เยียวยาประเทศที่รักยิ่ง: ศรัทธาของจูเลีย มาวิมเบลา
ชีวิตของจูเลีย มาวิมเบลาเปลี่ยนกะทันหันในปี 1955 เมื่อจอห์นสามีเธอเสียชีวิตในอุบัติเหตุรถยนต์ หลักฐานในที่เกิดเหตุบ่งบอกว่าคู่กรณีซึ่งเป็นคนผิวขาวหักเข้ามาในเลนของจอห์น แต่ชายคนนั้นไม่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด หนำซ้ำเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นคนผิวขาวยังบอกอีกว่าพวกคนผิวสีขับรถไม่ดี จอห์นจึงต้องรับผิดชอบการชนครั้งนี้1
จูเลียอายุ 37 ปีมีลูกสี่คนและอีกคนอยู่ในท้อง เธอไม่ได้รับความเป็นธรรมเนื่องจากการเหยียดเชื้อชาติ ตำรวจ และระบบยุติธรรม ทว่าเธอเรียนรู้ในท้ายที่สุดว่าต้องไม่ยอมให้ตนอาฆาตแค้น แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เธอใช้ชีวิตเยียวยาตนเองและเยียวยาประเทศที่เธอรักยิ่งผ่านการรับใช้เหมือนพระคริสต์ ความรักที่มีต่อแผ่นดิน ศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า และการอุทิศชีวิตดำเนินตามหลักธรรมของศาสนาทำให้การเยียวยาเกิดขึ้นได้
จูเลียเกิดปี 1917 เป็นลูกคนสุดท้องในจำนวนห้าคน คุณพ่อของจูเลียสิ้นชีวิตเมื่อเธออายุห้าขวบ คุณแม่จึงต้องเลี้ยงดูลูกตามลำพังโดยทำงานรับจ้างซักเสื้อผ้าและเป็นแม่บ้าน
คุณแม่ของจูเลียเป็นคนเคร่งศาสนาผู้สอนลูกๆ ของเธอจากพระคัมภีร์ไบเบิล “คุณแม่สอนให้ดิฉันกลืนยาขมของชีวิตและให้กำลังใจดิฉันว่าอย่าเหลียวหลังแต่ให้มองไปข้างหน้า” จูเลียกล่าว คุณแม่ของจูเลียเข้าใจความสำคัญของการศึกษาเช่นกันและทำทุกอย่างที่ทำได้ด้วยรายได้จำกัดของเธอเพื่อให้ลูกๆ ได้รับการศึกษาตามเกณฑ์
จูเลียได้รับการศึกษาและการฝึกอบรมเพิ่มเติม เธอทำงานเป็นครูและครูใหญ่ของโรงเรียนจนเธอพบและแต่งงานกับจอห์น มาวิมเบลาในปี 1946 จอห์นเป็นเจ้าของร้านขายของชำและร้านขายเนื้อ จูเลียยอมทิ้งอาชีพมาทำงานที่นั่น พวกเขาสร้างครอบครัวและมีลูกด้วยกัน แม้จะมีข้อจำกัดเรื่องการแบ่งแยกสีผิว แต่ชีวิตดี อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างเปลี่ยนไปเมื่อจอห์นสิ้นชีวิต
บนศิลาหน้าหลุมศพของสามี จูเลียจารึกว่า
ไว้อาลัยด้วยความรักแด่
จอห์น ฟิลลิป คอร์ลี มาวิมเบลา
จากภรรยาและญาติ
แต่ยังคงกล้ำกลืนฝืนทน
ขอให้จิตวิญญาณเขาพักผ่อนอย่างสงบ
เมื่อพูดถึงบรรทัดที่สี่ จูเลียกล่าวว่า “ขณะที่เขียน ยังคงกล้ำกลืนฝืนทนคือเธอยังมีความเกลียดชังและความอาฆาตแค้น—ต่อคนที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ต่อตำรวจที่กล่าวเท็จ [และ] ต่อศาลที่ตัดสินว่าสามีดิฉันต้องรับผิดชอบอุบัติเหตุที่ปลิดชีวิตเขา”2 การทดลองใหญ่หลวงที่สุดอย่างหนึ่งของเธอคือเอาชนะความอาฆาตแค้นและความโกรธนี้ให้ได้
ไม่นานหลังจากสามีสิ้นชีวิต ในคืนที่ “นอนกระสับกระส่าย” จูเลียฝันว่าจอห์นมาปรากฏต่อเธอ ยื่นชุดคลุมกันเปื้อนให้เธอ และบอกว่า “ไปทำงาน” เมื่อพูดถึงผลของความฝันนี้ เธอกล่าวว่า “ดิฉันพบวิธีนำเอาตนเองออกจากความวิตกกังวลในช่วงหลายปีนี้ และวิธีนั้นคือการเข้าไปมีส่วนในชุมชน”
ยี่สิบปีต่อมา กลางทศวรรษ 1970 ปฏิกิริยาของคนผิวสีต่อนโยบายแบ่งแยกสีผิวเปลี่ยนจากการประท้วงอย่างสงบเป็นการใช้ความรุนแรง จุดเริ่มต้นความรุนแรงจุดหนึ่งคือโซเวโตที่จูเลียอยู่ เธอกล่าวว่า “โซเวโตกลายเป็นสถานที่ต่างไปจากที่เราเคยรู้จัก—ประหนึ่งเราอยู่ในสนามรบ”
จูเลียเกรงว่าบาดแผลของความอาฆาตแค้นจะปะทุขึ้นอีกครั้ง “มันผ่านไป 20 ปีแล้วตั้งแต่จอห์นเสียชีวิต แต่ดิฉันก็ยังรู้สึกถึงความเจ็บปวดของช่วงเวลานั้น” ขณะพยายามหาวิธีเยียวยาให้ตัวเธอและผู้คนของเธอ จูเลียคิดว่า “บางทีถ้าฉันสอนลูกๆ ให้ชอบทำงานกับดิน อาจยังคงมีความหวัง” เธอตั้งสวนชุมชนให้เป็นสัญลักษณ์ของความหวังแก่คนที่รู้จักเพียงความกลัวและความโกรธ
ขณะทำงานกับลูกๆ ในสวนชุมชนของเธอ เธอจะสอนพวกเขาว่า “ให้เราขุดดินแห่งความอาฆาตแค้น โปรยเมล็ดแห่งความรักลงไป และดูว่ามันจะให้ผลอะไรเราได้บ้าง … ความรักจะไม่เกิดขึ้นหากไม่ให้อภัยผู้อื่น”
เธอกล่าว “ดิฉันรู้ลึกๆ ในใจว่าดิฉันกำลังทำลายดินของความอาฆาตแค้นขณะดิฉันให้อภัยคนที่เคยทำร้ายดิฉัน” ความอาฆาตแค้นที่ดิฉันยังกล้ำกลืนฝืนทนหลังจากจอห์นเสียชีวิตเริ่มหายไป
ในปี 1981 มีคนแนะนำจูเลียให้รู้จักศาสนจักร ผู้สอนศาสนากำลังรับใช้ชุมชนในโซเวโตเมื่อพวกเขาพบศูนย์เด็กชายที่ต้องซ่อมแซม พวกเขาทำความสะอาดสถานที่เป็นเวลาหลายสัปดาห์3
วันหนึ่ง มีคนขอให้จูเลียรับใช้ที่สโมสรเด็กชายแห่งเดียวกัน เมื่อเธอมาถึง เธอประหลาดใจที่เห็น “เด็กหนุ่มผิวขาวสองคนกำลังใช้พลั่วตักดินแดง” ผู้สอนศาสนาถามว่าพวกเขาจะมาบ้านเธอและให้ข่าวสารได้ไหม สามวันต่อมา เอ็ลเดอร์เดวิด แมคคอมส์กับเอ็ลเดอร์โจเอล ฮีตันมาพบเธอที่บ้านในชุดผู้สอนศาสนาและติดป้ายชื่อ
จูเลียบอกว่าบทเรียนผู้สอนศาสนาสองบทแรก “เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา” แต่เมื่อผู้สอนศาสนามาครั้งที่สาม พวกเขาถามเรื่องภาพถ่ายของจูเลียกับจอห์นบนผนัง เธอบอกว่าสามีเธอสิ้นชีวิตแล้ว และผู้สอนศาสนารู้สึกถึงกระตุ้นเตือนให้บอกเธอเกี่ยวกับแผนแห่งความรอดและบัพติศมาแทนคนตาย เธอกล่าวว่า “ตอนนั้นดิฉันเริ่มฟัง ตั้งใจฟัง ด้วยใจ … เมื่อผู้สอนศาสนาสอนหลักธรรมเรื่องความสัมพันธ์นิรันดร์ ดิฉันมีความรู้สึกว่านี่เป็นวิธีที่ดิฉันจะได้อยู่กับพ่อแม่และสามี” จูเลียรับบัพติศมาในอีกห้าเดือนต่อมา
หนึ่งเดือนหลังจากบัพติศมา จูเลียพูดที่การประชุมใหญ่สเตค “เมื่อดิฉันเดินไปที่แท่นพูด” เธอกล่าว “ดิฉันคิดว่าเกือบทุกคนตกใจ นั่นเป็นครั้งแรกที่พวกเขาเห็นคนผิวดำพูดที่การประชุมใหญ่—อาจจะเป็นครั้งแรกที่บางคนได้ยินคนผิวดำพูดต่อหน้าที่ประชุม” เธอรู้สึกได้รับการกระตุ้นเตือนให้พูดเรื่องการสิ้นชีวิตของสามีและหลายปีของความยากลำบาก เธอพูดถึงความอาฆาตแค้นและบอกว่าเธอ “พบศาสนจักรที่สอนให้ดิฉันรู้จักการให้อภัยอย่างแท้จริง”
แต่การต่อกรกับความเข้าใจผิดและอคติยังไม่สิ้นสุด แม้นโยบายแบ่งแยกสีผิวจะสิ้นสุดไปแล้วตั้งแต่ปี 1994
ในคำพูดการประชุมใหญ่สามัญปี 2015 ของเอ็ลเดอร์เดล จี. เรนลันด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเรื่อง “วิสุทธิชนยุคสุดท้ายพยายามต่อไป” พูดถึงเหตุการณ์ที่จูเลียกับโธบาลูกสาวของเธอประสบเมื่อ “สมาชิกผิวขาวบางคนปฏิบัติต่อพวกเธออย่างไร้น้ำใจ” โธบาบ่นเรื่องการปฏิบัติของพวกเขา สิ่งที่น่าจะเป็นข้ออ้างให้ออกจากศาสนจักรได้ง่ายๆ กลับกลายเป็นช่วงการสอนอันประมาณค่ามิได้ จูเลียตอบว่า “โอ โธบา ศาสนจักรก็เหมือนกับโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เราทุกคนต่างป่วยในวิถีทางของเราเอง เรามาโบสถ์เพื่อขอความช่วยเหลือ”4
จูเลียค้นพบว่าการเยียวยาเกิดขึ้นได้ผ่านพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ ไม่เฉพาะสำหรับตัวเธอเท่านั้น แต่สำหรับประเทศของเธอด้วย การรับใช้ของเธอในพระวิหารโจฮันเนสเบิร์ก แอฟริกาใต้สอนเธอว่าในพระวิหาร “ไม่มีความแตกต่างระหว่างคนแอฟริกา ไม่มีความแตกต่างระหว่างคนที่พูดภาษาอังกฤษ ไม่มีความแตกต่างระหว่างคนที่พูดภาษาซีทูกับภาษาซูลู คุณรู้สึกถึงความเป็นหนึ่งเดียวนั้น”
จูเลีย มาวิมเบลาถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ปี 2000