“เห็นพระพักตร์ของพระผู้เป็นเจ้าในศัตรูของเรา,” เลียโฮนา, มี.ค. 2022.
เห็นพระพักตร์ของพระผู้เป็นเจ้า ในศัตรูของเรา
บทเรียนเหล่านี้ในการเอาชนะความขัดแย้งจากหนังสือปฐมกาลสามารถเป็นแบบอย่างสำหรับชีวิตของเราเอง
ในฐานะผู้ไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง ผมได้สะสมปัญญามากมายเกี่ยวกับวิธีเปลี่ยนความขัดแย้งและเชื้อเชิญความปรองดองจากการดูแบบอย่างและคำสอนของพระเยซูคริสต์ในพันธสัญญาใหม่ อย่างไรก็ตาม พันธสัญญาใหม่ไม่ใช่พระคัมภีร์เล่มเดียวที่ชี้นำผมตลอดเส้นทางอาชีพ พันธสัญญาเดิมมีความเข้าใจที่ลึกซึ้งอย่างน่าประหลาดซึ่งช่วยเราได้เมื่อเราติดอยู่กับความขัดแย้งที่ทำลายล้าง
ความขัดแย้งที่ทำลายล้างคืออะไร? ความขัดแย้งที่ทำลายล้างคือการที่เราไม่สามารถแก้ปัญหาร่วมกับผู้อื่นซึ่งทำให้เราทำร้ายผู้อื่นหรือตัวเราเอง
ความขัดแย้งที่ทำลายล้างทำให้เกิดความกลัวต่อความเจ็บปวดทั้งในความคาดหมายและผลที่ตามมาของความขัดแย้ง ความกลัวว่าจะไม่มีใครรักหรือไม่มีใครมองในแบบที่เราอยากให้คนอื่นมอง และกลัวว่าจะล้มเหลวในการค้นหาวิธีแก้ไขปัญหาที่รุมเร้าเรา เมื่อเราปล่อยให้ความกลัวนั้นครอบงำ เราจะไม่รู้สึกว่าพร้อมที่จะแก้ปัญหาที่เราเผชิญอยู่อีกต่อไป และมักประสบกับอารมณ์สิ้นหวัง ความละอาย หรือหมดหนทาง
ความขัดแย้งแบบนั้นเป็นอันตรายต่อคนส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เราใช้วิธีจัดการความขัดแย้งที่ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น เช่น การหลีกเลี่ยง การปรับตัว หรือการแข่งขันเพื่อพยายามทำให้ความขัดแย้งหมดไป น่าเสียดายที่ว่าวิธีแก้ไขเหล่านั้นไม่ได้ผลจริงๆ ในความขัดแย้งที่ทำลายล้าง
ใช่ เราควรหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง (ดู 3 นีไฟ 11:29) แต่เราไม่ควรหลบเลี่ยง ยอมแพ้ หรือโจมตีผู้คนที่เราขัดแย้งด้วย แทนที่จะทำเช่นนั้น เราต้องเรียนรู้ที่จะรักคนที่เราขัดแย้งด้วย ต้องมีการประยุกต์ใช้จิตกุศล ความรักอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์ ต่อศัตรูของเรา (ดู โมโรไน 7:47)
พระเยซูทรงสอนว่าการรักคนที่รักท่านนั้นง่าย พระองค์ยังตรัสอีกว่า “แต่เราบอกพวกท่านว่า จงรักศัตรูของท่าน และจงอธิษฐานเพื่อบรรดาคนที่ข่มเหงพวกท่าน” (มัทธิว 5:44) พระผู้ช่วยให้รอดทรงขอให้เรารักดังที่พระองค์ทรงรักและดีพร้อมดังที่พระองค์ทรงเป็น (ดู ยอห์น 13:34; 3 นีไฟ 12:48) นี่อาจหมายถึงความเต็มใจที่จะรักผู้อื่นแม้ว่าความรักนั้นอาจดูเสี่ยง เราอาจลังเลเพราะเรามักหลีกเลี่ยงอันตรายโดยธรรมชาติอยู่แล้ว แต่การตัดสินใจที่จะรักคนที่ทำร้ายเราได้ทำให้เราก้าวข้ามความกลัวและทำให้เราเปี่ยมด้วยจิตกุศล
ความรักประเภทนี้ต้องการความกล้าหาญเมื่อเผชิญกับความขัดแย้ง ความรักประเภทนี้เรียกร้องให้เราเปิดเผยตนเองต่อผู้คนที่เราขัดแย้งด้วยในลักษณะที่ “อดทนนานและมีใจปรานี ความรักไม่อิจฉา … ไม่เห็นแก่ตัว ไม่ฉุนเฉียว ไม่ช่างจดจำความผิด; … ทนได้ทุกอย่าง เชื่ออยู่เสมอ มีความหวังและความทรหดอดทนอยู่เสมอ … ความรักไม่มีวันเสื่อมสูญ” (1 โครินธ์ 13:4–5, 7–8) จิตกุศลแสดงความรักแบบนี้โดยไม่รับประกันว่าคนที่เราขัดแย้งด้วยจะทำเช่นเดียวกัน
ความรักทำให้เราเห็นพี่น้องของเราที่เราขัดแย้งด้วยได้อย่างชัดเจนว่าความต้องการและความปรารถนาของพวกเขามีความสำคัญต่อเรามากเท่ากับของเราไม่ว่าพวกเขาจะมองเราอย่างไร เราจะทำทุกวิถีทางเพื่อหาทางออกที่สนองความต้องการของพวกเขาเช่นเดียวกับของเราเอง
เรื่องราวสองเรื่องจากพันธสัญญาเดิมเป็นตัวอย่างที่ดีของความรักนี้
เอซาวและยาโคบ
ใน ปฐมกาล 25 เราพบกับความขัดแย้งในครอบครัวระหว่างสองพี่น้องซึ่งก็คือ เอซาวและยาโคบ ผู้เป็นบุตรของอิสอัค เอซาวขายมรดกของเขาให้ยาโคบแลกข้าวแดงหนึ่งชาม (ดู ปฐมกาล 25:30–31) ต่อมา ตามคำแนะนำของมารดา ยาโคบจึงปลอมตัวเป็นเอซาวเพื่อรับพรสุดท้ายของอิสอัค (ดู ปฐมกาล 27:6–29)
เอซาวเกลียดชังยาโคบและสาบานว่าจะสังหารน้องชายของตน ยาโคบหนีไปอยู่กับลาบันผู้เป็นลุงของท่าน (ดู ปฐมกาล 27:41-45) ท้ายที่สุด ยาโคบมีปัญหากับลุงของท่านและถูกบังคับให้กลับบ้าน (ดู ปฐมกาล 31) ยาโคบรู้ว่านั่นหมายถึงการเผชิญหน้ากับเอซาวซึ่งมีกองทัพที่ใหญ่กว่า ท่านกลัวชีวิตและครอบครัวของท่าน (ดู ปฐมกาล 32:7–8)
ในวันที่ทั้งสองจะพบกัน ยาโคบได้ส่งแพะ อูฐ วัว แกะ และลาจำนวนมหาศาลมาเป็นเครื่องสันติบูชา จากนั้นท่านโค้งคำนับเจ็ดครั้งขณะเข้าใกล้พี่ชาย เอซาวแสดงปฏิกิริยาในลักษณะที่ยาโคบไม่คาดคิด เอซาวร้องไห้ โอบกอดน้องชายของเขา และบอกเขาว่าไม่จำเป็นต้องมีเครื่องสันติบูชา
ยาโคบรู้สึกประทับใจกับความรักของเอซาวและตอบว่า
“ไม่ได้ ขอได้โปรดเถิด ถ้าท่านโปรดปรานข้าพเจ้า แล้วขอรับของกำนัลจากมือข้าพเจ้า เพราะแท้จริงเมื่อข้าพเจ้าเห็นหน้าท่าน ก็เหมือนเห็นพระพักตร์ของพระเจ้า เพราะท่านต้อนรับข้าพเจ้าอย่างดี
“ข้าพเจ้าขอท่านรับของขวัญที่นำมาให้ท่าน เพราะพระเจ้าทรงกรุณาข้าพเจ้า และข้าพเจ้าก็มีพอเพียงแล้ว ท่านอ้อนวอนเอซาว เขาจึงรับไว้” (ปฐมกาล 33:10–11)
