“เราทําตามพระอาจารย์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจ,” เลียโฮนา, ต.ค. 2024.
เราทําตาม พระอาจารย์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจ
พระเยซูคริสต์ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีพร้อมของการปฏิบัติศาสนกิจด้วยความการุณย์ต่อทุกคน
ขณะเข้าร่วมการประชุมใหญ่สเตคทั่วศาสนจักร ข้าพเจ้ามีโอกาสดีเยี่ยมที่ได้ไปกับประธานสเตคเพื่อเยี่ยมและปฏิบัติศาสนกิจต่อสมาชิกแต่ละคนและครอบครัว ในการเยี่ยมเยียนเพื่อปฏิบัติศาสนกิจเหล่านี้ บางครั้งข้าพเจ้าสงสัยว่าจะพูดและทําอะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคนที่ข้าพเจ้าเยี่ยมกําลังประสบความท้าทายที่ยากลําบาก แต่แทนที่จะจดจ่อกับสิ่งที่ข้าพเจ้าจะพูดหรือทํา ข้าพเจ้ากลับพบว่าการมุ่งเน้นที่พระอาจารย์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจ—พระผู้ช่วยให้รอดของเรา พระเยซูคริสต์—ช่วยข้าพเจ้ามากที่สุดเมื่อปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้อื่น
เช่นเดียวกับสิ่งดีๆ ทั้งหมด พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีพร้อมของเรา เมื่อเราออกจากบ้าน—และก้าวออกจากพื้นที่คุ้นเคย—เพื่อปฏิบัติศาสนกิจต่อคนรอบข้างดังที่พระองค์ทรงทํา พระผู้ช่วยให้รอดจะทรงชี้นําเราในความพยายามของเรา จากนั้นการปฏิบัติศาสนกิจของเราจะมีความหมายมากกว่าสิ่งใดก็ตามที่เราพูดหรือทําด้วยตนเอง
อย่าเดินเลยไป
เมื่อถามว่า “ใครเป็นเพื่อนบ้านของข้าพเจ้า” (ลูกา 10:29) พระเยซูทรงใช้โอกาสแบ่งปันอุปมาเรื่องหนึ่ง ทรงเล่าเรื่องชายคนหนึ่งที่กําลังเดินทางจากเยรูซาเล็มไปเยรีโคผู้ “ถูกพวกโจรปล้น” ถูกตี และทิ้งไว้จน “เกือบจะตายแล้ว” บนถนน (ลูกา 10:30)
ไม่นานก็มีปุโรหิตคนหนึ่งเดินมา ปุโรหิตต้องเห็นว่าชายคนนี้อยู่ในภาวะวิกฤต แต่เขาไม่หยุดเพื่อช่วย เขา “เดินเลยไปเสียอีกฟากหนึ่ง” ของถนน (ลูกา 10:31) ต่อมา คนเลวีคนหนึ่ง “เห็นแล้ว” ว่าชายคนนั้นได้รับบาดเจ็บสาหัสเพียงใด เขาเดิน “เลยไป” เช่นกัน (ลูกา 10:32) จากนั้นมีชาวสะมาเรียคนหนึ่งเดินผ่านมา พระเยซูทรงอธิบายว่าชาวสะมาเรียมีบางสิ่งที่ปุโรหิตและคนเลวีไม่มี: ชาวสะมาเรีย “เห็นแล้วก็มีใจสงสาร [ชายคนนี้]” (ลูกา 10:33) จึง “เข้าไปหาเขา … เอาผ้ามาพัน [แผล] ให้ … และดูแลรักษาพยาบาลเขา” (ลูกา 10:34)
