“ความทุกข์นั้นไซร้ดังไฟที่หล่อหลอม,” เลียโฮนา, มี.ค. 2022.
ความทุกข์ นั้นไซร้ดังไฟที่หล่อหลอม
ข้าพเจ้าสวดอ้อนวอนขอให้ความยากลำบากส่วนตัวของเราแต่ละคนทำให้เราใกล้ชิดพระบิดาบนสวรรค์และพระผู้ช่วยให้รอดของเรา
เราไม่ควรแปลกใจกับความยากลำบากในชีวิต ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากบาปและความผิดพลาดของเราเองหรือจากสิ่งอื่นๆ ความยากลำบากคือข้อเท็จจริงของชีวิตมรรตัย บางคนคิดว่าพวกเขาควรได้รับการละเว้นจากความยากลำบากทุกอย่างถ้ารักษาพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า แต่เราได้รับเลือก “ในเตาหลอมแห่งความทุกข์” (อิสยาห์ 48:10; 1 นีไฟ 20:10) ไม่เว้นแม้แต่พระผู้ช่วยให้รอด:
“ถึงแม้ว่าพระองค์เป็นพระบุตร พระองค์ก็ทรงเรียนรู้ที่จะเชื่อฟังโดยการทนทุกข์ต่างๆ
“เมื่อพระเจ้าทรงทำให้พระเยซูเพียบพร้อมแล้ว พระเยซูจึงทรงเป็นแหล่งกำเนิดแห่งความรอดนิรันดร์สำหรับทุกคนที่เชื่อฟังพระองค์” (ฮีบรู 5:8–9)
สำหรับเราผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ ความยากลำบากมักจะเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะขาดเสียมิได้ของการ “ถูกทำให้เพียบพร้อม” ในที่สุด เป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตเป็นมากกว่าการสอบปรนัย พระผู้เป็นเจ้ามิได้สนพระทัยในสิ่งที่เราทำและไม่ทำแต่สนพระทัยในสิ่งที่เราจะเป็นด้วย1 ถ้าเราเต็มใจ พระองค์จะทรงสอนเราให้ทำเช่นเดียวกับที่พระองค์ทรงทำแทนที่จะถูกกระทำโดยอำนาจอื่นๆ (ดู 2 นีไฟ 2:14–16) เราต้องเรียนรู้ที่จะชอบธรรมในทุกสภาวการณ์หรือ ดังที่ประธานบริคัม ยังก์ (1801–1877) กล่าวไว้ว่า แม้ “ในความมืด”2
ข้าพเจ้าเชื่อว่าเรื่องท้าทายที่เราต้องเอาชนะและการเติบโตจากความยากลำบากอยู่ในความสนใจของเราแล้วเมื่อพระผู้เป็นเจ้าทรงนำเสนอแผนแห่งการไถ่ของพระองค์ในโลกก่อนเกิด ขณะนี้เราควรตอบรับเรื่องท้าทายนั้นโดยรู้ว่าพระบิดาบนสวรรค์ของเราจะทรงสนับสนุนเรา แต่เป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่เราจะต้องหันไปพึ่งพระองค์ โดยปราศจากพระผู้เป็นเจ้า ประสบการณ์มืดมนของการทนทุกข์เหล่านี้มักจะทำให้เกิดความท้อแท้ ความสิ้นหวัง และแม้ความขมขื่น
ด้วยความช่วยเหลือจากสวรรค์ ในที่สุดความอุ่นใจจะแทนที่ความเจ็บปวด ความสงบแทนความวุ่นวาย และความหวังแทนความเศร้าเสียใจ พระผู้เป็นเจ้าจะทรงเปลี่ยนการทดลองเป็นพร ในถ้อยคำของอิสยาห์ “ให้ … มงกุฎแทนขี้เถ้า” (อิสยาห์ 61:3) คำสัญญาของพระองค์ไม่ใช่การละเว้นเราจากความขัดแย้งแต่ทรงทะนุถนอมและปลอบโยนเราในความทุกข์ของเราและอุทิศสิ่งเหล่านั้นให้เป็นพรของเรา (ดู 2 นีไฟ 2:2; 4:19–26; เจคอบ 3:1)
แม้พระบิดาบนสวรรค์ของเราจะไม่ทรงยัดเยียดความช่วยเหลือและพรของพระองค์มาที่เรา แต่พระองค์ทรงกระทำผ่านพระเมตตาและพระคุณของพระบุตรอันเป็นที่รักของพระองค์และเดชานุภาพของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ในการสนับสนุนเราเมื่อเราแสวงหาพระองค์ เราพบตัวอย่างของการสนับสนุนนั้นมากมายรอบตัวเราและในบันทึกจากพระคัมภีร์
แบบอย่างจากพันธสัญญาเดิม
ในพันธสัญญาเดิมเราเห็นอับราฮัมผู้เชื่อฟังรอด้วยความอดทนเป็นเวลาหลายปีกว่าคำสัญญาของพระผู้เป็นเจ้าที่ทรงทำกับท่าน—แผ่นดินมรดกและทายาทอันชอบธรรม—จะสำเร็จตามสัญญา ผ่านทุพภิกขภัย การคุกคามต่อชีวิต ความโศกเศร้า และการทดสอบ อับราฮัมคงวางใจในพระผู้เป็นเจ้าและรับใช้พระองค์อย่างต่อเนื่องและทรงตอบกลับด้วยการสนับสนุนท่าน ปัจจุบันนี้เราให้เกียรติอับราฮัมในฐานะ “บิดาของคนซื่อสัตย์”3
ยาโคบหลานชายของอับราฮัม หนีออกจากบ้านตามลำพังโดยมีเสื้อผ้าและข้าวของอีกเพียงเล็กน้อย เพื่อให้พ้นการคุกคามเอาชีวิตจากเอซาวพี่ชาย ช่วงเวลายี่สิบปีต่อจากนั้น ยาโคบรับใช้ลาบันลุงของท่าน แม้ลาบันจะให้ที่หลบภัยแก่ยาโคบและแม้ในที่สุดยกลูกสาวสองคนให้แต่งงานด้วย แต่เขาปฏิบัติต่อยาโคบด้วยความกลับกลอก เปลี่ยนค่าจ้างและข้อตกลงหลายครั้งเมื่อใดก็ตามที่เห็นว่ายาโคบจะก้าวล้ำหน้าตน (ดู ปฐมกาล 31:41)
เมื่อในที่สุดพวกเขาต้องแยกทางกัน ยาโคบโต้เถียงกับพ่อตาของท่านว่า “ถ้าพระเจ้าของบิดาฉัน … ไม่ทรงอยู่กับฉันแล้ว ครั้งนี้ท่านคงให้ฉันไปตัวเปล่า” (ปฐมกาล 31:42) แต่พระผู้เป็นเจ้าทรงอยู่กับท่าน ยาโคบจึงกลับบ้านโดยเปลี่ยนสถานะจากผู้ลี้ภัยที่ไร้เงินเป็นสามีและบิดาของครอบครัวใหญ่ ท่านมีผู้รับใช้จำนวนไม่น้อยและได้รับพรมากมายด้วยความมั่งคั่งของยุคนั้น—ฝูงแพะแกะ ฝูงปศุสัตว์ และอูฐ (ดู ปฐมกาล 32)
โยเซฟ บุตรชายของยาโคบเป็นแบบอย่างชั้นยอดของผู้มีชัยต่อความยากลำบากอย่างต่อเนื่องด้วยการวางใจในพระผู้เป็นเจ้าขณะที่คนอื่นๆ อาจรู้สึกว่าพระองค์ทรงทอดทิ้ง อันดับแรก ท่านถูกพวกพี่ชายของตนเองขายไปเป็นทาส จากนั้น เมื่อท่านขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดในบ้านของโปทิฟาร์ เจ้านายชาวอียิปต์ โยเซฟกลับถูกกล่าวหาเท็จโดยภรรยาของโปทิฟาร์และถูกจำคุกแม้โดยความจริงนั้นท่านพยายามหนีไปจากบาป กระนั้นก็ตาม โยเซฟยังคงวางใจในพระผู้เป็นเจ้าต่อไป แม้อยู่ในคุกท่านยังรุ่งเรืองแต่แล้วกลับถูกลืมโดยคนที่ท่านช่วยไว้และสัญญาว่าจะกลับมาช่วยท่าน (ดู ปฐมกาล 37; 39–41) ในที่สุด ตามที่เรารู้ โยเซฟได้รับตำแหน่งที่สูงส่งเป็นรางวัลพร้อมวิธีช่วยครอบครัวของบิดา (และอียิปต์ทั้งประเทศ) ให้รอดในช่วงกันดารอาหาร
ยืนหยัดด้วยความอดทน
แบบอย่างเหล่านี้และแบบอย่างอื่นๆ แสดงให้เราเห็นว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาการเอาชนะความยากลำบากเป็นเรื่องปกติ ซึ่งจำเป็นต้องใช้การยืนหยัดอดทนและมุมานะ กระนั้น พระบิดาบนสวรรค์ของเราทรงใส่พระทัยดูแลและช่วยเหลือเราเสมอตลอดเส้นทางของการยืนหยัดอดทนนี้—พระองค์มิได้ทรงรอคอยจนชีวิตหาไม่
เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์ (1926–2004) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเคยตั้งข้อสังเกตว่า “แน่นอนว่า กาลเวลาไม่ได้นำความก้าวหน้ามาด้วยตัวมันเองโดยอัตโนมัติ แม้กระนั้น เช่นเดียวกับบุตรที่หายไป เรามักจำเป็นต้องมี ‘กระบวนการแห่งเวลา’ เพื่อให้เราเข้าถึงสำนึกทางวิญญาณของเรา (ลูกา 15:17) เรื่องราวที่น่าประทับใจของการคืนดีกันระหว่างยาโคบกับเอซาวในทะเลทรายหลังการแก่งแย่งชิงดีระหว่างพี่น้องหลายปี เป็นแบบอย่างชั้นยอด ความมีใจเอื้อเฟื้อสามารถแทนที่ความเกลียดชัง การใคร่ครวญก่อให้เกิดการรับรู้ แต่การใคร่ครวญและการพินิจภายในต้องใช้เวลา ผลดีทางวิญญาณมากมายต้องการความจริงที่ช่วยให้รอดผสมผสานกับเวลา ก่อให้เกิดยาวิเศษแห่งประสบการณ์ที่มีอำนาจในการแก้ไขเยียวยาเรื่องต่างๆ ได้มากมาย”4
ประธานเอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด รักษาการประธานโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่า:
“การรอคอยพระเจ้าไม่ได้หมายถึงการคอยเวลา ท่านไม่ควรรู้สึกเหมือนตัวท่านอยู่ในห้อง นั่งรอ
“การรอคอยพระเจ้าหมายถึงการกระทำ ข้าพเจ้าเรียนรู้ตลอดหลายปีว่าความหวังของเราในพระคริสต์เพิ่มขึ้นเมื่อเรารับใช้ผู้อื่น …
“การเติบโตส่วนตัวที่คนๆ หนึ่งจะบรรลุได้ในตอนนี้ขณะรอคอยพระเจ้าและสัญญาของพระองค์เป็นองค์ประกอบศักดิ์สิทธิ์อันประมาณค่ามิได้ในแผนของพระองค์สำหรับเราแต่ละคน”5
การยืนหยัดด้วยความอดทนคือรูปแบบของการหันไปหาและวางใจในพระผู้เป็นเจ้า ในข้อที่มาก่อนคำแนะนำของท่านให้ทูลถามพระผู้เป็นเจ้าถ้าเราขาดปัญญา ยากอบกล่าวถึงความอดทนดังนี้
“ให้ถือสิ่งนี้ว่าเปี่ยมด้วยปีติเมื่อท่านตกอยู่ในความทุกข์มากมาย;
“โเพราะพวกท่านรู้ว่าการทดสอบความเชื่อของท่านนั้น ทำให้เกิดความทรหดอดทน
“และจงให้ความทรหดอดทนนั้นมีผลอย่างสมบูรณ์, เพื่อท่านทั้งหลายจะได้เป็นคนที่สมบูรณ์และดีพร้อม, โดยไม่ขาดสิ่งใดเลย” (งานแปลของโจเซฟสมิธ, ยากอบ 1:2 ; ยากอบ 1:3–4)
หล่อหลอมด้วยความทุกข์
เมื่อเราได้รับความช่วยเหลือจากพระบิดาบนสวรรค์ ความยากลำบากและความทุกข์ของเราจะหล่อหลอมแทนที่จะชนะเรา (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:7–8) เราจะกลายเป็นสัตภาวะที่มีความสุขมากขึ้นและบริสุทธิ์มากขึ้น ในการเปิดเผยต่อโธมัส บี. มาร์ช ซึ่งขณะนั้นเป็นประธานโควรัมอัครสาวกสิบสอง พระเจ้าตรัสเกี่ยวกับอัครสาวกของพระองค์ดังนี้ “และหลังจากการล่อลวงของพวกเขา, และความยากลำบากยิ่ง, ดูเถิด, เรา, พระเจ้า, จะควานหาพวกเขา, และหากพวกเขาหาทำใจแข็งกระด้างไม่, และหาดื้อรั้นต่อเราไม่, พวกเขาจะเปลี่ยนใจเลื่อมใส, และเราจะรักษาพวกเขา” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 112:13)
เราอาจพูดได้ว่าการอยู่ในความยากลำบากทำให้เราได้รู้จัก “พระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว และรู้จักพระเยซูคริสต์ที่พระองค์ทรงใช้มา” (ยอห์น 17:3) ในความยากลำบาก เราเดินกับทั้งสองพระองค์วันต่อวัน โดยเป็นคนนอบน้อม เราเรียนรู้ที่จะพึ่งพาทั้งสองพระองค์ “ในความนึกคิดทุกอย่าง” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 6:36) ทั้งสองพระองค์จะทรงปฏิบัติต่อเราในกระบวนการเกิดใหม่ทางวิญญาณ ข้าพเจ้าเชื่อว่าไม่มีทางอื่น
ข้าพเจ้าสวดอ้อนวอนขอให้เราแต่ละคนเข้าใกล้พระบิดาบนสวรรค์และพระผู้ช่วยให้รอดของเรามากขึ้นผ่านความยากลำบากส่วนตัวของเรา ในเวลาเดียวกัน ขอให้เราเรียนรู้การปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้อื่นในความยากลำบากของพวกเขาตามแบบแผนของพระผู้เป็นเจ้า โดยผ่านการ “ทรงทนความเจ็บปวดและความทุกข์และการล่อลวงทุกอย่าง” ซึ่งทำให้พระผู้ช่วยให้รอด “ทรงรู้ตามเนื้อหนังว่าจะทรงช่วยผู้คนของพระองค์ตามความทุพพลภาพของพวกเขาได้อย่างไร.” (แอลมา 7:11–12) ส่วนเรา “เมื่อตนเองไม่อยู่ในช่วงที่ถูกตรึงไว้บนกางเขนใดๆ โดยเฉพาะ เราก็ควรเอาใจเขามาใส่ใจเรา—พร้อมความเห็นอกเห็นใจและมอบความสดชื่นทางวิญญาณแก่เขา”6