สามองค์ประกอบที่จำเป็นต่อการอยู่อย่างสันติ
ยาโคบรวบรวมรูปแบบของความรักไว้ในเรื่องนี้ ซึ่งผมพบว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการทำให้เราคืนดีกับคนที่เราทำผิดหรือผู้ที่ทำผิดต่อเรา
เพลงสดุดี 85:10 อธิบายเงื่อนไขของการคืนดีว่า “ความรักมั่นคงและความซื่อสัตย์จะพบกัน ความชอบธรรมและสันติภาพจะจูบกัน” การสร้างสันติของยาโคบและเอซาวเป็นไปตามเงื่อนไขที่พบในเพลงสดุดี
ยาโคบและเอซาวต้องใช้ความกล้าหาญที่จะยอมรับ ความจริง ว่าพวกเขาไม่ใช่ศัตรู—พวกเขาเป็นพี่น้องกัน ต้องใช้ ความเมตตา ในการให้อภัยกัน ต้องใช้ ความชอบธรรม—ความยุติธรรมแบบที่แก้ไขให้สิ่งที่เราหรือคนอื่นทำผิดนั้นถูกต้อง—สำหรับยาโคบคือการมอบส่วนหนึ่งซึ่งเขาได้รับพรมาแก่เอซาว เมื่อมีองค์ประกอบเหล่านี้ทั้ง 3 อย่าง พวกเขาจะดำเนินชีวิตด้วยสันติสุข
เราสามารถทำตามแบบแผนเดียวกันในชีวิตของเราเองได้
เมื่อเราติดอยู่กับความขัดแย้งที่ทำลายล้าง ความกลัวต่อความขัดแย้งและความกลัวผู้อื่นอาจทำให้เราไม่สามารถทำอะไรได้หรือทำให้เรากระทำการในลักษณะที่เลวร้ายลง ไม่ใช่ดีขึ้น เรามักหาเหตุผลเข้าข้างตนเองว่าทุกสิ่งที่เราทำไปเพื่อย้อนกลับวงจรการทำลายล้างจะไม่ได้ผล เรากลายเป็นคนเหยียดหยามที่คนอื่นสามารถเปลี่ยนแปลงได้
อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างของยาโคบยังช่วยให้เราผ่านพ้นความขัดแย้งเช่นนั้น ยาโคบเผชิญกับความกลัวพี่ชายและความกลัวที่จะขัดแย้งกับเขา ท่านกังวลเรื่อง “การรักษาเรา” มากกว่า “การรักษาตนเอง” ในขณะนั้น ดังนั้นท่านจึงหันไปหาพี่ชายโดยเสนอความจริงและความยุติธรรมให้เขาสำหรับความผิดทุกอย่างที่เขาได้ทำลงไป ใจของเอซาวซึ่งครั้งหนึ่งเคยมุ่งหมายจะฆ่ายาโคบก็อ่อนลง ความเมตตาและสันติสุขพลันหลั่งไหลกลับมา ยาโคบพบวิธีรักศัตรู และเมื่อทำเช่นนั้นแล้ว ท่านเห็น “พระพักตร์ของพระผู้เป็นเจ้า” จ้องมองกลับมาที่ท่าน
แม้จะมีความวิตกกังวลที่เราอาจรู้สึกเมื่อพยายามแก้ไขความขัดแย้งในลักษณะนี้ แต่ก็มีประสิทธิผลในการเปลี่ยนแปลงความขัดแย้งดังกล่าวมากกว่าสิ่งอื่นใด ความรักเหมือนพระคริสต์สร้างพื้นที่ให้เราเห็นผู้คนที่เรากำลังมีปัญหาด้วยอย่างแท้จริงในแบบที่เปลี่ยนแปลงทั้งเราและพวกเขาโดยพื้นฐาน
โยเซฟกับพี่น้องของท่าน
ชั่วอายุหนึ่งหลังจากยาโคบ เราเห็นตัวอย่างความรักอันทรงพลังอีกแบบหนึ่งจากโยเซฟ บุตรชายของยาโคบ
โยเซฟถูกพี่น้องที่อิจฉาท่านขายไปเป็นทาสเมื่อท่านยังเด็ก พี่น้องของโยเซฟรู้สึกว่าโยเซฟเป็นคนโปรดของบิดาและโยเซฟได้รับความโปรดปรานมากขึ้น โยเซฟทนทุกข์อย่างใหญ่หลวงเพราะความมุ่งร้ายของพี่น้องที่มีต่อท่าน ท่านถูกพรากจากครอบครัวหลายปี กลายเป็นคนรับใช้ และถูกคุมขังอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ในที่สุด พระเจ้าทรงช่วยท่านเอาชนะความทุกข์ยาก และท่านกลายเป็นผู้ปกครองที่มีอำนาจในอียิปต์ (ดู ปฐมกาล 37-45)
พี่น้องของท่านต้องทนทุกข์ทรมานและมาอียิปต์ด้วยความอดอยากและพ่ายแพ้ เมื่อพวกเขาพบโยเซฟ พวกเขาจำท่านไม่ได้และขอความช่วยเหลือ
โยเซฟมีสิทธิ์ทุกประการที่จะจับพี่น้องของเขาเข้าคุกเพื่อทวงความยุติธรรม นั่นคือสิ่งที่พวกเขาสมควรได้รับ แต่ท่านเลือกใช้พระคุณแทน—ให้อภัยพวกเขา รักพวกเขา
“เข้ามาใกล้ฉัน” ท่านบอก “พวกเขาก็เข้ามาใกล้ แล้วท่านว่า ฉันคือโยเซฟน้องที่พวกพี่ขายมายังอียิปต์
“แต่เดี๋ยวนี้อย่าเสียใจไปเลย อย่าโกรธตัวเองที่ขายฉันมาที่นี่ เพราะว่าพระเจ้าทรงใช้ฉันให้มาก่อนหน้าพวกพี่ เพื่อจะได้ช่วยชีวิต” (ปฐมกาล 45:4–5)
โยเซฟไม่เพียงให้อภัยพี่น้องของท่านเท่านั้น แต่ยังเห็นถึงผลลัพธ์ที่ดีในความขัดแย้งของพวกเขาด้วย ท่านตระหนักดีว่าพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าอยู่ในทุกสิ่งและแม้ว่าพวกเขาต้องทนทุกข์ทรมานก็ตาม “พระเจ้าทรงใช้ฉันมาก่อนพวกพี่ เพื่อสงวนคนที่เหลือส่วนหนึ่งบนแผ่นดินไว้ให้พวกพี่ และช่วยชีวิตของพวกพี่ไว้ด้วยการช่วยกู้อันยิ่งใหญ่” (ปฐมกาล 45:7)
อนึ่ง รูปแบบที่คล้ายคลึงกันอาจเกิดขึ้นในชีวิตเราเมื่อเรารับทราบว่าความเจ็บปวดจากความขัดแย้งสามารถนำเราไปสู่ผลลัพธ์ที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัวและชุมชนของเราได้หากเราร่วมกันหาแนวทางแก้ไข
พวกเราทุกคนจะต้องเจอกับความขัดแย้ง สิ่งนี้จะเจ็บปวด บางครั้งก็เจ็บมาก ผมรู้สึกพิศวงเสมอกับความเจ็บปวดที่คนอื่นรู้สึกเมื่อพัวพันกับความขัดแย้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่เรารัก อย่างไรก็ตาม ความเจ็บปวดและความกลัวนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นจุดจบของเรื่อง
เราสามารถเลือกที่จะมองเห็นความขัดแย้งและผู้คนที่เราขัดแย้งด้วยต่างไป มากเท่ากับที่โยเซฟเห็น เราสามารถเลือกที่จะละทิ้งความโกรธ ความขุ่นเคือง และการตำหนิและน้อมรับศัตรูของเรา
เราสามารถเลือกความรักแทนความกลัวและค้นพบ—ดังที่ยาโคบ เอซาว โยเซฟ และพี่น้องของพวกท่านพบ—ว่าศัตรูของเราคือพี่น้องของเรา เราสามารถเห็นพระพักตร์ของพระผู้เป็นเจ้าได้เช่นกันโดยพยายามคืนดีกับพวกเขา