แผนและถ้อยแถลง
ถ้อยแถลงเรื่องครอบครัวเป็นการที่พระเจ้าทรงเน้นย้ำอีกครั้งถึงความจริงพระกิตติคุณที่เราต้องการเพื่อจะค้ำจุนเราตลอดความท้าทายในปัจจุบันที่เกิดกับครอบครัว
จากถ้อยแถลงเรื่องครอบครัวของเรา เห็นได้ชัดว่าสมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายได้รับพรด้วยหลักคำสอนที่ไม่เหมือนใครและวิธีที่แตกต่างในการมองโลก เรามีส่วนร่วมและแม้แต่เป็นเลิศในกิจกรรมของโลกหลายๆ ด้าน แต่ในบางเรื่องเราสละสิทธิ์เมื่อเราทำตามคำสอนของพระเยซูคริสต์และอัครสาวกของพระองค์ ทั้งในสมัยโบราณและปัจจุบัน
I.
ในอุปมาเรื่องหนึ่ง พระเยซูทรงบรรยายถึงคนเหล่านั้นที่ “ได้ฟังพระวจนะ” แต่กลับ “ไม่เกิดผล” เมื่อพระวจนะนั้นถูก “รัด” ด้วย “ความกังวลของโลก และการล่อลวงของทรัพย์สมบัติ” (มัทธิว 13:22). ต่อมา พระเยซูทรงตำหนิเปโตรที่ไม่ได้คิด “อย่างพระเจ้า แต่ … คิดอย่างมนุษย์” โดยประกาศว่า “เพราะเขาจะได้ประโยชน์อะไร ถ้าได้สิ่งของหมดทั้งโลกแต่ต้องเสียชีวิตของตน?” (มัทธิว 16:23, 26). ในคำสอนสุดท้ายของพระองค์ในพระชนม์ชีพมรรตัย พระองค์ตรัสกับอัครสาวกว่า “ถ้าพวกท่านเป็นของโลก โลกก็ย่อมจะรักคนที่เป็นของโลกเอง แต่เพราะท่านไม่ได้เป็นของโลก … โลกจึงเกลียดชังท่าน” (ยอห์น 15:19; ดู ยอห์น 17:14, 16 ด้วย).
เช่นเดียวกัน งานเขียนของอัครสาวกรุ่นแรกของพระเยซูมักจะใช้รูปลักษณ์ของ “โลก” เพื่อแสดงถึงสิ่งตรงกันข้ามกับคำสอนพระกิตติคุณ “อย่าลอกเลียนแบบอย่างคนในยุคนี้” (โรม 12:2), อัครสาวกเปาโลสอนว่า “เพราะว่าปัญญาของโลกนี้ เป็นความโง่ในสายพระเนตรของพระเจ้า” (1 โครินธ์ 3:19). ท่านเตือนว่า “จงระวังให้ดี อย่าให้ใครทำให้พวกท่านตกเป็นทาส … ตามตำนานของมนุษย์ ตามพวกภูตผีที่ครอบงำของจักรวาล ไม่ใช่ตามพระคริสต์” (โคโลสี 2:8). อัครสาวกยากอบสอนว่า “การเป็นมิตรกับโลกนั้นคือการเป็นศัตรูกับพระเจ้า … เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่ต้องการเป็นมิตรกับโลก ก็ตั้งตัวเป็นศัตรูกับพระเจ้า” (ยากอบ 4:4).
พระคัมภีร์มอรมอนใช้รูปลักษณ์สิ่งตรงกันข้ามของ “โลก” บ่อยครั้ง นีไฟพยากรณ์ถึงการทำลายล้างในท้ายที่สุดของ “คนเหล่านั้นที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่นิยมในสายตาของโลก, และคนเหล่านั้นที่แสวงหา … สิ่งต่างๆ ของโลก” (1 นีไฟ 22:23; ดู 2 นีไฟ 9:30 ด้วย). แอลมาประณามคนเหล่านั้นที่ “ผยอง … กับสิ่งไร้ประโยชน์ของโลก” (แอลมา 31:27). ความฝันของลีไฮแสดงให้เห็นว่าคนเหล่านั้นที่พยายามเดินตามราวเหล็ก พระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า จะพบกับสิ่งตรงกันข้ามของโลก ผู้อยู่ใน “อาคารใหญ่และกว้าง” ซึ่งลีไฮเห็นว่ากำลัง “ล้อเลียนและชี้” “นิ้วเยาะเย้ย” (1 นีไฟ 8:26–27, 33). ในการตีความนิมิตเกี่ยวกับความฝันนี้ นีไฟเรียนรู้ว่าการเยาะเย้ยและการตรงกันข้ามนี้มาจาก“ฝูงชนของแผ่นดินโลก, … โลกและปัญญาของโลก … ความหยิ่งจองหองของโลก” (1 นีไฟ 11:34–36).
คำเตือนจากพระคัมภีร์และพระบัญชาเหล่านี้ที่ไม่ให้เป็น “ของโลก” หรือพระบัญชาในปัจจุบันที่ให้ “ละทิ้งโลก” (คพ. 53:2). หมายความว่าอย่างไร ประธานโธมัส เอส. มอนสันสรุปคำสอนเหล่านี้ไว้ว่า “เราต้องตื่นตัวเสมอในโลกที่ออกห่างจากเรื่องทางวิญญาณ เราจำเป็นต้องปฏิเสธสิ่งใดก็ตามที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานของเรา โดยไม่ยอมทิ้งสิ่งซึ่งเราปรารถนามากที่สุด นั่นคือ ชีวิตนิรันดร์ในอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า”1
พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างโลกนี้ตามแผนของพระองค์เพื่อให้บุตรธิดาทางวิญญาณของพระองค์มีสถานที่รับประสบการณ์ของความเป็นมรรตัยในฐานะเป็นขั้นตอนสำคัญสู่รัศมีภาพที่พระองค์ทรงประสงค์ให้บุตรธิดาทุกคนของพระองค์ได้รับ ถึงแม้จะมีอาณาจักรและรัศมีภาพหลายระดับ แต่ความปรารถนาสูงสุดที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงมีให้บุตรธิดาของพระองค์คือสิ่งที่ประธานมอนสันเรียกว่า “ชีวิตนิรันดร์ในอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า” ซึ่งได้แก่ความสูงส่งในครอบครัว สิ่งนี้เป็นมากกว่าความรอด ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันเตือนเราว่า “ในแผนนิรันดร์ของพระผู้เป็นเจ้า ความรอดเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล [แต่] ความสูงส่งเป็นเรื่องของครอบครัว”2
พระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์และถ้อยแถลงที่ได้รับการดลใจเรื่องครอบครัว ซึ่งข้าพเจ้าจะสนทนาในภายหลัง เป็นคำสอนสำคัญยิ่งในการนำทางและเตรียมตัวในชีวิตมรรตัยเพื่อรับความสูงส่ง แม้ว่าเราต้องดำเนินชีวิตอยู่กับกฎหมายว่าด้วยการสมรสและขนบประเพณีอื่นๆ ของโลกที่กำลังเสื่อมทราม แต่คนเหล่านั้นที่พยายามแสวงหาความสูงส่งต้องทำการเลือกส่วนตัวในชีวิตครอบครัวตามทางของพระเจ้าเมื่อใดก็ตามที่สิ่งนั้นแตกต่างจากวิถีของโลก
ในชีวิตมรรตัยนี้ เราไม่มีความทรงจำถึงเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนเราเกิด และปัจจุบันนี้เรากำลังประสบกับการตรงกันข้าม เราเติบโตและมีวุฒิภาวะทางวิญญาณโดยการเลือกเชื่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าในการเลือกที่ถูกต้องอย่างต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้รวมถึงพันธสัญญา ศาสนพิธี และการกลับใจเมื่อเราเลือกผิด ในทางกลับกัน หากเราไม่มีศรัทธาในแผนของพระผู้เป็นเจ้าและไม่เชื่อฟังหรือจงใจละเว้นจากการกระทำที่กำหนดไว้ เราสละสิทธิ์การเติบโตและวุฒิภาวะดังกล่าว พระคัมภีร์มอรมอนสอนว่า “ชีวิตนี้เป็นเวลาสำหรับมนุษย์ที่จะเตรียมพบพระผู้เป็นเจ้า” (แอลมา 34:32).
II.
วิสุทธิชนยุคสุดท้ายผู้เข้าใจแผนแห่งความรอดของพระผู้เป็นเจ้ามีมุมมองของโลกที่ไม่เหมือนใครซึ่งช่วยให้พวกเขาเห็นเหตุผลสำหรับพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า ลักษณะที่ไม่เปลี่ยนแปลงของศาสนพิธีที่จำเป็นของพระองค์ และบทบาทสำคัญของพระผู้ช่วยให้รอด พระเยซูคริสต์ การชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดช่วยให้เราเอาชนะความตายและรอดจากบาปของเรา โดยขึ้นอยู่กับการกลับใจของเรา ด้วยมุมมองของโลกเช่นนั้น วิสุทธิชนยุคสุดท้ายมีลำดับความสำคัญและธรรมเนียมปฏิบัติที่เด่นชัด ทั้งยังได้รับพรด้วยพลังที่จะอดทนต่อความผิดหวังและความเจ็บปวดของชีวิตมรรตัย
การกระทำของคนที่พยายามทำตามแผนแห่งความรอดของพระผู้เป็นเจ้าอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดหรือแม้แต่ขัดแย้งกับสมาชิกครอบครัวหรือมิตรสหายที่ไม่เชื่อในหลักธรรมของแผนนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความขัดแย้งเช่นนั้นจะมีอยู่เสมอ คนทุกรุ่นที่พยายามทำตามแผนของพระผู้เป็นเจ้ามีความท้าทายสารพัด ในสมัยโบราณ ศาสดาพยากรณ์อิสยาห์ให้กำลังแก่ชาวอิสราเอล ผู้ที่ท่านเรียกว่า “พวกเจ้าผู้รู้จักความชอบธรรม … ที่มีธรรมบัญญัติของเราอยู่ในใจ” ท่านกล่าวกับพวกเขาว่า “อย่ากลัวการเยาะเย้ยของมนุษย์และอย่าวิตกต่อการถากถางของเขา” (อิสยาห์ 51:7; ดู 2 นีไฟ 8:7 ด้วย). แต่ไม่ว่าอะไรคือสาเหตุของความขัดแย้งกับคนที่ไม่เข้าใจหรือไม่เชื่อแผนของพระผู้เป็นเจ้า คนที่เข้าใจจะได้รับบัญชาให้เลือกทางของพระเจ้าแทนที่จะเลือกทางของโลกเสมอ
III.
แผนพระกิตติคุณที่แต่ละครอบครัวควรทำตามเพื่อเตรียมรับชีวิตนิรันดร์และความสูงส่งมีสรุปไว้ในถ้อยแถลงของศาสนจักรเมื่อปี 1995 ชื่อว่า “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก”3 สิ่งที่ถ้อยแถลงประกาศไว้นั้น แน่นอนว่าแตกต่างชัดเจนจากกฎหมาย ขนบธรรมเนียม และการสนับสนุนในปัจจุบันของโลกที่เราอาศัยอยู่ ในสมัยของเรา ความแตกต่างที่เห็นชัดที่สุดคือการอยู่กินโดยไม่แต่งงาน การแต่งงานเพศเดียวกันและการเลี้ยงดูบุตรในความสัมพันธ์เช่นนั้น คนที่ไม่เชื่อในความสูงส่งหรือไม่ปรารถนาจะรับความสูงส่งและถูกชักจูงด้วยวิถีของโลกมากที่สุด พิจารณาว่าถ้อยแถลงเรื่องครอบครัวฉบับนี้เป็นเพียงคำแถลงนโยบายที่ควรจะเปลี่ยนแปลง ในทางกลับกัน วิสุทธิชนยุคสุดท้ายยืนยันว่าถ้อยแถลงเรื่องครอบครัวนิยามรูปแบบความสัมพันธ์ของครอบครัวที่ส่วนสำคัญที่สุดของการพัฒนานิรันดร์ของเราจะเกิดขึ้นได้
เราได้เห็นสาธารณชนยอมรับการอยู่กินโดยไม่แต่งงานและการแต่งงานเพศเดียวกันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การสนับสนุนของสื่อที่คล้อยตามกัน การศึกษา และแม้แต่ข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับงานอาชีพสร้างความท้าทายที่ยากลำบากให้วิสุทธิชนยุคสุดท้าย เราต้องพยายามสร้างความสมดุลกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของการทำตามกฎพระกิตติคุณในชีวิตส่วนตัวของเราและคำสอนแม้ขณะที่เราพยามยามแสดงความรักต่อทุกคน4 ในการทำเช่นนั้น บางครั้งเราต้องเผชิญแต่ไม่จำเป็นต้องกลัวสิ่งที่อิสยาห์เรียกว่า “การเยาะเย้ยของมนุษย์”
วิสุทธิชนยุคสุดท้ายผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสเชื่อว่าถ้อยแถลงเรื่องครอบครัว ที่ออกมาเกือบยี่สิบห้าปีแล้วและปัจจุบันมีแปลในหลายภาษามากมายนั้น เป็นการที่พระเจ้าทรงเน้นย้ำอีกครั้งถึงความจริงพระกิตติคุณที่เราต้องการเพื่อจะค้ำจุนเราตลอดความท้าทายในปัจจุบันที่เกิดกับครอบครัว ตัวอย่างทั้งสองคือการแต่งงานเพศเดียวกันและการอยู่กินโดยไม่แต่งงาน เพียง 20 ปีหลังจากถ้อยแถลงเรื่องครอบครัว ศาลสูงสุดของสหรัฐอนุญาตให้มีการแต่งงานเพศเดียวกันได้ ล้มล้างการสมรสของหลายพันปีที่จำกัดแค่ชายหนึ่งและหญิงหนึ่ง จำนวนเปอร์เซ็นต์ของเด็กในสหรัฐที่เกิดจากมารดาซึ่งไม่ได้แต่งงานกับบิดาค่อยๆ เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ5 เปอร์เซ็นต์ในปี 19605 32 เปอร์เซ็นต์ในปี 19956 และเวลานี้มี 40 เปอร์เซ็นต์7
IV.
ถ้อยแถลงเรื่องครอบครัวเริ่มต้นโดยประกาศว่า “การแต่งงานระหว่างชายและหญิงได้รับแต่งตั้งจากพระผู้เป็นเจ้าและว่าครอบครัวเป็นศูนย์กลางต่อแผนของพระผู้สร้างเพื่อจุดหมายปลายทางนิรันดร์ของบุตรธิดาของพระองค์” ถ้อยแถลงยังยืนยันด้วยว่า “เพศเป็นบุคลิกภาพสำคัญยิ่งของแต่ละบุคคลก่อนชีวิตมรรตัย ขณะมีชีวิตมรรตัย และเป็นเครื่องบ่งบอกอัตลักษณ์และจุดประสงค์นิรันดร์” ถ้อยแถลงประกาศต่อไป “ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงบัญชาว่าอำนาจการสร้างอันศักดิ์สิทธิ์นั้นจะต้องใช้ระหว่างชายและหญิงผู้ซึ่งแต่งงานตามกฎหมายในฐานะสามีและภรรยาเท่านั้น”
ถ้อยแถลงยืนยันถึงหน้าที่ต่อเนื่องของสามีและภรรยาในการขยายเผ่าพันธุ์และเพิ่มพูนให้เต็มแผ่นดินโลกและ “ความรับผิดชอบสำคัญที่จะรักและดูแลกันรวมทั้งรักและดูแลบุตรธิดา” ของตน “เด็กมีสิทธิ์ถือกำเนิดภายในพันธะของการสมรสและได้รับการเลี้ยงดูจากบิดามารดาที่รักษาคำปฏิญาณของการแต่งงานด้วยความซื่อสัตย์อย่างแท้จริง” ถ้อยแถลงเตือนอย่างจริงจังถึงการกระทำทารุณกรรมต่อคู่ครองหรือบุตรหลานและยืนยันว่า “ความสุขในชีวิตครอบครัวส่วนมากจะสำเร็จได้เมื่อมีพื้นฐานบนคำสอนของพระเจ้าพระเยซูคริสต์” สุดท้าย ถ้อยแถลงเรียกร้องให้มีการส่งเสริมอย่างเป็นทางการถึง “มาตรการเหล่านั้นเพื่อธำรงและเสริมสร้างความมั่นคงให้ครอบครัวในฐานะหน่วยพื้นฐานของสังคม”
ในปี 1995 ประธานศาสนจักรและอัครสาวกอีก 14 ท่านของพระเจ้าออกถ้อยแถลงหลักคำสอนสำคัญเหล่านี้ ในฐานะอัครสาวกคนหนึ่งในเจ็ดคนเท่านั้นที่ยังมีชีวิตอยู่ ข้าพเจ้าจะเล่าว่าสิ่งใดนำไปสู่ถ้อยแถลงเรื่องครอบครัวฉบับนั้นสำหรับทุกคนที่อยากทราบข้อมูล
การดลใจที่บ่งบอกความจำเป็นสำหรับถ้อยแถลงเรื่องครอบครัวมาสู่ผู้นำศาสนจักรเมื่อประมาณ 23 ปีที่แล้ว เป็นที่น่าประหลาดใจแก่บางคนผู้คิดว่าความจริงของหลักคำสอนเกี่ยวกับการแต่งงานและครอบครัวเป็นที่เข้าใจดีแล้วโดยไม่ต้องมีการแถลงซ้ำอีก8 กระนั้นก็ตาม เรารู้สึกถึงการยืนยัน เราจึงลงมือดำเนินการ สมาชิกโควรัมอัครสาวกสิบสองระบุหัวข้อและสนทนาถึงหัวข้อต่างๆ เป็นเวลาเกือบหนึ่งปี มีการนำเสนอ ทบทวน และแก้ไขการใช้ภาษา สภาอัครสาวกสิบสองสวดอ้อนวอนวิงวอนขอการดลใจจากพระเจ้าว่าควรพูดอะไรและควรพูดอย่างไร เราทุกคนเรียนรู้ “เป็นบรรทัดมาเติมบรรทัด, กฎเกณฑ์มาเติมกฎเกณฑ์” ตามที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้ (คพ. 98:12).
ในระหว่างขั้นตอนของการเปิดเผยนี้ มีการนำเสนอต้นฉบับไปยังฝ่ายประธานสูงสุด ผู้ควบคุมดูแลและเผยแพร่คำสอนและหลักคำสอนศาสนจักร หลังจากฝ่ายประธานสูงสุดปรับเปลี่ยนบางอย่างเพิ่มเติมแล้ว ประธานศาสนจักร กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ ได้ประกาศถ้อยแถลงเรื่องครอบครัว ในการประชุมสตรีวันที่ 23 กันยายน ปี 1995 ท่านแนะนำถ้อยแถลงด้วยถ้อยคำเหล่านี้ “ด้วยการอ้างเหตุผลมากมายจนหลอกให้คนยอมรับว่าเป็นความจริง ด้วยการหลอกลวงมากมายเกี่ยวกับมาตรฐานและค่านิยม ด้วยสิ่งยั่วยวนและสิ่งล่อใจมากมายให้ยอมรับความสกปรกโสมมที่เกิดขึ้นช้าๆ ของโลก เราจึงรู้สึกว่าต้องเตือนและเตือนล่วงหน้า”9
ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าถ้อยแถลงเรื่องครอบครัวเป็นคำแถลงความจริงนิรันดร์ พระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับบุตรธิดาของพระองค์ผู้แสวงหาชีวิตนิรันดร์ ถ้อยแถลงนี้เป็นพื้นฐานของคำสอนและธรรมเนียมปฏิบัติของศาสนจักรใน 22 ปีที่ผ่านมาและจะเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกในอนาคต จงพิจารณาว่าเป็นเช่นนั้น จงสอนและดำเนินชีวิตตามนั้น และท่านจะได้รับพรขณะที่ท่านรุดหน้าสู่ชีวิตนิรันดร์
สี่สิบปีที่แล้ว ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสันสอนว่า “คนทุกรุ่นมีการทดสอบและโอกาสให้อดทนและพิสูจน์ตนเอง”10 ข้าพเจ้าเชื่อว่าเจตคติของเราที่มีต่อถ้อยแถลงเรื่องครอบครัวตลอดจนการใช้ถ้อยแถลงนั้นเป็นการทดสอบอย่างหนึ่งสำหรับคนรุ่นนี้ ข้าพเจ้าสวดอ้อนวอนเพื่อวิสุทธิชนยุคสุดท้ายทุกคนขอจงยืนหยัดอย่างมั่นคงในการทดสอบนั้น
ข้าพเจ้าทิ้งท้ายด้วยคำสอนของประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ซึ่งกล่าวไว้เมื่อสองปีหลังจากประกาศถ้อยแถลงเรื่องครอบครัว ท่านกล่าวว่า “ข้าพเจ้าเห็นอนาคตอันน่าพิศวงในโลกที่ไม่แน่นอน ถ้าเราจะแนบสนิทกับคุณค่าของเรา ถ้าเราจะสร้างบนมรดกของเรา ถ้าเราจะดำเนินชีวิตในการเชื่อฟังต่อพระพักตร์พระเจ้า ถ้าเราจะดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่ายตามพระกิตติคุณ เราจะได้รับพรอย่างงดงามและน่าพิศวง พวกเขาจะมองว่าเราเป็นคนไม่ธรรมดาผู้พบกุญแจสู่ความสุขที่ไม่ธรรมดา”11
ข้าพเจ้าเป็นพยานถึงความจริงและความสำคัญนิรันดร์ของถ้อยแถลงเรื่องครอบครัว ซึ่งพระเจ้า พระเยซูคริสต์ทรงเปิดเผยแก่อัครสาวกของพระองค์เพื่อความสูงส่งของบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้า (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 131:1–4) ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน