จงมองไปข้างหน้าและเชื่อ
ในสายพระเนตรของพระเจ้า สิ่งที่เราเคยทำหรือจุดที่เราเคยอยู่นั้นไม่สำคัญเท่ากับที่ที่เราเต็มใจจะไป
สมัยข้าพเจ้าเป็นเด็กทำงานอยู่ในไร่กับคุณแม่ ท่านสอนบทเรียนที่สำคัญที่สุดบทหนึ่งในชีวิต เป็นช่วงสาย เมื่อตะวันขึ้นเต็มที่และเรากำลังขุดวัชพืชทิ้งซึ่งข้าพเจ้าคิดว่าใช้เวลายาวนานมาก ข้าพเจ้าหยุดแล้วมองกลับไปดูผลงานที่ทำเสร็จแล้วและบอกคุณแม่ว่า “ดูผลงานของเราสิครับ” คุณแม่ไม่ตอบ ข้าพเจ้าคิดว่าท่านคงไม่ได้ยิน ข้าพเจ้าบอกซ้ำอีกและพูดเสียงดังขึ้น ท่านก็ยังไม่ตอบ ข้าพเจ้าเปล่งเสียงดังขึ้นอีกหน่อย และพูดซ้ำอีก ในที่สุดท่านก็หันมาและพูดว่า “เอ็ดเวิร์ด ไม่ต้องมองย้อนหลัง มองไปข้างหน้าดูว่าเรายังคงต้องทำอะไรอีก”
พี่น้องที่รัก พันธสัญญาที่เราทำกับพระเจ้าเมื่อเรารับบัพติศมาในการ “ยืนเป็นพยานเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าทุกเวลาและในทุกสิ่ง, และในทุกแห่งที่[เรา]อยู่” (โมไซยาห์ 18:9) เป็นคำมั่นตลอดทั้งชีวิต ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ ให้คำแนะนำว่า “คนที่เข้าสู่น้ำแห่งบัพติศมาและรับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์แล้วได้วางเท้าของตนบนเส้นทางแห่งการเป็นสานุศิษย์และมีหน้าที่เดินตามรอยพระบาทของพระผู้ช่วยให้รอดอย่างแน่วแน่และเต็มที่” (“วิสุทธิชนทุกฤดูกาล,” เลียโฮนา, ก.ย. 2013, 5) พระเจ้าทรงเรียกเราให้รับใช้ในการเรียกที่หลากหลายผ่านทางผู้รับใช้ของพระองค์ ซี่งเรายอมรับด้วยคำมั่นอันเต็มเปี่ยม เมื่อมีการปลดและมีการเรียกในงานมอบหมายใหม่ เรายอมรับด้วยปีติ โดยรู้ดังที่บรรพชนของเรารู้ว่า “ในการรับใช้พระเจ้า มันไม่สำคัญว่าท่านรับใช้ที่ไหนแต่สิ่งสำคัญคือรับใช้อย่างไร” (เจ. รูเบน คลาค จูเนียร์, ใน Conference Report, เม.ย. 1951, 154)
ดังนั้นเมื่อมีการปลดประธานสเตคหรืออธิการ ท่านยอมรับการปลดด้วยปีติ และเมื่อมีการเรียกอื่นให้รับใช้ในหน้าที่ใดๆ ซึ่งพระเจ้าทรงเรียกผ่านผู้รับใช้ของพระองค์ที่ “ทรงเห็นควร” (โมไซยาห์ 3:19) เขาจะไม่ถูกครอบงำโดยประสบการณ์ของเขาก่อนหน้านี้ และจะไม่มองย้อนกลับไปและคิดว่าเขาได้รับใช้เพียงพอแล้ว เขา “ไม่เบื่อหน่ายในการทำดี” เพราะเขารู้ว่าเขา “กำลังวางรากฐานของงานอันสำคัญยิ่ง” ด้วยวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนว่าความพยายามนั้นเป็นพรต่อหลายชีวิตไปชั่วนิรันดร์ ว่า “จากสิ่งเล็กน้อยบังเกิดเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่” (คพ. 64:33)
เราทุกคนควร “ทำงานอย่างทุ่มเทในอุดมการณ์ดี, และทำสิ่งสารพันด้วยเจตจำนงอิสระ[ของเรา], และทำให้เกิดความชอบธรรมยิ่ง” (คพ. 58:27)
เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองให้คำแนะนำว่า “อดีตมีไว้เรียนรู้มิใช่อยู่กับมัน เราเหลียวไปมองเพื่อรับเอาถ่านที่ยังคุอยู่จากประสบการณ์อันโชติช่วงแต่ไม่ใช่เถ้าถ่าน เมื่อใดที่เรารู้แล้วว่าเราต้องเรียนรู้อะไรและนำส่วนดีที่สุดที่เคยประสบมากับเรา เมื่อนั้นเรามองไปข้างหน้าและจำไว้ว่า ศรัทธาชี้บอกอนาคตเสมอ” (“สิ่งดีเลิศจะตามมา,” เลียโฮนา, ม.ค. 2010, 18)
