พันธสัญญาใหม่ในบริบท
มุมมองของชาวยิวเกี่ยวกับการฟื้นคืนชีวิต
หลักคำสอนเรื่องการฟื้นคืนชีวิตทำให้เรามีความหวังสำหรับอนาคตรวมทั้งเป็นแรงจูงใจให้ดำเนินชีวิตในปัจจุบันอย่างชอบธรรม
การฟื้นคืนชีวิตหมายถึงการที่พระผู้เป็นเจ้าทรงทำให้คนตายฟื้น “เพื่อให้เป็นอมตะ มีร่างกายเป็นเนื้อหนังและกระดูก”1การทำความเข้าใจความเชื่อโบราณต่างๆ เกี่ยวกับการฟื้นคืนชีวิตจะช่วยให้เราชื่นชมพลังคำสอนโบราณของชาวคริสต์ในหัวข้อนี้ได้ดีขึ้น อีกทั้งทำให้เรียนรู้ว่าความเชื่อเหล่านั้นมีความแตกต่างและสร้างขึ้นจากแนวคิดที่ได้รับการยอมรับก่อนหน้านี้
แนวคิดเกี่ยวกับชีวิตหลังความตาย
คนจำนวนมากในยุคสมัยของพระเยซูไม่ได้เห็นพ้องเรื่องแนวคิดเกี่ยวกับชีวิตหลังความตาย แต่เชื่อว่าคนที่ตายไปแล้วนั้นไม่มีชีวิตอยู่อีกต่อไป สำหรับผู้ที่เชื่อในชีวิตหลังความตาย บางคนคิดว่ามีเพียงวิญญาณเท่านั้นที่ยังคงดำรงอยู่และมองชีวิตหลังความตายเป็นดินแดนเงาซึ่งทุกคนจะไปที่นั่นไม่ว่าจะทำอะไรไว้ในชีวิตมรรตัย ดินแดนนี้ถูกเรียกด้วยชื่อต่างๆ เช่น ชีโอล (แดนคนตาย) เกเฮนนา (นรก) และ เฮดีส (นรก)2
การฟื้นคืนชีวิตในงานเขียนของชาวยิว
แหล่งข้อมูลโบราณระบุว่าชาวยิวในยุคสมัยของพระเยซูมีสมมติฐานที่แตกต่างกันเกี่ยวกับชะตากรรมของร่างกายหลังความตาย ดังที่โยเซฟัส นักประวัติศาสตร์ชาวยิวบันทึกไว้ว่าพวกฟาริสีสอนว่าคนที่ชอบธรรม “จะมีอำนาจในการฟื้นและมีชีวิตอีกครั้ง”3 ในขณะที่พวกสะดูสีเชื่อว่า “วิญญาณตายไปกับร่างกาย”4พระเยซูและเหล่าสาวกยุคแรกเผชิญกับความเชื่อดังกล่าว อันที่จริง เปาโลอธิบายว่าเขาเป็น “พวกฟาริสี และเป็นบุตรของฟาริสี” และ กิจการของอัครทูต 23:6–7 บันทึกไว้ว่าความเชื่อที่มีร่วมกันเรื่องการฟื้นคืนชีวิตช่วยให้คำสอนของเปาโลเกี่ยวกับพระคริสต์โน้มน้าวใจพวกฟาริสีได้มากกว่า
มุมมองของชาวยิวเกี่ยวกับการฟื้นคืนชีวิตมาจากวรรณกรรมที่ชาวยิวให้ความสำคัญ รวมถึงพันธสัญญาเดิม ตัวอย่างเช่น หนังสือดาเนียลกล่าวถึงช่วงเวลาเมื่อ “คนเป็นอันมากในพวกที่หลับในผงคลีแห่งแผ่นดินโลกจะตื่นขึ้น บ้างก็จะเข้าสู่ชีวิตนิรันดร์” (ดาเนียล 12:2) การอ้างอิงถึงการฟื้นชีวิตที่แจ้งชัดเช่นนั้น แม้ว่าจะหาได้ยากในพันธสัญญาเดิม แต่มักถูกเขียนในช่วงเวลาของความทุกข์ยาก ถูกเนรเทศ และข่มเหง ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของหลักคำสอนที่จะให้ความหวังและการปลอบโยนแก่ผู้ทนทุกข์ทรมาน5
