“24–30 ตุลาคม เอเสเคียล 1–3; 33–34; 36–37; 47: ‘เราจะบรรจุวิญญาณใหม่ไว้ภายในของเจ้าทั้งหลาย”’ จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาเดิม 2022 (2021)
“24–30 ตุลาคม เอเสเคียล 1–3; 33–34; 36–37; 47” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2022
24–30 ตุลาคม
เอเสเคียล 1–3; 33–34; 36–37; 47
“เราจะบรรจุวิญญาณใหม่ไว้ภายในของเจ้าทั้งหลาย”
เอเสเคียลได้รับการเชื้อเชิญในเชิงสัญลักษณ์ให้ “กิน” พระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า—ทำให้ตัวเขาเปี่ยมด้วยพระวจนะ (ดู เอเสเคียล 2:9–3:3,10) สัปดาห์นี้ท่านจะทำให้ตัวท่านเปี่ยมด้วยพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร?
บันทึกความประทับใจของท่าน
เอเสเคียลเป็นศาสดาพยากรณ์ในการเนรเทศ เขากับคนอิสราเอลคนอื่นๆ ถูกจับไปเป็นเชลยในบาบิโลนหลายปีก่อนเยรูซาเล็มถูกทำลายในที่สุด ในเยรูซาเล็ม เอเสเคียลคงจะเป็นปุโรหิตที่รับใช้ในพระวิหาร ในบาบิโลน เขาอยู่ท่ามกลาง “พวกเชลย” และเขา “นั่ง” (เอเสเคียล 3:15) ห่างจากพระวิหารหลายร้อยไมล์โดยมีความหวังริบหรี่ว่าจะได้กลับไปพระนิเวศที่รักของพระผู้เป็นเจ้า แล้ววันหนึ่งเอเสเคียลก็เห็นนิมิต เขาเห็น “พระสิริของพระยาห์เวห์” (เอเสเคียล 1:28)—ไม่ใช่ในพระวิหารที่เยรูซาเล็มแต่ในบาบิโลนท่ามกลางผู้ที่ถูกเนรเทศ เขาทราบว่าความชั่วในเยรูซาเล็มร้ายแรงถึงขนาดว่าพระสิริของพระผู้เป็นเจ้าไม่อยู่ที่นั่นอีก (ดู เอเสเคียล 8–11; 33:21)
ภารกิจอย่างหนึ่งของเอเสเคียลคือเตือนคนอิสราเอลเรื่องผลการกบฏของพวกเขา—คำเตือนที่คนส่วนใหญ่ไม่ใส่ใจ แต่ข่าวสารของเอเสเคียลมีมากกว่านั้น เขาพยากรณ์ว่า แม้จะเลวร้ายเพียงใด ก็มีทางกลับ ถ้าคนของพระผู้เป็นเจ้าจะยอมรับคำเชื้อเชิญให้ “ฟังพระวจนะของพระยาเวห์” (เอเสเคียล 37:4) สิ่งที่ตายไปแล้วจะมีชีวิตอีกครั้ง “ใจหิน” จะถูกแทนที่ด้วย “ใจใหม่” (เอเสเคียล 36:26) “เราจะใส่วิญญาณของเราไว้ในเจ้า” พระเจ้ารับสั่งกับพวกเขา “แล้วเจ้าทั้งหลายจะมีชีวิต” (เอเสเคียล 37:14) และในวันเวลาสุดท้าย พระเจ้าจะทรงสถาปนาพระวิหารใหม่และเยรูซาเล็มใหม่ “และตั้งแต่นี้ไปนครนี้จะได้ชื่อว่า ‘พระยาห์เวห์สถิตที่นั่น’” (เอเสเคียล 48:35)
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว
“เจ้าจงกล่าวถ้อยคำของเรา”
การอ่านเกี่ยวกับการเรียกเอเสเคียลให้ปฏิบัติศาสนกิจใน เอเสเคียล 1–3 อาจกระตุ้นเตือนให้ท่านนึกถึงโอกาสที่พระผู้เป็นเจ้าเคยประทานให้ท่าน “กล่าวถ้อยคำ [ของพระองค์]” แก่ผู้อื่น (เอเสเคียล 3:4) ใน เอเสเคียล 2–3 ให้สังเกตพระดำรัสที่พระองค์ประทานกำลังใจและแนะนำเอเสเคียล ถึงแม้คนที่ท่านรับใช้จะไม่กบฏเท่าคนของเอเสเคียล แต่ลองพิจารณาว่าพระดำรัสของพระผู้เป็นเจ้าต่อเอเสเคียลส่งผลต่อวิธีที่ท่านมองการรับใช้ในศาสนจักร ที่บ้าน และที่อื่นอย่างไร
ดู เอเสเคียล 33:1–9; ดี.ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน, “เสียงเตือน,” เลียโฮนา, พ.ค. 2017, 108–111 ด้วย
พระเจ้าทรงต้องการให้อภัย
“[ถ้า] บาปทั้งหลายของเราอยู่เหนือเรา” คนอิสราเอลที่เป็นเชลยสงสัย “เราจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร?” (เอเสเคียล 33:10) พระเจ้าทรงตอบโดยทรงสอนความจริงสำคัญๆ เกี่ยวกับการกลับใจและการให้อภัย คำถามเหล่านี้อาจจะช่วยท่านไตร่ตรองความจริงเหล่านั้น:
-
ท่านคิดว่า “ไว้ใจในความชอบธรรม [ของท่าน]” หมายความว่าอย่างไร? (ดู เอเสเคียล 33:12–13)
-
ท่านจะพูดอะไรกับคนที่รู้สึกว่าคนชอบธรรมและคนชั่วที่บรรยายไว้ใน เอเสเคียล 33:12–19 ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม? (ดู มัทธิว 21:28–31; ลูกา 18:9–14 ด้วย)
-
ท่านพบวลีใดในข้อเหล่านี้ที่ช่วยให้ท่านเข้าใจความหมายของการกลับใจ? ท่านได้ข้อคิดเพิ่มเติมอะไรบ้างใน เอเสเคียล 36:26–27 และ แอลมา 7:14–16?
พระเจ้าทรงเชื้อเชิญให้ฉันดูแลแกะของพระองค์
ใน เอเสเคียล 34 พระเจ้าทรงเรียกผู้นำของผู้คนของพระองค์ว่า “ผู้เลี้ยงแกะ” ขณะที่ท่านอ่าน พึงพิจารณาว่าชื่อนี้บอกอะไรท่านเกี่ยวกับความหมายของการเป็นผู้นำ ใครเป็น “แกะ” ที่พระเจ้าทรงต้องการให้ท่านเลี้ยง? ท่านจะทำตามแบบอย่างการเป็นผู้เลี้ยงแกะของพระผู้ช่วยให้รอดได้อย่างไร? (ดู ข้อ 11–31)
ดู ยอห์น 21:15–17 ด้วย
พระเจ้าทรงกำลังรวบรวมผู้คนของพระองค์และประทานชีวิตใหม่แก่พวกเขา
การรวบรวมอิสราเอลอธิบายไว้ใน เอเสเคียล 37 ผ่านสัญลักษณ์สองอย่าง ขณะที่ท่านอ่านเกี่ยวกับสัญลักษณ์แรก—กระดูกแห้งที่ถูกทำให้กลับมีชีวิต (ดู ข้อ 1–14)—ให้ไตร่ตรองสิ่งที่ท่านเรียนรู้เกี่ยวกับการรวบรวมอิสราเอลทั้งสองด้านของม่าน (ดู เอเสเคียล 36:24–30)
สัญลักษณ์ที่สอง (ดู ข้อ 15–28) เกี่ยวข้องกับไม้สองอัน ซึ่งนักวิชาการหลายคนตีความว่าเป็นแผ่นไม้ที่ใช้เขียนซึ่งเชื่อมด้วยบานพับ ไม้ของยูดาห์ใช้แทนพระคัมภีร์ไบเบิล (เนื่องจากพระคัมภีร์ไบเบิลส่วนใหญ่เขียนโดยลูกหลานของยูดาห์) และไม้ของโยเซฟใช้แทนพระคัมภีร์มอรมอน (เนื่องจากครอบครัวของลีไฮเป็นลูกหลานของโยเซฟแห่งอียิปต์) เมื่อคิดเช่นนั้น ข้อเหล่านี้สอนอะไรท่านเกี่ยวกับบทบาทของพระคัมภีร์ในการรวบรวมอิสราเอล? 2 นีไฟ 3:11–13 (คำพยากรณ์เกี่ยวกับโจเซฟ สมิธและพระคัมภีร์มอรมอน) เพิ่มอะไรให้กับความเข้าใจของท่าน?
