เซมินารี
แอลมา 2–3: ผู้ที่เราเลือกเชื่อฟัง


“แอลมา 2–3: ผู้ที่เราเลือกเชื่อฟัง,” พระคัมภีร์มอรมอน คู่มือครู (2024)

“แอลมา 2–3,” พระคัมภีร์มอรมอน คู่มือครู

แอลมา 2–3

ผู้ที่เราเลือกเชื่อฟัง

เยาวชนกำลังไตร่ตรองพระคัมภีร์

ศาสดาพยากรณ์ทรงเตือนเราอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งพระคัมภีร์ว่า ผลของการกระทำที่เราจะเผชิญขึ้นอยู่กับผู้ที่เราเลือกติดตาม ตัวอย่างเช่น หลังจากความขัดแย้งระหว่างชาวนีไฟกับชาวแอมลิไซ ศาสดาพยากรณ์มอรมอนสอนว่าผู้ที่สิ้นชีวิตจะ “เก็บเกี่ยวความสุขนิรันดร์หรือความเศร้าหมองนิรันดร์ ตามวิญญาณซึ่งพวกเขาเลือกเชื่อฟัง แล้วแต่จะเป็นวิญญาณดีหรือวิญญาณชั่ว” (แอลมา 3:26) บทเรียนนี้จะช่วยให้ท่านเข้าใจดีขึ้นถึงผลที่ตามมาของผู้ที่ท่านเลือกติดตามในช่วงชีวิตนี้

เตรียมโดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์ใช้เวลาพิจารณาว่านักเรียนจะได้พบเจอกับอะไรในชั้นเรียนที่จะช่วยให้พวกเขา “เข้าใจและพึ่งพาคำสอนและการชดใช้ของพระเยซูคริสต์” ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันกระตุ้นให้ครู “จดจำวัตถุประสงค์ทุกวันก่อนที่ท่านจะสอนนักเรียน” (“Teaching Youth in the Day of the Wave” [Seminaries and Institutes of Religion satellite broadcast], 6 สิงหาคม 2013)

การเตรียมของนักเรียน: เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านหรือฟัง แอลมา 2–3 ก่อนเข้าชั้นเรียน ให้พวกเขานึกดูว่าพวกเขาจะได้เรียนรู้อะไรจากเรื่องราวในบทเหล่านี้

กิจกรรมการเรียนรู้ที่ทำได้

เรื่องราวนี้มีคติสอนใจว่าอย่างไร?

ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงเรื่องราวหรือนิทานที่สอนบทเรียน และให้พวกเขามาแบ่งปันกับชั้นเรียน หากจำเป็น ท่านอาจใช้ตัวอย่างต่อไปนี้ หากนักเรียนคุ้นเคยกับตัวอย่าง ท่านอาจเชื้อเชิญให้พวกเขาเล่าเรื่องเป็นคำพูดของตนเองและระบุคติสอนใจหรือบทเรียน วิธีนี้จะช่วยให้นักเรียนระบุหลักธรรมที่มอรมอนมีไว้ให้เราเรียนรู้จากงานเขียนของท่าน

  • ท่านนึกถึงเรื่องราวหรือนิทานที่สอนบทเรียนชีวิตได้ไหม?

นิทานสุดคลาสสิกที่เล่าโดยนักเล่านิทานกรีกโบราณชื่ออีสปคือ “เด็กเลี้ยงแกะ” เรื่องราวเล่าถึงเด็กหนุ่มเลี้ยงแกะคนหนึ่งที่หลอกเพื่อนบ้านให้เชื่อว่าหมาป่ากำลังทำร้ายฝูงแกะในหมู่บ้าน ชาวบ้านหลายคนรีบรุดมาช่วยเหลือ แต่ก็ไม่วี่แววของหมาป่า เพราะเป็นแค่ความสนุกของเด็กหนุ่ม ในที่สุดก็มีหมาป่าตัวจริงเข้าโจมตีฝูงแกะ แต่เมื่อเด็กคนนั้นร้องขอความช่วยเหลือเป็นครั้งที่สาม ไม่มีใครมาช่วยเขา

  • เราได้เรียนรู้คติสอนใจหรือบทเรียนอะไรจากเรื่องนี้?

มองหาโอกาสตลอดการศึกษาพระคัมภีร์มอรมอน เพื่อช่วยให้นักเรียนรับรู้และระบุหลักธรรม ตลอดจนบทเรียนที่ศาสดาพยากรณ์มอรมอนเน้น

พระคัมภีร์ยังสอนบทเรียนและแสดงให้เห็นหลักธรรมเช่นเดียวกับเรื่องราวหรือนิยายที่มักจะมีคติสอนใจ ทักษะการศึกษาพระคัมภีร์ที่เป็นประโยชน์เมื่อท่านศึกษาพระคัมภีร์มอรมอนคือ ให้สังเกตเวลาที่มอรมอนระบุวัตถุประสงค์ของเขาอย่างชัดเจนสำหรับการรวมเรื่องราวบางเรื่องไว้ในบันทึก เขามักจะใช้วลี เช่น “และเราจึงเล็งเห็นได้อย่างชัดแจ้ง,” “เราจึงเห็น,” “ตามจริงแล้ว ตามจริงแล้ว,” หรือ “ดูเถิด,” เพื่อบอกให้เราทราบว่าเขาจะแบ่งปันหลักธรรมและบทเรียนกับเรา (ดู แอลมา 24:30; 30:60; 48:17; 62:41; ฮีลามัน 3:27–28) การระบุบทเรียนและความจริงที่มอรมอนเน้นย้ำจะช่วยให้ท่านพบความเชื่อมโยงส่วนตัวได้ และจะเพิ่มประสิทธิภาพในการศึกษาพระคัมภีร์ของท่านได้ด้วย

อ่าน แอลมา 3:26–27 โดยมองหาความจริงที่มอรมอนอยากให้เราเรียนรู้จากเรื่องราวใน แอลมา 2–3 ท่านอาจทำเครื่องหมายสิ่งที่พบ

  • ท่านค้นพบอะไรบ้าง?

ท่านอาจแบ่งปันข้อมูลต่อไปนี้ หากนักเรียนต้องการความช่วยเหลือในการทำความเข้าใจความจริงที่สอนใน แอลมา 3:26–27

เพื่อช่วยให้ท่านเข้าใจข้อความนี้ดีขึ้น โปรดทราบว่าวลี “ทุกคนย่อมได้รับค่าตอบแทนจากคนที่ตนเลือกเชื่อฟัง” ชวนให้จินตนาการว่าเราเป็นลูกจ้างที่เลือกได้ว่าจะให้เจ้านายของเราคือพระบิดาบนสวรรค์หรือซาตาน (ดู แอลมา 3:27) ในบริบทนี้ คำว่า เลือก หมายถึงการเอนเอียงหรือโน้มเอียงไปทางใดทางหนึ่งหรืออีกด้าน กระนั้นก็ตาม ผู้ที่โน้มเอียงหรือเอนเอียงไปทางซาตานในไม่ช้าจะพบว่าตนเองได้รับการว่าจ้างจากผู้นั้นและรับ “ความเศร้าหมองนิรันดร์” (แอลมา 3:26) ท้ายที่สุดทางเลือกในชีวิตของเราจะเปิดเผยผู้ที่เราเลือกให้เป็นเจ้านายนิรันดร์ของเรา

อาจเป็นประโยชน์ที่จะเขียนความจริงต่อไปนี้บนกระดาน เพื่อให้นักเรียนนำไปใช้อ้างอิงได้ตลอดบทเรียน

หนึ่งในความจริงที่เป็นไปได้จาก แอลมา 3:26–27 คือ ผู้ที่เราเลือกเชื่อฟังในชีวิตนี้จะกำหนดความสุขหรือความเศร้าหมองนิรันดร์ของเรา

นึกถึงชีวิตของท่านและผู้ที่ท่านเลือกเชื่อฟัง ท่านพยายามติดตามพระเยซูคริสต์หรือไม่? หรือท่านติดตามผู้อื่นอยู่? ไตร่ตรองคำถามเหล่านี้ขณะศึกษาต่อในวันนี้

แอมลิไซหมายมั่นจะเป็นกษัตริย์

ในช่วงปีต้นๆ ของการปกครองโดยผู้พิพากษา แอลมากับผู้คนของเขาต้องเผชิญกับการทดสอบที่ยากลำบากต่อศรัทธาและความสุข

อ่าน แอลมา 2:1–12 โดยมองหาการทดสอบที่ชาวนีไฟเผชิญ

ท่านอาจระบุคำแนะนำเกี่ยวกับเสรีภาพทางศาสนาไว้ในหมวดกิจกรรมเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับประเด็นนี้ในบทเรียน

  • แอมลิไซตั้งใจจะทำอะไรถ้าได้ขึ้นเป็นกษัตริย์? (ดู ข้อ 4)

  • ชาวนีไฟตอบสนองอย่างไร?

  • ชาวนีไฟแสดงความปรารถนาที่จะติดตามพระผู้ช่วยให้รอดอย่างไร?

การเลือกและผลที่ตามมา

ช่วยนักเรียนค้นหาและแบ่งปันผลที่แตกต่างกันของการติดตามพระผู้เป็นเจ้าหรือมาร วิธีหนึ่งที่ทำได้คือ คัดลอกแผนภูมิต่อไปนี้บนกระดานและให้นักเรียนกรอกข้อมูล อีกทางเลือกหนึ่งคือ เตรียมเศษกระดาษไว้หลายๆ ชิ้นที่ใช้แทนเงินตราหรือ “ค่าตอบแทน” (แอลมา 3:27) ก่อนเข้าชั้นเรียน จากนั้นนำใส่ถุงหรือกล่องสองใบ แล้วติดป้ายว่า “ติดตามพระผู้เป็นเจ้า” ส่วนอีกอันติดว่า “ติดตามมารหรือผู้รับใช้ของมารตนนั้น” แจกกระดาษอย่างน้อยหนึ่งแผ่นให้นักเรียนแต่ละคน และให้ชั้นเรียนครึ่งห้องอ่านช่วงพระคัมภีร์แต่ละรายการตามที่ระบุด้านล่าง เมื่อนักเรียนค้นพบค่าตอบแทนที่แตกต่างกันจากเรื่องราวแต่ละเรื่อง เชื้อเชิญให้พวกเขาเขียนสิ่งเหล่านี้บนกระดาษและวางค่าตอบแทนของตนในภาชนะที่เหมาะสม เมื่อนักเรียนทำเสร็จ ให้อ่านออกเสียงค่าตอบแทนหลายๆ รายการ ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันค่าตอบแทนเพิ่มเติมจากการติดตามพระผู้เป็นเจ้าตามที่สังเกตเห็นในชีวิตของตนเองหรือผู้อื่น

คัดลอกแผนภูมิต่อไปนี้ลงในสมุดบันทึกการศึกษาของท่าน อ่านข้อต่อไปนี้ และทำรายการ “ค่าตอบแทน” จากการติดตามพระผู้เป็นเจ้าหรือมารในคอลัมน์ที่เหมาะสม

“ค่าตอบแทนจากคนที่ตนเลือกเชื่อฟัง” (แอลมา 3:27)

ติดตามพระผู้เป็นเจ้า

ติดตามมารหรือผู้รับใช้ของเขา

แอลมา 2:16–18, 26–31 (แอลมากับชาวนีไฟ)

แอลมา 3:4, 13–14, 18–19 (ชาวแอมลิไซ)

  • ท่านสังเกตเห็นอะไรในสองเรื่องราวนี้?

หมายเหตุ: การสาปแช่งที่ทั้งชาวแอมลิไซและชาวเลมันประสบคือ การแยกจากพระผู้เป็นเจ้าเนื่องจากการกบฏและไม่เชื่อฟัง (ดู 2 นีไฟ 5:20–21) เครื่องหมายที่แยกชาวเลมันออกจากชาวนีไฟในเวลานั้นคือ “ผิวของชาวเลมันเป็นสีดำ” (แอลมา 3:6) สิ่งสำคัญคือต้องจำไว้ว่าธรรมชาติและลักษณะของเครื่องหมายนี้ยังไม่เป็นที่เข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง ศาสดาพยากรณ์ในพระคัมภีร์มอรมอนกับศาสดาพยากรณ์ยุคใหม่ต่างสอนว่าการสบประมาทหรือดูถูกคนเพราะสีผิวของพวกเขาถือเป็นสิ่งผิด (ดู เจคอบ 3:9)

ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนหาพระคัมภีร์เล่มอื่นๆ ที่อธิบายถึง “ค่าตอบแทน” ของการติดตามพระผู้เป็นเจ้าหรือคนอื่นแทนการจัดกลุ่มตามข้อพระคัมภีร์ 3 ข้อถัดไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถของนักเรียน ท่านอาจกระตุ้นให้พวกเขาใช้ข้อผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอน

อ่านข้อความในพระคัมภีร์ต่อไปนี้และเพิ่มสิ่งที่ท่านพบลงในแผนภูมิ

2 นีไฟ 2:27

แอลมา 30:60

มัทธิว 11:28–30

เมื่อนักเรียนกรอกข้อมูลในแผนภูมิเสร็จแล้ว เชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่พบ ถามคำถามติดตามผลเช่นตัวอย่างต่อไปนี้ ขณะที่พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่ช่วยให้พวกเขาเชื่อมโยงสิ่งที่พบในพระคัมภีร์กับชีวิตส่วนตัว

การประยุกต์ใช้ส่วนตัว

  • ท่านสังเกตเห็นหรือประสบอะไรในชีวิตบ้างที่แสดงให้เห็นถึงความจริงของหลักธรรมตามที่กล่าวไว้ใน แอลมา 3:26–27?

นึกถึงทางที่ท่านเลือกในขณะนี้ที่ช่วยให้ท่านติดตามพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ ทางเลือกนั้นจะนำไปสู่ความสุขนิรันดร์ได้อย่างไร? ท่านกำลังเลือกทางที่อาจนำท่านให้ออกห่างจากพระผู้ช่วยให้รอดหรือไม่? เลือกสิ่งที่ท่านต้องทำเพื่อเปลี่ยนแปลง ท่านอาจพิจารณาว่าพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ประทานพรและเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ท่านได้อย่างไร ขณะมุ่งมั่นเลือกทางที่ถูกต้องเพื่อนำท่านกลับไปหาพระองค์