แม้บทเรียนของคุณแม่ข้าพเจ้าเรื่องการมองไปข้างหน้าจะชี้ไปยังวัชพืชที่มองเห็นในไร่ แต่การท้าทายนั้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสิ่งที่วิสุทธิชนในยุคต้นๆ เผชิญ เอ็ลเดอร์โจเซฟ บี. เวิร์ธลินอธิบายประสบการณ์นี้ไว้ว่า “ในปี 1846 ผู้คนมากกว่า 10,000 [คน] ละทิ้งเมือง [นอวู] อันงดงามที่พวกเขาสร้างบนฝั่งแม่น้ำมิสซิสซิปปี ด้วยศรัทธาในผู้นำที่เป็นศาสดาพยากรณ์ สมาชิกของศาสนจักรในยุคแรกๆ เหล่านี้ได้ละทิ้ง “เมืองงาม”ของพวกเขาและออกเดินทางสู่แดนทุรกันดารของแผ่นดินอเมริกา พวกเขาไม่รู้แน่ชัดว่าจะไปที่ไหน ระยะทางข้างหน้าจะยาวไกลเพียงใด การเดินทางนี้จะนานเพียงไหน หรืออนาคตที่รอพวกเขาอยู่จะเป็นเช่นไร แต่พวกเขา รู้อย่างแน่นอน ว่าพวกเขาได้รับการนำโดยพระเจ้าและผู้รับใช้ของพระองค์” (“ศรัทธาของบรรพบุรุษเรา,” เลียโฮนา, ก.ค. 1996, 40)
พวกเขารู้ว่าการมองไปข้างหน้าและเชื่อเป็นอย่างไร หนึ่งทศวรรษครึ่งต่อมา สมาชิกเหล่านี้บางคนยังอยู่และได้รับการเปิดเผยว่า
“เพราะตามจริงแล้ว เรากล่าวแก่เจ้า, คนที่รักษาบัญญัติของเราย่อมเป็นสุข, ไม่ว่าในชีวิตหรือในความตาย; และคนที่ซื่อสัตย์ในความยากลำบาก, รางวัลของคนคนนั้นยิ่งใหญ่กว่าในอาณาจักรแห่งสวรรค์.
“เจ้าจะมองเห็นแผนของพระผู้เป็นเจ้าของเจ้าด้วยดวงตาฝ่ายธรรมชาติของเจ้าไม่ได้, ในเวลานี้, เกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้นซึ่งจะมาถึงในภายหน้า, และรัศมีภาพซึ่งจะตามมาหลังจากความยากลำบากยิ่ง” (คพ. 58:2–3)
เราเองก็เช่นกันสามารถมองไปข้างหน้าและเชื่อ เราสามารถยอมรับการเชื้อเชิญจากพระเจ้าของเราซึ่งทรงยื่นพระหัตถ์เชื้อเชิญว่า
“บรรดาผู้เหน็ดเหนื่อยและแบกภาระหนัก จงมาหาเรา และเราจะให้ท่านทั้งหลายได้หยุดพัก
“จงเอาแอกของเราแบกไว้ แล้วเรียนจากเรา เพราะว่าเราสุภาพอ่อนโยนและใจอ่อนน้อม และจิตใจของพวกท่านจะได้หยุดพัก
“ด้วยว่าแอกของเราก็พอเหมาะ และภาระของเราก็เบา” (มัทธิว 11:28–30)
ศาสดาพยากรณ์ผู้เป็นที่รักของเรา ประธานโธมัส เอส. มอนสัน ที่ปรึกษาของท่าน และโควรัมอัครสาวกสิบสองเชื้อเชิญเราทุกคนให้มีส่วนร่วมในงานแห่งความรอด ผู้เปลี่ยนใจใหม่ เยาวชน คนหนุ่มสาว คนที่เกษียณจากงานอาชีพ และผู้สอนศาสนาเต็มเวลาจำเป็นต้องช่วยกันแบกแอกนี้ในการเร่งงานแห่งความรอด
ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์ ประธานโควรัมอัครสาวกสิบสอง ครั้งหนึ่งเคยเข้าชมการแข่งขันวัวลากเลื่อนซึ่งท่านนำมาเป็นอุปมา ท่านพูดถึงประสบการณ์นี้ว่า “เลื่อนไม้ถูกถ่วงน้ำหนักด้วยก้อนซีเมนต์ หนึ่งหมื่นปอนด์ [4,535 กก.]—ห้าตัน … จุดประสงค์เพื่อให้วัวลากเลื่อนนี้ไปให้ได้สามฟุต [91 ซม.] … ข้าพเจ้าสังเกตเห็นคู่ที่เหมาะมากระหว่างวัวสีผสมน้ำเงินเทา…กับวัวสีน้ำเงินตัวใหญ่จากการแข่งขันปีที่แล้ว”
เมื่อพูดถึงผลการแข่งขันครั้งนั้นท่านกล่าวว่า “ทีมถูกตัดออกทีละคู่… วัวสีน้ำเงินตัวใหญ่ไม่ติดอันดับใด แต่คู่ที่ไม่น่าสนใจตัวเล็กๆ ซึ่งขนาดเปรียบกันไม่ได้ กลับสามารถลากเลื่อนได้ถึงสามครั้ง”
