เซมินารี
แอลมา 20–22: “ข้าพเจ้าจะทำอย่างไรจึงจะมี … ชีวิตนิรันดร์?”


“แอลมา 20–22: ‘ข้าพเจ้าจะทำอย่างไรจึงจะมี … ชีวิตนิรันดร์?’” พระคัมภีร์มอรมอน คู่มือครู (2024)

“แอลมา 20–22” พระคัมภีร์มอรมอน คู่มือครู

แอลมา 20–22

“ข้าพเจ้าจะทำอย่างไรจึงจะมี … ชีวิตนิรันดร์?”

วัยรุ่นยิ้ม

อะไรจะช่วยให้ท่านปรารถนาจะติดตามพระผู้เป็นเจ้ามากกว่าสิ่งอื่นใด? บิดาของกษัตริย์ลาโมไนเคยเป็นคนชั่วร้าย แต่หลังจากเรียนรู้ความจริงที่สำคัญเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและแผนแห่งความรอดของพระบิดาบนสวรรค์ ความปรารถนาของเขาเริ่มเปลี่ยนไปมาก บทเรียนนี้จะช่วยให้ท่านปรารถนาเรื่องของพระผู้เป็นเจ้ามากกว่าสิ่งใดที่โลกมอบให้

การเป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์ มองหาโอกาสเป็นพยานถึงเดชานุภาพ พระเมตตา และอิทธิพลของพระเจ้าในชีวิตเรา กระตุ้นให้นักเรียนถามว่า “พระคัมภีร์ข้อนี้สอนอะไรเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ซึ่งจะช่วยให้ฉันเข้าใจและพึ่งพาคำสอนและการชดใช้ของพระองค์?”

การเตรียมของนักเรียน: เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน แอลมา 20 และ 22 เพื่อดูว่าบิดาของกษัตริย์ลาโมไนเปลี่ยนไปอย่างไรในสองบทนี้ ให้พวกเขานึกถึงเหตุผลที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น

กิจกรรมการเรียนรู้ที่ทำได้

ท่านเต็มใจหรือไม่?

ท่านเคยสังเกตหรือไม่ว่าสภาวการณ์หนึ่งมีอิทธิพลต่อความเต็มใจจะทำ—หรือไม่ทำบางสิ่งบางอย่าง?

ตัวอย่างเช่น นึกถึงสถานการณ์ที่ท่านเต็มใจทำสิ่งต่อไปนี้ จากนั้นให้นึกถึงสถานการณ์ที่ทำให้ท่านไม่ค่อยเต็มใจทำ

ท่านอาจจะแบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มเล็กๆ และมอบหมายให้สนทนากลุ่มละหนึ่งกิจกรรมต่อไปนี้ จากนั้นสมาชิกของแต่ละกลุ่มจะแบ่งปันคำตอบกับชั้นเรียน

  • ทำความสะอาดห้องนอน

  • อ่านหนังสือ

  • เดินไกล

ให้นักเรียนทำการประเมินตนเองโดยให้คำแนะนำต่อไปนี้ อย่าขอให้นักเรียนบอกคำตอบของคำถาม

บางอย่างสามารถจูงใจเราให้ติดตามพระผู้เป็นเจ้า

ใช้เวลาสักครู่คิดถึงความปรารถนาจะติดตามพระผู้เป็นเจ้าของท่าน หากท่านปรารถนาจะติดตามพระองค์ อะไรเคยช่วยให้ท่านรู้สึกมีความปรารถนานั้น? หากปัจจุบันท่านไม่มีความปรารถนาจะติดตามพระองค์ ท่านคิดว่าอะไรจะช่วยให้มีความรู้สึกเหล่านั้น?

วันนี้ท่านจะเรียนรู้เกี่ยวกับชายคนหนึ่งซึ่งความปรารถนาจะติดตามพระผู้เป็นเจ้าของเขาเพิ่มขึ้นอย่างมากภายในระยะเวลาอันสั้น ขณะศึกษา ให้เอาใจใส่สิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้ มองหาคำสอนที่จะช่วยให้ท่านมีความปรารถนาจะติดตามพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้นและได้รับพรที่พระองค์เท่านั้นสามารถมอบให้ได้

แอมันกับลาโมไนพบบิดาของลาโมไน

สรุปข้อมูลต่อไปนี้เพื่อช่วยนักเรียนเตรียมศึกษาเหตุการณ์ใน แอลมา 20 ระวังอย่าใช้เวลากับบทเรียนส่วนนี้มากเกินไป ท่านจะต้องให้นักเรียนมีเวลามากพอศึกษาเรื่องราวที่แอรันสอนบิดาของลาโมไนใน แอลมา 22

ขณะที่แอมันรับใช้และสอนผู้คนของกษัตริย์ลาโมไนในแผ่นดินอิชมาเอล พระเจ้าทรงเปิดเผยต่อแอมันว่าแอรันกับคนอื่นๆ จากกลุ่มของพวกเขาถูกคุมขังในแผ่นดินมิดโดไน แอมันและกษัตริย์วางแผนเดินทางไปที่นั่นเพื่อปลดปล่อยแอรันกับคนอื่นๆ ระหว่างทางพวกเขาพบบิดาของลาโมไนผู้เป็นกษัตริย์ปกครองทั้งแผ่นดิน (ดู แอลมา 20:1–8)

อาจเป็นประโยชน์ถ้าเชิญนักเรียนสองหรือสามคนที่เต็มใจอ่านข้อต่อไปนี้ขณะสมาชิกชั้นเรียนที่เหลือดูตามในพระคัมภีร์ของพวกเขา

อ่าน แอลมา 20:13–28 โดยมองหาปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างแอมัน ลาโมไน กับบิดาของลาโมไน

  • ท่านสังเกตเห็นความปรารถนาของบิดาของลาโมไนเปลี่ยนไปอย่างไรตลอดการปฏิสัมพันธ์ของเขากับแอมันและลาโมไน?

  • มีสิ่งใดบ้างช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น?

ท่านอาจจะทำเครื่องหมายใน ข้อ 23 ที่บิดาของลาโมไนเต็มใจสละถ้าแอมันจะไว้ชีวิตเขา ท่านสามารถเปรียบเทียบปฏิกิริยาของเขาในข้อนี้กับปฏิกิริยาของเขาในข้ออื่นที่ท่านจะศึกษาในบทเรียนช่วงหลัง

แอรันสอนบิดาของลาโมไน

หลังจากแอรันและคนที่อยู่กับเขาถูกปล่อยออกจากเรือนจำแล้ว แอมันกลับไปแผ่นดินอิชมาเอลกับกษัตริย์ลาโมไน พระวิญญาณทรงนำแอรันไปหาบิดาของลาโมไนในแผ่นดินนีไฟ (ดู แอลมา 22:1)

อ่าน แอลมา 22:2–6 โดยมองหาคำถามที่บิดาของลาโมไนมีขณะพบกับแอรัน

  • ท่านจะแบ่งปันอะไรเกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์และแผนของพระองค์ในการตอบคำถามของกษัตริย์ใน ข้อ 5–6?

อ่าน แอลมา 22:7–14 และมองหาว่าแอรันตอบคำถามของกษัตริย์ว่าอย่างไร โปรดทราบว่าคำว่า ได้ ใน ข้อ 14 หมายความว่า “ได้รับหรือสมควรได้รับ”

  • กษัตริย์ได้เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าและแผนของพระองค์ที่น่าจะส่งผลต่อมุมมองของเขาเกี่ยวกับชีวิต?

  • การเชื่อและการเข้าใจคำสอนของแอรันเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าและแผนของพระองค์จะมีอิทธิพลต่อเราได้อย่างไร?

อ่าน แอลมา 22:15–18 โดยมองหาสิ่งที่กษัตริย์ปรารถนาและเต็มใจทำหลังจากแอรันสอนเขา

ก่อนสนทนาคำถามสองข้อถัดไป ท่านอาจจะเชิญนักเรียนหลายๆ คนเขียนวลีที่พวกเขาชอบเป็นพิเศษจากข้อเหล่านี้ไว้บนกระดาน จากนั้นท่านจะถามนักเรียนว่ามีวลีใดอธิบายสิ่งที่พวกเขาเคยรู้สึกมาก่อนหรือไม่ หรือพวกเขามีคำถามหรือไม่ เชิญนักเรียนที่เต็มใจให้แบ่งปันคำถามหรือประสบการณ์ บอกนักเรียนไม่ให้แบ่งปันเรื่องที่เป็นส่วนตัวมากเกินไป

  • คำหรือวลีใดช่วยให้ท่านเห็นว่าความปรารถนาของกษัตริย์เปลี่ยนไปตั้งแต่เขาพบแอมันกับลาโมไนบนถนนไปมิดโดไน?

  • กษัตริย์กล่าวว่าเขายอมสละอะไรใน ข้อ 15 และ 18?

  • ตามที่ท่านเรียนรู้จากการศึกษา แอลมา 20 และ 22 ปัจจัยอะไรบ้างช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่กษัตริย์ประสบ?

ความจริงประการหนึ่งที่เราเรียนรู้ได้จากเรื่องนี้คือ เมื่อเราเข้าใจว่าเราต้องการพระเยซูคริสต์ ความปรารถนาจะติดตามพระองค์และได้รับพรที่พระองค์ทรงมอบให้จะเพิ่มขึ้น

  • ท่านคิดว่าเหตุใดการเข้าใจว่าเราต้องการพระผู้ช่วยให้รอดจึงมีผลกระทบอย่างมากต่อความปรารถนาและการกระทำของเรา?

  • อะไรจะช่วยหรือเคยช่วยให้ท่านเข้าใจดีขึ้นว่าท่านต้องการพระเยซูคริสต์?

ความปรารถนาอันชอบธรรมของเราจะส่งผลกระทบต่อเรา

ประสบการณ์ของกษัตริย์กับแอรันมีผลกระทบลึกซึ้งต่อกษัตริย์และผู้คนของเขา กษัตริย์ ราชินี ครัวเรือนทั้งหมดของเขา และชาวเลมันคนอื่นๆ อีกมากมายพากันเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระเจ้า และซื่อสัตย์ต่อพระองค์ตลอดชีวิตที่เหลือ (ดู แอลมา 22:23; 23:6)

นึกย้อนกลับไปว่ากษัตริย์กล่าวว่าเขาปรารถนาอะไรใน ข้อ 15–18 ความปรารถนาเหล่านี้รวมถึง

  • พรของชีวิตนิรันดร์ (ข้อ 15, 18)

  • “เกิดจากพระผู้เป็นเจ้าโดยขุดเอารากของวิญญาณชั่วร้ายนี้ออกจากอก [ของเขา]” (ข้อ 15)

  • รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ (ข้อ 15)

  • เปี่ยมด้วยปีติ (ข้อ 15) และ

  • รู้จักพระผู้เป็นเจ้า (ข้อ 18)

เขียนความปรารถนาของกษัตริย์ไว้บนกระดานหากยังไม่ได้เขียน แทนที่จะถามคำถามต่อไป ท่านอาจจะให้นักเรียนเขียนคำอธิบายสั้นๆ ลงในสมุดบันทึกการศึกษาว่าพวกเขาจะเป็นคนแบบไหนใน 5 หรือ 10 ปีถ้าพวกเขาปรารถนาสิ่งเหล่านี้อยู่เสมอในช่วงเวลานั้น

จากนั้นนักเรียนจะแบ่งปันข้อคิดกับชั้นเรียน

  • ท่านคิดว่าการปรารถนาสิ่งเหล่านี้ในชีวิตอยู่เสมอจะทำให้เกิดความแตกต่างอะไรในชีวิตท่าน?

  • ท่านอาจจะต้องสละหรือเปลี่ยนแปลงอะไรเพื่อได้พรเหล่านี้?

ไตร่ตรองสิ่งที่ท่านได้เรียนรู้และรู้สึกขณะศึกษาวันนี้ พิจารณาว่าท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อปรารถนาพรที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงประสงค์จะประทานแก่ท่านอย่างเต็มที่มากขึ้น นึกถึงสิ่งที่ท่านจะต้องทำหรือสละเพื่อรับพรเหล่านี้ บันทึกความคิดและความประทับใจทางวิญญาณลงในสมุดบันทึกการศึกษาของท่าน

ให้เวลานักเรียนมากพอจะบันทึกความคิดและความประทับใจลงในสมุดบันทึกการศึกษาของพวกเขา ท่านอาจจะเชิญนักเรียนที่เต็มใจสองสามคนให้แบ่งปันสิ่งที่เขียนไว้กับชั้นเรียนซึ่งไม่เป็นเรื่องส่วนตัวมากเกินไป