บทความของชาวยิวที่มีชื่อเสียงอีกบทความหนึ่งบอกเล่าถึงพี่น้องชายชาวยิวเจ็ดคนผู้เป็นมรณสักขีเพื่อศรัทธาของพวกเขา ก่อนที่บรรดาพี่น้องชายคนสุดท้ายจะถูกประหาร มารดากระตุ้นให้เขายังคงซื่อสัตย์ “เพื่อแม่จะได้รับลูกกลับคืนมาพร้อมกับพี่ๆ ของลูกในวันที่พระผู้เป็นเจ้าจะทรงพระกรุณา” (2 แม็กคาบี 7:29, ฉบับมาตรฐานที่ปรับปรุงใหม่) ในบทความนี้ ศรัทธาในการฟื้นคืนชีวิตทำให้มารดาและบุตรคู่นี้เผชิญกับการทดลองด้วยความซื่อสัตย์ ศรัทธาของพวกเขายังทำให้พวกเขามั่นใจว่าจะไม่มีความเสียหายและความบกพร่องทางร่างกายในชีวิตหลังความตาย
การฟื้นคืนชีวิตในงานเขียนของชาวคริสต์และชาวยิวในยุคหลัง
คำสอนในพันธสัญญาใหม่เกี่ยวกับการฟื้นคืนชีวิตทำให้มีความหวังและให้การปลอบโยนเช่นเดียวกัน เปาโลเน้นว่าด้วยการฟื้นคืนชีวิต เราสามารถเอาชนะความตาย ความเจ็บปวด และความสูญเสียได้ เขาเขียนจดหมายถึงวิสุทธิชนในโครินธ์ว่า “ความตายก็ถูกกลืนเข้าในชัยชนะแล้ว โอ ความตาย เหล็กในของเจ้าอยู่ที่ไหน? โอ ความตาย ชัยชนะของเจ้าอยู่ที่ไหน?” (1 โครินธ์ 15:54–55)
คำสอนของชาวคริสต์ที่โดดเด่นเกี่ยวกับการฟื้นคืนชีวิตคือความเชื่อที่ว่าการฟื้นคืนชีวิตเกิดขึ้นได้ผ่านพระเยซูคริสต์และทรงเป็นพระองค์แรกในบรรดาคนตายที่ฟื้นคืนพระชนม์หรือเป็น “ผลแรกของพวกที่ล่วงหลับไป” (1 โครินธ์ 15:20)6
ในวรรณกรรมชาวยิวที่เขียนขึ้นหลังจากยุคสมัยของพระเยซู ความเชื่อเรื่องการฟื้นคืนชีวิตถูกนับว่าเป็นหลักสำคัญของศรัทธา7 แต่เกิดความคิดเห็นที่แตกต่างในเรื่องที่ว่าการฟื้นคืนชีวิตจะเกิดขึ้นที่ใด อีกนานเท่าใดกว่าที่วิญญาณจะฟื้นคืนชีวิต และชีวิตหลังความตายจะคล้ายกับชีวิตมรรตัยมากน้อยเพียงใด เช่น การกิน การดื่ม และอื่นๆ8 นอกจากชาวคริสต์และชาวยิว กลุ่มคนในยุคโบราณอีกกลุ่มหนึ่งที่เชื่อเรื่องการฟื้นคืนชีวิตทางร่างกายคือชาวโซโรอัสเตอร์ในเปอร์เซีย9
เช่นเดียวกับผู้คนในยุคโบราณ หลักคำสอนเรื่องการฟื้นคืนชีวิตทำให้ผู้ติดตามของพระเยซูคริสต์ในยุคใหม่มีความหวังสำหรับอนาคต รวมถึงการปลอบโยน ความกล้าหาญ และแรงจูงใจที่จะดำเนินชีวิตในปัจจุบันอย่างชอบธรรม ซึ่งเป็นพยานหลักฐานว่าเรามีพระผู้ช่วยให้รอดผู้ทรงพระชนม์และรักผู้คนของพระองค์