เราวางใจพระองค์หรือไม่ ยากแหละดี
ไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม ยากเป็นผลดีกับคนที่จะก้าวหน้าด้วยศรัทธาและวางใจพระเจ้าและแผนของพระองค์
ก่อนข้าพเจ้าจะเริ่ม ในฐานะเป็นตัวแทนทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากการทำลายล้างของพายุเฮอร์ริเคนและแผ่นดินไหวล่าสุดนี้ ข้าพเจ้าขอแสดงความขอบคุณอย่างสุดซึ้งสำหรับอาสาสมัครร่วมแรงร่วมใจและผู้ดำเนินการทุกคนที่ให้ความช่วยเหลือและความหวังแก่เรา
ในเดือนตุลาคม ปี 2006 ข้าพเจ้าพูดที่การประชุมใหญ่สามัญเป็นครั้งแรก ข้าพเจ้ารู้สึกว่าเป็นข่าวสารสำคัญสำหรับศาสนจักรทั่วโลกที่จะมีการยืนยันว่า “พระเจ้าทรงวางใจเรา!”
พระองค์ทรงวางใจเราในหลายๆ ด้าน พระองค์ประทานพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ และความสมบูรณ์ของพระกิตติคุณในสมัยการประทานนี้ พระองค์ทรงมอบสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตให้เรา พร้อมกุญแจเพื่อใช้ฐานะปุโรหิตอย่างถูกต้อง ด้วยอำนาจนั้น เราสามารถเป็นพร รับใช้ รับศาสนพิธี และทำพันธสัญญา พระองค์ทรงมอบศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟู รวมทั้งพระวิหารศักดิ์สิทธิ์ให้เรา พระองค์ทรงมอบอำนาจการผนึกให้ผู้รับใช้ของพระองค์—เพื่อผูกมัดบนแผ่นดินโลกและให้ผูกมัดในสวรรค์! พระองค์ทรงวางใจเราให้เป็นบิดามารดาทางโลก ครู และผู้ดูแลบุตรธิดาของพระองค์
หลังจากรับใช้เป็นเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่หลายปีในหลายภูมิภาคของโลก ข้าพเจ้าประกาศด้วยความมั่นใจมากขึ้นว่า พระองค์ทรงวางใจเรา
คำถามสำหรับการประชุมใหญ่ครั้งนี้คือ “เราวางใจพระองค์หรือไม่”
เราวางใจพระองค์หรือไม่
ประธานโธมัส เอส. มอนสันเตือนเราบ่อยครั้งให้ “วางใจในพระยาห์เวห์ด้วยสุดใจของเจ้า และอย่าพึ่งพาความรอบรู้ของตนเอง
“จงยอมรับรู้พระองค์ในทุกทางของเจ้า และพระองค์จะทรงกระทำให้วิถีของเจ้าราบรื่น
“อย่าคิดว่าตนมีปัญญา” (สุภาษิต 3:5–7).
เราวางใจหรือไม่ว่าพระบัญญัติของพระองค์มีไว้เพื่อความดีของเรา ผู้นำของพระองค์แม้ไม่ดีพร้อมจะนำเราได้ดีหรือไม่ สัญญาของพระองค์แน่นอนไหม เราวางใจหรือไม่ว่าพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ทรงรู้จักเราและทรงต้องการช่วยเรา แม้ท่ามกลางการทดลอง ความท้าทาย และในยามลำบาก เรายังคงวางใจพระองค์หรือไม่
เมื่อนึกย้อนกลับไปข้าพเจ้าเรียนรู้บทเรียนที่ดีที่สุดในช่วงลำบากที่สุด—ไม่ว่าจะเป็นเยาวชน เป็นผู้สอนศาสนา เริ่มอาชีพใหม่ พยายามขยายการเรียก เลี้ยงดูครอบครัวใหญ่ หรือพยายามพึ่งพาตนเอง ดูเหมือนชัดเจนว่ายากแหละดี!
ยากแหละดี
ยากทำให้เราแกร่งขึ้น ทำให้เราอ่อนน้อมถ่อมตน และเปิดโอกาสให้เราพิสูจน์ตนเอง ผู้บุกเบิกรถลากที่เรารักได้รู้จักพระผู้เป็นเจ้า ในสภาพที่พวกเขากำลังอับจน เหตุใดจึงใช้สองบทพูดถึงนีไฟกับพี่ๆ ที่ไปเอาแผ่นจารึกทองเหลืองและใช้เพียงสามข้อที่ขอให้ครอบครัวของอิชมาเอลมาสมทบกับพวกเขาในแดนทุรกันดาร (ดู 1 นีไฟ 3–4; 7:3–5). ดูเหมือนพระเจ้าทรงต้องการทำให้นีไฟเข้มแข็งขึ้นผ่านความพยายามที่จะเอาแผ่นจารึกมาให้ได้
เรื่องยากๆ ในชีวิตเราไม่ควรทำให้เราประหลาดใจ หนึ่งในพันธสัญญาแรกสุดที่เราทำกับพระเจ้าคือดำเนินชีวิตตามกฎแห่งการเสียสละ การเสียสละ โดยนิยามเกี่ยวข้องกับการสละสิ่งที่เราปรารถนา ด้วยประสบการณ์เราทราบว่าเราสละน้อยมากเมื่อเทียบกับพรที่ตามมา ภายใต้การกำกับดูแลของโจเซฟ สมิธ มีการกล่าวไว้ว่า “ศาสนาที่ไม่เรียกร้องการเสียสละอะไรเลยไม่มีพลังอำนาจมากพอจะก่อให้เกิดศรัทธาอันจำเป็นต่อชีวิตและความรอด”1
สมาชิกของพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์ทรงคุ้นเคยกับเรื่องยาก พระผู้เป็นเจ้าพระบิดาทรงเสียสละพระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดจากพระองค์ให้แก่ความทุกข์แสนสาหัสของการชดใช้ รวมถึงการสิ้นพระชนม์โดยการตรึงกางเขน พระคัมภีร์กล่าวว่าพระเยซูคริสต์เรียนรู้ที่จะ “เชื่อฟังโดยการทนทุกข์ต่างๆ” (ฮีบรู 5:8) พระองค์ทรงอาสาทนรับความปวดร้าวของการชดใช้ พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงต้องอดทนนานเพื่อกระตุ้น เตือน และนำทางเราแต่บางครั้งเรากลับเฉยเมย ตีความผิด หรือหลงลืม
ส่วนหนึ่งของแผน
ยากเป็นส่วนหนึ่งของแผนพระกิตติคุณ จุดประสงค์ประการหนึ่งของชีวิตนี้คือให้เรารับการพิสูจน์ (ดู อับราฮัม 3:25) น้อยคนทนทุกข์อย่างไม่สมควรมากกว่าผู้คนของแอลมา พวกเขาหนีไปจากกษัตริย์โนอาห์ที่ชั่วร้าย เพียงเพื่อกลายเป็นทาสของชาวเลมัน! ตลอดการทดลองเหล่านั้นพระเจ้าสอนพวกเขาว่าพระองค์ทรงตีสอนผู้คนของพระองค์ ทรงทดลอง “ความอดทนและศรัทธาของพวกเขา” (ดู โมไซยาห์ 23:21)
ในช่วงหลายวันที่เลวร้ายในคุกลิเบอร์ตี้ พระเจ้าทรงสอนให้โจเซฟ สมิธ “อดทนมันด้วยดี” (คพ. 121:8) และทรงสัญญาว่าถ้าท่านอดทน “สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้จะเป็นประสบการณ์แก่เจ้า, และจะเกิดขึ้นเพื่อความดีของเจ้า” (คพ. 122:7)
ประธานโธมัส เอส. มอนสันเคยวิงวอน “ขอให้เราเลือกสิ่งถูกต้องที่ยากกว่า แทนการเลือกสิ่งผิดที่ง่ายกว่า”2 เกี่ยวกับพระวิหารของเรา ท่านกล่าวว่า “เพื่อให้ได้รับพร [พระวิหาร] ไม่มีการเสียสละใดมากเกินไป ไม่มีราคาใดสูงเกินไป และไม่มีการต่อสู้ใดยากเกินไป”3
ในโลกของธรรมชาติ ยากเป็นส่วนหนึ่งของวัฏจักรชีวิต ยากที่ลูกไก่จะฟักออกจากเปลือกไข่แข็งๆ นั้น แต่เมื่อมีคนพยายามทำให้ง่ายขึ้น ลูกไก่จึงไม่มีความแข็งแกร่งที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต ในทำนองเดียวกัน การที่ผีเสื้อดิ้นรนออกจากดักแด้ทำให้มันแข็งแกร่งพอจะใช้ชีวิตได้
โดยผ่านตัวอย่างเหล่านี้ เราเห็นว่ายากเกิดขึ้น เสมอ! เราทุกคนมีความท้าทาย สิ่งที่เปลี่ยน คือปฏิกิริยาของเราต่อความยาก
ณ จุดหนึ่ง บางคนในพระคัมภีร์ทนต่อ “การข่มเหงหนัก” และ “ความทุกข์ยิ่งนัก” (ฮีลามัน 3:34) พวกเขามีปฏิกิริยาอย่างไร “พวกเขาอดอาหารและสวดอ้อนวอนบ่อยครั้ง, และเข้มแข็งยิ่งขึ้นและยิ่งขึ้นในความนอบน้อมของตน, และมั่นคงยิ่งขึ้นและยิ่งขึ้นในศรัทธาแห่งพระคริสต์, จนถึงการทำให้จิตวิญญาณพวกเขาเปี่ยมด้วยปีติและการปลอบประโลม” (ฮีลามัน 3:35) อีกตัวอย่างหนึ่งเกิดขึ้นหลังจากสงครามยืดเยื้อหลายปี “เพราะระยะเวลาอันยาวนานยิ่งของสงครามระหว่างชาวนีไฟกับชาวเลมัน คนจำนวนมากจึงกลับแข็งกระด้าง, … และคนจำนวนมากจึงอ่อนลงเพราะความทุกข์ของพวกเขา, ถึงขนาดที่ได้นอบน้อมถ่อมตนลงต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า” (แอลมา 62:41)
เราแต่ละคนเลือกแสดงปฏิกิริยาต่อความยาก
จงระวังความง่าย
ก่อนการเรียกนี้ข้าพเจ้าเป็นที่ปรึกษาการเงินในเมืองฮูสตัน เทกซัส งานส่วนใหญ่อยู่กับมหาเศรษฐีที่เป็นเจ้าของธุรกิจ พวกเขาส่วนใหญ่สร้างธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจากไม่มีอะไรผ่านการทำงานหนักมาก เรื่องเศร้าที่สุดสำหรับข้าพเจ้าคือเมื่อได้ยินพวกเขาบางคนพูดว่าพวกเขาต้องการทำให้ชีวิตลูกๆ ของพวกเขาง่ายขึ้น พวกเขาไม่ต้องการให้ลูกๆ ลำบากเหมือนพวกเขา กล่าวอีกนัยหนึ่งคือพวกเขาทำให้ลูกๆ สูญเสียสิ่งที่ทำให้ตนประสบความสำเร็จ
ตรงกันข้าม เรารู้จักครอบครัวหนึ่งที่ทำต่างออกไป พ่อแม่ได้รับแรงบันดาลใจจากประสบการณ์ของ เจ. ซี. เพนนีที่คุณพ่อของเขาบอกเขาเมื่ออายุแปดขวบว่าเขาต้องรับผิดชอบเรื่องเงินเอง พวกเขามีแผนของตน เมื่อลูกของพวกเขาเรียนจบมัธยมปลาย พวกเขาต้องรับผิดชอบเรื่องเงินเอง—เพื่อเรียนต่อ (วิทยาลัย บัณฑิตวิทยาลัย) และเพื่อเป็นค่าเลี้ยงชีพ (พึ่งพาตนเองอย่างแท้จริง) (ดู คพ. 83:4) ดีที่ลูกๆ ตอบสนองอย่างฉลาด พวกเขาทุกคนเรียนจบวิทยาลัยและหลายคนจบบัณฑิตวิทยาลัย—ด้วยเงินของตนเอง ไม่ง่าย แต่พวกเขาทำได้ พวกเขาทำสิ่งนี้ด้วยความพยายามอย่างหนักและศรัทธา
ศรัทธาที่จะวางใจพระองค์
คำถามว่า “เราวางใจพระองค์หรือไม่” อาจถามได้ดีกว่านั้นคือ “เรามี ศรัทธา ที่จะวางใจพระองค์หรือไม่”
เรามี ศรัทธา ที่จะวางใจในสัญญาของพระองค์เกี่ยวกับส่วนสิบหรือไม่ว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ของเรา บวกความช่วยเหลือจากพระเจ้า ทำให้เรามีมากกว่า 100 เปอร์เซ็นต์ ตามลำพัง
เรามี ศรัทธา มากพอที่จะวางใจว่าพระองค์จะมาเยือนเราในความทุกข์ของเรา (ดู โมไซยาห์ 24:14) พระองค์จะทรงต่อสู้กับคนที่ต่อสู้กับเรา (ดู อิสยาห์ 49:25; 2 นีไฟ 6:17) และพระองค์จะทรงอุทิศความทุกข์ของเราให้เป็นพรของเราหรือไม่ (ดู 2 นีไฟ 2:2)
เราจะใช้ ศรัทธา ที่จำเป็นต่อการรักษาพระบัญญัติของพระองค์เพื่อพระองค์จะสามารถอวยพรเราทั้งทางโลกและทางวิญญาณหรือไม่ เราจะยังคงซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าจนกว่าชีวิตจะหาไม่เพื่อพระองค์จะสามารถรับเราเข้าสู่ที่ประทับของพระองค์หรือไม่ (ดู โมไซยาห์ 2:41)
พี่น้องทั้งหลาย เราสามารถมีศรัทธาที่จะวางใจพระองค์! พระองค์ทรงประสงค์ให้เราได้สิ่งดีที่สุด (ดู โมเสส 1:39). พระองค์จะทรงตอบคำสวดอ้อนวอนของเรา (ดู คพ. 112:10) พระองค์จะทรงรักษาสัญญาของพระองค์ (ดู คพ. 1:38) พระองค์ทรงมีเดชานุภาพในการรักษาสัญญาเหล่านั้น (ดู แอลมา 37:16) พระองค์ทรงทราบทุกสิ่งทุกอย่าง! และสำคัญที่สุดคือพระองค์ทรงทราบว่าอะไรดีที่สุด (ดู อิสยาห์ 55:8–9)
โลกที่อันตราย
โลกเราทุกวันนี้ยาก เรามีความชั่วร้ายและความเสื่อมทรามลุกลามในทุกประเทศ การก่อการร้ายเกิดขึ้นแม้ในที่ปลอดภัย เศรษฐกิจเสื่อมถอย การว่างงาน โรคภัยไข้เจ็บ ภัยธรรมชาติ สงครามกลางเมือง ผู้นำเผด็จการ และอื่นๆ เราควรทำอะไร เราจะหนีหรือสู้ อย่างไหนถูกต้อง เลือกอย่างไหนก็อันตรายได้ อันตรายเมื่อจอร์จ วอชิงตันและกองทัพของเขาต่อสู้ แต่อันตรายเช่นกันเมื่อบรรพชนผู้บุกเบิกของเราหนี อันตรายเมื่อเนลสัน แมนเดลาต่อสู้เพื่อเสรีภาพ กล่าวกันว่าความชั่วเป็นต่อ เพราะคนดีไม่ทำอะไร4
อย่ากลัว!