ดู 2 นีไฟ 29:14; “The Book of Mormon Gathers Scattered Israel” (วีดิทัศน์, ChurchofJesusChrist.org) ด้วย
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและยามค่ำที่บ้าน
-
เอเสเคียล 33:1–5เพื่ออธิบายข้อเหล่านี้ สมาชิกคนหนึ่งในครอบครัวอาจสมมติว่าตัวเขาเป็น “ยาม” กำลังมองออกนอกหน้าต่างและบอกคนอื่นในครอบครัวว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นนอกบ้าน ศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตอยู่เปรียบเสมือนยามสำหรับเราอย่างไร?
-
เอเสเคียล 33:15–16ข้อเหล่านี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับการให้อภัยที่เราจะได้รับผ่านพระเยซูคริสต์?
-
เอเสเคียล 36:26–27ให้ครอบครัวท่านดูหินบางก้อนขณะสนทนาความหมายของการมี “ใจหิน” ให้พวกเขาเสนอคำที่พูดถึง “ใจใหม่” และ “วิญญาณใหม่” ที่พระผู้ช่วยให้รอดประทานแก่เรา (ดู โมไซยาห์ 3:19; 5:2)
-
เอเสเคียล 37:15–28สมาชิกครอบครัวอาจจะหาไม้มาสองอันและเขียนบนไม้อันหนึ่งว่า สำหรับยูดาห์ (พระคัมภีร์ไบเบิล) และบนไม้อีกอันหนึ่งว่า สำหรับโยเซฟ (พระคัมภีร์มอรมอน) (ดู ข้อ 16–19) จากนั้นพวกเขาจะเล่าเรื่องหรือแบ่งปันข้อพระคัมภีร์จากพระคัมภีร์ไบเบิลและพระคัมภีร์มอรมอนที่ช่วยให้พวกเขารู้สึกใกล้ชิดพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้นและกลายเป็น “ประชากร [ของพระองค์]” (ข้อ 23)
-
เอเสเคียล 47:1–12ข้อเหล่านี้พูดถึงนิมิตของเอเสเคียลเรื่องน้ำไหลจากพระวิหารและการรักษาทะเลตาย—ทะเลที่เค็มจัดจนปลาและพืชไม่สามารถมีชีวิตอยู่ในนั้นได้ เด็กๆ อาจจะชอบวาดรูปนิมิตนี้ น้ำที่ไหลจากพระวิหารจะเป็นสัญลักษณ์แทนอะไร (ดูวีดิทัศน์เรื่อง “And the River Will Grow,” ChurchofJesusChrist.org) พระวิหารช่วยรักษาเราอย่างไร? (ดู เอเสเคียล 47:8–9, 11)
ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย
เพลงที่แนะนำ: “ของรักจากใจพระผู้เลี้ยงแกะ,” เพลงสวด, บทเพลงที่ 107