พวกท่านจึงไม่ใช่คนนอกอีกต่อไป
ในศาสนจักรนี้ ไม่มีคนนอกและคนที่ถูกทอดทิ้ง มีเพียงพี่น้องกัน
เราเกือบทุกคนในช่วงเวลาหนึ่งเคยอยู่ในสถานการณ์ที่แปลกใหม่สำหรับเรา ในที่ซึ่งเรารู้สึกแปลกและไม่มั่นใจ สถานการณ์นี้เกิดกับครอบครัวข้าพเจ้าเมื่อประมาณห้าปีที่แล้วหลังจากประธานโธมัส เอส. มอนสันเรียกข้าพเจ้าเป็นเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของศาสนจักร การเรียกนี้ทำให้เราต้องย้ายออกจากสถานที่สวยงามซึ่งเราอยู่อย่างมีความสุขมากว่าสองทศวรรษ ข้าพเจ้ากับภรรยายังจำได้ถึงปฏิกิริยาของลูกๆ ของเราเมื่อพวกเขารู้เรื่องนี้ ลูกชายวัย 16 ปีพูดเสียงดังว่า “ไม่ใช่ปัญหา คุณพ่อไปได้เลย ผมจะอยู่ที่นี่!”
จากนั้นเขาก็ตกลงใจอย่างรวดเร็วที่จะไปกับเราและยอมรับโอกาสใหม่นี้ในชีวิตของเขาอย่างซื่อสัตย์ การได้อยู่ในสภาพแวดล้อมแปลกใหม่ตลอดไม่กี่ปีที่ผ่านมากลายเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ที่สนุกสนานสำหรับครอบครัวเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นเพราะการต้อนรับอย่างอบอุ่นและความดีของวิสุทธิชนยุคสุดท้าย เมื่อเราอาศัยอยู่ต่างประเทศ เราได้เรียนรู้ว่าความเป็นเอกภาพของผู้คนของพระผู้เป็นเจ้าทั่วโลกนั้นมีจริงและจับต้องได้
การเรียกของข้าพเจ้าทำให้ข้าพเจ้าได้เดินทางไปหลายประเทศและให้โอกาสพิเศษแก่ข้าพเจ้าที่จะอยู่ควบคุมการประชุมหลายแห่ง เมื่อข้าพเจ้ามองไปยังผู้เข้าร่วมการประชุมต่างๆ บ่อยครั้งข้าพเจ้าเห็นสมาชิกจากหลายประเทศ หลายภาษา และหลายวัฒนธรรม ความอัศจรรย์ในแง่มุมหนึ่งของพระกิตติคุณในสมัยการประทานของเราคือ ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงในพื้นที่หนึ่งหรือกลุ่มชนชาติหนึ่ง แต่เป็นของทั่วโลกและเป็นสากล ซึ่งเตรียมพร้อมรับการกลับมาอย่างมีรัศมีภาพของพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าโดยการรวม “ลูกๆ ของพระองค์จากสี่เสี้ยวของแผ่นดินโลก”1
แม้ว่าสมาชิกภาพของศาสนจักรมีความหลากหลายเพิ่มขึ้น แต่มรดกอันศักดิ์สิทธิ์ของเราอยู่เหนือความแตกต่างของเรา ในฐานะสมาชิกของศาสนจักร เราถูกรับมาเป็นเชื้อสายแห่งอิสราเอล เรากลายเป็นพี่น้องกัน เป็นทายาทผู้เท่าเทียมกันของเชื้อสายทางวิญญาณเดียวกัน พระผู้เป็นเจ้าทรงสัญญากับอับราฮัมว่า “มากเท่าที่ได้รับพระกิตติคุณนี้จะได้รับเรียกตามชื่อของ [เขา], และจะนับไว้เป็นพงศ์พันธุ์ของ [เขา], และจะลุกขึ้นและอวยพร [เขา], เป็นบิดา พวกเขา.”2