ในสิ่งที่เราทำ เราไม่ควรตัดสินใจหรือทำเพราะเรารู้สึกกลัว โดยแท้แล้ว “พระเจ้าไม่ได้ประทานใจที่ขลาดกลัวแก่เรา” (2 ทิโมธี 1:7) (ท่านเข้าใจเหตุผลที่คำว่า “อย่ากลัว” เน้นอยู่ทั่วพระคัมภีร์หรือไม่) พระเจ้าทรงสอนข้าพเจ้าว่าความท้อแท้และความกลัวเป็นเครื่องมือของปฏิปักษ์ การตอบรับจากพระเจ้าต่อช่วงเวลายากๆ คือออกไปด้วยศรัทธา
ยากคืออะไร
เราแต่ละคนอาจมีความเห็นต่างเกี่ยวกับสิ่งที่ยาก บางคนอาจถือว่ายากจะจ่ายส่วนสิบเมื่อเงินฝืดเคือง บางครั้งผู้นำพบว่ายากจะคาดหวังให้คนจนจ่ายส่วนสิบ อาจจะยากสำหรับบางคนที่ต้องออกไปด้วยศรัทธาเพื่อแต่งงานหรือมีครอบครัว มีคนที่พบว่ายากจะ “พอใจกับสิ่งซึ่งพระเจ้าทรงมอบให้ [พวกเขา]” (แอลมา 29:3) ยากจะพอใจกับการเรียกปัจจุบันของเรา (ดู แอลมา 29:6) การลงโทษทางวินัยของศาสนจักรอาจดูเหมือนยากมาก แต่สำหรับบางคนการลงโทษเป็นการเริ่มกระบวนการกลับใจที่แท้จริง
ไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม ยากเป็นผลดีกับคนที่จะก้าวหน้าด้วยศรัทธาและวางใจพระเจ้าและแผนของพระองค์
พยานของข้าพเจ้า
พี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าผู้นำที่นั่งอยู่ด้านหลังข้าพเจ้าได้รับเรียกจากพระผู้เป็นเจ้า ความปรารถนาของพวกท่านคือรับใช้พระเจ้าให้ดีและช่วยเราวางฐานพระกิตติคุณในใจเรา ข้าพเจ้ารักและสนับสนุนพวกท่าน
ข้าพเจ้ารักพระผู้ช่วยให้รอดของเรา พระเยซูคริสต์ ข้าพเจ้าประหลาดใจที่พระองค์ทรงรักพระบิดาและเรามากพอจะเป็นพระผู้ช่วยให้รอดและพระผู้ไถ่ของเรา โดยทำเช่นนั้นพระองค์ทรงทนทุกข์จนเป็นเหตุให้พระองค์ “สั่นเพราะความเจ็บปวด, และเลือดออกจากทุกขุมขน, และทนทุกข์ทั้งร่างกายและวิญญาณ.” (คพ. 19:18) แม้ต้องเผชิญกับความน่าพรั่นพรึงนี้และความจำเป็น แต่พระองค์ทรงยืนยันกับพระบิดาว่า “อย่าให้เป็นไปตามใจข้าพระองค์ แต่ให้เป็นไปตามพระทัยของพระองค์” (ลูกา 22:42) ข้าพเจ้าปลาบปลื้มในถ้อยคำของเทพที่ว่า “พระองค์ไม่ได้อยู่ที่นี่ เพราะทรงเป็นขึ้นมาแล้ว” (มัทธิว 28:6)
แบบอย่างของพระองค์ “เป็นทางนั้น เป็นความจริง และเป็นชีวิต” (ยอห์น 14:6) โดยทำตามแบบอย่างของพระองค์เท่านั้นเราจึงจะพบ “สันติสุขในโลกนี้, และชีวิตนิรันดร์ในโลกที่จะมาถึง” (คพ. 59:23) เมื่อข้าพเจ้าได้ทำตามแบบอย่างของพระองค์และประยุกต์ใช้คำสอนของพระองค์ ข้าพเจ้าเรียนรู้ว่า “พระสัญญาอันล้ำค่าและยิ่งใหญ่” (2 เปโตร 1:4) แต่ละอย่างของพระองค์นั้นจริงแท้แน่นอน
ความปรารถนาสูงสุดของข้าพเจ้าคือยืนอยู่กับมอรมอนในฐานะสานุศิษย์ที่แท้จริงของพระเยซูคริสต์ (ดู 3 นีไฟ 5:13) และได้ยินจากพระโอษฐ์ของพระองค์ในวันนั้นว่า “ดีแล้ว เจ้าเป็นบ่าวที่ดีและซื่อสัตย์” (มัทธิว 25:21) ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน