เลียโฮนา
แบบแผนสําหรับความเป็นหนึ่งเดียวกันในพระเยซูคริสต์
ตุลาคม 2024


“แบบแผนสําหรับความเป็นหนึ่งเดียวกันในพระเยซูคริสต์,” เลียโฮนา, ต.ค. 2024.

แบบแผนสําหรับความเป็นหนึ่งเดียวกัน ในพระเยซูคริสต์

เมื่อเราเป็นหนึ่งเดียวกันในพระเยซูคริสต์เหมือนผู้คนใน 4 นีไฟ ความปรารถนาจะเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันจะแทนที่ความแตกต่างของเราและนําไปสู่ความสุข

รูปปั้นพระคริสต์

เราอยู่ในยุคที่กระแสของความไม่ลงรอยกันและการโต้เถียงกําลังกระจายไปทั่วโลก โดยมีเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยและโหมกระพือด้วยผู้คนที่มีใจเย็นชายิ่ง แรงยุให้แตกแยกคุกคามจนใจเราเต็มไปด้วยความดูหมิ่นและทําให้การสื่อสารของเราเสื่อมทรามด้วยความขัดแย้ง ความผูกพันแบบชุมชนกําลังขาด สงครามกําลังทวีความรุนแรง

สําหรับฉากหลังนี้ ผู้ติดตามที่แท้จริงของพระเยซูคริสต์โหยหาสันติสุขและพยายามสร้างสังคมแบบอื่นอย่างแข็งขัน—สังคมที่มีฐานบนคําสอนของพระเยซูคริสต์ สำหรับสุดปลายด้านนี้ พระเจ้าทรงบัญชาเราว่า “จงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน; และหากเจ้าไม่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเจ้าก็มิใช่ของเรา” [หลักคําสอนและพันธสัญญา 38:27] แท้จริงแล้ว ความเป็นหนึ่งเดียวกันคือตราสัญลักษณ์ของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์

เราทํางานต่อต้านแรงยุแห่งการแตกแยกและความขัดแย้งอย่างไร? เราบรรลุความเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างไร?

โชคดีที่ 4 นีไฟ ในพระคัมภีร์มอรมอนมีแบบอย่างให้เรา บทนี้บันทึกสั้นๆ ถึงวิธีที่ผู้คนดําเนินชีวิตหลังจากพระผู้ช่วยให้รอดเสด็จเยือนพวกเขา สอนพวกเขา และสถาปนาศาสนจักรของพระองค์ในบรรดาพวกเขา เรื่องราวนี้แสดงให้เห็นว่าคนเหล่านี้บรรลุความเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างสงบสุขได้อย่างไร และให้แบบแผนที่เราทําตามได้เพื่อให้บรรลุความเป็นหนึ่งเดียวกันนี้ด้วยตัวเราเอง

การเปลี่ยนใจเลื่อมใส

ใน 4 นีไฟ 1:1 เราอ่านว่า: “สานุศิษย์ของพระเยซูตั้งศาสนจักรของพระคริสต์ขึ้นในผืนแผ่นดินทั้งหมดโดยรอบ และ [ผู้คน] มาหาพวกท่าน, และกลับใจจากบาปของพวกเขาอย่างแท้จริง”

เราเป็นหนึ่งเดียวกันรอบพระเจ้าและพระผู้ช่วยให้รอดพระเยซูคริสต์ เมื่อแต่ละคนเรียนรู้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ พระกิตติคุณของพระองค์ และศาสนจักรของพระองค์ พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นพยานถึงความจริงต่อใจแต่ละคน จากนั้นเราแต่ละคนสามารถยอมรับพระดํารัสเชิญของพระผู้ช่วยให้รอดให้มีศรัทธาในพระองค์และติดตามพระองค์โดยการกลับใจ

ด้วยเหตุนี้จึงเริ่มการเดินทางของการเปลี่ยนใจเลื่อมใสของแต่ละคน—ออกห่างจากความปรารถนาที่เห็นแก่ตัวและเป็นบาปแล้วมุ่งสู่พระผู้ช่วยให้รอด พระองค์ทรงเป็นรากฐานแห่งศรัทธาของเรา และเมื่อเราแต่ละคนมองดูพระองค์ในความนึกคิดทุกอย่าง (ดู หลักคําสอนและพันธสัญญา 6:36) พระองค์จะทรงเป็นพลังที่ทําให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวกันในชีวิตเรา

พันธสัญญา

บันทึกใน 4 นีไฟ กล่าวต่อไปว่าคนที่มาสู่ศาสนจักรและกลับใจจากบาปของพวกเขา “รับบัพติศมาในพระนามของพระเยซู; และพวกเขาได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ด้วย” (4 นีไฟ 1:1) พวกเขาเข้าสู่พันธสัญญา—ความสัมพันธ์พิเศษที่ผูกมัดกัน—กับพระผู้เป็นเจ้า

เมื่อเราทําและรักษาพันธสัญญา เรารับพระนามของพระเจ้าไว้กับเราแต่ละคน นอกจากนี้เรายังรับพระนามของพระองค์ไว้กับเราในฐานะผู้คนด้วย ทุกคนที่ทําพันธสัญญาและพยายามรักษาพันธสัญญาเหล่านั้นกลายเป็นผู้คนของพระเจ้า เป็นของลํ้าค่าพิเศษของพระองค์ (ดู อพยพ 19:5) เมื่อเป็นเช่นนั้น เราจึงเดินทางในเส้นทางพันธสัญญาทั้งแบบรายบุคคลและเป็นหมู่คณะ ความสัมพันธ์แบบพันธสัญญาของเรากับพระผู้เป็นเจ้าให้อุดมการณ์ร่วมกันและอัตลักษณ์ที่มีร่วมกันแก่เรา เมื่อเราผูกมัดตัวเรากับพระเจ้า พระองค์ทรงช่วยให้เรามี “ใจ … ผูกพันกันไว้ในความเป็นหนึ่งเดียวและในความรักที่มีต่อกัน” (โมไซยาห์ 18:21)

ความยุติธรรม ความเท่าเทียม และการช่วยเหลือคนยากจน

เรื่องราวใน 4 นีไฟ กล่าวต่อไปว่า: “ไม่มีความขัดแย้งและการโต้เถียงในบรรดาคนเหล่านั้น, และทุกคนปฏิบัติต่อกันอย่างเที่ยงธรรม.

“และพวกเขามีสิ่งของทั้งหมดเพื่อใช้ร่วมกันในบรรดาพวกเขา; ฉะนั้นจึงไม่มีคนรวยและคนจน, ทาสและไท, แต่พวกเขาเป็นอิสระทุกคน, และเป็นผู้รับส่วนในของประทานจากสวรรค์” (4 นีไฟ 1:2–3)

ในการติดต่อทางโลกของเรา พระเจ้าทรงต้องการให้เรายุติธรรมและเที่ยงธรรมต่อกัน ไม่หมิ่นประมาทหรือเอาเปรียบกัน (ดู 1 เธสะโลนิกา 4:6) ขณะเข้าใกล้พระเจ้ามากขึ้นเรา “จะไม่มีจิตใจมุ่งร้ายกัน, แต่จะอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข, และให้ทุกคนตามที่เขาสมควรได้รับ” (โมไซยาห์ 4:13)

พระเจ้าทรงบัญชาให้เราดูแลคนจนและคนขัดสน เราควร “ให้ทรัพย์สิน [ของเรา]” เพื่อช่วยพวกเขา ตามความสามารถของเราในการทําเช่นนั้น โดยไม่ตัดสินพวกเขา (ดู โมไซยาห์ 4:21–27)

เราแต่ละคนต้อง “นับถือพี่น้องของเขาเสมือนหนึ่งนับถือตนเอง” (หลักคําสอนและพันธสัญญา 38:24) หากเราต้องการเป็นผู้คนของพระเจ้าและเป็นหนึ่งเดียวกัน เราไม่เพียงต้องปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียมเท่านั้น แต่เราต้องมีทัศนะที่แท้จริงต่อกันอย่างเท่าเทียมด้วยและรู้สึกในใจเราว่าเราเท่าเทียมกัน—เท่าเทียมกันต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า มีค่าเท่าเทียมกันและมีศักยภาพเท่าเทียมกัน