แล้วท่านก็อธิบายถึงผลที่ออกมาอย่างน่าประหลาดใจนั้นว่า “วัวสีน้ำเงินตัวใหญ่และแข็งแรงและขนาดเข้าคู่กันได้ดีกว่าทุกทีม แต่วัวตัวเล็กทำงานเป็นทีมและประสานงานกันได้ดีกว่า ทั้งสองตัวดันแอกด้วยกัน ทั้งสองตัวลากเลื่อนไปข้างหน้าพร้อมกันและบังคับการเคลื่อนไหวพร้อมกัน” (“Equally Yoked Together,” สุนทรพจน์ในการสัมมนาตัวแทนเขต, 3 เม.ย. 1975; ใน Teaching Seminary: Preservice Readings [2004], 30)
ขณะที่เรามองไปข้างหน้าและเชื่อ เราจำเป็นต้องมีการทำงานเป็นทีมแบบเดียวกันนี้ในการเร่งงานแห่งความรอดขณะที่เราเชื้อเชิญผู้อื่นมาสู่พระคริสต์ ในความสามารถส่วนตัวของเรา เราจำเป็นต้องทำตามคำแนะนำของประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ ให้เรา “ยืนชิดกันและยืนตรงไหนยกตรงนั้น” (“ยืนตรงไหนยกตรงนั้น,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 70) เราสามารถค้นพบศักยภาพอันเต็มเปี่ยมของเรา ดังที่เอ็ลเดอร์แอล. ทอม เพอร์รีย์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองได้สังเกตเห็น “ขณะที่ข้าพเจ้าเดินทางไปทั่วศาสนจักรข้าพเจ้าประหลาดใจต่อสิ่งดีๆ ทั้งหลายทั้งปวงที่กำลังเกิดขึ้น ข้าพเจ้ายังไม่เคยรู้สึกว่าเราได้บรรลุถึงศักยภาพที่แท้จริง ข้าพเจ้ารู้สึกว่าเรายังไม่ได้ทำงานร่วมกันตลอดเวลา และเรายังให้ความสนใจกับเป้าหมายของการให้เกียรติบุคคลและความสำเร็จส่วนตัวมากเกินไป และแสดงความสนใจเพียงเล็กน้อยต่อเป้าหมายร่วมในการสร้างอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า” (“United in Building the Kingdom of God,” Ensign, พ.ค. 1987, 35)
ขอให้เรามาเป็นหนึ่งเดียวกันในวัตถุประสงค์เดียวกัน “คือการทำให้เกิดความเป็นอมตะ และชีวิตนิรันดร์ของมนุษย์” (โมเสส 1:39)
พระผู้ช่วยให้รอดของเรา พระเยซูคริสต์ ผู้ทรงเห็นตั้งแต่กาลเริ่มต้นจนถึงอวสาน ทรงรู้จักเส้นทางที่จะเสด็จไปยังเกทเสมนีและกลโกธาได้ดีมากเมื่อพระองค์ทรงประกาศว่า “ไม่มีใครเอามือจับคันไถแล้วหันหลังกลับ จะสมควรกับแผ่นดินของพระเจ้า” (ลูกา 9:62) ในสายพระเนตรของพระเจ้า สิ่งที่เราเคยทำหรือจุดที่เราเคยอยู่นั้นไม่สำคัญเท่ากับที่ที่เราเต็มใจจะไป
ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธได้สอนหลักธรรมแห่งการนำทางแก่เราว่า “หลักธรรมพื้นฐานของศาสนาเราคือประจักษ์พยานของอัครสาวกและศาสดาพยากรณ์ ที่เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ ว่าพระองค์สิ้นพระชนม์ ทรงถูกฝัง ทรงฟื้นคืนพระชนม์อีกครั้งในวันที่สาม และเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ เรื่องอื่นทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับศาสนาเราล้วนเป็นเพียงส่วนประกอบของเรื่องดังกล่าว” (คำสอนของประธานศาสนจักร: โจเซฟ สมิธ [2007], 52–53)
ข้าพเจ้าขอเป็นพยานว่าขณะที่เราทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดของเรา พระเยซูคริสต์ และยกมือของเราขึ้นตั้งฉากในการสนับสนุนศาสดาพยากรณ์ผู้เป็นที่รักของเรา ประธานโธมัส เอส. มอนสัน เราจะพบสันติสุข การปลอบประโลม และปีติ แล้วเรา “จะกินสิ่งดีของแผ่นดิน…ในวันเวลาสุดท้ายนี้” (คพ. 64:34) ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน