พันธสัญญาเดิม 2022
26 กันยายน–2 ตุลาคม อิสยาห์ 50–57: “ท่านแบกความเจ็บไข้ของพวกเราและหอบความเจ็บปวดของเราไป”


26 กันยายน–2 ตุลาคม อิสยาห์ 50–57: ‘ท่านแบกความเจ็บไข้ของพวกเราและหอบความเจ็บปวดของเราไป’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาเดิม 2022 (2021)

“26 กันยายน–2 ตุลาคม อิสยาห์ 50–57” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2022

พระคริสต์สวมมงกุฎหนามและถูกทหารเยาะเย้ย

การเยาะเย้ยพระคริสต์ โดย คาร์ล ไฮน์ริค บลอค

26 กันยายน–2 ตุลาคม

อิสยาห์ 50–57

“ท่านแบกความเจ็บไข้ของพวกเราและหอบความเจ็บปวดของเราไป”

ไตร่ตรองข้อคิดจาก อิสยาห์ 50–57 ที่ช่วยให้ท่านเข้าใกล้พระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น บันทึกความประทับใจที่ท่านได้รับ

บันทึกความประทับใจของท่าน

อิสยาห์พูดถึงพระผู้ปลดปล่อยที่เกรียงไกรตลอดการปฏิบัติศาสนกิจของเขา (ดูตัวอย่างใน อิสยาห์ 9:3–7) คำพยากรณ์เหล่านี้จะมีค่าต่อคนอิสราเอลเป็นพิเศษในอีกหลายศตวรรษต่อมาเมื่อพวกเขาเป็นเชลยในบาบิโลน คนที่โค่นกำแพงบาบิโลนได้จะเป็นผู้พิชิตที่เกรียงไกรแน่นอน แต่นั่นไม่ใช่พระเมสสิยาห์ในแบบที่อิสยาห์อธิบายไว้ใน บทที่ 52–53: “ท่านถูกดูหมิ่นและถูกทอดทิ้ง เป็นคนที่รับความเจ็บปวด และคุ้นเคยกับความทุกข์ยาก และเป็นดั่งผู้ซึ่งคนทั้งหลายหันหน้าหนี … พวกเรายังคิดว่าที่ท่านถูกตี คือถูกพระเจ้าทรงโบยตีและข่มใจ” (อิสยาห์ 53:3–4) พระผู้เป็นเจ้าทรงสอนเราเกี่ยวกับการปลดปล่อยที่แท้จริงโดยส่งผู้ปลดปล่อยที่คาดไม่ถึงเช่นนั้นมา เพื่อช่วยให้เรารอดจากการกดขี่และความทุกข์ พระผู้เป็นเจ้าทรงส่งองค์หนึ่งผู้ทรง “ถูกบีบบังคับและถูกข่มใจ” ที่ซึ่งคนคาดหวังสิงโต พระองค์ทรงส่งลูกแกะมา (ดู อิสยาห์ 53:7) โดยแท้แล้วทางของพระผู้เป็นเจ้าไม่ใช่ทางของเรา (ดู อิสยาห์ 55:8–9) พระเยซูคริสต์ทรงทำให้เราเป็นอิสระโดยไม่เพียงเปิดเรือนจำเท่านั้นแต่เข้าไปอยู่ในนั้นแทนเราด้วย พระองค์ทรงปลดโซ่แห่งความความโศกเศร้าและโทมนัสของเราโดยทรงแบกไว้เอง (ดู อิสยาห์ 53:4–5, 12) พระองค์มิได้ทรงช่วยให้เรารอดจากระยะไกล พระองค์ทรงทนทุกข์กับเรา ในการกระทำด้วย “ความรักมั่นคงนิรันดร์” ที่ “ไม่เคลื่อนย้ายไปจากเจ้า” (อิสยาห์ 54:8, 10)

ไอคอนการศึกษาส่วนตัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว

อิสยาห์ 50–52

อนาคตสดใสสำหรับผู้คนของพระเจ้า

ถึงแม้คนอิสราเอลอยู่ในการเป็นเชลยหลายปี—และถึงแม้การเป็นเชลยนั้นเป็นผลสืบเนื่องจากการเลือกที่ไม่ดีของพวกเขาเอง—แต่พระเจ้าทรงต้องการให้พวกเขามองอนาคตด้วยความหวัง ท่านพบข่าวสารอันเปี่ยมด้วยความหวังอะไรใน อิสยาห์ 50–52? พระเจ้าทรงสอนอะไรเราเกี่ยวกับพระองค์เองในบทเหล่านี้ และเหตุใดจึงให้ความหวังแก่ท่าน? (ดูตัวอย่างใน อิสยาห์ 50:2, 5–9; 51:3–8, 15–16; 52:3, 9–10)

