“พระเยซูคริสต์คือพระผู้ช่วยให้รอดของเรา” เลียโฮนา เม.ย. 2023
ปาฏิหาริย์ของพระเยซู
พระเยซูคริสต์คือพระผู้ช่วยให้รอดของเรา
ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าผ่านการฟื้นคืนพระชนม์และการฟื้นฟูพระกิตติคุณของพระองค์ พระเยซูคริสต์ทรงเปิดโอกาสทั้งหมดในการผ่านม่านเข้าไปในที่ประทับของพระบิดาของพระองค์
“หญิงเอ๋ย ร้องไห้ทำไม?” พระผู้ช่วยให้รอดผู้ฟื้นคืนพระชนม์ถามมารีย์มักดาลาขณะที่เธอยืนอยู่นอกอุโมงค์ฝังศพที่ว่างเปล่า
“นายเจ้าข้า” นางตอบ ” “ถ้าท่านเอาพระองค์ไป ขอบอกให้ดิฉันรู้ว่าเอาพระองค์ไปไว้ที่ไหน ดิฉันจะได้รับพระองค์ไป”
“มารีย์เอ๋ย” พระเยซูตรัส
“รับโบนี” นางตอบขณะที่เริ่มจำพระอาจารย์ได้ (ดู ยอห์น 20:15–16)
จากการมาปรากฏของพระผู้ช่วยให้รอดต่อมารีย์ ต่ออัครสาวกในห้องชั้นบน (ดู ลูกา 24:36–43) ต่อหน้าพี่น้องกว่า 500 คนในเวลาเดียวกัน (ดู 1 โครินธ์ 15:6) ต่อฝูงชนจำนวน 2,500 คนในแผ่นดินอุดมมั่งคั่ง (ดู 3 นีไฟ 11:7–17) และต่อหน้าโจเซฟ สมิธในสมัยของเรา1 การฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่บันทึกไว้อย่างละเอียดถี่ถ้วนที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษย์
และยังเป็นเหตุการณ์สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ทั้งหมดอีกด้วย
ระหว่างการปฏิบัติศาสนกิจบนแผ่นดินโลก พระเยซูคริสต์ทรงทำให้บุตรของหญิงม่าย (ดู ลูกา 7:11–15) ธิดาของไยรัส (ดู มาระโก 5:38–42) และสหายของพระองค์ ลาซารัส (ดู ยอห์น 11:39–44) เป็นขึ้นจากความตาย จากนั้น เมื่อพันธกิจในความเป็นมรรตัยสิ้นสุดลง และโดยฤทธิ์อำนาจที่พระเจ้าพระบิดาประทานให้ พระเยซูทรงฟื้นคืนพระชนม์
“ทำลายพระวิหารนี้” พระองค์ตรัสถึงพระวรกายของพระองค์ “และ เราจะสร้างขึ้นใหม่ ภายในสามวัน” (ยอห์น 2:19; เน้นตัวเอน)
“เพราะเหตุนี้พระบิดาจึงทรงรักเรา” พระองค์ทรงอธิบาย “เพราะเราสละชีวิตของเราเพื่อจะรับชีวิตนั้นขึ้นมาอีกครั้ง
“ไม่มีใครชิงชีวิตไปจากเราได้ แต่เราสละชีวิตตามที่เราตั้งใจเอง เรามีสิทธิอำนาจที่จะสละชีวิตนั้นและมีสิทธิอำนาจที่จะรับคืนมาอีก คำกำชับนี้เราได้รับมาจากพระบิดาของเรา” (ยอห์น 10:17–18)
การฟื้นคืนพระชนม์ของพระผู้ช่วยให้รอดเป็นชัยชนะสูงสุด ปาฏิหาริย์ขั้นสูงสุด2 เกิดขึ้นจากการแต่งตั้งล่วงหน้า ความทุกข์ทรมานที่อธิบายไม่ได้ และพลังจากเบื้องบน โดยฤทธิ์อำนาจที่ไม่อาจเข้าใจได้นั้น—เกิดสัมฤทธิผลได้ก็เนื่องด้วยความรัก สรรพปรีชาญาณ และมหิทธิฤทธิ์แห่งพระบิดาของพระองค์—พระเยซูคริสต์ทรงเป็น “ผลแรก” (1 โครินธ์ 15:23) ของการฟื้นคืนพระชนม์
