2018
เสรีภาพทางศาสนา: เสาหลักของสันติภาพ
February 2018


เสรีภาพทางศาสนา: เสาหลักของสันติภาพ

ดูบทความเต็มของคำปราศรัยนี้ได้ที่ mormonnewsroom.org

เอ็ลเดอร์คริสทอฟเฟอร์สันกล่าวคำปราศรัยนี้ในการประชุมนานาชาติเรื่องศาสนาซึ่งที่เซาเปาลู บราซิลเมื่อวันที่ 29 เมษายน ค.ศ. 2015

ขอให้เราแสวงหาสันติภาพโดยช่วยกันปกป้องคุ้มครองเสรีภาพของคนทั้งปวงในการนับถือและปฏิบัติศาสนกิจตามการเลือกของตน

dove holding branch

ภาพประกอบ โดย โจชัว เดนนิส

ข้าพเจ้ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญให้อยู่กับท่านค่ำนี้ในการประชุมนานาชาติเรื่องศาสนาซึ่งมุสลิม ซิกข์ คาทอลิก แอนเวนทิสต์ ยิว อีวานเจลิคัล มอรมอน ผู้นำทางจิตวิญญาณ ผู้ไม่นับถือศาสนา และอีกมากมายล้วนเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้นำในคณะรัฐบาลและวงการธุรกิจ ร่วมอภิปรายและเฉลิมฉลองเสรีภาพทางศาสนา การประชุมกันของเราในสภาวะแวดล้อมที่เป็นหนึ่งเดียวครั้งนี้เป็นสัญลักษณ์อันทรงพลังในตัวมันเอง

ข้าพเจ้ายินดีอย่างยิ่งที่ได้อยู่ที่นี่ในบราซิล ประเทศที่ร่ำรวยด้วยวัฒนธรรมและผู้คนหลากหลาย บราซิลรุ่งเรืองและจะรุ่งเรืองต่อไปเพราะน้อมรับความหลากหลาย รวมไปถึงความหลากหลายทางศาสนา เมื่อเร็วๆ นี้บราซิลได้รับยกย่องว่าเป็นประเทศที่รัฐบาลมีข้อจำกัดน้อยที่สุดในเรื่องศาสนา1 ข้าพเจ้าขอแสดงความยินดีกับบราซิลสำหรับความแตกต่างที่ชัดเจนในเรื่องนี้ เวลานี้บราซิลจึงมีหน้าที่นำการเคลื่อนไหวระดับโลกเพื่อส่งเสริมเสรีภาพดังกล่าว ดังที่พระเยซูคริสต์ตรัสไว้ในพันธสัญญาใหม่

“ท่านทั้งหลายเป็นความสว่างของโลก นคร [หรือในกรณีนี้คือประชาชาติ] ซึ่งอยู่บนภูเขาจะถูกปิดบังไว้ไม่ได้ …

“พวกท่านจงส่องสว่างแก่คนทั้งปวงเพื่อว่าเมื่อเขาทั้งหลายได้เห็นความดีที่ท่านทำ พวกเขาจะได้สรรเสริญพระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์” (มัทธิว 5:14, 16)

มิตรสหายที่น่านับถือทั้งหลาย โลกต้องการให้แสงของบราซิลส่องสว่างนานๆ คืนนี้เราเฉลิมฉลองสิ่งที่จะเกิดจากวิสัยทัศน์เช่นนั้น

ภูมิหลังและหลักธรรมพื้นฐาน

เสรีภาพทางศาสนาเป็นเสาหลักของสันติภาพในโลกที่มีปรัชญาชิงดีชิงเด่นกันมากมาย ให้พื้นที่เราทุกคนกำหนดสิ่งที่เราคิดและเชื่อด้วยตัวเราเอง—ทำตามความจริงที่พระผู้เป็นเจ้าตรัสกับใจเรา อีกทั้งยอมให้ความเชื่อต่างกันอยู่ร่วมกัน คุ้มครองผู้อ่อนแอ และช่วยเราจัดการแก้ไขความขัดแย้งของเรา ด้วยเหตุนี้ ตามที่ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปตัดสินไว้อย่างหลักแหลมในหลายคดี เสรีภาพทางศาสนาจึงสำคัญยิ่งต่อผู้นับถือศาสนาและ “เป็นสินทรัพย์มีค่าเช่นกันสำหรับผู้เชื่อว่าไม่มีพระเจ้า ผู้ไม่นับถือศาสนา คนช่างสงสัย และคนไม่สนใจศาสนา” ทั้งหมดนี้เพราะ “พหุนิยมที่แยกจากสังคมประชาธิปไตยไม่ได้ ซึ่งประชาชนพยายามอยู่หลายศตวรรษเพื่อให้ได้มายังต้องพึ่งเสรีภาพนั้น”2

เสรีภาพที่เฟื่องฟูไม่เพียงเป็นสิ่งที่นักปรัชญาทางการเมืองพูดถึงเสมือนเป็นเสรีภาพ “เชิงลบ” ที่ต้องไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวเท่านั้น แม้จะสำคัญเพียงใดก็ตาม หากแต่เป็นเสรีภาพ “เชิงบวก” ที่มีค่ากว่ามาก—เสรีภาพในการดำเนินชีวิตตามศาสนาหรือความเชื่อของคนๆ นั้นในสภาพแวดล้อมทางกฎหมาย การเมือง และสังคมที่เปิดกว้าง น่านับถือ และรองรับความเชื่อหลากหลาย

เราใช้เสรีภาพในศาสนาและความเชื่อของเราสร้างความเชื่อมั่นของเรา ซึ่งหากปราศจากเสรีภาพดังกล่าวสิทธิมนุษยชนในด้านอื่นทั้งหมดจะไร้ความหมาย เราจะอ้างเสรีภาพในการพูดได้อย่างไรหากไม่สามารถพูดสิ่งที่เราเชื่อจริงๆ ได้ เราจะอ้างเสรีภาพในการชุมนุมได้อย่างไรหากเราไม่สามารถชุมนุมกับผู้มีอุดมการณ์เหมือนเรา เราจะพอใจกับเสรีภาพในการพิมพ์ได้อย่างไรหากเราไม่สามารถตีพิมพ์หรือประกาศต่อสาธารณชนได้ว่าจริงๆ แล้วเราเป็นใคร

ข่าวดีคือมีความก้าวหน้าอย่างเด่นชัดในการกระจายเสรีภาพทางศาสนา ข้าพเจ้าเคยเห็นความก้าวหน้านี้ในช่วงชีวิตของข้าพเจ้าเอง ตัวอย่างหนึ่งเกิดขึ้นในปี 1948 เมื่อข้าพเจ้าอายุเพียงสามขวบ สมัชชาสหประชาชาติลงมติยอมรับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งเรียกร้องให้ “ทุกคน [มี] สิทธิ์ได้รับเสรีภาพในด้านความคิด มโนธรรม และศาสนา”3

world religion

เมื่อข้าพเจ้าอายุ 21 ปี มีการเจรจาเรื่องสนธิสัญญาฉบับหนึ่งเพื่อทำให้ประกาศของสหประชาชาติมีผลผูกมัด สนธิสัญญาดังกล่าว—เรียกว่ากติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง—เสริมความคิดที่ว่าแต่ละบุคคลควรมี “เสรีภาพในการยอมรับนับถือศาสนาหรือความเชื่อตามการเลือกของตน เสรีภาพทั้งรายบุคคลหรือในชุมชนกับผู้อื่นและในที่สาธารณะหรือที่ส่วนตัว ในการปฏิบัติตามศาสนาหรือความเชื่อของตนในการนมัสการ การประกอบพิธีกรรมทางศาสนา การทำตามหลักศาสนา และการสอน”4 สนธิสัญญาดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในอีก 10 ปีต่อมาคือปี 1976

จนถึงปี 2017 มี 169 ประเทศเข้าร่วมสนธิสัญญา—เกือบจะทุกประเทศที่พัฒนาแล้วในโลก5 อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งอเมริกา (ข้อสัญญาเรื่องซานโฮเซ คอสตาริกา) ซึ่งลงมติยอมรับในปี 1969 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 1978 จะคุ้มครองเสรีภาพทางศาสนาในภาษาเดียวกัน6

เหตุผลที่เชื่อถือได้หลายข้อสนับสนุนความก้าวหน้าในเรื่องนี้และควรกระตุ้นให้เราสนับสนุนมากขึ้นเช่นกัน เสรีภาพทางศาสนาเชื่อมสัมพันธ์เหนียวแน่นกับเศรษฐกิจ สาธารณสุข และประโยชน์ของพลเมือง7 โดยทั่วไป บุคคลที่เคร่งศาสนามีชีวิตครอบครัวดีกว่า ชีวิตสมรสมั่นคง การใช้สารเสพติดและอาชญากรรมน้อยกว่า ระดับการศึกษาสูงกว่า เต็มใจทำงานอาสาและบริจาคเพื่อการกุศลมากกว่า นิสัยการทำงานดีกว่า ชีวิตยืนยาวกว่า สุขภาพดีกว่า รายได้มากกว่า ระดับความเป็นอยู่และความสุขสูงกว่า8 เห็นชัดว่าเสรีภาพทางศาสนาและการปฏิบัติของศาสนาทำให้สังคมเป็นปึกแผ่นมากขึ้น

ต้องมีความระแวดระวังและความร่วมมือ

น่าเสียดายที่ระบบการคุ้มครองเสรีภาพทางศาสนาและความเชื่อมักจะอ่อนแอ ไม่ได้รับความเอาใจใส่ และถูกโจมตี แรงกดดันมากมายพยายามเหนี่ยวรั้งเสรีภาพทางศาสนาแม้ในขณะที่เสรีภาพนั้นแผ่ขยาย—รวมทั้งในประเทศที่คุ้มครองเสรีภาพดังกล่าวอย่างแข็งขันที่สุดมาเนิ่นนาน แรงกดดันเหล่านี้มีอิทธิพลเหนือกว่าหรือกำลังได้ที่มั่นในหลายประเทศ ชาวโลกส่วนใหญ่ไม่คิดว่าพวกเขาจะพบงานเฉลิมฉลองแบบที่เราชื่นชอบที่นี่ในบราซิล

น่าแปลกที่ในปี 2013 ประชาชนประมาณ 5.5 พันล้านคน—77 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก—อาศัยอยู่ในประเทศที่มีข้อจำกัดสูงหรือสูงมากในเรื่องเสรีภาพทางศาสนา ขึ้นมาจาก 68 เปอร์เซ็นต์เมื่อหกปีก่อน9

ประชาธิปไตยตะวันตกเกือบทั้งหมดอ้างว่าเชื่อในหลักเสรีภาพทางศาสนา การนำหลักดังกล่าวมาใช้สามารถทำให้เกิดการโต้เถียงอย่างรุนแรงได้ การคุกคามเสรีภาพทางศาสนาเกิดขึ้นเมื่อคนเคร่งศาสนาและสถาบันศาสนาพยายามพูดหรือทำบางสิ่ง—หรือปฏิเสธที่จะพูดหรือทำบางสิ่ง—ขัดกับปรัญชาหรือเป้าหมายของผู้มีอำนาจ รวมทั้งเสียงข้างมากทางการเมือง ศาสนามักสวนกระแสวัฒนธรรมและด้วยเหตุนี้จึงไม่เป็นที่นิยมชมชอบ เพราะเหตุนี้ เสรีภาพทางศาสนาจึงมักจะถูกคัดค้านในทางปฏิบัติ แม้ที่นั่นจะสนับสนุนในหลักการก็ตาม

ในยุโรปและอเมริกาเหนือมีการโต้เถียงอย่างรุนแรงในหลายประเด็น อาทิ นิกายต่างๆ จะตัดสินใจได้อย่างไรว่าจะจ้างใคร (หรือไม่จ้างใคร) เป็นบาทหลวงของพวกเขา แต่ละบุคคลสามารถสวมชุดนักบวชหรือติดสัญลักษณ์บนชิ้นงานหรือที่โรงเรียนได้หรือไม่ นายจ้างต้องจ่ายค่าคุมกำเนิดและค่าทำแท้งให้ลูกจ้างหรือไม่ บุคคลจะจำใจให้บริการที่ขัดกับความเชื่อของตนได้ไหม จะปฏิเสธหรือเพิกถอนการรับรองคุณภาพมหาวิทยาลัยหรือการแต่งตั้งอาจารย์เพราะมาตรฐานทางศีลธรรมหรือความเชื่อได้หรือไม่ และจะเรียกร้องให้องค์กรนักศึกษาศาสนายอมรับนักศึกษาที่มีความเชื่อขัดกันได้หรือไม่