ท่านอาจจะเขียนรายการทุกอย่างใน บทที่ 51–52 ที่พระเจ้าทรงเชื้อเชิญให้อิสราเอลทำเพื่อทำให้อนาคตที่เต็มไปด้วยความหวังนี้เป็นจริง ท่านรู้สึกว่าพระเจ้าทรงเชื้อเชิญให้ท่านทำอะไรผ่านถ้อยคำเหล่านี้? ตัวอย่างเช่น ท่านคิดว่าการ “ตื่น” และ “สวมกำลัง” หมายถึงอะไร? (อิสยาห์ 51:9; ดู อิสยาห์ 52:1; หลักคำสอนและพันธสัญญา 113:7–10 ด้วย) ท่านคิดว่าเหตุใดจึงย้ำคำเชื้อเชิญให้ “จงฟัง” (หรือ “ฟังด้วยเจตนาจะเชื่อฟัง”) บ่อยครั้ง? (รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “ฟังพระองค์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2020, 89)

ดู โมไซยาห์ 12:20–24; 15:13–18; 3 นีไฟ 20:29–46 ด้วย

รูปปั้นพระคริสต์ทรงแบกกางเขน

เพราะความรัก โดย ประติมากร แองเจลา จอห์นสัน

อิสยาห์ 53

พระเยซูคริสต์ทรงรับเอาบาปและโทมนัสของฉันไว้กับพระองค์

มีไม่กี่บทในพระคัมภีร์พูดถึงพระพันธกิจการไถ่ของพระเยซูคริสต์ได้ไพเราะกว่า อิสยาห์ 53 ให้ใช้เวลาไตร่ตรองถ้อยคำเหล่านี้ หยุดหลังจากอ่านแต่ละข้อเพื่อตรึกตรองสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทนทุกข์— “ความทุกข์ยาก [ความเศร้าโศก]” “ความ​เจ็บ‍ปวด [โทมนัส]” และ “ความทรยศ [การล่วงละเมิด]” ที่ทรงแบกรับ—เพื่อทุกคนและเพื่อท่านโดยเฉพาะ ท่านอาจจะแทนคำว่า “เรา” และ “ของเรา” ด้วยคำว่า “ฉัน” และ “ของฉัน” ขณะที่ท่านอ่าน ข้อเหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจให้ท่านเกิดความรู้สึกหรือความคิดอะไรบ้าง? ท่านอาจจะจดไว้

ท่านอาจต้องการทบทวน โมไซยาห์ 14; 15:1–13 เพื่อดูว่าศาสดาพยากรณ์อบินาไดใช้ถ้อยคำของอิสยาห์สอนเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดอย่างไร

อิสยาห์ 54; 57:15–19

พระเยซูคริสต์ทรงต้องการให้ฉันกลับไปหาพระองค์

เราทุกคนมีเวลาที่เรารู้สึกเหินห่างจากพระเจ้าเพราะบาปและความอ่อนแอของเรา บางคนถึงกับหมดหวังว่าพระองค์จะทรงให้อภัยพวกเขา อิสยาห์ 54 และ57 เป็นบทที่ดีมากที่จะอ่านเพื่อให้ได้ความมั่นใจและกำลังใจในช่วงเวลาเช่นนั้น โดยเฉพาะใน อิสยาห์ 54:4–10; 57:15–19 ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระเมตตาและความรู้สึกที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงมีต่อท่าน? การรู้สิ่งเหล่านี้เกี่ยวกับพระองค์สร้างความแตกต่างอะไรในชีวิตท่าน?

พรที่บรรยายไว้ใน อิสยาห์ 54:11–17 ประยุกต์ใช้กับท่านได้อย่างไร?

อิสยาห์ 55–56

พระเจ้าทรงเชื้อเชิญให้ทุกคน “ยึดมั่นในพันธสัญญาของเรา”

อิสราเอลหลายรุ่นถูกระบุว่าเป็นผู้คนแห่งพันธสัญญาของพระผู้เป็นเจ้า แต่แผนของพระผู้เป็นเจ้าครอบคลุมมากกว่าประชาชาติเดียวเสมอ เพราะพระองค์ทรงเชื้อเชิญ “ทุกคนที่กระหาย” ให้ “มายังน้ำ” (อิสยาห์ 55:1) นึกถึงสิ่งนี้เสมอขณะที่ท่านอ่าน อิสยาห์ 55 และ56 และไตร่ตรองความหมายของการเป็นชนชาติของพระผู้เป็นเจ้า อะไรเป็นข่าวสารของพระผู้เป็นเจ้าถึงคนที่รู้สึก “แยก” จากพระองค์? (อิสยาห์ 56:3) ท่านอาจทำเครื่องหมายข้อที่พูดถึงเจตคติและการกระทำของคนที่ “ยึดมั่นในพันธสัญญาของเรา” (ดู อิสยาห์ 56:4–7)

ไอคอนการศึกษากับครอบครัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและยามค่ำที่บ้าน

อิสยาห์ 51–52ขณะที่ท่านสนทนาพระดำรัสเชื้อเชิญของพระเจ้าในบทเหล่านี้ ท่านอาจจะชวนสมาชิกครอบครัวให้ทำท่าประกอบพระดำรัสเหล่านั้น อย่างเช่น จะทำท่า “จงเงยหน้าของพวกเจ้าดูฟ้าสวรรค์” “จงเร้าใจตัวเอง (จงตื่น) จงยืนขึ้น” หรือ “จงยกตัวออกจากผงคลี [สะบัดฝุ่น]” อย่างไร? (อิสยาห์ 51:6,17; 52:2) วลีเหล่านี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับการทำตามพระเยซูคริสต์?

อิสยาห์ 52:9หลังจากอ่านข้อนี้ ครอบครัวท่านอาจจะ “ร้องเพลง [เพลงสวดหรือเพลงสำหรับเด็ก] … ด้วยกัน” ที่ทำให้พวกเขาเกิดปีติ สัญญาอะไรใน อิสยาห์ 52 ทำให้เรา “เปล่งเสียงยินดี [ปีติ]”?

อิสยาห์ 52:11; 55:7ข้อเหล่านี้จะนำไปสู่การสนทนาว่าวลี “จงชำระตัวให้บริสุทธิ์” น่าจะหมายถึงอะไร ส่วนหนึ่งของการสนทนานี้คือท่านอาจจะทบทวนหัวข้อต่างๆ ใน เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน (จุลสาร 2011) หรืออ่านพระคัมภีร์เกี่ยวกับพรของการสะอาดทางวิญญาณ (ดู 3 นีไฟ 12:8; หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:45–46)

อิสยาห์ 53เพื่อเกริ่นนำคำบรรยายของอิสยาห์เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด ครอบครัวท่านอาจจะพูดคุยกันว่าเรื่องเล่า ภาพยนตร์ และสื่ออื่นๆ มักจะพรรณนาให้เห็นภาพวีรบุรุษ [พระเอก] ที่ช่วยชีวิตผู้คนว่าเป็นอย่างไร ท่านอาจจะเปรียบเทียบคำพรรณนาเหล่านั้นกับคำบรรยายเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดที่ท่านอ่านใน อิสยาห์ 53 ท่านอาจจะดูวีดิทัศน์เรื่อง “My Kingdom Is Not of This World” (ChurchofJesusChrist.org) และพูดคุยกันว่าคำพยากรณ์ใน อิสยาห์ 53 เกิดสัมฤทธิผลอย่างไร ความโศกเศร้าและโทมนัสอะไรบ้างที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงแบกรับแทนเรา?

อิสยาห์ 55:8–9สิ่งต่างๆ ดูต่างออกไปอย่างไรเมื่อท่านอยู่สูงเหนือพื้นดิน? ทางและความคิดของพระผู้เป็นเจ้าสูงกว่าของเรามีความหมายต่อท่านอย่างไร?

ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย

เพลงที่แนะนำ: “ฉันเฝ้าพิศวงเพลงสวด บทเพลงที่ 89

ปรับปรุงการศึกษาส่วนตัว

ใช้ดนตรี เพลงสวดสอนหลักธรรมพระกิตติคุณได้อย่างมีพลัง ท่านอาจจะฟังหรืออ่านเพลงสวดศีลระลึกเพื่อช่วยให้ท่านเข้าใจความจริงเกี่ยวกับการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ที่สอนใน อิสยาห์ 53 (ดู การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 22)

ภาพเหมือนของพระคริสต์

แสงสว่างของพระองค์ โดย ไมเคิล ที. มาล์ม