อยู่ฝ่ายพระเจ้า: บทเรียนจากค่ายไซอัน
จากคำปราศรัยให้ข้อคิดทางวิญญาณที่สัปดาห์การศึกษาเรื่อง “ใครอยู่ฝ่ายพระเจ้า ถึงเวลาต้องแสดงให้เห็น” ที่มหาวิทยาลัยบริคัม ยังก์–ไอดาโฮ วันที่ 30 กรกฎาคม ค.ศ. 2010
การเดินทางของค่ายไซอันที่นำโดยศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธในปี 1834 เป็นแบบอย่างที่โดดเด่นของการเลือกอยู่ฝ่ายพระเจ้า การทบทวนประวัติของค่ายไซอันจะช่วยให้เราได้เรียนบทเรียนล้ำค่าและไม่ตกยุคจากเหตุการณ์สำคัญครั้งนี้ในประวัติศาสนจักรที่ประยุกต์ใช้ได้กับชีวิตและสภาวการณ์ปัจจุบันของเรา
ค่ายไซอันคืออะไร
ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธได้รับการเปิดเผยในปี 1831 โดยทรงกำหนดอินดิเพนเดนซ์ เทศมณฑลแจ็คสัน มิสซูรีเป็นสถานที่ชุมนุมหลักสำหรับวิสุทธิชนยุคสุดท้ายและที่ตั้งเยรูซาเล็มใหม่ดังระบุไว้ทั้งในพระคัมภีร์ไบเบิลและพระคัมภีร์มอรมอน (ดู คพ. 57:1–3; ดู วิวรณ์ 21:1–2; อีเธอร์ 13:4–6) ราวฤดูร้อนปี 1833 ผู้ตั้งถิ่นฐานมอรมอนนับได้ประมาณหนึ่งในสามของประชากรในเทศมณฑลแจ็คสัน จำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อิทธิพลทางการเมืองที่อาจเกิดขึ้น และความเชื่อที่โดดเด่นด้านศาสนาและการเมืองของผู้มาใหม่เหล่านี้เป็นเหตุให้ผู้ตั้งถิ่นฐานคนอื่นๆ ในเขตนั้นกังวล พวกเขาจึงเรียกร้องให้สมาชิกศาสนจักรออกจากบ้านและที่ดินของตน เมื่อยื่นคำขาดและสมาชิกไม่ทำตาม ชาวมิสซูรีจึงรุกรานถิ่นฐานต่างๆ ในเดือนพฤศจิกายนปี 1833 และบังคับให้วิสุทธิชนออกไป
การตั้งค่ายไซอันได้รับบัญชาโดยการเปิดเผยในเดือนกุมภาพันธ์ปี 1834 (ดู คพ. 103) จุดประสงค์เบื้องต้นสำหรับกองทัพของพระเจ้าคือคุ้มครองชาวมอรมอนในเทศมณฑลแจ็คสันไม่ให้ถูกทำร้ายเพิ่ม—หลังจากทหารอาสาชาวมิสซูรีทำหน้าที่คุ้มกันผู้ตั้งถิ่นฐานให้กลับไปบ้านและที่ดินของพวกเขาอย่างปลอดภัย นอกจากนี้ค่ายยังต้องนำเงิน เสบียง และกำลังใจไปให้วิสุทธิชนที่เดือดร้อนด้วย ดังนั้น ในช่วงเดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายนปี 1834 กลุ่มอาสาสมัครวิสุทธิชนยุคสุดท้าย 200 กว่าคนนำโดยศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธจึงเดินทางประมาณ 900 ไมล์ (1,450 กิโลเมตร) จากเคิร์ทแลนด์ รัฐโอไฮโอไปเทศมณฑลเคลย์ รัฐมิสซูรี ไฮรัม สมิธกับไลมัน ไวท์เกณฑ์อาสาสมัครกลุ่มเล็กจากอาณาเขตมิชิแกนไปสมทบกับกลุ่มของท่านศาสดาพยากรณ์ในมิสซูรีด้วย ผู้เข้าร่วมค่ายไซอันมีทั้งบริคัม ยังก์, ฮีเบอร์ ซี. คิมบัลล์, วิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์, พาร์ลีย์ พี. แพรทท์, ออร์สัน ไฮด์ และอีกหลายคนผู้เป็นที่จดจำในประวัติศาสนจักร
จุดประสงค์ของข้าพเจ้าไม่ใช่เพื่ออธิบายรายละเอียดของการเดินทางที่เรียกร้องมากครั้งนี้หรือเล่าเหตุการณ์สำคัญทางวิญญาณทั้งหมดที่เกิดขึ้น ข้าพเจ้าขอสรุปเหตุการณ์สำคัญมากสามสี่เหตุการณ์เกี่ยวกับการเดินทางของค่ายไซอันดังนี้
-
ผู้ว่าการดาเนียล ดังคลินของรัฐมิสซูรีไม่ให้ความช่วยเหลือตามที่สัญญาไว้กับผู้ตั้งถิ่นฐานมอรมอนว่าจะคืนที่ดินให้พวกเขา
-
การเจรจาต่อรองเกิดขึ้นในหมู่ผู้นำศาสนจักร เจ้าหน้าที่รัฐมิสซูรี และชาวเทศมณฑลแจ็คสันเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งโดยใช้อาวุธและแก้ไขข้อพิพาทเรื่องทรัพย์สิน แต่ไม่บรรลุข้อตกลงที่น่าพอใจ
