การประชุมใหญ่สามัญ
ความสุขุมเหมือนพระคริสต์
การประชุมใหญ่สามัญเดือนเมษายน 2023


11:17

ความสุขุมเหมือนพระคริสต์

“พระ‍องค์จึงทรงลุก‍ขึ้นห้ามลม และตรัสกับทะเลว่า จงสงบเงียบ แล้วลมก็สงบ พายุก็เงียบสนิท” (มาระโก 4:39)

ครั้งที่แล้วที่ข้าพเจ้าพูดในการประชุมใหญ่สามัญ ไรอันลูกเขยข้าพเจ้าให้ดูทวีตที่เขียนว่า “จริงหรือ? ผู้ชายคนนั้นชื่อแบรกก์”—หมายถึง “โอ้อวด”—“แล้วเขาไม่ได้พูดเรื่องความอ่อนน้อมถ่อมตนหรือ? น่าเสียดายมาก!” น่าเศร้าที่ต้องผิดหวังต่อไป

ดอน แบรกก์เป็นนักบาสเกตบอล

คุณพ่อที่ยอดเยี่ยมของข้าพเจ้าเป็นนักบาสเกตบอลออลอเมริกาสำหรับมหาวิทยาลัย UCLA สมัยจอห์น วูดเด็นโค้ชในตำนาน ทั้งสองคนสนิทสนมกันตลอดชีวิตของคุณพ่อ และบางครั้งสนิทกับทั้งโค้ชและภรรยา โค้ชวูดเด็นจะมาทานอาหารเย็นที่บ้านเรา เขามีความสุขทุกครั้งที่ได้คุยกับข้าพเจ้าเรื่องบาสเกตบอลหรือเรื่องอื่นๆ ในใจข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเคยถามเขาตอนเรียนมัธยมปลายปีสุดท้ายว่ามีคำแนะนำอะไรให้ข้าพเจ้าบ้าง ด้วยความเป็นครูเขาจึงพูดว่า “พ่อของคุณบอกผมว่าคุณเข้าร่วมศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ ผมเลยรู้ว่าคุณมีศรัทธาในพระเจ้า ด้วยศรัทธานั้นคุณต้องมีความสุขุมในทุกสถานการณ์ จงเป็นคนดีท่ามกลางพายุ”

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา การสนทนานั้นยังฝังใจข้าพเจ้า คำแนะนำให้สงบสติ ตั้งสติ และสงบใจในทุกสถานการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงประสบความทุกข์ยากและความกดดัน ดังก้องในใจข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเห็นได้ว่าทีมของโค้ชวูดเด็นเล่นด้วยความสุขุมและประสบความสำเร็จมากจนคว้าแชมป์ระดับประเทศ 10 รายการ

แต่สมัยนี้คนพูดถึงความสุขุมไม่มากนักและปฏิบัติน้อยลงในช่วงที่ปั่นป่วนและแตกแยก แต่คำนี้ถูกยกมาพูดบ่อยๆ ในกีฬา—ผู้เล่นที่สุขุมจะไม่ตื่นตระหนกเมื่อเกมสูสี หรือทีมเสียขวัญเพราะขาดความสุขุม แต่คุณสมบัติที่ยอดเยี่ยมนี้ไม่ได้สำคัญแค่ในการกีฬา ความสุขุมนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตได้กว้างกว่านั้นมาก และสามารถเป็นพรแก่บิดามารดา ผู้นำ ผู้สอนศาสนา ครู นักเรียน และทุกคนที่เผชิญกับมรสุมชีวิต

ความสุขุมทางวิญญาณเป็นพรให้เราสงบนิ่งและจดจ่ออยู่กับสิ่งสำคัญที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราอยู่ภายใต้แรงกดดัน ประธานฮิวจ์ บี. บราวน์สอนว่า “ศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าและในชัยชนะสูงสุดของความถูกต้องก่อให้เกิดความสุขุมทางจิตใจและทางวิญญาณเมื่อเผชิญความยากลำบาก”1

ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันเป็นแบบอย่างที่ยอดเยี่ยมของความสุขุมทางวิญญาณ ครั้งหนึ่งขณะดร. เนลสันทำบายพาสหลอดเลือดหัวใจสี่เส้น ความดันโลหิตของผู้ป่วยตกทันที ดร. เนลสันประเมินสถานการณ์อย่างใจเย็นและพบว่าสมาชิกคนหนึ่งในทีมดึงคีมผ่าตัดออกโดยไม่ตั้งใจ ดร. เนลสันเอาคีมหนีบไว้ที่เดิมทันที และ ปลอบสมาชิกในทีมคนนั้นว่า “ผมยังรักคุณนะ” แล้วพูดติดตลกว่า “บางครั้งผมก็รักคุณมากกว่าครั้งอื่นๆ!” ท่านแสดงให้เห็นวิธีรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน—ด้วยความสุขุม จดจ่อเฉพาะกับสิ่งสำคัญที่สุด—ขณะแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ประธานเนลสันกล่าวว่า “นี่เป็นเรื่องของวินัยในตนเองขั้นสูงสุด ปฏิกิริยาตามธรรมชาติของท่านคือ ‘เอาผมออกเถอะโค้ช! ผมอยากกลับบ้าน’ แต่แน่นอนว่าท่านกลับไม่ได้! ชีวิตหนึ่งขึ้นอยู่กับทีมผ่าตัดทั้งทีม ดังนั้นท่านจะต้องใจเย็น ผ่อนคลาย และเฉียบคมเหมือนที่เคยเป็น”2

แน่นอนว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นแบบอย่างสูงสุดของความสุขุม

ในสวนเกทเสมนีด้วยความปวดร้าวที่ไม่อาจจินตนาการได้ ขณะ “พระเสโทของพระองค์เป็นเหมือนโลหิตเม็ดใหญ่”3 พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างของความสุขุมด้วยพระดำรัสที่เรียบง่ายแต่สง่างามว่า “อย่าให้เป็นไปตามใจข้าพระองค์ แต่ให้เป็นไปตามพระทัยของพระองค์”4 ภายใต้แรงกดดันมหาศาลเพื่อให้มวลมนุษยชาติได้รับความรอด พระเยซูทรงแสดงเงื่อนไขสำคัญสามประการที่ช่วยให้เราเข้าใจความสุขุมอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ ประการแรก พระองค์ทรงทราบว่าพระองค์เป็นใครและทรงซื่อตรงต่อพระพันธกิจอันสูงส่งของพระองค์ ต่อมา พระองค์ทรงทราบว่ามีแผนอันสำคัญยิ่งแห่งความสุข และสุดท้าย พระองค์ทรงทราบว่าโดยผ่านการชดใช้อันไม่มีขอบเขตของพระองค์ ทุกคนที่เทียมแอกกับพระองค์อย่างซื่อสัตย์โดยทำและรักษาพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์ที่ได้รับผ่านศาสนพิธีฐานะปุโรหิตจะได้รับความรอด ดังที่เอ็ลเดอร์เดล จี. เรนลันด์สอนไว้อย่างงดงามวันนี้

เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างการสูญเสียกับการมีความสุขุม ลองนึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อพระคริสต์และอัครสาวกออกจากสวนเกทเสมนี เมื่อเจอเหล่าทหารที่​พยายาม​จะเข้าจับกุมพระเยซู ปฏิกิริยาของเปโตรคือเขาสูญเสียความสุขุมและมีพฤติกรรมรุนแรงโดยตัดหูของมัลคัสทาสของมหาปุโรหิต แต่ปฏิกิริยาของพระเยซูคริสต์ตรงกันข้าม คือยังคงมีความสุขุมและทำให้สถานการณ์ที่ตึงเครียดสงบลงโดยรักษามัลคัส5

และสำหรับพวกเราที่มีปัญหากับการมีความสุขุมและอาจจะเริ่มหมดหวัง โปรดพิจารณาเรื่องราวที่เหลือของเปโตร ไม่นานหลังจากเหตุการณ์นี้และความทุกข์ใจที่ได้ปฏิเสธความสัมพันธ์ของเขากับพระคริสต์6 เปโตรยืนอยู่ต่อหน้าผู้นำทางศาสนากลุ่มเดียวกับที่กล่าวโทษพระผู้ช่วยให้รอด และด้วยความสุขุมอย่างยิ่งเมื่อถูกซักไซ้ไล่เลียง เขาแสดงประจักษ์พยานอย่างฉะฉานถึงความเป็นพระเจ้าของพระเยซูคริสต์7

รู้ว่าท่านเป็นใครและซื่อตรงต่ออัตลักษณ์อันสูงส่งของท่าน

ขอให้เราพิจารณาองค์ประกอบของความสุขุมเหมือนพระคริสต์ ประการแรก การรู้ว่าเราเป็นใครและการซื่อตรงต่ออัตลักษณ์อันสูงส่งของเราทำให้เราสงบ ความสุขุมเหมือนพระคริสต์เรียกร้องให้เราหลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่นหรือเสแสร้งเป็นคนที่เราไม่ได้เป็น8 โจเซฟ สมิธสอนว่า “หากมนุษย์ไม่เข้าใจพระอุปนิสัยของพระผู้เป็นเจ้า พวกเขาย่อมไม่เข้าใจตนเอง”9 เป็นไปไม่ได้ที่จะมีความสุขุมอันสูงส่งโดยไม่รู้ว่าเราเป็นบุตรธิดาที่สูงส่งของพระบิดาบนสวรรค์ผู้ทรงรักเรา

ในคำปราศรัยเรื่อง “การเลือกเพื่อนิรันดร” ประธานเนลสันสอนความจริงนิรันดร์เหล่านี้ว่าเราเป็นใคร: เราเป็นลูกของพระผู้เป็นเจ้า เราเป็นลูกแห่งพันธสัญญา และเราเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ ท่านสัญญาต่อจากนั้นว่า “เมื่อท่านน้อมรับความจริงเหล่านี้ พระบิดาบนสวรรค์จะทรงช่วยให้ท่านบรรลุเป้าหมายสูงสุดของการมีชีวิตชั่วนิรันดร์ในที่ประทับศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์”10 เราเป็นสัตภาวะทางวิญญาณอันสูงส่งที่มีประสบการณ์มรรตัย การรู้ว่าเราเป็นใครและการซื่อตรงต่ออัตลักษณ์อันสูงส่งนั้นเป็นรากฐานของการพัฒนาความสุขุมเหมือนพระคริสต์

รู้ว่ามีแผนอันสูงส่ง

ต่อมา การจดจำว่ามีแผนอันยิ่งใหญ่จะก่อให้เกิดความกล้าและความสุขุมในสภาพท้าทาย นีไฟสามารถ “ไปและทำ”11 ตามที่พระเจ้าทรงบัญชา “โดยหารู้ล่วงหน้าไม่”12 ถึงสิ่งที่เขาต้องทำเพราะเขารู้ว่าพระวิญญาณจะทรงนำเขาในการทำให้แผนนิรันดร์ของพระบิดาบนสวรรค์ผู้ทรงรักเราเกิดสัมฤทธิผล ความสุขุมเกิดขึ้นเมื่อเรามองสิ่งต่างๆ จากมุมมองนิรันดร์ พระเจ้าทรงแนะนำสานุศิษย์ของพระองค์ให้ “เงยหน้าขึ้น”13 และ “ให้สัจธรรมแห่งนิรันดรสถิตอยู่ในจิตใจเจ้า”14 โดยการกำหนดกรอบเวลาที่ท้าทายไว้ในแผนนิรันดร์ ความกดดันจึงกลายเป็นสิทธิพิเศษให้รัก รับใช้ สอน และเป็นพร มุมมองนิรันดร์ช่วยให้มีความสุขุมเหมือนพระคริสต์

รู้จักเดชานุภาพอันกอปรด้วยพระปรีชาสามารถของพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์

และสุดท้าย เดชานุภาพอันกอปรด้วยพระปรีชาสามารถของพระคริสต์ที่ทำให้เกิดการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ ทำให้เรามีพลังอดทนและมีชัย เพราะพระเยซูคริสต์ เราจึงสามารถทำพันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้าและมีพลังในการรักษาพันธสัญญานั้น เราสามารถผูกมัดกับพระผู้ช่วยให้รอดในปีติและความสงบ ไม่ว่าสภาวการณ์ทางโลกของเราจะเป็นเช่นไร15 แอลมา บทที่ 7 สอนได้อย่างงดงามเกี่ยวกับเดชานุภาพอันกอปรด้วยพระปรีชาสามารถของพระคริสต์ นอกจากจะทรงไถ่เราจากบาปแล้ว พระผู้ช่วยให้รอดทรงสามารถเพิ่มพลังให้เราได้ในความอ่อนแอ ความกลัว และความท้าทายในชีวิตนี้

เมื่อเราจดจ่ออยู่กับพระคริสต์ เราสามารถข่มความกลัวเช่นเดียวกับผู้คนของแอลมาในเมืองฮีลัม16 ขณะกองทัพที่น่ากลัวรวมตัวกัน เหล่าสานุศิษย์ที่ซื่อสัตย์ของพระคริสต์แสดงความสุขุม เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์สอนว่า: “แอลมาแนะนำผู้เชื่อให้ระลึกถึงพระเจ้าและการปลดปล่อยที่พระองค์เท่านั้นจะให้ได้ (ดู 2 นีไฟ 2:8) และความรู้ที่ว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงเฝ้าคุ้มครองดูแลทำให้ผู้คนสามารถข่มความกลัวของตนเองได้”17 นี่เป็นแบบอย่างของความสุขุม