การเชื่อฟัง

บทเรียนต่อไปจาก 4 นีไฟ มาในคําพูดที่เรียบง่ายนี้: “พวกเขาดําเนินตามพระบัญญัติซึ่งพวกเขาได้รับจากพระเจ้าของพวกเขาและพระผู้เป็นเจ้าของพวกเขา” (4 นีไฟ 1:12)

พระเจ้าทรงสอนหลักคําสอนของพระองค์แก่คนเหล่านี้ ประทานพระบัญญัติแก่พวกเขา และทรงเรียกผู้รับใช้ให้ปฏิบัติแก่พวกเขา จุดประสงค์ประการหนึ่งของพระองค์ในการทําเช่นนี้คือเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีการโต้เถียงในบรรดาพวกเขา (ดู 3 นีไฟ 11:28–29; 18:34)

การเชื่อฟังของเราต่อคําสอนของพระเจ้าและผู้รับใช้ของพระองค์จําเป็นต่อการเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของเรา นี่รวมถึงคํามั่นสัญญาของเราที่จะเชื่อฟังพระบัญญัติให้กลับใจเมื่อใดก็ตามที่เราบกพร่องและช่วยกันขณะที่เราพยายามทําให้ดีขึ้นและเป็นคนดีขึ้นทุกวัน

ผู้คนมองดูพระคัมภีร์ในการประชุม

การประชุมด้วยกัน

ต่อจากนั้น เราเรียนรู้ว่าผู้คนใน 4 นีไฟ “อดอาหารและสวดอ้อนวอนต่อไป, และประชุมกันบ่อยครั้งทั้งเพื่อสวดอ้อนวอนและฟังพระวจนะของพระเจ้า” (4 นีไฟ 1:12)

เราต้องประชุมกัน การประชุมนมัสการประจําสัปดาห์ของเราเป็นโอกาสสําคัญที่เราจะพบความเข้มแข็งทั้งส่วนตัวและโดยรวม เรารับส่วนศีลระลึก เรียนรู้ สวดอ้อนวอน ร้องเพลงด้วยกัน และสนับสนุนกัน การชุมนุมอื่นๆ ช่วยส่งเสริมความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง มิตรภาพ และจุดประสงค์ร่วมกันด้วย

รัก

จากนั้นบันทึกใน 4 นีไฟ ได้ให้สิ่งที่อาจเป็นกุญแจสําคัญของทั้งหมดนี้—สิ่งที่หากไม่มีความเป็นหนึ่งเดียวกันที่แท้จริงไม่อาจบรรลุได้: “ไม่มีความขัดแย้งในแผ่นดิน, เพราะความรักของพระผู้เป็นเจ้าซึ่งสถิตอยู่ในใจผู้คน” (4 นีไฟ 1:15)

เราได้รับสันติสุขส่วนตัวเมื่อเรารักพระผู้เป็นเจ้าอย่างแท้จริงในความว่าง่ายที่นอบน้อม นั่นแหละเป็นพระ‍บัญญัติข้อสําคัญอันดับแรก การรักพระผู้เป็นเจ้าเหนือทุกคนหรือทุกสิ่งอื่นใดคือสภาวะที่นำสันติสุข การปลอบโยน ความมั่นใจและปีติที่แท้จริงมาให้ เมื่อเราพัฒนาความรักต่อพระผู้เป็นเจ้าและพระเยซูคริสต์ ความรักของครอบครัวและเพื่อนบ้านจะตามมาอย่างเป็นธรรมชาติ

ปีติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เราประสบจะเกิดขึ้นเมื่อเราถูกกลืนเข้าไปในความรักที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้าและต่อบุตรธิดาทุกคนของพระองค์

จิตกุศล ความรักอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์เป็นยาถอนพิษความขัดแย้ง จิตกุศลเป็นคุณลักษณะสําคัญของผู้ติดตามที่แท้จริงของพระเยซูคริสต์ เมื่อเราถ่อมตนต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้าและสวดอ้อนวอนด้วยสุดพลังของใจเรา พระองค์จะประทานจิตกุศลให้เรา (ดู โมโรไน 7:48)

