“แท้จริงแล้วความคารวะคืออะไร?,” เลียโฮนา, มี.ค. 2022.
แท้จริงแล้ว ความคารวะ คืออะไร?
เมื่อเราขยายความเข้าใจเรื่องความคารวะ เราจะเพิ่มความสามารถในการแสดงความคารวะแม้ในสถานการณ์ที่ไม่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด
ฉันใคร่ครวญความหมายของความคารวะเนื่องด้วยประสบการณ์พิเศษบางอย่างที่ฉันได้รับ ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์ ที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานสูงสุดนิยามความคารวะไว้ดังนี้
“การนมัสการมักหมายรวมถึงการกระทำด้วย แต่การนมัสการที่แท้จริงจะเกี่ยวข้องกับเจตคติเสมอ
“เจตคติของการนมัสการปลุกความรู้สึกลึกซึ้งที่สุดของความจงรักภักดี ความเทิดทูนบูชา และความยำเกรง การนมัสการจะรวมความรักและความคารวะไว้ในสภาพของความเลื่อมใสศรัทธาที่ดึงวิญญาณเราให้ใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น”1
ท่านนึกถึงอะไรเมื่อคิดเกี่ยวกับความคารวะ? สถานการณ์ต่อไปนี้จะถือว่ามีความคารวะหรือไม่มีคารวะในการประชุมศีลระลึก?
-
เด็กวาดรูปในสมุดระบายสีของเธอ
-
เยาวชนชายส่งผ่านศีลระลึกขณะสวมหูฟัง
-
ชายคนหนึ่งกระโดดและโบกแขนอย่างรวดเร็ว
-
เยาวชนหญิงเล่นเกมบนโทรศัพท์ของเธอ
-
ผู้สอนศาสนาตะโกนบางอย่าง
-
หญิงคนหนึ่งนั่งอยู่ในห้องโถงเสมอ ไม่เคยเข้าไปในห้องนมัสการ
-
ชายคนหนึ่งนอนอยู่บนที่นอนในทางเดินของโบสถ์
-
กลุ่มสมาชิกทำท่าทางและเสียงดัง
-
เด็กสาววัยรุ่นนั่งอยู่ใต้เก้าอี้ของเธอ
-
หญิงคนหนึ่งเดินไปมาด้านหลังโบสถ์
พวกเราส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่าผู้สอนศาสนาที่ตะโกนในการประชุมศีลระลึกมีความคารวะน้อยกว่าเด็กๆ ที่วาดภาพเพื่อให้ตนเองไม่วุ่นวาย แต่ให้ใช้เวลาสักครู่ทบทวนข้อสันนิษฐานของเราเกี่ยวกับความคารวะโดยพิจารณาสถานการณ์ จริง 10 สถานการณ์—ซึ่งแต่ละสถานการณ์ฉันเคยประสบเป็นการส่วนตัวในการประชุมของศาสนจักร
-
เด็กวาดรูปอยู่ในโบสถ์ การปฏิบัตินี้เป็นเรื่องธรรมดาและสมาชิกเกือบทุกคนยอมรับ เรารู้ว่าการทำเช่นนี้โดยปกติใช่ว่าจะไร้ความคารวะเว้นแต่เราจะปล่อยให้ตัวเราเองเสียสมาธิ
-
ชายคนหนึ่งส่งผ่านศีลระลึกขณะฟังเพลงด้วยหูฟัง การทำเช่นนี้จะไม่เหมาะสมอย่างยิ่งในกรณีส่วนใหญ่ แต่ให้ฉันเล่า “เรื่องราวที่เหลือ” ก่อน ฉันรู้จักชายคนหนึ่งที่มีประจักษ์พยานเข้มแข็ง เคยรับใช้งานเผยแผ่และยอมรับการเรียกที่หลากหลาย อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ แพทย์วินิจฉัยว่าเขาเป็นโรคจิตเภทที่มีความผิดปกติด้านอารมณ์ การสวมหูฟังทำให้เขาฟังเพลงที่นุ่มนวลและเงียบสงบและช่วยปิดกั้นเสียงที่มีอยู่ในหัวตลอดเวลา เขาสัมผัสได้ถึงพระวิญญาณและรับใช้ผู้อื่นด้วยความคารวะด้วยหูฟังของเขา
