2010–2019
พลังอำนาจ ปีติ และความรักจากการรักษาพันธสัญญา
ตุลาคม 2013


15:27

พลังอำนาจ ปีติ และความรักจากการรักษาพันธสัญญา

ดิฉันเชื้อเชิญให้เราแต่ละคนประเมินว่าเรารักพระผู้ช่วยให้รอดเพียงใด โดยวัดจากว่าเรามีความสุขเพียงใดในการรักษาพันธสัญญา

ดิฉันจะเริ่มต้นด้วยการเล่าเรื่องราวที่ประทับใจดิฉัน

ค่ำวันหนึ่งชายคนหนึ่งเรียกแกะห้าตัวของเขาให้เข้าคอกในเวลากลางคืน ครอบครัวของเขามองด้วยความสนใจยิ่งขณะที่เขาเพียงพูดว่า “มานี่” และในทันใดแกะทั้งห้าตัวเงยหน้าหันมาทางเขา แกะสี่ตัวรีบวิ่งมาหาเขา ด้วยความรักความเมตตา เขาลูบหัวแกะสี่ตัวอย่างนุ่มนวล แกะรู้จักเสียงของเขาและรักเขา

แต่แกะตัวที่ห้าไม่ได้วิ่งมาหา แกะตัวนี้เป็นแกะเพศเมียตัวใหญ่ เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านี้เจ้าของเอามาให้เขาบอกว่ามันไม่เชื่อง ดื้อและมักพาให้แกะตัวอื่นออกนอกทาง เจ้าของใหม่รับแกะเข้ามาและผูกมันไว้ในทุ่งของเขาเองสองสามวันเพื่อจะเรียนรู้ไม่หนีไปที่อื่น เขาสอนมันอย่างอดทนให้รักเขาและรักแกะตัวอื่นจนในที่สุดเหลือแต่เชือกสั้นๆ ผูกรอบคอเท่านั้น ไม่ต้องผูกติดไว้กับหลัก

ค่ำวันนั้นขณะที่ครอบครัวของเขาเฝ้าดู ชายคนนั้นเดินเข้าไปหาแกะเพศเมียตัวนั้น ซึ่งยืนอยู่ชายทุ่ง เขาพูดอย่างนุ่มนวลอีกครั้งว่า “มานี่สิ เจ้าไม่ถูกล่ามแล้วนะ เจ้าป็นอิสระแล้ว” จากนั้นเขาเอื้อมมือออกไปด้วยความรักและวางมือบนหัวมัน และเดินกลับมากับมัน พร้อมกับแกะตัวอื่นไปที่คอก1

ด้วยเจตนารมณ์ของเรื่องราวนั้น ดิฉันสวดอ้อนวอนขอให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ช่วยให้เราเรียนรู้ด้วยกันในค่ำคืนนี้เกี่ยวกับการรักษาพันธสัญญา การทำและรักษาพันธสัญญาหมายถึงการเลือกที่จะผูกมัดตนเองกับพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ เป็นการให้คำมั่นว่าจะติดตามพระผู้ช่วยให้รอด เป็นการวางใจในพระองค์และปรารถนาที่จะแสดงความสำนึกคุณสำหรับราคาที่พระองค์ทรงชำระเพื่อปลดปล่อยให้เราเป็นอิสระผ่านของประทานอันเป็นนิจแห่งการชดใช้

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์อธิบายว่า “พันธสัญญาคือข้อตกลงที่ผูกมัดทางวิญญาณ สัญญาอันศักดิ์สิทธิ์กับพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาของเราว่าเราจะดำเนินชีวิต คิด และกระทำตามวิธีที่กำหนด—วิธีที่พระบุตรของพระองค์ พระเจ้าพระเยซูคริสต์ พระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงสัญญาจะประทานสง่าราศีของชีวิตนิรันดร์เป็นการตอบแทน”2 ในสัญญาที่ผูกมัดนั้น พระเจ้าทรงกำหนดเงื่อนไขและเราตกลงที่จะรักษาเงื่อนไข การทำและรักษาพันธสัญญาของเราเป็นการแสดงออกถึงคำมั่นของเราที่จะเป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอด3 แนวคิดคือพยายามที่จะมีเจตคติที่กล่าวไว้เป็นอย่างดีในสามวลีต่อไปนี้ในเพลงสวดอันเป็นที่ชื่นชอบ “ข้าจะไปที่ พระองค์ บัญชา … ข้าจะพูดสิ่ง พระองค์ บัญชา … ข้าจะเป็นดัง พระองค์ บัญชา”4