มีคำสัญญาที่ให้ไว้กับทุกคนที่เป็นสมาชิกของศาสนจักร: “เพราะฉะนั้น พวกท่านจึงไม่ใช่คนนอกและคนต่างด้าวอีกต่อไป แต่เป็นพลเมืองเดียวกับบรรดาธรรมิกชน และเป็นครอบครัวของพระเจ้า”3
คำว่า คนนอก stranger มาจากคำภาษาลาติน extraneus หมายถึง “ภายนอก” หรือ “ข้างนอก” โดยทั่วไปคำนี้กำหนดบางคนผู้เป็น “คนนอก” ด้วยเหตุผลหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นถิ่นกำเนิด วัฒนธรรม ความเห็น หรือศาสนา ในฐานะสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ผู้พยายามอยู่ในโลกแต่ไม่เป็นของโลก บางครั้งเรารู้สึกเหมือนเป็นคนนอก เรารู้มากกว่าผู้อื่นว่าประตูบางประตูจะปิดใส่ผู้ที่ถือว่าแตกต่าง
ตลอดยุคสมัยพระผู้เป็นเจ้าทรงบัญชาให้ผู้คนห่วงใยทุกคนผู้เป็นคนนอกหรือถูกมองว่าแตกต่าง ในสมัยโบราณ คนนอกได้รับไมตรีจิตแบบเดียวกันกับหญิงหม้ายหรือเด็กกำพร้า เช่นเดียวกับพวกเขา คนนอกอยู่ในสภาพไร้การคุ้มครองอย่างยิ่ง และการเอาตัวรอดของเขาขึ้นอยู่กับความคุ้มครองที่เขาได้รับจากประชาชนในท้องที่ ผู้คนแห่งอิสราเอลได้รับคำแนะนำที่เฉียบขาดในเรื่องนี้: “คนต่างด้าวที่อาศัยอยู่กับพวกเจ้านั้นก็เป็นเหมือนกับคนท้องถิ่นของเจ้า จงรักเขาเหมือนกับรักตนเอง เพราะว่าพวกเจ้าเคยเป็นคนต่างด้าวในแผ่นดินอียิปต์”4
ช่วงที่พระองค์ปฏิบัติศาสนกิจบนโลก พระเยซูทรงเป็นแบบอย่างของผู้ที่ทำมากกว่าแค่การมีไมตรีจิตและความอดทนอันเรียบง่าย พระองค์ทรงเมตตาและเคารพผู้ถูกกีดกันออกจากสังคม ผู้ถูกทอดทิ้งและถือว่าไม่บริสุทธิ์โดยผู้ที่คิดว่าตนเองดีกว่า พวกเขาได้รับการสอนและการปฏิบัติศาสนกิจของพระองค์เท่าเทียมกัน
ตัวอย่างเช่น พระผู้ช่วยให้รอดทรงฝ่าฝืนขนบธรรมเนียมในสมัยของพระองค์เพื่อจะพูดกับหญิงชาวสะมาเรียและขอน้ำจากเธอ พระองค์ทรงนั่งเสวยอาหารกับพวกคนเก็บภาษี พระองค์ไม่ทรงลังเลที่จะเข้าหาคนโรคเรื้อน เพื่อสัมผัสและรักษาเขา โดยชื่นชมศรัทธาของนายร้อยชาวโรมัน พระองค์ตรัสกับฝูงชนว่า “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า เราไม่เคยพบศรัทธาที่ไหนมากเท่านี้แม้ในอิสราเอล”5
พระเยซูทรงขอให้เรารักษากฎแห่งความรักอันสมบูรณ์แบบ ซึ่งเป็นของประทานที่เป็นสากลและไม่มีเงื่อนไข พระองค์ตรัสว่า
“เพราะว่าถ้าพวกท่านรักคนที่รักท่าน พวกท่านจะได้บำเหน็จอะไร? พวกคนเก็บภาษีก็ทำอย่างนั้นไม่ใช่หรือ?”
“ถ้าพวกท่านทักทายแต่พี่น้องของตนเท่านั้น ท่านได้ทำอะไรพิเศษยิ่งกว่าคนอื่นๆ? พวก [คนเก็บภาษี] ก็ทำอย่างนั้นไม่ใช่หรือ?