-
ชายหนุ่มคนหนึ่งกระโดดและโบกแขนอย่างรวดเร็ว เรื่องราวที่เหลือ: น้องชายที่เป็นออทิสติกและไม่สามารถพูดได้คนนี้รู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งที่เห็นอธิการบนแท่น เขาแสดงความกระตือรือร้นโดยปรบมือและกระโดด
-
เยาวชนหญิงเล่นเกมบนโทรศัพท์ของเธอ เรื่องราวที่เหลือ: ซิสเตอร์คนนี้ต่อสู้กับความวิตกกังวลทางสังคมของเธอด้วยการเล่นเกมอย่างเงียบๆ บนโทรศัพท์ อันที่จริง เธอสามารถฟังและรับข้อความของผู้พูดด้วยความคารวะได้ดีกว่าเพราะความกังวลของเธอมุ่งไปที่อื่น
-
ผู้สอนศาสนาตะโกนบางอย่าง เรื่องราวที่เหลือ: ขณะอยู่ในศูนย์ฝึกอบรมผู้สอนศาสนา ผู้สอนศาสนาคนหนึ่งในเขตของฉันมีอาการทูเร็ตต์ เขาจะตะโกนในชั้นเรียน ห้องอาหารกลางวัน และการประชุมของศาสนจักรเป็นระยะๆ การตะโกนของเขาไม่ได้ถูกมองว่าไม่คารวะ เราเห็นอย่างรวดเร็วว่าเขาพร้อมที่จะรับใช้ กระตือรือร้นที่จะแบ่งปันพระกิตติคุณ และเปี่ยมไปด้วยพระวิญญาณ
-
หญิงคนหนึ่งนั่งอยู่ที่ห้องโถงทุกสัปดาห์และไม่เคยเข้าไปในห้องนมัสการ เรื่องราวที่เหลือ: ขณะที่ฉันทำงานให้กับศาสนจักรในซอลท์เลคซิตี้ ซิสเตอร์คนหนึ่งเขียนถึงสำนักงานบริการผู้ทุพพลภาพของเราเกี่ยวกับประสบการณ์ของเธอกับโรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจอันเนื่องจากการรับราชการทหาร เนื่องจากเสียงโทรศัพท์หรือเสียงอะไรก็ตามที่ดังขึ้นกะทันหันอาจจุดประกายให้เธอนึกถึงเหตุการณ์สะเทือนใจ เธอจึงไม่เคยนั่งในห้องนมัสการเพื่อที่เธอจะได้ไม่ทำร้ายใครโดยไม่ได้ตั้งใจ
-
ชายคนหนึ่งนอนอยู่บนที่นอนริมทางเดิน เรื่องราวที่เหลือ: เมื่อฉันย้ายเข้าไปอยู่ในวอร์ดใหม่ ฉันรู้สึกประหลาดใจที่ชายคนหนึ่งอยู่บนเตียงพยาบาลที่เคลื่อนย้ายได้ในโบสถ์ ชายคนนี้มีความพิการหลายอย่างและสามารถไปโบสถ์ได้ด้วยวิธีนี้เท่านั้น ฉันรู้ได้ทันทีว่านี่เป็นเรื่องปกติสำหรับวอร์ดนี้ และฉันก็ปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว การอยู่ที่นั่นของเขาไม่ได้ไร้ความคารวะ แต่อันที่จริงค่อนข้างตรงกันข้าม แม้กระนั้น พระผู้ช่วยให้รอดก็ทรงรักษาชายคนหนึ่งที่ถูกเพื่อนๆ วางลงบนเตียงแล้วหย่อนลงไปในบ้านท่ามกลางฝูงชนมิใช่หรือ? (ดู ลูกา 5:18–20)
-
กลุ่มสมาชิกส่งเสียงดังและทำท่าทางอย่างจริงจัง เรื่องราวที่เหลือ: การชุมนุมของคนหูหนวกอาจ “เสียงดัง” สำหรับผู้เข้าร่วมประชุมที่ได้ยิน แต่สำหรับชุมชนคนหูหนวกแล้ว การที่ใครสักคนส่งเสียง หัวเราะ หรือไอเสียงดังๆ ไม่ใช่เรื่องที่ดูไม่คารวะ แต่การที่สมาชิกส่งภาษากายเกี่ยวกับเรื่องทางโลกในระหว่างการประชุมศีลระลึกถือว่าไม่คารวะ
-
เด็กสาววัยรุ่นนั่งอยู่ใต้เก้าอี้ เรื่องราวที่เหลือ: สมัยที่ฉันยังเป็นวัยรุ่น เด็กหญิงคนหนึ่งในชั้นเรียนของฉันมักจะนั่งอยู่ใต้เก้าอี้ของเธอ น้องสาวคนนี้เติบโตมาในบ้านอุปถัมภ์หลายแห่งและรู้สึกปลอดภัยเฉพาะในพื้นที่ปิด ตั้งแต่นั้นมา ฉันตระหนักดีว่าเราไม่สามารถคาดหวังให้นักเรียนเรียนรู้เมื่อพวกเขาอยู่ในภาวะตอบสนองโดยการต่อสู้ หนี หรือหยุดนิ่ง นักเรียนต้องรู้สึกปลอดภัยหากต้องเรียนรู้และที่สำคัญที่สุดคือต้องรู้สึกถึงความรักของพระผู้ช่วยให้รอด
-
หญิงคนหนึ่งเดินไปมาในห้องโถง เรื่องราวที่เหลือ: จริงๆ แล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องของฉันเอง ฉันต่อสู้กับความวิตกกังวลมาเป็นเวลากว่าทศวรรษแล้ว โดยมีอาการวิตกกังวลอย่างรุนแรงและมีปัญหาสุขภาพอื่นๆ ในช่วงเวลาเหล่านี้ วิธีเดียวที่ฉันจะสามารถเข้าร่วมโบสถ์คือฉันต้องสามารถเคลื่อนไหวได้ การก้าวหรือเล่นกับของเล่นเชาว์ปัญญาที่สนุกสนานในมือของฉันเป็นวิธีเดียวที่ทำให้ฉันสามารถใส่ใจผู้พูดและสัมผัสถึงพระวิญญาณได้
ซาตานใช้ประโยชน์จากข้อเท็จจริงที่ว่าเราไม่รู้ เรื่องราวที่เหลือ เสมอไป และเราไม่รู้เสมอไปว่าพี่น้องของเรากำลังเผชิญความท้าทายอะไรในแต่ละวัน เขาต้องการให้เราลืมไปว่าสมาชิกส่วนใหญ่ทำดีที่สุดแล้ว ไม่ว่าคนอื่นจะมองอย่างไร สถานการณ์ที่ฉันกล่าวข้างต้นอาจหาได้ยาก แต่สิ่งเหล่านี้แสดงถึงการต่อสู้ดิ้นรนส่วนตัวมากมายที่เพื่อนสมาชิกของเรากำลังหาวิธีการไปโบสถ์ของพวกเขา
ฉันเชื่อว่าซาตานต้องการให้เราเชื่อว่าการนมัสการของเราถูกขัดขวางโดยการต่อสู้ ความแตกต่าง หรือความอ่อนแอของผู้อื่น ในความเป็นจริง ฉันพบว่าในช่วงเวลาที่ดูเหมือนจะเป็นอุปสรรคนี้เองที่ฉันได้รับการสอนมากที่สุดเกี่ยวกับความรักของพระผู้ช่วยให้รอด
สิ่งที่ฉันเรียนรู้เกี่ยวกับความคารวะ
1. ความคารวะเป็นการเลือกและทักษะ
มันขึ้นอยู่กับฉันที่จะรู้สึกคารวะ ฉันไม่รู้สึกคารวะเพราะฉันปล่อยให้ตัวเองฟุ้งซ่านบ่อยเกินไป เมื่อฉันพัฒนาวินัยทางวิญญาณและฝึกวิญญาณให้จดจ่อกับสิ่งสำคัญที่สุด ฉันสามารถรับผิดชอบความสัมพันธ์ของฉันกับพระบิดาบนสวรรค์ได้อย่างเต็มที่
2. ความคารวะแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล
เพื่อนของครอบครัวคนหนึ่งที่อยู่ในคุกมา 17 ปีต้อนรับพระวิญญาณเข้าไปในห้องขังของเขาด้วยการสร้างแบบจำลองที่ซับซ้อนของพระวิหารโดยทำจากกระดาษ ความคารวะมีอยู่ในทุกสถานการณ์ถ้าเราต้อนรับพระวิญญาณ