อุปมาเรื่องชาวสะมาเรียผู้ใจดีไม่เพียงเกี่ยวกับปุโรหิต คนเลวี หรือชาวสะมาเรียเท่านั้น แต่เกี่ยวกับเราจริงๆ เรามีพี่น้องถูกทิ้งให้บาดเจ็บอยู่ข้างถนนแห่งชีวิต พวกเขาอาจเป็นใครก็ได้—มิตรสหาย ครอบครัว เพื่อนบ้าน สมาชิกชุมชน และแม้แต่คนที่นั่งในอาคารโบสถ์กับเราในวันอาทิตย์ เราเห็นพวกเขาและเดินเลยไปหรือไม่? หรือเราปฏิบัติศาสนกิจต่อพวกเขาด้วยความเห็นอกเห็นใจดังที่ชาวสะมาเรียผู้ใจดีทํา? คนที่เราเห็นส่วนใหญ่จะไม่มีบาดแผลที่มองเห็น หลายคนทนทุกข์อยู่เงียบๆ และไม่ขอความช่วยเหลือ วิธีเดียวที่จะแน่ใจในวิธีของเราคือพบปะผู้อื่นด้วยความรักและความเห็นอกเห็นใจอย่างที่ชาวสะมาเรียแสดงให้เห็น การปฏิบัติศาสนกิจเหมือนพระคริสต์หมายถึงการแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อ ทุกคน
สวดอ้อนวอนให้เห็นความต้องการของผู้อื่น
ขณะที่พระเยซูทรงดําเนินอยู่ท่ามกลางฝูงชน หญิงคนหนึ่งทนทุกข์นาน 12 ปีจากโรคโลหิตตกได้เอื้อมไปหาพระองค์ด้วยศรัทธา เมื่อเธอแตะต้องชายฉลองพระองค์ของพระเยซู พระองค์ทรงรู้สึกว่าพลังอํานาจหรือ “ฤทธิ์ซ่านออกจาก [พระองค์]” พระเยซูทรงหันไปตรัสกับหญิงนั้นว่า “ที่หายโรคนั้นก็เพราะลูกเชื่อ จงไปเป็นสุขเถิด” (ดู ลูกา 8:43–48)
เมื่อเพื่อนๆ ของ “คนง่อยคนหนึ่ง” พาเขามาหาพระเยซูผ่านหลังคา พระเยซูทรงรักษาคนง่อยให้หายทางวิญญาณก่อน “ลูกเอ๋ย บาปของเจ้าได้รับการอภัยแล้ว” พระองค์ตรัส พวกธรรมาจารย์กลับตอบสนองโดยการกล่าวหาว่าพระเยซูทรงหมิ่นประมาทพระเจ้า เพื่อช่วยให้คนที่อยู่ที่นั่นเข้าใจว่าพระองค์ทรงมี “สิทธิอํานาจในโลกที่จะอภัยบาปได้” พระเยซูทรงบอกชายคนนั้นว่า “จงลุกขึ้นยกแคร่แล้วกลับบ้านของท่าน” คนง่อยก็ “ลุกขึ้น … ทันที … ต่อหน้าคนทั้งหลาย” (ดู มาระโก 2:3–12) สิทธิอํานาจของพระคริสต์ในการรักษาคนป่วยทางร่างกายเป็นสิทธิอํานาจเดียวกับที่พระองค์ทรงใช้รักษาผู้ป่วยทางวิญญาณ
สองตัวอย่างนี้—และอีกหลายตัวอย่าง—แสดงให้เห็นว่าพระผู้ช่วยให้รอดเข้าพระทัยความต้องการทั้งทางโลกและทางวิญญาณของผู้อื่นและปฏิบัติศาสนกิจตามความต้องการเหล่านั้น เราสามารถทำได้เช่นกัน แม้เราจะไม่สามารถมองเห็นความต้องการของผู้อื่นได้อย่างสมบูรณ์แบบ ดังที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงเห็น แต่เราสามารถสวดอ้อนวอนขอให้สามารถมองเห็นความต้องการเหล่านั้น ขอการนําทางในวิธีจัดการกับความต้องการเหล่านั้น และขอให้เราเป็นคําตอบการสวดอ้อนวอนของผู้อื่น
ทันทีที่เราเห็น เราต้องกระทําด้วยความเห็นใจ จะมีประโยชน์อะไรที่หากเห็นแล้วไม่ทําอะไรเลย? ถ้าเราเห็นและไม่ทําอะไร เราจะสูญเสียวิสัยทัศน์ทางวิญญาณของเรา เมื่อเราลงมือทํา แม้ในวิธีเล็กๆ น้อยๆ เราจะได้รับแสงสว่างของพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้นเพื่อมองเห็นและปฏิบัติศาสนกิจต่อคนรอบข้างได้ดีขึ้น
อยู่กับพวกเขา
บางครั้งเราอาจลังเลที่จะปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้อื่น เราอาจกังวลว่าคนอื่นจะมีปฏิกิริยาอย่างไรหรือพวกเขาจะเปิดใจอย่างไร เรื่องนี้เกิดขึ้นกับข้าพเจ้า ในช่วงเวลาเหล่านั้น สิ่งสําคัญที่สุดที่เราทําได้คืออยู่กับพวกเขาและรักพวกเขา อีกครั้งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นแบบอย่างที่ดีพร้อมของเรา
ก่อนพระผู้ช่วยให้รอดผู้ฟื้นคืนพระชนม์ทรงปรากฏต่อชาวนีไฟ พวกเขาประสบภัยพิบัติและความมืดมิดมากมาย พวกเขาสิ้นหวังที่จะได้รับการบรรเทาทุกข์ พระผู้ช่วยให้รอดอาจตรัสกับพวกเขาจากสวรรค์ถึงสิ่งที่พวกเขาจําเป็นต้องได้ยินก็ได้ (ดู 3 นีไฟ 9–10) แต่พระองค์ทรงปรากฏต่อพวกเขาและเสด็จไปอยู่ท่ามกลางพวกเขา ทรงสอนและสวดอ้อนวอนกับพวกเขาและเพื่อพวกเขา (ดู 3 นีไฟ 11–19)
พระองค์ตรัสถามพวกเขาด้วยว่า: “เจ้ามีผู้ใดที่เจ็บป่วยในบรรดาพวกเจ้าไหม? จงนำเขามาที่นี่ พวกเจ้ามีคนใดที่เป็นง่อย, หรือตาบอด, หรือขาเสีย, หรือพิการ, หรือเป็นโรคเรื้อน, หรือที่ผอมแห้ง หรือที่หูหนวก, หรือที่รับทุกข์ด้วยประการใดๆ ไหม? จงนําพวกเขามาที่นี่และเราจะรักษาพวกเขา, เพราะเรามี ความสงสาร เจ้า; อุทรของเราเต็มไปด้วยความเมตตา …
“และเหตุการณ์ได้บังเกิดขึ้นคือเมื่อพระองค์รับสั่งดังนั้นแล้ว, ฝูงชนทั้งหมด, ได้พร้อมใจกัน, ออกไป … พร้อมด้วยคนทั้งหมดที่มีทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่ง; และพระองค์ทรงรักษาเขา ทุกคน เมื่อนําพวกเขาออกมาเฝ้าพระองค์” (3 นีไฟ 17:7, 9; เน้นตัวเอน)
ถ้าท่านไม่แน่ใจหรือกังวลกับการปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้อื่น อย่ากังวลมากกับสิ่งที่จะพูดหรือทํา เริ่มต้นด้วยการอยู่ที่นั่น ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสอนว่า “การดลใจที่ดีขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ดี” เมื่อท่านอยู่กับพวกเขา ท่านจะเรียนรู้เกี่ยวกับพวกเขาและรู้ว่าเมื่อใดที่ต้องไปเยี่ยมเมื่อพวกเขาเจ็บป่วย เมื่อใดจะเสนอและให้พรฐานะปุโรหิต เมื่อใดจะฟังและ “แบกภาระของกันและกัน, เพื่อมันจะได้เบา” “โศกเศร้ากับคนที่โศกเศร้า; … ปลอบโยนคนที่ต้องการการปลอบโยน” (โมไซยาห์ 18:8–9) และชื่นชมยินดีกับคนที่ชื่นชมยินดี! อย่าลังเล ท่านจะได้รับการดลใจในสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงต้องการให้ท่านพูดและทําเมื่อท่านปฏิบัติศาสนกิจ
ทําตามแบบแผนของพระองค์
การกระทําแรกที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทําเมื่อทรงปรากฏต่อชาวนีไฟคือบอกให้พวกเขา “ลุกขึ้นและออกมาหา [พระองค์]” และ “แยงมือ [พวกเขา] เข้าไปในพระปรัศว์ [ของพระองค์] และ … สัมผัสรอยตะปูที่พระหัตถ์ … และที่พระบาท [ของพระองค์]” (3 นีไฟ 11:14)
พระผู้ช่วยให้รอดไม่ทรงต้องการให้พวกเขาเห็นพระองค์เท่านั้น พวกเขาได้ประจักษ์แก่ตาตนเองแล้วว่าพระองค์ “[เสด็จ] ลงมาจากฟ้าสวรรค์ … และยืนอยู่ท่ามกลางพวกเขา” (3 นีไฟ 11:8) พระองค์ทรงต้องการให้พวกเขาแต่ละคนมาหาพระองค์รู้สึกและรู้จักพระองค์และสิ่งที่พระองค์ทรงทําเพื่อคนทั้งโลก “และการนี้พวกเขาทํา, โดยออกไป ทีละคน จนพวกเขาทั้งหมดได้ออกไป” (3 นีไฟ 11:15; เน้นตัวเอน)
พระองค์ทรงเรียกสานุศิษย์สิบสองคนและ “ประทานอํานาจแก่พวกเขาที่จะให้บัพติศมา” (3 นีไฟ 11:22) และสอนหลักคําสอนเรื่องบัพติศมา (ดู 3 นีไฟ 11:23–27) จากนั้นพระองค์ทรงบัญชาให้ชาวนีไฟยุติความขัดแย้งทั้งหมด “ดูเถิด, นี่ไม่ใช่หลักคำสอนของเรา, ที่จะยั่วยุใจมนุษย์ให้มีความโกรธกัน; แต่นี่เป็นหลักคำสอนของเรา, ว่าเรื่องเช่นนั้นจะหมดไป” (3 นีไฟ 11:30)
การปฏิบัติศาสนกิจของพระผู้ช่วยให้รอดในพระคัมภีร์มอรมอนทําหน้าที่เป็นแบบแผนการปฏิบัติศาสนกิจของเราเองในหลายๆ ด้าน เราสามารถช่วยให้พี่น้องของเรามาหาพระเยซูคริสต์ กระตุ้นให้พวกเขารับบัพติศมาและรับศาสนพิธีแห่งความรอดอื่นๆ รักพวกเขาและเป็นผู้สร้างสันติดังที่ศาสดาพยากรณ์สอนเรา
บางครั้งการยื่นมือช่วยเหลือผู้อื่นไม่ใช่เรื่องง่าย เราอาจพบตนเองในการทดลองที่ทําให้เรารู้สึกถึงแรงจูงใจที่จะปฏิบัติศาสนกิจในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอดได้ยากขึ้น การทดลองและความยากลําบากเกิดขึ้นกับพระผู้ไถ่ในการปฏิบัติศาสนกิจของพระองค์ เมื่อเรารับพระนามของพระองค์ไว้กับตนและยืนเป็นพยานถึงพระองค์ (ดู โมไซยาห์ 18:9) พระองค์จะทรงขอให้เราเดินดังที่พระองค์ทรงเดิน ยื่นมือช่วยเหลือและรักคนที่เราติดต่อด้วย
ถ้าเราทําตามพระเยซูคริสต์—พระอาจารย์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจ—และปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้อื่นดังที่พระองค์ทรงทํา พระองค์จะทรงเสริมสร้างความเข้มแข็งและประทานพลังแก่เรา โดยผ่านการปฏิบัติศาสนกิจของเรา เราสามารถเป็นพรแก่ชีวิตผู้อื่น พบสันติสุขและปีติสําหรับชีวิตเรา