เซมินารี
โมไซยาห์ 26: “หากเขาสารภาพบาป … และกลับใจ”


“โมไซยาห์ 26: ‘หากเขาสารภาพบาป … และกลับใจ,’” พระคัมภีร์มอรมอน คู่มือครู (2024)

“โมไซยาห์ 26” พระคัมภีร์มอรมอน คู่มือครู

โมไซยาห์ 26

“หากเขาสารภาพบาป … และกลับใจ”

เยาวชนพูดคุยกับอธิการหรือประธานสาขา

การกลับใจจะช่วยเราในชีวิตประจำวันได้อย่างไร? เหตุใดเราจึงต้องสารภาพบาปเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการกลับใจ? ในฐานะมหาปุโรหิตในศาสนจักรของพระผู้ช่วยให้รอด แอลมาต้องการช่วยเหลือผู้ที่ทำบาปร้ายแรง พระเจ้าทรงมอบทิศทางที่ชัดเจนแก่ท่านถึงสิ่งที่ควรทำ บทเรียนนี้มีเจตนาจะช่วยให้ท่านเข้าใจพระลักษณะของพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ที่เปี่ยมด้วยความรักและการประทานอภัย และเพราะเหตุใดเราจึงควรกลับใจจากบาป

รักคนที่ท่านสอนเราจะเปี่ยมด้วยความรักของพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์โดยผ่านอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ สวดอ้อนวอนทูลขอให้ท่านเปี่ยมด้วยความรักที่มีต่อนักเรียน และมองหาโอกาสที่จะแสดงความรักของท่านด้วยวิธีที่เหมาะสมขณะสอน

การเตรียมของนักเรียน: เชื้อเชิญให้นักเรียนใคร่ครวญคำถามที่มีเกี่ยวกับการกลับใจ กระตุ้นให้พวกเขาอ่าน โมไซยาห์ 26 โดยมองหาคำตอบสำหรับคำถามเหล่านี้

กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทำได้

ท่านจะทำอย่างไร?

ลองจินตนาการว่าท่านได้ยินบางคนกล่าวถึงคำถามและข้อกังวลเกี่ยวกับการกลับใจดังนี้:

ท่านอาจเขียนข้อความและคำถามต่อไปนี้ไว้บนกระดานก่อนเริ่มชั้นเรียน

  • ฉันไม่แน่ใจว่าการกลับใจคุ้มค่าหรือไม่

  • เหตุใดฉันจึงต้องสารภาพบาป? ทำไมบาปบางอย่างต้องสารภาพกับผู้นำฐานะปุโรหิต?

  • ฉันทำบาปมากเกินกว่าที่พระเจ้าจะทรงยกโทษให้

ช่วยให้นักเรียนทบทวนว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับการกลับใจ กิจกรรมต่อไปนี้เป็นวิธีหนึ่งที่จะทำสิ่งนี้

ให้คิดสักครู่ว่าท่านรู้จักใครบ้างที่อาจเชื่อมโยงกับข้อกังวลเหล่านี้

  • มีคำถามหรือข้อกังวลอะไรอีกบ้างที่บางคนอาจมีเกี่ยวกับการกลับใจ?

ท่านอาจเพิ่มคำถามหรือข้อกังวลใดๆ ที่นักเรียนกล่าวถึงบนกระดาน

ไตร่ตรองคำถามหรือข้อกังวลหนึ่งหรือสองข้อที่มีความหมายต่อการมุ่งเน้นมากที่สุดขณะศึกษาบทเรียนนี้ แสวงหาการนำทางจากพระบิดาบนสวรรค์เพื่อช่วยท่านค้นหาคำตอบและเพิ่มความเข้าใจในการกลับใจ

ปัญหาในศาสนจักร

หลังจากพระเจ้าทรงช่วยแอลมาและผู้คนของท่านให้พ้นจากการเป็นทาส พวกเขาเข้าร่วมกับชาวนีไฟและผู้คนของลิมไฮในเซราเฮ็มลา กษัตริย์โมไซยาห์แต่งตั้งแอลมาเป็นผู้นำศาสนจักรที่นั่น มีบางคนที่อยู่ในการดูแลของแอลมาได้กระทำบาปร้ายแรงและไม่กลับใจ (ดู โมไซยาห์ 26:1–6) พวกเขาถูกพามาอยู่ต่อหน้าแอลมา แต่แอลมาไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร

อ่าน โมไซยาห์ 26:13–15, 19–24, 28–31 และมองหาคำแนะนำที่พระเจ้าประทานแก่แอลมา

กระตุ้นให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้ หากพวกเขากล่าวถึงหลักธรรมที่แท้จริง ให้เขียนไว้บนกระดาน หากเป็นประโยชน์ ท่านอาจถามคำถามต่อไปนี้บางข้อหรือทุกข้อ:

  • พระเจ้าตรัสว่าผู้คนต้องทำอะไรบ้างจึงจะได้รับการให้อภัยจากพระองค์?

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 23 เหตุใดพระผู้ช่วยให้รอดจึงมีคุณสมบัติในการตัดสินว่าผู้ใดจะได้รับการให้อภัยและได้รับชีวิตนิรันดร์?

  • ท่านเรียนรู้อะไรอีกเกี่ยวกับพระเจ้าจากข้อเหล่านี้?

หากเรากลับใจ

ท่านอาจระบุหลักธรรมต่อไปนี้: หากเราสารภาพบาปและกลับใจด้วยความจริงใจ พระเจ้าจะทรงให้อภัยเรายิ่งเรากลับใจบ่อย พระเจ้าจะยิ่งทรงให้อภัยเรา

  • การสารภาพบาปหมายความว่าอย่างไร?

  • ท่านคิดว่า “กลับใจด้วยน้ำใสใจจริงแห่งใจ [ท่าน]” (โมไซยาห์ 26:29) หมายความว่าอย่างไร?

  • การรู้ลักษณะการให้อภัยของพระเจ้ามีผลกับเจตคติของท่านที่มีต่อการกลับใจอย่างไร?

หลักธรรมเหล่านี้จะช่วยตอบคำถามและไขข้อกังวลเกี่ยวกับการกลับใจตั้งแต่ตอนต้นของบทเรียน

ท่านอาจพิจารณาว่าดีหรือไม่ที่จะพูดถึงข้อกังวลทั้งสี่ข้อหรือมุ่งเน้นเพียงหนึ่งหรือสองข้อที่อาจเชื่อมโยงกับนักเรียนของท่านมากที่สุด หรืออาจเป็นประโยชน์ที่จะแบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มเล็กๆ และให้พวกเขารับผิดชอบการเตรียมความพร้อมที่จะตอบสนองต่อข้อกังวลต่างๆ

ท่านอาจเชิญอธิการหรือประธานสาขาคนปัจจุบันมาเยี่ยมชั้นเรียนเพื่อตอบคำถามเกี่ยวกับการกลับใจและการให้อภัย

พระคัมภีร์มอรมอน คู่มือครู (2024)—“โมไซยาห์ 26: ‘หากเขาสารภาพบาป … และกลับใจ’”

ข้อกังวล ก

ฉันไม่แน่ใจว่าการกลับใจคุ้มค่าหรือไม่

  • ข้อพระคัมภีร์และหลักธรรมใดจาก โมไซยาห์ 26 หรือพระคัมภีร์ข้ออื่นที่ท่านอาจแบ่งปันเพื่อช่วยข้อกังวลนี้?

หากเป็นประโยชน์ ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนทบทวน โมไซยาห์ 26:23, 29–30 รวมถึงอ่านข้อพระคัมภีร์บางส่วนต่อไปนี้: 2 นีไฟ 9:23; 3 นีไฟ 9:22; 3 นีไฟ 27:19–20; หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:10–12; 19:15–20; 58:42–43

เล่าว่าแอลมาเองเคยทำบาปร้ายแรงในชีวิตก่อนหน้านี้ จากนั้นกลับใจและได้รับการให้อภัยผ่านพระผู้ช่วยให้รอดพระเยซูคริสต์ (ดู โมไซยาห์ 11:5–7; 18:1–3; 26:15, 20)

  • ท่านคิดว่าแอลมาอาจแบ่งปันอะไรกับผู้ที่มีข้อกังวลนี้?

ไตร่ตรองถึงสิ่งที่ท่านหรือคนที่ท่านรู้จักได้ประสบเมื่อท่านหันไปหาพระผู้ช่วยให้รอดพระเยซูคริสต์ผ่านการกลับใจ

ข้อกังวล ข

เหตุใดฉันจึงต้องสารภาพบาป? เหตุใดบาปบางอย่างต้องสารภาพกับผู้นำฐานะปุโรหิต?

พระเจ้าตรัสกับแอลมาว่าบรรดาผู้ที่ทำบาปจะต้อง “สารภาพบาปของเขาต่อหน้าเจ้า [แอลมา ผู้นำฐานะปุโรหิตของพวกเขา] และเรา [พระเจ้า]” (โมไซยาห์ 26:29)

  • ในเมื่อพระเจ้าทรงทราบถึงบาปของเราแล้ว เหตุใดเราจึงต้องสารภาพบาปกับพระองค์? สิ่งนี้จะเป็นพรแก่ชีวิตเราอย่างไร?

แนวคิดบางอย่างอาจรวมถึงการช่วยให้เรารู้จักรับผิดชอบต่อการกระทำของเรา มีความอ่อนน้อมถ่อมตนมากขึ้น และเสริมสร้างความสัมพันธ์ส่วนตัวกับพระเจ้าเมื่อเราทูลขอและได้รับการอภัย

อ่านข้อความต่อไปนี้จากจุลสาร เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน และเอ็ลเดอร์ซี. สก็อตต์ โกรว์ เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่เกียรติคุณแห่งสาวกเจ็ดสิบ และมองหาข้อคิดเกี่ยวกับช่วงเวลาและเหตุผลที่เราควรสารภาพกับอธิการหรือประธานสาขา

อธิการถือกุญแจฐานะปุโรหิตและของประทานฝ่ายวิญญาณเพื่อช่วยให้ท่านกลับใจ ท่านสามารถขอความช่วยเหลือและคำแนะนำได้ทุกเมื่อ หากท่านทำผิดพลาดร้ายแรง เช่น ฝ่าฝืนกฎแห่งความบริสุทธิ์ทางเพศ เราขอให้ท่านพบอธิการ เขาจะไม่ประณามท่าน เขาเป็นตัวแทนของพระเยซูคริสต์และจะช่วยให้ท่านรู้วิธีกลับใจอย่างสมบูรณ์ อีกทั้งรับเดชานุภาพการเยียวยาและพลังเสริมสร้างความเข้มแข็งของพระผู้ช่วยให้รอด (เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน, 8)

อธิการมีสิทธิ์รับการเปิดเผยจากพระวิญญาณบริสุทธิ์เกี่ยวกับสมาชิกในวอร์ดของเขา รวมทั้งตัวท่าน … [เขา] สามารถช่วยท่านผ่านกระบวนการกลับใจในวิธีที่บิดามารดาหรือผู้นำคนอื่นๆ ไม่สามารถช่วยได้ …

[หากเราไม่สารภาพ เรา] ต้องแบกภาระบาปโดยลำพัง แทนที่จะปล่อยให้พระผู้ช่วยให้รอดทรงรับภาระของเราไป (C. Scott Grow, “Why and What Do I Need to Confess to My Bishop?New Era, Oct. 2013, 28–29)

  • ข้อความนี้จะช่วยผู้ที่กังวลเกี่ยวกับการสารภาพกับผู้นำฐานะปุโรหิตอย่างไร?

ข้อกังวล ค

ฉันทำบาปมากเกินกว่าที่พระเจ้าจะทรงยกโทษให้

ตัวอย่างอาจรวมถึงหญิงที่ล้างพระบาทของพระผู้ช่วยให้รอดด้วยน้ำตา (ดู ลูกา 7:36–50) อุปมาเรื่องบุตรหายไป (ดู ลูกา 15:11–32) และการที่พระเจ้าทรงให้อภัยเปาโล (ดู 1 ทิโมธี 1:15–16)

ข้อกังวล ง

การเลือกของท่าน

นึกถึงข้อกังวลหรือคำถามอีกข้อหนึ่งที่บางคนอาจมีเกี่ยวกับการกลับใจ ศึกษา “กลับใจ (การ)” หรือ “สารภาพ (การ)” ในคู่มือพระคัมภีร์ (scriptures.ChurchofJesusChrist.org) โดยมองหาความจริงที่อาจช่วยได้ ท่านอาจทบทวนพระคัมภีร์ที่เกี่ยวข้องกับ “กลับใจ (การ)” หรือ “สารภาพ (การ)” ในคู่มือพระคัมภีร์ (ChurchofJesusChrist.org.) อาจเป็นประโยชน์ที่จะศึกษา “การกลับใจ” ในจุลสาร เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน และไตร่ตรองสิ่งที่ท่านรู้เกี่ยวกับพระเจ้าที่อาจช่วยได้

เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้และวิธีที่อาจช่วยบางคนที่มีคำถามหรือข้อกังวลนั้น มองหาวิธีเน้นย้ำความรักและความปรารถนาของพระเจ้าที่จะให้อภัยเมื่อเรากลับใจ

เกิดอะไรขึ้น?

อ่าน โมไซยาห์ 26:34–37 โดยมองหาสิ่งที่เกิดขึ้นขณะที่แอลมาทำตามคำแนะนำของพระเจ้า

เขียนสิ่งที่ท่านอาจต้องการจดจำหรือทำเนื่องจากบทเรียนนี้ลงในสมุดบันทึกการศึกษา การทบทวนนี้อาจรวมถึงวิธีที่ท่านต้องการระลึกถึงความเต็มพระทัยของพระเจ้าในการให้อภัย หรือวิธีที่ท่านอาจต้องการมุ่งมั่นที่จะสารภาพและกลับใจจากบาปของตน

ท่านอาจแสดงประจักษ์พยานเกี่ยวกับหลักธรรมที่สอนในบทนี้