2018
ฉันจะขอให้เพื่อนๆ ไม่พูดให้ร้ายหรือไม่เหมาะสมเกี่ยวกับคนอื่นๆ ได้อย่างไร
February 2018


คำถาม & คำตอบ

ฉันจะขอให้เพื่อนๆ ไม่พูดให้ร้ายหรือไม่เหมาะสมเกี่ยวกับคนอื่นๆ ได้อย่างไร

การนินทา คำพูดให้ร้าย คำพูดหยาบคาย—ท่านอาจจะเคยได้ยินทั้งหมดนี้มาแล้วขณะเดินไปตามทางเดินในโรงเรียนของท่าน บางครั้งเพื่อนๆ ของท่านมีส่วนด้วย ท่านอาจจะรู้สึกไม่สบายใจและไม่ทราบจะตอบสนองอย่างไร แต่ท่านสามารถสร้างความแตกต่างได้โดยเป็นแบบอย่างที่ดี

ถึงแม้การเผชิญหน้ากับผู้อื่นไม่ใช่เรื่องสนุก แต่จำไว้ว่า “ภาษาหรือท่าทางที่ลบหลู่ หยาบคาย หรือไม่ถูกกาลเทศะ เช่นเดียวกับความตลกคะนองที่ไร้ศีลธรรมจรรยา ล้วนเป็นที่น่ารังเกียจต่อพระเจ้าและผู้อื่น”1 ถึงแม้จะพูดล้อเล่น แต่คำพูดเหล่านั้นก็ยังเจ็บอยู่ดี

ถ้าเพื่อนๆ พูดจาไม่เหมาะสมหรือพูดไม่ดีเกี่ยวกับผู้อื่น “จงขอร้องเขาด้วยความอ่อนโยนให้เลือกใช้คำอื่น ถ้าเขายังขืนทำต่อไป จงเดินหนีหรือเปลี่ยนเรื่องอย่างสุภาพ”2 อธิบายว่าท่านเชื่อว่าทุกคนเป็นลูกของพระผู้เป็นเจ้าและควรได้รับความเคารพตามนั้น จงเลือกเป็นเพื่อนที่ให้กำลังใจทุกคนแทนที่จะเป็นศัตรูผู้วิพากษ์วิจารณ์และเยาะเย้ยผู้อื่น แบบอย่างที่เข้มแข็งของท่านจะเป็นต้นแบบให้เพื่อนๆ

เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน สอนว่า “ภาษาที่สะอาดและฉลาดเป็นหลักฐานยืนยันความคิดที่ดีงามและหลักแหลม”3 จงให้คำพูดของท่านสะท้อนความเชื่อของท่าน และพระวิญญาณจะอยู่กับท่านเพื่อให้การนำทางในสถานการณ์ยากๆ เหล่านี้

และมั่นใจได้ว่า—เพื่อนๆ จะเคารพท่านเพราะการตัดสินใจใช้ภาษาสะอาดและหนุนใจที่เน้นคุณสมบัติอันดีของผู้อื่น

ช่วยกันคิดบวกเสมอ

ดิฉันกับเพื่อนๆ สวมสร้อยข้อมือ และทุกครั้งที่เราพูดไม่ดีบางอย่างเกี่ยวกับผู้อื่น เราจะดึงยางยึดที่สร้อยข้อมือของคนพูดให้ดีดผิวของเขา นี่เตือนใจเราได้เป็นอย่างดีให้คิดดีและพูดดีอยู่เสมอ

แคโรไลน์ เจ. อายุ 18 ปี รัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกา

ขอความช่วยเหลือจากพระผู้เป็นเจ้า

การสวดอ้อนวอนจะช่วยให้คุณได้พลังจากพระผู้เป็นเจ้าเพื่อรู้วิธีพูดกับคนอื่นๆ อันดับแรก ทูลขอพระเจ้าให้รู้วิธีพูดกับเพื่อนๆ ของคุณ ทูลขอให้พระองค์ทรงช่วยเพื่อนๆ ของคุณเข้าใจความสำคัญของการมองทุกคนเป็นบุตรธิดาที่รักของพระบิดาบนสวรรค์เช่นกัน เน้นความสำคัญของการมองส่วนดีที่สุดในผู้อื่นและไม่พูดไม่ดีเกี่ยวกับพวกเขา