เหตุใดจึงต้องทำและรักษาพันธสัญญา

1. การรักษาพันธสัญญาเสริมสร้างความเข้มแข็ง ทำให้มีพลังอำนาจ และให้ความคุ้มครอง

นีไฟเห็นในนิมิตถึงพรสำคัญที่พระเจ้าประทานแก่ผู้รักษาพันธสัญญา “และ​เหตุการณ์​ได้​บังเกิด​ขึ้น​คือ​ข้าพเจ้า, นีไฟ, เห็น​เด​ชานุ​ภาพ​ของ​พระ​เมษ​โปดก​ของ​พระผู้เป็นเจ้า, ว่า​ลง​…​บน​ผู้คน​แห่ง​พัน​ธ​สัญญา​ของ​พระเจ้า, … และ​พวก​เขา​มี​อาวุธ​คือ​ความชอบ​ธรรม​และ​เด​ชานุภาพ​ของ​พระผู้เป็นเจ้า​ใน​รัศมี​ภาพ​อัน​ยิ่ง​ใหญ่.”5

เมื่อเร็วๆ นี้ดิฉันพบกับเพื่อนใหม่คนหนึ่ง เธอเป็นพยานว่าหลังจากที่เธอได้รับเอ็นดาวเม้นท์พระวิหาร เธอรู้สึกถึงความเข้มแข็งด้วยพลังอำนาจที่จะต่อต้านการล่อลวงที่เธอเคยมีปัญหามาก่อน

เมื่อเรารักษาพันธสัญญาของเรา เราได้รับความกล้าหาญและความเข้มแข็งด้วยเพื่อช่วยให้เราแบกภาระของกันและกัน ซิสเตอร์ที่ใจแตกสลายคนหนึ่งมีลูกชายที่กำลังประสบกับการท้าทายทางศีลธรรมที่หนักหน่วง เนื่องจากศรัทธาของเธอที่มีต่อพี่น้องสตรีสมาคมสงเคราะห์ในฐานะผู้รักษาพันธสัญญา เธอรวบรวมความกล้าเชื้อเชิญพวกเธออดอาหารและสวดอ้อนวอนให้ลูกชายของเธอ สตรีคนหนึ่งกล่าวว่าเธอน่าจะขอคำสวดอ้อนวอนเช่นเดียวกันจากพี่น้องสตรีของเธอ หลายปีก่อน ลูกชายของเธอเองมีปัญหา เสียดายที่เธอไม่ได้เชื้อเชิญให้พี่น้องสตรีช่วยครอบครัวเธอแบกภาระนี้ พระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่า “ถ้าท่านรักกันและกัน ดังนี้แหละทุกคนก็จะรู้ว่าท่านเป็นสาวกของเรา”6

โอ พี่น้องสตรี เราทุกคนมีภาระที่ต้องแบกและภาระที่ต้องแบ่งปัน คำเชื้อเชิญให้แบกภาระของกันและกันคือคำเชื้อเชิญให้รักษาพันธสัญญาของเรา คำแนะนำของลูซี แม็ค สมิธถึงพี่น้องสตรีสมาคมสงเคราะห์กลุ่มแรกตรงกับยุคสมัยนี้มากกว่ายุคสมัยใด “เราจะต้องทะนุถนอมกัน ดูแลกัน ปลอบโยนกัน และได้รับคำสั่งสอน เพื่อเราทุกคนจะนั่งอยู่ในฟ้าสวรรค์ด้วยกัน”7 นี่คือการรักษาพันธสัญญาและการเยี่ยมสอนในรูปแบบที่ดีที่สุด

