เอ็ลเดอร์เดล จี. เรนลันด์: ผู้รับใช้ที่เชื่อฟัง
ชีวิตคงไม่ยุ่งเกินไปกว่านี้อีกแล้วสำหรับเดลและรูธ เรนลันด์ ทั้งสองอายุยี่สิบปลายๆ อาศัยอยู่ในเมืองบอลทิมอร์ รัฐแมริแลนด์ สหรัฐอเมริกา เดลเรียนจบแพทยศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐยูทาห์ ท่านกับรูธย้ายข้ามประเทศมาเรียนแพทย์เฉพาะทางที่โรงเรียนแพทย์จอห์นส์ ฮ็อพคินส์ซึ่งเป็นการเรียนที่เรียกร้องเวลามากและมีเกียรติ พวกท่านมีบุตรสาวตัวน้อยน่ารักชื่อแอชลีย์ รูธภรรยาที่รักของท่านกำลังรับการบำบัดมะเร็ง และเดลยอมรับการเรียกให้รับใช้เป็นอธิการอย่างเชื่อฟัง
เมื่อไปเยี่ยมสมาชิกวอร์ด บางครั้งเดลพาแอชลีย์ไปด้วย วันหนึ่งพวกเขาไปเยี่ยมสมาชิกที่แข็งขันน้อยคนหนึ่ง “ผมรู้ว่าไม่มีใครสามารถเบือนหน้าหนีลูกสาวน่ารักคนนี้ที่อยู่ข้างๆ ผมได้” เอ็ลเดอร์เรนลันด์ ท่านเคาะประตูบ้านของชายคนหนึ่งซึ่งเคยไล่ที่ปรึกษาของอธิการเรนลันด์อย่างฉุนเฉียวมาแล้ว
เมื่อชายคนนั้นเปิดประตู เขาตัวใหญ่มากจนคับประตู เขาจ้องมองอธิการเรนลันด์ แอชลีย์วัยสี่ขวบพูดโพล่งออกมาว่า “เราจะเข้าไปข้างในได้ไหมคะหรือว่าไงคะ”
น่าแปลกที่ชายคนนั้นตอบว่า “คิดว่าได้นะ เข้ามาสิ”
เมื่อพวกเขานั่งในบ้าน ชายคนนั้นบอกอธิการเรนลันด์ว่าเขาไม่เชื่อว่าศาสนจักรนี้จริง และไม่เชื่อในพระเยซูคริสต์ด้วย เขายังคงพูดอย่างขุ่นเคืองขณะแอชลีย์เล่นของเล่น ในที่สุดเธอก็ลุกจากเก้าอี้ เอามือป้องหูบิดา และกระซิบดังๆ ว่า “คุณพ่อคะ บอกความจริงกับเขาสิคะ”
เขาทำตามนั้น อธิการเรนลันด์แสดงประจักษ์พยานกับชายดังกล่าว ท่านจำได้ว่า “ท่าทีของชายคนนั้นอ่อนลง และพระวิญญาณเข้ามาในบ้านของเขา”
บัดนี้ ในฐานะสมาชิกโควรัมอัครสาวกสิบสอง อธิการเรนลันด์มีโอกาสบอกความจริงกับคนทั้งโลก (ดู คพ. 107:23) “ปีติใหญ่หลวงที่สุดที่เกิดขึ้น” อธิการเรนลันด์กล่าว “กำลังช่วยนำการชดใช้ของพระคริสต์เข้ามาในชีวิตคนทุกหนแห่ง ข้าพเจ้าคิดว่าการเรียกนี้เปิดโอกาสให้ทำเช่นนั้นได้ในฐานะพยานของพระคริสต์ต่อคนทั้งโลกในระดับที่ใหญ่ขึ้น หลายแห่งมากขึ้น”
การอบรมเลี้ยงดูแบบชาวสแกนดิเนเวีย
เดล กันนาร์ เรนลันด์เกิดในซอลท์เลคซิตี้ รัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1952 ท่านกับพี่น้องโตมากับการพูดภาษาสวีเดน มาเรียนา แอนเดิร์สซันมารดาของพวกท่านมาจากสวีเดน และแมทส์ อเค เรนลันด์บิดาของพวกท่านมาจากเมืองที่พูดภาษาสวีเดนทางตะวันตกของฟินแลนด์ พวกท่านอพยพจากสวีเดนมายูทาห์ในปี ค.ศ. 1950
บิดามารดาของเดลพบกันที่โบสถ์ในสตอกโฮล์ม หลังจากตัดสินใจแต่งงานกัน พวกท่านตั้งใจว่าจะแต่งงานในพระวิหารเท่านั้น เพราะไม่มีพระวิหารในยุโรปเวลานั้น (พระวิหารเบิร์น สวิตเซอร์แลนด์ได้รับการอุทิศในปี ค.ศ. 1955) ทั้งคู่จึงมายูทาห์เพื่อจะรับการผนึกในพระวิหารซอลท์เลค
ลินดา ซี. มูเรอร์น้องสาวที่อายุน้อยกว่าเอ็ลเดอร์เรนลันด์เจ็ดปีกล่าวว่าขณะลูกๆ ทั้งสี่คนอายุมากขึ้น “พวกเขาทราบดีว่าบิดามารดาของพวกเขาน่าทึ่งและเปี่ยมด้วยศรัทธามากเหลือเกินเมื่อพวกท่านย้ายถิ่นฐานทั้งที่ไม่มีทักษะด้านภาษาอังกฤษและมีความช่วยเหลือน้อยมากเพื่อจะได้รับพรของพระกิตติคุณและแต่งงานในพระวิหาร”
เมื่อเดลอายุ 11 ขวบ บิดาของท่านซึ่งเป็นช่างไม้และช่างก่อสร้างฝีมือดีได้รับเรียกให้รับใช้เป็นผู้สอนศาสนาด้านการก่อสร้างในสวีเดนสามปี ครอบครัวใช้เวลานั้นในเมืองเฮลซิงกิ ฟินแลนด์ และเมืองกอเทนเบิร์ก สวีเดน พวกท่านเข้าร่วมการประชุมในสาขาเล็กๆ ของศาสนจักร และลูกๆ เข้าโรงเรียนรัฐบาลของสวีเดน อนิตา เอ็ม. เรนลันด์น้องสาวที่อายุน้อยกว่าเดลหนึ่งปีจำความยุ่งยากอย่างหนึ่งในการย้ายครั้งนั้นว่า “ตอนแรกเราตกใจมากเพราะถึงแม้จะพูดภาษาสวีเดนที่บ้าน แต่เราไม่รู้ไวยากรณ์หรือตัวสะกดของภาษานั้น”
สมัยยังเด็กเดลมีประสบการณ์ที่ทำให้ประจักษ์พยานเข้มแข็งขึ้นหลังจากอ่านพระคัมภีร์มอรมอน ประธานคณะเผยแผ่ในสวีเดนเชื้อเชิญเยาวชนชายฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนให้อ่านพระคัมภีร์มอรมอน ด้วยเหตุนี้แกรีย์พี่ชายของเดลซึ่งเวลานั้นอายุ 12 ขวบจึงยอมรับคำท้าทาย เดลวัยสิบเอ็ดขวบรับคำท้าทายเช่นกัน หลังจากอ่านพระคัมภีร์มอรมอน ท่านสวดอ้อนวอนและทูลถามว่าพระคัมภีร์มอรมอนจริงหรือไม่ เอ็ลเดอร์เรนลันด์จำได้ว่า “ผมมีความรู้สึกชัดเจนมากบอกว่า ‘เราบอกเจ้ามาตลอดว่าเป็นความจริง’ และนั่นเป็นประสบการณ์ที่น่าทึ่งมาก”
เดลกับพี่ชายและน้องสาว—แกรีย์ อนิตา และลินดา—จำได้ว่าเมื่อครอบครัวย้ายกลับไปสหรัฐ พวกท่านยังคงพูดและสวดอ้อนวอนเป็นภาษาสวีเดน พวกท่านจำได้เช่นกันว่าบิดามารดาเน้นมากเรื่องความรู้เกี่ยวกับพระคัมภีร์ พวกท่านกล่าวว่า “วิธีดีที่สุดที่จะชี้ให้พ่อแม่เห็นประเด็นใดประเด็นหนึ่งคือใช้พระคัมภีร์” อนิตาพูดติดตลกว่า “การรู้พระคัมภีร์ในครอบครัวเราถือเป็นทักษะการเอาตัวรอด ไม่ใช่ทางเลือก”
น่าแปลกที่แกรีย์กับเดลได้รับเรียกให้รับใช้ในคณะเผยแผ่สวีเดนพร้อมกัน ทั้งสองไม่เคยเป็นคู่กัน แต่สามารถใช้ทักษะการพูดภาษาสวีเดนรับใช้พระเจ้าในฐานะผู้สอนศาสนาตลอดสองปี เอ็ลเดอร์เรนลันด์อธิบายว่างานเผยแผ่ของท่านเป็นงานหนักแต่เป็นประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยม “งานเผยแผ่เปลี่ยนชีวิตในแง่ของการให้คำมั่นสัญญาและการตัดสินใจทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ในฐานะสานุศิษย์ของพระคริสต์”
พรอันน่าทึ่งที่สุด
หลังกลับจากงานเผยแผ่ในปี ค.ศ. 1974 เดลเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐยูทาห์ ท่านเป็นนักศึกษาดีเด่นและได้รับปริญญาตรีสาขาเคมี พี่น้องกับเพื่อนสนิทของท่านทุกคนจำได้ว่าท่านมีความสามารถ มุ่งมั่น ทำงานหนัก และตั้งใจแน่วแน่ในภาระหน้าที่ทุกอย่าง—อันเป็นคุณลักษณะที่ท่านยังคงแสดงให้เห็น แกรีย์บอกว่า “เขาเป็นคนทำงานหนักที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็น”
ในวอร์ดของท่าน เดลพบหญิงสาวคนหนึ่งชื่อรูธ เธอเป็นบุตรสาวของเมอร์ลิน อาร์. ลิบเบิร์ต สมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายประธานภาคผู้ซึ่งต่อมารับใช้ในโควรัมสาวกเจ็ดสิบ เดลจำได้ว่าท่านรวบรวมความกล้าเพื่อขอรูธออกเดท แต่เธอปฏิเสธ เมื่อท่านพยายามอีกครั้งในอีกไม่กี่เดือนต่อมา เธอตกลง คำบอกเล่าของรูธต่างออกไปเล็กน้อย เธอจำได้ว่าเมื่อท่านพูดในการประชุมศีลระลึกเกี่ยวกับงานเผยแผ่ของท่าน เธอรู้สึกประทับใจ พวกท่านรู้จักกันมากขึ้น และเธอตื่นเต้นเมื่อท่านขอเธอออกเดท แต่เธอกำลังจัดงานเลี้ยงที่ทำให้ต้องปฏิเสธ เธอยินดีรับปากเมื่อท่านขออีกครั้ง
เดลกับรูธแต่งงานกันในปี ค.ศ. 1977 ในพระวิหารซอล์เลคขณะท่านเรียนแพทยศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐยูทาห์และเธอสอนอยู่ที่โรงเรียนมัธยมเซาธ์ในซอลท์เลคซิตี้ “นอกเหนือจากการตัดสินใจว่าจะแข็งขันในศาสนจักรแล้ว” เอ็ลเดอร์เรนลันด์กล่าวชัดเจนว่า “การแต่งงานกับรูธเป็นเรื่องน่าพิศวงที่สุดในชีวิตข้าพเจ้า” แอชลีย์บุตรสาวของพวกท่านเกิดหลังจากเอ็ลเดอร์เรนลันด์เรียนจบแพทย์หนึ่งสัปดาห์ในปี ค.ศ. 1980
ต่อจากนั้นเอ็ลเดอร์เรนลันด์ดีใจที่โรงพยาบาลจอห์นส์ ฮ็อพคินส์รับท่านเข้าศึกษาต่อ นั่นเป็นแห่งแรกที่ท่านเลือกศึกษาต่อด้านการแพทย์ ครอบครัวย้ายไปอยู่เมืองบอลทิมอร์ รัฐแมริแลนด์ ท่านเป็นเจ้าหน้าที่แพทย์คนหนึ่งของโรงพยาบาลที่นั่น
เติบโตผ่านการทดลอง
ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1981 ซิสเตอร์เรนลันด์ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งรังไข่ เธอรับการผ่าตัดสองครั้งและรับเคมีบำบัดเก้าเดือน เอ็ลเดอร์เรนลันด์จำได้ว่าขณะพยายามดูแลรูธและบุตรสาว “ข้าพเจ้าทุกข์ใจมาก และดูประหนึ่งคำสวดอ้อนวอนของข้าพเจ้าจะขึ้นไม่ถึงสวรรค์”
เมื่อท่านพารูธกลับจากโรงพยาบาล เธออ่อนแอ แต่พวกท่านต้องการสวดอ้อนวอนด้วยกัน ท่านถามซิสเตอร์เรนลันด์ว่าเธออยากสวดอ้อนวอนไหม “เธอเริ่มต้นการสวดอ้อนวอนว่า ‘พระบิดาในสวรรค์ พวกข้าพระองค์ขอบพระทัยสำหรับอำนาจฐานะปุโรหิตที่ทำให้เราสามารถอยู่ด้วยกันชั่วนิรันดร์ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม’”
ขณะนั้นท่านรู้สึกใกล้ชิดกับภรรยาและกับพระผู้เป็นเจ้าเป็นพิเศษ “สิ่งที่ข้าพเจ้าเคยเข้าใจเกี่ยวกับครอบครัวนิรันดร์ในความคิดข้าพเจ้า บัดนี้ข้าพเจ้าเข้าใจในใจข้าพเจ้า” เอ็ลเดอร์เรนลันด์กล่าว “ความเจ็บป่วยของรูธเปลี่ยนวิถีชีวิตของเรา”
เพื่อไม่ให้นึกถึงความเจ็บป่วย ซิสเตอร์เรนลันด์จึงตัดสินใจเรียนนิติศาสตร์ “ดิฉันแค่คิดว่า ‘เรื่องนี้จะเป็นเพียงประสบการณ์ที่เลวร้ายหากเราไม่ทำบางอย่างจากประสบการณ์นั้นให้ดี’” ซิสเตอร์เรนลันด์กล่าว “การเป็นมะเร็งและการมีลูกคนเดียวไม่ได้อยู่ในแผนของดิฉันเมื่อครั้งเป็นหญิงสาวคนหนึ่ง และเราไม่แน่ใจว่าดิฉันจะรอดตายหรือไม่ แต่เรารู้สึกว่าการเรียนนิติศาสตร์เป็นสิ่งถูกต้องควรทำ”
เธอเรียนทั้งที่ยังบำบัดอาการป่วยและสามีเธอยังเรียนแพทย์เฉพาะทาง
อธิการในเมืองบอลทิมอร์
เมื่อเอ็ลเดอร์เรนลันด์สิ้นสุดการเป็นเจ้าหน้าที่แพทย์สามปีและย้ายไปเป็นแพทย์โรคหัวใจ ท่านได้รับการสัมภาษณ์เป็นอธิการวอร์ดบอลทิมอร์ เบรนท์ เพททีที่ปรึกษาที่หนึ่งในสเตคบอลทิมอร์ รัฐแมริแลนด์เวลานั้น จำการสัมภาษณ์ดังกล่าวได้ ทั้งเขากับสตีเฟน พี. ชิพลีย์ประธานสเตครู้สึกถึง “อิทธิพลแรงกล้าของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์” ขณะสัมภาษณ์ท่าน
บราเดอร์เพททีจำได้ว่า “ท่านเป็นอธิการที่ยอดเยี่ยม” แม้กำลังประสบความท้าทายด้านอาชีพและครอบครัว เมื่อเอ็ลเดอร์เรนลันด์ได้รับการเรียกสู่โควรัมอัครสาวกสิบสองปีที่แล้ว บราเดอร์เพททีสังเกตว่าสมาชิกวอร์ดบอลทิมอร์และเพื่อนร่วมงานของเอ็ลเดอร์เรนลันด์ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นวิสุทธิชนยุคสุดท้ายต่างดีใจกันถ้วนหน้า พวกเขาแสดงความรักต่อท่าน ชื่นชมการรับใช้และความประพฤติที่ดีงามเป็นพิเศษของท่าน
อาชีพที่โดดเด่น
คริสต์ศักราช 1986 หลังจากซิสเตอร์เรนลันด์เรียนจบนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งแมริแลนด์ เอ็ลเดอร์เรนลันด์จบโปรแกรมแพทย์เฉพาะทางสามปีและเป็นแพทย์โรคหัวใจมาแล้วสามปี พวกท่านกลับไปยูทาห์ ซิสเตอร์เรนลันด์เริ่มอาชีพทนายความที่สำนักงานอัยการสูงสุดยูทาห์ และเอ็ลเดอร์เรนลันด์เป็นอาจารย์แพทย์ที่มหาวิทยาลัยแห่งยูทาห์ ท่านเป็นผู้อำนวยการแพทย์โปรแกรมการปลูกถ่ายหัวใจของโรงพยาบาลในเครือปลูกถ่ายของยูทาห์
คริสต์ศักราช 2000 ท่านเป็นผู้อำนวยการโปรแกรมการป้องกันและการบำบัดภาวะหัวใจล้มเหลวที่ศูนย์สุขภาพอินเตอร์เมาเทนในซอลท์เลคซิตี้ โปรแกรมดังกล่าวรวมถึงปั๊มหัวใจแบบฝังในตัวและหัวใจเทียมทั้งหมด โดนัลด์ บี. โดที พ.บ. (แพทย์ศาสตร์มหาบัณฑิต) เป็นศัลยแพทย์หัวใจที่นานาประเทศยอมรับ เขาเป็นเพื่อนและเพื่อนร่วมงานของดร.เรนลันด์ที่โรงพยาบาลแอลดีเอส ดร. โดทีกล่าวว่า “การฝึกอบรมที่ไม่ธรรมดา ความสนใจที่ลึกซึ้ง การบริหารที่มีประสิทธิภาพ และการุณยธรรมในใจท่านถือว่าหาตัวจับยาก”
ดร. เอ. จี. คฟูรี ชาวคาทอลิกที่มีใจศรัทธาผู้ทำงานใกล้ชิดกับ ดร. เรนลันด์มาหลายปีกล่าวว่า ดร. เรนลันด์เป็นหัวหน้าแพทย์ปลูกถ่ายหัวใจในภูมิภาคนั้น “ไม่มีใครเทียบได้ในเรื่องอุปนิสัย ความซื่อตรง ความอ่อนน้อมถ่อมตน และการุณยธรรมของท่าน” เขากล่าวว่า ดร. เรนลันด์ “นำส่วนดีที่สุดในตัวคนออกมา ท่านทำเช่นนั้นอย่างเงียบๆ ท่านฟังอย่างถี่ถ้วนและใส่ใจ และท่านสนใจอย่างมากในความสำเร็จของคนที่ท่านทำงานด้วย” ดร. เรนลันด์นำอย่างเงียบๆ โดยแบบอย่างและห่วงใยครอบครัวของผู้ร่วมงานเสมอ
ดร. คฟูรีสังเกตเห็นเป็นพิเศษว่าดร. เรนลันด์มีความกรุณาต่อผู้ป่วย ตัวอย่างเช่น ถ้าผู้ป่วยไม่มีเงินค่าเดินทาง ดร. เรนลันด์จะขับรถไกลพอสมควรไปรับผู้ป่วยที่บ้าน พยุงผู้ป่วยขึ้นรถของท่าน แล้วขับพาผู้ป่วยมาโรงพยาบาล ดร. คฟูรีกล่าวว่านี่ไม่ธรรมดาเลย
รับใช้ในสาวกเจ็ดสิบ
หลังจากรับใช้เป็นประธานสเตคห้าปีในสเตคมหาวิทยาลัยซอลท์เลคที่หนึ่ง เอ็ลเดอร์เรนลันด์ได้รับเรียกในปี ค.ศ. 2000 ให้รับใช้เป็นสาวกเจ็ดสิบภาคในภาคยูทาห์ จากนั้นในเดือนเมษายน ค.ศ. 2009 ท่านได้รับเรียกเป็นสาวกเจ็ดสิบเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ งานมอบหมายแรกของท่านคือรับใช้ในฝ่ายประธานภาคแอฟริกาตะวันออกเฉียงใต้ ภาคที่มีหน่วยศาสนจักรในประเทศต่างๆ 25 ประเทศ
ซิสเตอร์เรนลันด์พูดถึงการตอบรับการเรียกครั้งนี้ว่า “แน่นอนว่าเราประหลาดใจมาก และมีคนพูดว่า ‘คุณกำลังทิ้งอาชีพของคุณขณะอยู่ตรงจุดสูงสุด’ และนั่นอาจจะจริง แต่ถ้าพระเจ้าทรงต้องการจุดสูงสุดของอาชีพเราและนี่เป็นเวลาที่เราสามารถรับใช้ได้ นั่นคือเวลาที่เราต้องไป”
เมื่อพูดถึงภรรยาว่าเป็นวีรสตรีของท่าน เอ็ลเดอร์เรนลันด์กล่าวว่า “เธอเสียสละมากกว่า” ซิสเตอร์เรนลันด์ออกจากงานประธานสำนักงานทนายความของเธอและทิ้งตำแหน่งในคณะกรรมการมีชื่อหลายชุดเพื่อรับใช้กับท่าน “เราถูกส่งไปแอฟริกาและได้รับการสอนจากวิสุทธิชนว่าอะไรสำคัญจริงๆ” เอ็ลเดอร์เรนลันด์กล่าว
วันอาทิตย์วันหนึ่งทางภาคกลางของคองโก ท่านถามสมาชิกว่าพวกเขากำลังประสบความท้าทายอะไรบ้าง แต่พวกเขานึกไม่ออก ท่านถามอีกครั้ง ในที่สุด สุภาพบุรุษสูงวัยคนหนึ่งที่อยู่หลังห้องลุกขึ้นยืนและพูดว่า “เอ็ลเดอร์เรนลันด์ครับ เราจะมีความท้าทายได้อย่างไรละครับ เรามีพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์” เมื่อนึกถึงประสบการณ์นั้น เอ็ลเดอร์เรนลันด์อธิบายว่า “ข้าพเจ้าต้องการเป็นเหมือนวิสุทธิชนชาวคองโกเหล่านั้น ผู้สวดอ้อนวอนขออาหารทุกวัน สำนึกคุณทุกวันสำหรับอาหาร และสำหรับครอบครัวของพวกเขา พวกเขาไม่มีอะไร แต่พวกเขามีทุกอย่าง”
เอ็ลเดอร์เรนลันด์รับใช้ในฝ่ายประธานภาคห้าปี และเดินทางหลายพันไมล์ไปทั่วภาคแอฟริกาตะวันออกเฉียงใต้เพื่อเยี่ยมเยียนสมาชิกและผู้สอนศาสนา ท่านศึกษาภาษาฝรั่งเศสเพราะต้องพูดในประเทศเหล่านั้นหลายประเทศ
เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ผู้เป็นสมาชิกอัครสาวกสิบสองที่ได้รับมอบหมายให้ทำงานกับฝ่ายประธานภาคแอฟริกาตะวันออกเฉียงใต้เวลานั้นพูดถึงเอ็ลเดอร์เรนลันด์ว่า “ไม่มีใครทุ่มเทให้กับภาค ผู้คนในภาคนั้น และความต้องการของพวกเขามากไปกว่าเอ็ลเดอร์เรนลันด์ เขาทำงานไม่หยุดเพื่อรู้จักผู้คน รักวัฒนธรรมของคนเหล่านั้น และช่วยให้วิสุทธิชนก้าวหน้าไปถึงแสงแห่งการไถ่”
ได้รับเรียกให้เป็นพยานพิเศษ
วันที่ 29 กันยายน ค.ศ. 2015 ท่านได้รับโทรศัพท์ที่ไม่ได้คาดหมายจากสำนักงานของฝ่ายประธานสูงสุด ที่อาคารบริหารงานศาสนจักร “ประธานโธมัส เอส. มอนสันกับที่ปรึกษาทั้งสองของท่านต้อนรับข้าพเจ้าอย่างอบอุ่น หลังจากเรานั่งลงแล้ว ประธานมอนสันมองข้าพเจ้า และพูดว่า ‘บราเดอร์เรนลันด์ เรามอบการเรียกให้คุณรับใช้เป็นสมาชิกคนหนึ่งของโควรัมอัครสาวกสิบสอง’”
เอ็ลเดอร์เรนลันด์ตะลึงงัน ท่านยอมรับการเรียกอย่างนอบน้อมและจำได้ว่า “ข้าพเจ้าคิดว่าประธานมอนสันรู้สึกได้ว่าข้าพเจ้าทรงตัวไม่อยู่ ท่านจึงมองข้าพเจ้าและพูดว่า ‘พระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกคุณ พระเจ้าทรงบอกให้ผมทราบ’”
เอ็ลเดอร์เรนลันด์กลับไปที่ทำงาน ปิดประตู และคุกเข่าสวดอ้อนวอน หลังจากตั้งสติได้แล้ว ท่านโทรศัพท์หาภรรยา “ปฏิกิริยาของเธอคือประหลาดใจ” ท่านกล่าว “แต่ทุ่มเทเต็มที่ต่อพระเจ้า ศาสนจักรของพระองค์ และต่อข้าพเจ้า”
แอชลีย์บุตรสาวของพวกท่านยอมรับว่า “คุณพ่อเก่งมากเพราะพรจากสวรรค์และได้รับการเตรียมมาชั่วชีวิตเพื่อรับใช้ในการเรียกนี้ ท่านเป็นคนใจกว้าง ใจที่เปี่ยมไปด้วยความรัก”
แกรีย์พี่ชายของเอ็ลเดอร์เรนลันด์กล่าวทำนองเดียวกันว่าเอ็ลเดอร์เรนลันด์ “ได้รับการเตรียมมานานแล้ว ทั้งโดยความท้าทายต่างๆ และการรับใช้เพื่อให้พร้อมรับการเรียกที่มาถึงเขา นี่เป็นส่วนหนึ่งของแผนยิ่งใหญ่กว่าที่กำหนดไว้แล้ว และผมสนับสนุนเขาได้ง่ายๆ”
เมื่อนึกถึงความสำคัญของการเรียกนี้ เอ็ลเดอร์เรนลันด์กล่าวว่า “ข้าพเจ้ารู้สึกว่าไม่คู่ควร แต่รู้ว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของโลก ข้าพเจ้าสามารถเป็นพยานถึงการทรงพระชนม์อยู่จริงของพระองค์ พระองค์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของท่านและของข้าพเจ้า ข้าพเจ้ารู้ว่านี่เป็นความจริง”