การประชุมใหญ่สามัญ
“อยู่กับเรา, และเรากับเจ้า; ฉะนั้นจงเดินกับเรา”
การประชุมใหญ่สามัญเดือนเมษายน 2023


13:26

“อยู่กับเรา, และเรากับเจ้า; ฉะนั้นจงเดินกับเรา”

คำสัญญาที่พระผู้ช่วยให้รอดบอกว่าจะอยู่กับเราเป็นความจริง และมีให้สมาชิกที่รักษาพันธสัญญาทุกคนของศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟูของพระองค์

ในพันธสัญญาเดิม หลักคำสอนและพันธสัญญา และไข่มุกอันล้ำค่า1 อธิบายว่าเอโนคศาสดาพยากรณ์สมัยโบราณเป็นเครื่องมือในการสถาปนานครแห่งไซอัน

เรื่องราวพระคัมภีร์เกี่ยวกับการเรียกเอโนคให้รับใช้ระบุว่า “ท่านได้ยินพระสุรเสียงจากสวรรค์, ตรัสว่า: เอโนค, บุตรของเรา, จงพยากรณ์แก่ผู้คนเหล่านี้, และกล่าวแก่พวกเขา—จงกลับใจ, … เพราะใจพวกเขาแข็งกระด้างขึ้น, และหูพวกเขาตึงต่อการได้ยิน, และสายตาพวกเขามองเห็นได้ไม่ไกล”2

“และเมื่อเอโนคได้ยินถ้อยคำเหล่านี้แล้ว, ท่านน้อมกายลงสู่พื้นดิน … และทูลต่อพระพักตร์พระเจ้า, โดยกล่าวว่า: เหตุใดเล่าข้าพระองค์จึงได้รับความโปรดปรานในสายพระเนตรของพระองค์, และเป็นเพียงคนหนุ่ม, และผู้คนทั้งปวงเกลียดชังข้าพระองค์; เพราะข้าพระองค์เชื่องช้าในการพูด; เหตุใดข้าพระองค์จึงได้เป็นผู้รับใช้ของพระองค์?”3

โปรดสังเกตว่า ณ เวลาที่เอโนคได้รับเรียกให้รับใช้ ท่านตระหนักดีถึงข้อบกพร่องและข้อจำกัดของตน และข้าพเจ้าคิดว่าบางครั้งเราทุกคนรู้สึกเหมือนเอโนคในการรับใช้ศาสนจักร แต่ข้าพเจ้าเชื่อว่าพระดำรัสตอบของพระเจ้าต่อคำถามวิงวอนของเอโนคนั้นให้ความรู้และนำมาใช้ได้กับเราแต่ละคนทุกวันนี้

“และพระเจ้าตรัสกับเอโนค: จงออกไปและทำดังที่เราบัญชาเจ้า, และไม่มีมนุษย์คนใดจะทิ่มแทงเจ้า จงอ้าปากของเจ้า, และเราจะเติมให้เต็ม, และเราจะให้เจ้าเอ่ยปาก …

“ดูเถิด พระวิญญาณของเราอยู่กับเจ้า, ดังนั้นถ้อยคำทั้งหมดของเจ้าเราจะรับรอง; และภูเขาจะหลบหนีไปต่อหน้าเจ้า, และแม่น้ำจะหันไปจากวิถีของมัน; และเจ้าจะ อยู่กับเรา, และเรากับเจ้า; ฉะนั้นจงเดินกับเรา4

สุดท้ายแล้วเอโนคกลายเป็นศาสดาพยากรณ์ที่ยิ่งใหญ่และเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อทำงานสำคัญให้สำเร็จ แต่ท่านไม่ได้เริ่มต้นการปฏิบัติศาสนกิจแบบนั้น! ความสามารถของท่านเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามกาลเวลาเมื่อท่านเรียนรู้ที่จะอยู่กับและเดินกับพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า

ข้าพเจ้าสวดอ้อนวอนอย่างจริงจังทูลขอความช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ขณะที่เราพิจารณาคำแนะนำที่พระเจ้าประทานแก่เอโนคด้วยกัน และดูว่าจะมีความหมายต่อท่านและข้าพเจ้าอย่างไรในปัจจุบัน

เจ้าจะอยู่กับเรา

พระเจ้าพระเยซูคริสต์ทรงเชื้อเชิญเราแต่ละคนให้อยู่กับพระองค์5 แต่เราเรียนรู้และมาอยู่กับพระองค์จริงๆ อย่างไร?

คำว่า อยู่ บ่งบอกถึงการติดแน่นหรือคงที่และอดทนโดยไม่ยอมแพ้ เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์อธิบายว่า “การอยู่” ที่เป็นการกระทำหมายถึง “‘คงอยู่—แต่คงอยู่ ตลอดไป’ เป็นเสียงเรียกจากข่าวสารพระกิตติคุณถึง … ทุกคน … ในโลก มาเถิด แต่มาอยู่ มาด้วยความเชื่อมั่นและความทรหดอดทน มาอย่างถาวร เพื่อเห็นแก่ตัวท่านเองและคนทุกรุ่นที่ต้องตามท่านมา”6 ด้วยเหตุนี้เราจึงอยู่กับพระคริสต์เมื่อเรามั่นคงและแน่วแน่ในการอุทิศตนต่อพระผู้ไถ่และจุดประสงค์อันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ทั้งในยามดีและยามร้าย7

เราเริ่มต้นอยู่กับพระเจ้าโดยใช้สิทธิ์เสรีทางศีลธรรมมารับแอกของพระองค์8ผ่านพันธสัญญาและศาสนพิธีของพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู ความสัมพันธ์แบบพันธสัญญาที่เรามีกับพระบิดาบนสวรรค์และพระบุตรผู้ฟื้นคืนพระชนม์และทรงพระชนม์อยู่เป็นบ่อเกิดอันสูงส่งของมุมมอง ความหวัง พลัง สันติสุข และปีติอันยั่งยืน ทั้งยังเป็นรากฐานอันมั่นคง9 ที่เราควรสร้างชีวิตไว้บนนั้น

เราอยู่กับพระองค์โดยพากเพียรอย่างต่อเนื่องเพื่อเสริมสร้างความผูกพันแบบพันธสัญญาของตัวเรากับพระบิดาและพระบุตร ตัวอย่างเช่น การสวดอ้อนวอนอย่างจริงใจถึงพระบิดานิรันดร์ในพระนามของพระบุตรที่รักของพระองค์ทำให้ความสัมพันธ์แบบพันธสัญญาของเรากับทั้งสองพระองค์ลึกซึ้งขึ้นและมั่นคงขึ้น

เราอยู่กับพระองค์โดยดื่มด่ำพระวจนะของพระคริสต์อย่างแท้จริง หลักคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดดึงเราซึ่งเป็นลูกแห่งพันธสัญญาให้เข้าใกล้พระองค์มากขึ้น10 และจะบอกเราทุกสิ่งที่เราควรทำ11

เราอยู่กับพระองค์โดยตั้งใจเตรียมตัวร่วมศาสนพิธีศีลระลึก ทบทวนและใคร่ครวญคำสัญญาแบบพันธสัญญาของเราและกลับใจอย่างจริงใจ การรับส่วนศีลระลึกอย่างมีค่าควรคือการเป็นพยานต่อพระผู้เป็นเจ้าว่าเราเต็มใจรับพระนามของพระเยซูคริสต์และเพียร “ระลึกถึงพระองค์ตลอดเวลา”12หลังจากใช้ช่วงเวลาสั้นๆ ร่วมศาสนพิธีศักดิ์สิทธิ์นั้น

และเราอยู่กับพระองค์โดยรับใช้พระผู้เป็นเจ้าเมื่อเรารับใช้ลูกๆ ของพระองค์และปฏิบัติศาสนกิจต่อพี่น้องของเรา13

พระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่า “ถ้าพวกท่านประพฤติตามบัญญัติของเรา ท่านก็จะติดสนิทอยู่กับความรักของเรา เหมือนอย่างที่เราประพฤติตามบัญญัติของพระบิดาและติดสนิทอยู่กับความรักของพระองค์”14

ข้าพเจ้าได้อธิบายสั้นๆ มาแล้วหลายวิธีที่เราสามารถอยู่กับพระผู้ช่วยให้รอดได้ ตอนนี้ข้าพเจ้าขอเชิญพวกเราเหล่าสานุศิษย์ของพระองค์ให้ขอ หา เคาะ และเรียนรู้ด้วยตนเองโดยอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์เกี่ยวกับวิธีที่มีความหมายอื่นๆ ที่เราสามารถให้พระคริสต์เป็นศูนย์กลางของชีวิตในทุกสิ่งที่เราทำ

และเรากับเจ้า

คำสัญญาที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงให้กับผู้ติดตามของพระองค์มีสองด้าน: ถ้าเราอยู่กับพระองค์ พระองค์จะทรงอยู่กับเรา แต่เป็นไปได้หรือที่พระคริสต์จะทรงอยู่กับท่านและข้าพเจ้า—เป็นรายบุคคลและเป็นส่วนตัว? คำตอบของคำถามข้อนี้คือ ได้แน่นอน!

ในพระคัมภีร์มอรมอน เราเรียนรู้ถึงการสอนและการเป็นพยานของแอลมาต่อคนยากจนผู้ซึ่งความทุกข์บีบบังคับให้ถ่อมตน ในการสั่งสอนของท่าน ท่านเปรียบเทียบพระวจนะกับเมล็ดพืชที่ต้องปลูกและบำรุงเลี้ยง และท่านอธิบายว่า “พระวจนะ” คือพระชนม์ชีพ พระพันธกิจ และการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระเยซูคริสต์

แอลมากล่าวว่า จง “เริ่มเชื่อในพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า, ว่าพระองค์จะเสด็จมาไถ่ผู้คนของพระองค์, และว่าพระองค์จะทรงรับทุกขเวทนาและสิ้นพระชนม์เพื่อชดใช้บาปของพวกเขา; และว่าพระองค์จะทรงลุกขึ้นจากบรรดาคนตายอีก, ซึ่งจะทำให้เกิดการฟื้นคืนชีวิต, เพื่อมนุษย์ทั้งปวงจะยืนอยู่ต่อพระพักตร์พระองค์, เพื่อรับการพิพากษาในวันสุดท้ายและวันพิพากษา, ตามแต่งานของพวกเขา”15

จากที่แอลมาอธิบายคำว่า “พระวจนะ” ไว้นั้น โปรดพิจารณาความเชื่อมโยงที่สร้างแรงบันดาลใจซึ่งแอลมาระบุหลังจากนั้น

“และบัดนี้ … ข้าพเจ้าปรารถนาว่าท่านจะ เพาะพระวจนะนี้ไว้ในใจท่าน, และเมื่อมันเริ่มพองก็เช่นเดียวกันจงบำรุงเลี้ยงมันโดยศรัทธาของท่าน. และดูเถิด, มันจะกลายเป็นต้นไม้, งอกงาม อยู่ในท่าน จนถึงชีวิตอันเป็นนิจ. และแล้วขอพระผู้เป็นเจ้าโปรดประทานให้ภาระของท่านเบาลง, ผ่านทางปีติของพระบุตรของพระองค์. และแม้สิ่งทั้งหมดนี้ท่านย่อมทำได้ถ้าตั้งใจทำ”16

เมล็ดที่เราควรเพียรปลูกในใจเราคือพระวจนะ—แม้พระชนม์ชีพ พระพันธกิจ และหลักคำสอนของพระเยซูคริสต์ และเมื่อบำรุงเลี้ยงด้วยศรัทธา พระวจนะจะกลายเป็นต้นไม้งอกงาม อยู่ในเรา จนถึงชีวิตอันเป็นนิจ17

ต้นไม้เป็นสัญลักษณ์แทนอะไรในนิมิตของลีไฮ? อาจถือได้ว่าต้นไม้เป็นสิ่งแทนถึงพระเยซูคริสต์18

พี่น้องที่รัก พระวจนะอยู่ในเราหรือไม่? ความจริงแห่งพระกิตติคุณของพระผู้ช่วยให้รอดเขียนไว้บนแผ่นดวงใจของเราไหม?19 เรามาหาพระองค์และค่อยๆ เป็นเหมือนพระองค์มากขึ้นไหม? ต้นไม้แห่งพระคริสต์กำลังเติบโตในเราไหม? เรากำลังพากเพียรที่จะเป็น “คนที่ถูกสร้างใหม่”20 ในพระองค์ไหม?21

บางทีศักยภาพอันน่าอัศจรรย์นี้อาจดลใจแอลมาให้ถามว่า “ท่านเกิดทางวิญญาณจากพระผู้เป็นเจ้าแล้วหรือ?” ท่านได้รับรูปลักษณ์ของพระองค์ไว้ในสีหน้าท่านแล้วหรือ? ท่านประสบกับการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในใจท่านแล้วหรือ?”22

เราควรระลึกเสมอถึงสิ่งที่พระเจ้าทรงสอนเอโนค “เจ้าจะอยู่กับเรา, และเรากับเจ้า23 และข้าพเจ้าเป็นพยานว่าคำสัญญาที่พระผู้ช่วยให้รอดบอกว่าจะอยู่กับเราเป็นความจริง และมีให้สมาชิกที่รักษาพันธสัญญาทุกคนของศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟูของพระองค์

ฉะนั้นจงเดินกับเรา

อัครสาวกเปาโลตักเตือนผู้เชื่อที่รับพระเจ้าแล้วให้ “ดำเนินชีวิตในพระองค์”24

การดำเนินชีวิตในและกับพระผู้ช่วยให้รอดเน้นแง่มุมสำคัญสองด้านของการเป็นสานุศิษย์: (1) การเชื่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า และ (2) การระลึกถึงและให้เกียรติพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อมโยงเรากับพระบิดาและพระบุตร

ยอห์นประกาศว่า:

“ถ้าเราประพฤติตามพระบัญญัติของพระองค์ เราจะมั่นใจได้ว่าเรารู้จักพระองค์

“ผู้ที่กล่าวว่า ‘ข้าพเจ้ารู้จักพระองค์’ แต่ไม่ได้ประพฤติตามพระบัญญัติของพระองค์ คนนั้นเป็นคนพูดมุสาและสัจจะไม่ได้อยู่ในเขาเลย

“แต่ผู้ที่ประพฤติตามพระวจนะของพระองค์ ความรักของพระเจ้าก็บริบูรณ์ อยู่ในผู้นั้น อย่างแท้จริง เพราะเหตุนี้แหละเราจึงรู้ว่าเรา อยู่ในพระองค์

“ผู้ที่กล่าวว่าตนอยู่ในพระองค์ ผู้นั้นก็ควร ดำเนินชีวิตเหมือนพระองค์25

พระเยซูทรงเรียกเราแต่ละคน “จงกลับมาติดตามเรา”26 และ “จงเดินกับเรา”27

ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าเมื่อเรามุ่งหน้าในศรัทธาและดำเนินชีวิตด้วยความสุภาพอ่อนน้อมแห่งพระวิญญาณของพระเจ้า28 เราจะได้รับพรให้มีพลัง การนำทาง ความคุ้มครอง และสันติสุข

ประจักษ์พยานและคำสัญญา

แอลมาพูดถึงพระดำรัสวิงวอนด้วยความรักจากพระเจ้าถึงทุกจิตวิญญาณที่มีชีวิต

“ดูเถิด, พระองค์ทรงส่งคำเชิญมาถึง มนุษย์ทั้งปวง, เพราะพระพาหุแห่งพระเมตตายื่นมาให้พวกเขา, และพระองค์ตรัส: จงกลับใจ, และเราจะรับเจ้าไว้.

“… จงมาหาเราเถิดและเจ้าจะรับส่วนผลของต้นไม้แห่งชีวิต; แท้จริงแล้ว, เจ้าจะกินและดื่มอาหารและน้ำแห่งชีวิตโดยเสรี”29

ข้าพเจ้าขอเน้นความครอบคลุมทุกด้านของพระดำรัสวิงวอนของพระผู้ช่วยให้รอด พระองค์ทรงปรารถนาจะประทานพรด้วยพระคุณและพระเมตตาแก่ทุกคนที่มีชีวิตอยู่ตอนนี้ ที่เคยมีชีวิต และที่จะมีชีวิตบนโลกนี้

สมาชิกศาสนจักรบางคนยอมรับหลักคำสอน หลักธรรม และประจักษ์พยานที่ประกาศซ้ำๆ จากแท่นพูดนี้ในศูนย์การประชุมใหญ่และในที่ประชุมทั่วโลกว่าเป็นความจริง—แต่ก็อาจยังยากที่จะเชื่อว่าความจริงนิรันดร์เหล่านี้ประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตของพวกเขาและสภาวการณ์ของพวกเขาโดยเฉพาะ พวกเขาเชื่ออย่างจริงใจและรับใช้ตามหน้าที่ แต่ความสัมพันธ์แบบพันธสัญญากับพระบิดาและพระบุตรผู้ไถ่ยังไม่ได้กลายเป็นความจริงที่มีชีวิตและเปลี่ยนชีวิตของพวกเขา

ข้าพเจ้าสัญญาว่าโดยอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ท่านจะรู้และสัมผัสได้ว่าความจริงพระกิตติคุณที่ข้าพเจ้าพยายามอธิบายนั้นมีไว้ให้ท่าน—เป็นรายบุคคลและเป็นส่วนตัว

ข้าพเจ้าเป็นพยานอย่างเบิกบานใจว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดและพระผู้ไถ่ที่เปี่ยมด้วยความรักและทรงพระชนม์อยู่ ถ้าเราอยู่กับพระองค์ พระองค์จะทรงอยู่กับเรา30 และเมื่อเราเดินในพระองค์และเดินกับพระองค์ เราจะได้รับพรให้ออกผลมาก ข้าพเจ้าเป็นพยานในพระนามอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าพระเยซูคริสต์ เอเมน

อ้างอิง

  1. ดู ปฐมกาล 5:18–24; หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:48–57; โมเสส 6–7

  2. โมเสส 6:27

  3. โมเสส 6:31

  4. โมเสส 6:32, 34; เน้นตัวเอน

  5. ดู ยอห์น 15:4–9

  6. ดู เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “จงเข้าสนิทอยู่ในเรา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2004, 40.

  7. ดู ยอห์น 15:10

  8. ดู มัทธิว 11:29–30

  9. ดู ฮีลามัน 5:12

  10. ดู 3 นีไฟ 27:14–15

  11. ดู 2 นีไฟ 32:3

  12. โมโรไน 4:3; 5:2

  13. ดู โมไซยาห์ 2:17

  14. ยอห์น 15:10

  15. แอลมา 33:22

  16. แอลมา 33:23; เน้นตัวเอน

  17. ดู แอลมา 26:13

  18. ข้าพเจ้าอธิบายหลักธรรมนี้ในการให้ข้อคิดทางวิญญาณปี 2017:

    “แอลมา … ‘ตั้งต้นสั่งสอน พระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า แก่ผู้คน, โดยเข้าไปในบรรดาธรรมศาลาของพวกเขา, และในบ้านของพวกเขา; แท้จริงแล้ว, และพวกท่านสั่งสอน พระวจนะ แม้ในถนนของพวกเขา’” [แอลมา 32:1; เน้นตัวเอน] ท่านเปรียบเทียบพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้ากับเมล็ดพืชด้วย

    “‘บัดนี้, หากท่านให้ที่, เพื่อจะปลูกเมล็ดพืชในใจท่าน, ดูเถิด, หากเป็นเมล็ดจริง, หรือเมล็ดดี, หากท่านไม่โยนมันทิ้งโดยความไม่เชื่อของท่าน, ทำให้ท่านจะต่อต้านพระวิญญาณของพระเจ้า, ดูเถิด, มันจะเริ่มพองอยู่ในอกท่าน; และเมื่อท่านรู้สึกถึงการพองนี้, ท่านจะกล่าวในใจว่า—มันจำต้องเป็นว่านี่คือเมล็ดดี, หรือว่า พระวจนะ ดี, เพราะมันเริ่มทำให้จิตวิญญาณข้าพเจ้าขยาย; แท้จริงแล้ว, มันเริ่มให้ความสว่างแก่ความเข้าใจของข้าพเจ้า, แท้จริงแล้ว, มันเริ่มมีรสเลิศสำหรับข้าพเจ้า’ [แอลมา 32:28; เน้นตัวเอน]

    “น่าสนใจตรงที่เมล็ดดีกลายเป็นต้นไม้เมื่อปลูกไว้ในใจและเริ่มพอง งอก และเติบโต

    “‘และดูเถิด, เมื่อ ต้นไม้ เริ่มเติบโต, ท่านจะกล่าว: ให้เราบำรุงเลี้ยงมันด้วยความใส่ใจอย่างยิ่ง, เพื่อมันจะแตกราก, เพื่อมันจะเติบโตขึ้น, และ ออกผล ให้เรา. และบัดนี้ดูเถิด, หากท่านบำรุงเลี้ยงมันด้วยความเอาใจใส่ให้มากมันจะแตกราก, และเติบโตขึ้น, และออกผล.

    “‘แต่หากท่านละเลยต้นไม้, และไม่คิดถึงการบำรุงเลี้ยงมัน, ดูเถิดมันจะไม่แตกราก; และเมื่อความร้อนของดวงอาทิตย์มาถึงและแผดเผามัน, เนื่องจากมันไม่มีรากมันย่อมเหี่ยวแห้งไป, และท่านก็ถอนมันขึ้นและโยนมันทิ้ง.

    “‘บัดนี้, นี่ไม่ใช่เพราะเมล็ดไม่ดี, ทั้งไม่ใช่เพราะผลของมันไม่เป็นที่พึงปรารถนา; แต่เป็นเพราะดินของท่านแห้งแล้ง, และท่านไม่ยอมบำรุงเลี้ยงต้นไม้, ฉะนั้นท่านจะรับผลจากมันไม่ได้.

    “‘และด้วยเหตุนี้, หากท่านไม่ยอม บำรุงเลี้ยงพระวจนะ, โดยตั้งตารอผลของต้นไม้ด้วยดวงตาแห่งศรัทธาแล้ว, ท่านจะไม่มีวันเก็บผลจากต้นไม้แห่งชีวิตได้เลย.

    “‘แต่หากท่านจะ บำรุงเลี้ยงพระวจนะ, แท้จริงแล้ว, บำรุงเลี้ยงต้นไม้ เมื่อเริ่มเติบโต, โดยศรัทธาของท่านด้วยความขยันหมั่นเพียรยิ่ง, และด้วยความอดทน, โดยตั้งตารอ ผลจากต้นไม้, มันจะแตกราก; และดูเถิดมันจะเป็น ต้นไม้ที่งอกงามไปสู่ชีวิตอันเป็นนิจ’ [แอลมา 32:37–41; เน้นตัวเอน]

    “จุดเด่นสำคัญในความฝันของลีไฮคือต้นไม้แห่งชีวิต—ตัวแทน ‘ความรักของพระผู้เป็นเจ้า’ [1 นีไฟ 11:21–22]

    “‘พระเจ้าทรงรักโลกดังนี้ คือได้ประทานพระบุตรองค์เดียวของพระองค์ เพื่อทุกคนที่วางใจในพระบุตรนั้นจะไม่พินาศ แต่มีชีวิตนิรันดร์’ [ยอห์น 3:16]

    “การประสูติ พระชนม์ชีพ และการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระเจ้าพระเยซูคริสต์เป็นการแสดงความรักที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของพระผู้เป็นเจ้าต่อลูกๆ ของพระองค์ ดังที่นีไฟเป็นพยาน ความรักนี้เป็นที่ ‘พึงปรารถนาที่สุดเหนือสิ่งทั้งปวง’ และ ‘เป็นความปีติยินดีที่สุดแก่จิตวิญญาณ’ [1 นีไฟ 11:22–23; ดู 1 นีไฟ 8:12, 15 ด้วย] บทที่ 11 ของ 1 นีไฟ นำเสนอคำอธิบายโดยละเอียดของต้นไม้แห่งชีวิตอันเป็นสัญลักษณ์แทนพระชนม์ชีพ พันธกิจ การปฏิบัติศาสนกิจ และการพลีพระชนมชีพของพระผู้ช่วยให้รอด—‘พระจริยวัตรอันอ่อนน้อมของพระผู้เป็นเจ้า’ [1 นีไฟ 11:16] ถือได้ว่าต้นไม้เป็นตัวแทนถึงพระคริสต์

    “วิธีคิดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับผลของต้นไม้คือเป็นสัญลักษณ์แทนพรของการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด ผลที่พูดถึง ‘พึงปรารถนาที่จะทำให้คนเป็นสุข’ [1 นีไฟ 8:10] และทำให้เกิดปีติใหญ่หลวงและความปรารถนาจะแบ่งปันปีตินั้นกับผู้อื่น

    “ที่สำคัญ สาระสำคัญที่อยู่ทั่วพระคัมภีร์มอรมอน เชื้อเชิญให้ทุกคนมาหาพระคริสต์ [ดู โมโรไน 10:32] เป็นสิ่งสำคัญสูงสุดในนิมิตของลีไฮ [ดู 1 นีไฟ 8:19]” (“The Power of His Word Which Is in Us” [คำปราศรัยให้ไว้ที่สัมมนาสำหรับผู้นำคณะเผยแผ่คนใหม่, 27 มิ.ย. 2017], 4–5)

  19. ดู 2 โครินธ์ 3:3

  20. 2 โครินธ์ 5:17

  21. อุปมานิทัศน์ของแอลมาสอนเราว่าความปรารถนาจะเชื่อปลูกเมล็ดพืชในใจเรา การบำรุงเลี้ยงเมล็ดด้วยศรัทธาของเราทำให้ต้นไม้แห่งชีวิตงอก และการบำรุงเลี้ยงต้นไม้ทำให้ต้นไม้ออกผล ซึ่ง “หวานเหนือทุกสิ่งที่หวาน” (แอลมา 32:42) และเป็น “สิ่งที่สำคัญที่สุดในบรรดาของประทานทั้งปวงของพระผู้เป็นเจ้า” (1 นีไฟ 15:36)

  22. แอลมา 5:14

  23. โมเสส 6:34; เน้นตัวเอน

  24. โคโลสี 2:6

  25. 1 ยอห์น 2:3–6; เน้นตัวเอน

  26. ลูกา 18:22

  27. โมเสส 6:34

  28. ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 19:23

  29. แอลมา 5:33–34; เน้นตัวเอน

  30. ดู ยอห์น 15:5