พระคัมภีร์มอรมอนเตือนเราว่าแม้กระทั่งศาสดาพยากรณ์แอลมาก็ต้องแบกภาระของการมีบุตรชายที่ดื้อรั้น แต่แอลมาได้รับพรที่พี่น้องในพระกิตติคุณรักษาพันธสัญญาผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสอย่างลึกซึ้งสู่พระเจ้าและเรียนรู้ถึงความหมายของการแบกภาระของกันและกัน เราคุ้นเคยกับข้อพระคัมภีร์ที่โมไซยาห์พูดถึงศรัทธาอันยิ่งใหญ่แห่งคำสวดอ้อนวอนของแอลมาในนามของบุตรของท่าน แต่บันทึกได้กล่าวไว้ว่า “พระเจ้า​ทรง​ได้ยิน​คำ​สวดอ้อนวอน​จาก​ผู้คน​ ของ​พระองค์, และ​คำ​สวด​อ้อนวอน​จาก​แอลมา, ผู้​รับ​ใช้​ของ​พระองค์​ด้วย,”8

เรารู้ว่าพระเจ้าทรงเบิกบาน “ในจิตวิญญาณที่กลับใจ”9 แต่เราปรารถนาเหนือสิ่งอื่นใดคือให้ลูกหลานของเราทำตามคำแนะนำของประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์ให้ “เริ่มต้นแต่เนิ่นๆ และมุ่งมั่น” ในการทำและรักษาพันธสัญญา10 เมื่อไม่นานมานี้ มีคำถามที่จริงใจและกระตุ้นความคิดในสภาฐานะปุโรหิตและผู้นำองค์การช่วย “เราคาดหวังจริง ๆ ไหมที่จะให้เด็กอายุแปดขวบรักษาพันธสัญญาของพวกเขา” ขณะที่เราปรึกษากัน มีคำแนะนำว่าวิธีหนึ่งที่จะเตรียมเด็กให้ทำและรักษาพันธสัญญาบัพติศมาอันศักดิ์สิทธิ์คือช่วยให้พวกเขาเรียนรู้ที่จะทำและรักษาคำสัญญาที่เรียบง่าย

บิดามารดาที่ซื่อสัตย์มีสิทธิ์ที่จะรู้ว่าพวกเขาจะตอบสนองความต้องการของลูกๆ ได้ดีที่สุดอย่างไร ขณะที่บิดามารดาแสวงหาและกระทำตามการเปิดเผยส่วนตัว ปรึกษาด้วยกัน ดูแลและสอนหลักธรรมเรียบง่ายของพระกิตติคุณ พวกเขาจะมีพลังอำนาจที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งและคุ้มครองครอบครัวของพวกเขา สมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ สามารถช่วยได้ด้วย คุณปู่ที่น่ารักของดิฉันสอนถึงความสำคัญของการรักษาสัญญาผ่านเพลงธรรมดาเพลงหนึ่งที่ร้องอย่างนี้ “ก่อนที่จะทำสัญญา นึกถึงความสำคัญเสียก่อน จากนั้นเมื่อทำไปแล้ว สลักมันไว้ในใจ สลักมันไว้ในใจ” เพลงสั้นๆ นี้สอนด้วยความรัก ความเชื่อมั่น และพลังอำนาจ เพราะคุณปู่สลักคำสัญญาของท่านไว้ในใจท่าน

มารดาที่ฉลาดคนหนึ่งที่ดิฉันรู้จักตั้งใจให้ลูกๆ พยายามพร้อมกับเธอในการรักษาพันธสัญญาของเธอ เธอแบกรับภาระของเพื่อนบ้าน มิตรสหาย และสมาชิกในวอร์ดอย่างมีความสุข—และปลอบโยนผู้ที่ต้องการคำปลอบโยน ไม่แปลกใจเลยที่ไม่นานมานี้ลูกสาวที่อายุน้อยของเธอมาขอความช่วยเหลือเพื่อจะรู้วิธีปลอบโยนเพื่อนของเธอที่คุณพ่อเพิ่งจะเสียชีวิต นั่นเป็นสถานการณ์ดียิ่งที่จะสอนว่าความปรารถนาและการกระทำของเธอที่จะปลอบโยนเพื่อนเป็นวิธีหนึ่งในการรักษาพันธสัญญาบัพติศมาของเธอ เราจะคาดหวังให้เด็กทำและรักษาพันธสัญญาพระวิหารได้อย่างไรถ้าเราไม่คาดหวังให้พวกเขารักษาพันธสัญญาแรก—พันธสัญญาบัพติศมา

เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์ให้ข้อสังเกตว่า “พรยิ่งใหญ่ที่สุดประการหนึ่งที่เราจะให้โลกได้คือพลังของบ้านที่มีพระคริสต์เป็นศูนย์กลาง บ้านที่สอนพระกิตติคุณ รักษาพันธสัญญา และอบอวลด้วยความรัก”11 มีวิธีใดบ้างที่เราสามารถสร้างบ้านที่เตรียมลูกๆ ของเราให้ทำและรักษาพันธสัญญาพระวิหาร

  • เราสามารถค้นพบด้วยกันถึงความหมายของการมีค่าควรต่อใบรับรองพระวิหาร

  • เราสามารถค้นพบด้วยกันถึงวิธีที่จะฟังพระวิญญาณบริสุทธิ์ เนื่องจากเรารับเอ็นดาวเม้นท์พระวิหารโดยการเปิดเผย เราจึงต้องเรียนรู้ทักษะอันสำคัญนั้น

  • เราสามารถค้นพบด้วยกันถึงวิธีเรียนรู้ว่าผ่านทางการใช้สัญลักษณ์ โดยเริ่มด้วยสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ของบัพติศมาและศีลระลึก

  • เราสามารถค้นพบด้วยกันว่าทำไมร่างกายจึงศักดิ์สิทธิ์ ทำไมบางครั้งจึงกล่าวว่าเป็นพระวิหาร เสื้อผ้าและการแต่งกายสุภาพเรียบร้อยเกี่ยวข้องกับธรรมชาติอันศักดิ์สิทธิ์ของเสื้อผ้าพระวิหารอย่างไร

  • เราสามารถค้นพบแผนแห่งความสุขในพระคัมภีร์ ยิ่งเราคุ้นเคยกับแผนของพระบิดาบนสวรรค์กับการชดใช้ในพระคัมภีร์มากเท่าไร การนมัสการที่พระวิหารจะยิ่งมีความหมายมากขึ้นเท่านั้น

  • เราสามารถเรียนรู้เรื่องราวของบรรพชนเราด้วยกัน ค้นคว้าประวัติครอบครัว ทำดัชนี และทำงานพระวิหารแทนคนตายให้คนที่เรารักซึ่งล่วงลับไปแล้ว

  • เราสามารถค้นพบด้วยกันถึงความหมายของคำต่างๆ เช่น เอ็นดาวเม้นท์ ศาสนพิธี การผนึก ฐานะปุโรหิต กุญแจ และ คำอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการนมัสการในพระวิหาร

  • เราสามารถสอนว่าเราไปพระวิหารเพื่อทำพันธสัญญากับพระบิดาบนสวรรค์—เรากลับบ้านเพื่อรักษาพันธสัญญาเหล่านั้น12

ขอให้เราระลึกถึงแนวคิดเรื่อง “ดี ดีกว่า และดีที่สุด” ขณะที่เราสอน13 เป็นเรื่องดีที่จะสอนลูกๆ ของเราเกี่ยวกับพระวิหาร เป็นการดีกว่าที่จะเตรียมและคาดหวังให้พวกเขาทำและรักษาพันธสัญญา เป็นการดีที่สุดที่จะแสดงให้พวกเขาเห็นโดยการเป็นแบบอย่างว่าเราแนบสนิทกับพันธสัญญาบัพติศมาและพันธสัญญาพระวิหารของเราอย่างชื่นบาน พี่น้องสตรี เราตระหนักถึงบทบาทอันสำคัญในงานแห่งความรอดขณะที่เราบำรุงเลี้ยง สอน และเตรียมลูกๆ ให้ก้าวหน้าไปตามเส้นทางแห่งพันธสัญญาไหม พลังอำนาจที่จะทำเช่นนี้จะเกิดขึ้นเมื่อเรายกย่องและรักษาพันธสัญญาของเรา

2. การรักษาพันธสัญญาจำเป็นต่อความสุขที่แท้จริง

ประธานโธมัส เอส. มอนสันสอนว่า “พันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์มีไว้ให้เรายกย่อง และความซื่อสัตย์ต่อพันธสัญญาเหล่านี้เป็นข้อเรียกร้องสำหรับความสุข”14 ใน 2 นีไฟกล่าวไว้ว่า “และเหตุการณ์ได้บังเกิดขึ้นคือเรามีชีวิตอยู่ตามทางแห่งความสุข”15 ในตอนต้นของบทเดียวกันนี้เราเรียนรู้ว่านีไฟและผู้คนของเขาเพิ่งสร้างพระวิหาร แน่นอนว่าพวกเขาเป็นผู้รักษาพันธสัญญาที่มีความสุข และในแอลมาเราอ่านว่า “แต่​ดูเถิด​นับ​แต่​วัน​เวลา​ของนีไฟแล้ว, ไม่​เคย​มี​เวลา​ใด​เลย​ใน​บรรดา​ผู้คน​ของ​นีไฟที่เป็นสุข, ยิ่ง​ไป​กว่า​ใน​วัน​เวลา​ของ​โม​โร​ไน”16 ทำไม เราเรียนรู้ในข้อก่อนหน้านั้นว่าพวกเขา “ซื่อสัตย์​ใน​การ​รักษา​พระ​บัญญัติ​ของ​พระเจ้า​”17 ผู้รักษาพันธสัญญาคือผู้รักษาพระบัญญัติ

ดิฉันชอบพระคัมภีร์ที่อ่านว่า “และ​บัดนี้​เมื่อ​ผู้คน​ได้ยิน​ถ้อยคำ​เหล่า​นี้ [หมายถึงถ้อยคำที่อธิบายถึงพันธสัญญาบัพติศมา], พวก​เขา​ปรบ​มือ​ด้วย​ปีติ, และ​ร้อง​ว่า: นี่​คือ​ความ​ปรารถนา​ของ​ใจ​เรา.”18 ดิฉันชอบความปรารถนาของใจพวกเขา พวกเขาปรารถนาอย่างมีความสุขที่จะทำและรักษาพันธสัญญาของพวกเขา

วันอาทิตย์วันหนึ่งสตรีสาวคนหนึ่งเปล่งเสียงร้องอย่างรื่นเริงว่า “วันนี้ฉันรับศีลระลึก” ท่านชื่นชมยินดีในสิทธิพิเศษนี้เป็นครั้งสุดท้ายเมื่อไร และเราจะแสดงออกถึงสิ่งนี้ได้อย่างไร เราทำสิ่งนี้โดยระลึกถึงพระผู้ช่วยให้รอด เสมอ และรักษาพระบัญญัติของพระองค์ เสมอ ซึ่งรวมถึงการรักษาวันสะบาโตของพระองค์ให้ศักดิ์สิทธิ์ เราทำสิ่งนี้โดยระลึกถึงพระองค์ เสมอ เมื่อเราสวดอ้อนวอนส่วนตัวและเป็นครอบครัว ศึกษาพระคัมภีร์ทุกวัน และจัดสังสรรค์ในครอบครัวทุกสัปดาห์ เสมอ เมื่อเราสับสนหรือไม่จริงจังกับสิ่งที่สำคัญเหล่านี้ เรากลับใจและเริ่มต้นอีก

การทำและรักษาพันธสัญญาของเราอย่างเบิกบานให้เหตุผลและความหมายแก่ศาสนพิธีแห่งความรอดอันศักดิ์สิทธิ์และสำคัญที่เราต้องได้รับเพื่อจะได้ “ทุกสิ่งที่พระบิดามี”19 ศาสนพิธีและพันธสัญญาเป็น “หลักชัยทางวิญญาณ” ที่ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์กล่าวถึงเมื่อท่านสอน วิสุทธิชนยุคสุดท้ายเป็นผู้คนแห่งพันธสัญญา นับจากวันที่ได้รับบัพติศมาผ่านประสบการณ์ทางวิญญาณเรื่อยมา เราทำสัญญากับพระผู้เป็นเจ้าและพระองค์ทรงทำสัญญากับเรา พระองค์ทรงรักษาสัญญาของพระองค์ เสมอ ผ่านทางผู้รับใช้ที่มีอำนาจของพระองค์เสมอ แต่สิ่งนี้เป็นการทดสอบที่สำคัญยิ่งของชีวิตเราเพื่อดูว่า เรา จะทำและรักษาพันธสัญญากับพระองค์หรือไม่”20