การฟื้นคืนพระชนม์มีความหมายต่อเราอย่างไร
ข้าพเจ้าสำนึกคุณที่ข้าพเจ้าอยู่บ้านในวันเสาร์นั้นเมื่อปี 2005 ข้าพเจ้ากับแดนท์เซล ภรรยาคนแรกของข้าพเจ้าทำงานบ้านเสร็จแล้วและตัดสินใจพักผ่อนสักสองสามนาที เรานั่งบนโซฟา กุมมือกัน และเริ่มชมรายการโทรทัศน์
ภายในช่วงเวลาไม่กี่นาที แดนท์เซลก็ก้าวเข้าสู่นิรันดรอย่างสงบโดยไม่คาดคิด ความพยายามของข้าพเจ้าในการกู้ชีพเธอนั้นไร้ผล ความตกใจและความโศกเศร้าครอบงำข้าพเจ้า เพื่อนที่ดีที่สุดของข้าพเจ้าในช่วงเกือบ 60 ปีที่ผ่านมาได้จากไปแล้ว
เมื่อ 10 ปีก่อน ข้าพเจ้าสูญเสียลูกสาวเนื่องจากโรคมะเร็ง เอมิลี่อายุเพียง 37 ปี ในปี 2019 ข้าพเจ้าสูญเสียลูกสาวที่มีค่าคนที่สองจากโรคร้ายนั้น เวนดี้อายุเพียง 67 ปี
ในช่วงเวลาแห่งความสูญเสียนั้นข้าพเจ้าสำนึกคุณเพียงใดต่อประจักษ์พยานถึงพระเจ้าพระเยซูคริสต์ ในชัยชนะเหนือหลุมฝังศพของพระองค์ เราเห็นคำสัญญาเรื่องการฟื้นคืนชีวิตของเราเอง
“สิทธิอำนาจทั้งหมดในสวรรค์ก็ดี ในแผ่นดินโลกก็ดี” (มัทธิว 28:18) พระผู้ช่วยให้รอดทรงประกาศหลังจากการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์ พลังอำนาจนั้นรวมถึงกุญแจของการฟื้นคืนพระชนม์ ข้าพเจ้ารู้ว่าพระองค์จะทรงใช้กุญแจเหล่านั้นเพื่อยกแดนท์เซล เอมิลี่ และเวนดี้ขึ้น เช่นเดียวกับที่พระองค์จะทรงใช้กุญแจเหล่านั้นเพื่อยกครอบครัวมนุษย์ที่เหลือขึ้นมา
สำหรับบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้า การฟื้นคืนชีวิตหมายถึงความชรา ความเสื่อมสภาพ ความเน่าเปื่อยจะหมดไป “ความเป็นมรรตัยนี้จะสวมใส่ความเป็นอมตะ” (โมไซยาห์ 16:10) และ “วิญญาณและร่างกายจะรวมกันอีกในรูปแบบอันสมบูรณ์” ( แอลมา 11:43)
การฟื้นคืนชีวิตยังทำให้การรวมตัวกันอีกครั้งของ—ครอบครัวเป็นไปได้ เราอยู่ด้วยกันในความรัก เราจึงร้องไห้เมื่อผู้เป็นที่รักสิ้นชีวิต (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:45) แต่เช่นเดียวกับมารีย์มักดาลา เราสามารถทำให้น้ำตาแห่งความเศร้ากลายเป็นน้ำตาแห่งปีติเมื่อเราคาดการณ์อนาคตจากมุมมองของครอบครัวนิรันดร์
โดยผ่านพันธสัญญาใหม่และเป็นนิจของพระกิตติคุณ เราแต่งงานกันเพื่อกาลเวลาและนิรันดรในพระวิหาร เมื่อเราให้เกียรติพันธสัญญาที่เราทำที่นั่นและใคร่ครวญคำสัญญาของพระเจ้าต่อผู้คนในพันธสัญญาของพระองค์ เราจะหมดความกลัวเรื่องความตาย ในทางกลับกัน เราตั้งตารอด้วยความหวังอย่างปีติยินดีที่จะกลับเข้าไปในที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้ากับคนที่เรารักอีกครั้ง
การแต่งงานซีเลสเชียลเป็นพันธสัญญาแห่งความสูงส่ง พระเจ้าทรงสัญญากับคนเหล่านั้นที่แต่งงานแล้ว “จะออกมาในการฟื้นคืนชีวิตครั้งแรก … และจะสืบทอดบัลลังก์, อาณาจักร, มณฑล, และอำนาจ, อำนาจการปกครอง … สู่ความสูงส่งและรัศมีภาพของพวกเขาในสิ่งทั้งปวง” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 132:19)
จุดประสงค์ของการสร้าง การตก และการชดใช้มาบรรจบกันในพระวิหาร โลกต้องการความรู้นี้เพื่อการปลอบโยน นั่นคือเหตุผลที่เรารวบรวมอิสราเอล
เตรียมพร้อมสำหรับอนาคตนิรันดร์ของท่าน
การจากไปของแดนท์เซลและลูกสาวของข้าพเจ้าทำให้ข้าพเจ้านึกถึงความจริงที่สำคัญ: “ชีวิตนี้เป็นเวลาสำหรับมนุษย์ที่จะเตรียมพบพระผู้เป็นเจ้า; แท้จริงแล้ว, ดูเถิด, วันแห่งชีวิตนี้เป็นวันสำหรับมนุษย์ที่จะทำงานของพวกเขา” (แอลมา 34:32)
ตลอดชีวิตของเธอ แดนท์เซลเตรียมพร้อมเสมอที่จะกลับบ้านบนสวรรค์ของเธอ เธอรู้ว่าเวลาของเธอบนโลกนี้มีค่า เธอใช้ชีวิตในแต่ละวันราวกับว่าเป็นครั้งสุดท้ายของเธอ
โยบถามว่า “ถ้ามนุษย์ตายแล้ว เขาจะมีชีวิตอีกได้หรือ?” (โยบ 14:14) เนื่องจากการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ คำตอบสำหรับคำถามของโยบคือใช่อย่างแน่นอน! เราทุกคน จะ ฟื้นคืนชีวิต คำถามที่เราแต่ละคนต้องตอบคือ “ฉันพร้อมจะอยู่ในที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า หลัง จากการฟื้นคืนชีวิตหรือไม่?”
บุตรธิดาบางคนของพระผู้เป็นเจ้าดำเนินชีวิตราวกับว่าพวกเขาไม่ได้คิดว่าวันหนึ่งจะต้องตายไป คนอื่นใช้ชีวิตราวกับว่าพวกเขาจะไม่รับผิดชอบต่อการกระทำของพวกเขา เรากำลังตัดสินใจเพื่อนิรันดรหรือเพื่อวันนี้เท่านั้น? เราไม่สามารถเลือกที่จะให้ความสำคัญกับสิ่งชั่วคราวที่เป็นของโลกนี้และพร้อมรับสิ่งที่เป็นนิรันดร์ของโลกหน้าได้
พวกเราบางคนจะมีอายุยืนยาว พวกเราบางคนจะมีอายุสั้น ไม่ว่าจะยาวหรือสั้น วันของเราต่างก็ถูกนับถอยหลัง ความตายเป็นส่วนที่จำเป็นของความก้าวหน้านิรันดร์ของเราและความสมบูรณ์แห่งปีติที่รอคอยวิสุทธิชนผู้ซื่อสัตย์ เมื่อเราเข้าใจการดำรงอยู่ของเราจากมุมมองนิรันดร์ เราเข้าใจว่าความตายแสดงถึงความเมตตาของแผนแห่งความรอด เป็นประตูสู่ที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า
ความตายจะเกิดก่อนเวลาอันควรก็ต่อเมื่อเราไม่พร้อมที่จะพบกับพระผู้เป็นเจ้า ดังนั้น เราต้องเตรียมตัวให้พร้อม
เราเตรียมโดยมุ่งเน้นที่พระผู้ช่วยให้รอดและพระกิตติคุณของพระองค์
เราเตรียมโดยการใช้ศรัทธา ใช้ “พระโลหิตที่ชดใช้ของพระคริสต์” (โมไซยาห์ 4:2) ผ่านการกลับใจ รับบัพติศมา และรับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์
