เซมินารี
แอลมา 29: ความปรารถนาของใจเรา


“แอลมา 29: ความปรารถนาของใจเรา” พระคัมภีร์มอรมอน คู่มือครู (2024)

“แอลมา 29” พระคัมภีร์มอรมอน คู่มือครู

แอลมา 29

ความปรารถนาของใจเรา

เยาวชนเดินป่า

ท่านจะบอกได้อย่างไรว่าความปรารถนาของท่านสำหรับชีวิตตนเองสอดคล้องกับสิ่งที่พระเจ้าทรงต้องการให้ท่านหรือไม่? แอลมา 29 บันทึกความปรารถนาในใจแอลมาและการใคร่ครวญของเขาว่าความปรารถนาของเขาเป็นไปตามที่พระผู้เป็นเจ้าทรงต้องการให้เขาหรือไม่ บทเรียนนี้จะช่วยท่านประเมินความปรารถนาของตนเองและปรับให้สอดคล้องกับพระประสงค์ของพระเจ้า

สร้างศรัทธาในพระเยซูคริสต์ เมื่อเตรียมสอน ให้ถามตัวท่านเองว่า “ในบรรดาความจริงทั้งหมดที่จะเน้นได้ในพระคัมภีร์ช่วงนี้ ความจริงใดช่วยให้นักเรียนใกล้ชิดพระบิดาบนสวรรค์และพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น?” จงแสวงหาการดลใจจากพระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อให้เข้าใจดีขึ้นว่าความจริงพระกิตติคุณข้อใดจะบรรลุจุดประสงค์นั้นดีที่สุด

การเตรียมของนักเรียน: ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน แอลมา 29:1–6 และไตร่ตรองสิ่งที่เรียนรู้เกี่ยวกับความปรารถนา

กิจกรรมการเรียนรู้ที่ทำได้

ความประสงค์สำหรับชีวิตฉัน

ท่านอาจจะให้ดูรูปตัวท่านเองตอนเด็กและแบ่งปันคำตอบของท่านสำหรับคำถามต่อไปนี้ ท่านอาจจะเชิญนักเรียนสองสามคนนำรูปตัวเองตอนเด็กมาแล้วตอบคำถาม

หรือในหลายวัฒนธรรมมีนิทานหรือเรื่องเล่าที่มีคนถูกถามว่าพวกเขาประสงค์หรือปรารถนาอะไรมากที่สุด บางตัวอย่าง ได้แก่ ประสงค์จะขอพรจากดวงดาว ขอพรจากภูตหรือนางฟ้า หรือขอพรขณะเป่าเทียนวันเกิด ท่านอาจต้องการพูดถึงหนึ่งในเรื่องเล่าคุ้นหูเหล่านี้และถามว่า “ถ้าท่านสามารถขอพรได้หนึ่งข้อตามความปรารถนาใหญ่สุดของท่าน ท่านจะขออะไร?”

  • เมื่อท่านยังเด็ก ความปรารถนาใหญ่สุดของท่านมีอะไรบ้าง?

  • ตอนนี้ท่านอายุมากขึ้น ความปรารถนาของท่านเปลี่ยนไปอย่างไร? ความปรารถนาของท่านอาจจะเปลี่ยนไปอย่างไรในอนาคต?

เขียนความปรารถนาหลายๆ อย่างสำหรับชีวิตท่านไว้ด้านหนึ่งของหน้าในสมุดบันทึกการศึกษา (ท่านจะใช้อีกด้านในบทเรียนช่วงหลัง)

  • ความปรารถนาของเรามีอิทธิพลต่อชีวิตเราอย่างไร?

เมื่อเราโตขึ้นและเป็นผู้ใหญ่ในพระกิตติคุณและเข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น ความปรารถนาบางอย่างอาจเปลี่ยนไปและสอดคล้องมากขึ้นกับสิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์สำหรับเรา

  • เราจะบอกได้อย่างไรว่าความปรารถนาของเราสอดคล้องกับสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประสงค์สำหรับเราหรือไม่?

ขณะศึกษาบทเรียนนี้ ให้ไตร่ตรองความปรารถนาของท่าน ระบุความปรารถนาที่สอดคล้องกับความปรารถนาของพระผู้เป็นเจ้าและความปรารถนาที่อาจต้องโตเป็นผู้ใหญ่หรือเปลี่ยนแปลง

ปรับความปรารถนาของเราให้สอดคล้องกับพระประสงค์ของพระเจ้า

ใน แอลมา 29 แอลมาบันทึกความปรารถนาอย่างหนึ่งของเขา อ่าน แอลมา 29:1–2 โดยมองหาสิ่งที่เขาพูดถึง

  • เหตุใดแอลมาจึงปรารถนาจะเป็นเทพ? นั่นบอกอะไรท่านเกี่ยวกับแอลมา?

  • ท่านรู้อะไรเกี่ยวกับอดีตของแอลมาที่เป็นแรงบันดาลใจให้เขาปรารถนาจะเป็นเทพ? (ดู โมไซยาห์ 27:11–17)

ภาพต่อไปนี้อาจจะช่วยให้ท่านจำประสบการณ์สำคัญอย่างหนึ่งจากชีวิตก่อนหน้านี้ของแอลมาได้

หากจำเป็น ให้ช่วยนักเรียนเข้าใจประสบการณ์ของแอลมากับเทพตามที่บันทึกไว้ใน โมไซยาห์ 27 วิธีหนึ่งที่ท่านจะช่วยได้คือติดภาพต่อไปนี้และขอให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาจำได้เกี่ยวกับเรื่องในภาพ

การเปลี่ยนใจเลื่อมใสของแอลมาผู้บุตร

การเข้าใจบริบทของข้อพระคัมภีร์จะทำให้เรามีความเข้าใจเพิ่มขึ้น ในบทก่อน แอลมา 29 พระเจ้าทรงบัญชาแอมันให้พาชาวแอนไท-นีไฟ-ลีไฮมาอยู่กับชาวนีไฟเพื่อปกป้องพวกเขา (ดู แอลมา 27:4–12) ชาวนีไฟมอบแผ่นดินเจอร์ชอนให้ชาวแอนไท-นีไฟ-ลีไฮตั้งรกรากและสัญญาว่าจะปกป้องพวกเขา ชาวเลมันที่ชั่วร้ายติดตามชาวแอนไท-นีไฟ-ลีไฮและเริ่มการต่อสู้ ชาวนีไฟปกป้องตนเองและครอบครัวจากชาวเลมัน ส่งผลให้ “และชาวเลมันหลายหมื่นคนถูกสังหารและกระจัดกระจายกันอยู่ทั่วไป … และมีการเข่นฆ่าไม่เลือกหน้าในบรรดาผู้คนของนีไฟด้วย” (แอลมา 28:2–3)

  • บริบทนี้จะช่วยให้ท่านเข้าใจได้อย่างไรว่าเหตุใดแอลมาจึงกล้าเรียกผู้คนให้กลับใจและป้องกันความเศร้าโศก?

อ่าน แอลมา 29:3–6 เพื่อดูว่าแอลมาเข้าใจอะไรเกี่ยวกับความปรารถนา

ท่านอาจจะถามนักเรียนว่าพวกเขาได้เรียนรู้อะไร นักเรียนอาจแบ่งปันบทเรียนหรือหลักธรรมต่างๆ หากนักเรียนไม่แบ่งปันก็ขอให้พวกเขาสรุปสิ่งที่แอลมาสอนใน ข้อ 4

หลักธรรมข้อหนึ่งที่ท่านอาจค้นพบคือ พระผู้เป็นเจ้าทรงยอมให้เราเลือกตามความปรารถนาของเรา

ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้นักเรียนทำเครื่องหมายคำหรือวลีสำคัญๆ ใน ข้อ 4 ที่ระบุความจริงนี้

  • เหตุใดหลักธรรมนี้จึงสำคัญที่เราต้องเข้าใจ?

เพื่อช่วยท่านเปรียบเทียบความปรารถนาของท่านกับความปรารถนาของพระเจ้า ให้เขียนสิ่งที่พระเจ้าทรงปรารถนาสำหรับลูกๆ ของพระองค์ลงอีกด้านของหน้าในสมุดบันทึกการศึกษาของท่าน ท่านอาจจะอ่านข้อต่อไปนี้บางข้อเพื่อเขียนความปรารถนาของพระเจ้า:

มัทธิว 22:37–40

ยอห์น 17:3

3 นีไฟ 12:48

หลักคำสอนและพันธสัญญา 6:6

อับราฮัม 3:25

โมเสส 1:39

เชิญนักเรียนแบ่งปันสิ่งที่เขียน บางตัวอย่าง ได้แก่ ทรงปรารถนาให้เราได้ยินและรู้จักพระผู้ช่วยให้รอด (ดู มัทธิว 17:5; ยอห์น 17:3; 3 นีไฟ 11:3–7) แสดงการเชื่อฟัง (ดู อับราฮัม 3:25) ทำงานของพระองค์ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 6:6) รักผู้อื่น (ดู เลวีนิติ 19:18; มัทธิว 22:37–40) แต่งงานและมีครอบครัว (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 131:1–4; ปฐมกาล 1:22) รู้สึกปีติ (ดู 2 นีไฟ 2:25) และมีชีวิตนิรันดร์อยู่กับพระองค์ (ดู โมเสส 1:39)

ดูทั้งสองด้านของหน้า โปรดสังเกตว่าพระเจ้าทรงต้องการให้ความปรารถนาของเรามีศูนย์กลางอยู่ที่การรักและรับใช้พระองค์และเพื่อนมนุษย์ ไตร่ตรองว่าความปรารถนาของท่านสอดคล้องกับความปรารถนาของพระผู้เป็นเจ้าเพียงใด

แม้ความปรารถนาจะแบ่งปันพระกิตติคุณเป็นเรื่องดี แต่แอลมารับรู้ว่าการปรารถนาจะแบ่งปันพระกิตติคุณต่อโลกเหมือนเทพไม่สอดคล้องนักกับสถานที่และวิธีที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกเขาให้รับใช้ ท่านอาจจะขีดเส้นใต้วลีใน แอลมา 29:3–6 ที่แสดงให้เห็นว่าแอลมาต้องการให้ความปรารถนาของตนสอดคล้องกับพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า

  • ท่านคิดว่าการพอใจกับสิ่งที่พระเจ้าทรงมอบให้เราหมายความว่าอย่างไร?

  • ท่านคิดว่าเหตุใดเราควรหมายมั่นทำให้ความปรารถนาของเราสอดคล้องกับความปรารถนาของพระผู้เป็นเจ้าเหมือนแอลมา?

  • เราจะปรับความปรารถนาของเราให้สอดคล้องกับพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าได้อย่างไรเมื่อเราได้รับการเรียกให้รับใช้ในด้านที่เราไม่ชอบ?

ช่วงหลังในบท แอลมาอธิบายว่าเขาไม่ต้องเป็นเทพก็พูดกับคนทั่วโลกได้เพราะพระผู้เป็นเจ้าจะทรงสอนประชาชาติทั้งปวงในพระปรีชาญาณและเวลาของพระองค์ (ดู แอลมา 29:7–8) อ่าน แอลมา 29:9, 13 โดยดูว่าแอลมาปลาบปลื้มอะไรและเขารู้สึกอย่างไรเมื่อปรับความปรารถนาของตนให้สอดคล้องกับความปรารถนาของพระผู้เป็นเจ้า

ความสำคัญของความปรารถนา

ให้โอกาสนักเรียนทำความเข้าใจลึกซึ้งขึ้นเกี่ยวกับความปรารถนา ท่านอาจจะติดคำถามและคำแนะนำต่อไปนี้ไว้ทั่วๆ ห้อง นักเรียนจะรวมตัวกันเป็นกลุ่มเล็กๆ ใกล้คำถามที่พวกเขาสนใจจะเรียนรู้ ทำตามคำแนะนำ และสนทนาคำตอบของคำถามที่พวกเขาพบ ท่านจะทำกิจกรรมนี้ซ้ำเพื่อให้นักเรียนได้ศึกษามากกว่าหนึ่งคำถาม

ฉันจะเพิ่มความปรารถนาจะติดตามพระเจ้าได้อย่างไร?

ขณะไตร่ตรองคำถามนี้ อาจเป็นประโยชน์ถ้านึกถึงแบบอย่างของคนที่เปลี่ยนใจเลื่อมใสพระเจ้า บางคนที่ท่านจะศึกษาได้คือ อีนัส (ดู อีนัส 1:1–7) ผู้คนของกษัตริย์เบ็นจามิน (ดู โมไซยาห์ 5:1–5) และกษัตริย์ลาโมไน (ดู แอลมา 22:15–16)

ฉันควรปรารถนาอะไรในชีวิต?

ขณะแสวงหาการเปิดเผยของคำถามนี้ ให้ศึกษาตัวอย่างที่คนอื่นปรารถนาหรือที่พระเจ้าทรงหวังให้พวกเขาปรารถนา (ดู โรม 10:1; 3 นีไฟ 19:7–9; หลักคำสอนและพันธสัญญา 6:6–8)

พระคัมภีร์สอนอะไรอีกบ้างเกี่ยวกับความปรารถนาของเรา?

อาจเป็นประโยชน์ถ้าศึกษา “ความปรารถนา” ในแอปคลังค้นคว้าพระกิตติคุณ หรืออ่านบางข้อต่อไปนี้: สดุดี 37:4; สุภาษิต 10:24; อีนัส 1:12; แอลมา 41:5; หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:38; 137:9

เชิญนักเรียนแบ่งปันสิ่งที่ได้เรียนรู้ ท่านอาจจะถามว่านักเรียนคนใดมีคำถามที่ต้องการให้ชั้นเรียนช่วยตอบหรือไม่ ช่วยกันค้นหาข้อพระคัมภีร์และแบ่งปันประสบการณ์กับประจักษ์พยานที่จะช่วยตอบคำถามที่นักเรียนคนนั้นถาม

ใช้เวลาไตร่ตรองสักครู่ว่าท่านจะประยุกต์ใช้บทเรียนนี้อย่างไร เขียนลงในสมุดบันทึกการศึกษาของท่านว่าท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเพิ่มพลังความปรารถนาอันชอบธรรมและแสวงหาความช่วยเหลือจากพระเจ้าเพื่อทำให้ความปรารถนาอื่นๆ สอดคล้องกับพระประสงค์ของพระองค์