3. การรักษาพันธสัญญาของเราแสดงให้เห็นถึงความรักของเราที่มีต่อพระผู้ช่วยให้รอดและพระบิดาในสวรรค์ของเรา

จากเหตุผลทั้งปวงที่เราควรจะพากเพียรยิ่งขึ้นในการรักษาพันธสัญญาของเรา เหตุผลข้อนี้มีความน่าสนใจมากกว่าทุกข้อ—ความรัก ข้อหนึ่งในพันธสัญญาเดิมเป็นข้อที่ประทับใจดิฉันเมื่อเราไตร่ตรองถึงหลักธรรมแห่งความรัก มีใครบ้างในบรรดาพวกเราที่ไม่ประทับใจกับความรักของยาโคบและราเชลของเรื่องความรักในไบเบิลดังที่เราอ่าน “ยาโคบก็รับใช้อยู่เจ็ดปีเพื่อได้ราเชล เห็นเป็นเหมือนน้อยวันเพราะเขารักเธอ”21 พี่น้องสตรี เรารักษาพันธสัญญาของเราด้วยความรักที่ล้ำลึกและอุทิศตนเช่นนี้หรือไม่

เหตุใดพระผู้ช่วยให้รอดทรงเต็มพระทัยรักษาพันธสัญญาของพระองค์กับพระบิดาและทรงทำพันธกิจอันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ให้เกิดสัมฤทธิผลเพื่อชดใช้บาปของโลก นั่นคือความรักของพระองค์ต่อพระบิดาของพระองค์และความรักของพระองค์ที่ทรงมีต่อเรา เหตุใดพระบิดาจึงเต็มพระทัยที่จะยอมให้พระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดและพระบุตรที่ดีพร้อมของพระองค์ทนทุกข์ต่อความเจ็บปวดเกินกว่าพรรณาได้เพื่อแบกรับบาป ความปวดร้าวใจ ความป่วยไข้ และความทุพลภาพ ของโลกและทุกสิ่งที่ไม่ยุติธรรมในชีวิตนี้ เราพบคำตอบในถ้อยคำเหล่านี้ “พระเจ้าทรงรักโลกดังนี้ คือได้ประทานพระบุตรองค์เดียวของพระองค์”22

“ถ้าเราสำนึกในพระกรุณาธิคุณต่อพรอันมากมายของเราอย่างเต็มที่ซึ่งเป็นของเราผ่านการไถ่ที่ทำเพื่อเรา ไม่มีสิ่งใดที่พระเจ้าจะทรงขอจากเราแล้วเราจะไม่กระตือรือร้นและเต็มใจทำ”23 จากคำพูดนี้ของประธานโจเซฟ ฟีลดิงก์ สมิธที่กล่าวว่า การรักษาพันธสัญญาเป็นวิธีหนึ่งที่จะแสดงความรักของเราต่อการชดใช้อันเป็นนิจที่เข้าใจไม่ได้ของพระผู้ช่วยให้รอดและพระผู้ไถ่และความรักอันดีพร้อมของพระบิดาในสวรรค์ของเรา

เอ็ลเดอร์ฮอลแลนด์แนะนำอย่างประทับใจว่า “ข้าพเจ้าไม่แน่ใจว่าประสบการณ์ของเราจะเป็นอย่างไรในวันพิพากษา แต่ข้าพเจ้าจะแปลกใจมากถ้าในการสนทนานั้นพระผู้เป็นเจ้าจะไม่ทรงถามเราอย่างเดียวกับที่พระคริสต์ตรัสถามเปโตร ‘เจ้ารักเราไหม’”24 คืนนี้ดิฉันเชื้อเชิญให้เราแต่ละคนประเมินว่าเรารักพระผู้ช่วยให้รอดเพียงใด โดยวัดจากว่าเรามีความสุขเพียงใดในการรักษาพันธสัญญา พระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่า “ใครที่มีบัญญัติของเราและประพฤติตามบัญญัติเหล่านั้น คนนั้นเป็นคนที่รักเราและคนที่รักเรานั้นพระบิดาจะทรงรักเขาและเราจะรักเขาและจะสำแดงตัวให้ปรากฏแก่เขา”25 เราทุกคนต้องการการมาปรากฏของพระผู้ช่วยให้รอดเป็นประจำในชีวิตประจำวันของพวกเรามากเพียงไร

ขอให้เราจดจำว่าแม้ผู้ที่เคยออกนอกลู่นอกทางในอดีตหรือผู้ที่ประสบปัญหาที่จะรู้สึกถึงการสัมผัสจากพระหัตถ์ของพระเมษโปดกผู้ประเสริฐบนศีรษะของพวกเขาและได้ยินสุรเสียงของพระองค์กล่าวว่า “มาสิ เจ้าไม่ได้ถูกล่ามอีกต่อไป เจ้าเป็นอิสระแล้ว” พระผู้ช่วยให้รอดผู้ตรัสว่า “เราเป็นผู้เลี้ยงที่ดี ผู้เลี้ยงที่ดีย่อมสละชีวิตของตนเพื่อฝูงแกะ”26 พระองค์ทรงพูดเช่นนั้นได้เพราะพระองค์ทรงรักษาพันธสัญญาของพระองค์ด้วยความรัก จากนั้นคำถามของเราคือ เราจะพูดเช่นนั้นได้ไหม ขอให้เรารุดหน้าด้วยศรัทธา จิตใจอันร่าเริง และด้วยความปรารถนาอันยิ่งใหญ่ที่จะเป็นผู้รักษาพันธสัญญา นี่จะเป็นวิธีที่เราแสดงความรักของเราที่มีต่อพระบิดาในสวรรค์และพระผู้ช่วยให้รอดของเรา ทั้งสองพระองค์ที่ดิฉันเป็นพยานด้วยความรักยิ่ง ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน

อ้างอิง

  1. ดู ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน, “ท่านเป็นอิสระ,” เลียโฮนา มี.ค. 2013, 16–18.

  2. เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “รักษาพันธสัญญา: ข่าวสารสำหรับคนที่จะรับใช้งายเผยแผ่,” เลียโฮนา, ม.ค. 2012, หน้า 49.

  3. ดู “เข้าใจพันธสัญญาของเรากับพระผู้เป็นเจ้า,” เลียโฮนา ก.ค. 2012, หน้า 23.

  4. “ข้าจะไปที่พระองค์บัญชา,” เพลงสวด, บทเพลงที่ 136.

  5. 1 นีไฟ 14:14.

  6. ยอห์น 13:35.

  7. Lucy Mack Smith, in Daughters in My Kingdom: The History and Work of Relief Society (2011), 25.

  8. โมไซยาห์ 27:14; เน้นตัวเอน.

  9. หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:13.

  10. ดู เฮนรีย์ บี. อายริงก์, “การเตรียมพร้อมทางวิญญาณ: เริ่มต้นแต่เนิ่นๆ และมุ่งมั่น,” เลียโฮนา, พ.ย. 2005, หน้า 45–48.

  11. ริชาร์ด จี. สก็อตต์, “เพื่อให้มีสันติสุขในบ้าน,” เลียโฮนา, พ.ค. 2013, 30.

  12. See D. Todd Christofferson, “The Gospel Answers Life’s Problems and Challenges” (worldwide leadership training meeting, Feb. 2012), LDS.org/broadcasts.

  13. ดู ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “ดี ดีว่า ดีที่สุด,” เลียโฮนา, พ.ย. 2007, หน้า 133.

  14. Thomas S. Monson, “Happiness—the Universal Quest,” Ensign, Oct. 1993, 4; or Liahona, Mar. 1996, 5.

  15. 2 นีไฟ 5:27.

  16. แอลมา 50:23.

  17. แอลมา 50:22.

  18. โมไซยาห์ 18:11.

  19. หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:38.

  20. เฮนรีย์ บี. อายริงก์ “เป็นพยานของพระผู้เป็นเจ้า” เลียโฮนา ม.ค. 1997 หน้า 33.

  21. ปฐมวัย 29:20.

  22. ยอห์น 3:16.

  23. Joseph Fielding Smith, “Importance of the Sacrament Meeting,” Relief Society Magazine, Oct. 1943, 592.

  24. เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ “พระบัญญัติสำคัญข้อแรก” เลียโฮนา พ.ย. 2012 หน้า 84.

  25. ยอห์น 14:21.

  26. ยอห์น 10:11.