“เพราะฉะนั้นพวกท่านจงเป็นคนดีพร้อม เหมือนอย่างที่พระบิดาของท่าน ผู้สถิตในสวรรค์ทรงดีพร้อม” 6
ในศาสนจักรนี้ ไม่มีคนนอกและคนที่ถูกทอดทิ้ง มีเพียงพี่น้องกัน ความรู้ที่เรามีเรื่องพระบิดานิรันดร์ช่วยให้เรารู้สึกละเอียดอ่อนมากขึ้นต่อความเป็นพี่น้องซึ่งควรมีท่ามกลางชายและหญิงทุกคนบนแผ่นดินโลก
ข้อความหนึ่งจากวรรณกรรม เลมิเซราบล์ แสดงถึงวิธีที่ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตสามารถปฏิบัติกับคนแต่ละคนที่ถูกมองว่าเป็นคนนอก ฌอง วัลฌองเพิ่งถูกปล่อยตัวจากการเป็นนักโทษ เขาเหนื่อยล้าจากการเดินทางแสนไกลทั้งหิวและกระหายสุดชีวิต เขามาถึงเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งและหาอาหารและที่พักพิงสำหรับคืนนั้น เมื่อข่าวเรื่องการมาถึงของเขากระจายไปทั่ว ผู้อยู่อาศัยทั้งหมดแต่ละคนต่างปิดประตูใส่เขา ทั้งโรงแรม โรงเตี้ยม และแม้แต่เรือนจำก็ไม่เชิญเขาเข้าไป เขาถูกทอดทิ้ง ขับไสไล่ส่งออกไป ในที่สุดเขาหมดกำลังและล้มลงต่อหน้าประตูบ้านของสังฆราชเมืองนั้น
บาทหลวงแสนดีคนนี้รู้ถึงประวัติภูมิหลังของวัลฌองอย่างดี กระนั้นเขาก็เชื้อเชิญคนพเนจรเข้าบ้านของเขาพร้อมถ้อยคำอันเปี่ยมด้วยเมตตา:
“‘ที่นี่ไม่ใช่บ้านของผม เป็นบ้านของพระคริสตเจ้า ประตูบานนี้ไม่ถามคนที่เดินเข้ามาหรอกว่ามีชื่อเสียงเรียงนามหรือไม่ แต่จะถามว่ามีความทุกข์มาหรือไม่ คุณมีทุกข์ คุณหิวและกระหาย คุณจึงได้รับการต้อนรับ…จำเป็นอย่างไรเล่าที่ผมจะรู้จักนามของคุณ? นอกจากนี้ ก่อนที่คุณจะบอกผม คุณมีชื่อที่ผมรู้จักอยู่แล้ว’
“[วัลฌอง] ลืมตาด้วยความประหลาดใจ
“‘จริงหรือครับ? ท่านรู้ชื่อผมหรือครับ?’
“‘ใช่’ สังฆราชตอบ ‘คุณมีชื่อว่า น้องชายของผม’”7
ในศาสนจักรนี้ วอร์ดและโควรัมของเราไม่ได้เป็นของเรา แต่เป็นของพระเยซูคริสต์ ใครก็ตามที่เข้ามาสู่อาคารประชุมควรรู้สึกเหมือนบ้าน ความรับผิดชอบที่จะต้อนรับทุกๆ คนนั้นมีความสำคัญมากขึ้น โลกที่เราอาศัยอยู่นี้กำลังผ่านช่วงเวลาแห่งความสับสนวุ่นวายใหญ่หลวง เนื่องจากมีการเข้าถึงการคมนาคมมากขึ้น ความเร็วในการติดต่อสื่อสาร และเศรษฐกิจแบบโลกาภิวัตน์ที่เพิ่มมากขึ้น แผ่นดินโลกกลายมาเป็นหมู่บ้านใหญ่แห่งเดียวซึ่งผู้คนและชนชาติพบเจอ ติดต่อ และผสมผสานกันอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
การเปลี่ยนแปลงมโหฬารทั่วโลกเหล่านี้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพ การรวมผู้ที่พระองค์ทรงเลือกไว้จากสี่มุมของแผ่นดินโลกเกิดขึ้นไม่ใช่จากการส่งผู้สอนศาสนาไปยังประเทศห่างไกลเท่านั้น แต่รวมถึงการที่ผู้คนจากที่อื่นเข้ามาสู่เมืองและหมู่บ้านของเราด้วย ผู้คนจำนวนมาก โดยที่ไม่รู้ถึงเรื่องนี้ ได้รับการทรงนำจากพระเจ้าให้มาอยู่ในที่ซึ่งเขาจะได้ยินพระกิตติคุณและเข้ามาสู่ฝูงของพระองค์ได้
เป็นไปได้สูงว่าคนถัดไปที่จะเปลี่ยนใจเลื่อมใสสู่พระกิตติคุณในวอร์ดของท่านจะเป็นคนที่ไม่ได้มาจากแวดวงเพื่อนหรือผู้ร่วมงานของท่าน ท่านจะสังเกตได้จากรูปร่างหน้าตา ภาษา การแต่งกาย หรือสีผิวของเขา บุคคลนี้อาจเติบโตในศาสนาอื่น มีภูมิหลังที่แตกต่างหรือมีรูปแบบการดำเนินชีวิตที่ต่างออกไป
