ตุลาคม
ฉันจะแบ่งปันพระกิตติคุณกับลูกทุกคนของพระผู้เป็นเจ้า
“ท่านทั้งหลายก็เหมือนกับตะเกียง จงส่องสว่างแก่คนทั้งปวงเพื่อว่าเมื่อเขาได้เห็นความดีที่ท่านทำ เขาจะได้สรรเสริญพระบิดาของท่านผู้ทรงอยู่ในสวรรค์” (มัทธิว 5:16)
เสริมแนวคิดที่ให้ไว้ด้วยแนวคิดบางอย่างของท่านเอง แต่ละสัปดาห์ให้วางแผนวิธี (1) ระบุหลักคำสอน (2) ช่วยให้เด็กเข้าใจหลักคำสอน และ (3) ช่วยให้เด็กประยุกต์ใช้หลักคำสอนในชีวิต ถามตัวท่านว่า “เด็กต้องทำอะไรจึงจะเรียนรู้ และฉันจะช่วยให้พวกเขารู้สึกถึงพระวิญญาณได้อย่างไร”
สัปดาห์ 1: การดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณช่วยฉันเป็นผู้สอนศาสนาเดี๋ยวนี้
ระบุหลักคำสอนและส่งเสริมความเข้าใจ(ฟังเรื่องเล่า): ให้ดูรูปผู้สอนศาสนา ถามเด็กๆ ว่าผู้สอนศาสนาทำอะไร เล่าเรื่องต่อไปนี้หรือเรื่องจากFriend หรือ เลียโฮนา: “วันหนึ่ง ผู้สอนศาสนาสองคนมาเคาะประตูบ้านหลังหนึ่ง ผู้หญิงชื่อคุณเจมส์เปิดประตู ผู้สอนศาสนาบอกเธอว่าพวกเขามาจากศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย คุณเจมส์เชิญผู้สอนศาสนาเข้าบ้านและบอกพวกเขาว่าเธออยากเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับศาสนจักร … คุณเจมส์บอกผู้สอนศาสนาว่าเธอเคยอยู่บ้านติดกับครอบครัวหนึ่งที่เป็นสมาชิกของศาสนจักร ลูกๆ ของครอบครัวนั้นสุภาพและใจดีมาก พวกเขาเล่นกับเด็กอื่นอย่างดี ไม่เอาเปรียบ และดูแลข้าวของของผู้อื่นด้วยความเอาใจใส่ คุณเจมส์บอกว่าเธออยากเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับศาสนจักรที่สอนเด็กเหล่านั้นให้เป็นเพื่อนบ้านที่น่ารัก” (ดู ปฐมวัย 2 หน้า 61) ถามว่า “เด็กที่อยู่บ้านติดกับคุณเจมส์เป็นผู้สอนศาสนาอย่างไร” อธิบายว่าเมื่อเราดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ เท่ากับเรากำลังเป็นผู้สอนศาสนา เชิญชวนเด็กๆ ให้พูดพร้อมกับท่านว่า “การดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณช่วยฉันเป็นผู้สอนศาสนาเดี๋ยวนี้” โดยเน้นคำว่าเดี๋ยวนี้
สัปดาห์ 2: การดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณช่วยฉันเป็นผู้สอนศาสนาเดี๋ยวนี้
ส่งเสริมความเข้าใจ(ร้องเพลงและสนทนามาตรฐานพระกิตติคุณ): ทำการ์ด 13 ใบและเขียน “มาตรฐานพระกิตติคุณของฉัน” ไว้ในนั้นข้อละใบ (ดู “ช่วงเวลาของการแบ่งปัน: รักษาพระบัญญัติ” เลียโฮนา มิ.ย. 2006, 36) แจกการ์ดบางส่วนให้เด็ก และให้พวกเขาส่งการ์ดต่อให้อีกคนหนึ่งขณะทุกคนร้องเพลง “ฉันอยากเป็นผู้สอนศาสนาเดี๋ยวนี้” (พด, หน้า 90) เมื่อเพลงจบให้เด็กแต่ละคนที่ถือการ์ดอ่านมาตรฐานออกเสียง แล้วบอกว่าการดำเนินชีวิตตามมาตรฐานนั้นจะช่วยให้เขาเป็นผู้สอนศาสนาเดี๋ยวนี้ได้อย่างไร ทำซ้ำโดยใช้การ์ดต่างจากเดิมทุกครั้ง
ส่งเสริมการประยุกต์ใช้(ตั้งเป้าหมาย): ขอให้เด็กแต่ละคนเลือกมาตรฐานพระกิตติคุณหนึ่งข้อที่พวกเขาจะพยายามดำเนินชีวิตตามมากขึ้นในสัปดาห์ที่จะมาถึง ให้พวกเขาเขียนหรือวาดรูปมาตรฐานดังกล่าวลงในแผ่นกระดาษและดูทุกวันเพื่อเตือนความจำ เชิญชวนพวกเขาให้รายงานประสบการณ์ในปฐมวัยสัปดาห์หน้า
สัปดาห์ 3: ฉันสามารถแบ่งปันพระกิตติคุณกับครอบครัวและเพื่อนๆ ได้
ระบุหลักคำสอน(ฟังเรื่องเล่า): ก่อนเริ่มปฐมวัยให้อ่านคำปราศรัยการประชุมใหญ่เดือนตุลาคม 2000 ของเอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ซี. โอ๊คส์เรื่อง “การแบ่งปันพระกิตติคุณ” (ดู เลียโฮนา ม.ค. 2001 หน้า 114–) เล่าเรื่องน้ำส้มคั้นให้เด็กๆ ฟัง อธิบายว่าพระกิตติคุณหวานยิ่งกว่าน้ำส้มคั้นและเราควรแบ่งปันให้ผู้อื่น ให้เด็กพูดว่า “ฉันสามารถแบ่งปันพระกิตติคุณกับครอบครัวและเพื่อนๆ ได้”
ส่งเสริมความเข้าใจ(ฟังผู้พูดรับเชิญ): เชิญผู้สอนศาสนาหรืออดีตผู้สอนศาสนามาพูดเกี่ยวกับวิธีที่เด็กๆ สามารถแบ่งปันพระกิตติคุณกับคนอื่นๆ ได้ (เช่น เป็นแบบอย่างที่ดี ชวนเพื่อนมาปฐมวัย และแสดงประจักษ์พยาน) และบอกว่าการพยายามแบ่งปันพระกิตติคุณช่วยพระบิดาบนสวรรค์และผู้สอนศาสนาอย่างไร
ส่งเสริมการประยุกต์ใช้(ฟังเรื่องเล่าและแบ่งปันแนวคิด): เตือนเด็กๆ ว่าพวกเขาสามารถเป็นผู้สอนศาสนาเดี๋ยวนี้ เล่าตอนที่ท่านหรือคนที่ท่านรู้จักแบ่งปันพระกิตติคุณ ให้เด็กยืนทีละคนและแต่ละคนพูดคำหนึ่งในประโยค “ฉันสามารถแบ่งปันพระกิตติคุณได้” ขอให้เด็กที่พูดว่า “พระกิตติคุณ” นึกถึงวิธีที่เขาสามารถแบ่งปันพระกิตติคุณกับครอบครัวหรือเพื่อนๆ ได้ ทำซ้ำเท่าที่เวลาเอื้ออำนวย
สัปดาห์ 4: ประจักษ์พยานของฉันเข้มแข็งขึ้นเมื่อฉันแบ่งปันพระกิตติคุณ
ระบุหลักคำสอน(ดูบทเรียนที่ใช้อุปกรณ์): เติมน้ำในภาชนะใส อธิบายว่าทุกครั้งที่เราแบ่งปันพระกิตติคุณ ประจักษ์พยานของเราเข้มแข็งขึ้น หยดสีผสมอาหารหนึ่งหยดลงในน้ำ ยกตัวอย่างบางเรื่องเกี่ยวกับวิธีที่เราสามารถแบ่งปันพระกิตติคุณ โดยเติมสีผสมอาหารสีเดียวกันหนึ่งหยดต่อหนึ่งตัวอย่าง ชี้ให้เห็นว่าน้ำมีสีเข้มขึ้นทุกครั้งที่หยดสีผสมอาหารลงไปฉันใด ประจักษ์พยานของเราเข้มแข็งขึ้นทุกครั้งที่เราแบ่งปันฉันนั้น
ส่งเสริมความเข้าใจ(สนทนาประจักษ์พยาน): เอาสิ่งต่อไปนี้ใส่ถุง: รูปพระเยซูคริสต์ รูปโจเซฟ สมิธ รูปศาสดาพยากรณ์คนปัจจุบัน พระคัมภีร์มอรมอน และคำว่า “ศาสนจักรที่แท้จริง” เขียนคำว่าประจักษ์พยาน บนกระดาน และถามเด็กว่าประจักษ์พยานคืออะไร สนทนาคำตอบของพวกเขา เล่าเรื่องต่อไปนี้ “เด็กผู้หญิงคนหนึ่งกลัวการแสดงประจักษ์พยานเพราะเธอรู้สึกไม่แน่ใจในความรู้สึกของเธอ แต่เธอรู้ว่านี่เป็นเรื่องสำคัญ ด้วยเหตุนี้วันหนึ่งเธอจึงยืนแสดงประจักษ์พยานอย่างกล้าหาญโดยบอกสิ่งที่เธอเชื่อห้าอย่าง เมื่อแสดงประจักษ์พยานจบแล้ว เธอมีความรู้สึกดีและรู้ว่าประจักษ์พยานของเธอเข้มแข็งขึ้น” ให้เด็กค้นหาประจักษ์พยานห้าอย่างที่เธอมีโดยดึงของออกจากถุงที่ท่านเตรียมไว้ พูดถึงของแต่ละอย่าง และติดไว้หน้าชั้น
ส่งเสริมการประยุกต์ใช้(ยกตัวอย่าง): ให้เด็กแต่ละคนยกตัวอย่างว่าเขาจะแบ่งปันพระกิตติคุณได้อย่างไร ทุกครั้งที่เด็กยกตัวอย่าง ให้หยดสีผสมอาหารลงไปในน้ำหนึ่งหยดเพื่อแสดงว่าการแบ่งปันพระกิตติคุณสามารถทำให้ประจักษ์พยานเข้มแข็งขึ้นได้ (ถ้าท่านมีปฐมวัยขนาดใหญ่ ท่านอาจต้องทำสิ่งนี้เป็นกลุ่มเพื่อให้เด็กแต่ละคนมีโอกาสแบ่งปันแนวคิด)