผลกระทบต่อกษัตริย์ลาโมไน บิดาของกษัตริย์ และเอบิชอย่างไร
-
สภาดิสตริกท์ การประชุมโซน และสภาผู้นำคณะเผยแผ่
-
เชิญสมาชิกหรือคนที่ท่านสอนอยู่ปัจจุบันมาการประชุมของท่าน อธิบายให้คนกลุ่มนั้นฟังว่าท่านต้องการให้ผู้สอนศาสนาปรับปรุงความสามารถในการแบ่งปันข่าวสารสำคัญของพวกเขา เลือกหนึ่งบทเรียนและหนึ่งทักษะ ให้ผู้สอนศาสนาสอนบทเรียนที่ท่านเลือกไว้ให้กับคนนั้นหรือคนกลุ่มนั้นเป็นเวลา 20 นาทีโดยเน้นทักษะที่ท่านระบุไว้ 20 หลังจากนั้นให้พวกเขาสลับกันสอน หลังจากผู้สอนศาสนาสอนจบแล้ว ให้กลุ่มมารวมกัน ให้คนนั้นหรือคนกลุ่มนั้นบอกผู้สอนศาสนาว่าอะไรมีประสิทธิภาพมากที่สุดและบอกหนึ่งวิธีที่พวกเขาจะปรับปรุงได้
-
ฉายวีดิทัศน์ตัวอย่างการสอนหรือการติดต่อคนของผู้สอนศาสนา เลือกหนึ่งทักษะและสนทนาว่าผู้สอนศาสนาได้ประยุกต์ใช้หลักธรรมสำหรับทักษะนั้นดีเพียงใด
-
เลือกหนึ่งทักษะ และระบุหลักคำสอนหรือข้อพระคัมภีร์ที่สนับสนุนทักษะนั้น สอนพื้นฐานหลักคำสอนของทักษะนั้นให้กับผู้สอนศาสนา
ผู้นำคณะเผยแผ่และที่ปรึกษาคณะเผยแผ่
-
ไปกับผู้สอนศาสนาเป็นครั้งคราวเมื่อพวกเขาสอน วางแผนว่าท่านจะมีส่วนร่วมในการสอนได้อย่างไร
-
กระตุ้นผู้นำระดับท้องที่ให้มีส่วนร่วมกับผู้สอนศาสนาในการไปเยี่ยมสอน
-
สาธิตและช่วยผู้สอนศาสนาฝึกทักษะการสอนที่อธิบายไว้ในบทนี้หนึ่งทักษะ เช่น การถามคำถามที่ดีและการฟัง
-
สาธิตการใช้พระคัมภีร์อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อสอนผู้สอนศาสนาในการประชุมโซน สภาผู้นำคณะเผยแผ่ และการสัมภาษณ์ ทำแบบเดียวกันเมื่อท่านสอนกับพวกเขา
-
ช่วยให้ผู้สอนศาสนาเข้าใจพระคัมภีร์และรักพระคัมภีร์มากขึ้น เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แนะนำผู้นำคณะเผยแผ่ว่า:
“จงทำให้ความรักต่อพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าเป็นหัวใจของวัฒนธรรมคณะเผยแผ่ของท่าน … จงทำความคุ้นเคยกับการเปิดเผยและการใช้งานมาตรฐานเป็นประจำเป็นลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของผู้สอนศาสนาของท่านตลอดชีวิตที่เหลือ
“เมื่อท่านสอนผู้สอนศาสนาของท่าน—และนั่นคือสอนตลอดเวลา—จงสอนพวกเขาจากพระคัมภีร์ ให้พวกเขาเห็นว่าท่านได้ความเข้มแข็งและการดลใจจากที่ใด สอนพวกเขาให้รักและพึ่งพาการเปิดเผยที่สั่งสมไว้เหล่านั้น
“ประธานคณะเผยแผ่ [ของข้าพเจ้า] สอนจากพระคัมภีร์มอรมอนและพระคัมภีร์ [เล่มอื่น] ทุกครั้งที่เราอยู่ต่อหน้าเขา หรือเหมือนอยู่ต่อหน้าเขา การสัมภาษณ์ส่วนตัวเต็มไปด้วยพระคัมภีร์ โครงร่าง … การประชุมถูกดึงมาจากงานมาตรฐาน …
“ตอนนั้นเราไม่รู้ว่าประธานของเรากำลังติดอาวุธบนมือขวาและบนมือซ้ายให้เรา โดยแนะนำเราด้วยสุดพลังของจิตวิญญาณและสุดความสามารถที่เขาครอบครองให้เรายึดราวเหล็กไว้ให้มั่นเพื่อเราจะไม่พินาศ [ดู 1 นีไฟ 15:23–25]” (“พลังของพระคัมภีร์” การสัมมนาสำหรับผู้นำคณะเผยแผ่คนใหม่ 25 มิ.ย. 2022)