จงตามเรามา
3–9 กุมภาพันธ์: “นี่คือวิญญาณแห่งการเปิดเผย”: หลักคําสอนและพันธสัญญา 6–9


“3–9 กุมภาพันธ์: ‘นี่คือวิญญาณแห่งการเปิดเผย’: หลักคําสอนและพันธสัญญา 6–9” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: หลักคำสอนและพันธสัญญา 2025 (2025)

“หลักคําสอนและพันธสัญญา 6–9” จงตามเรามา—สําหรับบ้านและศาสนจักร: 2025

ภาพออลิเวอร์ คาวเดอรีกําลังเขียนด้วยปากกาขนนก

3–9 กุมภาพันธ์: “นี่คือวิญญาณแห่งการเปิดเผย”

หลักคำสอนและพันธสัญญา 6–9

ในฤดูใบไม้ร่วง ปี 1828 ครูวัยหนุ่มชื่อออลิเวอร์ คาวเดอรีรับงานสอนในเมืองแมนเชสเตอร์ นิวยอร์ก และพักอยู่กับครอบครัวของลูซีกับโจเซฟ สมิธ ซีเนียร์ ออลิเวอร์เคยได้ยินเกี่ยวกับโจเซฟบุตรชายและประสบการณ์อันน่าทึ่งของเขา และออลิเวอร์ซึ่งถือว่าตนเองเป็นผู้แสวงหาความจริง ต้องการจะรู้มากขึ้น ครอบครัวสมิธเล่าเรื่องการเยือนจากเทพ บันทึกโบราณ และของประทานในการแปลโดยเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า ออลิเวอร์สนใจและชื่นชอบมาก นั่นจริงหรือ? ลูซีกับโจเซฟ ซีเนียร์ให้คำแนะนำแก่เขาซึ่งประยุกต์ใช้ได้กับใครก็ตามที่แสวงหาความจริง นั่นคือ สวดอ้อนวอนและทูลถามพระเจ้า

ออลิเวอร์ทําตาม และพระเจ้าทรงตอบโดยตรัส “ให้ความสงบแก่จิตใจ [ของเขา]” (หลักคําสอนและพันธสัญญา 6:23) ออลิเวอร์ค้นพบว่าการเปิดเผยไม่ใช่แค่สำหรับศาสดาพยากรณ์เช่นโจเซฟ สมิธเท่านั้น แต่มีไว้สําหรับทุกคนที่ต้องการและแสวงหาอย่างขยันหมั่นเพียร ออลิเวอร์ยังมีอีกมากมายให้เรียนรู้ แต่เขารู้มากพอจะก้าวต่อไป เขารู้ว่าพระเจ้าทรงทำสิ่งสำคัญบางอย่างผ่านโจเซฟ สมิธ และออลิเวอร์ต้องการเป็นส่วนหนึ่ง

ดู วิสุทธิชน, 1:58–64; “Days of Harmony” (วีดิทัศน์), คลังค้นคว้าพระกิตติคุณ

25:5

วันเวลาแห่งความประสานกลมกลืน

ประจักษ์กับประสบการณ์ของออลิเวอร์ คาวเดอรีในฐานะผู้จดคำแปลของโจเซฟ สมิธระหว่างแปลพระคัมภีร์มอรมอน

ไอคอนศึกษา

แนวคิดสำหรับการเรียนรู้ที่บ้านและที่โบสถ์

หลักคำสอนและพันธสัญญา 6; 8–9

ไอคอนเซมินารี
พระบิดาบนสวรรค์ตรัสกับฉันผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์

ในฤดูใบไม้ผลิ ปี 1829 ออลิเวอร์ คาวเดอรีอาสาเป็นผู้จดคําแปลให้โจเซฟ สมิธขณะท่านแปลพระคัมภีร์มอรมอนต่อไป ประสบการณ์นั้นทำให้เขาตื่นเต้นอย่างยิ่ง และสงสัยว่าเขาจะได้รับการเปิดเผยและของประทานในการแปลด้วยหรือไม่ แต่ความพยายามครั้งแรกของเขาไม่ได้ราบรื่น

ถ้าท่านเคยมีปัญหาในการรับหรือเข้าใจการเปิดเผย ท่านอาจจะเชื่อมโยงกับประสบการณ์ของออลิเวอร์—และเรียนรู้จากประสบการณ์นั้น ขณะที่ท่านอ่าน หลักคําสอนและพันธสัญญา 6, 8, และ9 ให้สังเกตสิ่งที่พระเจ้าทรงสอนออลิเวอร์เกี่ยวกับการเปิดเผยส่วนตัว ตัวอย่างเช่น:

ประสบการณ์ของออลิเวอร์อาจทําให้ท่าน “หวนระลึกถึง” ในชั่วขณะที่ท่านรู้สึกว่าพระเจ้ากําลังตรัสกับท่าน (หลักคําสอนและพันธสัญญา 6:22) ท่านเคยบันทึกความคิดหรือความรู้สึกของท่านเกี่ยวกับประสบการณ์เหล่านี้หรือไม่? หากเคย ท่านอาจอ่านสิ่งที่ท่านเขียนไว้ หากไม่เคย ให้ใช้เวลาสักครู่จดสิ่งที่ท่านจําได้ พิจารณาว่าท่านจะดึงความเข้มแข็งจากประสบการณ์เหล่านี้ต่อไปได้อย่างไร ดูแนวคิดบางประการได้จากข่าวสารของเอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็นเรื่อง “ความทรงจำสำคัญทางวิญญาณ” (เลียโฮนา, พ.ย. 2020, 18–22)

ผู้นําศาสนจักรหลายคนแบ่งปันประสบการณ์กับการเปิดเผยในชุดวีดิทัศน์เรื่อง “ฟังพระองค์” หลังจากดูวีดิทัศน์เหล่านี้หนึ่งเรื่องหรือมากกว่านั้น ท่านอาจรู้สึกได้รับการดลใจให้บันทึกประสบการณ์ของท่านเองโดยแบ่งปันว่าพระเจ้าตรัสกับท่านอย่างไร

หลักคำสอนและพันธสัญญา 6:18–21, 29–37

จงดูที่พระคริสต์ในความนึกคิดทุกอย่าง

พระเจ้าทรงทราบว่าโจเซฟ สมิธจะประสบ “สถานการณ์ยุ่งยาก” ในปีต่อๆ ไป (หลักคําสอนและพันธสัญญา 6:18) พระองค์ทรงทราบว่าท่านจะมีการทดลองอะไรในอนาคตเช่นกัน ท่านพบอะไรในคําแนะนําที่พระองค์ประทานแก่โจเซฟและออลิเวอร์ใน หลักคําสอนและพันธสัญญา 6:18–21, 29–37 ที่ช่วยให้ท่านวางใจพระองค์?

ท่านรู้สึกว่า “ดูที่ [พระคริสต์] ในความนึกคิดทุกอย่าง” หมายความว่าอย่างไร? (ข้อ 36) ท่านจะทําสิ่งนี้อย่างสม่ำเสมอมากขึ้นได้อย่างไร—ในช่วงเวลาที่ดีและ “สถานการณ์ยุ่งยาก”? พิจารณาคําแนะนํานี้จากประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน: “ต้องใช้ความพยายามทางจิตใจอย่างมากที่จะมองดูพระองค์ในความนึกคิด ทุกอย่าง แต่เมื่อเราทำเช่นนั้น ความสงสัยและความกลัวจะหายไป” (“ดึงพลังของพระเยซูคริสต์เข้ามาในชีวิตเรา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2017, 41)

ดู นีล แอล.แอนเดอร์เซ็น, “จิตของข้าพเจ้านึกได้ถึงความคิดนี้เรื่องพระเยซูคริสต์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2023, 91–94 ด้วย

ภาพพระหัตถ์ของพระผู้ช่วยให้รอด โดยมีรอยตะปูอยู่ที่พระหัตถ์ที่ผายออก

ส่วนหนึ่งของ Behold My Hand [ดูที่มือเราเถิด] โดย เจฟฟรีย์ วอร์ด

หลักคำสอนและพันธสัญญา 6:29–37

“อย่ากลัวเลยที่จะทำดี”

เหตุใดบางครั้งเราจึง “กลัว … ที่จะทำดี”? (ข้อ 33) ท่านพบอะไรใน หลักคําสอนและพันธสัญญา 6:29–37 ที่ทําให้ท่านกล้าทําดี? ท่านอาจร้องหรือฟังเพลงสวดที่สร้างแรงบันดาลใจให้ท่านมีความกล้าหาญในพระคริสต์ เช่น “ขอให้เรารุดไป” (เพลงสวด บทเพลงที่ 124)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 6–7; 9:3, 7–14

“แม้เจ้าปรารถนาจากเราฉันใด มันจะเป็นกับเจ้าฉันนั้น”

สังเกตคำว่า “ปรารถนา” ปรากฏกี่ครั้งใน ภาค 6 และ 7 ท่านเรียนรู้อะไรจากภาคเหล่านี้เกี่ยวกับความสำคัญที่พระผู้เป็นเจ้าประทานแก่ความปรารถนาของท่าน ถามคำถามของพระเจ้าใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 7:1 กับตัวท่านเอง: “เจ้าปรารถนาสิ่งใดหรือ?”

ความปรารถนาอันชอบธรรมประการหนึ่งของออลิเวอร์ คาวเดอรีไม่บรรลุผลสำเร็จ—นั่นคือแปลเหมือนโจเซฟ สมิธ ขณะที่อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 9:3, 7–14 ท่านได้รับความประทับใจอะไรบ้างที่จะช่วยท่านได้เมื่อความปรารถนาอันชอบธรรมของท่านไม่บรรลุผลสำเร็จในเวลานี้?

ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 11:8; ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “ความปรารถนา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2011, 53–57 ด้วย

ดูแนวคิดเพิ่มเติมได้จากนิตยสาร เลียโฮนา และ เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน ฉบับเดือนนี้

หมวดเด็ก 03

แนวคิดสำหรับการสอนเด็ก

หลักคำสอนและพันธสัญญา 6:5, 15–16, 22–23; 8:2; 9:7–9

พระบิดาบนสวรรค์ตรัสกับฉันผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์

  • ความจริงที่ออลิเวอร์ คาวเดอรีเรียนรู้เกี่ยวกับการเปิดเผยส่วนตัวสามารถช่วยเด็กได้เมื่อพวกเขาพัฒนาความสามารถในการรับรู้พระวิญญาณบริสุทธิ์ ท่านอาจใช้ “บทที่ 5: โจเซฟ สมิธและออลิเวอร์ คาวเดอรี” (ใน เรื่องราวในหลักคําสอนและพันธสัญญา, 22–25 หรือวีดิทัศน์เกี่ยวกับเรื่องนี้ในคลังค้นคว้าพระกิตติคุณ) เพื่อสอนพวกเขาเกี่ยวกับออลิเวอร์และสิ่งที่เขาเรียนรู้ แบ่งปันเรื่องราวที่ท่านชื่นชอบให้กัน ขณะทําเช่นนั้น ให้เน้นสิ่งที่พระเจ้าทรงสอนออลิเวอร์เกี่ยวกับวิธีฟังสุรเสียงของพระผู้เป็นเจ้า และอ่านข้อที่เกี่ยวข้อง เช่น หลักคําสอนและพันธสัญญา 6:23 หรือ 9:7–9

    2:49

    Chapter 5: Joseph Smith and Oliver Cowdery: February–April 1829

    ออลิเวอร์ คาวเดอรีเขียนโดยมีโจเซฟ สมิธมองดู

    ออลิเวอร์ คาวเดอรีเรียนรู้เกี่ยวกับการเปิดเผยขณะช่วยโจเซฟ สมิธแปลพระคัมภีร์มอรมอน

  • ท่านอาจเชื้อเชิญให้เด็กแตะศีรษะและอกของพวกเขาขณะท่านอ่านคำว่า “ความนึกคิด” และ “ใจ” ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 8:2 บอกเด็กจากประสบการณ์ของท่านว่าเป็นอย่างไรเมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์ตรัสกับความนึกคิดและใจของท่าน ช่วยพวกเขาหาคําตอบของคําถามที่ว่า “พระวิญญาณบริสุทธิ์ตรัสกับเราอย่างไร?” ในข้อเหล่านี้: หลักคําสอนและพันธสัญญา 6:15–16, 22–23; 8:2; 9:7–9

ใช้เรื่องเล่า เรื่องเล่าช่วยให้เด็กเข้าใจหลักธรรมพระกิตติคุณเพราะเรื่องเหล่านั้นแสดงให้เห็นว่าผู้อื่นดำเนินชีวิตตามหลักธรรมเหล่านี้อย่างไร ขณะที่ท่านสอน จงหาวิธีใช้เรื่องเล่า—จากพระคัมภีร์ จากประวัติศาสนจักร หรือจากชีวิตท่านเอง—อธิบายหลักธรรมในพระคัมภีร์

หลักคำสอนและพันธสัญญา 6:34

เพราะพระเยซูคริสต์ ฉันจึง “ไม่กลัว”

  • พระเจ้ารับสั่งกับโจเซฟและออลิเวอร์ว่า “อย่ากลัวเลย, เจ้าฝูงแกะน้อย” (หลักคําสอนและพันธสัญญา 6:34) ท่านอาจเชื้อเชิญให้เด็กพูดวลีนี้พร้อมกับท่านหลายๆ ครั้ง พวกเขาอาจชอบสมมติตัวเองเป็นฝูงแกะที่ตื่นตกใจ แกะอาจจะกลัวอะไรบ้าง? จากนั้นท่านและเด็กอาจมองภาพพระผู้ช่วยให้รอดในฐานะคนเลี้ยงแกะ (มีภาพอยู่ท้ายโครงร่างนี้) และสนทนากันว่าพระองค์ทรงดูแลเราเหมือนคนเลี้ยงแกะดูแลแกะของพระองค์อย่างไร

  • อาจร้องเพลงด้วยกันหนึ่งเพลงเกี่ยวกับการพบความกล้าหาญในพระคริสต์ เช่น “กล้าทำสิ่งที่ถูก” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก หน้า 80) หรือ “ขอให้เรารุดไป” (เพลงสวด บทเพลงที่ 124) เพลงนี้สอนอะไรเกี่ยวกับวิธีที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงช่วยให้เราไม่กลัว?

หลักคำสอนและพันธสัญญา 6:36

ฉันสามารถมองไปที่พระเยซูคริสต์ในความนึกคิดทุกอย่าง

  • หลังจากอ่าน หลักคําสอนและพันธสัญญา 6:36 ด้วยกันแล้ว ท่านและเด็กอาจวาดภาพเพื่อช่วยให้ท่านจดจําว่า “จงดูที่ [พระเยซูคริสต์] ในความนึกคิดทุกอย่าง” แบ่งปันภาพวาดของท่านให้กัน และช่วยให้เด็กนึกถึงสถานที่ซึ่งพวกเขาจะวางไว้เพื่อจะเห็นได้บ่อยๆ

ดูแนวคิดเพิ่มเติมจากนิตยสาร เพื่อนเด็ก ฉบับเดือนนี้

พระคริสต์กับฝูงแกะ

The Lord Is My Shepherd [พระเจ้าผู้ทรงเลี้ยงดูข้าพเจ้า] โดย ยองซุง คิม

หน้ากิจกรรมสําหรับเด็ก