วิคตอเรีย เคอร์เซีย เอ็ม. อายุ 19 ปี, ปีเอาอี บราซิล

น้อมรับความต่างด้วยความรัก

เพื่อนๆ ของดิฉันต้องรู้ว่าเพราะเราแต่ละคนมีข้อดีต่างกัน เราจึงเอื้อประโยชน์ต่อกันได้ แม้ผู้อื่นจะมีข้อบกพร่อง แต่เราต้องรักพวกเขามากขึ้นเสมอ และเราต้องเชื่อในพลังการเปลี่ยนแปลงที่พบในการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดด้วย

เอสเธอร์ เอ็ม. อายุ 19 ปี เมืองอึมบูจีไมอี สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก

พูดตรงๆ

คุณสามารถบอกเพื่อนอย่างสุภาพว่า “หยุดพูดแบบนั้นเถอะ ฉันไม่ชอบ” หรือ “อย่าพูดแบบนั้นเลยนะ มันหยาบคาย” พระบัญญัติข้อใหญ่หนึ่งในสองข้อคือ “จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง” (มัทธิว 22:39)

เคลย์ตัน พี. อายุ 14 ปี, รัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา

เปลี่ยนมุมมองของพวกเขา

คุณบอกพวกเขาได้ว่าสิ่งที่พวกเขาทำอยู่นั้นไม่ถูกต้องและพวกเขาควรพยายามทำให้ผู้อื่นสุขใจไม่ใช่เศร้าใจ คุณบอกพวกเขาได้ว่าพวกเขาจะรู้สึกอย่างไรถ้าพวกเขาเป็นฝ่ายได้รับคำพูดให้ร้ายจากคนอื่น ช่วยให้พวกเขามองสถานการณ์จากอีกมุมหนึ่ง การช่วยให้ผู้อื่นเป็นคนดีขึ้นจะทำให้คุณสามารถรู้สึกถึงพระวิญญาณบ่อยขึ้น และพระเจ้าจะทรงอวยพรคุณสำหรับการกระทำที่ชอบธรรมของคุณ

ดาร์เร็น โอ. อายุ 15 ปี, รัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกา

มีความกล้า

เช่นเดียวกับเอสเธอร์, โจเซฟ สมิธ, โจเซฟแห่งอียิปต์ และบุคคลสำคัญอีกหลายคนในพระคัมภีร์ คุณสามารถมีความกล้าพอจะหยุดเพื่อนๆ จากการพูดไม่เหมาะสมเกี่ยวกับผู้อื่นได้ ดิฉันกำลังประสบสถานการณ์เดียวกัน และดิฉันกล้าพูดกับเพื่อนๆ ด้วยความรักและความเข้าใจ พวกเขายอมรับและเข้าใจในท้ายที่สุดว่าการใช้ภาษาที่บริสุทธิ์และคู่ควรสำคัญอย่างยิ่ง! นอกจากอ่านพระคัมภีร์และสวดอ้อนวอนแล้ว การอดอาหารช่วยได้มากในสถานการณ์เหล่านั้น จงสวดอ้อนวอนและทูลขอด้วยศรัทธาให้พระบิดาบนสวรรค์ประทานความกล้าให้คุณพูดและสัมผัสใจเพื่อนๆ ของคุณ

พอลา เอช. อายุ 17 ปี, ซานซัลวาดอร์ เอลซัลวาดอร์

เป็นแบบอย่าง

วิธีที่ดีที่สุดคือเป็นแบบอย่าง เป็นฝ่ายเริ่มต้นพูดสิ่งดีๆ เกี่ยวกับคนที่คุณกำลังพูดถึง คุณจะประหลาดใจเมื่อพบว่าการสนทนาเปลี่ยนได้เร็วมาก

เอ็ลเดอร์อีดส์ อายุ 24 ปี, คณะเผยเแผ่เกาหลี โซลใต้

อธิบายข้อเสีย

บอกเพื่อนๆ ของคุณว่าพวกเขากำลังพลาดประสบการณ์ดีๆ หลายอย่างและขาดการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น อธิบายว่าการพูดคำหยาบไม่ดีเพราะทำให้คุณเหินห่างจากผู้อื่นและทำให้ความคิดคุณแปดเปื้อน คนดีจะไม่คบคุณเพราะคุณใช้คำพูดไม่ดี

เอลิสา เฟอร์เรอิรา เอส., อายุ 16 ปี, มีนัสเจเรียส บราซิล

อ้างอิง

  1. แน่วแน่ต่อศรัทธา: ศัพทานุกรมพระกิตติคุณ (2004), 62.

  2. แน่วแน่ต่อศรัทธา, 62.

  3. เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน (จุลสาร, 2011), 20.