คู่มือปฐมวัยและช่วงเวลาแบ่งปัน
มีนาคม: พระเยซูคริสต์คือพระผู้ช่วยให้รอดของเรา


มีนาคม

พระเยซูคริสต์คือพระผู้ช่วยให้รอดของเรา

“เจ้าจงสดับฟังถ้อยคำเหล่านี้. ดูเถิด, เราคือพระเยซูคริสต์, พระผู้ช่วยให้รอดของโลก”(คพ. 43:34)

เสริมแนวคิดที่ให้ไว้ด้วยแนวคิดบางอย่างของท่านเอง แต่ละสัปดาห์ให้วางแผนวิธี (1) ระบุหลักคำสอน (2) ช่วยให้เด็กเข้าใจหลักคำสอน และ (3) ช่วยให้เด็กประยุกต์ใช้หลักคำสอนในชีวิต ถามตัวท่านว่า “เด็กต้องทำอะไรจึงจะเรียนรู้ และฉันจะช่วยให้พวกเขารู้สึกถึงพระวิญญาณได้อย่างไร”

สัปดาห์ 1: พระเยซูคริสต์ทรงสอนพระกิตติคุณและทรงเป็นแบบอย่างสำหรับเรา

ระบุหลักคำสอน(ร้องเพลง): ร้องเพลง “แสนสนุก” ด้วยกันหลายๆ ครั้ง (พด, หน้า 129) โดยให้เด็กหลายๆ คนเลือกท่าประกอบ อธิบายว่าเมื่อเราทำท่าตามคนอื่น เรากำลังทำตามแบบอย่างของเขา ถามว่าใครเป็นแบบอย่างที่สมบูรณ์แบบให้เราทำตาม (พระเยซูคริสต์) ให้เด็กๆ พูดพร้อมกันว่า “พระเยซูคริสต์ทรงเป็นแบบอย่างให้เรา”

ส่งเสริมความเข้าใจ(อ่านพระคัมภีร์): ติดรูปเหตุการณ์ต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: พระคริสต์ทรงรับบัพติศมา พระคริสต์กับเด็กๆ พระคริสต์ทรงสวดอ้อนวอน และพระคริสต์ทรงสอน อ่านข้อพระคัมภีร์ข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้ด้วยกัน และขอให้เด็กอธิบายว่าพระคริสต์ทรงสอนอะไรในพระคัมภีร์ข้อนั้น: มาระโก 16:15; ยอห์น 13:34–35; 3 นีไฟ 11:37; 3 นีไฟ 18:19 ชี้แต่ละรูปช้าๆ และให้เด็กยืนขึ้นเมื่อท่านชี้รูปที่แสดงว่าพระคริสต์ทรงทำสิ่งที่พระองค์ทรงสอนในข้อพระคัมภีร์ที่ท่านอ่าน ทำซ้ำกับพระคัมภีร์ข้อที่เหลือ

ครูกำลังชี้รูป

เด็กๆ จะมีความคารวะมากขึ้นเมื่อพวกเขามีส่วนร่วมในการเรียนรู้ ในกิจกรรมนี้ การให้เด็กๆ ยืนและนั่งด้วยความคารวะจะช่วยให้พวกเขาสนใจตลอด

ส่งเสริมการประยุกต์ใช้(วาดรูป): แจกกระดาษให้เด็กคนละแผ่น และให้พวกเขาวาดรูปตนเองกำลังทำตามแบบอย่างของพระคริสต์ ตัวอย่างเช่น เด็กอาจจะวาดรูปตัวเขากำลังรับบัพติศมา สอนพระกิตติคุณให้เพื่อน หรือช่วยใครบางคน ขอให้เด็กสองสามคนเอารูปของตนให้เด็กคนอื่นๆ ดู และกระตุ้นพวกเขาให้นำภาพวาดไปให้ครอบครัวดู

สัปดาห์ 2: เพราะการชดใช้ของพระคริสต์ ฉันสามารถกลับใจและอยู่กับพระผู้เป็นเจ้าได้อีก

ระบุหลักคำสอน(เติมคำในช่องว่าง): ก่อนเริ่มปฐมวัยให้เขียนบนกระดานว่า “เพราะ_________ของพระคริสต์ ฉันจึงสามารถ__________ และจะได้อยู่กับ________ อีก” เขียนคำว่า การชดใช้ กลับใจ และพระผู้เป็นเจ้า ในบัตรคำละใบและติดไว้ใต้เก้าอี้สามตัวในห้อง ให้เด็กหาบัตรคำแล้วนำมาติดไว้บนกระดานในตำแหน่งที่ถูกต้อง อ่านประโยคนั้นพร้อมกัน

ส่งเสริมความเข้าใจ(อ่านพระคัมภีร์และตอบคำถาม): ติดรูปพระคริสต์ในเกทเสมนีและการตรึงกางเขนไว้บนกระดาน เอากระดาษแผ่นเล็กหลายๆ แผ่นปิดรูปไว้ เขียนคำถามในกระดาษแต่ละแผ่นเกี่ยวกับเหตุการณ์ในพระคัมภีร์และข้อพระคัมภีร์อ้างอิงจาก มัทธิว 26–27 หรือ ลูกา 22–23 ที่มีคำตอบอยู่ในนั้น (ตัวอย่างเช่น: พระเยซูเสด็จไปสวดอ้อนวอนที่ใด มัทธิว 26:36) แบ่งเด็กออกเป็นกลุ่มๆ และขอให้แต่ละกลุ่มค้นดูในพระคัมภีร์และหาคำตอบของคำถาม ให้กลุ่มบอกคำตอบแล้วเอากระดาษแผ่นนั้นออกเพื่อให้เห็นรูป

เด็กกำลังอ่านพระคัมภีร์

เพื่อปรับกิจกรรมการอ่านพระคัมภีร์ให้เหมาะกับเด็กเล็ก ขอให้พวกเขาฟังขณะที่ท่านอ่านและยืนเมื่อพวกเขาได้ยินคำหรือวลีใดวลีหนึ่ง

ส่งเสริมการประยุกต์ใช้(ดูบทเรียนที่ใช้อุปกรณ์): สนทนาความหมายของคำว่า การชดใช้ และ การกลับใจ และอธิบายว่าการชดใช้สามารถเป็นพรแก่เราได้อย่างไร (ดู แน่วแน่ต่อศรัทธา: ศัพทานุกรมพระกิตติคุณ [2004], หน้า 3–7, 9–17) ให้เด็กดูของขวัญ ขอให้เด็กคนหนึ่งพยายามมอบของขวัญแก่เด็กอีกคนหนึ่งและให้เด็กคนนั้นปฏิเสธไม่ยอมรับ อธิบายว่าเมื่อเราไม่รับของขวัญที่มีคนมอบให้ เราย่อมไม่ได้รับพรจากของขวัญนั้น ให้เด็กๆ คอยฟังสิ่งที่พวกเขาต้องทำเพื่อให้ได้รับของประทานแห่งการชดใช้ขณะอ่านหลักคำสอนและพันธสัญญา 19:16ด้วยกัน

สัปดาห์ 3: เพราะพระเยซูทรงฟื้นคืนพระชนม์ ฉันจึงฟื้นคืนชีวิตเช่นกัน

ระบุหลักคำสอน(ฟังเรื่องเล่า): ใช้ภาพประกอบจากหน้า 123 ในคู่มือบริบาล (ดูคำแนะนำในหน้า 121) เพื่อเล่าเรื่องการฟื้นคืนพระชนม์ (ดู ยอห์น 19:41–42; 20:1, 11–18) อธิบายว่าเมื่อพระเยซูคริสต์ฟื้นคืนพระชนม์ พระวรกายและพระวิญญาณของพระองค์กลับมารวมกันอีกครั้ง นี่ทำให้เราทุกคนฟื้นคืนชีวิตได้ ให้เด็กพูดว่า “เพราะพระเยซูคริสต์ฟื้นคืนพระชนม์ ฉันจึงฟื้นคืนชีวิตเช่นกัน”

ส่งเสริมความเข้าใจ(สนทนาความรู้สึก): เขียนคำต่างๆ บนกระดานซึ่งบอกความรู้สึกของเหล่าสาวกในวันที่พระเยซูสิ้นพระชนม์ (เช่น ระทมทุกข์ เศร้าโศก เสียใจ และ ผิดหวัง) ให้เด็กๆ เสนอคำตรงข้าม (เช่น ความสุข ปีติ ความหวัง และศรัทธา) และเขียนไว้บนกระดาน อธิบายว่าความรู้สึกเหล่านี้คือความรู้สึกของเหล่าสาวกเมื่อพระเยซูฟื้นคืนพระชนม์ สนทนาพรบางอย่างที่มาจากการรู้ว่าเราจะฟื้นคืนชีวิต (ดู อิสยาห์ 25:8; แอลมา 22:14)

ส่งเสริมการประยุกต์ใช้(บอกเล่าความรู้สึก); เขียนบนกระดานว่า “ฉันขอบพระทัยที่พระเยซูฟื้นคืนพระชนม์เพราะ …” เชิญสมาชิกวอร์ดคนหนึ่งซึ่งสูญเสียคนที่เขารักมาปฐมวัยและแบ่งปันสั้นๆ ว่าเขาขอบพระทัยสำหรับการฟื้นคืนพระชนม์เพราะเหตุใด ถามเด็กว่าพวกเขารู้จักใครบ้างที่เสียชีวิต และให้พวกเขาหลับตานึกถึงบุคคลนั้น ขอให้เด็กบางคนยืนและเติมประโยคบนกระดานให้สมบูรณ์แล้วบอกว่าการฟื้นคืนพระชนม์มีความหมายต่อพวกเขาอย่างไร

สัปดาห์ 4: พระเยซูคริสต์คือพระผู้ช่วยให้รอดของเรา

ระบุหลักคำสอน (สนทนาคำว่า “พระผู้ช่วยให้รอด”): ให้ดูสิ่งของบางอย่างหรือรูปผู้ที่อาจจะช่วยชีวิตเราได้ (เช่น แพทย์ ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ช่วยชีวิต) และสนทนาว่าพวกเขาจะช่วยชีวิตเราอย่างไร ให้ดูรูปพระเยซู และอธิบายว่าพระองค์ทรงเป็นพระองค์เดียวที่มีเดชานุภาพช่วยให้เรารอดจากผลนิรันดร์ของความตายและบาป เขียนบนกระดานว่า “พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของเรา” และอ่านกับเด็กโดยเน้นคำว่า “พระผู้ช่วยให้รอด”

ส่งเสริมความเข้าใจและการประยุกต์ใช้(ฟังเรื่องราวพระคัมภีร์): เล่าเรื่องราวพระคัมภีร์บางเรื่องให้เด็กๆ ฟังเกี่ยวกับคนที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงช่วยให้รอดจากบาป (ตัวอย่างเช่น แอลมาผู้บุตร [ดู แอลมา 36:6–24], อีนัส [ดู อีนัส 1:1–8], ซีเอสรอม [ดู แอลมา 15:3-12], บิดาของลาโมไน[ดู แอลมา 22:1–26] หรือชายที่มีคนพามาหาพระเยซู [ดู ลูกา 5:17–26]) อธิบายว่าโดยผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ เราทุกคนสามารถรอดจากบาปได้ เป็นพยานว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของเรา และขอให้เด็กสองสามคนแสดงประจักษ์พยานเกี่ยวกับพระองค์