คู่มือปฐมวัยและช่วงเวลาแบ่งปัน
มิถุนายน: ฉันจะทำตามแผนของพระบิดาบนสวรรค์โดยรับบัพติศมาและการยืนยัน


มิถุนายน

ฉันจะทำตามแผนของพระบิดาบนสวรรค์โดยรับบัพติศมาและการยืนยัน

“จงมาหาเรา, และรับบัพติศมาในนามของเรา, เพื่อเจ้าจะได้รับการปลดบาปของเจ้า, และเปี่ยมไปด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์” (3 นีไฟ 30:2)

เสริมแนวคิดที่ให้ไว้ด้วยแนวคิดบางอย่างของท่านเอง แต่ละสัปดาห์ให้วางแผนวิธี (1) ระบุหลักคำสอน (2) ช่วยให้เด็กเข้าใจหลักคำสอน และ (3) ช่วยให้เด็กประยุกต์ใช้หลักคำสอนในชีวิต ถามตัวท่านว่า “เด็กต้องทำอะไรจึงจะเรียนรู้ และฉันจะช่วยให้พวกเขารู้สึกถึงพระวิญญาณได้อย่างไร”

สัปดาห์ 1: ฉันจะทำตามพระเยซูคริสต์โดยรับบัพติศมาและการยืนยัน และรักษาพันธสัญญาบัพติศมาของฉัน

ก่อนเริ่มปฐมวัย ให้ตัดรอยเท้าขนาดใหญ่สองแผ่นจากกระดาษสีสองสี เขียนแผ่นหนึ่งว่า “รับบัพติศมาและการยืนยัน” และอีกแผ่นว่า “และรักษาพันธสัญญาบัพติศมาของฉัน” เตรียมรอยเท้าขนาดเล็กหลายๆ แผ่นจากกระดาษทั้งสองสี เขียนคำต่อไปนี้บนรอยเท้าสีแรกแต่ละแผ่น: 8 ขวบ กลับใจ สัมภาษณ์กับอธิการ ลงไปในน้ำทั้งตัว สิทธิอำนาจฐานะปุโรหิต พันธสัญญา ชุดสีขาว พระวิญญาณบริสุทธิ์ และเขียนมาตรฐานจาก “มาตรฐานพระกิตติคุณของฉัน” ลงบนรอยเท้าเล็กอีกสีหนึ่งแผ่นละข้อ วางรอยเท้าแผ่นเล็กไว้ทั่วห้อง

ระบุหลักคำสอน: เขียนบนกระดานว่า “ฉันจะทำตามพระเยซูคริสต์โดย …” ติดรอยเท้าแผ่นใหญ่ไว้บนกระดานทีละแผ่นและอ่านพร้อมกัน อธิบายว่ามีขั้นตอนที่จำเป็นในแผนของพระบิดาบนสวรรค์ หากจำเป็นให้ช่วยเด็กๆ เข้าใจว่าพันธสัญญาบัพติศมาคืออะไร

ภาพ
กระดาน

รอยเท้ามีอยู่ที่ sharingtime.lds.org

ส่งเสริมความเข้าใจและการประยุกต์ใช้ (เล่นเกมจับคู่): ขอให้เด็กคนหนึ่งหารอยเท้าสีแรกมาหนึ่งแผ่น ขอให้เขาอ่านคำหรือวลีบนนั้นและติดไว้บนกระดานใต้รอยเท้าแผ่นใหญ่ที่เข้าคู่กัน ถามเด็กว่านี่เกี่ยวข้องอะไรกับบัพติศมาและการยืนยัน ทำซ้ำกับรอยเท้าสีแรกทั้งหมด

ขอให้เด็กคนหนึ่งหาร้อยเท้าสีที่สอง ขอให้เด็กอ่านคำหรือวลีบนนั้นและติดไว้บนกระดานใต้รอยเท้าขนาดใหญ่ที่เข้าคู่กัน สนทนาว่าการดำเนินชีวิตตามมาตรฐานพระกิตติคุณที่เขียนไว้บนรอยเท้าจะช่วยเด็กๆ รักษาพันธสัญญาบัพติศมาอย่างไร ทำซ้ำกับรอยเท้าแผ่นอื่นๆ

สัปดาห์ 2: ถ้าฉันดำเนินชีวิตอย่างมีค่าควร พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงช่วยฉันเลือกสิ่งที่ถูกต้อง

ระบุหลักคำสอน (ร้องเพลง): ถามเด็กๆ ว่าเราได้รับของประทานอะไรหลังจากรับบัพติศมา ร้องเพลงข้อสอง “พระวิญญาณบริสุทธิ์” (พด, หน้า 56) ก่อนที่ท่านจะร้องเพลง ขอให้เด็กคอยฟังคำตอบของคำถามที่ว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงช่วยเราทำอะไร ช่วยให้เด็กๆ เข้าใจว่าสุรเสียงสงบแผ่วเบาคือพระวิญญาณบริสุทธิ์และพระองค์ทรงช่วยเราเลือกสิ่งที่ถูกต้อง

ส่งเสริมความเข้าใจ (ดูบทเรียนที่ใช้อุปกรณ์): อธิบายว่าเราต้องฝึกฟังการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณบริสุทธิ์โดยเอาใจใส่ความนึกคิดและความรู้สึกในใจเรา (ดู คพ. 8:2) ให้เด็กคนหนึ่งเอาเหรียญๆ หนึ่งใส่ขวดโหลแล้วเขย่า แล้วให้เด็กคนอื่นๆ สังเกตว่าพวกเขาได้ยินเสียงชัดเพียงใด ให้เด็กเติมดิน ข้าวสาร ทราย หรือก้อนสำลีลงไปหลายๆ ช้อน หลังจากเติมแต่ละช้อน ให้เด็กเขย่าอีกครั้ง แล้วให้เด็กแสดงความคิดเห็นว่าเสียงเปลี่ยนไปอย่างไร เติมทีละช้อนไปเรื่อยๆ จนเด็กไม่ได้ยินเสียงเหรียญ เปรียบสิ่งนี้กับความยากลำบากในการฟังพระวิญญาณบริสุทธิ์เมื่อชีวิตเราเต็มไปด้วยสิ่งรบกวนหรือบาป เททุกอย่างออกจากขวดโหลแล้วสาธิตให้ดูอีกครั้งว่าจะได้ยินเสียงเหรียญชัดๆ ได้อย่างไร เป็นพยานว่าการรักษาพระบัญญัติและกลับใจจากบาปช่วยให้เราได้ยินเสียงพระวิญญาณบริสุทธิ์

ภาพ
เด็กเขย่าขวดโหลใส่ดิน

การเชื่อมโยงหลักคำสอนกับทัศนูปกรณ์จะช่วยให้เด็กจำบทเรียนที่สอนได้

ส่งเสริมการประยุกต์ใช้ (แบ่งปันแนวคิด): แบ่งเด็กออกเป็นกลุ่มๆ และให้แต่ละกลุ่มส่งของชิ้นเล็กไปรอบๆ ขณะที่ท่านร้องหรืออ่านเนื้อเพลง “พระวิญญาณบริสุทธิ์” หยุดตามใจชอบและให้เด็กแต่ละคนที่ถือของชิ้นนั้นบอกสิ่งที่พวกเขาทำได้มาหนึ่งอย่างเพื่อจะได้ยินพระวิญญาณบริสุทธิ์ชัดขึ้น สรุปโดยร้องเพลง “พระวิญญาณบริสุทธิ์” ด้วยกัน

สัปดาห์ 3: เมื่อฉันรับศีลระลึก ฉันต่อพันธสัญญาบัพติศมาของฉัน

ระบุหลักคำสอน (ดูรูป): ให้ดูรูปบัพติศมาและรูปศีลระลึก ถามว่าสองรูปนี้เกี่ยวข้องกันอย่างไร เตือนเด็กๆ ว่าเราทำพันธสัญญากับพระบิดาบนสวรรค์เมื่อเรารับบัพติศมา และอธิบายว่าเมื่อเรารับศีลระลึกเราต่อพันธสัญญาบัพติศมาของเรา

ส่งเสริมความเข้าใจ (ฟังและสนทนา): ให้เด็กชี้ที่ตัวเองหรือชี้ขึ้นฟ้าเพื่อบอกว่าใครกำลังทำสัญญาขณะที่ท่านอ่านข้อความต่อไปนี้จากคำสวดอ้อนวอนศีลระลึก (ดู คพ. 20:77): “รับพระนามของพระบุตรของพระองค์” “ระลึกถึงพระองค์ตลอดเวลา” “รักษาพระบัญญัติของพระองค์” “มีพระวิญญาณของพระองค์อยู่กับพวกเขาตลอดเวลา” สนทนาความหมายของแต่ละประโยค

ส่งเสริมการประยุกต์ใช้ (ทำท่าประกอบ): ขอให้เด็กคิดท่าประกอบเพื่อให้พวกเขานึกถึงพันธสัญญาแต่ละส่วนที่เราได้ยินในคำสวดอ้อนวอนศีลระลึก เช่น เอามือทาบที่หัวใจ (รับพระนามของพระบุตรของพระองค์); ชี้หน้าผาก (ระลึกถึงพระองค์ตลอดเวลา); กางมือคล้ายกางหนังสือ (รักษาพระบัญญัติของพระองค์) และเอาแขนโอบตัวเอง (มีพระวิญญาณของพระองค์ตลอดเวลา) ทำท่าประกอบสัญญาทั้งสี่หลายๆ ครั้ง กระตุ้นเด็กๆ ให้ทบทวนท่าเหล่านี้ในใจเมื่อพวกเขาได้ยินคำสวดอ้อนวอนศีลระลึก

ภาพ
เด็กๆ กำลังทำท่า

สัปดาห์ 4: เมื่อฉันกลับใจ ฉันจะได้รับการให้อภัย

ระบุหลักคำสอน (เรียงคำ): ขอให้เด็กๆ อธิบายความหมายของคำว่ากลับใจและให้อภัย แจกซองที่มีกระดาษแต่ละชิ้นเขียนคำต่อไปนี้ให้เด็กคนละซอง: เมื่อ ฉัน กลับใจ ฉัน จะ ได้รับ การให้อภัย ขอให้แต่ละชั้นเรียงคำให้ถูกต้อง เมื่อเรียงเสร็จแล้ว ให้เด็กทุกคนพูดประโยคนี้พร้อมกัน

ส่งเสริมความเข้าใจ (ทำท่าประกอบเรื่องราวพระคัมภีร์): เล่าเรื่องบุตรเสเพล (ดู ลูกา 15:11–24) ด้วยคำพูดของท่านเองโดยใช้ท่าประกอบหลายๆ ท่า (ตัวอย่างเช่น ชูสองนิ้วแทนบุตรชายสองคน เอามือลูบท้องแทนความหิว) ขอให้เด็กฟังเรื่องเล่าและทำท่าตามเงียบๆ ให้ดูรูปที่ใช้แทนบุตรเสเพล และถามว่าบิดาในเรื่องเป็นเหมือนพระบิดาบนสวรรค์อย่างไร อธิบายว่าเช่นเดียวกับบิดาคนนั้น พระบิดาบนสวรรค์ทรงรักเราและทรงต้องการให้เรากลับไปหาพระองค์ พระองค์จะทรงให้อภัยเราทุกคนที่ทำผิดถ้าเรากลับใจ

ส่งเสริมการประยุกต์ใช้(อ่านพระคัมภีร์): ขอให้เด็กคนหนึ่งอ่าน โมไซยาห์ 26:30 ให้เด็กคนอื่นคอยฟังว่าคนเราจะได้รับการให้อภัยบ่อยเท่าใด ให้พวกเขาคิดในใจว่าพวกเขาจะทำอะไรเมื่อทำผิดครั้งต่อไป

พิมพ์