ขณะที่เราทุกคนพยายามให้มีความรักของพระผู้เป็นเจ้าอยู่ในใจเรา ปาฏิหาริย์ของความเป็นหนึ่งเดียวกันจะดูเป็นธรรมชาติโดยสมบูรณ์สําหรับเรา

อัตลักษณ์อันสูงส่ง

ท้ายที่สุด ผู้คนใน 4 นีไฟ แสดงเครื่องหมายของความเป็นหนึ่งเดียวกันที่สมควรได้รับความเอาใจใส่จากเรา “ไม่มีโจร, หรือฆาตกร, ทั้งไม่มีชาวเลมัน, หรือชาวใดๆ; แต่คนทั้งหลายอยู่กันเป็นหนึ่งเดียว, เป็นลูกของพระคริสต์, และทายาทแห่งอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า” (4 นีไฟ 1:17)

การตีตราที่แบ่งแยกผู้คนมาเป็นเวลาหลายร้อยปีลดน้อยลงต่อหน้าอัตลักษณ์ที่ยั่งยืนและมีเกียรติยิ่งกว่า พวกเขามองตนเอง—และทุกคน—ตามความสัมพันธ์ของพวกเขากับพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์

ความหลากหลายและความแตกต่างอาจเป็นเรื่องดีและสําคัญต่อเรา แต่อัตลักษณ์สําคัญที่สุดของเราคืออัตลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับต้นกําเนิดและจุดประสงค์อันศักดิ์สิทธิ์ของเรา

สำคัญที่สุดอย่างแรกคือ เราแต่ละคนเป็นลูกของพระผู้เป็นเจ้า สอง ในฐานะสมาชิกศาสนจักร เราแต่ละคนเป็นลูกแห่งพันธสัญญา และสาม เราแต่ละคนเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ ข้าพเจ้ากระตุ้นเราทุกคนว่าอย่ายอมให้ข้อบ่งชี้อื่นๆ มา “ย้ายที่ แทนที่ หรือ สำคัญกว่า คำเรียกขานถาวรสามคำนี้”

ครอบครัวนั่งอยู่บนพื้นด้วยกัน

จงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

พระผู้เป็นเจ้าทรงเชื้อเชิญให้ทุกคนมาหาพระองค์ ทรงมีที่ว่างสำหรับทุกคน เราอาจแตกต่างกันในวัฒนธรรม การเมือง เชื้อชาติ รสนิยม และด้านอื่นๆ อีกหลายด้าน แต่เมื่อเราเป็นหนึ่งเดียวกันในพระเยซูคริสต์ ความสําคัญของความแตกต่างเหล่านั้นจางหายไปและถูกแทนที่ด้วยความปรารถนาอันล้นเหลือของเราที่จะเป็นหนึ่งเดียวกัน—เพื่อเราจะเป็นของพระองค์

จงเอาใจใส่บทเรียนที่สอนใน 4 นีไฟ ขณะที่เราแต่ละคนพยายามรวมองค์ประกอบที่จําเป็นเหล่านี้ของความเป็นหนึ่งเดียวกันไว้ในชีวิตเรา อาจมีคนพูดถึงเราดังที่กล่าวไว้ใน 4 นีไฟ ว่า “แน่แท้แล้วไม่มีผู้คนใดมีความสุขยิ่งกว่านี้ได้ในบรรดาผู้คนทั้งปวงที่พระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าสร้างขึ้นมา” (4 นีไฟ 1:16)

อ้างอิง

  1. สําหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความหมายและพรของการทําพันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้า ดู รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “พันธสัญญาอันเป็นนิจ,” เลียโฮนา, ต.ค. 2022, 4–11

  2. รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “การเลือกเพื่อนิรันดร” (การให้ข้อคิดทางวิญญาณสําหรับคนหนุ่มสาวทั่วโลก, 15 พ.ค. 2022), คลังค้นคว้าพระกิตติคุณ