ประเทศที่มีความหลากหลายทางศาสนาอย่างบราซิลประสบปัญหาทำนองเดียวกัน อาทิ การปิดธุรกิจวันอาทิตย์ การสวมชุดนักบวช และการคุ้มครองประเพณีของคนผิวดำที่อาศัยอยู่ในบราซิล เราสำนึกคุณที่เสรีภาพทางศาสนาเอื้อประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหามากมายเหล่านี้ การแก้ปัญหาอย่างถูกต้องเหมาะสมทันท่วงทีในเรื่องการปฏิบัติตามความเชื่อทางศาสนาโดยเสรีจะมีค่าเหลือล้นต่อการเคารพความหลากหลายของบราซิลอย่างต่อเนื่อง การที่บราซิลยอมให้คนเคร่งศาสนาและองค์กรศาสนาดำเนินชีวิตตามความเชื่อของตนอย่างเปิดเผยโดยไม่มีการว่ากล่าวกันส่งผลให้บราซิลยังคงเป็นแบบอย่างที่โชติช่วงและเปี่ยมด้วยหวังต่อโลกในเรื่องเสรีภาพทางศาสนา

ข้าพเจ้ากระตุ้นให้ท่านยึดมั่นเสรีภาพที่ท่านหล่อหลอมไว้ที่บ้าน และกล้าเป็นผู้นำในการส่งเสริมเสรีภาพทางศาสนาบนเวทีโลก การปกป้องคุ้มครองเสรีภาพทางศาสนา—อย่างถูกทำนองคลองธรรมและสมดุลซึ่งจะคุ้มครองสิทธิพื้นฐานของผู้อื่นด้วย—คือความจำเป็นเร่งด่วน

puzzle pieces

ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายยินดีสนับสนุนท่านและคนอื่นๆ ในการพยายามทำงานอันสำคัญยิ่งนี้ ถึงแม้เราจะมองในแง่ดีว่าความพยายามของเราจะสร้างความแตกต่าง แต่เราต้องทำความพยายามเหล่านี้ร่วมกัน เพราะไม่มีใครในพวกเราชนะการต่อสู้ครั้งนี้เพียงลำพังได้ ข้าพเจ้ากล่าวย้ำสิ่งที่เพื่อนร่วมงานของข้าพเจ้า เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวเมื่อเร็วๆ นี้ในการประชุมอภิปรายคล้ายกับครั้งนี้ว่า

“พวกเราที่เชื่อในพระผู้เป็นเจ้าและในความจริงแท้แน่นอนของความถูกผิดจำเป็นต้องสามัคคีกันมากขึ้นเพื่อคุ้มครองเสรีภาพทางศาสนาของเราในการสั่งสอนและปฏิบัติศรัทธาเราในพระผู้เป็นเจ้าและหลักธรรมของความถูกผิดที่พระองค์ทรงสถาปนาไว้ … ข้าพเจ้ากำลังบอกว่าทั้งหมดที่จำเป็นต่อความสามัคคีและความร่วมมือกันคือความเชื่อเหมือนกันว่ามีความถูกผิดในพฤติกรรมมนุษย์ที่พระผู้สูงสุดทรงสถาปนาไว้ ทุกคนที่เชื่อใน [หลักธรรม] พื้นฐานดังกล่าวควรสามัคคีกันมากขึ้นเพื่อปกป้องและเสริมสร้างเสรีภาพในการสนับสนุนและการปฏิบัติตามความเชื่อทางศาสนาของเราไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม เราต้องเดินไปด้วยกันบนเส้นทางเดียวกันเพื่อคุ้มกันเสรีภาพของเราในการดำเนินตามวิธีของเราเมื่อถึงคราวจำเป็นตามความเชื่อของเราเอง”10

ภาระหน้าที่ของเราจะยากและเรียกร้องให้ระแวดระวังตลอดเวลา แต่มีความสำคัญสูงสุด

ข้าพเจ้าทิ้งท้ายด้วยข้อความจากพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา ข้อความนี้ได้รับการเปิดเผยในปี 1835 ณ เวลาที่แม้จะมีความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแต่บรรพบุรุษของเราก็ยังถูกขับไล่ออกจากบ้านเพราะน้อมรับสิ่งที่ดูเหมือนเป็นความเชื่อใหม่และแตกต่างจากผู้อื่น ข้อความนี้จึงเป็นเครื่องเตือนใจในยุคสมัยของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อข้อจำกัดมากมายของปัจจุบันในเรื่องเสรีภาพทางศาสนาเข้ามาในประเทศที่สนับสนุนหลักธรรมแต่บางครั้งไม่นำมาปฏิบัติ

พระคัมภีร์กล่าวว่า “ไม่มีการปกครองใดจะดำรงอยู่ได้อย่างสันติสุข, เว้นแต่จะร่างกฎหมายเช่นนั้นขึ้นและธำรงไว้มิให้ถูกล่วงละเมิดในอันที่จะให้ความเชื่อมั่นแก่ปัจเจกบุคคลถึงการใช้มโนธรรมอย่างเสรี” ฝ่ายปกครองอาจ “หยุดยั้งอาชญากรรม, แต่ไม่บังคับมโนธรรม; [พวกเขา] ควรลงโทษที่ความผิด, แต่ไม่กดขี่เสรีภาพของจิตวิญญาณ” (คพ. 134:2, 4)

ขอให้เราแสวงหาสันติภาพโดยช่วยกันปกป้องคุ้มครองเสรีภาพของคนทั้งปวงในการยึดมั่นและแสดงออกตามการเลือกทางศาสนาหรือการเลือก ไม่ว่ารายบุคคลหรือในชุมชนกับผู้อื่น ที่บ้านหรือต่างแดน ในที่สาธารณะหรือที่ส่วนตัว และในการนมัสการ การประกอบพิธีกรรมทางศาสนา การทำตามหลักศาสนา และการสอน

อ้างอิง

  1. ดู “Brazil Has Lowest Government Restrictions on Religion among 25 Most Populous Countries,” July 22, 2013, theweeklynumber.com/weekly-number-blog; “Restrictions and Hostilities in the Most Populous Countries,” Feb. 26, 2015, pewforum.org.

  2. Kokkinakis v. Greece, 3/1992/348/421 (May 25, 1993), para. 31; Nolan and K. v. Russia, 2512/04 (Feb. 12, 2009), para. 61; ดู Serif v. Greece, 38178/97 (Dec. 14, 1999), para. 49; European Convention on Human Rights, Article 9 ด้วย.

  3. สหประชาชาติ, ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน, มาตรา 18, 10 ธ.ค., 1948, un.org/en/documents/udhr.

  4. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง, มาตรา 18, 16 ธ.ค., 1966, ohchr.org/EN/ProfessionalInterest/Pages/CCPR.aspx.

  5. ดู กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง; ดู W. Cole Durham Jr., Matthew K. Richards, and Donlu D. Thayer, “The Status of and Threats to International Law on Freedom of Religion or Belief,” in Allen D. Hertzke, ed., The Future of Religious Freedom: Global Challenges (2013), 31–66 ด้วย.

  6. ดู อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งอเมริกา “ข้อสัญญาเรื่องซานโฮเซ คอสตาริกา” 22 พ.ย., 1969 (Inter-American Specialized Conference on Human Rights), oas.org; ดู Juan G. Navarro Floria and Octavio Lo Prete, “Proselitismo y Libertad Religiosa: Una Visión desde América Latina,” in Anuario de Derecho ด้วย.

  7. ดู Brian J. Grim, Greg Clark, and Robert Edward Snyder, “Is Religious Freedom Good for Business?: A Conceptual and Empirical Analysis,” Interdisciplinary Journal of Research on Religion, vol. 10 (2014), 4–6; Paul A. Marshall, “The Range of Religious Freedom,” in Paul A. Marshall, ed., Religious Freedom in the World (2008), 1–11.

  8. ดู Patrick F. Fagan, “Why Religion Matters Even More: The Impact of Religious Practice on Social Stability,” Backgrounder, no. 1992 (Dec. 18, 2006), 1–19; Robert D. Putnam and David E. Campbell, American Grace: How Religion Divides and Unites Us (2010), 443–92.

  9. ดู “Latest Trends in Religious Restrictions and Hostilities,” Feb. 26, 2015, pewforum.org.

  10. ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “Preserving Religious Freedom” (lecture at Chapman University School of Law, Feb. 4, 2011), mormonnewsroom.org.