3. สามารถส่งเสริมความคารวะได้ แต่ก็เป็นการเลือกส่วนบุคคล
ความคารวะมาจากความมุ่งมั่นภายในที่จะหล่อเลี้ยง “เจตคติของการนมัสการ” ซึ่งเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรารู้สึกและแสดงความรักต่อพระเจ้าและต่อสมาชิกคนอื่นๆ อย่างแท้จริง คุณพ่อของฉันเคยบอกฉันว่าเมื่อเรายอมรับความรับผิดชอบต่อความคารวะ มุมมองของเราจะเปลี่ยนจาก “คุณกำลังขัดขวางความสามารถในการนมัสการของฉันนะ!” ไปเป็น “ไม่เป็นไร ที่นี่ยินดีต้อนรับคุณ คุณไม่ได้ทำลายความคารวะของฉันเพราะฉันเลือกที่จะคารวะ” จากนั้นเราจะตระหนักว่าการกระทำของผู้อื่นไม่จำเป็นต้องขัดขวางความสัมพันธ์ส่วนตัวของเรากับพระผู้ช่วยให้รอดและพระบิดาบนสวรรค์ แน่นอนว่า ความรับผิดชอบส่วนตัวต่อความคารวะของเราเองไม่ได้หมายความว่าเราควรเพิกเฉยว่าพฤติกรรมของเราอาจส่งผลต่อประสบการณ์ของผู้อื่นอย่างไร ความพยายามในการแสดงความคารวะส่วนตัวสามารถเป็นการแสดงออกถึงความรักที่เรามีต่อพวกเขาในฐานะพี่น้องของเราได้
การปฏิบัติศาสนกิจของพระผู้ช่วยให้รอด
ในตัวอย่างที่สวยงามตัวอย่างหนึ่งของการปฏิบัติศาสนกิจ พระผู้ช่วยให้รอดทรงเห็นอกเห็นใจชายที่ถูกผีสิงหลายตน แม้ว่าชายคนนั้นจะร้องลั่นและไม่ได้สวมเสื้อผ้า แต่พระเยซูไม่ทรงปฏิเสธที่จะรักษาเขา หลังจากได้รับการรักษาให้หายแล้ว ชายคนนี้สามารถนั่ง “นุ่งผ้ามีสติสัมปชัญญะและกำลังนั่งอยู่ใกล้พระบาทพระเยซู” เพื่อทูลขอว่าเขาจะอยู่กับพระเจ้าต่อได้หรือไม่ (ดู ลูกา 8:27–39; มาระโก 5:1–20)
ในทำนองเดียวกัน พระเยซูไม่ได้บอกเด็กที่มีวิญญาณไม่สะอาดให้หยุดชัก น้ำลายฟูมปาก และกัดฟันก่อนที่พระองค์จะทรงทำให้เขาหายเป็นปกติ (ดู มาระโก 9:17–27) พระองค์ทรงเห็นว่าสภาพเหล่านี้เป็นประสบการณ์ของมนุษย์ ไม่ใช่ความบกพร่องทางวิญญาณ มีเพียงพวกฟาริสีเท่านั้นที่พระองค์ทรงหันหลังให้เนื่องจากความถือดีและความจองหองของพวกเขาขัดขวางการรักษา
ขณะที่ท่านและฉันขยายนิยามของความคารวะ เราจะสามารถสอนและปฏิบัติศาสนกิจในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอดได้ดีขึ้น เราจะจำไว้ว่าค่าของจิตวิญญาณยิ่งใหญ่ในสายพระเนตรของพระผู้เป็นเจ้า (หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:10) เราจะแสดงความคารวะได้แม้ในสถานการณ์ที่ไม่น่าเป็นไปได้ที่สุด
บางทีความคารวะในสายพระเนตรของพระเจ้าอาจไม่เกี่ยวข้องกับการนั่งนิ่งและพูดเบาๆ หากแต่เกี่ยวข้องกับความนิ่งในจิตใจและความอ่อนโยนของใจเรามากกว่า
ผู้เขียนอาศัยอยู่ในเทกซัส สหรัฐอเมริกา