2018
พระเจ้าทรงเมตตาเพียงใด
ตุลาคม 2018


พระเจ้าทรงเมตตาเพียงใด

ชุดหนังสือประวัติศาสนจักรชุดใหม่จะช่วยให้เรารักษาพันธสัญญาของเราโดยขยายความทรงจำของเราเกี่ยวกับสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำเพื่อเรา

ภาพ
holding Saints book

เป็นครั้งแรกในเกือบหนึ่งร้อยปีที่มีการจัดพิมพ์ประวัติศาสนจักรชุดใหม่ภายใต้การกำกับดูแลของฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสอง ประวัติเชิงบรรยายชื่อ วิสุทธิชน: เรื่องราวของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ในยุคสุดท้าย เล่มนี้เล่าเรื่องจริงของคนธรรมดาสามัญผู้กลายเป็นวิสุทธิชนผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ (ดู โมไซยาห์ 3:19) เล่มแรกชื่อ มาตรฐานแห่งความจริง ค.ศ. 1815–1846 เสร็จสมบูรณ์แล้วและแปลเป็น 14 ภาษาเพื่อแจกจ่ายไปยังภูมิภาคต่างๆ ของโลก

วิสุทธิชน เป็นเรื่องราวที่พระผู้เป็นเจ้าทรงฟื้นฟูพันธสัญญาอันเป็นนิจของพระองค์เพราะความรักที่ทรงมีต่อบุตรธิดาของพระองค์ แสดงให้เห็นว่าพระเจ้าทรงฟื้นฟูพระกิตติคุณเพื่อให้ความหวังและสันติสุขในช่วงของความโกลาหล การทดลอง และความทุกข์อย่างไร ทั้งยังแสดงให้เห็นด้วยว่าพันธสัญญาที่ได้รับการฟื้นฟูนำไปสู่ความสูงส่งผ่านพระเยซูคริสต์อย่างไร

ท่านอาจจะคาดหวังให้เรื่องราวเริ่มจากโจเซฟ สมิธ แต่ วิสุทธิชน เริ่มต้นในปี 1815 พร้อมกับการระเบิดของภูเขาไฟในอินโดนีเซียซึ่งเป็นเหตุให้ความตาย โรคภัย และความปั่นป่วนกระจายเป็นวงกว้าง ที่เลือกตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นเพราะพระเจ้าทรงเปิดเผยว่าพระองค์ทรงฟื้นฟูพันธสัญญาที่ผูกมัดเรากับพระผู้ช่วยให้รอดและเปิดทางให้เราเอาชนะปัญหาทั้งหมดของชีวิต

“เรา พระเจ้า, โดยรู้ภัยพิบัติซึ่งจะเกิดขึ้นกับผู้อยู่อาศัยของแผ่นดินโลก, จึงเรียกหาผู้รับใช้ของเรา โจเซฟ สมิธ, จูเนียร์, และพูดกับเขาจากสวรรค์, และให้บัญญัติเขา; …

“เพื่อพันธสัญญาอันเป็นนิจของเราจะได้รับการสถาปนา” (คพ. 1:17, 22)

นับจากจุดเริ่มต้นจนกระจายไปทั่วโลก วิสุทธิชน ส่งสัญญาณให้บุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าทุกหนแห่งรู้ว่านี่เป็นเรื่องราวพันธสัญญาของพวกเขากับพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงทราบความยากลำบากของพวกเขา พระองค์ทรงต่อพันธสัญญาผ่านศาสดาพยากรณ์ว่าจะไม่ขจัดความชั่วร้าย โทมนัส ความทุกข์ และการพลัดพรากเมื่อสิ้นชีวิตแต่ทรงสัญญาจะเยียวยาผ่านการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด ชำระชีวิตเราให้บริสุทธิ์และทำให้มีความหมายล้ำเลิศ และรับรองกับเราว่าความสัมพันธ์ที่เราทะนุถนอมบนโลกนี้จะดำรงอยู่ในนิรันดร “ควบคู่ไปกับรัศมีภาพนิรันดร์” (ดู คพ. 130:2)

แปดบทแรกของ มาตรฐานแห่งความจริง จัดพิมพ์ไปแล้วในนิตยสารฉบับนี้ตลอดปี ฉบับเดือนนี้สรุปหลายบทจาก วิสุทธิชน แต่เรื่องราวดำเนินต่อเนื่องที่ saints.lds.org ในแอปพลิเคชันคลังค้นคว้าพระกิตติคุณ และพิมพ์ออกจำหน่ายแล้ว (สั่งซื้อได้ที่ store.lds.org) ข้าพเจ้าเชื้อเชิญให้ท่านอ่านต่อเนื่องในช่องทางใดช่องทางหนึ่งเหล่านี้

แผนงานและแบบแผนของสวรรค์

วิสุทธิชน ดำเนินตามแบบแผนซึ่งศาสดาพยากรณ์ใช้ในอดีต อันเป็นการปฏิบัติศาสนกิจส่วนหนึ่งของพวกท่าน เพื่อช่วยให้เราเรียนรู้ว่าเราเป็นใครและมองเห็นจุดประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าในชีวิตเรา ในพระคัมภีร์ ศาสดาพยากรณ์หลายท่านเริ่มการสอนโดยเล่าทวนเรื่องราวพระเมตตาของพระเจ้าที่ทรงมีต่อบรรพบุรุษของพวกท่าน1 โมโรไนชักชวนให้ผู้อ่านพระคัมภีร์มอรมอน “จำไว้ว่าพระเจ้าทรงเมตตาลูกหลานมนุษย์เพียงใด” ตลอดประวัติศาสตร์ “และไตร่ตรองในใจท่าน” (โมโรไน 10:3) การใคร่ครวญพระคุณความดีของพระผู้เป็นเจ้าเตรียมเราให้พร้อมรับพยานของพระวิญญาณ ซึ่งสอนเรา “ถึงเรื่องดังที่มันเป็นจริง, และถึงเรื่องดังที่มันจะเป็นจริง” (เจคอบ 4:13; ดู โมโรไน 10:4–5 ด้วย)

ภาพ
dad holding children

การรู้ว่าพระบิดาพระมารดาบนสวรรค์ของเราทรงวางแผนเพื่อความสุขและความสูงส่งของเราในท้ายที่สุดทำให้เรามองไปข้างหน้า รู้ตัวว่าเราเป็นบุตรธิดาที่รักของพระบิดาพระมารดาบนสวรรค์ และเพิ่มความเชื่อมั่นของเราในพระเจ้า แม้ในช่วงยากลำบาก การจดจำพระคุณความดีของพระเจ้าสามารถป้องกันไม่ให้ความจองหองและภัยของความรุ่งเรืองเกิดขึ้นกับเรา มอรมอนเขียนเกี่ยวกับเวลาที่ชาวนีไฟ “เริ่มร่ำรวยอย่างยิ่ง” แต่ไม่เหมือนช่วงเวลาอื่นในพระคัมภีร์มอรมอนเมื่อผู้คนยอมให้ความจองหองและความร่ำรวยนำพวกเขาลงต่ำ คราวนี้พวกเขาเดินอีกเส้นทางหนึ่ง “แต่ทั้งที่พวกเขามีความมั่งคั่ง, หรือมีกำลัง, หรือมีความรุ่งเรือง, พวกเขายังไม่ทะนงตนด้วยความถือดีในสายตาตน; ทั้งพวกเขาไม่เชื่องช้าที่จะระลึกถึงพระเจ้าพระผู้เป็นเจ้าของตน; แต่นอบน้อมถ่อมตนอย่างยิ่งต่อพระพักตร์พระองค์” พวกเขารักษาพันธสัญญาและยังชอบธรรมเหมือนเดิมเพราะ “พวกเขาจดจำว่าพระเจ้าได้ทรงทำสิ่งสำคัญยิ่งเพียงใดสำหรับพวกเขา” (ดู แอลมา 62:48–50)

วิสุทธิชน สอนบทเรียนเช่นนี้และอีกมากมาย หนังสือเล่มนี้จะช่วยให้ท่านเห็นพระหัตถ์ของพระเจ้าในชีวิตท่านขณะท่านประสบการทดลองศรัทธา ความปวดร้าวใจและปีติ การเปิดเผยและความตั้งใจแน่วแน่ร่วมกับคนไม่ดีพร้อมผู้รักพระเจ้าและรู้สึกถึงความรักของพระองค์

ขณะท่านอ่าน ท่านจะค้นพบข้อคิดและความหมายใหม่แม้ในเรื่องราวที่ท่านเคยได้ยินมาแล้ว ไม่มีเหตุการณ์ใดในประวัติศาสนจักรที่คนรู้จักมากกว่านิมิตแรกของโจเซฟ สมิธ แต่ วิสุทธิชน ช่วยให้เราเข้าใจดีขึ้นว่าโจเซฟพยายามทำให้สิ่งที่ท่านรู้สึกในใจสอดคล้องกับสิ่งที่ท่านคิดในใจอย่างไร

โจเซฟปรารถนาจะรู้สึกถึงการให้อภัยของพระผู้ช่วยให้รอดแต่ไม่สมปรารถนาเพราะท่านสังเกตเห็นว่านิกายที่มีอยู่ไม่ได้สอน “พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ตามที่บันทึกไว้ในพระคริสตธรรมใหม่”2 โจเซฟไตร่ตรองในใจว่านิกายใดถูกต้องหรือผิดทั้งหมด ในใจท่านหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนึ่งในนั้นถูกต้องเพื่อท่านจะพบสันติสุขที่ท่านแสวงหา เมื่อความคิดและจิตใจไม่ตรงกัน โจเซฟจึงค้นพบว่าท่านทูลถามพระผู้เป็นเจ้าได้ ท่านเข้าไปสวดอ้อนวอนในป่า ที่นั่นท่านเห็นพระบิดาและพระบุตรผู้ทรงให้อภัยท่านและไขข้อข้องใจของท่านในวิธีที่ท่านไม่นึกฝันมาก่อน3

โจเซฟ ครอบครัวท่าน และอีกหลายคนผู้น้อมรับพันธสัญญาที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเจ้าและต้องการรู้สึกถึงความรักที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมีต่อพวกเขาต่างเรียนรู้ว่าพวกเขาสามารถเข้าใกล้พระองค์ได้มากขึ้น และเยียวยาความสัมพันธ์กับคนที่พวกเขารักได้ วิสุทธิชน เล่าเรื่องราวของพวกเขา

การวางใจพระเจ้าในช่วงการทดลอง

เล่ม 1 ของ วิสุทธิชน รวมเรื่องราวบีบคั้นหัวใจของอแมนดา บาร์นส์ สมิธกับครอบครัวเธอผู้เชื่อฟังพระบัญญัติของพระเจ้าและทำตามพระประสงค์ของพระองค์4 สามีของอแมนดากับบุตรชายคนหนึ่งของเธอถูกสังหารอย่างเหี้ยมโหดพร้อมวิสุทธิชนยุคสุดท้ายอีก 15 คนขณะตั้งค่ายอยู่ที่ถิ่นฐานเล็กๆ แห่งหนึ่งริมโชลครีกในรัฐมิสซูรี พระเจ้าทรงประคับประคองอแมนดาผ่านประสบการณ์อันเลวร้าย ทรงตอบคำสวดอ้อนวอนของเธอ ประทานความกล้าหาญให้เธอ และทำให้เธอสามารถรักษาบุตรชายที่บาดเจ็บสาหัสได้5

วิสุทธิชน แสดงให้เห็นว่าอแมนดาเรียนรู้ที่จะวางใจพระเจ้าท่ามกลางความยากลำบากเหลือแสน ทั้งยังบอกด้วยว่าโจเซฟ สมิธเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระคุณความดีของพระผู้เป็นเจ้าแม้ในช่วงทุกข์ทรมาน เรื่องราวดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการรู้วิธีการของพระเจ้าทำให้เรามองไกลถึงนิรันดร ช่วยให้เรามองเห็นสิ่งต่างๆ ตามที่เป็นจริง และจะเป็นจริง และช่วยให้เรามีศรัทธาว่าพระเจ้าจะทรงช่วยให้เราผ่านพ้นช่วงเวลายากๆ

เมื่อศาสดาพยากรณ์โจเซฟทราบเรื่องราวที่เกิดกับครอบครัวของอแมนดาและคนอื่นๆ ริมโชลครีก ท่านรู้ว่าท่านน่าจะเข้าไปอยู่ในเรือนจำหรือให้คนเหล่านั้นสังหารท่านดีกว่าปล่อยให้วิสุทธิชนถูกสังหาร วันรุ่งขึ้นท่านพยายามเจรจาหาทางออกอย่างสันติกับทหารบ้านมิสซูรี ซึ่งมีทีท่าจะโจมตีถิ่นฐานหลักของวิสุทธิชนในฟาร์เวสต์ แต่โจเซฟถูกจับเป็นนักโทษแทน

ราวห้าเดือนต่อมา โจเซฟยังถูกคุมขังอยู่ในห้องใต้ดินที่คับแคบหนาวเหน็บในลิเบอร์ตี้ รัฐมิสซูรี ท่านสงสัยว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงซ่อนอยู่ที่ใดและพระองค์จะทนฟังเสียงร้องของหญิงม่ายและเด็กกำพร้าอีกนานเท่าใด ท่านสวดอ้อนวอนว่า “ข้าแต่พระเจ้า, อีกนานเท่าใดเล่าที่พวกเขาจะทนรับการกระทำผิดและการกดขี่ที่ผิดกฎเหล่านี้, ก่อนที่พระทัยของพระองค์จะอ่อนลงต่อพวกเขา และพระอุทรของพระองค์จะทรงหวั่นไหวด้วยความสงสารพวกเขา?” (คพ. 121:3)

วิสุทธิชน สอนเราว่าความยากลำบากไม่ใช่หลักฐานแสดงความไม่โปรดปรานของพระเจ้า ทั้งไม่ใช่การถอนพรของพระองค์ การตรงกันข้ามเป็นแผนส่วนหนึ่งของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อขัดเกลาเราและเตรียมเราให้พร้อมรับจุดหมายนิรันดร์ซีเลสเชียล (ดู 2 นีไฟ 2:11) โจเซฟเรียนรู้ว่าความทุกขเวทนาอันไร้ขอบเขตของพระผู้ช่วยให้รอดเปิดทางให้พระองค์ทรงช่วยเราเมื่อเราทนทุกข์และทำให้เราสูงส่งในท้ายที่สุด (ดู แอลมา 7:11–13) เพื่อตอบคำร้องทูลที่ปวดร้าวของโจเซฟ พระเจ้าทรงแจกแจงความท้าทายทุกรูปแบบก่อนจะทรงสรุปว่า

“หากขากรรไกรแห่งนรกนั่นเองจะอ้าปากกว้างเพื่องับเจ้า, จงรู้ไว้เถิด, ลูกพ่อ, ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้จะเป็นประสบการณ์แก่เจ้า, และจะเกิดขึ้นเพื่อความดีของเจ้า.

“บุตรแห่งพระมหาบุรุษเคยลดพระฐานะลงต่ำกว่าสิ่งเหล่านั้นทั้งหมด. เจ้ายิ่งใหญ่กว่าพระองค์หรือ?” (คพ. 122:7–8)

การประสบ สิ่งเหล่านี้ ด้วยตัวเราเองทำให้เราเกิดความเห็นใจเหมือนพระคริสต์ต่อผู้ทุกข์ยาก “หลังจากนี้ใจข้าพเจ้าจะอ่อนโยนมากกว่าแต่ก่อน” โจเซฟตระหนักขณะอยู่ในคุก ท่านปรารถนาจะอยู่กับวิสุทธิชนเพื่อปลอบโยนและปลอบขวัญพวกเขา “ข้าพเจ้าไม่มีวันรู้สึกดังเช่นเวลานี้แน่นอน” ท่านอธิบาย “ถ้าข้าพเจ้าไม่เคยทนรับการกระทำผิดที่ข้าพเจ้าทนรับมาแล้ว”6

ภาพ
woman reading Saints book

เหตุผลหนึ่งที่ฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสองมอบหมายและอนุมัติให้เรียบเรียง วิสุทธิชน คือเพื่อจะสามารถช่วยให้เราแต่ละคนประสบ สิ่งเหล่านี้ ผ่านเรื่องราวของผู้อื่น เราสามารถเรียนรู้ได้จากอแมนดาว่าแม้เมื่อพระผู้เป็นเจ้าทรงเห็นควรในพระปรีชาญาณอันไร้ขอบเขตจะไม่ป้องกันความชั่วหรือความทุกข์ แต่พระองค์ทรงรักเราและสนพระทัยเรา พระองค์ทรงได้ยินคำสวดอ้อนวอนของเรา ทรงมีพระเมตตากรุณา