ผู้ยิ่งใหญ่ท่ามกลางพายุ

โนอาห์สอนเรามากมายเกี่ยวกับความอดทนท่ามกลางพายุ แต่พระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นครูที่ประเสริฐสุดผู้สอนวิธีรักษาตนให้รอดจากพายุ พระองค์คือผู้ยิ่งใหญ่ท่ามกลางพายุ หลังจากทรงสอนกับอัครสาวกมาทั้งวัน พระผู้ช่วยให้รอดทรงต้องการพักผ่อนและทรงบอกให้พวกเขาลงเรือไปอีกฟากหนึ่งของทะเลกาลิลี ขณะพระผู้ช่วยให้รอดทรงพักผ่อน เกิดพายุรุนแรง ขณะลมและคลื่นจะทำให้เรือจม อัครสาวกเริ่มเป็นห่วงชีวิตตนเอง และอย่าลืมว่าอัครสาวกหลายคนเป็นชาวประมงที่คุ้นเคยดีกับพายุในทะเลนั้น! แต่ก็ยังร้อนใจ18 พวกเขาปลุกพระองค์และทูลถามว่า “[พระองค์เจ้าข้า], พระ‍องค์​ไม่​ทรง​เป็น​ห่วง​ว่า​พวก‍เรา​กำลัง​จะ​พินาศ​หรือ?” จากนั้นด้วยความสุขุมอันเป็นแบบอย่าง พระผู้ช่วยให้รอด “ทรงลุกขึ้นห้ามลมและตรัสกับทะเลว่า จงสงบเงียบ แล้วลมก็สงบ พายุก็เงียบสนิท”19

และจากนั้นทรงมีบทเรียนสำคัญเรื่องความสุขุมให้กับอัครสาวก พระ‍องค์ตรัสถามว่า “ทำไมพวก‍เจ้ากลัว? พวก‍เจ้าไม่‍มีความเชื่อหรือ?”20 พระองค์ทรงย้ำเตือนว่าพระองค์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของโลก และพระบิดาทรงส่งพระองค์มาเพื่อทำให้เกิดความเป็นอมตะและชีวิตนิรันดร์ของบุตรธิดาพระผู้เป็นเจ้า พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าจะไม่พินาศในเรือแน่นอน พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างของความสุขุมอันสูงส่งเพราะทรงทราบถึงความเป็นพระเจ้าของพระองค์ ทรงทราบว่ามีแผนแห่งความรอดและความสูงส่ง และทรงทราบว่าการชดใช้ของพระองค์จำเป็นอย่างยิ่งต่อความสำเร็จนิรันดร์ของแผนนั้น

โดยผ่านพระคริสต์และการชดใช้ของพระองค์ สิ่งดีทั้งปวงจะเข้ามาในชีวิตเรา เมื่อเราจดจำว่าเราเป็นใคร โดยรู้ว่ามีแผนอันสูงส่งแห่งความเมตตาและรวบรวมความกล้าในความเข้มแข็งของพระเจ้า เราจะเผชิญได้ทุกอย่าง เราจะพบความสงบ เราจะเป็นหญิงและชายที่ดีท่ามกลางพายุทุกลูก

ขอให้เราแสวงหาพรแห่งความสุขุมเหมือนพระคริสต์ ไม่เพียงเพื่อช่วยเหลือตนเองในช่วงเวลาท้าทายเท่านั้น แต่เพื่อเป็นพรแก่ผู้อื่นและช่วยให้พวกเขาผ่านมรสุมชีวิตไปได้ ในวันก่อนวันอาทิตย์ใบปาล์มนี้ ข้าพเจ้าเป็นพยานอย่างเบิกบานถึงพระเยซูคริสต์ พระองค์ทรงฟื้น ข้าพเจ้าเป็นพยานถึงสันติสุข ความสงบ และความสุขุมอันสูงส่งที่พระองค์เท่านั้นจะนำมาสู่ชีวิตเราและเป็นพยานในพระนามอันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ พระเยซูคริสต์ เอเมน

อ้างอิง

  1. Hugh B. Brown, ใน Conference Report, Oct. 1969, 105.

  2. ดู Sheri Dew, Insights from a Prophet’s Life: Russell M. Nelson (2019), 66–67.

  3. Joseph Smith Translation, Luke 22:44 (ใน Luke 22:44, เชิงอรรถ b)

  4. ลูกา 22:42

  5. ดู ลูกา 22:50–51; ยอห์น 18:10–11

  6. ดู มัทธิว 26:34–35, 69–75

  7. ดู กิจการ 4:8–10; Neal A. Maxwell, “Content with the Things Allotted unto Us,” Ensign, May 2000, 74; Liahona, July 2000, 89: “เมื่อจิตตั้งมั่น ความสุขุมจะเกิด แม้เมื่อเราไม่รู้ ‘ความหมายของเรื่องทั้งหมด’ [1 นีไฟ 11:17]”

  8. ดู John R. Wooden, Wooden on Leadership (2005), 50: “ข้าพเจ้านิยาม ความสุขุม ว่าคือการซื่อตรงต่อตนเอง ไม่วู่วาม ไม่โมโห หรือไม่เสียศูนย์ไม่ว่าจะอยู่สภาวการณ์หรือสถานการณ์ใด อาจฟังดูง่าย แต่ความสุขุมเป็นคุณสมบัติที่เข้าใจยากในช่วงเวลาท้าทาย ผู้นำที่ขาดความสุขุมจะตื่นตระหนกภายใต้แรงกดดัน

    “ความสุขุมหมายถึงการยึดมั่นในความเชื่อของท่านและปฏิบัติตามความเชื่อนั้นไม่ว่าสถานการณ์จะร้ายหรือดี ความสุขุมหมายถึงการหลีกเลี่ยงการวางมาดหรือเสแสร้ง การเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่น และทำตัวเหมือนคนที่ท่านไม่ได้เป็น ความสุขุมหมายถึงการมีใจกล้าในทุกสถานการณ์”

  9. คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ (2007), 40.

  10. รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “การเลือกเพื่อนิรันดร” (การให้ข้อคิดทางวิญญาณสำหรับคนหนุ่มสาวทั่วโลก, 15 พฤษภาคม 2022), broadcasts.ChurchofJesusChrist.org

  11. 1 นีไฟ 3:7

  12. 1 นีไฟ 4:6

  13. ยอห์น 4:35

  14. หลักคำสอนและพันธสัญญา 43:34; ดู James E. Faust, “The Dignity of Self,” Ensign, May 1981, 10 ด้วย: “ศักดิ์ศรีของตัวเองเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อมองขึ้นไปค้นหาความศักดิ์สิทธิ์ เราควรพยายามให้ได้แสงสว่างเหมือนต้นไม้ใหญ่ แหล่งสำคัญที่สุดของแสงสว่างที่เราได้รู้จักคือของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ นั่นคือแหล่งของความเข้มแข็งและสันติสุขภายใน”

  15. ดู รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “ปีติและการอยู่รอดทางวิญญาณ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 82: “พี่น้องที่รัก ปีติที่เรารู้สึกแทบไม่เกี่ยวกับสภาพการณ์ในชีวิตและทุกอย่างที่เราทำกับศูนย์กลางชีวิตเรา”

  16. ดู โมไซยาห์ 23:27–28

  17. เดวิด เอ. เบดนาร์, “ฉะนั้นพวกเขาจึงข่มความกลัว,” เลียโฮนา, พ.ค 2015, 46–47.

  18. ดู Jeffrey R. Holland, Our Day Star Rising: Exploring the New Testament with Jeffrey R. Holland (2022), 61–62: “ยิ่งไปกว่านั้น คนเหล่านี้ยังเป็นผู้มีประสบการณ์บนเรือกับพระองค์—สิบเอ็ดคนจากสิบสองคนเดิมเป็นชาวกาลิลี (มีเพียงยูดาส อิสคาริโอทเท่านั้นที่เป็นชาวยูเดีย) และหกคนในสิบเอ็ดคนเป็นชาวประมง พวกเขาอาศัยอยู่ที่ทะเลสาบแห่งนี้ พวกเขาหาเลี้ยงชีพด้วยการจับปลา พวกเขาอยู่ที่นั่นตั้งแต่เด็ก บรรพบุรุษของพวกเขาให้พวกเขาซ่อมอวนและซ่อมเรือเมื่อพวกเขายังเด็กมาก พวกเขารู้จักทะเลนี้ พวกเขารู้จักคลื่นลม พวกเขาเป็นผู้มีประสบการณ์—แต่พวกเขายังหวาดกลัว และหาก พวกเขา กลัว นี่ก็คงเป็นพายุใหญ่จริงๆ”

  19. ดู มาระโก 4:35–39

  20. มาระโก 4:40