ถวายเกียรติพระผู้เป็นเจ้า โดยให้เกียรติพันธสัญญาของเรา
พรประเสริฐสุดของศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าอยู่ในการถวายเกียรติพระองค์โดยรักษาพันธสัญญาของเรา
คริสต์ศักราช 1985 ข้าพเจ้ากับซิสเตอร์ซิตาติพบชายคนหนึ่งชื่อโรเจอร์ ฮาเวิร์ดในเมืองไนโรบี ประเทศเคนยา เขากับไอลีนภรรยารับใช้เป็นผู้สอนศาสนาอาวุโส พวกเขาเชิญเราไปร่วมการประชุมกลุ่มเล็กที่พบกันในบ้านของพวกเขา นั่นเป็นครั้งแรกที่เราเข้าร่วมการประชุมของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย เรารู้สึกถึงพระวิญญาณที่การประชุมครั้งแรกนั้น และเราไปโบสถ์ทุกวันอาทิตย์นับแต่นั้น
ไม่กี่เดือนต่อมา โรเจอร์ให้บัพติศมาเรา พร้อมกับลูกชายวัยเก้าขวบของเรา ไม่นานหลังจากนั้น โรเจอร์กับไอลีนกลับบ้านเมื่อจบงานเผยแผ่ เรายังคงได้ข่าวจากพวกเขาทุกสองสามปี
ต้นปี 2010 ข้าพเจ้ากับซิสเตอร์ซิตาติพบโรเจอร์อีกครั้ง เวลานี้เขาอายุย่าง 90 ปี เพราะอายุมากแล้วและสุขภาพไม่ดีนัก เขาจึงต้องใช้เครื่องช่วยเดิน ขณะที่เรายืนมองหน้ากันเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี เรารู้สึกปีติเกินบรรยาย น้ำตาไหลไม่หยุดขณะที่เราโอบกอดกันอย่างอ่อนโยน เรารู้สึกสำนึกคุณอย่างสุดซึ้งต่อกันและต่อของประทานอันน่าอัศจรรย์ของพระกิตติคุณ เราเป็นหนึ่งเดียวกันด้วยศรัทธาในฐานะพลเมืองในอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า
ขณะข้าพเจ้าดื่มด่ำชั่วขณะนั้น พระคัมภีร์ข้อหนึ่งเข้ามาในจิตใจ “จำไว้ว่าค่าของจิตวิญญาณยิ่งใหญ่ในสายพระเนตรของพระผู้เป็นเจ้า; …
“และหากเป็นไปว่าเจ้าจะทำงานตลอดวันเวลาของเจ้าในการป่าวร้องการกลับใจแก่คนพวกนี้, และนำ, แม้จิตวิญญาณเดียวมาหาเรา, ปีติของเจ้าพร้อมกับเขาจะใหญ่หลวงเพียงใดในอาณาจักรแห่งพระบิดาของเรา!” (คพ. 18:10, 15)
พรประเสริฐสุดบางประการของพระผู้เป็นเจ้าสัญญาไว้กับคนที่นำจิตวิญญาณเข้ามาสู่อาณาจักรของพระองค์ พระผู้ช่วยให้รอดทรงเปิดเผยว่า “ท่านไม่ได้เลือกเรา แต่เราเลือกพวกท่านและแต่งตั้งท่านให้ไปเกิดผลและเพื่อให้ผลของท่านคงอยู่ เพื่อว่าเมื่อท่านทูลขอสิ่งใดจากพระบิดาในนามของเรา พระองค์จะประทานสิ่งนั้นแก่ท่าน” (ยอห์น 15:16)
โรเจอร์ถึงแก่กรรมปลายปีนั้น ข้าพเจ้ามีความรู้สึกชัดเจนว่าเขาเป็นคนที่อยู่อย่างมีสันติสุขกับพระผู้เป็นเจ้า เขามีอิทธิพลต่อชีวิตเราอย่างลึกซึ้งโดยการแบ่งปันพระกิตติคุณ แบบอย่างการอุทิศตนรับใช้เพื่อนมนุษย์ของเขา พร้อมด้วยแบบอย่างของกองทัพอันเกรียงไกรของผู้สอนศาสนาหนุ่มสาวและผู้สอนศาสนาอาวุโสที่กำลังรับใช้ในศาสนจักร แสดงให้เห็นวิธีหนึ่งที่เราถวายเกียรติพระผู้เป็นเจ้า
ความสัมพันธ์แบบพันธสัญญาของเรากับพระผู้เป็นเจ้า
เพราะการเป็นสมาชิกในศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์ เราแต่ละคนจึงมีความสัมพันธ์แนบแน่นเป็นส่วนตัวกับพระบิดาบนสวรรค์ผ่านพันธสัญญา พันธสัญญาแต่ละอย่างยืนยันโดยศาสนพิธี ซึ่งเราเต็มใจยอมรับและให้คำมั่นว่าจะรักษาพันธสัญญานั้น โดยผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ พระองค์ทรงเปิดทางให้เราทำตามข้อผูกมัดในพันธสัญญาแต่ละข้อขณะที่เราใช้ศรัทธาในพระองค์
เราถวายเกียรติพระบิดาบนสวรรค์เมื่อเราทำให้ความสัมพันธ์ของเรากับพระองค์ลึกซึ้งขึ้นโดยทำและรักษาพันธสัญญาตลอดจนศาสนพิธีแห่งความรอดทั้งหมด พระองค์ประทานพรคนที่รักษาพันธสัญญาของพวกเขาด้วยพระวิญญาณของพระองค์เพื่อนำทางและทำให้พวกเขาเข้มแข็ง ต่อไปนี้เป็นความสัมพันธ์แบบพันธสัญญาครั้งสำคัญที่สุดที่เราสามารถสร้างกับพระบิดาบนสวรรค์ได้
พันธสัญญาบัพติศมา
บัพติศมานำเราเข้าสู่ความสัมพันธ์แบบพันธสัญญาครั้งแรกกับพระผู้เป็นเจ้า เรามีคุณสมบัติคู่ควรรับศาสนพิธีนี้เมื่อเรา “นอบน้อมถ่อมตนต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า … ออกมาด้วยใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด, และเป็นพยานต่อหน้าศาสนจักรว่า [เรา] กลับใจอย่างแท้จริงจากบาปทั้งหมด [ของเรา] … และแสดงให้ประจักษ์อย่างแท้จริงด้วยงาน [ของเรา] ว่า [เรา] ได้รับส่วนหนึ่งของพระวิญญาณของพระคริสต์ไปสู่การปลดบาป [ของเรา]” (คพ. 20:37)
เมื่อเราแสดงให้เห็นโดยการกระทำของเราว่าเรา “รับพระนามของพระเยซูคริสต์ [ไว้กับเรา], โดยมุ่งมั่นรับใช้พระองค์จนกว่าชีวิตจะหาไม่” (คพ. 20:37) “แบกภาระของกันและกัน, เพื่อมันจะได้เบา; … และปลอบโยนคนที่ต้องการการปลอบโยน, และยืนเป็นพยานเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าทุกเวลาและในทุกสิ่ง, และในทุกแห่งที่ [เรา] อยู่, แม้จนถึงความตาย” (โมไซยาห์ 18:8–9) เท่ากับเรารักษาพันธสัญญา
ในทางกลับกัน พระผู้เป็นเจ้าทรงให้เกียรติเราด้วยของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ ซึ่งทำให้เรามีสิทธิ์รับความเป็นเพื่อนที่ยั่งยืนของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ผู้ทรงนำทางและทรงกำกับดูแลในกิจการงานทุกอย่างของเราขณะนำเราไปสู่ชีวิตนิรันดร์” (ดูโมไซยาห์ 18:9–10)
ข้าพเจ้ารู้สึกปีติยินดีอย่างยิ่งและเปี่ยมด้วยพระวิญญาณหลังจากรับบัพติศมา ซึ่งข้าพเจ้ายังคงประสบทุกครั้งที่ใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้าเป็นพิเศษ
คำปฏิญาณและพันธสัญญาของฐานะปุโรหิต
บุรุษผู้รักษาพันธสัญญาบัพติศมามีคุณสมบัติคู่ควรเข้าสู่คำปฏิญาณและพันธสัญญาของฐานะปุโรหิต เราได้รับพันธสัญญานั้นผ่านศาสนพิธีของการวางมือ พันธสัญญาของฐานะปุโรหิตเป็นพันธสัญญาแห่งการรับใช้เพื่อความรอดของบุตรธิดาพระผู้เป็นเจ้า เราถวายเกียรติพระผู้เป็นเจ้าเมื่อเราขยายการเรียกของเรา (ดู คพ. 84:33) และ “รับใช้พระองค์ด้วยสุดใจ, พลัง, ความนึกคิดและพละกำลัง [ของเรา]” (คพ. 4:2) และด้วย “ศรัทธา, ความหวัง, จิตกุศลและความรัก, โดยดวงตาที่เห็นแก่รัศมีภาพของพระผู้เป็นเจ้าอย่างเดียว” (คพ. 4:5)
พรของพระผู้เป็นเจ้าที่มาถึงผู้ดำรงฐานะปุโรหิตที่ซื่อสัตย์รวมถึงการชำระให้บริสุทธิ์โดย “พระวิญญาณ … จนถึงการทำให้ร่างกายของพวกเขาใหม่อีกครั้ง” (คพ. 84:33) พวกเขากลายเป็นผู้สืบทอดพรของโมเสสและอับราฮัม (ดู คพ. 84:34) ศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกยุคสุดท้ายเป็นแบบอย่างที่ดีของผู้ขยายฐานะปุโรหิตของพวกท่าน ชีวิตพวกท่านเป็นประจักษ์พยานว่าพระเจ้าทรงให้เกียรติพวกท่าน
ศาสนพิธีและพันธสัญญาพระวิหาร
บุรุษผู้ดำรงฐานะปุโรหิตที่สูงกว่าอย่างมีค่าควรและสตรีผู้มีค่าควรสามารถรับศาสนพิธีศักดิ์สิทธิ์และทำพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์ในพระวิหาร เราเรียนรู้ผ่านศาสนพิธีและพันธสัญญาพระวิหารเพื่อเข้าใจจุดประสงค์ของชีวิตนี้และพร้อมรับชีวิตนิรันดร์ เราได้รับศาสนพิธีและเข้าสู่พันธสัญญาของการแต่งงานนิรันดร์และการผนึกกับครอบครัวของเรา เรารับปากว่าจะอุทิศถวายชีวิตเราเพื่อพระผู้เป็นเจ้าและเพื่องานแห่งความรอดสำหรับบุตรธิดาทั้งหมดของพระองค์ การรักษาพันธสัญญาเหล่านี้อย่างซื่อสัตย์ทำให้เรามีสิทธิ์ได้รับการนำทางและพลังทางวิญญาณเพื่อเอาชนะการทดลองของความเป็นมรรตัยและได้รับความสูงส่ง พรประเสริฐสุดที่พระผู้เป็นเจ้าสามารถประทานแก่บุตรธิดาของพระองค์ได้ (ดู คพ. 14:7) ความสูงส่ง หรือชีวิตนิรันดร์ คือการที่ครอบครัวมีคุณภาพชีวิตอย่างที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงมี
ศีลระลึก
สำหรับสมาชิกของศาสนจักร การรับศีลระลึกอย่างมีค่าควรทุกวันสะบาโตเป็นเรื่องจำเป็น โดยศาสนพิธีนี้ เรายืนยันว่าเรายังคงเต็มใจรับพระนามของพระเยซูคริสต์ไว้กับเรา และให้คำมั่นอีกครั้งว่าจะรักษาพันธสัญญาทั้งหมดที่เราทำไว้ เราทูลขอพลังแห่งการชดใช้ของพระเยซูคริสต์เพื่อช่วยให้เราอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่ในความชอบธรรม ขณะทำเช่นนั้นเราทำให้ตนเองมีคุณสมบัติคู่ควรรับพรทั้งหมดของพันธสัญญาทั้งหมดที่เราทำไว้
ความปรารถนาอันชอบธรรม
การฝ่าฝืนพันธสัญญาทำให้พระผู้เป็นเจ้าขุ่นเคืองพระทัยและทำให้พรที่สัญญาไว้ไม่มีผล (ดู คพ. 82:10)
ใน 1 ซามูเอล 2:12–17, 22–34 เราเรียนรู้เกี่ยวกับความชั่วร้ายที่พวกบุตรของปุโรหิตเอลีทำ พวกเขาถือโอกาสใช้ตำแหน่งของบิดาฝ่าฝืนพันธสัญญาของฐานะปุโรหิต พวกเขาหมายมั่นทำให้ตนสมหวังตามความปรารถนาอันเป็นตัณหาราคะขณะพวกเขาหมกมุ่นอยู่กับการประพฤติผิดศีลธรรมกับพวกผู้หญิงที่มานมัสการ และเมื่อพวกเขานำเอาเนื้อจากเครื่องบูชาของคนอิสราเอลมาเป็นของตนเอง พระเจ้าทรงประกาศการพิพากษาที่รุนแรงกับพวกบุตรของเอลีและกับเอลีที่ไม่ห้ามปรามบุตรของตน
ความปรารถนาทางเนื้อหนังเช่นนั้นเอาชนะได้โดยตั้งใจรักษาพันธสัญญาของเรากับพระผู้เป็นเจ้า ตามที่โยเซฟแห่งอียิปต์แสดงให้เห็นเมื่อประจันหน้ากับผู้ไม่เชื่อที่เต็มไปด้วยตัณหาราคะ (ดู ปฐมกาล 39:9, 12) พระผู้เป็นเจ้าทรงให้เกียรติโยเซฟและช่วยให้เขาเอาชนะแผนชั่วทั้งหมดที่ต่อต้านเขา เขากลายเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดอันดับสองในอียิปต์และเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อพิทักษ์ครอบครัวของอิสราเอล (ดู ปฐมกาล 45:7–8)
ถ้าเราพ่ายแพ้ต่อการล่อลวง ความปรารถนาจะฟื้นฟูความสัมพันธ์กับพระบิดาบนสวรรค์จะนำเราให้กลับใจอย่างจริงใจ จากนั้นการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดพระเยซูคริสต์จะช่วยให้เรามีค่าควรอีกครั้ง
การทำตามศาสดาพยากรณ์
เมื่อพระคริสต์ทรงสถาปนาศาสนจักร พระองค์ทรงเลือกอัครสาวก ศาสดาพยากรณ์ ผู้ประกาศข่าวประเสริฐ ศิษยาภิบาล และผู้สอนเพื่อ “เสริมสร้างพระกายของพระคริสต์
“จนกว่าเราทุกคนจะบรรลุถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในความเชื่อและในความรู้ถึงพระบุตรของพระเจ้า บรรลุถึงความเป็นผู้ใหญ่ คือโตเต็มถึงขนาดความบริบูรณ์ของพระคริสต์” (เอเฟซัส 4:12–13)
ศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกที่มีชีวิตอยู่สอนเราว่า “ความสุขในชีวิตครอบครัวส่วนมากจะสำเร็จได้เมื่อมีพื้นฐานบนคำสอนของพระเจ้าพระเยซูคริสต์ การแต่งงานและครอบครัวที่ประสบความสำเร็จได้รับการสถาปนาและธำรงไว้ด้วยหลักธรรมแห่งศรัทธา การสวดอ้อนวอน การกลับใจ การให้อภัย ความเคารพ ความรัก ความเห็นอกเห็นใจ การทำงาน และกิจกรรมนันทนาการที่ดีงาม” (“ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก,” เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 169)
บ้านของเราและครอบครัวเราให้รากฐานสำหรับการสร้างความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับพระผู้เป็นเจ้าบนพื้นฐานของพันธสัญญา การทำตามคำสอนที่ได้รับการดลใจของศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตอยู่จะช่วยให้เรามีครอบครัวที่เข้มแข็ง ให้เรามีพลังรักษาพันธสัญญาของเรา และจะให้พรประเสริฐสุดตามศรัทธาของเรา