วิทยาศาสตร์ กับการแสวงหา ความจริง
ผู้เขียนอาศัยอยู่ในรัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกา
ไม่จำเป็นต้องวิตกถ้าดูเหมือนจะมีความขัดแย้งระหว่างความเข้าใจพระกิตติคุณของท่านกับสิ่งที่ท่านเรียนรู้ผ่านวิทยาศาสตร์
ท่านพอจะนึกภาพออกไหมว่ากำลังไปพบแพทย์ผิวหนังเพราะท่านมีสิวเยอะมากและแพทย์บอกว่าวิธีรักษาคือจะต้องถ่ายเลือดของท่านออกบ้าง นั่นอาจฟังดูไม่สมเหตุสมผลสำหรับท่าน แต่ไม่น่าเชื่อว่าเมื่อสองร้อยปีก่อนไม่เป็นเช่นนั้น สมัยนั้น การถ่ายเลือดจำนวนมากถือเป็นการรักษามาตรฐานสำหรับอาการส่วนใหญ่ รวมทั้งอาการท้องอืดแน่นท้อง วิกลจริต และแม้กระทั่งสิว ไม่มีใครตั้งคำถามเรื่องนี้ ว่าเหตุใดพวกเขาจึงควรรักษาวิธีนั้น หลายวัฒนธรรมใช้วิธีถ่ายเลือดมาเป็นพันๆ ปี
จนกระทั่งแพทย์เริ่มคิดเรื่องการใช้ยาจากมุมมองทางวิทยาศาสตร์ที่ใครๆ ก็ตั้งคำถามด้านเวชปฏิบัติ ในที่สุดเมื่อสำรวจเรื่องการถ่ายเลือดละเอียดขึ้น แพทย์จึงหยุดใช้วิธีดังกล่าวยกเว้นบางอาการเท่านั้น1
จากตัวอย่างข้างต้น เราเห็นว่าเพียงเพราะยอมรับความเชื่อหนึ่งอย่างกว้างขวางหรือใช้มานานก็มิได้หมายความว่าจะถูกต้องเสมอไป เราเห็นว่าวิทยาศาสตร์สามารถเป็นเครื่องมืออันดียิ่งในการเผยความจริงแท้แน่นอน
นั่นเป็นเรื่องใหญ่สำหรับวิสุทธิชนยุคสุดท้าย การรู้ความจริงไม่เพียงให้พื้นฐานการตัดสินใจที่ดีขึ้นเท่านั้น (“ไม่ ฉันจะไม่ให้ถ่ายเลือดวันนี้ ขอบคุณ!”) แต่เพิ่มความเข้าใจพระกิตติคุณให้เราด้วย ดังที่ประธานบริคัม ยังก์ (1801–1877) สอนว่า “ไม่มีความจริงที่ไม่ได้เป็นของพระกิตติคุณ … หากท่านสามารถพบความจริงในสวรรค์ [หรือ] แผ่นดินโลก … นั่นเป็นหลักคำสอนของเรา”2
เหตุใด กับ อย่างไร
แน่นอนว่าเมื่อเราพูดเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์เอื้อประโยชน์อย่างไรต่อความจริงที่เรารู้ เราต้องเข้าใจให้แน่ชัดก่อนว่าวิทยาศาสตร์สามารถเผยความจริงแบบใด—และไม่สามารถเผยความจริงแบบใด วิธีหนึ่งที่จะทราบคือถามว่าวิทยาศาสตร์สามารถและไม่สามารถตอบคำถามแบบใด
ซิสเตอร์เอลเล็น แมนกรัมศึกษาวิศวกรรมเคมีที่สถาบันโพลิเทคนิคเรนส์ซีเลอร์ในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เธออธิบายทำนองนี้ “วิทยาศาสตร์อธิบายอย่างไร แต่ไม่ได้อธิบายเหตุใด” เธอเพิ่มเติมว่าศาสนาคือสิ่งที่อธิบายเหตุใด เช่น เหตุใดจึงสร้างแผ่นดินโลก และเหตุใดเราจึงอยู่ที่นี่
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์นักฟิสิกส์ที่มีชื่อเสียงเชื่อเช่นกันว่าศาสนาและวิทยาศาสตร์มีจุดประสงค์ต่างกันแต่เสริมกัน
“วิทยาศาสตร์สืบสวนได้เพียงว่าเป็นอะไร แต่ไม่ใช่ควรเป็นอะไร” เขาเขียน “นอกเหนือขอบเขต [ของวิทยาศาสตร์] แล้ว การคาดคะเนที่มีคุณค่าทุกรูปแบบยังจำเป็น”3
นั่นหมายความอย่างไรต่อวิทธิชนยุคสุดท้าย หนึ่ง เรารู้ว่าความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์จะเปลี่ยนแปลงเสมอ อย่างไรก็ตาม วิทยาศาสตร์กำลังพยายามหาวิธีเข้าใจ “อย่างไร” ของโลกรอบตัวเรามากขึ้น เมื่อรู้เช่นนี้ เราจึงไม่จำเป็นต้องมองหางานวิจัยล่าสุดเพื่อเข้าใจ “เหตุใด” หรือ “ควร” ของชีวิต เราสามารถพึ่งพาพระกิตติคุณที่ไม่เปลี่ยนแปลงของพระเยซูคริสต์เพื่อช่วยเราตัดสินใจระหว่างถูกกับผิด
ทุกอย่างสอดคล้องกัน
ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน ประธานโควรัมอัครสาวกสิบสองและศัลยแพทย์หัวใจที่มีชื่อเสียง พูดเกี่ยวกับว่าศาสนาและวิทยาศาสตร์รวมเป็นหนึ่งเดียวอย่างไร
“ไม่มีความขัดแย้งระหว่างวิทยาศาสตร์กับศาสนา” ท่านกล่าว “ความขัดแย้งเกิดจากความรู้ที่ไม่สมบูรณ์ในเรื่องวิทยาศาสตร์หรือศาสนาเท่านั้น หรือทั้งสองอย่าง … ไม่ว่าความจริงจะมาจากห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์หรือโดยการเปิดเผยจากพระเจ้า ความจริงนั้นเข้ากันได้”4
ฉะนั้น ถ้าท่านเคยมีคำถามว่าอายุของแผ่นดินโลกหรือไดโนเสาร์หรือวิวัฒนาการหรือเรื่องใดๆ ที่ท่านเรียนรู้ในชั้นเรียนวิทยาศาสตร์สอดคล้องกับพระกิตติคุณอย่างไร นั่นดีมาก! ทั้งหมดสอดคล้องกัน แต่ยังมีคำถามมากมายเพราะยังมีอีกมากที่เรากำลังเรียนรู้ บราเดอร์ไบรอัน ดาวน์ นักวิทยาศาสตร์ด้านเภสัชกรรมในควิเบก แคนาดา กล่าวว่าเขาตั้งตารอเวลาที่ทุกอย่างจะเปิดเผยต่อเรา (ดู คพ. 101:32–34)
ระหว่างนี้ “เราถูกจำกัดความสามารถในการเข้าใจความลี้ลับทั้งหมดของโลกรอบตัวเราผ่านความพยายามทางวิทยาศาสตร์” เขากล่าว “เราถูกจำกัดเช่นกันในความรู้เรื่องความลี้ลับของพระผู้เป็นเจ้าและแบบแผนอันยิ่งใหญ่ของพระองค์สำหรับบุตรธิดาของพระองค์”
ไม่จำเป็นต้องวิตกถ้าดูเหมือนจะมีความขัดแย้งระหว่างความเข้าใจพระกิตติคุณของท่านกับสิ่งที่ท่านเรียนรู้ผ่านวิทยาศาสตร์ ในความเป็นจริง ไม่มีสิ่งใดที่วิทยาศาสตร์เปิดเผยจะหักล้างศรัทธาของท่านได้
ฉะนั้นถ้าท่านชอบวิทยาศาสตร์ จงเรียนรู้ทั้งหมดที่ท่านเรียนได้ในด้านที่ท่านสนใจ ศรัทธาของท่านจะทำให้ท่านได้เปรียบ บราเดอร์ริชาร์ด การ์ดเนอร์ผู้ช่วยศาสตราจารย์สาขาชีววิทยาที่มหาวิทยาลัยเซาเธิร์น เวอร์จิเนียกล่าวว่าศรัทธาของเขาในพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ช่วยเขาได้มาก
“หลายครั้งที่งานวิจัยมีอุปสรรค และดูเหมือนไม่มีผลใดๆ—งานวิจัยส่วนมากเป็นแบบนั้น—การมองเห็นพรของพระกิตติคุณช่วยให้ผมผ่านมาได้” เขากล่าว
บราเดอร์ดาวน์รู้สึกเช่นกันว่าศรัทธาของเขาช่วยเรื่องการทำงานวิทยาศาสตร์ของเขา
“ผมมักจะทำงานด้วยศรัทธาว่ามีตรรกและระเบียบในทุกสิ่ง ถ้าเราตามหาคำตอบนานพอและหนักพอ ในที่สุดพระบิดาบนสวรรค์จะทรงเปิดความคิดเราให้รับคำตอบ” เขากล่าว
ชื่นชมยินดีในการค้นพบทางวิทยาศาสตร์
ศรัทธาของเราในพระคริสต์และพระกิตติคุณของพระองค์สามารถช่วยให้เราอ่อนน้อมถ่อมตนและเปิดรับความจริงที่เรากำลังแสวงหาได้เช่นกัน ไม่ว่าทางวิทยาศาสตร์หรือทางวิญญาณ
“มีมากมายในวิทยาศาสตร์ที่เราไม่รู้ และมากมายเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าที่พระองค์ยังไม่ทรงเปิดเผย” ศาสตราจารย์การ์ดเนอร์กล่าว “ฉะนั้น สำคัญที่ต้องเปิดความคิดเรารับข้อมูลที่เข้ามามากขึ้น และไม่กังวลในระหว่างนั้น”
ตัวอย่างเช่น บางคนเชื่อในพระผู้เป็นเจ้าเพียงเพราะพวกเขาไม่เห็นคำอธิบายอื่นสำหรับการสังเกตโลกของพวกเขา นี่เรียกว่าการเชื่อใน “พระผู้เป็นเจ้าแห่งช่องว่าง” และนั่นทำให้ผู้คนรู้สึกกลัวการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ ศาสตราจารย์การ์ดเนอร์ยกตัวอย่างว่า
“บางคนเชื่อในพระผู้เป็นเจ้าเพราะมีช่องว่างในบันทึกเรื่องฟอสซิล (สำหรับพวกเขาหมายความว่าวิวัฒนาการไม่สามารถอธิบายได้ว่าเราอยู่ที่นี่ได้อย่างไร) แต่เกิดอะไรขึ้นกับศรัทธาของเราเมื่อการค้นพบฟอสซิลใหม่ๆ ปิดช่องว่างเหล่านี้ แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เราจำเป็นต้องได้หลักฐานแน่ชัดเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้า ผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์ และเมื่อนั้นเราจึงสามารถชื่นชมยินดีในการค้นพบทางวิทยาศาสร์แทนที่จะวิตกกังวล”
เมื่อเราใช้วิธีนี้ เราจดจำว่าทั้งวิทยาศาสตร์และศาสนาสามารถช่วยเราระหว่างการค้นหาความจริง และสุดท้ายแล้ว ความจริงนั้นทั้งหมดล้วนมาจากแหล่งเดียวกัน นั่นคือพระผู้เป็นเจ้า
“พระผู้เป็นเจ้าจะทรงเปิดเผยสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่พระองค์ทรงประสงค์ รวมทั้งข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมด” ศาสตราจารย์การ์ดเนอร์กล่าว “และแน่นอนว่าพระองค์ทรงดลใจนักวิทยาศาสตร์ นักประดิษฐ์ และวิศวกร—แต่พระองค์ไม่ประทานคำตอบทั้งหมดให้พวกเขา พระองค์ทรงต้องการให้พวกเขา และเราใช้สมองของเรา ด้วยเหตุนี้จึงทรงให้เราทดสอบด้านวิทยาศาสตร์ และการเปิดเผยของพระองค์ต่อศาสนจักรจึงเกี่ยวข้องกับวิธีจัดระเบียบศาสนจักร โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีที่เราจะมาหาพระคริสต์และรอด
“การเปิดเผยของพระองค์ต่อเราอาจเป็นเรื่องใดก็ได้ แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อให้เรารู้ว่าพระองค์ทรงพระชนม์และทรงรักเรา พระคริสต์ทรงทำให้แผนแห่งความรอดเกิดผล เรามีศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิต เราสามารถทำตามแผนของพระผู้เป็นเจ้าได้ และนั่นคุ้มค่าที่จะทำ”