พรพระวิหารที่ได้รับการฟื้นฟู

ไม่มีที่ใดแสดงให้เราเห็นความเมตตากรุณามากไปกว่าในพระวิหาร หัวใจของหนังสือเล่มนี้ วิสุทธิชน เป็นเรื่องราวของพรพระวิหารที่ได้รับการฟื้นฟู เล่มแรกจบเมื่อวิสุทธิชนยุคสุดท้ายหลายพันคนได้รับศาสนพิธีศักดิ์สิทธิ์ในพระวิหารนอวูเมื่อปี 1846 เล่มสองจะสิ้นสุดเมื่ออุทิศพระวิหารซอทล์เลคและวิสุทธิชนเริ่มรับศาสนพิธีที่นั่นในปี 1893 เล่มสามจะจบเมื่อวิสุทธิชนชาวยุโรปเริ่มรวมกลุ่มกันไปพระวิหารในสวิตเซอร์แลนด์เมื่อปี 1955 เล่มสี่จะดำเนินเรื่องจนถึงปัจจุบันเมื่อพระวิหารกระจายอยู่ทั่วโลกและวิสุทธิชนทั่วโลกได้รับศาสนพิธีของความสูงส่งดังที่ศาสดาพยากรณ์เห็นในนิมิตนานมาแล้ว

ในพระนิเวศน์ของพระเจ้าเราทำพันธสัญญาและประสิทธิ์ประสาทด้วยพลังอำนาจเพื่อชนะผลของการตก รวมถึงความชั่วและความทุกข์ในโลกนี้ เราได้รับความคุ้มครองและสุดท้ายได้พลังอำนาจที่จะออกมาในการฟื้นคืนชีวิต รับการผนึกกับคนที่เรารักตลอดกาล

วิสุทธิชน จะช่วยให้เรารักษาพันธสัญญาโดยขยายความทรงจำของเราในรูปแบบที่ศักดิ์สิทธิ์ จะช่วยให้เราระลึกเสมอว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงทำอะไรเพื่อเรา หากไม่มีบันทึกวิธีการของพระผู้เป็นเจ้าในอดีต เราคง “จำ [ไม่ได้] ว่าพระเจ้าทรงเมตตาลูกหลานมนุษย์เพียงใด” (โมโรไน 10:3) เพราะเหตุผลเหล่านี้เราจึงเป็นหนี้พระเจ้าและวิสุทธิชนผู้บันทึกประสบการณ์ในเรื่องความรักที่พระองค์ทรงมีต่อพวกเขา พระเจ้าทรงบัญชาโจเซฟ สมิธให้บันทึกประสบการณ์ของท่าน (ดู คพ. 21:1) พระองค์ทรงบัญชาผู้เขียนประวัติศาสนจักรภายใต้การกำกับดูแลของโจเซฟให้ “จดบันทึกและประวัติของศาสนจักรอย่างต่อเนื่อง” (คพ. 47:3) พระองค์ทรงบัญชาให้ประวัติครอบคลุม “สิ่งทั้งปวงซึ่งจะเป็นประโยชน์ของศาสนจักร, และเพื่ออนุชนรุ่นหลัง” (คพ. 69:8)

ด้วยการเปิดเผยเหล่านี้และพันธสัญญาว่าจะระลึกถึงพระผู้ช่วยให้รอดตลอดเวลา ฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสองจึงเริ่มวางแผนจัดทำ วิสุทธิชน เมื่อ 10 ปีก่อน เวลานี้เรากระตุ้นให้ท่านอ่าน โดยวางใจว่าจะช่วยให้ท่านเข้าใจแผนของพระผู้เป็นเจ้า เห็นว่าพระเจ้าทรงมีพระเมตตาเพียงใด อดทนอย่างซื่อสัตย์ในยามดีและร้าย เห็นใจผู้อื่นเหมือนพระคริสต์ และรักษาพันธสัญญาอันจะนำท่านไปสู่ความสูงส่ง

อ้างอิง

  1. ตัวอย่างได้แก่ นีไฟ (1 นีไฟ 17:23–43) กษัตริย์เบ็นจามิน (โมไซยาห์ 1) ลิมไฮ (โมไซยาห์ 7) เทพของพระเจ้าปรากฏต่อแอลมา (โมไซยาห์ 27) แอลมา (แอลมา 9:10) มอรมอน (มอรมอน 3:17–22) และโมเสส (อพยพ 13:3)

  2. โจเซฟ สมิธ ใน “History, circa Summer 1832,” 2, josephsmithpapers.org

  3. ดู “History, 1838–1856, volume A-1 [23 December 1805–30 August 1834],” 3, josephsmithpapers.org.

  4. ดู “Revelation, 12 January 1838–C,” [1], josephsmithpapers.org.

  5. ดู วิสุทธิชน, เล่ม 1 บทที่ 30 “ต่อสู้เหมือนเหล่าเทพ.”

  6. “Letter to Presendia Huntington Buell, 15 March 1839,” [1], josephsmithpapers.org.

พิมพ์