-
สุดท้าย พระเจ้ารับสั่งให้โจเซฟ สมิธยุบค่ายไซอันและบอกว่าเหตุใดกองทัพของพระเจ้าจึงไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่ค่ายรับรู้ (ดู คพ. 105:6–13, 19)
-
พระเจ้ารับสั่งให้วิสุทธิชนสร้างสัมพันธไมตรีในพื้นที่เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเวลาที่จะกอบกู้ไซอันด้วยวิธีการทางกฎหมายไม่ใช่วิธีการทางทหาร (ดู คพ. 105:23–26, 38–41)
กองทัพไซอันแบ่งออกเป็นกลุ่มเล็กๆ ตอนปลายเดือนมิถุนายน ปี 1834 และออกเอกสารปลดประจำการครั้งสุดท้ายในสองสามวันแรกของเดือนกรกฎาคม ปี 1834 อาสาสมัครส่วนใหญ่กลับไปโอไฮโอ
เราสามารถเรียนรู้บทเรียนอะไรบ้างจากค่ายไซอัน
เพราะไม่สามารถนำวิสุทธิชนกลับมาอยู่บนที่ดินของพวกเขาในเทศมณฑลแจ็คสันอีกครั้ง บางคนจึงถือว่าค่ายไซอันไม่ประสบผลสำเร็จและความพยายามครั้งนั้นไร้ผล พี่น้องชายคนหนึ่งในเคิร์ทแลนด์—คนที่ขาดศรัทธาจะอาสาไปกับค่าย—พบบริคัม ยังก์ขณะท่านกลับจากมิสซูรีและถามว่า “‘คุณได้อะไรจากการเดินทางไปมิสซูรีโดยไร้ประโยชน์ครั้งนี้กับโจเซฟ สมิธ’ ‘ได้ทั้งหมดแหละครับ’ บริคัม ยังก์ตอบทันควัน ‘ผมจะไม่แลกประสบการณ์ที่ได้จากการเดินทางครั้งนี้กับความมั่งคั่งทั้งหมดของเทศมณฑลกูกา’” เทศมณฑลที่ตั้งอยู่ในเคิร์ทแลนด์เวลานั้น1
ข้าพเจ้าเชื้อเชิญให้ท่านตรึกตรองคำตอบของบริคัม ยังก์อย่างจริงจัง “ได้ทั้งหมดแหละครับ” เราเรียนรู้เรื่องสำคัญอะไรบ้างจากภารกิจที่ไม่บรรลุจุดประสงค์ตามกำหนดแต่ก็ยังจัดเตรียมพรให้วิสุทธิชนยุคแรกเหล่านั้นชั่วชีวิตและสามารถให้เราได้เช่นกัน
ข้าพเจ้าเชื่อว่ามีบทเรียนครอบคลุมอย่างน้อยสองบทในคำตอบที่บราเดอร์บริคัมให้กับคำถามเชิงเสียดสีดังกล่าว คือ (1) บทเรียนเรื่องการทดสอบ การฝัดร่อน และการเตรียม และ (2) บทเรียนเรื่องการสังเกต การเรียนรู้จากผู้นำฐานะปุโรหิต และทำตามพวกท่าน ข้าพเจ้าเน้นว่าบทเรียนเหล่านี้สำคัญหรือไม่ก็สำคัญกว่ากับเราที่จะเรียนรู้และประยุกต์ใช้ในปัจจุบันเช่นเดียวกับพวกเขา ผู้ที่เป็นอาสาสมัครค่ายไซอัน เมื่อ 180 ปีก่อน
บทเรียนเรื่องการทดสอบ การฝัดร่อน และการเตรียม
วิสุทธิชนที่เด็ดเดี่ยวผู้เดินอยู่ในกองทัพของพระเจ้าต่างได้รับการทดสอบและการทดลอง ดังที่พระเจ้าตรัส “เราได้ยินคำสวดอ้อนวอนของพวกเขา, และจะรับเครื่องถวายของพวกเขา; และเราเห็นสมควรว่าพวกเขาจะถูกนำมาไกลถึงเพียงนี้ เพื่อการทดลองศรัทธาของพวกเขา” (คพ. 105:19)
ในข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ความท้าทายทางกายและทางวิญญาณของค่ายไซอันประกอบด้วยการฝัดร่อนข้าวสาลีออกจากข้าวละมาน (ดู มัทธิว 13:25, 29–30; คพ. 101:65) การแบ่งแยกแกะออกจากแพะ (ดู มัทธิว 25:32–33) การแยกคนเข้มแข็งทางวิญญาณจากคนอ่อนแอ เพราะเหตุนี้ชายหญิงแต่ละคนที่สมัครเข้าเป็นทหารในกองทัพของพระเจ้าจึงพบเจอและตอบคำถามน่าคิดที่ว่า “ใครอยู่ฝ่ายพระเจ้า”2
ขณะที่วิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์กำลังสะสางเรื่องธุรกิจและเตรียมไปสมทบกับค่ายไซอัน มิตรสหายและเพื่อนบ้านเตือนเขาว่าอย่าเข้าร่วมการเดินทางที่อันตรายเช่นนั้น พวกเขาแนะนำว่า “อย่าไป ถ้าคุณไม่อยากเสียชีวิต” เขาตอบว่า “ถ้าผมรู้ว่าผมจะถูกยิงทะลุหัวใจทันทีที่ก้าวเข้าไปในมิสซูรี ผมจะไป”3 วิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์รู้ว่าเขาไม่ต้องกลัวผลอันชั่วร้ายตราบใดที่เขาซื่อสัตย์และเชื่อฟัง เขาอยู่ฝ่ายพระเจ้าอย่างชัดเจน
แท้จริงแล้ว “เวลาที่ต้องแสดงให้เห็น”4 สำหรับชายหญิงที่ซื่อสัตย์เหล่านั้นคือฤดูร้อนปี 1834 แต่การตัดสินใจเดินทัพกับศาสดาพยากรณ์โจเซฟไปมิสซูรีไม่ใช่การตอบคำถามว่า “ใครอยู่ฝ่ายพระเจ้า” ครั้งเดียว รวบยอด หรือทันที เวลาที่วิสุทธิชนเหล่านั้นต้องแสดงให้เห็นเกิดขึ้นบ่อยครั้งและซ้ำหลายครั้งผ่านความอ่อนล้าทางกายและใจ ผ่านแผลพุพองเปื้อนเลือดที่เท้า ผ่านอาหารที่ขาดแคลนและน้ำไม่สะอาด ผ่านความผิดหวังมากมาย ผ่านความไม่ลงรอยกันและการกบฏในค่าย และผ่านการข่มขู่จากศัตรูที่ชั่วร้าย
เวลาที่ต้องแสดงให้เห็นมาในประสบการณ์และความขาดแคลนทุกชั่วโมง ทุกวัน และทุกสัปดาห์ การเลือกมากมายที่ดูเหมือนเล็กน้อยผนวกกับการปฏิบัติในชีวิตของวิสุทธิชนที่ภักดีเหล่านี้ได้ให้คำตอบเบ็ดเสร็จของคำถามที่ว่า “ใครอยู่ฝ่ายพระเจ้า”
การทดสอบและการฝัดร่อนที่เกิดขึ้นในชีวิตของผู้ร่วมค่ายไซอันเป็นการเตรียมอย่างไร น่าสนใจตรงที่พี่น้องชายแปดคนได้รับเรียกเข้าสู่โควรัมอัครสาวกสิบสองในปี 1835 และสาวกเจ็ดสิบทุกคนที่ได้รับเรียกในคราวเดียวกันล้วนเป็นผู้ที่ผ่านค่ายไซอัน ที่การประชุมหลังจากเรียกสาวกเจ็ดสิบ ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธประกาศว่า
“พี่น้องทั้งหลาย บางท่านโกรธข้าพเจ้าเพราะท่านไม่ได้ต่อสู้ในมิสซูรี แต่ข้าพเจ้าขอบอกท่านว่าพระผู้เป็นเจ้าไม่ทรงต้องการให้ท่านต่อสู้ พระองค์ไม่ทรงสามารถจัดตั้งอาณาจักรของพระองค์โดยให้ชายสิบสองคนไปเปิดประตูพระกิตติคุณให้กับประเทศต่างๆ ของแผ่นดินโลก และให้ชายเจ็ดสิบคนภายใต้การกำกับดูแลของพวกเขาเดินตามรอยพวกเขา นอกเสียจากพระองค์จะทรงนำพวกเขาออกจากกลุ่มคนผู้เคยมอบชีวิตของตน และผู้ที่เคยเสียสละมากเท่าอับราฮัม
“บัดนี้ พระเจ้าทรงได้อัครสาวกสิบสองและสาวกเจ็ดสิบของพระองค์แล้ว และจะทรงเรียกโควรัมอื่นของสาวกเจ็ดสิบด้วย”5
โดยแท้แล้วค่ายไซอันเป็นไฟของคนถลุงแร่สำหรับอาสาสมัครทุกคนและสำหรับผู้นำอีกมากมายในอนาคตของศาสนจักรของพระเจ้า
ประสบการณ์ที่อาสาสมัครในกองทัพของพระเจ้าได้รับเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการอพยพครั้งใหญ่กว่าในอนาคตของสมาชิกศาสนจักร ผู้เข้าร่วมค่ายไซอัน 20 กว่าคนกลายเป็นร้อยเอกร้อยโทในการอพยพครั้งใหญ่สองครั้ง—ครั้งแรกในอีกสี่ปีต่อมา เกี่ยวข้องกับการนำผู้อพยพ 8,000 ถึง 10,000 คนออกจากมิสซูรีไปอิลลินอยส์6 และครั้งที่สองในอีก 12 ปีต่อมา เป็นการย้ายครั้งใหญ่ไปตะวันตกของวิสุทธิชนประมาณ 15,000 คนจากอิลลินอยส์ไปซอลท์เลคและหุบเขาอื่นๆ ของเทือกเขาร็อกกี เนื่องจากเป็นการฝึกความพร้อมในขั้นเตรียม ค่ายไซอันจึงมีค่ามหาศาลต่อศาสนจักร ปี 1834 เป็นเวลาที่ต้องแสดงให้เห็น—และเตรียมพร้อมสำหรับปี 1838 และปี 1846
ตัวเราและครอบครัวเราจะได้รับการทดสอบ การฝัดร่อน และการเตรียมเช่นเดียวกับสมาชิกของค่ายไซอัน พระคัมภีร์และคำสอนของเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่เต็มไปด้วยสัญญาว่าศรัทธาในพระเจ้าพระเยซูคริสต์ การลงมือทำ การให้เกียรติ และจดจำพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งการเชื่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าจะทำให้เราเข้มแข็งเพื่อเตรียมเราให้พร้อมเผชิญ เอาชนะ และเรียนรู้จากการทดลองและการทดสอบของความเป็นมรรตัย
ผู้นำศาสนจักรของพระเจ้าระบุการทดสอบโดยรวมหรือโดยทั่วไปไว้ชัดเจน ซึ่งเราคาดได้ว่าจะต้องเผชิญในยุคสมัยและรุ่นของเรา เมื่อครั้งเป็นประธานโควรัมอัครสาวกสิบสองในปี 1977 ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน (1899–1994) เปล่งเสียงแห่งการพยากรณ์เตือนในการประชุมตัวแทนเขต ข้าพเจ้าจะอ้างอิงรายละเอียดจากข่าวสารของประธานเบ็นสันและเชื้อเชิญให้ท่านเอาใจใส่คำแนะนำที่เหมาะกับยุคสมัยดังนี้
“คนทุกรุ่นมีการทดสอบและโอกาสให้อดทนและพิสูจน์ตนเอง ท่านอยากรู้เรื่องของการทดสอบที่ยากที่สุดอย่างหนึ่งของเราหรือไม่ จงฟังคำเตือนของบริคัม ยังก์ ‘สิ่งที่ข้าพเจ้ากลัวที่สุดเกี่ยวกับคนเหล่านี้คือพวกเขาจะร่ำรวยในประเทศนี้ หลงลืมพระผู้เป็นเจ้าและผู้คนของพระองค์ เกียจคร้าน และเสือกไสตนเองออกจากศาสนจักรไปลงนรก คนเหล่านี้จะทนต่อการกลุ้มรุมทำร้าย การปล้นจี้ ความยากจน และการข่มเหงทุกรูปแบบและซื่อสัตย์ แต่สิ่งที่ข้าพเจ้ากลัวมากสุดคือพวกเขาจะทนความมั่งคั่งร่ำรวยไม่ไหว’”
ประธานเบ็นสันกล่าวต่อไปว่า “ดูเหมือนนั่นจะเป็นการทดสอบที่ยากสุดของเราทุกคน เพราะความชั่วแยบยลมากขึ้น ฉลาดมากขึ้น ดูเหมือนไม่ค่อยมีพิษภัยและสังเกตได้ยากกว่า แม้การทดสอบทั้งหมดของความชอบธรรมจะหมายถึงการต่อสู้ดิ้นรน แต่การทดสอบเจาะจงนี้ดูเหมือนไม่เป็นการทดสอบเลย ไม่มีการต่อสู้ดิ้นรนและด้วยเหตุนี้จึงเป็นการทดสอบที่หลอกได้มากสุดในบรรดาการทดสอบทั้งหมด
“ท่านรู้หรือไม่ว่าสันติสุขและความรุ่งเรืองจะทำอะไรคนเหล่านี้—จะสะกดพวกเขาให้หลับ พระคัมภีร์มอรมอนเตือนเราว่าในวันเวลาสุดท้ายซาตานจะค่อยๆ พาเราลงนรก พระเจ้าทรงมียักษ์ใหญ่ทางวิญญาณที่มีศักยภาพบนโลกนี้ผู้ที่พระองค์ทรงสงวนไว้หกพันปีให้มาช่วยนำอาณาจักรให้ได้ชัยชนะและมารกำลังพยายามสะกดพวกเขาให้หลับ ปฏิปักษ์รู้ว่าเขาอาจจะไม่ประสบผลสำเร็จเลยในการชักจูงคนเหล่านั้นให้ทำบาปใหญ่ร้ายแรงมากมายของการทำผิด เขาจึงสะกดคนเหล่านั้นให้หลับลึกเหมือนกัลลิเวอร์ขณะที่เขาทำให้คนเหล่านั้นเกยตื้นกับบาปเล็กๆ น้อยๆ ของการละเลย ยักษ์ใหญ่ที่เซื่องซึม เฉื่อยชา และเมินเฉยจะเป็นผู้นำที่ดีได้อย่างไร
“เรามียักษ์ใหญ่ทางวิญญาณที่มีศักยภาพมากมายเหลือเกินผู้ควรจะกระตือรือร้นมากขึ้นในการปรับปรุงครอบครัว อาณาจักร และประเทศของพวกเขา เรามีคนมากมายผู้รู้สึกว่าตนเป็นคนชายหญิงที่ดี แต่พวกเขาต้องดีในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง—ผู้ประสาทพรที่เข้มแข็ง ผู้สอนศาสนาที่ห้าวหาญ เจ้าหน้าที่พระวิหารและประวัติครอบครัวที่กล้าหาญ คนรักชาติที่อุทิศตน สมาชิกโควรัมที่ทุ่มเท สรุปคือเราต้องสลัดตนและตื่นจากการงีบหลับทางวิญญาณ”7
ลองคิดดูว่าความมั่งคั่ง ความรุ่งเรือง และความสบายสามารถเป็นการทดสอบสาหัสในสมัยของเราเทียบเท่าหรือมากกว่าการข่มเหงและความยากลำบากทางกายที่วิสุทธิชนผู้อาสาเดินทัพในค่ายไซอันประสบ ดังที่ศาสดาพยากรณ์มอรมอนบรรยายไว้ในบทสรุปอันสูงส่งของท่านเกี่ยวกับวัฏจักรของความจองหองที่อยู่ในฮีลามัน 12 ว่า
“และดังนั้นเราจะเห็นว่าการหลอกลวง, และความรวนเรของใจลูกหลานมนุษย์เป็นอย่างไรด้วย; แท้จริงแล้ว, เราจะเห็นว่าพระเจ้าในพระมหากรุณาธิคุณอันไม่มีที่สุดของพระองค์ประทานพรและทรงทำให้คนที่มอบความไว้วางใจในพระองค์รุ่งเรือง.
“แท้จริงแล้ว, และเราจะเห็นในเวลานั้นเองเมื่อพระองค์ทรงทำให้ผู้คนของพระองค์รุ่งเรือง, แท้จริงแล้ว, ในการเพิ่มพูนท้องทุ่งของพวกเขา, ฝูงสัตว์เลี้ยงและฝูงสัตว์ใหญ่ของพวกเขา, และในทอง, และในเงิน, และในสิ่งมีค่าทุกประเภทของทุกชนิดและทุกอย่าง; ทรงไว้ชีวิตพวกเขา, และทรงปลดปล่อยพวกเขาจากเงื้อมมือศัตรู; ทรงทำให้ใจศัตรูของพวกเขาอ่อนลงเพื่อจะไม่ประกาศสงครามกับพวกเขา; แท้จริงแล้ว, และท้ายที่สุด, ทรงทำทุกสิ่งเพื่อความผาสุกและความสุขของผู้คนของพระองค์; แท้จริงแล้ว, หลังจากนั้นคือเวลาที่พวกเขาทำใจตนแข็งกระด้าง, และลืมพระเจ้าพระผู้เป็นเจ้าของพวกเขา, และเหยียบย่ำพระผู้บริสุทธิ์ไว้ใต้เท้าของพวกเขา—แท้จริงแล้ว, และนี่เพราะความสบายของพวกเขา, และความรุ่งเรืองยิ่งของพวกเขา” (ฮีลามัน 12:1–2)
ข้าพเจ้าเชื้อเชิญท่านเป็นพิเศษให้สังเกตประโยคสุดท้ายของข้อสุดท้าย “และนี่เพราะความสบายของพวกเขา, และความรุ่งเรืองยิ่งของพวกเขา”
ประธานฮาโรลด์ บี. ลี (1899–1973) สอนทำนองเดียวกันเกี่ยวกับการทดสอบความสบายที่เราเผชิญในสมัยของเรา “เราได้รับการทดสอบ เราได้รับการทดลอง เรากำลังประสบการทดสอบที่เข้มงวดที่สุดบางอย่างในปัจจุบันและเราไม่ตระหนักในความรุนแรงของการทดสอบที่เรากำลังประสบ ในสมัยนั้นมีการฆาตรกรรม มีการกลุ้มรุมทำร้าย มีการขับไล่ พวกเขาถูกขับไล่เข้าไปในทะเลทราย พวกเขาอดอยาก เปลือยเปล่า และพวกเขาหนาว พวกเขามาถึงแผ่นดินที่เอื้อประโยชน์นี้ เราเป็นผู้สืบทอดสิ่งที่พวกเขามอบให้เรา แต่เราทำอะไรกับสิ่งนั้น ทุกวันนี้เรากำลังสำเริงสำราญกับชีวิตที่ฟุ้งเฟ้อ เหมือนเราไม่เคยเห็นมาก่อนในประวัติศาสตร์ของโลก ดูเหมือนว่านี่อาจจะเป็นการทดสอบเข้มงวดที่สุดในบรรดาการทดสอบที่เราเคยมีในประวัติศาสตร์ของศาสนจักรนี้”8
คำสอนเหล่านี้จากศาสดาพยากรณ์สมัยโบราณและปัจจุบันเกี่ยวกับการทดสอบและการทดลองยุคสุดท้ายถือว่าขึงขังและจริงจัง แต่นั่นไม่ควรทำให้ท้อใจ และเราไม่ควรกลัว สำหรับคนที่มีตามองเห็นและมีหูได้ยิน คำเตือนทางวิญญาณทำให้พวกเขาระแวดระวังเพิ่มขึ้น ท่านและข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่ใน “วันแห่งการเตือน” (คพ. 63:58) และเพราะเราได้รับการเตือนมาแล้วและจะได้รับอีก เราจึงต้อง “เฝ้าระวัง … ด้วยความเพียร” (เอเฟซัส 6:18) ตามที่อัครสาวกเปาโลตักเตือน ขณะที่เราเฝ้าระวังและเตรียม เราไม่จำเป็นต้องกลัว (ดู คพ. 38:30)
ใครอยู่ฝ่ายพระเจ้า บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่ต้องแสดงให้เห็นว่าเรามีความนึกคิดและจิตใจที่ยอมรับและจะขานรับคำเตือนที่ได้รับการดลใจเหล่านี้ บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่ต้องแสดงให้เห็นว่าเรากำลังเฝ้าระวังและเตรียมต้านการทดลองยุคสุดท้ายของความรุ่งเรืองและความจองหอง ของความมั่งคั่งและความสบาย ของใจที่แข็งกระด้างและการหลงลืมพระเจ้าพระผู้เป็นเจ้าของเรา บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่ต้องแสดงให้เห็นว่าเราจะซื่อสัตย์ตลอดเวลาในสิ่งใดก็ตามที่พระบิดาบนสวรรค์ของเราและพระบุตรที่รักของพระองค์ทรงฝากฝังไว้กับเรา—และเราจะรักษาพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าและดำเนินชีวิตอย่างซื่อตรงต่อพระพักตร์พระองค์ (ดู แอลมา 53:20–21)
บทเรียนเรื่องการสังเกต การเรียนรู้จากเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ และการทำตามพวกท่าน
วิสุทธิชนที่แข็งแกร่งในกองทัพของพระเจ้าได้รับพรให้สังเกต ให้เรียนรู้จากเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ และทำตามพวกท่าน ปัจจุบันเราได้ประโยชน์ใหญ่หลวงจากแบบอย่างและความซื่อสัตย์ของสมาชิกที่ภักดีของค่ายไซอัน
วิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์เดินทางตามคำแนะนำจากพาร์ลีย์ พี. แพรทท์ไปเคิร์ทแลนด์ โอไฮโอในเดือนเมษายน ค.ศ. 1834 เพื่อสมทบกับค่ายไซอัน เรื่องราวการพบกันครั้งแรกของบราเดอร์วูดรัฟฟ์กับศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธให้ความรู้แก่เราทุกคน
“นี่เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ข้าพเจ้าได้พบและพูดคุยกับศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธที่รักของเรา บุรุษที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกให้นำการเปิดเผยของพระองค์ออกมาในวันเวลาสุดท้ายเหล่านี้ การแนะนำตัวครั้งแรกของข้าพเจ้าไม่ใช่เพื่อสนองแนวคิดทางโลกที่มีอยู่แล้วว่าศาสดาพยากรณ์ควรเป็นอย่างไรและท่านควรมีลักษณะอย่างไร เรื่องนั้นอาจสะเทือนความเชื่อของบางคน ข้าพเจ้าพบท่านกับไฮรัมพี่ชายกำลังยิงเป้าด้วยปืนสั้น เมื่อพวกท่านหยุดยิง ข้าพเจ้าจึงแนะนำตัวกับบราเดอร์โจเซฟและท่านจับมือทักทายข้าพเจ้าอย่างจริงใจที่สุด ท่านเชื้อเชิญให้ข้าพเจ้าทำเสมือนที่อยู่ของท่านเป็นบ้านข้าพเจ้าขณะข้าพเจ้าอยู่ในเคิร์ทแลนด์ ข้าพเจ้ายอมรับคำเชื้อเชิญนี้อย่างตื่นเต้นที่สุด อีกทั้งได้รับการสอนสั่งและพรอย่างมากระหว่างพักอยู่กับท่าน”9
ข้าพเจ้าพบว่าน่าสนใจตรงที่บราเดอร์วูดรัฟฟ์ผู้อยู่ในบ้านของท่านศาสดาพยากรณ์ระยะหนึ่งและแน่นอนว่ามีโอกาสวิเศษสุดที่ได้สังเกตการใช้ชีวิตประจำวันของท่าน ได้รับพรให้มีตามองไปไกลกว่า “แนวคิดทางโลกที่มีอยู่แล้วว่าศาสดาพยากรณ์ควรเป็นอย่างไรและท่านควรมีลักษณะอย่างไร” แนวคิดผิดๆ เช่นนั้นบดบังวิสัยทัศน์ของหลายคนในโลกปัจจุบัน ทั้งในและนอกศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเจ้า
เนื่องด้วยการเรียกของข้าพเจ้าในปี 2004 ให้รับใช้ในโควรัมอัครสาวกสิบสอง ข้าพเจ้าจึงมีทัศนะชัดเจนแจ่มแจ้งเกี่ยวกับความหมายของการสังเกต การเรียนรู้จากเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ และทำตามพวกท่าน เวลานี้ข้าพเจ้าเห็นบุคลิกภาพส่วนตัว ความพึงใจที่หลากหลาย และอุปนิสัยที่โดดเด่นของผู้นำศาสนจักรนี้ทุกวัน บางคนพบว่าข้อจำกัดและข้อบกพร่องตามประสามนุษย์ของเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่เป็นเรื่องน่าเบื่อหน่ายและบั่นทอนศรัทธา สำหรับข้าพเจ้า ความอ่อนแอเหล่านั้นกำลังส่งเสริมศรัทธา แบบแผนการปกครองที่พระเจ้าทรงเปิดเผยในศาสนจักรนี้มีไว้เพื่อลดผลกระทบของความอ่อนแอตามประสามนุษย์ สำหรับข้าพเจ้า น่าอัศจรรย์อย่างยิ่งที่เห็นพระเจ้าทรงบรรลุพระประสงค์ของพระองค์ผ่านผู้รับใช้ของพระองค์แม้ว่าผู้นำที่พระองค์ทรงเลือกจะมีจุดด่างพร้อยและข้อผิดพลาดก็ตาม บุรุษเหล่านี้ไม่เคยอ้างว่าตนดีพร้อมและไม่ดีพร้อม แต่พระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกพวกท่านแน่นอน
วิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์เป็นปุโรหิตเมื่อครั้งเดินไปมิสซูรีกับกองทัพของพระเจ้า ท่านประกาศในเวลาต่อมาขณะรับใช้เป็นสมาชิกโควรัมอัครสาวกสิบสองว่า “เราได้รับประสบการณ์ที่เราไม่มีวันได้รับในวิธีอื่น เราได้รับเกียรติอันสูงส่งให้ … เดินทางหนึ่งพันไมล์ไปกับ [ท่านศาสดาพยากรณ์] และเห็นการทำงานของพระวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้ากับท่าน และการเปิดเผยของพระเยซูคริสต์ต่อท่านและสัมฤทธิผลของการเปิดเผยเหล่านั้น … หากข้าพเจ้าไม่ไปกับค่ายไซอันข้าพเจ้าคงไม่ได้อยู่ที่นี่วันนี้”10
ในวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนเมษายน ปี 1834 โจเซฟ สมิธเชิญผู้นำจำนวนหนึ่งของศาสนจักรมาพูดกับอาสาสมัครค่ายไซอันที่ชุมนุมกันในอาคารเรียน หลังจากพี่น้องชายสรุปข่าวสารของพวกเขา ท่านศาสดาพยากรณ์ลุกขึ้นและบอกว่าคำแนะนำเหล่านั้นจรรโลงใจท่าน ท่านพยากรณ์ต่อจากนั้นว่า
“ข้าพเจ้าประสงค์จะพูดกับท่านต่อพระพักตร์พระเจ้าว่าท่านไม่รู้เกี่ยวกับจุดหมายปลายทางของศาสนจักรและอาณาจักรนี้มากไปกว่าเด็กทารกบนตักมารดา ท่านไม่เข้าใจ … นี่คือฐานะปุโรหิตเพียงหยิบมือเดียวที่ท่านเห็นที่นี่คืนนี้ แต่ศาสนจักรนี้จะเต็มอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้—จะเต็มโลก”11
บุรุษอย่างเช่น บริคัม ยังก์, ฮีเบอร์ ซี. คิมบัลล์, ออร์สัน แพรทท์ และวิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์ ฟังและเรียนรู้มาจากท่านศาสดาพยากรณ์คืนนั้น—หลายปีต่อมาบุคคลเหล่านี้ได้ช่วยทำให้คำประกาศอันเป็นการพยากรณ์นั้นเกิดสัมฤทธิผล บุรุษเหล่านี้มีโอกาสอันน่ายินดียิ่งที่ได้สังเกต เรียนรู้จากท่านศาสดาพยากรณ์ และทำตามท่าน
สำคัญที่เราทุกคนจะจดจำว่าเราสามารถเรียนรู้ได้ทั้งจากคำสอนของเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่และจากแบบอย่างชีวิตของท่านเหล่านั้น จากวิสัยทัศน์อันสูงส่งเกี่ยวกับการเติบโตในอนาคตของศาสนจักรที่ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธพูดไว้อย่างชัดเจน ตอนนี้ได้โปรดพิจารณาพลังแบบอย่างของท่านศาสดาพยากรณ์ในการปฏิบัติภารกิจปรกติประจำแต่จำเป็น จอร์จ เอ. สมิธบรรยายไว้ในบันทึกส่วนตัวของเขาเกี่ยวกับการตอบสนองของท่านศาสดาพยากรณ์ต่อความท้าทายประจำวันของการเดินทัพไปมิสซูรีดังนี้
“ศาสดาพยากรณ์โจเซฟเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าพอๆ กับทุกคนตลอดการเดินทาง นอกจากจะดูแลเรื่องการจัดเตรียมค่ายและควบคุมค่ายแล้ว ท่านต้องเดินเป็นส่วนใหญ่ เท้าของท่านพุพอง มีเลือดออก และปวดแสบปวดร้อนเหมือนคนอื่นๆ … แต่ตลอดการเดินทางท่านไม่เคยบ่นหรือโอดครวญ ขณะที่ชายส่วนใหญ่ในค่ายบ่นกับท่านเรื่องนิ้วเท้าที่ปวดแสบปวดร้อน เท้าพุพอง การเดินทางไกลโดยไม่หยุดพัก เสบียงอาหารร่อยหรอ ขนมปังคุณภาพต่ำ ขนมปังข้าวโพดบูด เนยขึ้นรา น้ำผึ้งรสชาติแปลกๆ หนอนขึ้นเบคอนกับชีส ฯลฯ กระทั่งสุนัขเห่าใส่ก็ยังมีคนบ่นกับโจเซฟ ถ้าพวกเขาต้องพักแรมและน้ำไม่สะอาด แทบจะเกิดการจลาจลได้เลย แต่เราคือค่ายไซอัน เราหลายคนไม่สวดอ้อนวอน สิ้นคิด เลินเล่อ ไม่ใส่ใจ โง่เขลาหรือเหมือนปีศาจร้าย แต่เราไม่รู้ตัว โจเซฟต้องอดทนกับเราและสอนเราเหมือนเด็กๆ”12
โจเซฟเป็นแบบอย่างน่าเชื่อถือของหลักธรรมที่แอลมาสอน “เพราะผู้สั่งสอนไม่ดีไปกว่าผู้ฟัง, ทั้งผู้สอนก็ไม่ดีไปกว่าผู้เรียนแต่อย่างใด; … พวกเขาทุกคนทำงาน, ทุกคนทำงานตามกำลังของตน” (แอลมา 1:26)
ตั้งแต่ทรงเรียกข้าพเจ้าเป็นเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ ข้าพเจ้าพยายามสังเกตและเรียนรู้ขณะเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่บางท่านประสบผลของความชราหรือข้อเรียกร้องไม่หยุดหย่อนของขีดจำกัดทางกายและความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ท่านไม่สามารถและจะไม่มีวันรู้ความทุกข์ส่วนตัวเงียบๆ ของบุรุษบางท่านเหล่านี้ขณะพวกท่านรับใช้ส่วนรวมด้วยสุดใจ พลัง ความคิด และพละกำลังของพวกท่าน การเฝ้าดูและรับใช้กับประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ (1910–2008) ประธานเจมส์ อี. เฟาสท์ (1920–2007) เอ็ลเดอร์โจเซฟ บี. เวิร์ธลิน (1917–2008) ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์ (1924–2015) เอ็ลเดอร์แอล. ทอม เพอร์รีย์ (1922–2015) เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์ (1928–2015) และเพื่อนอัครสาวกท่านอื่นของข้าพเจ้าทำให้ข้าพเจ้ามีพลังประกาศอย่างชัดเจนและเชื่อถือได้ว่าเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ที่ข้าพเจ้ารับใช้ด้วยล้วนเป็นนักรบ—นักรบทางวิญญาณที่ยิ่งใหญ่และสง่างาม—ในความหมายแท้จริงที่สุดและน่าชื่นชมที่สุดของคำนั้น! ความอดทน ความไม่ย่อท้อ และความกล้าหาญของพวกท่านทำให้พวกท่านสามารถ “มุ่งหน้าด้วยความแน่วแน่ในพระคริสต์” (2 นีไฟ 31:20) สิ่งนั้นคู่ควรให้เราเลียนแบบ
ประธานลีเตือนเรื่องการทดสอบโดยรวมเพิ่มเติมที่กำลังแพร่หลายมากขึ้นในคนรุ่นนี้ว่า “เวลานี้เรากำลังประสบการทดสอบอีกอย่างหนึ่ง—ช่วงเวลาของสิ่งที่เราอาจจะเรียกว่าการตบตา นี่เป็นเวลาที่คนฉลาดมากมายไม่ยอมฟังศาสดาพยากรณ์ที่ต่ำต้อยของพระเจ้า … นี่คือการทดสอบที่ค่อนข้างสาหัส”13
การทดสอบเรื่องการตบตามาคู่กับการทดสอบเรื่องความรุ่งเรืองและความสบาย สำคัญอย่างยิ่งที่เราแต่ละคนต้องสังเกต เรียนรู้จากเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ และทำตามพวกท่าน
“ใครอยู่ฝ่ายพระเจ้า” บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่ต้องแสดงให้เห็นโดยการฟังและเอาใจใส่คำแนะนำของอัครสาวกและศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตอยู่ผู้ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกในยุคสุดท้ายให้ควบคุมและกำกับดูแลงานของพระองค์บนแผ่นดินโลก บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่ต้องแสดงให้เห็นว่าเราเชื่อว่า “คำ [ของพระผู้เป็นเจ้า] จะไม่สูญสิ้นไป, แต่จะเกิดสัมฤทธิผลทั้งหมด, ไม่ว่าโดยเสียงของเราเอง หรือโดยเสียงของผู้รับใช้ทั้งหลายของเรา, ก็เหมือนกัน” (คพ. 1:38) บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่ต้องแสดงให้เห็น บัดนี้ถึงเวลาแล้ว!
ค่ายไซอันของเราเอง
ณ จุดหนึ่งของชีวิตเราแต่ละคน เราจะได้รับการเชื้อเชิญให้เดินทัพในค่ายไซอันของเราเอง จังหวะเวลาของการเชื้อเชิญจะหลากหลาย และอุปสรรคที่เราพบเจอบนการเดินทางจะต่างกัน แต่การขานรับอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอต่อคำขอที่เลี่ยงไม่ได้นี้สุดท้ายแล้วจะให้คำตอบแก่คำถามที่ว่า “ใครอยู่ฝ่ายพระเจ้า”
เวลาที่ต้องแสดงให้เห็นคือเดี๋ยวนี้ วันนี้ พรุ่งนี้ และตลอดกาล ขอให้เราจดจำบทเรียนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการทดสอบ การฝัดร่อน และการเตรียม ตลอดจนการสังเกต การเรียนรู้จากเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ และการทำตามพวกท่าน