การผูกมิตรเป็นความรับผิดชอบสำคัญของฐานะปุโรหิต โควรัมฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนและเมลคีเซเดคจะต้องทำงานร่วมกันกับพี่น้องสตรีภายใต้การกำกับดูแลของอธิการเพื่อให้แน่ใจว่าแต่ละคนได้รับการต้อนรับด้วยความรักและเมตตา ผู้สอนประจำบ้านและผู้เยี่ยมสอนจะคอยเฝ้าดูเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีใครถูกลืมหรือถูกมองข้าม
เราทุกคนต้องทำงานร่วมกันเพื่อสร้างความเป็นเอกภาพทางวิญญาณภายในวอร์ดและสาขาของเรา แบบอย่างของความเป็นเอกภาพที่สมบูรณ์แบบที่สุดมีอยู่ท่ามกลางผู้คนของพระผู้เป็นเจ้าหลังจากพระคริสต์เสด็จเยือนอเมริกา บันทึกบอกไว้ว่าไม่มี “ชาวเลมัน, หรือชาวใดๆ; แต่คนทั้งหลายอยู่กันเป็นหนึ่งเดียว, เป็นลูกของพระคริสต์, และทายาทแห่งอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า”8
การมองข้ามและแบ่งแยกสมาชิกที่แตกต่างหรืออ่อนแอกว่าและเพียงคบหาสมาคมกับผู้คนที่เหมือนกับเราเท่านั้นไม่นำมาซึ่งความเป็นเอกภาพ ในทางตรงกันข้าม ความเป็นเอกภาพมาจากการต้อนรับและรับใช้ผู้ที่ยังใหม่และผู้ที่มีความต้องการพิเศษ สมาชิกเหล่านี้เป็นพรแก่ศาสนจักรและให้โอกาสเราที่จะรับใช้เพื่อนบ้านของเราและดังนั้นจึงชำระใจของเราให้บริสุทธิ์
ดังนั้นพี่น้องชาย เป็นหน้าที่ของท่านที่จะเอื้อมออกไปหาใครก็ตามที่ปรากฏตัวที่ประตูอาคารศาสนจักรของท่าน ต้อนรับพวกเขาด้วยความซาบซึ้งและไม่มีอคติ ถ้ามีคนที่ท่านไม่รู้จักเดินเข้ามาในการประชุมของท่าน ทักทายเขาด้วยความอบอุ่นและเชิญเขาให้นั่งกับท่าน โปรดเป็นคนเริ่มผูกมิตรก่อนเพื่อช่วยให้เขารู้สึกอบอุ่นและได้รับความรักแทนที่จะรอให้เขามาหาท่าน
หลังจากท่านต้อนรับครั้งแรกแล้ว พิจารณาหาวิธีที่ท่านจะดูแลเขาต่อไป ข้าพเจ้าได้ยินเรื่องของวอร์ดหนึ่งซึ่งหลังจากพี่น้องสตรีที่เป็นใบ้สองคนรับบัพติศมา สตรีสมาคมสงเคราะห์ผู้ยอดเยี่ยมสองคนตัดสินใจเรียนภาษามือเพื่อจะได้สื่อสารรู้เรื่องมากขึ้นกับผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสใหม่สองคนนี้ ช่างเป็นแบบอย่างที่วิเศษแห่งความรักสำหรับพี่น้องชายหญิงในพระกิตติคุณ!
ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าไม่มีใครเป็นคนนอกต่อพระบิดาบนสวรรค์ของเรา ไม่มีจิตวิญญาณใดที่ไร้ค่าต่อพระองค์ ข้าพเจ้าเป็นพยานเช่นเดียวกับเปโตรว่า “พระเจ้าไม่ทรงลำเอียง แต่ทุกคนในทุกชนชาติที่เกรงกลัวพระองค์ และประพฤติตามทางชอบธรรมก็เป็นที่ชอบพระทัยพระองค์”9
ข้าพเจ้าสวดอ้อนวอนว่าเมื่อพระเจ้าทรงรวมฝูงแกะของพระองค์ในวันสุดท้าย พระองค์จะตรัสแก่เราแต่ละคน “เราเป็นแขกแปลกหน้า พวกท่านก็ต้อนรับเรา”
จากนั้นเราจะกล่าวกับพระองค์ “ที่พวกข้าพระองค์เห็นพระองค์ทรงเป็นแขกแปลกหน้าและได้ต้อนรับไว้ตั้งแต่เมื่อไร?”
และพระองค์จะทรงตอบเรา “เราบอกความจริงกับท่านทั้งหลายว่า ซึ่งพวกท่านได้ทำกับคนใดคนหนึ่งที่เล็กน้อยที่สุดในพี่น้องของเรานี้ ก็เหมือนทำกับเราด้วย”10
ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน