เซมินารี
ฮีลามัน 1–4, 6: “มีความขัดแย้งมาก”


“ฮีลามัน 1–4, 6: ‘มีความขัดแย้งมาก,’” พระคัมภีร์มอรมอน คู่มือครู (2024)

“ฮีลามัน 1–4, 6” พระคัมภีร์มอรมอน คู่มือครู

ฮีลามัน 1–4, 6

“มีความขัดแย้งมาก”

เยาวชนหญิงท่าทางไม่มีความสุขกำลังครุ่นคิด

ท่านเห็นความขัดแย้ง การแบ่งแยก ความแตกแยก หรือการกบฏในโลกรอบตัวจากที่ใดบ้าง? ไม่นานหลังจากมรณกรรมของแม่ทัพโมโรไน ฮีลามัน และหัวหน้าผู้พิพากษาเพโฮรัน ชาวนีไฟต้องทนทุกข์จากผลของความขัดแย้งที่ตามมาอย่างรุนแรง ถึงอย่างนั้น บางคนก็เลือกที่จะแสวงหาสันติสุขผ่านพระเยซูคริสต์ บทเรียนนี้จะช่วยให้ท่านเข้าใจผลที่ตามมาของความขัดแย้งและวิธีค้นหาสันติสุขในพระคริสต์ในโลกที่มีความขัดแย้ง

ช่วยให้นักเรียนปลูกฝังความรู้สึกของการเป็นส่วนหนึ่ง เซมินารีควรจะเป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับนักเรียน เปิดโอกาสให้นักเรียนเพิ่มความสามัคคีและความเข้าใจขณะพูดคุยและฟังซึ่งกันและกัน กระตุ้นให้นักเรียนเคารพและเห็นคุณค่าประสบการณ์และมุมมองของผู้อื่น

การเตรียมของนักเรียน: เชื้อเชิญให้นักเรียนสวดอ้อนวอนให้บางคนหรือบางสิ่งซึ่งเป็นที่มาของความขัดแย้งในชีวิต

กิจกรรมการเรียนรู้ที่ทำได้

หมายเหตุ: วัฏจักรความจองหองในพระคัมภีร์มอรมอนกล่าวไว้ในโครงร่างการศึกษาสำหรับ ฮีลามัน 1–6 ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พระคัมภีร์มอรมอน

ความขัดแย้ง

เพื่อช่วยให้นักเรียนเห็นผลกระทบของความขัดแย้ง ท่านอาจสร้างแผนภาพฟองคำพูดดังนี้บนกระดานและเชื้อเชิญให้นักเรียนทำแบบเดียวกันในสมุดบันทึกการศึกษา

สร้างแผนภาพฟองคำพูดแบบนี้ลงในสมุดบันทึกการศึกษาของท่าน

แผนภาพฟองคำพูดว่างเปล่า

เขียนคำว่า ความขัดแย้ง ตรงกลางแผนภาพฟองคำพูด รอบๆ คำ ให้เขียนแง่มุมของชีวิตที่ท่านเห็นความขัดแย้ง เช่น บนโซเชียลมีเดียหรือในหมู่เพื่อน ท่านจะเพิ่มลงในแผนภาพนี้ในช่วงหลังของบทเรียน

ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองหรือพูดคุยเกี่ยวกับคำถามต่อไปนี้

  • ความขัดแย้งมีผลต่อชีวิตท่านโดยตรงหรือในทางอ้อมอย่างไร?

  • ท่านตอบสนองอย่างไรเมื่อไม่เห็นด้วยกับผู้อื่นหรือเผชิญหน้ากับผู้คนที่มีความขัดแย้ง?

เมื่อท่านเริ่มศึกษาหนังสือของฮีลามัน ให้ใส่ใจว่าความขัดแย้งส่งผลกระทบต่อชาวนีไฟอย่างไร และนึกถึงวิธีที่ท่านจะแสวงหาสันติสุขจากพระเยซูคริสต์ในโลกที่มีความขัดแย้ง

ความขัดแย้งในครอบครัว ศาสนจักร และชุมชน

หลังจากทำสงครามมาหลายปี ชาวนีไฟสามารถยึดดินแดนคืนจากชาวเลมัน แม่ทัพโมโรไนและฮีลามันสิ้นชีวิตในช่วงที่มีความสงบสุขในเวลาต่อมา บุตรชายของฮีลามันที่มีชื่อเดียวกันว่าฮีลามันได้รับบันทึกอันศักดิ์สิทธิ์ หลังจากนั้นไม่นาน ชาวนีไฟกลายเป็นคนหยิ่งจองหองและประสบกับความขัดแย้ง

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจภาพรวมของเหตุการณ์ในบทเหล่านี้ ท่านอาจให้นักเรียนอ่านหัวบทของ ฮีลามัน 1–6

ในหนังสือของฮีลามัน เราอ่านเรื่องราวที่แสดงให้เห็นว่าความขัดแย้งส่งผลกระทบต่อครอบครัว ศาสนจักร และชุมชนอย่างไร

หากชั้นเรียนของท่านมีขนาดเล็ก นักเรียนอาจเลือกหนึ่งหรือสองส่วนต่อไปนี้เพื่อศึกษาเป็นชั้นเรียน หากชั้นเรียนของท่านมีขนาดใหญ่ ท่านอาจให้นักเรียนแบ่งกลุ่มเพื่อศึกษาด้วยกันอย่างน้อยหนึ่งส่วน เมื่อนักเรียนพูดคุยเสร็จแล้ว เชื้อเชิญให้บางคนแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้จากแต่ละส่วน

ศึกษาข้อความต่อไปนี้อย่างน้อยหนึ่งส่วน

ครอบครัว: อ่าน ฮีลามัน 1:1–13 โดยมองหาว่าความขัดแย้งส่งผลต่อครอบครัวของเพโฮรันหลังจากท่านสิ้นชีวิตอย่างไร

ศาสนจักร: อ่าน ฮีลามัน 4:1–13 โดยมองหาว่าความหยิ่งจองหองและความขัดแย้งในศาสนจักรส่งผลต่อประชาชาติอย่างไร

ชุมชน: เพราะความขัดแย้งว่าใครควรเป็นหัวหน้าผู้พิพากษา คนชั่วร้ายชื่อคิชคูเม็นจึงตั้งกลุ่มลับขึ้นมา ต่อมาไม่นานเขาเข้าร่วมกับชายชั่วร้ายอีกคนหนึ่งชื่อแกดิแอนทัน (ดู ฮีลามัน 2) ในพระคัมภีร์มอรมอน กลุ่มรูปแบบนี้เรียกว่าการมั่วสุมลับ (ดู ฮีลามัน 3:23) อ่าน ฮีลามัน 6:15–21, 37–41 โดยมองหาสิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวนีไฟอันเนื่องมาจากความขัดแย้งและความชั่วร้ายที่เกิดจากพวกโจรแกดิแอนทัน

  • ผลจากความหยิ่งจองหองและความขัดแย้งมีอะไรบ้าง?

ให้ดูแผนภาพที่ท่านเริ่มไว้ในตอนต้นของบทเรียน อ่านผลของความขัดแย้งในแต่ละด้านของชีวิตที่เขียนไว้ในแผนภาพก่อนหน้านี้ ตัวอย่างเช่น ความขัดแย้งในกลุ่มเพื่อนสร้างความแตกแยกกับเพื่อนๆ ได้

ช่วยให้นักเรียนเพิ่มลงในแผนภาพฟองคำพูด พวกเขาอาจเพิ่มวงกลมและทำรายการผลของความหยิ่งจองหองและความขัดแย้งในชีวิตแต่ละด้านที่ระบุไว้ก่อนหน้านี้

จากสิ่งที่อ่าน ท่านอาจระบุว่า ความหยิ่งจองหองและความขัดแย้งอาจทำให้เกิดความแตกแยกในหมู่สมาชิกครอบครัว ชุมชน และประชาชาติ ท่านอาจบันทึกความจริงนี้ในพระคัมภีร์ใกล้กับ ฮีลามัน 1:4; 4:12–13; หรือ 6:38–40

พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนชาวนีไฟเกี่ยวกับลักษณะของความขัดแย้งที่ทำลายล้าง อ่าน 3 นีไฟ 11:29–30 โดยมองหาสิ่งที่พระองค์ตรัส

  • ความขัดแย้งมาจากไหน? เหตุใดจึงมีการทำลายล้างอยู่เสมอ?

  • เหตุใดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องรู้เมื่อท่านถูกล่อลวงให้แสดงออกด้วยความโกรธหรือเผชิญหน้ากับความขัดแย้ง?

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นแบบอย่างของสิ่งที่พระองค์ทรงสอนใน 3 นีไฟ 11:29–30 อย่างไร?

แสวงหาสันติสุขผ่านพระเยซูคริสต์

ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันกล่าวคำเชิญที่คล้ายกันเกี่ยวกับความขัดแย้งในชีวิตเรา รับชมวีดิทัศน์ “พลังของแรงขับเคลื่อนทางวิญญาณ” ตั้งแต่รหัสเวลา 1:38 ถึง 3:31 หรืออ่านคำกล่าวด้านล่าง

17:18

ข้อเรียกร้องของข้าพเจ้าวันนี้ พี่น้องที่รัก คือให้ยุติความขัดแย้งที่กำลังลุกลามในใจ ท่าน ในบ้าน ท่าน และในชีวิต ท่าน ฝังความรู้สึกทั้งหมดที่อยากทำร้ายผู้อื่น—ไม่ว่าความรู้สึกเหล่านั้นจะเป็นอารมณ์โกรธ วาจาเชือดเฉือน หรือความเคืองแค้นต่อคนที่ทำร้ายท่าน พระผู้ช่วยให้รอดทรงบัญชาให้เราหันแก้มอีกข้าง รักศัตรูของเรา และสวดอ้อนวอนให้คนที่ใช้เราอย่างดูหมิ่น …

เราคือผู้ติดตามองค์สันติราช เวลานี้สิ่งที่เราต้องการมากกว่าแต่ก่อนคือสันติสุขที่พระองค์เท่านั้นจะให้ได้ เราจะคาดหวังให้สันติสุขดำรงอยู่ในโลกได้อย่างไรในเมื่อเรา แต่ละคน ไม่แสวงหาสันติสุขและความปรองดอง? พี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้าทราบว่าสิ่งที่กำลังแนะนำนั้นไม่ง่าย แต่ผู้ติดตามพระเยซูคริสต์ควรเป็นแบบอย่างให้ชาวโลกทำตาม ข้าพเจ้าขอร้องท่านให้ทำสุดความสามารถเพื่อยุติความขัดแย้ง ส่วนตัว ที่กำลังลุกลามในใจและในชีวิตท่าน (รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “พลังของแรงขับเคลื่อนทางวิญญาณ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2022, 97)

  • คำเชิญของประธานเนลสันช่วยให้เราติดตามพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร?

ดูแผนภาพฟองคำพูดของท่านอีกครั้ง ทำเครื่องหมายถูกถัดจากข้อขัดแย้งที่ท่านรู้สึกว่ามีอิทธิพลต่อสิ่งที่ดีได้

สร้างแผนภูมิสองคอลัมน์บนกระดาน และเขียนว่า ฉันจะพบสันติสุขในพระคริสต์ได้โดย … ด้านบน ท่านอาจต้องลบแผนภาพฟองคำพูดเพื่อให้มีช่องว่าง เขียนหนึ่งในบล็อกพระคัมภีร์ต่อไปนี้ที่ด้านบนของแต่ละคอลัมน์ แล้วเชื้อเชิญให้ครึ่งหนึ่งของชั้นเรียนศึกษาแต่ละบล็อก: ฮีลามัน 3:32–36; ฮีลามัน 6:1–9

เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนข้อความบนกระดานให้สมบูรณ์โดยใช้สิ่งที่พบจากการอ่าน และพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่พบว่าจะช่วยให้พวกเขาพบสันติสุขในพระคริสต์ได้อย่างไร

อ่าน ฮีลามัน 3:32–36 หรือ ฮีลามัน 6:1–9 โดยมองหาว่าความชอบธรรมใดที่ชาวนีไฟและชาวเลมันทำเพื่อค้นพบสันติสุขในพระคริสต์ ท่านอาจทำเครื่องหมายสิ่งที่พบ

  • ใช้สิ่งที่ท่านอ่านใน ฮีลามัน 3:32–36 หรือ ฮีลามัน 6:1–9 เติมประโยค ฉันจะพบสันติสุขในพระคริสต์ได้โดย … ให้เสร็จ

  • การมาหาพระเยซูคริสต์แต่ละครั้งนำมาซึ่งความสงบสุขและความสามัคคีกับผู้อื่นอย่างไร?

  • เลือกหนึ่งในวิธีที่ท่านระบุไว้เพื่อค้นหาสันติสุขในพระคริสต์ ท่านจะนำไปปรับใช้หรือฝึกปฏิบัติในชีวิตได้อย่างไร?

กระตุ้นให้นักเรียนแสวงหาสันติสุขที่มีแต่พระเยซูคริสต์เท่านั้นที่จะให้ได้ (ดู ยอห์น 14:27)