ขยับเข้าใกล้มากขึ้น: รักดังที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงรัก
ผู้เขียนอาศัยอยู่ในรัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกา
เราเรียนรู้ได้มากจากแบบอย่างการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นของพระผู้ช่วยให้รอด
ในฐานะสมาชิกของศาสนจักรที่เป็นเกย์ เราหันมามองแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดบ่อยครั้งเพื่อช่วยให้เข้าใจวิธีหาทางสานสัมพันธ์กับสมาชิกศาสนจักรและคนอื่นๆ ได้ดีที่สุด วันหนึ่งเรากำลังนึกถึงวิธีที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงขอให้เรา “รักซึ่งกันและกัน เรารักพวกท่านมาแล้วอย่างไร ท่านก็จงรักกันและกันด้วยอย่างนั้น” (ยอห์น 13:34) เราพบว่าน่าสนใจตรงที่พระองค์ไม่ได้ตรัสว่า “เพราะ เรารักพวกท่าน” แต่ตรัสว่า “เรารักพวกท่านมาแล้ว อย่างไร” นี่ทำให้เรานึกถึง วิธี ที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงรักผู้คน พระองค์ทรงแสดงความรักในวิธีใดบ้าง?
เราตัดสินใจใช้เวลาส่วนหนึ่งศึกษาพันธ-สัญญาใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องราวที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ระหว่างทรงปฏิบัติศาสนกิจมรรตัย ในฐานะสามีภรรยาที่ทั้งคู่มีความเสน่หาเพศเดียวกัน เราจึงต้องการเข้าใจมากขึ้นเป็นพิเศษว่าพระเยซูทรงปฏิบัติอย่างไรต่อคนที่ดูเหมือนอยู่นอกนิยามความปกติของสังคม เราสังเกตเห็นรูปแบบสองสามอย่างต่อไปนี้
พระเยซูทรงจัดการความแตกต่างทางวัฒนธรรมด้วยความเมตตา
เราอยู่ในยุคที่มีความแตกแยกทางสังคมและการเมืองอย่างมาก มากเท่ากับช่วงพระชนม์ชีพของพระผู้ช่วยให้รอด ปัญหาบางอย่างในสมัยของพระองค์อยู่นานและฝังรากลึกในประวัติศาสตร์และความเชื่อทางวัฒนธรรม
ตัวอย่างเช่น พระเจ้าตั้งพระทัยเดินทางผ่านสะมาเรีย สถานที่ซึ่งชาวยิวหลีกเลี่ยงเพราะความบาดหมางย้อนไปหลายร้อยปี เมื่อพระเยซูทรงพบหญิงคนหนึ่งและทรงขอให้เธอตักน้ำ ดูเหมือนเธอมีปฏิกิริยาเสมือนเป็น “คนอื่น” ทางการเมืองและทางศาสนา—เน้นความแตกต่างระหว่างพระองค์ที่เป็นชาวยิวกับเธอที่เป็นชาวสะมาเรีย (ดู ยอห์น 4) พระเยซูทรงปฏิบัติต่อหญิงคนนี้เสมือนธิดาของพระผู้เป็นเจ้า ปฏิกิริยาของพระองค์ในการพูดคุยกับเธอด้วยความรักและความจริงเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับเราแต่ละคน กลยุทธ์ทั่วไปของปฏิปักษ์คือพยายามแยกเราเป็นค่ายต่างๆ ตั้งค่ายประจันหน้ากันในการรบ “แต่พระยาห์เวห์ทอดพระเนตรจิตใจ” (1 ซามูเอล 16:7)
ง่ายที่จะนำบทเรียนในเรื่องนี้มาประยุกต์ใช้กับสังคมของเราในปัจจุบัน ขณะที่เราใช้ชีวิตประจำวัน รวมทั้งเข้าร่วมการประชุมและกิจกรรมต่างๆ ของศาสนจักร เราพบคนมากหน้าหลายตาจากภูมิหลังต่างกัน โลกอาจถึงกับตราหน้าบางคนว่าเป็นศัตรูทางการเมืองหรือทางวัฒนธรรม แทนที่จะจดจ่อกับสิ่งที่แยกเราจากกัน เราสามารถเลือกจดจ่อกับสิ่งที่เรามีเหมือนกันในฐานะบุตรธิดาของพระบิดาพระมารดาบนสวรรค์และฝึกพูดคุยกับคนอื่นๆ ด้วยความรักดังที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำ
เมื่อพระผู้ช่วยให้รอดเสด็จเยือนผู้คนในอเมริกาหลังการฟื้นคืนพระชนม์ พระองค์ทรงสอนว่า “มาร … เป็นบิดาแห่งความขัดแย้ง, และเขายั่วยุใจมนุษย์ให้ขัดแย้งด้วยความโกรธ, ต่อกัน” (3 นีไฟ 11:29) ผู้คนฟังพระองค์ จนถึงรุ่นต่อมา พวกเขาสร้างสังคมที่ “ไม่มีคนรวยและคนจน, ทาสและไท, แต่พวกเขาเป็นอิสระทุกคน, และเป็นผู้รับส่วนในของประทานจากสวรรค์” (4 นีไฟ 1:3)
พระเยซูทรงขยับเข้าไปหาแทนที่จะขยับออกห่าง
พระเยซูทรงพยายามขยับเข้าใกล้ผู้อื่นมากขึ้นทางอารมณ์และแม้กระทั่งทางกายบางครั้ง แทนที่จะใช้ข้ออ้างเพื่อทำตัวเหินห่างจากคนที่มักถูกเหยียดหยามและถูกขับไล่
ตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่งพระเยซูทรงพบกับชายมือลีบ เพราะวันนั้นเป็นวันสะบาโต จึงมีข้อห้ามทางศาสนาจำกัดงานที่ควรทำวันนั้น แทนที่จะเลี่ยงคนบางคนผู้ต้องการความช่วยเหลือจนกว่าโอกาสที่สังคมยอมรับจะมีมากขึ้น พระเยซูทรงเลือก “ทำการดี” ทันที (มัทธิว 12:12) พระองค์ทรงเชื้อเชิญให้ชายคนนั้นเหยียดมือออก “เขาก็เหยียดออก และมือนั้นก็หายเป็นปกติเหมือนมืออีกข้างหนึ่ง” (มัทธิว 12:13)
เรื่องราวคล้ายกันนี้เกิดขึ้นซ้ำๆ ทั่วพระคัมภีร์ พระเยซูทรงยอมรับหญิงที่ถือว่าไม่สะอาดด้วยความสงสาร (ดู ลูกา 8) ทรงต้อนรับและรักษาชายที่หูแว่วและเชือดตัวเอง (ดู มาระโก 5) และทรงรักษาชายที่ถูกคนอื่นตัดสินผิดๆ (ดู ยอห์น 9:1–7) รูปแบบหนึ่งที่เราเห็นทั่วพระคัมภีร์คือเมื่อ “[พระเยซู] ยื่นพระหัตถ์” (มัทธิว 8:3) ปกติจะเพื่อให้กำลังใจและรักคนอื่นๆ อีกทั้งให้การรักษาและสันติสุข
การเชื้อเชิญอย่างหนึ่งจากเรื่องเหล่านี้อาจจะเป็นว่าเราสามารถเข้าใกล้คนที่อาจดูเหมือนต่างจากเราได้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น เรานั่งข้างคนที่มาเยี่ยมโบสถ์ถึงแม้พวกเขาแต่งตัวไม่เหมือนคนอื่นหรือไม่? เราให้พวกเขาร่วมวงสนทนาตรงโถงทางเดินหรือไม่? เรายิ้มทักทายและถามคำถามที่อ่อนโยนเพื่อพยายามรู้จักพวกเขาให้ดีขึ้นและช่วยให้พวกเขาไม่รู้สึกแปลกแยกหรือไม่?
และที่อาจสำคัญกว่านั้น เราจะพัฒนาความสัมพันธ์ทางอารมณ์และทางวิญญาณให้ใกล้ชิดกับคนอื่นมากขึ้นโดยแบ่งปันสันติสุขและความรักเฉกเช่นพระผู้ช่วยให้รอดทรงทำได้อย่างไร? เรารู้ว่าเราได้รับพรจากพระผู้เป็นเจ้าเมื่อเราพยายามเชื่อมสัมพันธ์—โดยเฉพาะกับคนที่อาจดูเหมือนต่างจากเรา
พระเยซูทรงเชื้อเชิญให้ผู้คนแบ่งปันอาหาร
ระหว่างศึกษาพันธสัญญาใหม่ของเรา เราซาบซึ้งใจที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงแบ่งปันอาหารให้คนอื่นบ่อยๆ ในหลายกรณีพระองค์ทรงถูกวิพากษ์วิจารณ์เพราะคนที่พระองค์ทรงเลือกใช้เวลาด้วย
ในตัวอย่างหนึ่ง พระเยซูทรงเรียกชายชื่อมัทธิวเป็นสาวกคนหนึ่งของพระองค์ เขาเป็น “คนเก็บภาษี” หรือเป็นตัวแทนฝ่ายปกครองสมัยนั้น (ดู ลูกา 5:27; คู่มือพระคัมภีร์ “คนเก็บภาษี”) โดยทั่วไปคนยิวเกลียดคนเก็บภาษี ด้วยเหตุนี้เมื่อมัทธิวจัดงานเลี้ยงใหญ่สำหรับพระเยซูและเหล่าสาวก พวกธรรมาจารย์และพวกฟาริสี—คนที่คิดว่าตนเองปฏิบัติตามพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า—จึงบ่น “ทำไมพวกท่านมากินดื่มกับพวกคนเก็บภาษีและคนบาป?” พวกเขาถาม พระเยซูตรัสตอบว่า “คนสบายไม่ต้องการหมอ แต่คนเจ็บป่วยต้องการ” (ลูกา 5:30–31)
นี่เป็นตัวอย่างอันทรงพลังของการที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงเลือกไม่เอนเอียงตามรูปลักษณ์ภายนอกหรือชื่อเสียงทางโลก แต่ทรงจดจ่อกับความต้องการ คุณค่า และศักยภาพของแต่ละบุคคล ความเป็นจริงที่น่าสนใจเริ่มปรากฏต่อเราเมื่อเราอ่านเกี่ยวกับพระเยซูเสวยกับมัทธิวและคนอื่นๆ เราจะไม่สามารถมีอิทธิพลต่อใครถ้าเราเข้าไม่ถึงพวกเขา เว้นแต่เราใช้เวลาทำความรู้จักพวกเขา รัก และยอมรับพวกเขาตรงจุดที่อยู่ในการเดินทางของพวกเขา หาไม่แล้วเราจะมีอิทธิพลต่อพวกเขาน้อยมาก
ท่านอาจเคยได้ยินคำพูดที่ว่า “รักคนบาป แต่เกลียดบาป” ท่านใช้เวลามากพอกับครึ่งแรกของคำเชื้อเชิญนั้นหรือไม่? พระเยซูรับสั่งให้เรา “รักซึ่งกันและกัน” (ดู ยอห์น 13:34) และให้อภัย “เจ็ดสิบครั้งคูณเจ็ด” (ดู มัทธิว 18:22) แทนที่จะใช้เวลาพยายามค้นหาและเกลียดบาปของอีกคน เราสามารถใช้พลังงานดังกล่าวหล่อเลี้ยงความสัมพันธ์กับเพื่อนพี่น้องชายหญิงของเรา
เราชอบใช้คำพูดว่า “รักคนบาปก็ชวนพวกเขามากินอาหารค่ำสิ!” เพราะเรา ทุกคน ล้วนทำบาป “และเสื่อมจากพระสิริของพระเจ้า” (โรม 3:23) นี่จึงควรเปิดโอกาสมากมายให้เรารับใช้ผู้อื่นผ่านอาหารที่เตรียมด้วยความรัก เสิร์ฟในสถานที่ซึ่งพระวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้าสถิตอยู่ ขอให้รอบโต๊ะของเราเต็มไปด้วยการสนทนาด้วยความอ่อนโยนจริงใจ มิตรภาพที่แท้จริง และพยายามตั้งใจมองกันอย่างที่พระเยซูทรงมองเรา
สร้างไซอัน
ปีนี้เราได้ฉลองวาระครบรอบสองร้อยปีของนิมิตแรกเมื่อพระเยซูคริสต์ทรงประกาศว่าจะฟื้นฟูพระกิตติคุณ ปีหน้าเราจะเรียนรู้จากแบบอย่างของวิสุทธิชนยุคแรกผู้ช่วยสร้างอาณาจักรของพระเจ้าบนแผ่นดินโลกในสมัยการประทานนี้ วิสุทธิชนยุคแรกเหล่านี้ต้องหาวิธีทำงานด้วยกันและเป็นหนึ่งเดียวกัน ถึงแม้พวกเขามาจากหลายชาติ หลายศาสนาที่เคยนับถือ และมีภูมิหลังทางเศรษฐกิจสังคมต่างกัน
ทุกวันนี้เราประสบโอกาสคล้ายกัน เราต้องคิดหาวิธีเป็นหนึ่งเดียวกันในศรัทธาถึงแม้จะมีความแตกต่างทางวัฒนธรรมและทางการเมืองที่พยายามแบ่งแยกเรา ทั้งนี้จะเกิดขึ้นต่อเมื่อเราให้พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นผู้นำทางเรา พระองค์เข้าพระทัยความอ่อนแอของเราอย่างสมบูรณ์และทรงสามารถทำให้สิ่งที่อ่อนแอกลับเข้มแข็ง (ดู อีเธอร์ 12:27) พระองค์เข้าพระทัยความเจ็บปวดของเราอย่างสมบูรณ์และทรงสามารถช่วยเราเยียวยา (ดู แอลมา 7:11–12) พระองค์เข้าพระทัยความแตกต่างของเราอย่างสมบูรณ์และยังทรงสัญญาว่าเราสามารถ—ตามที่ หลักคำสอนและพันธสัญญา 49:25 อธิบาย—รุ่งเรืองและชื่นชมยินดีในไซอัน ด้วยกัน