เซมินารี
โมไซยาห์ 21–24, ตอนที่ 1: ค้นหาพระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับการทดลองและความทุกข์ของเรา


“โมไซยาห์ 21–24, ตอนที่ 1: ค้นหาพระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับการทดลองและความทุกข์ของเรา” พระคัมภีร์มอรมอน คู่มือครู (2024)

“โมไซยาห์ 21–24, ตอนที่ 1” พระคัมภีร์มอรมอน คู่มือครู

โมไซยาห์ 21–24, ตอนที่ 1

ค้นหาพระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับการทดลองและความทุกข์ของเรา

เยาวชนที่โศกเศร้ากำลังไตร่ตรอง

ท่านจะอธิบายกับผู้อื่นอย่างไรว่าเพราะเหตุใดพระเจ้าจึงทรงให้เราประสบกับการทดลองและความทุกข์? โมไซยาห์ 21–24 อธิบายประสบการณ์ของผู้คนของลิมไฮและผู้คนของแอลมา ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้ต่างเผชิญกับความท้าทายที่ยากลำบาก บทเรียนนี้มีเจตนาจะช่วยให้ท่านวางใจในพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์มากขึ้นเมื่อท่านเผชิญการทดลองและความทุกข์ในชีวิต

ถามคำถามที่กระตุ้นให้เกิดการสนทนาการสนทนาในชั้นเรียนที่มีความหมายจะเกิดขึ้นเมื่อครูปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนและนักเรียนปฏิสัมพันธ์กัน ถามคำถามที่เกี่ยวข้องและเปิดโอกาสให้นักเรียนหลายคนตอบ ท่านอาจกระตุ้นการสนทนาโดยขอให้นักเรียนตอบกลับความคิดเห็นของเพื่อนร่วมชั้น

การเตรียมของนักเรียน: ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงการทดลองหรือความท้าทายที่ผ่านมาซึ่งช่วยให้พวกเขาสัมผัสกับการเติบโตหรือเข้าใกล้พระเจ้ามากขึ้น กระตุ้นให้นักเรียนเตรียมแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้หรือวิธีที่การทดลองนี้อาจมีอิทธิพลในเชิงบวกต่อพวกเขา

กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทำได้

นี่เป็นบทแรกในสองบทที่พูดถึง โมไซยาห์ 21–24 ตอนที่ 1 จะมุ่งเน้นว่าเพราะเหตุใดพระเจ้าทรงปล่อยให้เราเผชิญกับการทดลอง และ ตอนที่ 2 จะมุ่งเน้นว่าเราจะพึ่งพาพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์เพื่อช่วยให้เราก้าวผ่านการทดลองเหล่านี้อย่างไร หากเวลาในชั้นเรียนมีจำกัดและมีเพียงบทเรียนเดียวที่สอนได้เกี่ยวกับ โมไซยาห์ 21–24 ให้พิจารณาว่าจะนำบทเรียนทั้งสองมารวมกันอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร

แบกภาระ

คนแบกกระเป๋าเป้หนักๆ

จินตนาการว่าการทดลอง ภาระ และความทุกข์ของท่านหมายถึงก้อนหินในกระเป๋าหรือกระเป๋าเป้ที่ท่านต้องแบก

ท่านอาจนำกระเป๋าเป้และสิ่งของหนักๆ ที่ใช้แทนภาระมาที่ชั้นเรียน เชื้อเชิญให้นักเรียนที่เต็มใจสะพายกระเป๋าเป้ แล้วให้สมาชิกในชั้นเรียนบอกสิ่งต่างๆ ที่เป็นการทดลองและใส่สิ่งของลงในกระเป๋า ตรวจสอบให้แน่ใจว่ากระเป๋าเป้ไม่หนักจนทำให้นักเรียนที่สะพายกระเป๋าอยู่ได้รับอันตราย หากเป็นไปได้ นักเรียนอาจสะพายกระเป๋าเป้ต่อไปขณะที่ชั้นเรียนพูดคุยเกี่ยวกับคำถามต่อไปนี้

ท่านอาจเขียนคำตอบของนักเรียนบนกระดานสำหรับคำถามต่อไปนี้

  • การทดลองหรือภาระที่วัยรุ่นอาจพบซึ่งอาจรู้สึกเหมือนก้อนหินหนักๆ ในกระเป๋าเป้มีอะไรบ้าง?

  • ผู้คนอาจมีคำถามอะไรเกี่ยวกับภาระที่พวกเขาแบกรับ?

ท่านอาจให้เวลานักเรียนเขียนการทดลองส่วนตัวและบันทึกความคิด คำถาม และความรู้สึกเกี่ยวกับการทดลองเหล่านั้นในสมุดบันทึกการศึกษา สิ่งนี้จะช่วยให้พวกเขาเตรียมพร้อมที่จะรับประสบการณ์ส่วนตัวขณะศึกษาพระคัมภีร์

ขณะที่ท่านศึกษาวันนี้ ให้มองหาความจริงที่จะช่วยให้เข้าใจว่าเพราะเหตุใดพระเจ้าจึงทรงให้ท่านประสบกับการทดลองเหล่านี้

ผู้คนของลิมไฮและผู้คนของแอลมา

เพื่อช่วยให้นักเรียนจดจำบริบทที่เกี่ยวข้องกับผู้คนของลิมไฮและผู้คนของแอลมา ท่านอาจให้นักเรียนดูภาพหรือวาดภาพต่อไปนี้และชี้ตำแหน่งที่ตั้งของผู้คนแต่ละกลุ่มขณะที่ท่านพูดถึง

ใน โมไซยาห์ 21–24 เราเรียนรู้เกี่ยวกับผู้คนสองกลุ่มที่ประสบกับการทดลองและความทุกข์แสนสาหัส กลุ่มแรกอาศัยอยู่ในแผ่นดินแห่งนีไฟและนำโดยลิมไฮบุตรของกษัตริย์โนอาห์ กลุ่มที่สองอาศัยอยู่ในแผ่นดินของฮีลัมและนำโดยแอลมา

ภาพประกอบสถานที่ในโมไซยาห์ 21–24

เชื้อเชิญให้อาสาสมัครสองสามคนแบ่งปันสิ่งที่รู้เกี่ยวกับสภาวการณ์ของผู้คนของลิมไฮและผู้คนของแอลมาที่นำไปสู่การเป็นเชลย หากจำเป็น ให้ใช้บทสรุปต่อไปนี้

ผู้คนของลิมไฮ

หลังจากปฏิเสธคำสอนและคำเตือนของอบินาได ชาวนีไฟซึ่งตอนนี้นำโดยกษัตริย์ลิมไฮ ถูกชาวเลมันในแผ่นดินแห่งนีไฟจับไปเป็นเชลยและต้องจ่ายภาษีอย่างหนัก (ดู โมไซยาห์ 19:15) ตามที่ศาสดาพยากรณ์อบินาไดพยากรณ์ไว้ (ดู โมไซยาห์ 12:5) ชาวเลมันบังคับให้ผู้คนของลิมไฮรับใช้พวกเขาและบรรทุกของหนัก (ดู โมไซยาห์ 21:3)

ผู้คนของแอลมา

หลังจากอบินาไดสิ้นชีวิต แอลมาและผู้ติดตามของท่านหนีไปยังผืนน้ำแห่งมอรมอน ที่ซึ่งพวกเขารับบัพติศมา (ดู โมไซยาห์ 17:1–4; 18:1–14) ต่อมาพวกเขาหลบหนีและตั้งถิ่นฐานโดยชอบธรรมในแผ่นดินของฮีลัม (ดู โมไซยาห์ 18:32–34; 23:1–4, 19–20) ในที่สุดชาวเลมันเจอผู้คนของแอลมาและถูกจับไปเป็นเชลย (ดู โมไซยาห์ 23:25–29, 36–37) อมิวลอน ปุโรหิตที่ชั่วร้ายคนหนึ่งของโนอาห์ได้รับอำนาจเหนือพวกเขาและเริ่มข่มเหงแอลมากับผู้คนของท่าน (ดู โมไซยาห์ 24:8–9)

เหตุใดพระเจ้าทรงยอมให้มีการทดลอง

ท่านอาจแบ่งชั้นเรียนออกเป็นกลุ่มเล็กๆ แล้วให้ครึ่งหนึ่งของกลุ่มศึกษาเกี่ยวกับผู้คนของลิมไฮและอีกครึ่งหนึ่งศึกษาเกี่ยวกับผู้คนของแอลมา

อ่านข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้ โดยมองหาคำสอนที่จะช่วยให้ท่านเข้าใจว่าเพราะเหตุใดพระเจ้าจึงทรงให้เราประสบกับการทดลองและความทุกข์ ท่านอาจต้องการทำเครื่องหมายที่คำพูดและวลีที่โดดเด่นสำหรับท่าน

หากนักเรียนศึกษาข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ในกลุ่มเล็กๆ เชื้อเชิญให้อาสาสมัครจากแต่ละกลุ่มสรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้จากข้อที่ศึกษา คำถามต่อไปนี้จะช่วยให้นักเรียนสนทนากันถึงสิ่งที่เรียนรู้จากข้อเหล่านี้

  • ท่านเห็นความคล้ายคลึงและความแตกต่างอะไรบ้างระหว่างผู้คนสองกลุ่มและประสบการณ์ที่พวกเขาได้รับ?

  • ท่านเห็นหลักฐานอะไรที่แสดงถึงความรักและความห่วงใยของพระเจ้าที่มีต่อผู้คนจากเรื่องราวเหล่านี้?

    ในการตอบคำถามก่อนหน้านี้ นักเรียนอาจชี้แจงวลี เช่น “พระเจ้าทรงฟังเสียงร้องของพวกเขา” (โมไซยาห์ 21:15) “พวกเขาเริ่มรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับ” (โมไซยาห์ 21:16) “เราจะให้สัมภาระซึ่งวางอยู่บนบ่าเจ้าเบาลงด้วย” หรือ “เรา, พระเจ้าพระผู้เป็นเจ้า, มาเยือนผู้คนของเราในความทุกข์ของพวกเขา” (โมไซยาห์ 24:14)

  • ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับเหตุผลที่พระเจ้าทรงให้ผู้คนเผชิญกับการทดลองและความทุกข์?

ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนคำตอบของคำถามก่อนหน้านี้บนกระดาน ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างของความจริงที่นักเรียนอาจค้นพบ

  • พระเจ้าทรงยอมให้เราประสบกับการทดลองที่จะช่วยให้เราอ่อนน้อมถ่อมตนและพึ่งพาพระองค์มากขึ้น (ดู โมไซยาห์ 21:5–14)

  • การทดลองและความทุกข์บางอย่างเกิดจากการไม่เชื่อฟัง (ดู โมไซยาห์ 21:15)

  • การทดลองจะให้โอกาสเราในการแสวงหาและรู้สึกถึงเดชานุภาพของพระเจ้าในชีวิตเรา (ดู โมไซยาห์ 21:15–16; 24:14)

  • พระเจ้าทรงตีสอนผู้คนของพระองค์และทรงทดลองความอดทนและศรัทธาของพวกเขา (ดู โมไซยาห์ 23:21)

หลายคนคิดว่าการถูกตีสอน (ดู โมไซยาห์ 23:21) มีความหมายเช่นเดียวกับการถูกลงโทษ เอ็ลเดอร์ลินน์ จี. รอบบินส์ แห่งสาวกเจ็ดสิบอธิบายว่า “คำว่า ตีสอน (chasten) มาจากคำภาษาละติน castus หมายถึง ‘ปราศจากมลทินหรือบริสุทธิ์’ และ ตีสอน หมายถึง ‘ทำให้บริสุทธิ์’ [ดู Merriam-Webster’s Collegiate Dictionary, 11th ed. (2003), “chasten”]” (“ผู้พิพากษาที่ชอบธรรม,” เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 97) ไตร่ตรองสักครู่ว่าพระเจ้าทรงทำให้ท่านบริสุทธิ์ผ่านการทดลองและความทุกข์อย่างไร

คำถามต่อไปนี้ (หรือคำถามอื่นๆ ที่ท่านนึกถึง) อาจนำมาใช้เพื่อช่วยสร้างความเกี่ยวข้องสำหรับนักเรียน ท่านอาจให้เวลานักเรียนบันทึกคำตอบลงในสมุดบันทึกก่อนสนทนาเกี่ยวกับคำถามในชั้นเรียน อย่าลืมขอบคุณนักเรียนที่แบ่งปันความคิด

  • การเข้าใจความจริงเหล่านี้อาจส่งผลต่อวิธีที่ท่านตอบสนองต่อการทดลองอย่างไร?

  • ประสบการณ์ใดช่วยให้ท่านเห็นพระประสงค์ของพระเจ้าที่ให้ท่านเผชิญกับการทดลอง?

    หากต้องการให้ดูตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงคำถามก่อนหน้านี้ ท่านอาจฉายวีดิทัศน์ พระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า” (3:02) ที่ ChurchofJesusChrist.org.

    2:57
  • วันนี้ท่านได้เรียนรู้อะไรบ้างที่อาจช่วยให้ท่านเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับการทดลองที่เผชิญ?

เป็นพยานถึงความจริงที่ท่านสนทนากันในวันนี้