เราเตรียมโดยการรับเอ็นดาวเม้นท์และผนึกในพระวิหารศักดิ์สิทธิ์
เราเตรียมโดยการให้เหตุผลอยู่เหนือความอยาก ดูแลร่างกายของเราเพื่อที่เราจะสามารถ “ยืนอย่างบริสุทธิ์ต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้าในอาณาจักรซีเลสเชียล”3
เราเตรียมโดยการพัฒนาคุณลักษณะเหมือนพระคริสต์ และรักพระผู้เป็นเจ้าและเพื่อนบ้านของเรา ( ดู มัทธิว 22:37–40)
เราเตรียมโดยให้เกียรติพันธสัญญาของเรา ให้พระผู้เป็นเจ้าทรงมีชัยในชีวิตเรา รวบรวมอิสราเอลทั้งสองด้านของม่าน และอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่
คำพยานของอัครสาวก
เมื่อพระผู้ช่วยให้รอดสิ้นพระชนม์ แผ่นดินก็สั่นสะเทือน ก้อนหินแตก หลุมศพเปิดออก และม่านในพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม “ก็ฉีกขาดออกเป็นสองท่อนตั้งแต่บนตลอดล่าง” (มัทธิว 27:51; ดู มาระโก 15: 38; ลูกา 23:45 ด้วย)
ม่านได้แยกอภิสุทธิสถาน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้าออกจากส่วนอื่นๆ ของพระวิหาร เฉพาะในวันแห่งการชดใช้เท่านั้นที่อนุญาตให้มหาปุโรหิตควบคุมผ่านม่านและประพรมเลือดของเครื่องบูชาไถ่บาปเพื่อชดใช้บาปของอิสราเอลทั้งหมดได้
เมื่อพระเยซูคริสต์ทรงหลั่งพระโลหิต พระองค์ทรงกระทำ “การชดใช้อันไม่มีขอบเขต” (2 นีไฟ 9:7) และทรงทำให้กฎเกิดสัมฤทธิผล การแหวกผ่านม่านของพระวิหารเป็นสัญลักษณ์ว่ามหาปุโรหิตผู้ยิ่งใหญ่ได้ผ่านม่านแห่งความตาย ในไม่ช้าจะเข้าสู่ที่ประทับของพระบิดาของพระองค์ และเปิดโอกาสสำหรับทุกคนที่จะผ่านม่านนั้นไปสู่การประทับนิรันดร์ของพระผู้เป็นเจ้าเช่นเดียวกัน4
ข้าพเจ้าเป็นพยานถึงความจริงของสัญญาแห่งสวรรค์นั้นร่วมกับเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ในฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสอง
ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าเราสามารถ “มีความหวังผ่านการชดใช้ของพระคริสต์และเดชานุภาพแห่งการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์, เพื่อยกท่านขึ้นสู่นิรันดรแห่งชีวิต, และนี่เพราะศรัทธา [ของเรา] ในพระองค์ตามสัญญา” (โมโรไน 7:41)
ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าเพราะปาฏิหาริย์แห่งการฟื้นคืนพระชนม์และการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด “ทุกเข่าจะน้อมลงและทุกลิ้นจะพูดด้วยการนมัสการต่อพระพักตร์พระองค์ เราแต่ละคนจะยืนต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้าเพื่อรับคำพิพากษาตามงานของเราและความปรารถนาของใจเรา”5
ขอให้เราเตรียมพร้อมสำหรับวันที่รุ่งโรจน์นั้น