พันธสัญญาเดิม 2022
17–23 ตุลาคม เยเรมีย์ 30–33; 36; เพลงคร่ำครวญ 1; 3: “เราจะให้ความยินดีแก่เขาแทนการไว้ทุกข์”


“17–23 ตุลาคม เยเรมีย์ 30–33; 36; เพลงคร่ำครวญ 1; 3: ‘เราจะให้ความยินดีแก่เขาแทนการไว้ทุกข์’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาเดิม 2022 (2021)

“17–23 ตุลาคม เยเรมีย์ 30–33; 36; เพลงคร่ำครวญ 1; 3” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2022

ภาพแกะสลักศาสดาพยากรณ์เยเรมีย์

การร่ำไห้ของศาสดาพยากรณ์เยเรมีย์ จากการแกะสลักโดยโรงเรียนนาซารีน

17–23 ตุลาคม

เยเรมีย์ 30–33; 36; เพลงคร่ำครวญ 1; 3

“เราจะให้ความยินดีแก่เขาแทนการไว้ทุกข์”

ขณะที่ท่านบันทึกความประทับใจ ลองคิดดูว่าหลักธรรมในเยเรมีย์และเพลงคร่ำครวญเชื่อมโยงกับสิ่งอื่นที่ท่านเรียนรู้ในพันธสัญญาเดิมอย่างไร

บันทึกความประทับใจของท่าน

ครั้งแรกที่พระเจ้าทรงเรียกเยเรมีย์เป็นศาสดาพยากรณ์พระองค์รับสั่งกับเขาว่าพันธกิจของเขาคือ “ให้ถอนรากและรื้อลง” (เยเรมีย์ 1:10)—และในเยรูซาเล็ม มีความชั่วร้ายมากมายให้ถอนรากและรื้อลง แต่นี่เป็นพันธกิจเพียงส่วนเดียวของเยเรมีย์—เขาได้รับเรียก “ให้สร้างและให้ปลูก” ด้วย (เยเรมีย์ 1:10) จะสร้างหรือปลูกอะไรในซากรกร้างที่หลงเหลือจากการกบฏของอิสราเอลได้บ้าง? ในทำนองเดียวกัน เมื่อบาปหรือความทุกข์ทำให้ชีวิตเราเหลือแต่ซาก เราจะสร้างใหม่และปลูกอีกครั้งได้อย่างไร? คำตอบอยู่ใน “กิ่งชอบธรรม” (เยเรมีย์ 33:15) พระเมสสิยาห์ที่ทรงสัญญาไว้ พระเมสสิยาห์ทรงนำ “พันธสัญญาใหม่” มา (เยเรมีย์ 31:31)—พันธสัญญาที่เรียกร้องมากกว่าคำมั่นสัญญาเพียงผิวเผินหรือการอุทิศตนเพียงเปลือกนอก กฎของพระองค์ต้องอยู่ “ใน [เราทั้งหลาย]” จารึกไว้ใน “ดวงใจ [ของเรา]” นั่นคือความหมายแท้จริงของการให้พระเจ้า “เป็นพระเจ้า [ของเรา]” และให้เรา “เป็นประชากร [ของพระองค์]” (เยเรมีย์ 31:33) นี่เป็นกระบวนการชั่วชีวิต และเราจะยังทำผิดพลาดและมีเหตุให้ไว้ทุกข์ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่เมื่อเราทำเช่นนั้น เราย่อมมีสัญญานี้จากพระเจ้าว่า “เราจะให้ความยินดีแก่เขาแทนการไว้ทุกข์” (เยเรมีย์ 31:13)

ดูคำอธิบายพอสังเขปของเพลงคร่ำครวญได้จาก “บทเพลงคร่ำครวญ, หนังสือ” ในคู่มือพระคัมภีร์ (scriptures.ChurchofJesusChrist.org)

ไอคอนการศึกษาส่วนตัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว

เยเรมีย์ 30–31; 33

พระเจ้าจะทรงนำอิสราเอลออกจากการเป็นเชลยและทรงรวบรวมพวกเขา

ใน เยเรมีย์ 30–31; 33 พระเจ้าทรงยอมรับ “เสียงโอดครวญและร่ำไห้” (เยเรมีย์ 31:15) ที่คนอิสราเอลจะประสบขณะพวกเขาไปเป็นเชลย แต่พระองค์ประทานคำปลอบโยนและความหวังด้วย ท่านคิดว่าวลีใดในบทเหล่านี้จะให้ความปลอบขวัญและความหวังแก่คนอิสราเอล? ท่านพบสัญญาอะไรบ้างจากพระเจ้าต่อผู้คนของพระองค์? จะประยุกต์ใช้สัญญาเหล่านี้กับท่านในปัจจุบันได้อย่างไร?

เยเรมีย์ 31:31–34; 32:37–42

“พวก‍เขาจะเป็นประ‌ชา‍กรของเรา และเราจะเป็นพระ‍เจ้าของเขา”

ถึงแม้คนอิสราเอลฝ่าฝืนพันธสัญญาของพวกเขากับพระเจ้า แต่เยเรมีย์พยากรณ์ว่าพระเจ้าจะทรงสถาปนา “พันธสัญญาใหม่” และ “พันธสัญญานิรันดร์” กับผู้คนของพระองค์ (เยเรมีย์ 31:31; 32:40) พันธสัญญาใหม่และนิรันดร์คือ “ความสมบูรณ์แห่งพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ [ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 66:2] พันธสัญญานี้ ใหม่ ทุกครั้งที่ได้เปิดเผยอีกครั้งหลังจากช่วงเวลาของการละทิ้งความเชื่อ พันธสัญญานี้ นิรันดร์ ในความหมายที่ว่าเป็นพันธสัญญาของพระผู้เป็นเจ้าและมีไว้ให้ผู้คนของพระองค์ในทุกสมัยการประทานพระกิตติคุณในที่ใดก็ตามที่ผู้คนเต็มใจจะรับ” (คู่มือพระคัมภีร์, “พันธสัญญาใหม่และเป็นนิจ,” scriptures.ChurchofJesusChrist.org; เน้นตัวเอน)

ขณะที่ท่านอ่าน เยเรมีย์ 31:31–34; 32:37–42 ให้ไตร่ตรองว่าการเป็นส่วนหนึ่งของผู้คนแห่งพันธสัญญาของพระผู้เป็นเจ้ามีความหมายอะไรต่อท่าน ข้อเหล่านี้ส่งผลต่อวิธีที่ท่านมองความสัมพันธ์แบบพันธสัญญาของท่านกับพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร? การมีกฎของพระองค์จารึกไว้บนดวงใจของท่านหมายความว่าอย่างไร? (ดู เยเรมีย์ 31:33)

ดู เยเรมีย์ 24:7; ฮีบรู 8:6–12 ด้วย

เด็กหญิงศึกษาพระคัมภีร์

พระคัมภีร์สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เรากลับใจและหันมาหาพระเจ้า

เยเรมีย์ 36

พระคัมภีร์มีพลังทำให้ฉันหันหลังให้ความชั่วร้าย

พระเจ้าทรงบัญชาให้เยเรมีย์บันทึกคำพยากรณ์ของเขาไว้ใน “หนังสือม้วนหนึ่ง” หรือม้วนหนังสือ โดยอธิบายว่าถ้าผู้คนจะฟังคำพยากรณ์เหล่านี้ “เผื่อว่าทุกคนจะหันกลับจากทางชั่วร้ายของตน แล้วเราจะได้อภัยโทษความผิดบาปและบาปของพวกเขา” (เยเรมีย์ 36:2–3) ขณะที่ท่านอ่าน เยเรมีย์ 36 ท่านอาจจะบันทึกว่าผู้คนต่อไปนี้รู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับคำพยากรณ์เหล่านี้:

พระเจ้า:

เยเรมีย์:

บารุค:

เยฮูดีและกษัตริย์เยโฮยาคิม:

เอลนาธัน เด‌ไล‌ยาห์​ และเกมาริยาห์:

ไตร่ตรองว่าท่านรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับพระคัมภีร์และบทบาทของพระคัมภีร์ในชีวิตท่าน พระคัมภีร์เคยช่วยท่านหันหลังให้ความชั่วร้ายอย่างไร?

ดู จูลี บี. เบค “จิตวิญญาณของข้าพเจ้าเบิกบานในพระคัมภีร์เลียโฮนา, พ.ค. 2004, 133–136 ด้วย

เพลงคร่ำครวญ 1; 3

พระเจ้าทรงสามารถบรรเทาโทมนัสที่เราประสบเพราะบาป

หนังสือเพลงคร่ำครวญเป็นการรวบรวมบทกวีที่เขียนหลังจากการทำลายเยรูซาเล็มและพระวิหารของเมืองนั้น ท่านคิดว่าเหตุใดการเก็บรักษาเพลงคร่ำครวญเหล่านี้และรวมไว้ในพันธสัญญาเดิมจึงสำคัญ? พิจารณาว่าอุปลักษณ์ใน เพลงคร่ำครวญ 1 และ 3 ช่วยให้ท่านเข้าใจอะไรเกี่ยวกับโทมนัสใหญ่หลวงที่อิสราเอลรู้สึก ท่านพบข่าวสารแห่งความหวังใดในพระคริสต์? (ดูเป็นพิเศษใน เพลงคร่ำครวญ 3:20–33; ดู มัทธิว 5:4; ยากอบ 4:8–10; แอลมา 36:17–20 ด้วย)

ไอคอนการศึกษากับครอบครัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและยามค่ำที่บ้าน

เยเรมีย์ 31:3พระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ทรงแสดง “ความรักนิรันดร์” ต่อเรามาแล้วอย่างไร? การให้ดูภาพสิ่งที่พระคริสต์ทรงสร้างเพื่อเราหรือทำระหว่างการปฏิบัติศาสนกิจขณะทรงเป็นมรรตัยของพระองค์อาจจะช่วยให้ครอบครัวท่านรู้สึกถึง “ความรักมั่นคง” ของพระองค์

เยเรมีย์ 31:31–34; 32:38–41ท่านอาจจะเขียนรายการสิ่งที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้ในข้อเหล่านี้เมื่อเราทำพันธสัญญากับพระองค์ ข้อเหล่านี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับความสำคัญของพันธสัญญาของเรา?

สมาชิกครอบครัวอาจจะเขียน (หรือวาด) บางอย่างที่แสดงว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดไว้บนหัวใจกระดาษ การมีกฎของพระองค์จารึกไว้บนดวงใจของเราหมายความว่าอย่างไร? (ดู เยเรมีย์ 31:33) เราแสดงให้พระเจ้าเห็นอย่างไรว่าเราต้องการเป็นผู้คนของพระองค์?

เยเรมีย์ 36ท่านจะใช้ เยเรมีย์ 36 ช่วยให้ครอบครัวท่านเรียนรู้เกี่ยวกับความสำคัญของพระคัมภีร์ได้อย่างไร? (ดูตัวอย่างใน ข้อ 1–6, 10, 23–24, 27–28,32) ท่านอาจจะขอให้สมาชิกครอบครัวหนึ่งคนอ่านข้อหนึ่งจากบทนี้ขณะอีกคนเขียนข้อนั้นเหมือนที่บารุคเขียนให้เยเรมีย์ เหตุใดเราจึงสำนึกคุณต่อความพยายามของคนอย่างบารุคผู้เก็บรักษาถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์? เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อแสดงให้พระเจ้าเห็นว่าเราเห็นคุณค่าพระคำของพระองค์ในพระคัมภีร์?

เพลงคร่ำครวญ 3:1–17, 21–25, 31–32ครอบครัวท่านอาจจะพูดคุยกันว่าจะเชื่อมโยงความรู้สึกที่กล่าวไว้ใน เพลงคร่ำครวญ 3:1–17 กับความรู้สึกที่เรามีเมื่อเราทำบาปได้อย่างไร ข่าวสารใน ข้อ 21–25, 31–32 จะมีอิทธิพลต่อชีวิตเราได้อย่างไร?

ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย

เพลงที่แนะนำ: “ฉันรู้สึกถึงความรักของพระผู้ช่วยหนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 42–43

ปรับปรุงการศึกษาส่วนตัว

แสวงหาการเปิดเผย เมื่อท่านไตร่ตรองตลอดวัน ท่านอาจได้รับแนวคิดและความประทับใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับพระคัมภีร์ที่ท่านศึกษา อย่าคิดว่าการศึกษาพระกิตติคุณเป็นสิ่งที่ท่านต้องจัดเวลาให้แต่จงคิดว่าเป็นสิ่งที่ท่านทำอยู่ตลอดเวลา (ดู การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 12)

ชายในถ้ำทำหน้าเศร้าขณะเมืองไหม้อยู่ด้านนอก

เยเรมีย์คร่ำครวญกับความพินาศของเยรูซาเล็ม โดย Rembrandt van Rijn