หลักธรรมของการปฏิบัติศาสนกิจ
ทำให้การปฏิบัติศาสนกิจมีความหมาย
หากท่านสงสัยว่าการปฏิบัติศาสนกิจของท่านมีความหมายหรือไม่ ให้พิจารณาแนวคิดเหล่านี้
เป็นเรื่องง่ายที่จะสงสัยว่าการปฏิบัติศาสนกิจของเราสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราเผชิญปัญหาของเราเอง
ในช่วงชีวิตก่อนที่จะต้องนั่งเก้าอี้เข็น ฉันชอบเห็นกระดานเขียนชื่อส่งต่อกันในสมาคมสงเคราะห์ ฉันมักจะลงชื่อไว้เพื่อทำการรับใช้ นี่เป็นวิธีแสดงความเต็มใจของฉันที่จะ “แบกภาระของกันและกัน” (โมไซยาห์ 18:8)
ไม่ใช่ความผิดของกระดานเลยที่ทำให้ฉันไม่สามารถลงชื่อในนั้นได้อีกต่อไป อันที่จริง ฉันไม่สามารถเซ็นชื่อของฉันได้เลยด้วยซ้ำ ฉันไม่สามารถแม้แต่จะถือกระดานนั้นไว้เนื่องจากความพิการของฉัน ไม่มีใครคาดหวังให้ฉันลงชื่อ แต่ โอ้ ฉันอยากจะลงชื่อเหลือเกิน! การรับใช้โอบเราไว้ด้วยความรักของพระผู้เป็นเจ้าและเชื่อมโยงเรากับผู้อื่น ฉันอยากมีความรู้สึกเชื่อมโยงนั้นด้วยตนเองอย่างมาก
เนื่องจากฉันต้องการคนมาช่วยดูแล การรับใช้ของฉันจึงดูไม่คุ้มกับความพยายามที่ผู้อื่นต้องให้เพื่อช่วยเหลือฉัน กระดานนั้นกลายเป็นเครื่องเตือนใจถึงสิ่งที่ฉันทำไม่ได้อีกต่อไป อย่างน้อยๆ ก็จนกระทั่งซิสเตอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจได้เห็นความปรารถนาในการรับใช้ของฉัน
เธอถามฉันว่าฉันต้องการทำอะไรเพื่อรับใช้ ไม่ใช่แค่สิ่งที่ฉันต้องการให้คนอื่นทำเพื่อตัวฉัน จากนั้นเธอก็เซ็นชื่อฉันลงในกระดาน เธอมาที่บ้านของฉันและช่วยฉันทำอาหารที่ฉันอาสาเตรียมให้คนอื่น เธอไม่เคยแนะนำว่าตัวฉันเองต้องการความช่วยเหลือมากจนไม่ควรพยายามช่วยเหลือผู้อื่น เธอมีความสุขที่ได้ใช้เวลาร่วมกับฉัน
ในที่สุดฉันก็รู้ว่าความพยายามของฉันคุ้มค่า ฉันสามารถทำอะไรบางอย่างเพื่อรับใช้ได้ด้วยความช่วยเหลือของซิสเตอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจของฉัน ไม่ว่าการรับใช้นั้นจะมีความหมายต่อคนอื่นหรือไม่ แต่ก็ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับฉันแล้ว แม้ว่าการรับใช้จะไม่ได้เป็นประโยชน์โดยตรงต่อครอบครัวของฉันหรือช่วยเยียวยาร่างกายของฉัน แต่ก็ช่วยเยียวยาหัวใจของฉันได้
เอ็มรี พุกไมร์
ยูทาห์ สหรัฐอเมริกา
ท่านยิ่งกว่าคู่ควรด้วยความช่วยเหลือจากพระองค์
เป็นเรื่องปกติที่ท่านจะรู้สึกไม่คู่ควรที่จะทำงานของพระเจ้า ศาสดาพยากรณ์เอโนคก็เคยรู้สึกเช่นนั้นเช่นกัน เมื่อพระเจ้าทรงบัญชาให้เขาเรียกผู้คนให้กลับใจ เขารู้สึกกังวลเพราะเขา “เป็นเพียงคนหนุ่ม, และผู้คนทั้งปวงเกลียดชังข้าพระองค์; เพราะข้าพระองค์เชื่องช้าในการพูด” (โมเสส 6:31)
แต่พระเจ้าทรงสัญญาว่าพระองค์จะทรงอยู่กับเอโนคและพระวิญญาณของพระองค์จะสถิตกับเขา และ “ถ้อยคำทั้งหมดของเจ้าเราจะรับรอง; … ฉะนั้น” พระองค์จึงทรงเชื้อเชิญ “จงเดินกับเรา” (โมเสส 6:34)
เอโนคเชื่อฟังสิ่งที่พระเจ้าทรงบัญชา และเขากลายเป็นอิทธิพลอันยิ่งใหญ่ต่อผู้คน ไม่ใช่เพราะอำนาจของเขาเอง แต่เพราะ “พลังของภาษาซึ่งพระผู้เป็นเจ้าประทานให้เขาทรงอานุภาพยิ่ง” (โมเสส 7:13)
หลักธรรมที่พึงพิจารณา
หากท่านสงสัยว่าการปฏิบัติศาสนกิจของท่านมีความหมายหรือไม่ ให้พิจารณาหลักธรรมเหล่านี้:
-
การเข้าใจการปฏิบัติศาสนกิจและจุดประสงค์ จะช่วยให้เราตัดสินความพยายามของเราได้อย่างถูกต้องแม่นยำมากขึ้น
-
การปฏิบัติศาสนกิจเป็นมากกว่าการสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น แต่เป็นการช่วยให้ผู้อื่นกระชับความสัมพันธ์ของพวกเขากับพระผู้ช่วยให้รอด1
-
การปฏิบัติศาสนกิจไม่ใช่แค่งานมอบหมาย แต่เป็นวิธีที่เราดำเนินชีวิตตามพันธสัญญาว่าจะรับใช้พระองค์โดยดูแลกันและกัน
-
การปฏิบัติศาสนกิจไม่ได้มีเพียงวิธีเดียว การปฏิบัติศาสนกิจช่วยให้เราเติบโตเมื่อเราปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์และแสวงหาการดลใจเพื่อปฏิบัติศาสนกิจตามที่พระผู้ช่วยให้รอดจะทรงทำ
-
-
การเข้าใจว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงมองการปฏิบัติศาสนกิจของเราอย่างไร สามารถเปลี่ยนมุมมองของเรา
-
พระผู้เป็นเจ้าไม่ได้วัดการปฏิบัติศาสนกิจโดยพิจารณาจากผลลัพธ์อันน่าทึ่ง หรือวัดว่าความพยายามของเราเป็นที่ชื่นชมหรือไม่ (ดูตัวอย่างของออลิเวอร์ เกรนเจอร์ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 117:12–13)2
-
เมื่อความปรารถนาของเราดีและเราพยายามอย่างแท้จริง การปฏิบัติศาสนกิจของเราก็จะมีความหมายต่อพระองค์ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 4:2, 5)
-
พระผู้เป็นเจ้าทรงเต็มใจที่จะขยาย “การรับใช้เล็กน้อยหรือไม่เด่น” ของเรา3 (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 123:17)
-
เราจะทำอะไรได้บ้าง?
แทนที่จะกังวลเกี่ยวกับสิ่งที่ท่านคิดว่าทำไม่ได้ ให้พิจารณาร่วมกับการสวดอ้อนวอนว่าท่านสามารถทำอะไรได้บ้าง จากนั้นจึงลงมือปฏิบัติ เมื่อท่านกระทำในพระนามของพระเจ้า พระองค์จะทรงขยายความพยายามของท่านและใช้ความพยายามเหล่านั้นเพื่อเป็นพรแก่ท่านและผู้อื่น (ดู 2 นีไฟ 32:9)